1
เรื่องการโชว์นมของเอ็มมา วัตสัน ทำให้ผมประหลาดใจมาก
ที่ประหลาดใจ-ไม่ใช่เพราะเธอออกมาโชว์นม (ซึ่งก็ไม่ได้โชว์มากมายอะไรนักหนา) หรือเพราะมีคนเล่าให้ฟังว่า เธอถูกวิพากษ์ด้วยวาทกรรมของเฟมินิสต์คลื่นลูกแรกลูกสอง (พูดง่ายๆคือเป็นวาทกรรมเฟมินิสต์ยุคโบราณ) หรอกนะครับ ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่น่าเลิกคิ้วประหลาดใจด้วยซ้ำ เพราะสุดแสนจะคลิเช่
แต่ที่ประหลาดใจ-คือประหลาดใจกับวิธีนำเสนอข่าวที่เห็นในสื่อไทย ซึ่งได้ลดทอนความซับซ้อนทั้งปวงลงไปจนสิ้น
ใช่! คุณอาจประหลาดใจก็ได้-ที่ผมประหลาดใจ
แต่ลองมา ‘ถอดรหัส’ เรื่องนี้กันนิดนึงนะครับ แล้วคุณจะเห็นว่าที่จริงแล้วมัน ‘ซับซ้อน’ กว่าที่เราคิดกันเยอะเลย!
2
คนที่เป็นเหมือนหัวหอกออกมา ‘วิพากษ์’ เอ็มมา วัตสัน เป็นคอลัมนิสต์และนักจัดรายการวิทยุชาวอังกฤษ ชื่อ Julia Hartley-Brewer ซึ่งในตอนแรกผมก็ตั้งป้อมจะดูหมิ่นถิ่นแคลนเอาไว้ก่อน-ว่านางเป็นเฟมินิสต์ยุคป้าหรือเปล่า ถึงได้ออกมาตำหนิเอ็มมา วัตสัน ว่าไม่ควรโชว์นมแบบนี้ ก็โธ่! ถ้าไปค้นดูประวัติของเธอ คุณจะพบว่าเธอน่ะ เป็นผู้สนับสนุน Brexit ตัวยงคนหนึ่งเลยทีเดียว แปลว่าก็คงจะ ‘ขวา’ และ ‘โบราณ’ แน่ๆ
แต่พอไปดูทวีตที่เธอทวีตด่าเอ็มมา วัตสัน ผมพบว่าเธอทวีตอย่างนี้ครับ
“Feminism, feminism… gender wage gap… why oh why am I not taken seriously… feminism… oh, and here are my tits!”
ไม่ต้องแปลนะครับ เพราะไม่ได้มีศัพท์แสงอะไรยาก แต่คำที่ทำให้ผมสะดุดใจก็คือคำว่า Gender Wage Gap นี่แหละ
คำนี้ทำให้ผมนึกถึงการต่อสู้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งหากมองการต่อสู้เรื่องเพศเป็นเส้นตรงหรือ linear (แต่จริงๆ มันไม่ได้เป็นเส้นตรงหรอกนะครับ แต่มองเป็นเส้นตรงไว้ก่อนก็ง่ายดี) เราจะพบว่ามันเป็นการต่อสู้ถกเถียงในประเด็นที่ ‘ล้ำ’ ไปอีกขั้นหนึ่งบนเส้นตรงของการต่อสู้เรื่องเพศในโลกตะวันตก
เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ในสังคมโลกที่สามยังไม่ค่อยพูดถึงกันสักเท่าไหร่ เพราะยังต้องต่อสู้กับ ‘การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม’ ที่คร่ำครึพรีโมเดิร์นของแท้อยู่ ในขณะที่สังคมตะวันตกเขากำลังเถียงกันถึงเรื่องใหม่ (ที่จริงๆ ก็ไม่ใหม่นัก) ที่น่าสนใจเอามากๆ
เรื่องนั้นคือเรื่องที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Identity Politics หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์
3
ออกตัวไว้ก่อนนะครับ ว่าเรื่องนี้ซับซ้อน เพราะฉะนั้นก็แปลว่าผมอาจไม่มีความสามารถจะอธิบายให้เข้าใจได้ดีพอในเนื้อที่สั้นๆ ดังนั้นได้โปรดอย่าเพิ่งรีบด่วนเหมารวม ผลักผู้เขียนตัวน้อยๆ อย่างผมกระเด็นไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือเหมารวมว่า ถ้าเป็นขวาแล้วต้องมีมุมมองเรื่องเพศแบบนั้น ถ้าเป็นซ้ายแล้วต้องมีมุมมองเรื่องเพศแบบนี้ เพราะเรื่องพวกนี้มันเหลื่อมซ้อนอยู่ในตัวตนที่แตกเป็นเสี้ยวส่วนแล้วประกอบกันเข้ามาเหมือนหัวหอม
ซับซ้อนน่ะครับ-ซับซ้อน!
ในโลกตะวันตก เรื่องของการโชว์นมโชว์ต้ม (ของผู้หญิง) นั้น มันไม่ใช่แค่เพื่ออยากโชว์หรือเพื่อสร้างความสนใจเท่านั้น (คือการสร้างความสนใจก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะคุณ!) แต่มันเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ ด้วย แต่จะเป็น ‘การเมือง’ แบบไหนของใครก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ขบวนการเรื่องเพศที่ดังมากๆในปีสองปีที่ผ่านมา คือขบวนการชื่อ Free the Nipple หรือ ‘ปลดปล่อยหัวนม’ ซึ่งมีหัวหอกนำทีมคือ สเก๊าต์ วิลลิส (Scout Willis) ลูกสาวของบรูซ วิลลิส โดยเหตุที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาติดแฮชแท็ก #freethenipple (ไม่มี s นะครับ) รณรงค์ปลอดปล่อยหัวนม เป็นไปเพื่อต่อต้านนโยบายของ Instagram ที่ไม่ยอมให้มีภาพผู้หญิงเปลือยหัวนมอยู่ในนั้น แต่หัวนมผู้ชายดันมีได้
ปรากฏว่าการรณรงค์นี้มันได้ผล มี ‘คนดัง’ มาร่วมขบวนการเต็มไปหมดเลยครับ ตั้งแต่ริฮันนา, ไมลีย์ ไซรัส รวมไปถึงคนดังที่เป็นชายหลายคน เช่น แม็ต แม็คกอร์รี (จากซีรีส์เรื่อง Orange is the New Black) ซึ่งก็ไม่เห็นมีอะไรผิด ใครคิดว่าประเด็นไหนเกี่ยวข้องกับตัวเอง เดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องบางเรื่อง ก็ควรจะลุกขึ้นมารณรงค์ ประท้วง หรือส่งเสียงบอกได้ว่ากำลังเซ็งหรือได้รับความเดือดร้อนกับเรื่องนั้นๆ อยู่
แต่กระนั้น ก็มีการวิพากษ์การรณรงค์นี้เกิดขึ้น ไม่ใช่จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไหน แต่มาจากฝั่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘เฟมินิสต์’ นี่แหละครับ ที่วิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งจะว่าไปก็มีอะไรๆ คลับคล้ายกับการที่เฟมินิสต์ออกมาวิพากษ์นมของเอ็มมา วัตสัน เหมือนกัน
ว่าแต่เฟมินิสต์วิพากษ์ขบวนการปลดปล่อยหัวนมว่ายังไง-คุณอยากรู้ไหมครับ
ไม่ครับ-ยังไม่บอก!
อยากเล่าเรื่องนี้ให้ฟังก่อน (ซึ่งก็ต้องออกตัวว่าเป็นการเล่าในแบบ ‘เส้นตรง’ คือถอดรูปความซับซ้อนลงมาระดับหนึ่งนะครับ) ว่า
การรณรงค์ต่อสู้เพื่อให้ตัวเองได้มีที่ทางหยัดยืนในแบบ Free the Nipple นี้ เขาเรียกกันว่า Identity Politics หรือเป็น ‘การเมืองเรื่องอัตลักษณ์’
หลักการอย่างหนึ่งของเสรีประชาธิปไตยหรือ Liberal Democracy ก็คือการวางตัวอยู่บนความหลากหลายของวัฒนธรรมและสังคม ประชาธิปไตยแบบน้ีถึงจะฟังก์ชั่นได้ มันควรเป็นประชาธิปไตยในแบบที่พยายามลดหรือทำลาย Marginalization (ซึ่งก็คือการทำให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมีสถานะแบบ ‘ชายขอบ’) พูดง่ายๆ ก็คือ เสรีประชาธิปไตยไม่ควรมีสภาวะ ‘ชายขอบ’ ใดๆ อยู่อีกต่อไป และเมื่อไม่มีชายขอบ ก็ต้องไม่มี ‘แกนกลาง’ หรือลำดับชั้นทางสังคมอยู่ด้วย (หรือมีให้น้อยที่สุด) ควรเกิดการยอมรับความต่างของกลุ่มที่เป็นชายขอบทั้งหลาย พูดง่ายๆ ก็คือต้องให้กลุ่มที่เป็นชายขอบทั้งหลายได้ ‘ปลดปล่อย’ ตัวเองออกมามีสิทธิมีเสียง สามารถเปล่งเสียงบอกความต้องการและการดำรงอยู่ของตัวเองได้
การยืนหยัดและสร้างที่ทางให้กับตัวตนและอัตลักษณ์นี่ แต่เดิมเขาเรียกว่าคือ ‘การเมืองแห่งการปลดปล่อย’ หรือ Politics of Liberation ที่ปลุกเร้ากระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นทาสในมิติต่างๆ ซึ่งก็นับรวมถึงการปลดปล่อยตัวเองในเรื่องเพศด้วย
การเมืองแห่งการปลดปล่อยนั้น สอดคล้องกับแนวคิดของ Liberal Feminism อย่างยิ่งนะครับ มันทำให้เกิดข้อเรียกร้องประมาณว่า-ผู้หญิงต้องได้ค่าแรงเท่าผู้ชาย, ผู้หญิงต้องได้เข้าไปนั่งในสภาฯ เท่าเทียมกับผู้ชาย หรืออะไรทำนองนี้
ในยุคสมัยหนึ่ง Poitics of Liberation รุนแรงมาก ถึงขนาดที่บางกลุ่มออกมาบอกประมาณว่า-ใครเป็นเกย์ก็ควรต้องคัมเอาท์ให้หมด การคัมเอาท์ (หรือแต่งหญิง ฯลฯ) คือ Political Action เป็นการกระทำทางการเมืองอย่างหนึ่ง เพื่อจะได้ต่อสู้ให้เกิดผลต่างๆ ขึ้นมา เช่น การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ใครไม่คัมเอาท์ถือว่าผิด อะไรทำนองนั้นเลยทีเดียว
พูดง่ายๆ ก็คือ Politics of Liberation เป็นการ ‘ปลดปล่อย’ ผู้คนในการเมืองเชิงสถาบัน หรือเป็นการต่อสู้ด้วยอำนาจอย่างเป็นทางการนั่นแหละ
ทีนี้พอเหวี่ยงไปหา Politics of Liberation มากๆ เข้มข้นมากๆ ก็ก่อให้เกิดอาการ ‘หาวเรอ’ ในหมู่คนรุ่นใหม่ คนจำนวนมากรู้สึกว่า-เอ๊ะ! ทำไม (กู) ต้องไปสู้ในการเมืองอย่างเป็นทางการขนาดนั้นด้วย (ฟะ) ชีวิตมันต้องเหนื่อยขนาดจะแต่งหญิงก็ต้องเป็น Political Action เลยหรือไง จะแต่งหญิงแค่เพื่อแต่งหญิงไม่ได้เรอะ มันก็เลยเกิดการต่อสู้ต่อรองในทางวาทกรรม แล้วก็เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า Identity Politics ขึ้นมา
ดูเผินๆก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรหรอกนะครับ แต่ปัญหามันเกิดขึ้นก็เพราะ ‘ฐาน’ และ ‘วิธี’ ของการต่อสู้มันไม่เหมือนกันน่ะสิครับ
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ต้องให้คุณ เบรนแดน โอ’นีล (Brendan O’Neill) นักเขียนชาวออสเตรเลีย มาเล่าให้ฟังว่าสองอย่างนี้ต่างกันยังไง คุณโอ’นีล เคยเปรียบเทียบ Politics of Liberation (ในกรณีของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน) กับ Identity Politics เอาไว้ว่า-สมัยก่อนเคยมี Polictics of Liberation ซึ่งปลุกเร้าให้เกย์คัมเอาท์แล้วก็ ‘ออก’ มาใช้ชีวิตแบบผงาดท้าสู้กับสังคม แต่ตอนนี้เรามี Politics of Identity ที่บอกให้เหล่าเกย์ทั้งหลาย ‘Stay In’ คือไม่เห็นต้องออกมาสู้อะไรให้ดูบ้าคลั่ง แต่ให้ look inward คือมองย้อนกลับเข้าไปในตัวเอง หมกมุ่นอยู่กับ ‘ร่างกาย’ และ ‘ตัวตน’ และ ‘มุมมองต่อโลก’ (ที่เรียกว่า Worldview) โดยไม่ได้ตั้งคำถามกับโลก
พูดง่ายๆ Politics of Liberation นั้น มุ่งเป้าไปที่การกะเทาะรื้อถอน ‘โครงสร้าง’ ของสังคม แต่ Identity Politics มุ่งหน้ามาต่อสู้เพื่อให้การ ‘อยู่’ ของตัวเองเป็นไปได้โดยไม่ต้องแคร์ใคร แต่ไม่ได้สนใจ ‘โครงสร้าง’ ของสังคมนั่นแหละครับ
Identity Politics จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าไม่ได้สนใจ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ เช่นปัญหาเรื่อง ‘ชนชั้น’ (หรือ Class) ในสังคม เพราะมักหมกมุ่นอยู่แต่กับ Identity หรืออัตลักษณ์ของตัวเองเท่านั้น แม้แต่มุมมองเรื่องเพศก็ต่างกัน เพราะ Politics of Liberation จะมองว่าเพศเป็น ‘คลาส’ อย่างหนึ่ง (เช่นผู้หญิงเป็น Second Sex) แต่ Identity Politics ไม่ได้มองแบบนั้น
4
ก่อนหน้านี้ Identity Politics ไม่ได้เป็นที่พูดถึงเท่าไหร่ แต่พอเกิดขบวนการ Free the Nipple ขึ้นมา หลายคนพบว่า เฮ้ย! นี่ไง ตัวอย่างที่ชัดเจนของ Identity Politics เพราะมันมีองค์ประกอบที่ครบครันมากๆ
อย่างแรกสุด Free the Nipple ไม่ได้สนใจประเด็นแวดล้อมอื่นๆ เลย นอกจากอยากปลดปล่อยหัวนมเท่านั้น ดังนั้นมันจึง ‘แลดู’ เหมือนเป็นขบวนการเฟมินิสม์ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็น Identity Politics ที่สนใจแต่หัวนมของตัวเอง โดยไม่ได้สนใจประเด็นความยากจนของผู้หญิง, ค่าแรงของผู้หญิงที่แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาก็ยังต่ำกว่าผู้ชาย, การลาคลอดของผู้หญิง, อาชญากรรมที่มีต่อผู้หญิงข้ามเพศในอัตราสูง, ผู้หญิงผิวดำกับผู้หญิงฮิสแปนิกถูกกดค่าแรง และปัญหาอื่นๆ อีกสารพัดสารพัน อันเป็นประเด็นที่ขบวนการเฟมินิสม์อื่นๆ ทำอยู่
ที่สำคัญก็คือ Free the Nipple ถูกวิพากษ์ว่าเป็นการรณรงค์เพื่อปลดปล่อยเฉพาะ ‘หัวนม’ ของคนชั้นสูง (เช่นเหล่าคนดัง) เท่านั้น เพราะคนที่มารณรงค์ออกมารณรงค์เพื่อให้หัวนมของตัวเองได้ออกทีวี ได้อยู่ใน Instagram แต่สำหรับ ‘ผู้หญิง’ ที่กำลังมีปัญหาถูกกดค่าแรง ลาคลอดไม่ได้ ถูกรังแกเพราะอยู่ในภาวะข้ามเพศ ฯลฯ ย่อมไม่ได้สนใจนักหรอกว่าหัวนมของฉันจะได้เริงร่าอยูใน Instagram ให้คนอื่นเห็นหรือเปล่า แค่ต่อสู้เอาชีวิตรอดไปวันๆ ให้ได้ในเงื่อนไขที่ความเป็นหญิง (และเพศอื่นๆ) ถูกกด-ก็ยากลำบากพออยู่แล้ว การปลดปล่อยหัวนมจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญในลำดับแรกๆ จึงเหมือนกับว่า การรณรงค์นี้สนใจแต่เฉพาะหัวนมของตัวเอง แต่ไม่สนใจปัญหาอื่นๆ เลย
แน่นอน-หลายคนคงบอกว่า, ก็แล้วทำไมจะต้องไปสนใจด้วย ฉันสนใจแต่เรื่องที่มัน engage กับผลประโยชน์หรือความสนใจของฉันไม่ได้หรือ
คำตอบก็คือได้ครับ (ซึ่งก็ต้องขอย้ำอีกทีนะครับ-ว่าผมไม่ได้อยู่ข้างไหน เพราะเป็นพวกนกสองหัวสามหัวสี่หัว-เลือกข้างไม่เป็น เป็นแต่ ‘ถูกผลัก’ ให้ไปอยู่ข้างต่างๆ!) แต่ที่มันเป็นปัญหาก็เพราะ Free the Nipple นั้น มัน ‘ถูกโฆษณา’ ว่าเป็น ‘เฟมินิสต์’ แล้วเฟมินิสต์ (อื่นๆ) หลายคน ก็ออกมาบอกว่ามันทำให้ ‘แบรนด์แห่งเฟมินิสม์’ ถูกดึงออกจากกลุ่มคนที่ต้องการขบวนการการต่อสู้นี้มากกว่า (คือคนที่เดือดร้อนจริงๆ) และการมองปัญหาที่แตกต่างกัน (เช่น กลุ่มหนึ่งมีปัญหาเรื่องค่าแรง อีกกลุ่มมีปัญหาเรื่องโชว์หัวนมไม่ได้) ก็แสดงให้เห็นว่าชัด-ว่าสังคม ‘เดินหน้า’ ไปไม่เท่ากัน ปัญหาของคนจึงไม่เหมือนกัน คำถามก็คือ แล้วเราควรย้อนกลับมาแก้ปัญหาการเดินหน้าไปที่ไม่เท่ากันนี้ก่อนหรือเปล่า
ดังนั้น พอเกิดเรื่อง ‘นม’ ของเอ็มมา วัตสัน ขึ้นมาอีก ก็เลยเห็นชัดเจนนะครับ ว่าที่ประเด็นนี้ ‘ดัง’ ขึ้นมา มันไม่ได้ดังขึ้นมาแค่เพราะมันเป็น ‘ข่าวฉาว’ หรือ ‘ข่าวคาว’ แบบเดียวกับข่าวนักแสดงสาวแต่งโป๊โชว์สาหร่ายเหมือนข่าวบันเทิงในบางประเทศเท่านั้น แต่มันเป็นข่าวที่ ‘ขับเน้น’ ให้เห็นถึงฐานรากของ ‘ประวัติศาสตร์การต่อสู้’ ใน ‘การเมืองเรื่องเพศ’ ที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความขัดแย้งขนาดใหญ่
ทวีตของ จูเลีย บรีเวอร์ นั้น ชัดเจนเลยว่าเป็นการ ‘รำพึง’ ถึงคำว่า Feminism ที่ถูกนำไปใช้ในความหมายหลายอย่าง (เช่น เอ็มมา วัตสัน ก็บอกว่าเธอเป็นเฟมินิสต์) โดยในทวีตมีคำว่า Gender Wage Gap หรือช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศอยู่ด้วย ซึ่งคำนี้สะท้อนให้เราเห็นชัดเจนนะครับ ว่านี่ไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากการที่ Politics of Liberation กำลังวิพากษ์ Identity Politics อยู่!
และที่ข่าวนี้มัน ‘ดัง’ หรือว่า ‘เป็นเรื่อง’ ขึ้นมา ก็เพราะมันคือการต่อสู้ระหว่าง ‘อำนาจ’ ทางอุมดมการณ์ของการเมืองทางเพศสองชุด ที่ขับเคี่ยวกันมาในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะข้นเคี่ยวเป็นศึกใหญ่ต่อไปในอนาคต แต่ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่าง ‘ป้าใส่ชุดประจำชาติ’ จากสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่ไหน ที่ลุกมาด่าดาราสาวแต่งตัวโป๊เปลือย โดยใช้ ‘มาตรฐานทางศีลธรรมแบนๆ’ มาตัดสินคนอื่น
ทั้งหมดที่นำมาเล่าให้ฟังก็เพราะอยากจะ ‘ฉายภาพ’ ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้ในเรื่องเพศของโลกตะวันตกนั้นมันซับซ้อนขนาดไหน แต่จากข่าวที่เราเห็นทางสื่อไทย เราจะพบว่าผู้คนพูดกันแต่เรื่องเฟมินิสต์ออกมาด่าเอ็มม่า วัตสัน ซึ่งหลายสื่อตีขลุมคลุมข่าวหยิบมาเล่าด้วย ‘สำนึก’ แบบการต่อสู้ของสังคมโลกที่สาม-ที่ยังคุ้นชินกับความดักดานในการเอาศีลธรรมไปกักขังการแสดงออกทางเพศ
ทีนี้ถ้าเราถอดแว่นไม่ออก ได้แต่เอาแว่นแบบเดิมๆ ของเราไปส่องดูเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เราก็จะเข้าใจสิ่งที่อยู่นอกกรอบกรงของเส้นขอบฟ้าที่กักขังเราได้ยากมาก
หลายคนอาจตั้งคำถามกลับว่า-แล้วจะต้องไปเข้าใจอะไรเรื่องซับซ้อนพวกนี้ด้วย ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับสังคมไทยเลย
คำตอบของผมก็คือ-เกี่ยวสิครับ, เพราะอย่างน้อยที่สุด มันก็ทำให้เราเห็นว่า-ทุกวันนี้เราซุกหัวใจและสมองของเราอยู่ในที่ทางแบบไหน