ตอนนี้ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่รอคอยกันมาอย่างเนิ่นนานก็ออกมาแล้วนะครับ และคงอีกไม่นานก็น่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่ สิ่งที่ดูจะไม่พลิกโผที่สุดก็คือ ‘การมีอยู่ของโผ’ ที่ดูจะพยายามทำให้กติกาแปลกประหลาดมากมายกลายเป็นจริงให้จนได้ ไม่ว่าจะเป็นสูตรการคำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ไปจนถึงสารพัดกรณีการโกงที่ดูจะมีแต่ฝั่งเดียวโดนเล่นงาน
ขณะที่การกระทำของอีกฝั่งหนึ่งที่แม้จะมีหลักฐานชัดคาตาเพียงใด ก็ดูจะรอดพ้นผ่านไปได้ หรือที่ชัดเจนจนน่าใจหายก็อย่าง ‘ส.ว. ผู้เป็นกลางและคัดมาโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน’ ว่าจะมาช่วยโอบอุ้ม คสช. หรือพลเอกประยุทธ์อะไรต่างๆ นั้น ก็ชัดเจนแล้วว่าคำพูดลวงๆ เหล่านั้นแย่เสียยิ่งกว่าผายลมปาก เพราะแทบทุกคนดูจะเกี่ยวข้องและรักใคร่กับ คสช. หรือพรรคพลังประชารัฐทั้งสิ้น ว่ากันตรงๆ เลย คงจะไม่ผิดที่จะพูดว่า การเลือกตั้งนี้ ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งแล้วนั้นคือการลงทุนทำทุกวิถีทางให้พลังประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสียให้จงได้ ไม่ว่าจะต้องทำหรือแลกมาด้วยอะไร (at all cost)
ซึ่งก็อีกนั่นแหละครับ เหตุการณ์นี้ไม่ได้เหนือกว่าการคาดการณ์ของหลายๆ คนนัก ฝ่ายก้าวหน้าหลายคนกระทั่งดูแคลน ประเมินการกระทำเหล่านี้นอกจากในฐานะความเลวร้ายแล้วยังในฐานะของความโง่เง่าต่ำตมทางปัญญาด้วย อย่างไรก็ตามแม้ผมจะเห็นด้วยในเรื่องความเลวร้ายของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในแง่ของความงี่เง่าไร้สมองนั้นผมเองไม่แน่ใจนัก และคิดว่าอาจจะต้องมาขบคิดกันให้ละเอียดมากขึ้นอยู่ คือที่ผ่านมาเรื่องหนึ่งที่ผมเน้นย้ำมาโดยตลอดเวลาที่มีการพูดถึงอนาคตของการเมืองไทยและความผิดพลาดของ ‘ฝ่ายก้าวหน้าไทย’ ก็คือ การประเมินกำลังและความสามารถของฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่ำเกินไปเสมอ ซึ่งหากว่ากันตรงๆ แล้ว กลุ่มสุดท้ายในทางการเมืองที่ควรจะถูกประเมินต่ำนั้นก็คือค่ายอนุรักษ์นิยม เพราะค่ายอนุรักษ์นิยมนี้เองที่ต้องยอมรับกันในข้อเท็จจริงว่าประสบความสำเร็จในการปกครองและจัดสรรอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนานที่สุด ต่อให้นับแค่ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาก็ตามที
พอพูดแบบนี้ ฝ่าย ‘ก้าวหน้า’ หลายคนก็มักจะทักท้วงขึ้นมาว่า “ก็ใช่สิ ฝั่งนั้นมีปืน มีกำลังอำนาจในทางกายภาพ ฝั่งเรามีแต่ปากกา” ซึ่งในระดับหนึ่งก็จริงนะครับ แต่ไม่ได้เสมอไป
เพราะฝ่ายก้าวหน้าเองก็เคยมีช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นเจ้าของอำนาจในทางกายภาพ หรือปืนที่ว่านั่นแหละครับ แต่สุดท้ายแล้วจะอ้างว่าด้วยเงื่อนไขอะไรกันก็ตาม อย่างการแตกคอกันภายใน การบริหารจัดหารอำนาจไม่ดีพอ หรือการประณีประนอมกับฝั่งอนุรักษ์นิยมในเวลานั้นจนเกินไป ข้อเท็จจริงก็คือฝ่ายก้าวหน้าไม่สามารถจะรักษาหรือกระทั่งวางระบบโครงสร้างการบริหารจัดการทางอำนาจไว้ได้ในวันที่พวกตนเคยมีโอกาสทางการเมืองอันได้เปรียบ และห้วงเวลาของฝั่งอนุรักษ์นิยมก็ต่อเนื่องยาวนานมา แม้จะมีสะดุดบ้างเป็นช่วงๆ แต่ก็สามารถรักษาอำนาจทางการเมืองมาได้โดยตลอด
กล่าวโดยสรุปที่สุดก็คือ คนที่ฝ่ายก้าวหน้ามักจะประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น คือ ฟากฝั่งทางการเมืองที่ ‘เป็นเกม’ มากกว่าตนเองเสมอมา และความพ่ายแพ้จากการประเมินฝั่งอนุรักษ์นิยมต่ำเกิน และประเมินตัวเองสูงเกินไปนี้เอง ทำให้ไม่มีแนวโน้มว่าจะได้ชัยในทางการเมืองอะไรมาในเร็ววันนี้นัก
เพราะฉะนั้นแล้ว ผมคิดว่าการมองพลังประชารัฐในฐานะตัวแทนหรือตัวเดินเกมใหม่ของฟากอนุรักษ์นิยมนั้นจึงไม่ควรจบง่ายๆ เพียงแค่เป็นการพยายามสืบอำนาจ คสช. หรือให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะหากต้องการแค่นั้น ผมคิดว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมมีกลวิธีอีกมากมายที่ไม่ต้องมาลำบากปวดหัวอย่างช่วงที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งที่เป็นสัญญาณให้เห็นได้ชัดว่าเราควรประเมินค่าของพลังประชารัฐให้มากกว่านี้ก็คือ ‘ต้นทุนที่ฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมต้องจ่ายไปเพื่อจะสร้างมันขึ้นมานั้นสูงมากๆ’ ทั้งต้นทุนในทางการเมือง และต้นทุนทางความชอบธรรม อย่างที่เราจะเห็นได้จากความน่าเกลียดมากมายในทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาหลายปี ตั้งแต่การรัฐประหาร การใช้งบประมาณในทางนโยบาย การเขียนรัฐธรรมนูญที่แสนน่าเกลียดทั้งในทางเนื้อหาและที่มาที่กีดกันความเห็นฝั่งตรงข้าม การใช้มาตรา 44 กำจัดคู่ต่อสู้ ไล่เรื่อยมา โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีถึงสองสามเดือนหลังนี้ที่การลงทุนด้วยต้นทุนทางการเมืองและความชอบธรรมสูงมากเป็นพิเศษทั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และภายหลังการเลือกตั้ง ที่กลการโกง การแก้ไขกฎหมาย หรือการตีความกติกาอย่างผิดร่องผิดรอยอันเป็นที่ประจักษ์กันแก่สายตาแทบทุกคนในช่วงที่ผ่านมา และชัดเจนว่าเป็นการลงทุนทำทุกอย่างเพื่อสร้างและปูทางให้พลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาลให้จงได้ จนราวกับว่าประชาชนทุกคนล้วนแล้วแต่โง่เขลาเบาปัญญากันทั้งนั้น
หลายคนอาจจะมองว่าสิ่งที่ทำๆ มานี้เป็นเรื่องของความห่ามไร้สติของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย ที่กล้าทำห่ามขนาดที่เสมือนคนตาบอดสมองพังกันทั้งแผ่นดิน และไม่มีความสามารถพอจะเก็ตได้ว่าการที่พรรคมีสามหมื่นกว่าเสียงได้ 1 ที่นั่ง แต่เจ็ดหมื่นกว่าเสียงก็ได้ 1 นั่งในสภาเท่ากันแทนที่จะเป็น 2 ที่นั้นเป็นเรื่องที่แถเถือกที่ไม่ว่าจะอ้างอย่าไรก็ไม่เมกเซนส์กันเลยทีเดียว เรื่อง ‘ความห่าม’ หรือ ‘ความไม่เห็นหัวประชาชน’ อาจจะจริงและผมก็เห็นด้วย แต่การมองว่าการเลือกเดินหมากตานี้เป็นความไร่สติหรือความสิ้นคิดของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไทยต่างหาก ที่ผมคิดว่าอาจจะเป็นการดูแคลนหรือประเมินฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่ำมากเกินไป
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเราต้องพยายามเข้าใจก็คือ สิ่งที่เราคิดว่ามัน ‘ชัดคาตา’ เป็นความมิชอบและหากทำไปแล้วจะทำลายความชอบธรรมของตนเอง (ในฐานะผู้กระทำหรือผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง) เมื่อเราสามารถมองเห็นถึงประเด็นนี้ได้ เราต้องคิดควบคู่กันไปด้วยเสมอด้วยว่า ฝั่งค่ายอนุรักษ์นิยมเค้าเองก็รู้ในจุดนี้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งที่คนในฝั่งก้าวหน้าควรกลับมาคิดอย่างจริงจังหรือตั้งเป็นโจทย์อยู่ในใจเสมอสำหรับผมแล้วก็คือ ในเมื่อสิ่งที่ตัดสินใจทำลงไป ฝั่งอนุรักษ์นิยมรู้ตัวดีว่าทำไปแล้วจะเสียหายปานใด แต่ก็ยังเลือกทำ นั่นแปลว่าการสร้างพลังประชารัฐขึ้นมาให้ได้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ทั้งยังต้องควรค่าหรือน่าจะคุ้มทุนกับการลงทุนที่ดูจะสร้างความเสียหายมากมายทางการเมืองและความชอบธรรมอย่างหนักในระยะยาวได้ด้วย
ถ้าพลังประชารัฐมีราคาขนาดนี้ ผมคิดว่าเราต้องลองมามองกันจริงๆ ว่าพรรคถูกจงใจสร้างขึ้นเพื่อเป็นอะไร? พรรคควรจะเป็นมากเกินกว่าแค่การส่งประยุทธ์ จันทรโอชาและ คสช. อยู่ในสภาต่อไปหรือไม่? เพราะหากต้องการแค่นั้น ก็ดูจะไม่ต้องทำอะไรที่ลำบากลำบนขนาดนี้ เผลอๆ รัฐประหารซ้อนยึดอำนาจตัวเองอีกทีหนึ่งยังจะโดนคนด่าน้อยกว่ารัฐประหารผ่าน กกต. อย่างที่เป็นอยู่นี้เลย
เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผมคิดว่าเราต้องถอยออกมาดูฟังก์ชั่นหรือกลไกหลักของพลังประชารัฐเสียก่อน หน้าที่หลักของพลังประชารัฐนั้นง่ายมากครับ มันคือการเป็นตัวแทนของค่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในสนามการเมืองโดยตรงในสนามสาธารณะนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการจะสร้างฐานอำนาจทางการเมืองในระยะยาวหากต้องการจะฉาบเคลือบฉากหน้าว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่ อนึ่งพลังประชารัฐนี้จะไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย หากพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่กลไกนี้ได้ดีพอ แต่นับตั้งแต่การรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์ได้พิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าล้มเหลวตลอดในการทำหน้าที่ตัวแทนของฝั่งชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในเวทีสาธารณะ พวกเขาไม่สามารถยึดตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองอย่างเข้มแข็งได้ กระทั่งเจอกับความโกลาหลทางการเมือง (political chaos) มากมายด้วย เพราะฉะนั้นกลไกตัวใหม่อย่างพลังประชารัฐจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นมา
อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ ฝ่ายขวาในสนามการเมืองนั้นมักจะมีตัวแทนที่ทรงประสิทธิภาพเสมอมา ทั้งหลายๆ คนยังกลายเป็นตำนานทางการเมืองด้วยไม่ว่าจะเป็นเปรม, เสนีย์-คึกฤทธิ์ ปราโมช, ควง อภัยวงศ์, อานันท์ ปัญญารชุน แม้กระทั่งสฤษดิ์ ธนะรัตน์เอง หากไม่นับเรื่องคดีฉ้อโกงของเค้าแล้ว ก็ปฏิเสธความเป็นที่รักและความชื่นชมในด้านงานพัฒนาของเขาได้ลำบาก เป็นต้น ผู้นำฝ่ายขวาเหล่านี้ เป็นกลไกสำคัญที่ปักหมุดอิทธิพลของฝ่ายขวาในการเมืองไทยมาโดยตลอด เพราะอย่างน้อยๆ ก็เป็นฝ่ายขวาที่ชาญฉลาดพอ และทำให้สังคมไทยมองว่าฝ่ายขวาที่ดีก็มี และเป็นทางเลือกที่เมกเซนส์ทางหนึ่งเสมอในทางการเมืองไทย และผมคิดว่าอิทธิพลของการเป็นตัวเลือกนี้เองมีผลอย่างมากที่ทำให้การเรียกร้องทหารในยามที่มีวิกฤติทางการเมือง กลายเป็นทางเลือกที่สังคมไทยจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมามองว่าชอบธรรมและเป็นสมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ (แม้จะขัดกับหลักการตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม) ดังจะเห็นจากการเรียกร้องให้ทหารทำการรัฐประหาร หรือมอบดอกไม้ให้ทหารในช่วงที่ผ่านมา
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่อาจจะปฏิเสธได้ก็คือ ผู้นำฝ่ายขวาในตำนานเหล่านี้ (ไม่ว่าคุณจะชอบหรือเกลียดเขาปานใด) ล้วนมีสเน่ห์เฉพาะส่วนตัว (charisma) อยู่ด้วย ที่ดึงและตรึงใจสังคมไว้ได้
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าหายไปจากสังคมไทยมานานอย่างน้อยๆ ก็ราวทศวรรษกว่าๆ ที่ผ่านมานั้น ก็คือ ผู้นำฝ่ายขวาที่มี charisma แบบที่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้นำคณะรัฐประหารหรือนายกรัฐมนตรีที่มาจากอำนาจอนุรักษ์นิยมใดๆ ก็ตามอย่างน้อยก็นับแต่ช่วงการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา
ความขาดแคลนผู้นำฝ่ายขวาที่มี charisma และฝีไม้ลายมือในการบริหารนี้เองที่ทำให้ในระยาวแล้ว ‘สถานะความเป็นตัวเลือกที่ realistic (สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ) ของฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม’ นั้นลดทอนลงไปเรื่อยๆ จนในตอนนี้ผมคิดว่ากระแสความเกลียดชังทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยมาถึงจุดที่อาจจะพอเรียกได้ว่า ยากจะหาการออกมาเรียกร้องโดยมีคนจำนวนมากเห็นว่าชอบธรรมให้ทหารทำการรัฐประหาร ‘ในฐานะทางการเลือกเพื่อการเมืองที่ดีขึ้น’ อีกต่อไป อย่างน้อยๆ ก็ในระยะอันใกล้
ความขาดแคลนอันเป็นปัญหาของฝ่ายขวาในช่วงทศวรรษกว่าๆ เป็นอย่างน้อย กับการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ฟังก์ชั่นในฐานะตัวเลือกนี้เอง ทำให้พลังประชารัฐจำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยต้องสร้างให้มาเป็นตัวแทนของ ‘ผู้นำฝ่ายขวาผู้เปี่ยมด้วย charisma แบบเดิม’ และต้องมีสถานะเป็นสถาบันทางการเมืองให้จงได้ เพื่อให้ไม่ต้องพึ่งชะตากรรมว่าจะมีผู้นำทรง charisma โผล่ขึ้นมาให้ใช้งานได้ในจังหวะที่ต้องการอีกต่อไป โดยเฉพาะในวันนี้ที่ตัวผู้นำสูงสุดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมดูจะไม่ได้เน้นในการสร้าง charisma ใดๆ มากนักดั่งเช่น ‘ยุคก่อน’
เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ผมมองว่าฝั่งชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมพยายามจะสร้างพลังประชารัฐขึ้นมา โดยแลกกับการลงทุนมากมหาศาลที่ว่าไปก็คือ การเปลี่ยนตัวเลือกในเวทีสาธารณะของฝ่ายขวาเองจากตัวบุคคลที่เปี่ยมด้วยบารมี มาเป็นสถาบันทางการเมืองที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่อง ไม่ต้องพึ่งบุญพึ่งกรรมอีก เช่นนั้นเอง แม้ผมโดยส่วนตัวจะเกลียดพรรคพลังประชารัฐและไม่นิยมในแนวคิดฝ่ายขวาเลย แต่ผมก็คิดว่าตัวนโยบายที่พลังประชารัฐปั้นมาในครั้งนี้นั้น เอาตรงๆ ไม่ได้นับว่าแย่อะไรมากนัก หลายนโยบายนั้นก็ไม่ได้ต่างจากพรรคของฝ่ายก้าวหน้าเสียด้วยซ้ำ ว่าง่ายๆ ก็คือ ความแตกต่างในเชิงนโยบายนั้นไม่ได้มีมากนัก นโยบายไม่เลวเลยนั่นแหละโดยสรุป และผมก็เชื่อจริงๆ ด้วยนะครับว่าหากเค้าได้เป็นรัฐบาล (ซึ่งก็คงจะได้เป็น เพราะโกงโลกมาขนาดนี้แล้ว) เขาจะพยายามลงมือพัฒนาประเทศอย่างจริงจังด้วย ไม่ได้ให้เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ในยุครัฐบาล คสช. ที่ยิ่งทำแล้วยิ่งเละ เพื่อที่จะทำให้ตัวพรรคพลังประชารัฐกลายมาเป็นทางเลือกที่ realistic จริงๆ ในเวทีการเมืองระยะยาวให้ได้
โดยสรุปก็คือ พลังประชารัฐในสายตาผม คือ สถาบันใหม่ที่มาทดแทน charisma เดิมส่วนบุคคล เพื่อสร้างทางอยู่รอดในระยะยาวให้กับฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมในเวทีสาธารณะให้ได้ และกลไกนี้สำคัญและจำเป็นมากนะครับ ขนาดที่ต่อให้ต้องแลกจ่ายด้วยความหน้าด้านหน้าทนอย่างที่ทำอยู่นี้ก็ต้องทำนั่นเอง