เสียงปืนดังขึ้นสองครั้ง นัดที่สองกระสุนตรงเข้าทะลุอกซ้ายจากด้านหลังของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ทำให้เขาล้มลงระหว่างที่กำลังปราศรัยเลือกตั้ง อาเบะอยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น ก่อนจะถูกนำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา
เหตุการณ์นี้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับญี่ปุ่นและชาวโลก เมื่อภาพจำของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยถูกสั่นคลอน และความรุนแรงทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยครั้งมากในดินแดนอาทิตย์อุทัย
แล้วญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปอย่างไรนับจากนี้ แรงสั่นสะเทือนจากการลอบสังหารอดีตนายกฯ จะส่งผลกระเทือนไปถึงจุดไหนบ้าง The MATTER ได้พูดคุยกับ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ และศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้กัน
หลังจากเหตุลอบสังหาร บรรยากาศในญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง?
อย่างแรกคือ ช็อก อย่างที่สองคือ ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ และอย่างที่สาม เหตุการณ์นี้ไปทำลายมายาคติของญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศที่สงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรง ที่พูดแบบนี้เพราะความรุนแรงทางการเมืองญี่ปุ่นมีมาตลอด เรื่องการลอบสังหารผู้นำ มีเอาดาบฟัน ยิงกันหน้าสถานีรถไฟก็มี แต่ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 1960 เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่อายุต่ำกว่า 50-60 ปี เขาไม่เคยเห็นภาพแบบนั้น เลยทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 50 ลงมารู้สึกว่า เฮ้ย นี่ไม่ใช่การเมืองญี่ปุ่น ดังนั้น อารมณ์ของคนก็เลยช็อก รับไม่ได้ ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น
เพราะภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นถูกมองเป็นแบบนั้น?
แน่นอน มันเป็นภาพลักษณ์ที่คนต่างชาติมองญี่ปุ่นแบบนั้น และคนญี่ปุ่นก็อยากจะเชื่อว่าประเทศตัวเองเป็นแบบนั้น ซึ่งในความจริงก็อาจจะเป็นจริงถ้าเราจะเอาสถิติมากางบนโต๊ะ เราก็รู้ว่ามันจริง เราไม่ได้พูดว่ามันเป็นเรื่องหลอก ที่ผมใช้คำว่ามายาคติคือ มีความรุนแรงซ่อนอยู่จริง เพียงแต่ว่า ถ้าเกิดมองในแง่สถิติก็อาจจะพูดลำบาก เพราะจำนวนอาชญากรรมของญี่ปุ่นมีน้อย แต่พอน้อย เวลาเกิดแต่ละเรื่องก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เช่น เราจะได้ยินเรื่องแปลกๆ จากญี่ปุ่น อย่างฆ่าหั่นศพ มันไม่มีการยิงรายวันหรือการกระชากสร้อย แต่พอญี่ปุ่นก็มีเรื่องแบบนี้ ก็เลยกลับไปเรื่องที่ว่า คนญี่ปุ่นรู้สึกช็อก
แล้วเมื่อวานนี้ หลังจากที่เกิดเหตุไม่นาน ก็มีคนเอาดอกไม้ไปวางจุดเกิดเหตุที่อาเบะถูกยิง ที่เมืองนารา อันนี้เป็นการสะท้อนเหมือนกันว่าคนญี่ปุ่นรู้สึกว่า เกิดอะไรขึ้นนะ พวกเขาสับสนมาก
และอย่างที่เราทราบ การมีปืนในครอบครองของญี่ปุ่นเป็นเรื่องยากมาก จำนวนประชากร 125 ล้านคน มีคนที่มีปืนในครอบครองในกฎหมายไม่กี่แสนคนเอง เทียบอัตราส่วนแล้วต่ำมาก ไม่เหมือนอย่างอเมริกา จึงไปบวกกับมายาคติว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ไม่มีวัฒนธรรมของการใช้ปืน เพราะฉะนั้น ผู้ก่อเหตุก็เลยต้องผลิตปืนเอง ได้ข่าวมาว่าปริ้นท์ออกมาจาก 3D-printer แต่คนนี้ก็ค่อนข้างมีสกิลอยู่เพราะเขาเคยเป็นอดีตนาวิกโยธินของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น
ถ้าอย่างนั้น ญี่ปุ่นควรมีแอคชั่นอะไรต่อการควบคุมอาวุธเพิ่มเติมไหม
มันพูดลำบากเลย เพราะว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้เอาปืนมาจากไหน ไม่ได้ไปแอบซื้อปืน หรือขโมยปืนใครมา เขาประดิษฐ์ปืนเอง ที่ผ่านมากฎหมายการควบคุมการใช้อาวุธปืนก็ดีอยู่แล้ว โดยก็เอาสถิติมาพูดกันอีก ที่ดีอยู่แล้วก็คือ จำนวนคนที่ครอบครองอย่างถูกกฎหมายมีน้อยมาก เพราะฉะนั้น อันนี้เราไม่รู้ว่าช่องว่างอยู่ตรงไหน คุณจะไม่ให้ประชาชนปริ้นท์พวกนี้ออกมาเหรอ คุณก็ห้ามไม่ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นในครัวเรือน ไม่ใช่การไปซื้อปืนจากที่ไหน
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นชนวนในการที่จะนำไปสู่การพูดคุยกันอย่างเป็นทางการในทางการเมืองของญี่ปุ่น ในประเด็นว่า เราจะทำอย่างไรในการจะลดปัญหาของการผลิตอาวุธใช้เอง ถ้าเกิดจะเป็นประเด็นต่อไปนะ ก็อาจจะออกมาในรูปแบบนี้ แต่ถ้าจะไปไกลถึงเรื่องว่า จะควบคุมการใช้อาวุธปืนอย่างไรให้ดี ผมก็คิดว่าปกติก็ดีอยู่แล้ว แต่ในความที่ว่าดีอยู่แล้ว มันต้องมีข้อยกเว้นทุกอย่าง เป็นช่องโหว่ที่พูดลำบาก และจะไปหาทางอุดก็ลำบาก
แล้วการลอบสังหารในครั้งก่อนๆ อย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 1960 ทางการเคยมีการออกแอคชั่นอะไรไหม
ผมคิดว่าไม่มีนะ ถ้าเป็นการลอบสังหารด้านการเมือง จริงๆ ผมนึกไม่ออกว่าแอคชั่นที่เกิดจากอาชญากรรมในรูปแบบนั้นควรจะออกมาแบบไหน นอกจากว่า ต้องให้การอารักขาที่ดีกับผู้นำเท่านั้น
ต้องเข้าใจว่า การลอบสังหารของญี่ปุ่นประเด็นค่อนข้างแคบ หมายความว่า ในที่อื่นอาจจะเป็นเรื่องของความไม่พอใจในนโยบายเศรษฐกิจ ความกินดีกินอยู่ที่ไม่ไปถึงคนชนชั้นล่าง แล้วคนชนชั้นล่างก็เจ็บช้ำน้ำใจต้องออกมาล้างแค้น หรืออาจจะเป็นประเด็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจทางด้านการเมือง อันนี้ผมกำลังพูดถึงในบริบทของประเทศไทยที่มีการยิงกัน เพราะแย่งหัวคะแนนกัน แย่งพื้นที่กัน
แต่ในญี่ปุ่นไม่ใช่แบบนั้น ที่บอกว่าในญี่ปุ่นค่อนข้างแคบ เพราะมันมีแค่ไม่กี่เรื่อง เรื่องหลักๆ คือความเห็นต่างทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง แล้วก็ลัทธิความเชื่อทางศาสนา แค่นี้ ผมเลยคิดไม่ออกว่าอะไรที่จะเป็นข้อกำหนดออกมาเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นอีกได้ คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนต้องเห็นตรงกันในเรื่องการเมือง เพราะว่าถ้าเกิดว่าเป็นการไม่เห็นด้วยทางเรื่องการเมือง มันทำอะไรไม่ได้ นอกจากว่า คุณจะต้องให้การอารักขา
หรือไม่ก็อาจจะต้องเพิ่มบทลงโทษ ซึ่งผมคิดว่ามันมี hint แล้วจากฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หลังเกิดเหตุนายกฯ คนปัจจุบันก็ออกมาพูดตั้งตอนที่อาเบะยังไม่เสียชีวิตเลย ว่าจะต้องจัดการคนที่ทำผิดคนนี้อย่างหนัก และไม่มีการให้อภัย
คำว่าให้อภัยในญี่ปุ่นมีความสำคัญนะ เราอาจจะไม่เข้าใจ โลกตะวันตกก็ไม่เข้าใจว่าคนทำผิดแล้ว ทำไมต้องพูดเรื่องการให้อภัย ก็พูดไปตามเนื้อผ้าสิ ตามกฎหมายว่า คุณฆ่าคน พิจารณาแล้วถ้าคุณทำจริง ก็ต้องรับบทลงโทษเท่าไหร่ แต่ในบริบทของญี่ปุ่น มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การให้อภัย’ อย่างกรณีของผมที่ถูกทำร้าย มันมีในสองโอกาสที่ทั้งตำรวจและอัยการถามผมว่า ผมพร้อมที่จะให้อภัยคนที่ทำร้ายผมไหม ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจคำว่าให้อภัย ไม่เข้าใจว่าแล้วจะนำไปสู่อะไร ถ้าผมบอกว่าให้อภัยแล้วยังไงต่อ จะมีการลดโทษให้คนนี้เหรอ
จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น การให้อภัยของญี่ปุ่นเป็นกระบวนการสร้าง peace of mind ให้กับผู้ถูกกระทำ เป็นการทำให้รู้สึกดีขึ้น โดยขอให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินต่อไป แล้วเป็นการช่วยทำให้สถานการณ์สงบลง แต่เจ้าทุกข์ก็สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ร้อนและความเจ็บปวดได้ถ้าตัวเองสามารถให้อภัยคนร้ายได้ เป็นแนวคิดแบบเอเชีย/พุทธในส่วนหนึ่ง
แต่คราวนี้นายกฯ ญี่ปุ่นพูดออกมาเลยว่า ‘ไม่ว่าอะไรก็ตาม จะไม่ให้อภัยทั้งสิ้น’ นั่นอาจจะเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า เหตุการณ์นี้ซีเรียสเกินกว่าที่จะให้อภัยได้
เพราะคดีนี้อุกอาจ เกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ในที่สาธารณะ และไปทำลายภาพลักษณ์สังคมและการเมืองสันติของญี่ปุ่นที่สร้างใหม่ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา แล้วก็อาจจะใช้เป็นประเด็นทางด้านการเมืองในแง่ที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องสร้างสังคมให้มันสงบเสงี่ยม คือให้สังคมมีความโกรธก็อาจจะดีเหมือนกัน หรือการทำให้สังคมโกรธอาจจะเป็นประโยชน์ของนักการเมือง เพราะอาจเป็นการสร้างคะแนนทางการเมืองเพื่อตอกย้ำว่า รัฐบาลเอาจริงกับอาชญากรรมประเภทนี้ จึงไม่มีการให้อภัยทั้งสิ้น และจะลงโทษอย่างถึงที่สุด
ถ้าคนฟัง คนก็จะงงว่าทำไมต้องมีการพูดเรื่องการให้อภัย จะให้อภัยได้ยังไง แต่ในสังคมญี่ปุ่นมีการพูดเรื่องนี้จริงๆ เป็นวัฒนธรรมของเขา แล้วไม่ใช่วัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่ทั่วไปนะ เป็นวัฒนธรรมที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นด้วย อย่างที่บอกว่า ถ้าไม่เจอกับตัวเองก็ไม่รู้หรอก
อาจารย์คิดว่าเราจะได้รู้แรงจูงใจจริงๆ ของผู้ก่อเหตุไหม
คิดว่านะ เพราะเบื้องต้นเขาหลุดออกมานิดนึงแล้วว่า เป็นเรื่องความต่างทางด้านความคิดทางศาสนา เพราะผู้ก่อเหตุอ้างว่า อาเบะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางด้านศาสนาอันนึง ก็คือ คนนี้อาจจะเป็นพวกบ้าคลั่งศาสนา อันนี้เราก็ไม่รู้ แต่ว่าอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทางการญี่ปุ่นหลุดให้เราได้ยิน
อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าอิงจากประสบการณ์ส่วนตัว ตำรวจญี่ปุ่นจะไม่ให้รายละเอียดอะไรมากเลยจนกว่าจะถึงจุดที่เขาคิดว่ามั่นใจในเรื่องข้อมูลแล้ว ถ้าเขาไม่มั่นใจเขาไม่หลุดออกมาแน่ๆ หรือต่อให้เขามั่นใจในเรื่องข้อมูลก็ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องบอกทุกอย่างกับสาธารณชน อันนี้คนที่อยู่ญี่ปุ่นก็รู้ดี เผลอๆ อาจจะไม่เกี่ยวว่าจะส่งผลกระทบต่ออะไร แต่มันเป็นวิธีการทำงานของตำรวจญี่ปุ่นที่ให้ข้อมูลน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
แต่กรณีนี้เราไม่รู้หรอก มันอาจจะต่างออกไปก็ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเหตุสะเทือนขวัญ การที่ตำรวจญี่ปุ่นจะหุบปากเงียบอย่างเดียวมันอาจจะไม่ได้เป็นผลดี ฉะนั้นผมเลยเชื่อว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเห็นต่างด้านศาสนา แล้วคิดว่าอาจจะมีข้อมูลหลุดออกมาอีก เพราะหลายคนกำลังจับตามองกรณีนี้อยู่ อาจจะไม่ยากแล้ว คนทำก็รับสารภาพผิดแล้ว ก็เหลือแต่ว่าตำรวจจะเค้นได้มากแค่ไหน แล้วจะเอามาบอกมากกว่าที่บอกไปแล้วได้แค่ไหน
ก็เหมือนกับการสืบสวนในประเทศอื่นๆ เรารู้ทั้งรู้อยู่ว่าคนร้ายคือคนนี้แน่ๆ เพราะมีกล้องจับภาพไว้ด้วยว่าเขาเป็นคนเอาปืนยิง แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าเขาสารภาพหรือเปล่าด้วย เผอิญว่าคนนี้เขารับสารภาพด้วย เพราะฉะนั้น การสอบสวนก็ไม่ได้ยากแล้ว จะยากก็ต่อเมื่อคนที่ทำผิดจะยอมพูดความจริงหรือเปล่า เรื่องเกี่ยวกับแรงจูงใจเท่านั้น
แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้งของญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง
การเลือกตั้งญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติ เขาไม่ได้กรี๊ดวี้ดว้ายเหมือนประเทศไทย ประเทศไทยมันต้องกรี๊ดวี้ดว้าย เพราะว่าเราไม่ค่อยมี แล้วมีแต่ละครั้งก็มีการโกงกัน แต่ในญี่ปุ่น ผมเดินออกไปก็เห็นป้ายหาเสียงตลอดเวลา เพราะเขามีการเลือกตั้งทุกระดับ ฉะนั้น การเลือกตั้งก็คงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
แต่ในช่วงหลังคนที่ออกมาเลือกตั้งมีจำนวนน้อยลง เราไม่รู้แน่ชัดว่าคนที่ออกมาเลือกตั้งน้อยลงเป็นกลุ่มคนอายุเท่าไหร่ แต่เท่าที่รู้คือ จำนวนคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้เยอะอย่างที่คิด ฉะนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นกับอาเบะก็อาจจะดึงคนให้ออกมาเลือกตั้งมากขึ้น หรือตระหนักมากขึ้นว่า เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมานะ แล้วถ้าเกิดว่าจะมีคนไปเต้า หรือพรรค LDP จะไปเต้าว่า เห็นไหม มีนักการเมืองที่อุทิศตัวเองด้วย ทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งจนตัวเองต้องเสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ แล้วพวกคุณจะอยู่บ้านนอนหลับทับสิทธิกันเหรอ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่คนจะมาใช้สิทธิกันมากขึ้นกับการเลือกตั้งครั้งหลังจากนี้ไป
ในด้านภาพรวมบรรยากาศทางการเมืองของญี่ปุ่น จะถือว่าเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอะไรไหม
ผมคิดว่า เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ อย่างที่บอกว่า ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 1960 เป็นระยะเวลานานมาก นานจนคนลืม จนคนคิดไปแล้วการเมืองญี่ปุ่นนั้นขาวสะอาด บริสุทธิ์ ฉะนั้น ผมคิดว่าต้องมีการปรับท่าทีกันใหม่ เรื่องเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง แล้วคิดว่ามันคิดได้สองวิธี เอาในแง่กระบวนการก่อน คือ จากนี้เป็นต้นไปการเมืองญี่ปุ่นมันต้องมีการสร้างระบบความปลอดภัยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในมุมผู้นำเอง ไม่ต้องไปถึงการเมืองญี่ปุ่นเลย นายกฯ ไทยยังบอกเลยว่า อุ้ย ตาย ต่อจากนี้ต้องมีบอดี้การ์ดไหม ดังนั้น ในเรื่องความปลอดภัยของญี่ปุ่นจากนี้เป็นต้นไป อาจจะต้องเข้มงวดมากขึ้น
ในแง่ของเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองและตัวนักการเมืองเอง อาจจะต้องทำอย่างระมัดระวังมากกว่านี้ พูดถึงในแง่ของผลกระทบนะ เช่น ถ้าเกิดว่าคนที่ทำอ้างจริงๆ ว่า อาเบะไปยุ่งเกี่ยวกับองค์กรด้านศาสนาอันหนึ่งซึ่งเขาไม่เห็นด้วย จากนี้เป็นต้นไปอาจจะทำให้นักการเมืองจะต้องมีความระมัดระวังมากกว่านี้ ในการเอาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับองค์กรอะไรก็ตามที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้มันแตกแถวไปจากพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ ผมไม่ได้บอกว่าการเกี่ยวข้องกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นการขัดต่อพรรคการเมืองหรอกนะ แต่แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ต่อไปนี้นักการเมืองคงจะต้องไปยึดอยู่กับประเด็นทางด้านการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหา controversy ต่างๆ ว่าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการเมือง
จริงๆ แล้ว การเป็นนักการเมืองเราควรจะให้การสนับสนุนกับองค์กรใดก็ได้ ตราบใดก็ตามที่องค์กรนั้นถูกต้องตามกฎหมาย แต่ว่าอันนี้เป็นการคาดเดาในฐานนะนักวิชาการ ซึ่งผมเชื่อว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง มันคงไม่หยุดแค่นี้แน่ และเรื่องความปลอดภัยทางด้านการเมืองของนักการเมืองอาจจะเป็นประเด็นที่ควรจะต้องให้ความสนใจมากกว่าอย่างอื่น
ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไปของญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบถึงประเทศอื่นๆ ไหม
มันมีทฤษฎีสมคบคิดอันนึง ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจริงนะ แต่ทฤษฎีนี้บอกว่า อาเบะมีจุดยืนแข็งกร้าวกับการผลักดันให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนบทบาททางด้านการทหาร ญี่ปุ่นปกติอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญว่า เขาไม่สามารถมีกองทัพปกติได้ มีได้แค่แบบ self-defense forces หรือก็คือกองกำลังป้องกันตนเอง แต่ว่าอาเบะพยายามจะเปลี่ยนตรงนี้ให้ญี่ปุ่นมีบทบาททางด้านการทหารมากขึ้น ซึ่งข้อสันนิษฐานตามทฤษฎีนี้ก็คือ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศข้างเคียงไม่พอใจ โดยเฉพาะจีน
ผมไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ไม่เชื่อว่ามันกลายมาเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เขาถูกสังหาร เพราะประการแรกก็คือ เรารู้แล้วว่าคนก่อเหตุพูดว่าเป็นเรื่องศาสนามากกว่าเรื่องอื่น ประการที่สองคืออาเบะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว ถ้ายังอยู่ในตำแหน่งก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะแปลว่าเขาก็ยังมีบทบาททางด้านการกำหนดนโยบาย แต่อาเบะไม่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายแล้ว ผมเลยเชื่อว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด
แต่ในแง่การตอบคำถามนี้ เห็นเขาบอกว่าโซเชียลมีเดียของจีนยินดีมากกับการตายของอาเบะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เศร้ามาก เพราะว่าอาเบะอยากจะชุบชีวิตกองทัพญี่ปุ่น ก็อาจจะทำให้ญี่ปุ่นต้องทบทวนนโยบายต่างประเทศของตัวเอง โดยเฉพาะถ้าเกิดมันมาจากการที่ญี่ปุ่นรื้อฟื้นบทบาทด้านการทหารขึ้นมาว่ารีแอคชั่นแบบนี้มันส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้นมากกว่า