คุณว่าคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยพูดถึงประเด็นอะไรมากที่สุด?
ในวันนี้และพรุ่งนี้ (11 – 12 ก.ย.) มีวาระสำคัญหนึ่งของรัฐบาลเศรษฐาคือแถลงนโยบายกับสมาชิกรัฐสภา โดยผลประชุมวิป 3 ฝ่ายระบุว่าจะมีการใช้เวลารวม 30 ชั่วโมง แบ่งเป็น ประธานรัฐสภา 1 ชั่วโมง, ฝ่ายคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 ชั่วโมง, สว. 5 ชั่วโมง, สส.ฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง และ สส.ฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง
สำหรับโครงสร้างของคำแถลงนโยบายคร่าวๆ จะพบว่า ช่วงแรก สถานการณ์ในประเทศไทย ช่วงที่สอง นโยบายเร่งด่วน ช่วงที่สาม นโยบายเพิ่มเติม และช่วงสุดท้าย สรุป
หนึ่งในประเด็นที่ The MATTER อยากสำรวจคือ จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยครั้งนี้ มีการให้น้ำหนักกับนโยบายด้านต่างๆ อย่างไรบ้าง
นโยบายด้านเศรษฐกิจ
ถือว่านโยบายเศรษฐกิจเป็นกระดูกสันหลังของรัฐบาลเศรษฐา โดยจากคำแถลงนโยบายพบว่าคำสำคัญที่เกี่ยวกับนโยบายด้านนี้มากที่สุด อาทิ เศรษฐกิจ (60 คำ), เกษตร (19 คำ), เทคโนโลยี (13 คำ) และท่องเที่ยว (11 คำ)
โดยเศรษฐาเริ่มจากพูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไทยกำลังพบ ตั้งแต่ วิกฤต COVID-19, เทคโนโลยีดิสรัปชั่น, ปัญหาหนี้ครัวเรือน, ปัญหาหนี้ภาคเกษตร ก่อนจะมาพูดถึงนโยบายเร่งด่วนข้อแรกคือ นโยบายแจก digital wallet 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายชูโรงของรัฐบาลชุดนี้
ก่อนที่ต่อมาจะพูดถึงเรื่อง การพักชำระหนี้ของเกษตรกรและ SMEs, การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เช่น การจัดทำ Fast Track Visa สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ, การประกาศร่วมกับภาคเอกชนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ, การจับคู่การลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน รวมถึงนโยบายสนับสนุนเกษตรกร ภายใต้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตรกรรมเสริม สร้างรายได้’
นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ, การสนับสนุน soft power ผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 soft power เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ก่อนทิ้งท้ายว่าทางรัฐบาลจะสานต่อนโยบาย ‘กัญชาเพื่อการแพทย์’ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ
นโยบายด้านการเมืองและสังคม
แน่นอนว่าหลายคนคงติดตามดูอยู่ว่า ภายใต้รัฐบาลเศรษฐาจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทิศทางไหน โดยจากคำแถลงนโยบายมีการเขียนไว้ในส่วนนโยบายเร่งด่วนว่า
“นโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไข ในหมวดพระมหากษัตริย์”
“โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสาคัญ กับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”
ที่น่าสนใจคือ คำอธิบายดังกล่าวมีความกำกวมถึงขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่มีการระบุถึงการเลือกตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รัฐบาลเศรษฐาเน้นย้ำคำว่า ‘หลักนิติธรรม’ อยู่หลายครั้งในคำแถลงนโยบายนี้ โดยช่วงหนึ่งคำเขาพูดถึงความสำคัญของมันว่า
“การมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ เป็นการลงทุนที่ทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพ มากที่สุดในการพัฒนาประเทศ”
อีกหนึ่งนโยบายที่น่าสนใจคือ ‘ผู้ว่าฯ CEO’ ซึ่งระบุว่าจะมีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย, ตัวชี้วัด, การจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ แต่ในคำแถลงดังกล่าว ไม่มีการพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
ยังมีการพูดถึงจุดยืนในด้านการเมืองต่างประเทศที่สำคัญ โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการทูตที่ “สมดุล” การเจรจาเพื่อยกระดับหนังสือเดินทางของไทย และประกาศเป็นหนึ่งในผู้นำสันติภาพของโลก
สำหรับนโยบายด้านสังคม มีการพูดถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, การจัดสรรที่ดินให้ประชาชน, ยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย เช่น ปลดล็อกกฎระเบียบสุราพื้นบ้าน และมีการยืนยันจะสนับสนุนอัตลักษณ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
นโยบายกองทัพและความมั่นคง
สำหรับท่าทีต่อกองทัพที่เคยรัฐประหารนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยมาแล้ว 2 คน จากคำแถลงนโยบายเศรษฐา ได้ประกาศว่าจะมีปรับโครงสร้างของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงให้สอดรับกับภัยคุกคามในศตวรรษที่ 21 โดยจะดำเนินการ ดังนี้
- เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ
- ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรักษาดินแดนให้สร้างสรรค์
- ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และลดบุคลากรใน กอ.รมน.
- ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหมให้ให้โปร่งใส
- นำพื้นที่ของหน่วยงานทหารที่เกินความจำเป็นมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะภาคเกษตร
อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งหมดนั้นไม่ได้ลงรายละเอียด จึงน่าจะต้องติดตามดูว่าฝ่ายค้านจะตามจี้ในประเด็นนี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้นอย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องความมั่นคงคือ ปัญหายาเสพติด โดยทางรัฐบาลเศรษฐายืนยันแนวทาง ‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’ และมุ่งปราบปรามวงจรผู้ค้ายาเสพติดอย่างจริงจังด้วย ‘ยึดทรัพย์’ รวมถึงจะมีการขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันป้องกันภัยจากปัญหายาเสพติด ซึ่งน่าสนใจว่าเศรษฐาจะมีท่าทีต่อความขัดแย้งในเมียนมาอย่างไร เพราะเมียนมาเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดชนิดแอมเฟตามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ทำให้ระบบราชการของเมียนมาเป็นอัมพาต และไม่สามารถป้องกันการทะลักของยาเสพติดเข้ามาในไทยได้
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
เรียกว่าสิ่งแวดล้อมเป็นอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลเศรษฐาให้ความสำคัญ โดยเขาประกาศในช่วงหนึ่งว่าจะแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นวาระหลักของประเทศ โดยเขียนไว้ว่า
“รัฐบาลจะแก้ปัญหา ด้านสิ่งแวดล้อมท่ีเป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ท่ีทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคนด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจท้ังทางบวก และทางลบในภาคเกษตรกรรม ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประเมินผลและติดตามการบังคับใช้ กฎหมาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
นอกจากนี้ ยังรับปากว่าจะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก
นโยบายด้านสาธารณสุข
‘ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค’ เป็นถ้อยแถลงหาเสียงของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง โดยในคำแถลงนโยบาย ทางเศรษฐายืนยันว่าจะมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดีขึ้น ประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองใหญ่เพื่อมารอพบแพทย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกประชาชน ยังช่วยลดภาระของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐด้วย
มีการพูดถึงนโยบายวัคซีนปากมดลูกฟรีสำหรับเด็กที่อายุระหว่าง 9-11 ปี และสตรีที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อ HPV มีการพูดถึงสถานชีวบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่สำคัญ จะมีการเชื่อมฐานข้อมูลของผู้ป่วยผ่านบัตรประชาชน ให้สามารถรับบริการได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ยังยืนยันจะพัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาดดื่มได้อย่างทั่วถึง
นโยบายด้านพลังงาน
รัฐบาลเศรษฐากำลังถูกจับตา หลังยกตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานให้เป็นของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรคไทยรักษาชาติซึ่งถูกครหาว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนพลังงานใหญ่ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในคำแถลงนโยบายทางรัฐบาลเศรษฐายืนยันในส่วนของนโยบายเร่งด่วนที่จะ “ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน” ทั้ง ค่าไฟฟ้า, ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ามันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผ่านการสนับสนุนจากรัฐบาล
รวมถึงประกาศจะปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ ส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง รวมถึงสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ไม่มีการพูดถึงการยุติเหมืองถ่านหินในรายละเอียดของนโยบายพลังงานดังกล่าว
นโยบายด้านการศึกษา
สำหรับนโยบายการศึกษาในคำแถลงนโยบายมีการพูดถึงกรอบกว้างๆ ในการปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ, กระจายอานาจการศึกษาให้ผู้เรียน ได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง, สนับสนุนอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะแต่ละช่วงวัย, ใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ รวมถึงส่งเสริมการวิจัยเพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาทางด้านนวัตรกรรม
มีการพูดถึงนโยบายของครู โดยระบุว่าจะมุ่งพัฒนาคุณภาพครูทั้งประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้มีครูแนะแนว อย่างไรก็ตาม ไม่มีการพูดถึงการลดภาระงานครูอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องติดตามดูว่าในการแถลงนโยบายจะมีการเพิ่มเติมรายละเอียดส่วนนี้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังระบุการให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียน และสนับสนุนให้มีการหารายได้ระหว่างเรียน อาทิ การฝึกงาน ก่อนทิ้งท้ายด้วยการประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ที่น่าสนใจในคำแถลงนี้อีกคือ ไม่มีคำว่า ‘เสรีภาพ’ ระบุอยู่ด้านในคำแถลงนโยบาย และมีคำว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ เพียงแค่ 1 คำ ทั้งที่ทางพรรคเพื่อไทยประกาศจะปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 600 บาท ภายในปี 2570
ถ้าการแถลงนโยบายวันที่ 11 – 12 กันยายนนี้จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไร The MATTER จะมาอัปเดตเพิ่มเติมให้ทราบกัน