‘กระสุนยาง’ กลายเป็นประเด็นที่หลายคนพูดถึงอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีรูปภาพและคลิปยืนยันจากหลากหลายแหล่ง รวมถึงจากสำนักข่าวต่างๆ ด้วยเช่นกัน
แต่กระสุนยางคืออะไร ตามหลักแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้ได้ในสถานการณ์แบบไหนกันแน่?
แม้จะชื่อว่า กระสุนยาง แต่มันก็ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนของเล่นเด็ก หรือทำมาจากยางล้วนๆ ตามชื่อหรอกนะ เพราะกระสุนยางนี้ เป็นกระสุนที่มีแกนเหล็กและมียางห่อหุ้มด้านนอก อนุภาพคล้ายกระสุนจริง ทำให้บาดเจ็บสาหัส พิการ หรืออาจเสียชีวิตได้
การจะยิงกระสุนยางนี้ ใช่ว่าใครก็สามารถยิงกันได้ เพราะผู้ยิงต้องผ่านการฝึกอบรมมาก่อน โดยไม่ยิงในระยะที่ใกล้เกินกว่า 15 เมตร และเล็งส่วนล่างของร่างกายของผู้ที่เป็นเป้าหมาย ไม่เล็งส่วนที่จะเป็นอันตราย เช่น หัว ดวงตา หน้าอก เพราะอาจทำให้ผู้ที่ถูกเล็งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รวมถึง ห้ามการยิงแบบไม่เลือกเป้าด้วย และใช้เฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นแล้วว่า กำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือสาธารณชนเท่านั้น
สำหรับกระสุนยางนี้ ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ต่อต้านก่อการจลาจลในไอร์แลนด์เหนือ โดยชาวอังกฤษ และนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ.1970 โดยผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสาร BMJ Open จากทีมนักวิชาการในสหรัฐฯ โดยสำรวจจากงานศึกษา 26 ชิ้นที่จัดทำขึ้นทั่วโลกจากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนรวมถึงกระสุนยางหรือพลาสติก 1,984 คน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 พบว่า มีผู้ถูกยิง 15% ของผู้ได้รับบาดเจ็บที่พิการถาวร ซึ่งโดยมากตาบอด และผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางส่วนใหญ่จะบาดเจ็บสาหัส ซึ่งในจำนวนนี้มี 51 คน หรือคิดเป็น 3% ที่เสียชีวิต
ขณะที่ The MATTER ได้สอบถาม นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ถึงวิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกยิงด้วยกระสุนยาง ได้คำตอบว่า เบื้องต้นต้องประเมินความร้ายแรงของบาดแผลก่อน หากเป็นรอยช้ำให้ใช้ยาหม่องหรือบาล์มทาบริเวณรอยช้ำ แต่ถ้าบาดเจ็บหนักให้ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ กรณีแผลถลอกให้ใช้ยาฆ่าเชื้อที่บริเวณแผล ส่วนกรณีเป็นแผลฉีกขาด ต้องให้ทีมแพทย์ด้วยเย็บแผลให้ และควรนำส่งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี โรฮินี ฮาร์ (Rohini Haar) หนึ่งในทีมวิจัยเรื่องกระสุนยางและสมาชิกขององค์การแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน เน้นย้ำว่า ไม่ควรใช้กระสุนยางหรือกระสุนพลาสติก เข้าปราบปรามฝูงชน ไม่ว่าจะเป็นการในชุมนุม เหตุจลาจล หรืออาชญากรรมอื่นๆ ก็ตาม
เพราะการยิงด้วยกระสุนยางมีโอกาสทำให้ผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส พิการถาวร รวมถึง มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงกว่าที่คาดกันไว้
อ้างอิงเพิ่มเติม