ญี่ปุ่นเปิดประเทศครั้งนี้ ถ้ายังไม่รู้จะบินไปลงที่ไหนดี มาให้ของโปรดของเรานำทางกันดีกว่า ในเมื่ออัดอั้นกันมาเป็นปี ถ้าอยากกินอาหารทะเล ก็ปักหมุดลงฮกไกโดไปเลย หรือถ้าอยากกินเนื้อฉ่ำๆ ก็ลงคันไซ แล้วไปตามล่าเนื้อให้ครบทุกชนิดกัน ทริปนี้จะพาไปกินให้ตัวแตก เริ่มเลย!
ชอบราเมง
อิวาเตะ (โมริโอกะ) – เรเมน
ฟูกูโอกะ – ฮากะตะ ราเมง
ฮกไกโด – ซัปโปโร ราเมง
ฟูกูชิมะ – คิตะคาตะ ราเมง
สิ่งแรกที่คนอยากไปญี่ปุ่นหิวกระหายคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากราเมง สำหรับคนรักราเมงน้ำซุปกระดูกหมูสีขาวเข้มข้น พุ่งตัวไปจังหวัดฟูกูโอกะ ที่มี ‘ฮากะตะ ราเมง’ เป็นของขึ้นชื่อได้เลย ราเมงของที่นี่จะใช้เส้นกลมเล็กเป็นเอกลักษณ์ มาพร้อมน้ำซุปกระดูกหมูเข้มข้น แถมบางร้านจะมีซอสเผ็ดใส่ให้เพิ่มรสชาติด้วย
หรือถ้าชอบมิโสะราเมน จังหวัดฮกไกโดก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ซัปโปโร ราเมง’ ที่เป็นราเมงรสชาติจัดจ้านด้วยน้ำซุปกระดูกหมู แต่พิเศษด้วยการใส่ผัดผักลงไปด้วย โดยผักที่จะเจอบ่อยในราเมงแบบนี้คือถั่วงอก ให้อารมณ์ก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา มีความกรุบกรอบดี
ส่วนถ้าอยากกินราเมงแบบคอมฟอร์ตใจสไตล์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านเรา ก็ลองไปกิน ‘คิตะคาตะ ราเมง’ ที่จังหวัดฟูกูชิมะ ที่เป็นราเมงเส้นหยักในน้ำซุปโชยุ ใส่หน้าไม้ ชาชู เป็นอาหารคอมฟอร์ตใจ กินได้ทุกวัน
สุดท้ายคือ ‘เรเมน’ หรือบะหมี่เย็น ของดีนครโมริโอกะ จังหวัดอิวาเตะ เป็นเมนูที่ได้อิทธิพลมาจากเกาหลีเหนือ อย่างบะหมี่เย็นเปียงยาง ซึ่งของดั้งเดิมนั้นรสชาติออกจะจัดจ้านไปหน่อย เมื่อญี่ปุ่นรับอิทธิพลมา ก็เลยปรับให้ถูกปากมากขึ้นด้วยการทำให้รสชาติเบาบาง ไม่เผ็ดร้อน อาจจะเป็นจังหวัดที่เดินทางไปถึงยากหน่อย แต่อาหารอร่อยคุ้มค่าแน่นอน
ชอบอุด้ง
อาคิตะ – อินานิวะอุด้ง
คางาวะ – ซานุกิอุด้ง
ยามานาชิ – โฮโทอุด้ง, โยชิดะอุด้ง
โอซากะ – คิทสึเนะอุด้ง
อุด้งเส้นสดกำลังเป็นที่นิยมในไทย เมื่อเปิดประเทศแล้วจะไปกินอุด้งที่ไหนดี ทางนี้มีคำตอบ เริ่มด้วย ‘อินานิวะอุด้ง’ ของดีจังหวัดอาคิตะ อุด้งแบบนี้จะเป็นอุด้งเส้นเล็ก บาง และค่อนข้างแบน สมัยก่อนนิยมเสิร์ฟในหมู่คนมีฐานะเท่านั้น เพราะมีวิธีการทำที่ค่อนข้างยาก ต้องใช้มือทำทั้งหมด ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะใช้เสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าไปถึงอาคิตะแล้วนั้น หากินได้ง่ายมาก
หรือจะมาที่จังหวัดคางาวะ กับเมนูเรียบง่ายอย่าง ‘ซานุกิอุด้ง’ ที่เป็นเมนูอุด้งยอดนิยมของญี่ปุ่น ไม่ว่าใครก็มาเยือนจังหวัดคางาวะเพื่อได้มาตะลุยกินซานุกิอุด้งในแบบต่างๆ ซานุกิอุด้งจะโดดเด่นที่เส้นกลม ใหญ่ เหนียวนุ่ม เสิร์ฟมาเต็มชามแบบเรียบง่ายกับน้ำซุปดาชิ แต่เราสามารถเลือกเครื่องเองได้ว่าอยากกินคู่กับอะไร จะเป็นไข่ดิบ ไข่ออนเซ็น หรือเทมปุระก็เพิ่มอรรถรสได้ดี
ถ้าอยากลองอุด้งอะไรที่แปลกใหม่สักหน่อย ให้มาที่จังหวัดยามานาชิ ‘โฮโทอุด้ง’ เป็นอุด้งเส้นใหญ่ แบน เสิร์ฟในน้ำซุปมิโสะเข้มข้น คู่กับผักหลากหลายชนิด และยังมี ‘โยชิดะอุด้ง’ ที่สามารถหาได้ในเมืองฟูจิโยชิดะ อุด้งเส้นกลมใหญ่ แต่โดดเด่นด้วยความแข็งของเส้น ถ้าเป็นคนชอบเส้นแบบแน่น เคี้ยวกรุบ จะต้องตกหลุมรัก
สุดท้ายคือเมนูที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วอย่าง ‘คิทสึเนะอุด้ง’ ของดีจังหวัดโอซากะ เป็นอุด้งเส้นกลมใหญ่ที่มาพร้อมกับน้ำซุปดาชิหอมกรุ่น แต่ที่ทำให้เมนูนี้มีความเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาคือการใส่เต้าหู้ทอดลงไปด้วย เมื่อน้ำซุปดาชิซึมเข้าไปในเต้าหู้ทอด จังหวะที่กัดเต้าหู้ทอดก็จะได้รสสัมผัสที่หอมกลมกล่อม ทำให้เป็นเมนูที่หลายคนรัก
ชอบปลาไหล
ไอจิ – ข้าวหน้าปลาไหลฮิตสึมะบุชิ
ชิซูโอกะ – ปลาไหลอุนางิย่าง
ฮิโรชิมะ – ปลาไหลอานาโกะ
ถ้าชอบปลาไหล จุดหมายที่ควรพุ่งตัวไปอย่างรวดเร็วคือ จังหวัดไอจิ ที่มา ‘ฮิตสึมะบุชิ’ ข้าวหน้าปลาไหลย่างที่เสิร์ฟมาในถังไม้ มาเป็นชุดพร้อมกับซุป และผักหลากชนิด ทั้งต้นหอมซอย สาหร่าย ผักดอง และวาซาบิสำหรับเพิ่มรสชาติ และมีกาที่ดูเหมือนกาน้ำชา แต่ที่จริงแล้วข้างในเป็นน้ำซุปปลาสำหรับกินคู่กัน ความพิเศษคือมีวิธีการกินที่แตกต่างกันถึง 4 วิธี เป็นเมนูที่กินสนุกมาก
แต่ถ้าเน้นเป็นปลาไหลย่างอย่างเดียวเลยก็ต้องเป็นจังหวัดชิซูโอกะที่มี ‘ปลาไหลอุนางิย่าง’ หรือปลาไหลน้ำจืดที่ใช้เทคนิคการทำแบบ ‘คาบะยากิ’ ที่แล่ออกมาเป็นชิ้นหนานุ่ม ไร้ก้าง และทาด้วยซอสรสชาติหวานเค็ม หรือจะเป็นปลาไหลย่างของจังหวัดฮิโรชิมะ อย่าง ‘ปลาไหลอานาโกะ’ หรือปลาไหลทะเลที่มีรสชาติหอมมันมากกว่า
ชอบไก่
ไอจิ – ปีกไก่ทอด
มิยาซากิ – ไก่ย่างถ่าน, ไก่นัมบัง
โออิตะ – ไก่ชุบแป้งทอด
หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อเมนู ‘ปีกไก่ทอดสไตล์นาโกยะ’ หรือเคยกินที่ร้านยามะจังแล้วชอบ ปีกไก่ทอด ‘เทบะซากิ’ ของเมืองนาโกยะ จังหวัดไอจิ เป็นปีกไก่ที่ทอดจนกรอบและแกะออกมาได้อย่างง่ายดาย ส่วนใหญ่จะปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย กินเพลินได้โดยไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มอะไรเลย
สำหรับใครที่ชอบเมนูฉ่ำหน่อย ‘ไก่ย่างถ่าน’ กับ ‘ไก่นัมบัง’ ของจังหวัดมิยาซากิก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ไก่ย่างถ่านหรือ ‘ซูมิบิยากิ’ นั้นเป็นไก่ชิ้นพอดีคำ เสียบไม้ย่างบนถ่านด้วยความร้อนสูง อันนี้ก็เพลินไม่แพ้กัน ส่วนสายหวานมันจะต้องชอบ ‘ไก่นัมบัง’ ที่เป็นไก่ชุบแป้งทอดธรรมดานี่แหละ แต่พิเศษด้วยการหมักให้ไก่มีรสชาติเปรี้ยวหวาน และราดด้วยซอสนัมบังสีขาว ย้ำความหวานเข้าไปอีก
ถ้าเป็นคนรักไก่ทอด ก็อยากให้ไปลอง ‘ไก่ชุบแป้งทอด’ หรือ ‘โทริเทน’ แบบต้นตำรับ เพราะไก่ชุบแป้งทอดนั้นถูกคิดค้นขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดโออิตะ สะโพกไก่เนื้อฉ่ำ ชุบแป้งทอดกรอบจนฟูเป็นสีเหลืองทอง หอมกลิ่นขิงฝน กินกับซอสพอนสึและมัสตาร์ด แค่อ่านก็หิวไก่ทอดแล้วใช่มั้ย
ชอบหมู
คาโงชิมะ – คุโรบุตะ
นางาซากิ – หมูสามชั้นคาคุนิ
ไอจิ – มิโสะคัตสึ
ทาสรักหมูกระทะและชาบู เมื่อไปญี่ปุ่นต้องไปลอง ‘คุโรบุตะ’ หรือ ‘หมูดำ’ ของขึ้นชื่อจังหวัดคาโกะชิมะ ไม่ว่าจะเป็นเมนูหมูที่หลากหลาย หรือชาบูหมูดำ หมูติดมันเนื้อนุ่ม หอม ไม่ต้องมีน้ำจิ้มก็อร่อย
หมูสามชั้นคือชีวิต ก็ต้องพุ่งตัวไป ‘นางาซากิ’ เพราะเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของหมูสามชั้นตุ๋น ‘คาคุนิ’ ที่เอาหมูสามชั้นมาตุ๋นกับซีอิ๊วญี่ปุ่นจนซึมซับความหวานเค็มเข้าไปอย่างเต็มที่ หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ จะกินกับข้าว กับราเมง หรือกับอะไรก็นู้มนุ่ม คอลลาเจนเต็มคำ
แล้วจะไม่มีเมนูหมูทอดได้ยังไง ถ้าชอบหมูทอด ต้องไปลอง ‘มิโสะคัตสึ’ อาหารขึ้นชื่อของจังหวัดไอจิ ที่เป็นทงคัตสึ หรือหมูชุบแป้งทอดสไตล์ญี่ปุ่น ราดด้วยซอสมิโสะ ซึ่งปกติแล้วเมนูทงคัตสึจะราดด้วยซอสหวานสีน้ำตาล แต่เมื่อราดซอสมิโสะก็จะได้รสชาติแตกต่างออกไปอีกแบบ ใครไปลองแล้วมาบอกด้วยนะ ว่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน
ชอบเนื้อวัว
เฮียวโงะ – เนื้อโกเบ
มิยางิ – ลิ้นวัว
กิฟุ – เนื้อฮิดะ
มิเอะ – เนื้อมัตสึซากะ
ชิงะ – เนื้อโอมิ
สำหรับเนื้อวัว จุดหมายปลายทางแรกที่ทุกคนต้องนึกถึงคงเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากจังหวัดเฮียวโงะ ที่มี ‘เนื้อโกเบ’ เป็นของขึ้นชื่อ เรียกได้ว่าใครที่รักเนื้อวัวแล้วไปเที่ยวคันไซ จะไม่แวะกินไม่ได้ แต่นอกจากเนื้อโกเบก็ยังมีเนื้ออื่นที่น่าลอง ทั้ง ‘เนื้อฮิดะ’ จากจังหวัดกิฟุ ‘เนื้อมัตสึซากะ’ จากจังหวัดมิเอะ และ ‘เนื้อโอมิ’ จากจังหวัดชิงะ เอาเป็นว่าบินลงสนามบินคันไซ แล้วจะไปเก็บเนื้อที่จังหวัดไหนต่อค่อยว่ากัน และยังมีเมนูลิ้นวัว ที่ถ้าชอบกิน ต้องไปจังหวัดมิยางิจะอร่อยที่สุดด้วย
ชอบอาหารทะเล
ฮกไกโด – อูนิ, อิคุระ, อาหารทะเล
ทตโตริ – ปูหิมะ
มิเอะ – กุ้งมังกรญี่ปุ่น
ยามางูจิ – ปลาปักเป้า
ฟูกูโอกะ – เมนไทโกะ
ฮิโรชิมะ – หอยนางรม
ถ้าพูดถึงอาหารทะเลแบบรวม ก็คงจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากจังหวัดฮอกไกโดที่มีทั้ง ‘อูนิ’ ไข่หอยเม่น ‘อิคุระ’ ไข่ปลาแซลมอน และข้าวหน้าอาหารทะเล ‘ไคเซนด้ง’ แบบล้นชาม และนอกจากนี้ จากการสำรวจว่าในปี ค.ศ.2021 ที่เก็บข้อมูลจังหวัดที่มีอาหารอร่อยที่สุดจากชาวญี่ปุ่นกว่า 4,700 คน ฮกไกโดนั้นมาเป็นที่ 2 เรื่องของอร่อยด้วย
จังหวัดทตโทริที่หลายคนรู้จักในฐานะจังหวัดที่มีเนินทราย แต่กลับมีของดีประจำจังหวัดที่ชื่อเป็น ‘ปูหิมะ’หรือ ‘ปูมัตสึบะ’ ตัวใหญ่ยักษ์ ที่ถูกจับมาทำเป็นเมนูทหลากหลาย ส่วนใครที่ชอบกุ้งมากกว่า จังหวัดมิเอะก็มี ‘กุ้งมังกรญี่ปุ่น’ หรือ ‘อิเสะล็อบสเตอร์’ เป็นของขึ้นชื่อ ถ้าพูดถึงเมนูจากกุ้งมังกรญี่ปุ่นก็ต้องที่นี่ที่เดียวเท่านั้น
สำหรับคนรัก ‘หอยนางรม’ จังหวัดฮิโรชิมะก็เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ เพราะกินแบบอิมพอร์ตยังไงก็ไม่หมือนไปกินถึงที่แน่นอน เมนูที่น่าสนใจนอกจากหอยนางรมสด ก็มีหอยนางรมชุบแป้งทอดที่ได้รสสัมผัสกรอบนอก แต่นุ่มเด้งในจนงงว่านี่มันอะไรกัน
สำหรับคนอยากลองอะไรแปลกใหม่ จังหวัดยามางูจิเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ปลาปักเป้า’ มาก ทั้งแบบซาชิมิที่แล่กินกันแบบสดจากทะเล หรือจะเอาไปทำเป็นเมนูอะไรก็มีให้เลือก หรือถ้าปลาปักเป้าโหดไป จะเบาลงมาหน่อยด้วย ‘เมนไทโกะ’ จุดมุ่งหมายที่น่าไปก็คือจังหวัดฟูกูโอกะ ที่มีเมนไทโกะหลากชนิด หลากรสชาติ จะเอาไปทำอาหารเมนูอะไรก็อร่อยไปหมด
ชอบแกงกะหรี่
คานางาวะ – แกงกะหรี่กองทัพเรือ
อิชิกาวะ – แกงกะหรี่สไตล์คานาซาวะ
คนรักแกงกะหรี่ ที่จริงจะไปที่ไหนก็ได้ เพราะแกงกะหรี่สำหรับญี่ปุ่นก็คล้ายกับข้าวกะเพราของบ้านเรานี่แหละ มีทั่วทุกหัวมุมถนน แต่ถ้าจะกินแบบลึกถึงจิตวิญญาณความเป็นแกงกะหรี่ ก็มีสองจุดหมายปลายทางที่น่าไป
ที่แรกคือจังหวัดคานางาวะ ต้นกำเนิดของแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ‘โยโคสุกะ ไคกุน คาเร’ ถ้าจะเล่าพอสังเขป แกงกะหรี่ญี่ปุ่นนั้นเกิดจากปัญหาโรคเหน็บชาของกองทัพเรือญี่ปุ่น เมื่อปรึกษากับกองทัพเรืออังกฤษ ก็กลายเป็นการนำเอาข้าวญี่ปุ่นกับผงกะหรี่ของอังกฤษ (ใช่ อ่านไม่ผิด ของอังกฤษ เพราะผงกะหรี่ที่ใช้เป็นการสั่งทำเลียนแบบเครื่องเทศอินเดีย) ดังนั้นการมากินแกงกะหรี่ที่นี่ก็จะได้รสชาติแบบต้นตำรับเลย
ส่วนอีกที่หนึ่งคือจังหวัดอิชิกาวะ ที่มีแกงกะหรี่ญี่ปุ่นน้ำแกงเข้มข้น ‘คานาซาวะ คาเร’ หรือหลายคนอาจจะเคยลองกินจากร้านโกลด์เคอรี่มาแล้ว แกงกะหรี่นี้จะแตกต่างจากแกงกะหรี่แบบอื่นตรงที่น้ำแกงนั้นสีเข้มมากจนแทบจะเป็นสีดำ และใช้ส่วนผสมหลายสิบชนิดในการเคี่ยวน้ำแกง เอกลักษณ์คือการเสิร์ฟในจานสแตนเลสเคียงคู่มากับกะหล่ำซอย แต่กระซิบบอกไว้ก่อนนะ ว่าแคลอรี่สูงมาก
ชอบนาเบะ
ฟูกูโอกะ – มตสึนาเบะ, นาเบะไก่ (มิซุทานิ)
ชิงะ – นาเบะเป็ด
เมนูอาหารอบอุ่นทั้งร่างกายและหัวใจอย่างนาเบะก็มีหลายแบบให้เลือก ถ้าชอบรสชาติเข้มข้นหน่อยก็ต้องไปกินที่จังหวัดฟูกูโอกะ เพราะมี ‘มตสึนาเบะ’ ที่มีหัวใจสำคัญเป็นไส้วัว ได้ออกมาเป็นนาเบะที่จัดจ้านเข้มข้น ถ้าอยากลองที่รสเบามาหน่อย จังหวัดฟูกูโอกะเองก็มี ‘นาเบะไก่’ หรือ ‘มิซุทานิ’ ที่มีตัวเด่นเป็นไก่และกระดูกไก่ รสชาติเบาบางทานง่ายกว่ามตสึนาเบะ
ส่วนใครที่อยากลองนาเบะอะไรที่หาได้ยากหน่อย ก็ต้องไปจังหวัดชิงะ ที่มี ‘นาเบะเป็ด’ หรือ ‘คาโมะนาเบะ’ รสชาติเข้มข้น เป็นของขึ้นชื่อของถิ่นที่เที่ยวของคันไซอย่างทะเลสาบบิวะ รสชาติของนาเบะเป็ดจะเข้มข้นและจัดจ้านกว่านาเบะไก่สักหน่อย แต่ไม่รุนแรงจนเกินไปแน่นอน
ชอบโอโคโนมิยากิ
โอซากะ – โอโคโนมิยากิ, ทาโกะยากิ
ฮิโรชิมะ – โอโคโนมิยากิแบบฮิโรชิมะ
โตเกียว – มงจะยากิ
อาหารที่สายแป้งรักอย่าง ‘โอโคโนมิยากิ’ นั้นมีอยู่สองจุดหมายปลายที่น่าบินไปลง เริ่มที่จังหวัดโอซากะ จังหวัดต้นกำเนิดของโอโคโนมิยากิ เราขอแนะนำย่านทสึรุฮาชิ ที่มีร้านโอโคโนมิยากิเจ้าดังอยู่ แต่ถ้าเป็นสายแป้งแบบโหด เราขอแนะนำให้ไปลอง ‘โอโคโนมิยากิแบบฮิโรชิมะ’ ที่จะแตกต่างกันตรงที่ของจังหวัดฮิโรชิมะจะเพิ่มเส้นเข้าไปด้วย เรียกได้ว่าเป็นเมนูแป้งเชิงซ้อนก็ไม่ผิด แต่ให้ความอร่อยไปอีกแบบนะ
ถ้าอยากกินแบบพอดีคำ ไม่หนักท้องจนเกินไป ‘ทาโกะยากิ’ ก็เป็นเมนูที่ให้อารมณ์สไตล์โอโคโนมิยากิ ซึ่งเป็นของดีจังหวัดโอซากะเหมือนกัน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยคือ ก่อนจะมาเป็นทาโกะยากิ แป้งกลมสอดไส้หนวดปลาหมึก มันเคยเป็นแป้งกลมสอดไส้เนื้อสัตว์มาก่อน เรียกว่า ‘ราจิโอะยากิ’ ถ้าไปแล้วก็ลองให้ครบทั้งสองเลยนะ
สุดท้าย ถ้าใจรักโอโคโนมิยากิ แต่อยากจะไปเมืองหลวง ก็มี ‘มงจะยากิ’ อาหารที่คล้ายกับโอโคโนมิยากิ แต่แตกต่างกันตรงที่มงจะยากิจะมีความเนื้อครึมนุ่มคล้ายออมเลต แต่โอโคโนมิยากิจะเนื้อแน่นเป็นแผ่น
ชอบผลไม้
ฟูกูโอกะ – สตรอว์เบอร์รี่
อาโอโมริ – แอปเปิล
วากายามะ – ส้ม
ฮกไกโด – เมล่อน
ยามานาชิ – พีช
นางาโนะ – องุ่น
เป็นที่รู้กันดีว่าถ้าชอบแอปเปิล จังหวัดอาโอโมรินั้นเป็นที่ที่ดีที่สุดสำหรับการไปเก็บแอปเปิลกินสดจากต้น หรือถ้าชอบสตรอว์เบอร์รี่ ก็มีให้เลือกทั้งจังหวัดโทชิงิและจังหวัดฟูกูโอกะ แต่ไปทั้งทีขอแนะนำเป็นจังหวัดฟูกูโอกะจะดีกว่า เพราะมีสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์อะมะโอ ที่เป็นเหมือนราชาแห่งสตรอว์เบอร์รี่ของญี่ปุ่น
ในส่วนของส้ม จังหวัดวากายามะ นอกจากจะมีราเมงที่เราเพิ่งแนะนำไป ก็มีส้มเป็นผลไม้ที่น่าสนใจ ส่วนรสชาติของส้มที่ญี่ปุ่นจะแตกต่างกับส้มไทยยังไง เรื่องนี้ต้องไปลองเอง
ที่ญี่ปุ่น การซื้อเมล่อนให้เป็นของขวัญนั้น ผู้รับจะดีใจมากเพราะเมล่อนนับเป็นของหรูหรา ไปลองสัมผัสความมีระดับกันได้ที่จังหวัดฮกไกโด สำหรับพีช ผลไม้ที่ทั้งน่ารักและอร่อย ก็ต้องไปที่จังหวัดยามานาชิ ปิดท้ายด้วยองุ่นที่ตอนนี้เทรนด์ก็เริ่มมา ไปกินสดใหม่จากไร่กันได้ที่นางาโนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan