สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (28-29 มีนาคม) คงกลายเป็นสัปดาห์ที่ชาวเมียนมาต้องจำไปอีกนาน เมื่อกองทัพภายใต้การนำของคณะรัฐประหารได้คร่าชีวิตประชาชนวันเดียวมากกว่า 100 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตตอนนี้มากกว่า 400 คนแล้ว
อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เดินคู่ไปกับการสูญเสียของประชาชนเมียนมาคือ วันกองทัพเมียนมา ซึ่งมีการเดินสวนสนามประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ รวมถึงเชิญชาติพันธมิตรเข้าร่วมวันกองทัพเมียนมา และหนึ่งในชาติที่เข้าร่วมคือไทย
ด้านหนึ่ง ฝ่ายความมั่นคงจากนานาประเทศได้ออมมาประณามเหตุการณ์ในวันนั้น และเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารในเมียนมา และคืนอำนาจอธิปไตยสู่มือประชาชนโดยเร็วที่สุด
แต่อีกด้านหนึ่ง บางประเทศก็มีท่าทีนิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา บ้างกล่าวว่าเป็นเรื่องการเมืองภายใน บ้างว่าไม่เคยสนับสนุนการรัฐประหาร แต่ยินยอมให้ขนเสบียงผ่านพรมแดน และบ้างยืนยันหนักแน่นว่าจะกระชับความสัมพันธ์กับคณะรัฐประหารต่อไป
The MATTER ชวนดูว่ามาถึงตรงนี้ หน่วยงานความมั่นคงทั้งในระดับประเทศและองค์กรระหว่างรัฐ มีท่าทีอย่างไรบ้างต่อความรุนแรงและคณะรัฐประหารในเมียนมา
ฝ่ายที่ประณามความรุนแรงในเมียนมา
- แถลงการณ์จาก 12 รัฐมนตรีความมั่นคง
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม หลังวันมหาวิปโยคในเมียนมา รัฐมนตรีความมั่นคงของ 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, เดนมาร์ก, เยอรมนี, กรีซ, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้ ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน และคืนอำนาจสู่มือประชาชนโดยไวที่สุด
ในแถลงการณ์มีข้อความว่า “ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคง พวกเราขอประณามการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อประชาชนมือเปล่า” และ “กองทัพที่มีความเป็นมืออาชีพ ย่อมต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และมีความรับรับผิดชอบในการปกป้อง ไม่ใช่ทำร้ายประชาชนที่พวกเขาปกป้องดูแลเสียเอง”
- แถลงการณ์จากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)
คณะรัฐมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ หรือ UNSC ซึ่งเป็นขาหนึ่งขององค์กรสหประชาชาติ (UN) ได้ออกแถลงการณ์ประณามคณะรัฐประหารในเมียนมาแล้วสองฉบับคือ ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และวันที่ 10 มีนาคม
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าโครงสร้างของ UNSC ประกอบไปด้วย 15 ประเทศ โดยจะมีประเทศสมาชิกหมุนเวียน 10 ประเทศ ที่มีระยะเวลาปฏิบัติงาน 2 ปี ขณะที่ อีก 5 ประเทศได้แก่ สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีถาวร ซึ่งประเทศกลุ่มนี้มีอำนาจ VETO การตัดสินใจใดๆ ก็ตามของที่ประชุม
ในแถลงการณ์ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ หรือหลังการรัฐประหารในเมียนมา 2 วัน ได้มีเนื้อหาประณามการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชนและปล่อยตัว อองซาน ซูจีและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม มีการรายงานว่าความล่าช้าของแถลงการณ์ฉบับนี้เกิดเพราะปัญหาหลังม่านของ UNSC เอง โดยจีนและรัสเซียในฐานะรัฐมนตรีความมั่นคงถาวรได้ขอเวลาเพื่อกลับไปหารือกับรัฐบาลของตนก่อน
แม้ท้ายที่สุดทั้งสองประเทศจะตกลงและมีแถลงการณ์ฉบับนี้ออกมา แต่ The Diplomat ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในเนื้อความมีการหลีกเลี่ยงใช้คำว่า ‘รัฐประหาร (Coup)’ เช่นในช่วงที่เขียนว่า “สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเมียนมา”
แถลงการณ์ฉบับที่สองออกมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยเน้นย้ำเนื้อหาในแถลงการณ์เดิม ประณามการใช้ความรุนแรงของคณะรัฐประหารเมียนมา และเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา
“UNSC ขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่ประท้วงอย่างสันติ โดยเฉพาะต่อผู้หญิง เยาวชน และเด็ก”
“UNSC ยืนยันว่าสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมาและความต้องการอย่างแรงกล้าต่ออำนาจอธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง อำนาจเหนือดินแดน และความเป็นหนึ่งเดียวของเมียนมา”
- การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนครั้งที่ 18
ท่ามกลางข้อครหาถึงท่าทีของชาติอาเซียนต่อการรัฐประหารและความรุนแรงในเมียนมา บรูไนในฐานะประเทศเจ้าภาพอาเซียนปีนี้ ได้จัดการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนครั้งที่ 18 ขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
ในการประชุมครั้งนั้น Strait Times รายงานว่า Melvyn Ong ผู้บัญชาการกองทัพสิงคโปร์ ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในเมียนมา และเรียกร้องให้กองทัพอย่าให้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะมีท่าทีคล้อยตามกับคำกล่าวของสิงคโปร์
Strait Times ยังรายงานอีกว่า Hadi Tjahjanto ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย ได้พูดขึ้นเช่นกันว่า ความปลอดภัยของประชาชนเมียนมาต้องมาเป็นลำดับแรกสุด ก่อนกล่าวต่อว่ากองทัพอินโดนีเซียพร้อมให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการสร้างกองทัพมืออาชีพ เพียงแต่ต้องเป็นไปใต้บริบทประชาธิปไตยเท่านั้น
ทั้งนี้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เคยได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมามาแล้วหลายครั้ง และเรียกร้องให้มีการจัดประชุมกลุ่มประเทศอาเซียนวาระพิเศษขึ้น อย่างไรก็ตาม เดินทางมาถึงตอนนี้ ยังไม่มีแถลงการณ์ที่ชัดเจนในนามประชาคมอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมา
ฝ่ายที่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงของกองทัพเมียนมา
- 8 ประเทศเข้าร่วมงานวันกองทัพเมียนมา
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คู่ขนานไปกับเหตุการณ์มหาวิปโยคเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ได้มีการจัดงานวันกองทัพเมียนมาและเชิญประเทศต่างๆ เข้าร่วม ซึ่งก็มีประเทศตอบรับทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, ลาว, บังกลาเทศ, อินเดีย, ปากีสถาน, จีน และ รัสเซีย
- พญามังกรจะไม่แทรกแซงการเมืองภายใน
สำหรับพี่ใหญ่อย่างจีน ออกตัวอย่างชัดเจนแต่แรกแล้วว่า ไม่ต้องการแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอื่น โดย Zhang Jun ทูตจีนประจำ UN เคยกล่าวไว้ว่า “โดยหลักการแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา เป็นเรื่องภายในของเมียนมา”
นอกจากนี้ Wang Wenbin โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “…ประชาคมต่างประเทศควรเคารพอำนาจอธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง อำนาจเหนือดินแดน และความสามัคคีของเมียนมา”
เป็นสัญญาณจากพญามังกรที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในของเมียนมา
ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ทั้งอินเดียและจีน ซึ่งมีอาณาเขตชายแดนติดกับเมียนมา และกองทัพทั้งสองประเทศเคยปะทะกันเมื่อปีที่แล้ว (2020) ในแคว้นแคชเมียร์ ดังนั้น การเข้าร่วมงานวันกองทัพเมียนมาครั้งนี้ สะท้อนว่าทั้งสองประเทศไม่ต้องการผิดใจกับเมียนมา แม้ไม่ถึงกับเอาอกเอาใจ เพราะจีนเองก็ร่วมแถลงในนามของ UNSC แต่ยินดีช่วยเหลือและเข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันหากมีโอกาส
- รัสเซียเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์
ทางด้าน ‘ยักษ์หลับ’ รัสเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ออกตัวแรงที่สุดว่ายืนข้างเมียนมา โดยในคำแถลงการณ์จากกระทรวงกลาโหมรัสเซียมีเนื้อความว่า รัสเซียและเมียนมายินดีต่อความสัมพันธ์ทางการทหารที่เป็นอยู่ และพร้อมเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารต่อไป
และขณะที่ประเทศอื่นส่งตัวแทนกองทัพเข้าร่วมงานวันกองทัพเมียนมา รัสเซียส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม Alexander Fomin เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Stockholm International Peace Research Institute ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2008 รัสเซียและเมียนมาค้าขายยุทโธปกรณ์กันมากถึง 835 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นลำดับสองรองจากจีนที่ยอดค้าอาวุธกับเมียนมาสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์
- ไทยแลนด์..
กลับมาที่สยามเมืองยิ้ม ดูเหมือนว่าท่าทีของทางการไทยเรียกว่ามีลักษณะจะปากว่าตาขยิบคงไม่ผิดนัก เมื่อปากของผู้นำบอกไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของเมียนมา แต่ในคราวปฏิบัติ ก็พร้อมยื่นมือช่วยเหลือคณะรัฐประหารอยู่เสมอเช่นกัน
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยกลับให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังส่งตัวแทนกองทัพเข้าร่วมงานของเมียนมาว่า
“ไทยสนับสนุนทหารเมียนมาตรงไหน ผมไม่เข้าใจ คงไม่มีใครที่จะไปสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน”
ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวคราวว่ากองทัพไทยช่วยกองทัพเมียนมาขนเสบียงผ่านทาง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปส่งให้ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
ขณะที่ล่าสุด หลังปฏิบัติการทางอากาศถล่มกองกำลัง KKU ของกองทัพเมียนมา ทำให้มีผู้อพยพชาวเมียนมาราว 2,000 คน หลบหนีมาบริเวณแม่น้ำสาละวิน ประเทศไทย และมีข่าวว่าทางการไทยพยายามผลักดันผู้อพยพกลุ่มนี้กลับไป แต่ท้ายที่สุดก็มีการรายงานว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงในประเด็นนี้ว่า “เราก็ไม่อยากให้มีการอพยพเข้ามาในพื้นที่ของเรา แต่เราก็ดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย”
เหตุการณ์ในเมียนมาจะดำเนินไปอย่างไรต้องติดตามกันต่อไป แต่ถ้ามองลงไปให้ชัด คงจะเห็นว่าหลายประเทศเริ่มแสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหาร ขณะที่บางประเทศยังไหลเรื่อยราวน้ำเฉื่อย แม้จำนวนผู้เสียชีวิตชาวเมียนมายังเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และทุกวัน
อ้างอิง:
https://thediplomat.com/2021/02/un-security-council-condemns-military-takeover-in-myanmar/
https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-sanctions-factbox-idUSKBN2BE2PY
Illustrator By Warongorn Keeranan