บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคำว่า ตลาดเสรีมันเป็น ‘ระบบที่ทิ้งคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เล่นรายย่อยไว้ข้างหลังเสมอ’ มันสร้างคำลวงแสนหวานของการแข่งขันและโอกาสของความสำเร็จน้อยนิดที่ปลายอุโมงค์ ที่พึงทำให้คนจำนวนมากหลงตามไปกับคารมนี้ ตะเกียกตะกายดิ้นรนให้รอดไปได้ในแต่ละวัน เพื่อฝันว่าอีกไม่นานความสำเร็จของตนก็คงจะมาถึง หากพยายามมากพอ และลงแรงไปมากพอ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วความสำเร็จนั้นอาจเกิดกับคนเพียง 10% หรือแค่ 1% ณ ยอดพีระมิด ในขณะที่คนโดยมากนั้น ต้องทนกล้ำกลืนในฝันของคำลวงจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะกับรัฐไทย เราอาจจะคุ้นชินกับวิธีการจัดการบริหารเชิงนโยบายที่รัฐเอาแต่หนุนนายทุนใหญ่ โดยปล่อยให้ผู้เล่นรายย่อย อย่าง SMEs ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ค่อยๆ ล้มตายลง เป็นการเสียสละในนาม ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ อย่างเลี่ยงไม่ได้ตามกรอบแบบเสรีนิยมใหม่ ที่พ่วงมาด้วยการเป็นรัฐเผด็จการทหาร หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุด ดูจะหนีไม่พ้น นโยบายอย่าง ‘ประชารัฐ’ ที่รัฐเกื้อหนุนบริษัทใหญ่ระดับท็อปของประเทศ ในการ ‘สูบเลือดสูบเนื้อตลาดภายในประเทศ’ ของตนเอง และอ้างตัวเลขการเจริญเติบโตจากความอ้วนพลีทวีคูณของนายทุนใหญ่ที่เกาะกินตลาดภายในอยู่อย่างไม่ลดละจากการช่วยเหลืออย่างไม่ลืมหูลืมตาของรัฐ เกิดเป็นการเติบโตแบบปลอมๆ ที่นายทุนโตขึ้นแต่รายย่อยตายสิ้น
ความเคยชินทั้ง 2 อย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ครับ โดยทั่วไปแล้วเสรีนิยมใหม่ และรัฐที่หนุนนายทุนใหญ่นั้นมักจะทำตัวแบบนี้จริงๆ จนเกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่อนุญาตให้ปลาใหญ่กินปลาเล็กได้จนเป็นเรื่องปกติหรือความจริงทางธรรมชาติไปแล้ว อย่างไรก็ดี หากออกแบบวางแผนกับมันอย่างรัดกุมมากพอ ทั้งสองอย่างนี้ก็ไม่จำป็นต้องเป็นกับศัตรูกับมนุษยชาติเสมอไป อย่างการหนุนทุนใหญ่นั้น หากหนุนแบบมีสติ ทำนโยบายอุตสาหกรรมออกมาให้ดี หนุนทุนใหญ่ให้ไปแข่งในตลาดโลกแทนได้ โดยเปิดพื้นที่ให้กับตลาดภายในให้กับรายย่อยแทน อย่างที่หลายประเทศทำนโยบายอุตสาหกรรมไล่กวดออกมาจนสำเร็จก็เป็นหนทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้ผมอยากจะลองพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับระบบการจัดการของญี่ปุ่นที่น่าสนใจมาก ที่ไม่ได้กีดกันกลุ่มทุนใหญ่ แต่หากลไกในการสร้างความอยู่รอดและอำนาจในการต่อสู้ให้กับผู้เล่นรายย่อยอย่างเกษตรกร จนสามารถมีศักยภาพในการแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ในตลาดภายในประเทศได้ครับ นโยบายที่ญี่ปุ่นใช้นี้คือ การทำงานร่วมกันระหว่างสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น หรือ JA (Japan Agricultural Cooperatives) และตลาดของเมือง ที่ทางที่ว่าการเมืองจัดตั้งขึ้นให้ ซึ่งในกรณีนี้ เป็นตัวอย่างจากการไปดูงานที่เมืองคาเมะโอกะของผมกับทางทีมนักวิจัยของสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STIPI) ครับ
ผมอยากขอเริ่มต้นจากการแนะนำให้รู้จักคร่าวๆ ก่อนถึง JA และระบบการทำงานของเขา JA หรือ 農業協同組合 คือ สหกรณ์กลางทางการเกษตรของญี่ปุ่น ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของสหกรณ์ในภูมิภาคต่างๆ 694 แห่งรวมกัน ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางเพื่อหาพื้นที่ในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรขนาดกลางและย่อยที่เป็นสมาชิก การจัดซื้อผลิตผลบางส่วนเพื่อนำมาวางขายเอง หรือแปรรูปเพื่อวางขายในพื้นที่ร้านของทางสหกรณ์เองด้วย และยังกระทั่งเป็นธนาคาร (Norinchukin Bank) กับทำหน้าที่เป็นบริษัทประกัน (JA Kyosai) ให้กับเกษตรกรอีกด้วย
บทบาทหลักของ JA คือ การทำหน้าที่เป็นในการเป็น ‘พื้นที่ตั้งขายสินค้า’ (vendor space) กับ ‘ตัวแทนการตลาด’ (marketing agency) ให้กับเกษตรกรขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ JA เหล่านี้ จะสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ตนปลูก/ผลิตมาวางขายได้ โดยต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของ JA โดยจุดเด่นในการเข้าร่วมและวางขายกับ JA นั้น จะประกันให้กับเกษตรกรว่า ‘สินค้าจะขายได้’ หรือในกรณีที่มีสินค้าล็อตใหญ่ ทาง JA ก็ยังจะรับซื้อเองอีกด้วย แต่จุดด้อยหลักคือ เกษตรกรเองก็จะขาดความยืดหยุ่นในการเลือกที่วางขาย นั่นแปลว่า จุดขาย (incentive) หลักของ JA คือ การประกันยอดขาย และจะขายในราคาที่ต่ำกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตในตัวเมือง
การกำหนดราคาสินค้าที่วางขายในสหกรณ์ JA นั้น ตัวเกษตรกรจะเป็นผู้กำหนดด้วยตัวเอง (คือไม่มีพ่อค้าคนกลาง) ซึ่งในส่วนนี้มีวิธีการจัดการที่น่าสนใจ กล่าวคือ JA มีกติกาหลักว่าสินค้านั้นต้องวางขายแบบวันต่อวันเท่านั้น คือ นำสินค้ามาวางขายตอน 07.00 น. และต้องมาเก็บสินค้าที่เหลือคืนในเวลา 17.00 น. อีกมาตรการหนึ่งคือ การกำหนดพื้นที่วางขายที่ ‘บีบ’ ในแง่พื้นที่ทางกายภาพ กล่าวคือ สินค้าชนิดหนึ่งๆ จะมีพื้นที่วางขายที่จำกัดแบบตายตัว (เช่น โต๊ะ 1 ตัว หรือชั้น 1 ชั้น) ซึ่งผู้ผลิตทั้งหมดที่ผลิตสินค้าชนิดนั้นๆ ต้องวางผลิตภัณฑ์รวมกันบนพื้นที่นั้น หากวางโชว์ไม่พอ ก็ต้องเอาไปวางไว้ใต้โต๊ะก่อน แต่ทุกคนต้องได้สิทธิในการวางโชว์สินค้าของตนอย่างเท่าๆ กัน
วิธีการจัดการนี้เองที่ส่งผลให้เกษตรกรต้อง ‘วางแผน’ การผลิตสินค้าของตนให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการ over-supply ของสินค้าที่วางขาย ทั้งในพื้นที่และเวลาอันจำกัด รวมไปถึงการจัดสรรให้ได้วางโชว์เท่ากันหมด เป็นการสร้างเงื่อนไขการแข่งขันแบบตลาดเสรีขึ้นมาแบบเต็มที่ด้วย รวมไปถึงเพิ่มโอกาสในการ ‘ทำงาน/ผลิต’ ร่วมกันระหว่างเกษตรกรรายย่อยในชุมชนด้วยกันด้วย (แน่นอนแข่งกันจนทะเลาะก็มี) แต่ระบบตลาดเสรีที่เปิดโอกาสให้เกษตรรายย่อยมีพื้นที่ในการแข่งกับ ‘ทุนใหญ่’ นี้เอง ทำให้เกษตรมีที่ยืนที่เข้มแข็งพอจะคัดง้างกับห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ในเมืองได้ อย่างในเมืองคาเมะโอกะก็จะเห็นได้ว่ามีคนมาเดินเลือกซื้อของในพื้นที่สหกรณ์ JA ไม่น้อยกว่าในซูเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ของเมืองที่อยู่ข้างเคียงแน่ๆ (ห่างกันราวๆ 1-2 นาทีขับรถ) เพราะของที่วางขายนั้นทั้งสดกว่าและถูกกว่าในตัวห้าง แต่พร้อมๆ กันไป ทางเกษตรกรเองก็ได้กำไรต่อชิ้นมากกว่าด้วย
ระบบการสร้างพื้นที่การแข่งขันย่อยระหว่างเกษตรกรรายย่อยด้วยกัน ที่มีพื้นที่จำกัดแต่ระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจนอันนำมาซึ่งการวางแผนที่รัดกุมมากขึ้นสำหรับการจัดสรรเพื่อเพาะปลูกพืชผลนั้น ส่งผลให้ปัญหาต้นทุนจากการผลิตส่วนเกินที่เกษตรกรรายย่อยแต่ละคนต้องแบกรับค่อยๆ ลดลงด้วย ส่วนต่างนี้เองเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ซูเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องมีการคำนวนต้นทุนของผลผลิตส่วนเกินที่อาจจะกลายมาเป็นของเหลือในปริมาณที่มากเข้าไปด้วย รวมไปถึงการต้องหาสารพัดมาตรการเพื่อจะมาจัดการกับของสดที่อาจจะกลายเป็นของเหลือเหล่านี้ อย่างการทำเป็นอาหารพร้อมรับประทาน หรือจัดโปรโมชั่นช่วงใกล้หมดอายุ ซึ่งอย่างไรเสียก็ยังมีของเหลือจำนวนมากอยู่ดี
แน่นอนว่า พร้อมๆ กันกับการเสียเปรียบในด้านการต้องแบกต้นทุนของผลผลิตส่วนเกินที่ขายออกไม่ได้นั้น ทางร้านค้าของทุนขนาดใหญ่ก็มักจะกลับมาได้เปรียบในด้านการซื้อในปริมาณล็อตใหญ่ๆ หรือการได้เปรียบด้าน ‘ความประหยัดต่อขนาด’ (economy of scale) หรือก็คือ ซื้อปริมาณมาก ก็ได้ต้นทุนในราคาที่ถูก รวมถึงเกษตรกรรายใหญ่ๆ เองที่เน้นขายปลูกส่งให้กับซูเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่เหล่านี้ก็จะได้เปรียบในการผลิตล็อตใหญ่ๆ เพื่อขายด้วย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่รายย่อยหรือรายกลางจะทำได้โดยง่ายนัก อย่างไรก็ดี จุดนี้เองทาง JA ก็ให้ความสนใจเช่นกันครับ โดยเค้าจะมีทีมส่วนกลางที่คอยแนะนำพืชผลที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูง และแนะนำเกษตรกรรายย่อยและกลางให้เพิ่มปริมาณการเพาะปลูก รวมไปถึงพืชที่มีชื่อเสียงของท้องที่นั้นๆ ก็จะแนะนำให้ปลูกเพิ่มเป็นพิเศษ
อย่างกรณีของเมืองคาเมะโอกะเอง ผลิตผลขึ้นชื่อของเมืองนั้นก็คือ ต้นหอม (Negi) และไช้เท้าหัวกลมเล็ก พืชสองชนิดนี้ก็จะได้รับการปลูกมากเป็นพิเศษหน่อย ซึ่งแน่นอนว่าก็อาจจะนำมาซึ่งปัญหา ‘ของล้นตลาด’ ได้ เพราะเน้นขายผู้ซื้อรายย่อยเช่นกัน อีกทั้งเกษตรกรรายย่อยและกลางนั้น ก็อาจจะไม่ได้มีความสามารถในการแปรรูปการผลิตได้มากแบบร้านซูเปอร์มาเก็ตของนายทุนใหญ่ และอาจจะเจ็บช้ำจากผลผลิตส่วนเกินได้ จุดนี้เอง JA เข้ามาแทรกแซงโดยการเข้าประกันรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรของสมาชิกที่ผลิตออกมาในล็อตใหญ่ๆ ได้ ซึ่ง JA เองทำหน้าที่ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ส่วนเกินจากความต้องการของตลาดให้ออกมาในรูปอาหารพร้อมทานบ้าง หรือทำการถนอมอาหาร แล้วนำกระจายขายใน JA สาขาอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป ผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันที่ขายสดใน JA พื้นที่ จึงเป็นของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ได้ผลิตพืชผลในปริมาณมากๆ และต้องกังวลเรื่องต้นทุนของเหลือนั่นเอง
เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากลไกการทำงานของ JA นั้นพยายามสร้างเงื่อนไขอย่างรอบด้านที่สุดเพื่อจะหาทางให้เกษตรกรรายย่อยและกลางมีที่ทางในการต่อสู้กับทุนใหญ่ได้ และไม่ต้องพึ่งหรือง้อกับการขายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ที่คอยกดราคาเอารัดเอาเปรียบแต่อย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเกษตรกรรายย่อยทุกคนจะยินดีพอใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์กับทาง JA มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ถูกใจกับมาตรการและข้อบังคับมากมายของทาง JA นัก เพราะทำให้พวกเขาขาดอิสระในการประกอบสัมมาอาชีพไป แต่จะปล่อยให้เกษตรกรกลุ่มนี้หาทางอยู่รอดเอาเองก็คงจะไม่ต่างจากการลอยแพนัก จุดนี้เองครับที่ทางฝั่ง ‘ที่ว่าการเมือง (อำเภอ)’ และตลาดเมืองเข้ามาแสดงบทบาท
ตลาดเมืองที่เราไปศึกษาคือตลาดเมืองคาเมะโอกะ โดยทางที่ว่าการเมืองต้องการหาทางช่วยหนุนเกษตรกรทุกคนให้ได้ ฉะนั้นจึงใช้พื้นที่ของตัวเมืองคาเมะโอกะเองในการจัดทำเป็นตลาดของเมืองในพื้นที่ต่างๆ ขึ้น และทำงานเสมือนเป็น ‘ตัวกวาดรอบสุดท้าย’ ให้ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ในโลกของตลาดเสรีแบบขูดรีดอิงข้างทุนใหญ่อย่างโดดเดี่ยว ตลาดนี้จะเน้นรวบรวมเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของ JA ให้นำผลิตผลของตนมาวางขายได้ อย่างในเมืองคาเมะโอกะนั้น มีอยู่ราวๆ 120 คน โดยมีกติกาการตั้งวางสินค้าคล้ายกันกับทาง JA คือ ให้มาวางตอนเช้า และตอนเย็นมาเก็บสินค้าคืนไป รวมไปถึงกันให้เกษตรกรกำหนดราคากันเอง และตกลงกันเองว่าใครจะผลิตอะไร เพื่อไม่ให้ทับไลน์กัน
แน่นอนว่าการไม่มี JA เป็นตัวกลางหลัก นั้นทำให้ข้อบังคับต่างๆ ลดน้อยลง แต่ในพื้นที่ที่เสรีมากขึ้นโดยไม่มีผู้ถือกฎสูงสุด (anarchy) ก็ย่อมนำมาซึ่งการทะเลาะหรือกระทบกระทั่งกันเพิ่มขึ้นบ้าง แต่โดยรวมจากที่ได้มีการสอบถามจากทางเมืองคาเมะโอกะดูก็พบว่าไม่ได้อยู่ในระดับรุนแรงอะไร และแม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่พยายามขยับตัวเองออกห่างจาก JA แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า JA จะไม่มีผลกับพวกเขาเลย เพราะ ‘ราคาของสินค้าชนิดเดียวกันที่ขายใน JA’ นั้นกลายมาเป็นเส้นมาตรฐานทางราคาให้กับตลาดเมืองเหล่านี้ไปโดยปริยายด้วย เพราะหากเลือกจะขายแพงกว่าของที่ขายใน JA ก็พาลจะขายไม่ออกเอาได้ มันจึงเกิดกลายเป็น ‘ตลาดเสรีย่อยๆ’ ระหว่างผู้ค้ารายย่อยด้วยกันเอง ที่ทั้งร่วมมือกันและแข่งขันกันไปพร้อมๆ กัน มันเป็นระบบตลาดเสรีย่อยที่ออกแบบขึ้นมาให้กลายเป็นกลไกต่อสู้การขูดรีดของตลาดเสรีในโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้นไปได้ แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วย
ผมคิดว่านี่เป็นบทเรียนที่เราควรน่าศึกษาไว้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นรัฐที่เปิดที่เปิดทางให้แต่เจ้าสัว และนายทุนใหญ่ในการได้เปรียบจากเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง แล้วก็ปล่อยให้ผู้เล่นรายย่อยตายไปแล้วบอกว่า ‘เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ นี่คือสภาวะธรรมชาติของตลาด’ คำอ้างแบบนี้ดูจะเป็นความไม่รับผิดชอบของฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากกว่า เราอาจจะไม่สามารถพลิกเปลี่ยนถอนรากถอนโคนระบบตลาดได้ในชั่วพริบตา แต่เราสามารถออกแบบให้มันทำร้ายคนน้อยที่สุดได้ เราอาจจะไม่ได้สามารถกระจายรายได้เพิ่มให้กับทุกคนได้อย่างเท่าเทียมและทันที แต่เราสามารถกระจายทรัพยากรและโอกาสในการทำกินให้อย่างใกล้เคียงกันได้ หากรัฐคิดถึงประชาชนในฐานะ ‘คนที่มีชีวิตและหน้าตา’ มากพอ
ผมคิดว่าตัวอย่างของ JA และตลาดเมืองนี้ สะท้อนให้เห็นถึงตัวอย่างของการประสานงานเชิงนโยบายระหว่างส่วนกลาง (JA – ส่วนย่อยที่รวมตัวจนกลายเป็นส่วนกลาง) และส่วนท้องที่ได้อย่างลงตัวและงดงามทีเดียวครับ และอยู่ในขอบเขตที่รัฐไทยสามารถเริ่มทำได้แน่ๆ หากจะเริ่มเห็นคนส่วนใหญ่สำคัญกว่าเงินกองใหญ่ของเหล่าเจ้าสัวและนายทุนได้