หลังจากที่ทั้งโลกต้องปรับรูปแบบการทำงานพร้อมกันยกใหญ่ด้วยการทำงานที่บ้าน เมื่อเราต้องการระยะห่างทางสังคมมากขึ้น รูปแบบการทำงานหลายอย่างจึงถูกนำมาทบทวนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมที่ยืดเยื้อ จำนวนวันที่เข้าไปนั่งในออฟฟิศ ไปจนถึงการตั้งคำถามว่าออฟฟิศยังจำเป็นอยู่ไหม มันอาจดูเหมือนการปรับตัวให้อยู่รอดในระยะสั้นๆ แต่เมื่อนานวันเข้าเรากลับพบว่าหลายสิ่งนั้นเป็นวิธีที่เวิร์กอยู่เหมือนกัน เราเลยได้เห็นรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่เข้ามาประคับประคองการทำงานในช่วงทำงานที่บ้าน แต่มันเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในอนาคตด้วย
จากช่วงเวลาแห่งการลองผิดลองถูก ทั้งการประชุม เวลาเข้าออกงาน ตารางงาน เดดไลน์ นโยบายต่างๆ ที่ถูกปรับไปให้เหมาะกับแต่ละองค์กร มีหลายคนที่มีความสุขกับการทำงานที่บ้าน รู้สึกว่าสามารถผ่านสิ่งนี้ไปได้แบบสบายๆ แต่ก็มีอีกหลายคนต้องเผชิญกับความเครียดในการปรับตัว จนรู้สึกว่างานนี้อาจจะไม่เหมาะกับเราไปเลยก็มี เราได้ผ่านช่วงเวลาของการเผชิญปัญหาต่างๆ การปรับตัวต่อรูปแบบการทำงานใหม่ๆ กันมาสักพักแล้ว
เราเลยได้เห็นรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งเวลาทำงาน สถานที่ทำงาน หรือแม้แต่เวลาเข้าออกงาน ที่อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ผลการสำรวจจาก Simform ที่ไปสอบถามความคิดเห็นจากคนทำงานชาวอเมริกัน กว่า 2000 คนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย Work From Home บอกตัวเลขที่น่าสนใจไว้ว่า ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 แล้วหลายบริษัทต้องใช้นโยบาย Work From Home อย่างเต็มรูปแบบเนี่ย 82% ของบริษัท วางแผนไว้ว่าจะให้พนักงานของพวกเขาทำงานที่บ้านไปก่อนเรื่อยๆ และอีกกว่า 77% อยากใช้นโยบายนี้ถาวรไปเลย
จากวันแรกที่ต้องย้ายทุกอย่าง ทั้งที่ทำงานและพื้นที่การใช้ชีวิตมาไว้ที่บ้าน จนถึงวันที่หลายประเทศสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง สามารถกลับไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศได้ โลกของการทำงานได้ผุดแค่รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนมุมมองต่อการทำงานไปแบบถาวร มาดูกันว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ การทำงานที่บ้าน เปลี่ยนโลกของการทำงานไปอย่างไรบ้าง?
Workcation is The New Vacation
รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่เราได้เห็นกัน เป็นการทำงานแบบเปลี่ยนสถานที่ได้ตามใจฉัน คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็น work from anywhere แต่จุดที่แตกต่าง คือ Workcation การทำงานแบบย้ายสถานที่ไปยังสถานที่ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้ท่องเที่ยว แทนที่จะเป็นการทำงานไปเที่ยวไป อิงแอบอยู่กับธรรมชาติ หรืออยากจะชิลในโรงแรมแสนสบาย โดยทั้งหมดนี้อยู่ในเวลางาน workday ของเรา
แม้เราจะได้อยู่ในสถานที่ที่ให้ความรู้สึก vacation แต่ยังนับเป็นวันทำงาน และเรายังต้องโฟกัสกับงานอยู่นั่นเอง จึงไม่รู้สึกว่าเราถูกช่วงชิงเวลาส่วนตัว เวลาพักผ่อน ไปตอนไหนเลย (นอกจากเราจะทำงานเกินเวลาเสียเอง) Workcation จึงเหมือนเป็นวิธีที่ทำให้เราหลีกหนีจากบรรยากาศเดิมๆ ของออฟฟิศ หรือสถานที่ที่เรานั่งทำงานบ่อยๆ มากกว่าการหลีกหนีงานทั้งหมดเหมือนกับ vacation
การได้ไปในสถานที่ที่เราเลือกเอง เพื่อหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ จึงเป็นอีกวิธีที่เปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน งานวิจัยในหัวข้อ ‘Psychological Perceptions Matter: Developing the Reactions to the Physical Work Environment Scale’ จาก Bond Business School บอกว่า การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจริงๆ ในที่ทำงาน ไม่ใช่แค่ตกแต่งเพิ่มเติม ย้ายที่นั่งในออฟฟิศเดิม แต่หมายถึงการเปลี่ยนสถานที่ไปเลย โดยเฉพาะสถานที่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จะช่วยลดความฟุ้งซ่านของจิตใจ ลดความเครียด เพิ่มความครีเอทีฟให้กับตัวเอง ได้อีกด้วย
รู้จักเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้นะ : https://thematter.co/social/workcation/137855
Ergonomic Gadgets กลายเป็นของที่ต้องมี
ลำพังก่อนจะนั่งทำงานที่บ้าน ชาวออฟฟิศเป็นอันรู้กันดีว่า จุดยุทธศาสตร์อย่างคอบ่าไหล่นั้น เป็นพื้นที่สีแดงเข้มที่ขยับซ้ายก็โอย ขยับขวาก็โอย หลายออฟฟิศจึงมีเก้าอี้ที่รองรับกับสรีระเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาออฟฟิศซินโดรมของพนักงานตามมา แต่เมื่อที่ทำงานมันย้ายไปอยู่ที่บ้านแล้ว และมีทีท่าว่าจะอยู่ที่บ้านไปอีกนาน การลงทุนกับ Ergonomic Gadgets จึงไม่ได้เป็นแค่เทรนด์เก๋ๆ แต่เป็นเรื่องที่เราควรลงทุนตามความเหมาะสม เพื่อยืดอายุของสุขภาพร่างกายของเราเองนี่แหละ
โดย Ergonomic Gadgets ชิ้นแรกที่เราคุ้นหูคุ้นตากันดี คงจะเป็นเก้าอี้นั่งทำงาน ที่รองรับสรีระเราในทุกส่วนอันแสนเปราะบาง แต่นอกจากนี้ยังมี Gadget ชิ้นอื่นๆ อย่างเมาส์ คีย์บอร์ด โต๊ะ หมอนหนุนหลัง หนุนคอ ที่ช่วยให้เราทำงานที่บ้านได้ราบรื่นเหมือนกับทำงานที่ออฟฟิศ เผลอๆ อาจจะสบายอกสบายใจกว่า ที่ได้ใช้ของส่วนตัวของเราไม่ปะปนกับใคร แต่ของเหล่านี้ก็ราคาสูงกว่าปกติ ก้ต้องเลือกเอาตามกำลังและความเหมาะสมของเรา เพราะยังไงมันก็คือการลงทุนกับสุขภาพเช่นเดียวกับการซื้อที่นอนดีๆ หมอนดีๆ ไม่ให้นอนแล้วปวดคอ ปวดหลังนั่นแหละ ต่อไปข้างหน้าในวันที่ตลาดนี้กว้างขึ้น เราอาจได้เห็นสินค้า Ergonomic ในราคาที่เอื้อมถึงกว่าตอนนี้ก็ได้
สำรวจเก้าอี้ Ergonomic ได้ที่ : https://thematter.co/social/ergonomic-chair-brand/135255
ออฟฟิศจะยังคงอยู่ แต่ไม่ใช่ในฟังก์ชั่นเดิม
ก่อนหน้านี้ เราใช้คำว่าไปทำงาน หมายถึงการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ สถานที่ที่เราจะได้เห็นหน้าเพื่อนร่วมงานนั่งตามโต๊ะประจำของแต่ละคน ถูกแบ่งเป็นสัดส่วนไปตามแผนก หน้าที่ ของแต่ละฝ่าย มีส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน มีพื้นที่พักผ่อน มีพื้นที่ส่วนตัว จนเหมือนเป็นอีกสังคมหนึ่งในชีวิตประจำวัน บางองค์กรมีความเข้มงวดในการเข้าออฟฟิศอย่างมาก นับเวลาเข้าออกงานกันเป็นหน่วยนาที ขาดลามาสายถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถหย่อนยานให้ได้ บางองค์กร มีนโยบายที่ยืดหยุ่น ไม่ถึงกับนับเวลาเข้าออก แต่ขอแค่เข้ามาทำงานให้เสร็จลุล่วงก็พอ
แต่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ออฟฟิศกลับกลายเป็นสถานที่ต้องห้าม เราไม่สามารถมาพบปะมาเจอกันได้ ไม่ว่าจะการนั่งทำงานที่โต๊ะตัวเอง หรือมาใช้ส่วนกลางอย่างลิฟต์ ครัว ห้องโถงร่วมกัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตัวออฟฟิศจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้เลยในช่วงที่ทุกคนทำงานที่บ้าน จนกลายคนเกิดคำถามว่า “จริงๆ แล้ว เราจำเป็นต้องมีออฟฟิศอยู่หรือเปล่า?” ไม่มีคำตอบที่ถูกผิดทั้งหมด แต่ลองสังเกตดูว่า เมื่อทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว ออฟฟิศกลับถูกมองว่าไม่มีความจำเป็น “ขนาดนั้น” อีกต่อไปแล้ว
เมื่อนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Hybrid Office ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ออฟฟิศจึงไม่ใช่พื้นที่สำหรับ “ทำงาน” ในทุกขั้นตอนอีกต่อไป ตัวออฟฟิศที่ยังคงอยู่นี้ถูกมองในฟังก์ชั่นที่ต่างออกไป บางแห่งถูกปรับเป็นพื้นที่สำหรับประชุม ระดมไอเดีย เป็นพื้นที่สำหรับการทำโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ใช้อุปกรณ์ที่ครบครัน พื้นที่กว้างขวาง หรือแม้แต่เพื่อพบปะกันในสัปดาห์ แล้วต่างแยกย้ายไปทำงาน ภาพของโต๊ะทำงานประจำ ที่ใครที่มัน จะถูกแทนที่ด้วย hot desks แทน ไม่มีโต๊ะของใครคนใดคนหนึ่ง ใครมาก่อนก็ได้นั่งก่อน
สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่า ออฟฟิศที่เราเคยรู้จักนั้นกำลังจะหายไป
ชวนไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่ : https://thematter.co/social/workplace/how-wfh-has-changed-working/149622
การทำงานที่บ้าน ไม่ได้เหมาะกับทุกคน
แม้จะมีเสียงข้างมากคอยบอกเล่าถึงข้อดีของการทำงานที่บ้านขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับการทำงานรูปแบบนี้กันทุกคน การทำงานที่บ้าน ตารางงานแบบยืดหยุ่น เป็นเหมือนเครื่องมือที่องค์กรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคนของตัวเอง บางคนเหมาะกับเครื่องมือนี้ บางคนก็เหมาะกับอีกแบบ เรื่องนี้ก็ด้วย บางคนมีความสุขกับการนั่งทำงานที่บ้านตัวเอง ไม่ต้องออกไปไหน บางคนแทบไม่มีไอเดียโผล่มาได้ ถ้าต้องอุดอู้อยู่ในห้อง
ผลการสำรวจจากผู้คนกว่า 3 หมื่นคนของ Microsoft พบว่า 54% รู้สึกว่าพวกเขากำลังทำงานมากเกินไป 39% รู้สึกเหนื่อยมากกว่าเดิม ถ้าเทียบกับช่วงก่อนทำงานที่บ้าน โดยปัญหาหลักๆ ที่พบจากการทำงานที่บ้าน คือ การไม่จำกัดเวลาทำงานอย่างชัดเจน หลายคนใช้เวลาประชุมมากขึ้นเป็นสองเท่า จากการประชุมปกติ หลายคนใช้เวลาทำงานมากขึ้น และไม่สามารถลุกจากหน้าจอได้เมื่อถึงเวลาเลิกงาน จนทำให้เกิดปัญหาในการทำงานที่บ้าน
การจำกัดเวลาเข้าออกงานสามารถพอช่วยได้ แต่สิ่งที่จะช่วยได้ดีที่สุดคงจะเป็นนโยบายจากบริษัท ที่ยืดหยุ่นมากพอให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานที่บ้านอย่างมีความสุขได้ เมื่อบางคนไม่สามารถทำงานในรูปแบบนี้ได้สะดวกเหมือนคนอื่น ควรมีมาตรการอะไร หรือข้อเสนออะไร ที่ช่วยให้เขากลับมามีความสุขกับงานได้หรือเปล่านะ การใส่ใจความรู้สึกของกันและกันในช่วงเวลาอันละเอียดอ่อนนี้ จึงเป็นการแสดง empathy จากองค์กร และซื้อใจพนักงานได้ดีทีเดียว
การทำงานที่บ้านจึงเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน บางคนเก่งในเครื่องมือนี้ บางคนเก่งในอีกเครื่องมือ แต่สำหรับหัวหน้าทีม เราปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ เพื่อให้ทุกคนมีเครื่องมือที่ดีและเหมาะสมในการทำงานให้องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
แล้วหากยังต้องทำต่อไป เราจะดูแลตัวเองยังไงได้บ้าง : https://thematter.co/social/how-to-maintain-work-life-balance-when-you-work-from-home/106940
ประเมินประสิทธิภาพการทำงานให้สอดคล้องกัน
เพราะเราอาจไม่ได้มานั่งเห็นหน้ากันในออฟฟิศอย่างเคย ไม่ได้ชะโงกหน้าออกไปเห็นว่าใครกำลังทำอะไรอยู่บ้าง หรืออาจไม่ได้พบปะพูดคุยถึงความคืบหน้าของงานแต่ละคนอย่างเคย การประเมินการทำงานของพนักงาน หลักเกณฑ์ที่นำมาพิจารณา KPI เดิมๆ อาจจะต้องถูกปรับให้เหมาะกับการทำงานด้วย อย่างปกติแล้ว ใครไม่เข้าออฟฟิศต้องโดนเพ่งเล็งแล้วว่าทำไมไม่เข้า แต่พอการทำงานที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติ เราก็ไม่สามารถเอาเรื่องนั้นไปประเมินเขาได้เช่นเคย
ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ที่อาจเคยเป็นคำพูดแสนไกลเกินเอื้อม ตอนนี้มันกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะบอกแล้วว่า ต่อให้พนักงานนั่งทำงานที่ไหนก็ตาม เขาจะสามารถทำงานให้บริษัทได้เหมือนเดิมหรือไม่ ด้วยผลงานของเขาเอง แล้วทีนี้แหละ ผลงาน จะกลายมาเป็นกุญแจสำคัญของการประเมิน
แล้วเราจะประเมินงานกันอย่างไรดี ชวนไปอ่านเพิ่มเติมที่นี่นะ : https://thematter.co/social/workplace/hybrid-office/140831
แม้ไม่ได้นั่งในออฟฟิศ แต่ Culture ยังตามติดไปถึงที่บ้าน
วัฒนธรรมองค์กร อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับทุกคน เป็นทั้งจุดมุ่งหมาย ให้ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน เป็นทั้งวิธีการ แนวคิด ที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายเดียวกัน มันจะยังคงยืดหยัดหนักแน่น ถ้าเราเจอหน้ากันทุกวัน มีโอกาสพูดคุยเล็กน้อยตอนขึ้นลิฟต์ หรือพูดคุยจริงจังในที่ประชุม แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้ว เราจะซึมซับวัฒนธรรมองค์กรกันอย่างไรดีล่ะ?
แม้ตัวจะอยู่บ้าน แต่การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ดี เพราะการทำงานที่บ้าน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกถึงความยากของมัน คือ การสื่อสาร แม้จะมีวิดีโอคอลที่ให้เราได้เห็นหน้ากัน มีแชทที่สร้างสามารถส่งข้อความหากันได้เสมอ แต่มันก็ไม่ราบรื่นเท่ากันพูดคุยกันตรงหน้า ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง อาจทำให้หลงลืมแบบแผน วิธีการ แนวคิด และจุดมุ่งหมายขององค์กรไป ถ้าหากองค์กรรู้สึกว่ามันยังเป็นสิ่งจำเป็น อย่าลืมหากิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แน่นแฟ้นดังเดิม อาจเป็นการเข้าประชุมในทุกสัปดาห์ กินเลี้ยง สังสรรค์ กันภายในบริษัท ตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละที่