พอเริ่มเบื่องานทีไร มักจะเก็บความในใจไม่ค่อยอยู่
อยากจะลองเปลี่ยนงานบ้างล่ะ อยากจะออกจากพื้นที่เดิมๆ บ้างล่ะ วันไหนแต่งตัวเนี้ยบมาทีไร เพื่อนร่วมงานระแวงทุกที แอบมีสัมภาษณ์งานที่ใหม่หรือเปล่า บ่นอยู่อย่างนั้นทุกวัน รู้ตัวอีกที พี่โต๊ะข้างๆ ก็เก็บของพร้อมบอกว่า
“พี่ทำงานวันสุดท้ายแล้วนะ”
ปาดหน้าคนบ่นอยากลาออกมาร่วมเดือนแบบนี้ หรือว่าคนบ่นไม่ออก คนออกไม่บ่นจะเป็นเรื่องจริง ทำไมกันนะทำไม คนที่บ่นแล้วบ่นอีกแบบเรากลับไม่ยอมตัดใจลาออกได้สักที ตกลงงานนี้เหมาะหรือไม่เหมาะกับเรากันแน่
ตำนานคนบ่นไม่ออก คนออกไม่บ่น เราเชื่อว่าคงเจอกันแทบทุกออฟฟิศ เพราะมักจะมีตัวละครลับที่ไม่เคยบ่นอะไรกับเขา แต่รู้ตัวอีกทีก็ตอนเขาคนนั้นทำงานเดือนสุดท้ายแล้ว กับตัวละครที่อยู่ฝั่งตรงข้าม บ่นแล้วบ่นอีก บ่นราวกับพร้อมจะเก็บของเดินออกจากที่นี่ได้ตลอดเวลา แต่ว่าไม่ได้ออกกับเขาสักที แล้วทำไมเราถึงลังเลใจกับงานที่เราไม่เอนจอยขนาดนั้น หรือว่าเราไม่ได้อยากออกจากงานจริงๆ กันแน่
แม้แต่งานที่เรารัก หรืองานที่เราฝันมาตั้งแต่เด็ก อาจจะเป็นงานน่าเบื่อหน่ายในตอนที่ได้ทำจริงก็ได้ เราไม่อาจหางานที่แสนเพอร์เฟ็กต์ตอบโจทย์เราในทุกมิติของชีวิตได้ง่ายขนาดนั้น (แต่ถ้าใครเจอแล้ว ขอแสดงความยินดีด้วย) งั้นเรามาลองเรียงลำดับแรงจูงใจในการทำงานกันดูว่า ทุกวันนี้งานที่ทำอยู่ได้ให้น้ำหนักในแต่ละข้อเท่ากันกับความต้องการของเราหรือเปล่า แต่หากใครยังนึกไม่ออก เรามีลิสต์ให้คร่าวๆ ดังนี้
-
- เงินเดือน
- สิทธิพิเศษ
- Work-Life Balance
- สภาพแวดล้อม/เพื่อนร่วมงาน
- โอกาสเติบโตในสายงาน
ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานในตอนที่เราพิจารณาเลือกงานที่ตอบโจทย์กับชีวิตเรา แต่เมื่อเราเอาตัวเองเข้าไปในองค์กร เรื่องพื้นฐานเหล่านี้ถือเป็นด่านที่เราเดินผ่านไปแล้ว หากจะพิจารณาถึงเนื้องานที่ทำอยู่ว่าตรงกับความต้องการของเราแค่ไหน เราลองมาขยับสู่คำถามถัดไปกัน
-
- คุณมีความสนใจตรงกับเนื้องานที่ทำอยู่แค่ไหน?
- คุณรู้สึกมีคุณค่าหรือเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรมากแค่ไหน?
- ลักษณะนิสัยของเรา เหมาะกับงานที่ทำอยู่หรือไม่?
คำถามเหล่านี้ยึดโยงอยู่กับความสนใจ คุณค่า และลักษณะนิสัยของเรา เมื่อมีสักข้อหนึ่งที่หล่นหายไป ก็อาจทำให้เรารู้สึกเว้าแหว่ง หรือโหยหาสิ่งที่ขาดจนรู้สึกว่า งานที่ทำอยู่นั้นไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเราเอาเสียเลย แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนตัดสินใจเกินไป หากงานที่ทำอยู่ยังสามารถเติมเต็มความต้องการข้ออื่นๆ ได้ นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจลาออกอย่างที่พร่ำบ่นได้เสียที เพราะจริงๆ แล้วงานนี้มันก็ยังตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการอยู่บ้าง หรืออาจจะตอบได้แทบทุกข้อเสียด้วยซ้ำ มีเพียงบางข้อที่ขาดหายไป แล้วเราดันไปโฟกัสอยู่กับมันจนลืมมองถึงข้ออื่นๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราได้จนถึงวันนี้
ทั้งหมดนั้นแตกต่างจากคนที่ลาออกโดยไม่บ่น เพราะเขารู้คำตอบแน่ชัดแล้วว่า งานที่ทำนั้นไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตอีกต่อไป การตัดสินใจออกจากงานจึงไม่ใช่เรื่องยาก และไม่มีข้อไหนให้ต้องลังเล
หากงานที่ทำอยู่เริ่มไม่ตอบโจทย์เราจนรู้สึกว่าตัวเองหมดความสนใจในเนื้องาน เราไม่ได้มีความสำคัญกับองค์กร ไปจนถึงไม่มีความสุขที่จะลุกขึ้นไปทำงานอีกต่อไปแล้ว นั่นอาจจะถึงเวลาที่เราต้องลองมองหางานใหม่ได้เหมือนกัน และสามารถใช้คำถามข้างต้นเหล่านั้นในการพิจารณางานต่อๆ ไปของเราได้
มาลองวางแผนล่วงหน้าให้กับตัวเองกัน ว่าต่อไปเราจะก้าวขึ้นไปได้แค่ไหนในอาชีพนี้ เพื่อให้เราพอเห็นทางข้างหน้าว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน โดยเริ่มจากการก้าวในตอนนี้ อย่างน้อยหากระหว่างทางงานมันจะน่าเบื่อนัก เราก็ยังมีปลายทางอื่นรอเราอยู่ และนี่ก็เป็นอีกความท้าทายว่า เราจะฝ่าด่านความเบื่อหน่ายนี้ไปได้อย่างไร
ครั้งหน้าอาจเป็นเราที่รู้ความต้องการของตัวเองมากพอ จนได้เป็นคนออกไม่บ่นกับเขาบ้างก็ได้
อ้างอิงจาก