เมื่อปีที่แล้ว ทางสถาบันดัตช์มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อ ‘อ่าน’ หน้าคู่หนึ่งในบันทึกของแอนน์ แฟรงค์ หน้าคู่ที่เด็กสาววัย 13 ปี ดูจะต้องการเก็บไว้ให้เป็นความลับยิ่งขึ้น ภายในหน้าคู่นั้นแอนน์ แฟรงค์เขียนเรื่องค่อนไปเรื่องเพศ เป็นมุกตลกทะลึ่งๆ และความคิดของเธอว่าด้วยเพศและเพศศึกษา
แต่ไม่ต้องตกใจ ในด้านหนึ่งเราก็รู้แหละว่าเด็กอายุ 13 ย่อมต้องมีประเด็นเรื่องการเติบโต มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บันทึกของแอน แฟรงก์ – ที่ถูกเขียนเป็นภาษาดัตช์ และมีการแปล ตรวจทาน ที่ในที่สุดมีความคิดเรื่องความเหมาะสมของการเป็นเด็กผู้หญิง บันทึกของแอนน์ แฟรงก์จึงเป็นตัวบทหนึ่งที่นักวิชาการให้ความสนใจเรื่อง ‘การแปล’ และการ ‘ตรวจทาน’ (editing) ที่ในที่สุดแล้ว ตัวตนของแอนน์ แฟรงก์ ในหลายฉบับภาษาก็อาจจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว กระทั่งแอนน์แฟรงก์เองก็มีการแก้ไขและมองตัวเองในฐานะ ‘นักเขียน’ – ‘นักหนังสือพิมพ์’ ด้วย
ในไดอารี่ลายหมากรุกสีขาวแดงอันโด่งดัง มีหน้าคู่หนึ่งที่แอนน์ แฟรงค์ – ตอนนั้นเขียนเป็นบันทึกส่วนตัว – สาวน้อยวัย 13 เขียนเรื่องทะลึ่งตึงตังก็อาจจะขวยอายกับความคิดบางอย่างของตัวเองด้วยเทคโนโลยีการแสกน นักวิจัยสามารถอ่านข้อความลับนั้นได้ ในหน้าคู่นั้นแฟรงค์เขียนถึงเรื่องตลกคล้ายๆ ที่เราอ่านในขายหัวเราะ คือเรื่องของผัวเมียที่ผัวกลัวว่าเมียจะมีชู้ แล้วไปตามหาๆ ดูในบ้าน ก่อนจะเจอชู้หนุ่มในตู้เปลือกกายล่อนจ้อน แล้วบอกว่า รอรถรางอยู่จ้า
Ronald Leopold ผู้อำนวยการ Anne Frank House บอกว่า
การค้นพบนี้ใช่ว่าจะเป็นเรื่องฉาวโฉ่อะไร
เพราะแอนน์ แฟรงค์เองก็พูดเรื่องเพศอยู่บ้างแล้ว
บันทึกของแอนน์ แฟรงค์ถือเป็นงานที่ซับซ้อนในตัวเอง เพราะเป็นบันทึกของเด็กหญิงวัย 13 และในการเผยแพร่งาน จะมี ‘การเซ็นเซอร์’ อยู่ในหลายระดับ การแปะเทปของแอนน์เองก็ถือเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองในระดับหนึ่ง Andre Lefevere นักวิชาการชั้นแนวหน้าพูดถึงความซับซ้อนของบันทึกแอนน์ แฟรงค์ว่ามีประเด็นเรื่องการแปล มีการชำระแก้ไขโดยมีประเด็นเรื่อง ‘ความเหมาะสม’ ในการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเด็กหญิง ก่อนจะเผยแพร่สู่สาธารณะ
เบื้องต้น ‘ต้นฉบับ’ บันทึกของแอนน์ แฟรงค์มีสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกเป็นไดอารี่ลายตารางดังกล่าวที่เธอเขียนเป็นบันทึกส่วนตัว (ฉบับ A) วันหนึ่งแอน แฟรงค์ไปฟังวิทยุว่าพวกบันทึกทั้งหลายในช่วงสงครามจะได้รับการเก็บบันทึกไว้ ได้ยินดังนั้นเธอก็เลยจัดการเขียนไดอารี่อีกฉบับขึ้นมา (ฉบับ B) ตรงนี้เองที่นักวิชาการบอกว่าแอน แฟรงค์เองก็มีการ ‘เขียนตัวเอง’ ขึ้นมาใหม่โดยที่เธอเองมีจุดยืนในฐานะนักเขียน
ในการศึกษาเปรียบเทียบไดอารี่ฉบับ A และ B ซึ่งก็แน่นอนว่าแฟรงค์เขียนด้วยสำนึกแบบนักเขียน เธอมีการใช้ ‘วรรณศิลป์’ (literary) บรรยายเหตุการณ์ใส่บรรยากาศ มีลักษณะของการเล่าเรื่อง การสร้างตัวละคร ตรงนี้เองสอดคล้องกับความเห็นของ Ronald Leopold ว่าเราก็สามารถมองวิธีการสร้างงานของแฟรงค์ได้ ในฐานะที่เธอเป็นทั้งวัยรุ่นและเป็นนักเขียน และอ่านสิ่งที่เธอเขียนขึ้นในฐานะ ‘เรื่องแต่ง-บันเทิงคดี’ (fiction)
ในการจัดพิมพ์ช่วงแรก ต้นฉบับของแอนน์ แฟรงค์ก็ถูกเขียนแก้อีกครั้งหนึ่ง คนแรกที่เข้าตรวจทานและร่วมสร้างตัวตนของแฟรงค์คือ อ็อตโต พ่อของเธอ การตีพิมพ์แรกของบันทึกแอน แฟรงค์ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ต้นฉบับแรกสุดของแอนน์ แฟรงค์เขียนขึ้นเป็นภาษาดัตช์ อ็อตโตพ่อของแอนน์เป็นผู้ที่แปลบันทึกทั้งสองฉบับของเธอเพื่อให้ญาติๆ ที่ไม่สามารถอ่านภาษาดัชช์ได้ ภายหลังญาติๆ บอกว่าให้ส่งงานของแอนน์ แฟรงก์เพื่อไปตีพิมพ์เถอะ การตีพิมพ์ในฉบับเยอรมันก็อ้างอิงจากต้นฉบับที่อ็อตโตทำขึ้น
ในการดูแลของพ่อ และการชำระจัดการเอกสารของแอนน์ แฟรงค์ในฐานะบันทึกจากพื้นที่ส่วนตัว การจัดพิมพ์จึงมีการตรวจและแก้ไขส่วนที่ทั้งคู่เห็นไม่ควรจะเผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะในประเด็นที่พูดเรื่องเพศ หรือประเด็นที่แอนน์ตั้งคำถามกับสถานะของผู้หญิงในสังคม หนึ่งในบทที่มีการละออกไป เช่นตอนที่แอนน์ แฟรงค์พูดกับเพื่อนผู้หญิงว่า ถ้าเราจะเป็นเพื่อนกัน เราก็ต้องสัมผัสหน้าอกกันได้ จากการศึกษาบันทึกของแอนน์ แฟรงค์หลายเวอร์ชั่นก็พบว่า ในฉบับภาษาเยอรมันและอังกฤษได้ละช่วงดังกล่าวออกไปทั้งหมด แต่พบในต้นฉบับภาษาดัตช์และในฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส
บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์จึงไม่ได้มีความสำคัญแค่บันทึกของความรุนแรงที่มีต่อมนุษย์ด้วยกัน แต่เรายังเห็นถึงความซับซ้อนของการเขียนและการแปล เราได้การเซ็นเซอร์ตัวเองที่เธอเขียนบางอย่างแต่กลับต้องซุกซ่อนไว้ด้วยสก็อตช์เทป เห็นการเขียนตัวเองใหม่สำหรับการเผยแพร่และอิทธิพลของงานบันเทิงคดีในการเล่าตัวตนของตัวเอง ในขั้นตอนเผยแพร่ เราได้เห็นการตัด การละในขั้นตอนการแปล ซึ่งแน่ล่ะว่า โจทย์คือการเอาบันทึกของเด็กผู้หญิงจากสงครามไปสู่สาธารณะ การคัดกรองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ‘การแปล’ จึงมีความซับซ้อนในตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Lefevere, André. “Translation: ideology On the Construction of Different Anne Franks” In Translation in Rewriting, and the Manipulation of Literary Fame, 45-54.Routledge, 1992.
Mona Baker and Kirsten Malmkjær. “Idology and Translation” In Routledge Encyclopedia of Translation Studies, 106- 111. Psychology Press, 1998.