เช้าอันแสนสดใส ‘มิจิ’ หญิงชราวัย 78 ปี ลืมตาตื่นขึ้นมารับแดดอุ่นๆ ที่กำลังส่องประกายบ่งบอกถึงการเริ่มต้นวันใหม่…ทว่านั่นคือวันที่เธอได้ยินเสียงประกาศแผนการจบชีวิตผู้สูงอายุด้วยความสมัครใจ “วันนี้ รัฐบาลประกาศใช้กฎหมาย ‘แผน 75’ รัฐจะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปที่ประสงค์จะปลิดชีวิตตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาสังคมสูงอายุของญี่ปุ่น”
นี่ไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ‘Plan 75’ จากผลงานการกำกับของ ‘จิเอะ ฮายาคาวะ’ เจ้าของรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี ค.ศ.2022
Plan 75 นำเสนอภาพดิสโทเปียของสังคมญี่ปุ่นในอนาคตที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ รัฐบาลญี่ปุ่นเลยมีโครงการสนับสนุนให้คนอายุ 75 ปีขึ้นไป ตัดสินใจบอกลาโลกนี้ด้วยความสมัครใจและไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมยังได้รับเงินมาใช้ก่อนตายอีก 100,000 เยน
ถ้ามองเผินๆ นโยบายนี้เหมือนจะเป็น ‘ทางเลือก’ หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากรัฐบาลจะไม่ได้บังคับแล้ว ยังสามารถยกเลิกเมื่อไรก็ได้ แต่หากสังเกตรายละเอียดบางส่วนของหนัง จะพบว่าโครงการนี้เป็นไปในเชิง ‘สนับสนุน’ เสียมากกว่า เห็นได้จากโฆษณาที่พยายามลดทอนคุณค่าของผู้สูงอายุ พร้อมกับโน้มน้าวว่าโครงการนี้ดียังไง ส่วนเจ้าหน้าที่เองก็ถูกอบรมมาว่าต้องหาวิธีพูดให้ผู้สมัครไม่เปลี่ยนใจกลางคัน
แต่ถึงอย่างนั้น ประเด็นหลักของหนังที่ฮายาคาวะต้องการจะสื่อ กลับไม่ใช่ข้อถกเถียงเรื่องการุณยฆาต แต่เป็นการวิพากษ์ปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางในสังคมสูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ทัศนคติต่อผู้สูงอายุ ไปจนถึงสวัสดิการและทางเลือกชีวิตของผู้คนหลังวัยเกษียณ
ย้อนมองสังคมญี่ปุ่น
ตอนนี้สังคมญี่ปุ่นเรียกว่าเป็น Super-Aged Society คือสังคมที่มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด เรียกง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนญี่ปุ่นเดินมา 10 คน เราจะเห็นผู้สูงอายุประมาณ 2-3 คน โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักจะเจอปัญหาคล้ายกับตัวละครในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ การอาศัยอยู่ตัวคนเดียว เงินเก็บร่อยหรอ สมัครงานที่ไหนก็ไม่ค่อยมีใครรับ บ้านที่เคยเช่าอยู่ก็ไม่ค่อยอยากต่อสัญญา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะราคาที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นจะตกลงมาราวๆ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีการตายอย่างโดดเดี่ยวเกิดขึ้น
“การมีชีวิตที่ยืนยาวเคยเป็นสิ่งที่ดี และถือเป็นสิ่งล้ำค่า แต่ตอนนี้ คนรู้สึกว่าการแก่เกินไปไม่ใช่เรื่องดี ผู้คนกังวลว่าจะยากจน กังวลว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อม กังวลว่าจะสูญเสียบ้าน” ฮายาคาวะให้สัมภาษณ์กับ theupcoming.co.uk ซึ่งก่อนทำหนังเรื่องนี้ เธอเคยสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเพื่อถามความความเห็นต่อ Plan 75 และพบว่าบางคนอยากให้มีตัวเลือกแบบนี้จริงๆ
“ถ้าอยู่ตัวคนเดียว โสด และไม่มีลูกที่สามารถดูแลพวกเขาได้ ถ้าไม่มีเงินและเป็นโรคสมองเสื่อม ถ้าเกิดป่วยขึ้นมา… ก็จะมีความวิตกกังวลมากมายที่ส่งผลต่อชีวิตของตัวเอง ดังนั้นแทนที่จะอยู่อย่างหวาดกลัว พวกเขาเลยเลือกที่จะตายอย่างสงบโดยไม่ต้องกังวลอะไร นั่นทำให้ฉันประหลาดใจและฉันรู้สึกสงสารจับใจ หากสังคมมีการสนับสนุนอย่างเพียงพอ พวกเขาคงจะไม่รู้สึกแบบนี้ แต่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่เพียงพอ เลยเป็นธรรมดาที่พวกเขาจะรู้สึกอย่างนั้น”
แม้ญี่ปุ่นจะมีนโยบายสนับสนุนคนชรา อย่างการจัดหางาน หรือเงินบำนาญที่เรียกว่า Nenkin แต่ก็เป็นเงินที่ถูกหักมาจากการทำงานในแต่ละเดือนตามเงื่อนไขที่กำหนด คล้ายกับการหักเงินประกันสังคมในประเทศไทย ดังนั้นเลยมีแค่คนบางกลุ่มที่จะได้รับเงินจากระบบดังกล่าว หรือต่อให้มีเงินก็ใช่ว่าจะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตจนวันสุดท้าย แถมการอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของความเหงา แต่ยังเป็นเรื่องความปลอดภัยที่หากเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมา ก็จะไม่มีใครคอยช่วยเหลือได้ทันท่วงทีอีกด้วย
แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า และเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ฮายาคาวะทำหนังเรื่องนี้ คือทัศนคติของผู้คนที่ผูกติดคุณค่าของมนุษย์ไว้กับ ‘การทำงาน’ จนเกิดเป็นมุมมองที่ลดทอนคุณค่าของกลุ่มคนชรา ผู้พิการ หรือกลุ่มคนเปราะบาง และหากทัศนคตินี้ค่อยๆ สะสมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ไม่แน่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังอาจจะกลายเป็นเรื่องจริงได้ในอนาคต
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉันรู้สึกว่าในญี่ปุ่น สังคมกำลังเคลื่อนไปสู่บรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ญี่ปุ่นพยายามกำจัด ‘คนอ่อนแอ’ ทางสังคม มีคำพูดที่แบ่งแยกคนพิการจากนักการเมืองหรือคนที่มีชื่อเสียง ทิศทางที่สังคมญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าไปตอนนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่คล้ายกับฉากเปิดเรื่องใน Plan 75 นั่นคือการสังหารหมู่ในบ้านพักคนชราเมื่อปี ค.ศ.2016 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 19 รายและบาดเจ็บมากกว่า 40 ราย โดยชายผู้ก่อเหตุบอกว่า เขาทำไปเพราะมองว่าคนเหล่านี้ไม่มีคุณค่าและเป็นภาระของสังคม
“ฉันกลัวว่าเขาจะไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนั้น ฉันรู้สึกถึงบรรยากาศแบบเดียวกันจากสังคมรอบตัว ฉันรู้สึกกลัวมาก ความโกรธและความวิตกกังวลที่มีต่อสังคมญี่ปุ่นทำให้ฉันคิดอยากจะทำหนังเรื่องนี้”
สังคมสูงวัยในประเทศไทย
ส่วนในประเทศไทย แม้จะยังไม่ถึงขั้น Super-Aged Society แบบญี่ปุ่น แต่ก็นับว่าเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะปี ค.ศ.2022 ประเทศไทยมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อัตราการเกิดลดต่ำลง และถ้าถามว่าคนอายุ 75 ปี ตอนนี้จะมีสวัสดิการอะไรบ้าง? หากยกตัวอย่างคร่าวๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือน สิ่งที่จะได้รับหลังวัยเกษียณ เช่น
-
- เบี้ยคนชราที่มีตั้งแต่ 600 – 1,000 บาท/คน/เดือน (ขึ้นอยู่กับอายุ)
- ส่วนลดค่าเดินทางขนส่งสารธารณะครึ่งราคา
- ขอค่าปรับสภาพที่อยู่อาศัย สำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน
- เงินบำเน็จ/บำนาญสำหรับคนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม (สำหรับเงินบำนาญมีตั้งแต่ 3,500 – 7,500 บาท/คน/เดือน โดยเงื่อนไขขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ส่งเงินสมทบประกันสังคม)
จะเห็นว่าถ้าคิดเฉพาะตัวเลขคร่าวๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่ไม่ได้รับราชการ เงิน ‘สูงสุด’ ที่ได้รับในแต่ละเดือนนั้นยังไม่ถึง 10,000 บาท (ที่น่าเศร้าคือบางคนอาจจะได้รับไม่ถึง 1,000 บาทต่อเดือนด้วยซ้ำ) ดังนั้นถ้าไม่มีเงินเก็บหรือยังคงทำงานต่อไปในช่วงหลังวัยเกษียณ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายกายและสบายใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่รวมการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับสภาพร่างกาย การเดินทาง การออกแบบเมือง หรือแม้แต่โอกาสการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ
ถ้าย้อนกลับมาที่ภาพยนตร์เรื่อง Plan 75 จริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ อาจไม่ได้ชวนให้คนดูรู้สึกเศร้าโศกจนถึงขั้นฟูมฟาย แต่กลับทิ้งความกลัวและความรู้สึกหนักอึ้งไว้ในใจอย่างเงียบเชียบ เพราะความสมจริงของหนังทำให้เราไม่ได้จินตนาการเล่นๆ ถึงตัวเองตอนแก่เท่านั้น แต่ทำให้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจังว่า ชีวิตเรา (หรือพ่อแม่) ตอนอายุ 75 ปี จะเป็นยังไง สวัสดิการที่มีอยู่รองรับแค่ไหน ปัญหาไหนที่ควรได้รับการแก้ไข และเราจะเตรียมพร้อมยังไงได้บ้าง
เพราะไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในญี่ปุ่น หากทุกอย่างกำลังบีบคั้นให้การใช้ชีวิตในช่วงวัยเกษียณเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แน่ว่า Plan 75 อาจจะไม่ใช่เรื่องสมมติอีกต่อไป…
“สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ฉันรู้สึกอย่างนั้น” ฮายาคาวะกล่าว “มันอาจจะไม่ใช่ช่วง 2-3 ปี แต่อาจจะใน 5-10 ปีข้างหน้า มันไม่ใช่แค่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ฉันรู้สึกอย่างนั้นและอยากจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ดังนั้น ฉันเลยทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนญี่ปุ่นตระหนักถึงปัญหานี้”
อ้างอิงจาก