โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ สิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับพวกเราคือ ‘การยอมรับความผิดพลาด’ ทำผิดทั่วๆ ไปว่ายอมรับยากแล้ว การจะรู้ว่าความเชื่อเราอาจจะผิดยิ่งยากกว่า
บางครั้งเราจะเห็นว่า ความผิดมันตำตาเนอะ ฟังยังไงเรื่องนี้ก็ผิดแน่ๆ ไม่ได้กล่าวหากันลอยๆ มีหลักฐานมายัน มาชี้ มาแจง แต่เราเองก็อาจจะต้องประหลาดใจว่า ในจุดที่อาจจะเป็นคนหรือเรื่องราวที่เข้าข่ายว่าอยู่ฝั่งเดียวกัน มีจุดยืนทางการเมืองเหมือนกัน กลุ่มคนนั้นๆ กลับยินดีที่จะเชื่อ แม้ว่าคำอธิบายความถูกต้องนั้นจะฟังดูงงงวยน่าเชื่อถือน้อยกว่านิทานก่อนนอนสมัยเด็กๆ ซะอีก
เลยเกิดคำถามว่า ทำไมนะ พอมันมีจุดยืนทางการเมืองเข้ามาเกี่ยว คนที่เคยมีความฉลาดเฉลียว มีเหตุมีผล เก่งกาจ มีประสบการณ์ เป็นที่น่าเคารพ สุดท้ายทำไมถึงยอมรับคำอธิบายแสนพิลึกกึกกือ หรือเรื่องพิกลผิดปกติ เพียงเพื่อให้จุดยืนทางการเมืองของตัวเองยังคงแน่นอนไม่สั่นคลอน
คำตอบนั้นเรียบง่าย และฟังดูเวรี่พุทธ คือจุดยืนทางการเมืองเป็นความเชื่อแบบหนึ่ง ซึ่งก่อร่างขึ้นเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตลักษณ์ (identity) ของคนคนนั้น
การที่จะบอกว่าความเชื่อของคนคนนึงนั้นผิดพลาด
จึงเป็นเรื่องที่ทั้งยากและแสนเจ็บปวด
ไม่ว่าเราจะเก่งกาจแค่ไหน สุดท้ายการยอมบอกว่าเฮ้ย เราอาจจะผิดก็ได้ มันคือการที่เราสามารถก้าวผ่าน ‘อัตตา’ หรือ self ไปได้นั่นเอง
แง่หนึ่ง สำหรับบ้านเราที่มีความพยายามปฏิเสธการเมืองออกจากปริมณฑลของชีวิต เช่นคำกล่าวที่ว่าพี่ไม่สนใจการเมืองแล้ว การรับรู้ (realize) การเมืองและจุดยืนทางการเมืองในตัวตนที่จะนำไปสู่การยอมรับและความเข้าใจ จึงเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก
ความเชื่อเป็นเรื่องของตัวตน
ในยุคที่ความเชื่อทั้งหลายถูกท้าทาย ความเชื่อดูจะเป็นอะไรที่คนยุคโมเดิร์นเข้าใจและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้ เราย้ายจากความเชื่อเหนือธรรมชาติมาสู่ดินแดนแห่งเหตุผลและวิทยาศาสตร์ ผ่านการเชื่อเรื่องเทพยดา จากโลกแบนๆ มาสู่ความเข้าใจที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น แต่ความเชื่อก็คือความเชื่อ (belief) เวลาเราเชื่ออะไรไปแล้ว ในที่สุดมันก็สิ่งที่แสนจะเปลี่ยนยาก
เพราะความเชื่อเหล่านั้นมันหล่อหลอมเข้าไป
กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน
แถมความเชื่อพวกนี้มักจะมีประเด็นเรื่องความถูกต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ของมุมมองการมองโลกของเรา ในปี ค.ศ.2015 มีงานศึกษาทางจิตวิทยาที่พบว่า ต่อให้มีหลักฐานแค่ไหนก็แสนจะยากในการเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อของคนเราได้
ทรอย แคมป์เบล (Troy Campbell) นักวิชาการที่ทำวิจัยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ความคิดของคุณมันแย่ และที่สำคัญคือความเชื่อนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมตัวตนของเรา และแน่นอนว่าเราเองรักตัวตนของเรา การที่ใครมาบอกว่าเราผิด สิ่งที่เราคิดเราเชื่อนั้นมันผิด แน่นอนว่า เป็นการโจมตีที่แสนจะรวดร้าว และหลายคนก็อาจจะตอบโต้ด้วยการปฏิเสธความจริงนั้นๆ และเลือกที่จะเลือกเชื่อในส่วนที่ตัวเองอยากจะเชื่อ ไม่ว่าจะฟังดูนิทานหรือไร้เหตุผลมากมายแค่ไหนก็ตาม
สมองยิ่งฉลาด ยิ่งให้เหตุผลเก่ง
สมองของเรามีพลังในการให้เหตุผล (rationalize) ในเซลนับล้านล้านในหัวเรา สมองของเราสามารถจัดการ จับวาง ตีความ เชื่อมโยงปะติดปะต่อสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อรักษาเรื่องความคิด ความเชื่อและตัวตนของเราไว้ได้อย่างแข็งขัน
หนึ่งในการทดลองที่สามารถทั้งอธิบาย และบางคนก็เชื่อว่าจะเป็นทางแก้เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนความเชื่อได้ คือการทดลองชื่อ ‘A choice blindness’ การทดลองสัญชาติสวีดิชนี้ทดลองความคิดและการให้เหตุผลของผู้คน ตัวงานทดลองทดลองให้กลุ่มตัวอย่างเลือกรูปหน้าคน 1 รูป เสร็จแล้วก็จะแอบเปลี่ยนรูปเป็นใบหน้าที่ดูดีน้อยกว่านั้นหน่อย ผลของเปลี่ยนพบว่า คนส่วนใหญ่ก็จะยอมรับไอ้รูปที่แย่ลงหน่อยใบนั้น พร้อมทั้งสามารถให้เหตุผลว่าทำไมถึงเลือกรูปที่ตัวเองไม่ได้เลือกนั้นตั้งแต่แรก
ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า
มนุษย์เรามีความสามารถในการให้เหตุผลสารพัดกับผลที่ออกมา
ไม่ว่าอย่างไรเราก็มีเหตุผลกับสิ่งต่างๆ เสมอ นอกจากการเลือกรูปแล้ว หลังจากนั้นมีงานศึกษาไปทดลองกับการเลือกอื่นๆ ตั้งแต่รสชาติของแยม การตัดสินใจทางการเงิน กระทั่งการเป็นพยานให้การต่างๆ จากการสลับเพื่อทดสอบการให้เหตุผลตรงนี้จึงทั้งเข้าใจความสามารถในการยืนยันความเชื่อหรือการเลือกของตัวเอง ในขณะที่อีกคำอธิบายคือการเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองต้องใช้เวลา และอาจเกี่ยวกับการให้ผลที่ต่างออกไป มากกว่าการวิพากษ์ซึ่งหน้า
พี่ไม่สนใจการเมืองแล้ว กับปัญหาของการทำให้ไม่เป็นการเมือง
จริงๆ การแยกคู่ตรงข้ามอย่างหยาบๆ เช่นเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม อาจจะลดทอนความซับซ้อนของโลกนี้ลงไปบ้าง แต่ว่าเวลาที่เรามีจุดยืนต่อเรื่องอะไร หลายครั้งมันก็มีความโน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง โดยแต่ละเรื่องเราอาจจะมีสเกลที่แตกต่างออกไป เรื่องเพศ เรื่องการศึกษา รัฐ ซึ่งการรู้สเกลนี้มันก็ทำให้เราตรวจสอบจุดยืนของเราได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราเปิดใจกว้างว่า เอ้อ มันเป็นแค่จุดยืนจุดยืนนึงเท่านั้นนะ อะลองฟังอีกฝั่งซิ และแน่นอนว่า ทุกอย่างในโลกแทบจะมีความเป็นการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับอำนาจอยู่เสมอ
สังคมไทยมีแนวคิดเรื่องการเมืองที่ค่อนข้างเฉพาะตัวคือ มีความพยายามแยกการเมืองออกจากผู้คน การเมืองเหมือนเป็นเรื่องที่อยู่นอกปริมณฑลของชีวิตเราก็ได้ เป็นเรื่องที่ลอยอยู่ข้างนอก เช่นในที่สี่แผ่นดิน คึกฤทธิ์พูดผ่านปากตาอ๊อตว่า “การเมืองนี่แหละจะเป็นสิ่งที่ทำให้พี่ทะเลาะกับน้อง คนในครอบครัวทะเลาะเบาะแว้งกันไปหมด” และแนวคิดนี้ก็ดูจะเป็นมรดกตกทอด ที่แยกการเมืองออกจากความคิดทั่วไปของคนไทยบางส่วน
ความเป็นจริง คำว่าการเมือง กระทั่งในสี่แผ่นดินเอง ก็ดูจะพูดถึงการเป็นพลเมืองสมัยใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับแนวคิดสมัยใหม่นั่นแหละ คือจากการที่เป็นชาวบ้านธรรมดา กลับมีสำนึกทางการเมือง มีจุดยืน มีอุดมการณ์บางอย่างให้ปกป้องจนนำไปสู่การปะทะขัดแย้งกันได้ในท้ายที่สุด ประเด็นสำคัญของโลกสมัยใหม่นั้นไม่ใช่การปฏิเสธการเข้ามาของการเป็นพลเมือง หรือความเป็นการเมือง แต่อยู่ที่การสร้างสังคมที่ความขัดแย้งสามารถหาจุดลงตัวและอดทนต่อกันและกันได้ต่างหาก
ส่วนหนึ่งของปัญหาจึงอาจอยู่ที่การทำให้ไม่เป็นการเมืองนี่แหละที่ทำให้ความคิดความเชื่อทั้งหลายที่มีความเป็นการเมืองอยู่ เข้าใจและมองเห็นได้ยากขึ้น เพราะถ้าเรารู้ว่า ไอ้ความเชื่อบางอย่างที่สมาทานจนทำให้เราเกลียดกลัวอีกฝ่ายได้จนเข้ากระดูกดำ จริงๆ มันก็เป็นแค่จุดยืนๆ หนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สัจธรรมความจริงอะไรขนาดนั้น ตรงนี้ก็อาจทำให้ความขัดแย้ง และเกิดการรับฟัง ยอมรับถึงความผิดพลาดได้มากขึ้น
ประกอบกับประเด็นเรื่องความเชื่อและตัวตน ที่ทำให้เราอาจจะเผลอเอาความเก่งกาจทางอาชีพ วัยวุฒิและอีกสารพัดคุณวุฒิไปค้ำคอไว้ จนไม่สามารถที่จะลดและละลายตัวตน เพื่อยอมรับถึงความผิดพลาดถึงความเชื่อในบางประเด็นที่ได้สมาทานไว้ ทำให้ยอมทรยศกับจริยธรรมและความถูกต้องได้อย่างไม่น่าเชื่อ
อ้างอิงข้อมูลจาก