ในตอนเด็ก หลายคนคงมีไดอารี่เล่มลับๆ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องราวอะไรขึ้น สมุดเล่มนั้นจะทำหน้าที่รับฟังเรื่องราว เก็บความลับไว้เป็นอย่างดี และเป็นเหมือนบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตหนึ่งของเรา แต่เมื่อโตขึ้น หลายคนกลับไม่ได้มีไดอารี่เล่มนั้นอีกต่อไปแล้ว ด้วยภาระ หน้าที่ หรือเวลาที่ไม่เอื้ออำนวยให้เรามีเวลามานั่งจัดระเบียบความคิด ละเมียดความรู้สึกลงไปในแต่ละวัน หากวันนี้ วันที่เราโตขึ้นอีกก้าวแล้ว แต่อยากกลับไปสัมผัสความรู้สึกของการจดบันทึกอะไรสักอย่างอีกครั้ง เรามีไอเดียดีๆ มาแนะนำ
ลืมการจดแบบไดอารี่สมัยเด็กไปได้เลย เพราะการจดโน้ตไม่ได้มีฟังก์ชั่นแค่การจดเพื่อความจำเท่านั้น นอกจากบันทึกเรื่องราวแล้ว เรายังสามารถพัฒนาตัวเองจากการจดโน้ตได้อีกด้วย สามารถเป็นได้ทั้งการวางแผนเพื่อความโปรดักทีฟในแต่ละวัน เป็นการทบทวนตัวเองในเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังช่วยเยียวยาจิตใจของเราในวันที่เจอเรื่องแย่ๆ ได้อีกด้วย
แม้จะอยากจดแค่ไหน แต่หลายคนมีเวลาว่างที่ต่างกัน เราจึงเข้าใจในเงื่อนไขการใช้ชีวิตของแต่ละคน การจดโน้ตแต่ละแบบ จึงเหมาะกับคนที่มีเวลาว่างแตกต่างกันไป ลองเลือกดูว่าการจดแบบไหนที่เหมาะกับเราที่สุดจะดีกว่า
Productivity Planning
ตั้งใจทำอะไรจดไว้แบบนั้น
หากเป็นคนพลังล้นเหลือ ไอเดียล้นหลามขอแนะนำเทคนิคนี้เลย เริ่มต้นวันมาด้วยการมองสิ่งที่เราจะโฟกัสในวันนี้ ไม่ว่าจะเรื่องงาน ความบันเทิง ความผ่อนคลาย ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องพุ่งเป้าไปที่การทำงานเพียงอย่างเดียว เพราะจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น อยู่ที่ว่าเราได้ทำสิ่งที่เราอยากทำหรือเปล่าต่างหาก
อยากจะตั้งเป้าว่าวันนี้อยากโฟกัสที่การฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย อยากเลิกงานแล้วได้ไปกินขนมร้านโปรด กลับบ้านไวเพื่อมีเวลาให้กับเพื่อนรักสี่ขาที่รอที่บ้านมากขึ้น อะไรก็ได้ทั้งนั้น จดไว้สัก 3-5 สิ่งที่จะโฟกัสในวันนั้นในช่วงเริ่มต้นของวัน แล้วอย่าลืมลงมือทำแต่ละอันด้วยล่ะ
พอหมดวันแล้วมาติ๊กดูว่า วันนี้เราได้ทำสิ่งที่ลิสต์ไว้ได้กี่อันกันนะ ได้ครบหมดเลยหรือเปล่า เพื่อเป็นพลังให้ตัวเองตอนจบวัน โดยเฉพาะวันเหนื่อยๆ หรือเจอเรื่องแย่ๆ การได้ทำแค่ 1-2 อย่างที่อยากทำก็ช่วยให้วันนั้นไม่แย่ไปเสียหมดแล้ว
หรือจะในวันที่รู้สึกว่าเรามีพลังจังเลย จนเราทำได้ครบทุกข้อ ยิ่งเป็นการ cheer up ตัวเองยิ่งขึ้นว่าเราทำทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ด้วยนะ หรือสุดท้ายแล้วหากไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเลย อย่างน้อยเราก็ยังดีที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร การเลือกสิ่งที่จะโฟกัสในแต่ละวันจึงเป็นการเริ่มต้นวันได้ดีอีกวิธีเลยล่ะ
Free Writing
เขียนทุกสิ่งดั่งใจคิด
มีเวลาว่าง แต่ยังไม่มีไอเดียอะไรในหัวเลย ตื่นมาก็ง่วงๆ งงๆ ดื่มกาแฟสักแก้วคงหายดี แต่ระหว่างนี้ลองมาขยับนิ้วจดโน้ตกันหน่อยไหม? Free Writing การเขียนแบบไม่มีกฎตายตัว คิดอะไรเขียนแบบนั้น ไม่ต้องสนใจว่ามันจะต้องเริ่มด้วบทนำ มีเนื้อหา มีสรุปปิดท้ายด้วยข้อคิดอย่างสวยงาม เราสามารถเขียนอะไรก็ได้ลงไป เพื่อเป็นการเรียกไอเดียในหัวให้ออกมากองรวมกันตรงนี้ แล้วถ้าหากอยากจะคุ้ยหาไอเดียในนี้ทีหลังก็ได้
หรือถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงจริงๆ ลองถามตัวเองง่ายๆ สักหนึ่งคำถาม “วันนี้อยากทำอะไร?” “ถ้าไม่ได้ทำอาชีพนี้ เราจะทำอะไรอยู่?” “มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำไหมนะ?” คำถามเหล่านี้ ที่ไม่มีใครมาคอยให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ คะแนนไวยากรณ์ยอดเยี่ยม เราสามารถตอบได้ทุกอย่างที่เราคิด เพราะนี่คือ Free Writing ไงล่ะ
ระหว่างนี้เราไม่ต้องคอยกังวลกับเรื่องอื่นๆ ปล่อยให้เราได้ขบคิดถึงคำถามนั้นไปเรื่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ มีสมาธิกับเนื้อหาตรงหน้า เพื่อให้ได้คำตอบจากตัวเราในที่สุด
Capture of The Day
วันนี้ของเราเป็นไงมั่งนะ
หากตอนเช้าเราไม่มีเวลามากพอ ด้วยกิจวัตรก่อนเริ่มงานที่แน่นเอี้ยด หรือมีตารางเวลาที่ไม่แน่นอนนัก ลองหาเวลาว่างระหว่างวัน สักครั้งละไม่เกิน 5 นาที มาสะท้อนเรื่องราวของเราในแต่ละวัน ให้เราได้เห็นภาพรวมของวันและเห็นตัวเองว่าต้องเจอกับอะไร ด้วยการพูดคุยกับตัวเองแล้วสะท้อนออกมาเป็นถ้อยคำว่าวันนี้เราได้เจอกับอะไรมาบ้าง ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เรารู้สึกอย่างไร เราอยากทำอะไรกับมัน
อาจไม่ต้องยาวเป็นดั่งไดอารี่หนึ่งหน้ากระดาษ เพียงแค่เลือกความรู้สึกหรือเหตุการณ์ที่ชัดเจน ส่งผลกับตัวเรามาสัก 3-5 อย่าง แล้วจดลงไปเป็นประโยคสั้นๆ ก็พอ วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องรอถึงตอนหมดวันจึงจะเขียนได้ ในช่วงระหว่างวัน ตอนที่เกิดความรู้สึกนั้นใหม่ๆ ก็สามารถโน้ตไว้สั้นๆ ได้เลย เพื่อเก็บความรู้สึกตอนนั้นไว้ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะหลายครั้งที่การจดบันทึกในตอนหมดวัน อาจทำให้เราตกหล่นบางเรื่อง บางความรู้สึกไป เราอาจลืมไปแล้วว่าตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นหรือเรารู้สึกอย่างไรกันแน่
และสุดท้าย เมื่อทุกอย่างถูกบันทึกไว้แล้ว เรามาทบทวนตัวเองในแต่ละวัน เพื่อให้รู้ว่าวันนี้เราทำอะไรได้ดีแล้วบ้าง เราทำอะไรพลาดไป เราจะแก้ไขมันอย่างไรในวันต่อไป เพื่อเป็นการยอมรับตัวเองว่าเราจะมีทั้งวันที่ดีและไม่ดีอยู่บ้าง อย่างน้อยจากโน้ตในวันนี้เราก็รู้แล้วว่าเราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรในวันอื่นๆ
5 –Minute Elevation
ให้เรื่องราวดีๆ คอยปลอบประโลม
หากใครไม่สะดวกที่จะเริ่มต้นจดกันตั้งแต่เริ่มวัน อาจด้วยเวลา ความเร่งรีบ ใดใดก็ตาม การจดหลังเลิกงานหรือในช่วงท้ายของวันก็ใช้ได้เช่นกัน ใช้เวลาเพียง 5 นาทีในช่วงท้ายของวัน หยิบปากกาและกระดาษมาบันทึกว่า วันนี้เราได้เจอเรื่องอะไรดีๆ มาบ้าง โดยเป็นการตอบคำถาม 3 ข้อนี้
- สิ่งที่เรายินดีกับมัน ดีใจที่มันเกิดขึ้นมากที่สุด
- สิ่งที่ดีที่สุดในวันนี้
- สิ่งดีๆ ที่เราได้ทำลงไปในวันนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
เพื่อให้เห็นว่าแต่ละวันของเรานั้นช่างมีความสุขขนาดไหน แม้เราอาจไม่ได้รู้สึกมากมายในตอนนั้น แต่สุดท้ายหากมันยังคงอยู่ในใจของเรา และทำให้เราประทับใจมากพอที่จะจำได้มาจนถึงตอนที่กำลังจดอยู่นี้ มันก็ถือว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่เราควรเก็บมันเอาไว้เพื่อเป็นพลังบวกให้กับเราทั้งในวันนี้และวันต่อๆ ไป
ปัดกวาด Mental Garden
เพื่อปัดเป่าปัญหาในใจ
วันนี้เจอเรื่องหนักใจมาหรือเปล่า? วันแย่ๆ เล่นเอาเรารู้สึกหม่นหมองเลยใช่ไหม? ไม่ว่าสวนจะสวยแค่ไหน เราก็จะเจอวัชพืชอยู่เสมอ เช่นเดียวกับในแต่ละวันเราเจอทั้งเรื่องดีๆ ชวนให้สดใสและเรื่องหนักใจที่ทำให้หม่นหมอง หากวันไหนเจอเรื่องหนักๆ มามากเกินไป จนรู้สึกว่ามันเป็นปัญหากับจิตใจของเราแล้ว (สังเกตได้จากความเครียด กังวล นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร) อย่าปล่อยให้ทุกอย่างสะสมอยู่ในนั้นแล้วบั่นทอนเราเรื่อยไป มาสะสางปัญหาเหล่านั้นด้วยปลายปากกาของเราใน 4 ขั้นตอนกันดีกว่า
- สิ่งไหนที่เป็นปัญหา? อาจเป็นได้ทั้ง คน งาน สิ่งของ ความเจ็บป่วย
- เป็นปัญหาอย่างไร? กล้าเผชิญความจริงในเรื่องนี้ แม้ว่าเราอาจจะไม่อยากพูดถึงมัน ว่ามันเป็นปัญหากับเรายังไง
- เล่าถึงปัญหา ในข้อนี้ให้เราบรรยายออกมาให้หมดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เรารู้สึกอย่างไร ต้องการทำแบบไหน กังวลกับมันแค่ไหน หรืออะไรตามที่อยู่ในหัวของเรา ความรู้สึกของเรา
- แก้ได้อย่างไรบ้าง? อาจเป็นหลายๆ วิธีที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ว่าจะแก้จากเราหรืออีกฝ่ายก็ตาม เขียนมันไว้ให้ครอบคลุมทุกทางออกที่เราพอจะมองเห็น ไม่ว่าเราจะทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม
ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เราได้กลับมาสำรวจความรู้สึกตัวเองว่าอะไรที่กำลังทำให้เรากังวลใจอยู่ มันทำอะไรกับเราบ้าง ช่วยนำทางท่ามกลางอารมณ์ขุ่นมัวว่าจริงๆ แล้ว ปัญหาอยู่ที่อะไร สุดท้าย เมื่อเราได้เห็นว่ามีทางออกอีกเยอะแยะมากสำหรับเรื่องนี้อาจช่วยให้เราใจชื้นมากขึ้น อย่างน้อยเราก็ได้เตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้ไว้แล้ว