“นโยบายคมนาคมมีเพียงการแถลงกว้างๆ ว่าจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น รายละเอียดไม่มีอะไรเลยว่าจะทำอะไรก่อนหลัง” ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชะถาวรเจริญ สส.เขต 1 จังหวัดภูเก็ต จากพรรคก้าวไกลเริ่มต้นแถลง
สมชาติกล่าวว่านโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยล้วนนำเงินไปลงทุนที่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เท่านั้น เช่น รถไฟความเร็วสูง แต่กลับไม่มีการลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะที่จะช่วยให้ประชาชนเดินทางได้จริง
“ทำไมเอาภาษีของคนทั้งประเทศไปลงทุนในโครงสร้างคมนาคมขนาดใหญ่ ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำไมไม่ลงในขนส่งสาธารณะที่พวกเขาได้ใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง” สมชาติยกไสลด์เปรียบเทียบว่า กรุงเทพฯ มีสายรถเมล์มากถึง 492 เส้นทาง (ประชากร 30% ไม่มีรถส่วนตัว) เทียบกับต่างจังหวัดที่มีสายรถเมล์ 1,576 เส้นทาง หรือเฉลี่ย 20 เส้นทาง/ จังหวัดเท่านั้น (ประชากร 6% ไม่มีรถส่วนตัว)
สมชาติขยายความว่านโยบายเช่นนี้ บีบให้คนต่างจังหวัดต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการมีรถส่วนตัว จนนำไปสู่ปัญหาบนท้องถนนตามมา ตรงกับข้อมูลของ TDRI ที่ชี้ว่า คนกรุงเทพ 1 ใน 3 ไม่มีรถส่วนตัว แต่คนขอนแก่นมีเพียง 6% เท่านั้นที่ไม่มีรถส่วนตัว สะท้อนว่าโครงสร้างที่เป็นอยู่บีบให้คนต่างจังหวัดต้องมีรถส่วนตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“สำหรับผม การที่ประชาชนต้องมีรถส่วนตัวไม่ได้สะท้อนความเจริญของประเทศ แต่คือความหมดหวังของประชาชนต่อระบบขนส่งสาธาณะของประเทศ” สมชาติกล่าวต่อว่า “บางคนถึงขั้นดูถูกคนชนบทว่าฟุ่มเฟือยนำเงินไปผ่อนรถส่วนตัว โดยไม่เข้าใจว่าการมีรถจักรยานยนต์สักหนึ่งคันหมายถึงชีวิตทั้งครอบครัว”
สมชาติกล่าวต่อว่า ในต่างจังหวัด การเดินทางไปพบแพทย์เฉพาะทางในตัวเมืองอาจหมายถึงเงินจำนวนหลักพันบาท ซึ่งยิ่งตอกย้ำการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ปกครองต้องมารับส่งบุตรหลานไป-กลับโรงเรียน หรือต้องซื้อรถจักรยานยนต์ให้บุตรหลานเพื่อไปโรงเรียน ที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนได้
เขายกตัวอย่าง จ.ภูเก็ต ที่ปัจจุบันมีรถเมล์ประจำทางเพียงแค่ 3 สายเท่านั้น และทั้งหมดมีต้นสายอยู่ที่สนามบิน เน้นบริการเฉพาะนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับภูเก็ต กลับมีสายรถเมล์มากถึง 352 สาย และมีป้ายรถเมล์กว่า 5,000 แห่ง และมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่นๆ อีกหลายเส้นทาง
“รถไฟฟ้า 20 บาทของคนกรุงเทพฯ ที่เรากำลังทุ่มเงินไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาทเพื่อคนจังหวัดเดียว และคนกลุ่มเดียวด้วย มันเหมาะสมหรือไม่” สส.เขต 1 จังหวัดภูเก็ตกล่าว
สมชาติยกตัวอย่างอุปสรรคที่ทำให้ภูเก็ตไม่สามารถมีขนส่งมวลชนได้ เป็นเพราะกฎหมายของรัฐบาลที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดขนส่งมวลชน ต้องถูกส่งมาจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ยึดโยงกับท้องถิ่น รวมถึงปัญหาความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะพฤติกรรมของคนที่คุ้นเคยกับการใช้รถส่วนตัว ไม่คุ้นเคยกับขนส่งสาธารณะ ทำให้เอกชนไม่อยากลงทุนเพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน
สมชาติเสนอทางแก้ไข 3 ข้อ ข้อแรก รัฐบาลควรมีนโยบายกระจายอำนาจ พัฒนาขนส่งมวลชลไปสู่ท้องถิ่น กระจายงบประมาณ โดยแก้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก กระจายอำนาจให้นายกฯ อบจ. แทนเป็นคนดูแลการขนส่งสาธารณะแทน พร้อมจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงคมนาคมให้พัฒนาหรือช่วยเอกชนที่มาลงทุน
ข้อเสนอที่สอง รัฐบาลต้องมีตัวชี้วัดในการกระจายคมนาคมในต่างจังหวัด โดยจากแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคมในปัจจุบัน มีเพียงตัวชี้วัดในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักอีก 22 จังหวัดเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลควรมีตัวชี้วัดที่กำหนดให้ทุกจังหวัดมีขนส่งสาธาณระที่มีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอที่สาม รัฐบาลต้องกระจายงบประมาณอุดหนุนขนส่งสาธาณะในต่างจังหวัด และราคาค่าเดินทางไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ และทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ควรเดินไกลเกิน 500 เมตร
“ผมคิดว่ารัฐบาลต้องมีทัศนคติใหม่ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ใช่ประเทศที่ประชาชนมีรถ แต่หมายถึงประเทศที่คนรวยใช้ขนส่งสาธาณะ” สมชาติทิ้งท้าย