ไม่น่าเกินจริงไปนัก ถ้าจะพูดว่าเด็กไทยเกือบทุกคนต้องเคยไล่เตะหรือสัมผัสลูกฟุตบอลสักครั้ง และน่าจะมีอยู่ไม่น้อยที่ครั้งหนึ่งน่าจะเคยฝันเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
แต่น่าแปลก ทั้งที่คนไทยรู้จักฟุตบอลมากขนาดนั้น ทำไมเราถึงไม่เคยผ่านเข้ารอบบอลโลก และมีเด็กน้อยคนนักที่ไขว้คว้าฝันสำเร็จ และหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยฟุตบอลได้จริงๆ
หรือบางที ปัญหาไม่ได้อยู่ในสนามหญ้าอย่างเดียว?
The MATTER ชวนนักรัฐศาสตร์คอบอลอย่าง ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาชวนมองปรากฎการณ์ฟุตบอลไทยในหลายๆ มุม ตั้งแต่เรื่องเชิงโครงสร้างไปจนถึงการเข้าเทคโอเวอร์สโมสรของนักการเมือง และไล่เรียงบทสนทนากันไปจนถึงทัวนาเมนต์ที่กำลังเข้มข้นอยู่ในตอนนี้อย่าง ฟุตบอลยูโร 2020
ฟุตบอลและการเมืองสองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันอย่างไร
การเมืองมันอยู่ในทุกที่ของสังคม เรื่องฟุตบอลมันก็มีมิติที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งในเชิงแคบและเชิงกว้าง ยกตัอย่าง เกมการแข่งขันต้องมีการกำหนดกติกาว่าจะต้องเป็นอย่างไร ใครจะได้เข้าร่วมหรือใครจะไม่ได้เข้าร่วม ใครเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดกติกา บางทีเราคิดว่าเป็นเรื่องของสมาคมฟุตบอลหรือ FIFA ทั้งหมด แต่จริงๆ หลายครั้ง ก็มีการปรับกฎกติกาเพื่อเอาใจผู้ชมเหมือนกัน พวกนี้ก็คือการเมืองทั้งนั้น
หรือเวลาแข่งขันทีมชาติ ใครบ้างที่ถูกนิยาม ถูกคัดเลือกให้ลงเล่นในนามทีมชาติ เล่นซ้ำกันสองชาติได้ไหม คนๆ นึงจะเป็นสมบัติของชาติมากกว่าหนึ่งชาติได้หรือเปล่า มีเงื่อนไขอะไรบ้าง นี่ก็การเมืองทั้งนั้นเลย
การจัดการแข่งขันมันก็สัมพันธ์กับการจัดสรรทรัพยากรส่วรวม งบประมาณสาธารณะ นโยบายสาธารณะ กฏหมายที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ในฝั่งของผู้ชมเองก็จะมีมิติของอัตลักษณ์ การรวมตัวทำกิจกรรม
สุดท้ายแล้วมีการเมืองอยู่ทุกมิติของฟุตบอล การเมืองมันไม่ได้เป็นเรื่องของการต่อรองในระบบรัฐสภาอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการกำหนดกติกาในสังคมเพื่อจัดสรรทรัพยากรของสังคม
ประมาณต้นเดือนที่ผ่านมา ทีมชาติไทยเพิ่งตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก มันส่งผลอย่างไรบ้างไหมต่อสังคมไทย
เราว่ามันส่งผลต่อความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติและความเป็นไทย โดยเฉพาะสภาพบริบททางการเมืองปัจจุบัน ที่คนไทยค่อนข้างจะบอบช้ำ
อันที่จริง ในศตวรรษนี้ รัฐชาติทั้งหลายเผชิญกับความท้าทายที่จะโอบอุ้มจินตนาการของผู้คนภายในรัฐชาติให้อยู่ในจินตนาการเดียวกัน ในกรณีของสังคมไทยก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าในความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้คนหลายกลุ่มไม่ได้รู้สึกภูมิใจที่จะบอกว่าตัวเองเป็นคนไทย เกิดการปะทะทางชุดความคิดความเป็นไทย ต่อสู้เพื่อให้ตัวเองมีที่ทางในความเป็นไทยกระแสหลัก แง่หนึ่งมันส่งผลให้คนจำนวนนึงถอยหนีออกจากความรู้สึกชาตินิยม ไม่อยากจะ Identify กับอัตลักษณ์นี้เท่าไหร่
ทีนี้พอฟุตบอลยังแพ้อีก มันก็คงส่งผลแหละ ถ้าเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญไปไกลกว่าเรา ทำให้ความรู้สึกที่คนไทยมักภูมิใจว่าเราเป็นที่หนึ่งในอาเซียน ถ้าเราตกรอบ แต่เพื่อนบ้านสำเร็จ มันก็ส่งผลต่อความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ
ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มันไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของภายในรัฐ แต่มันสัมพันธ์กับการยอมรับและท้าทายจากนานาชาติด้วย ในแง่หนึ่งที่เราถูกท้าทายจากโลกด้วยเนี่ย เราก็มักจะงัดเอาความเป็นไทยออกมาสู้ เช่น หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จากเสือตัวที่ 5 ของเอเชียต้องมาเป็นเสือเจ็บ แล้วเราก็พาคนอื่นในภูมิภาคเจ็บไปด้วย ถูก IMF เข้ามากำกับการบริหารจัดการภาครัฐ เราก็รู้สึกเสียศักดิ์ศรี บรรพบุรุษปกป้องบ้านเมืองให้เป็นเอกราช เราต้องมาเสียเอกราชทางเศรษฐกิจให้กับ IMF (หัวเราะ) ความเป็นไทยก็ถูกงัดเอามาสู้ ปลุกพลังความเป็นชาตินิยม เพื่อที่จะบอกเพื่อนร่วมชาติและโลกว่าชาติเรามีดีอย่างไร
ทีนี้ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 พอไทยเราทำรัฐประหาร เราก็ถูกตั้งคำถามในแง่ของความชอบธรรม ซึ่งส่งผลต่อสถานะของชาติและความภาคภูมิใจในชาติ แล้วพอมีปัญหาอื่นอย่าง ระบอบการเมืองที่เป็นพิษ ความสามารถในการบริหารจัดการของภาครัฐที่ไม่มีคุณภาพ ก็ทำให้คนในชาติรู้สึกว่าชาติไม่น่ารัก ไม่น่าภูมิใจเลย
สังคมไทยมันกำลังเผชิญกับวิกฤติแบบนี้อยู่ แล้วฟุตบอลก็มาแพ้อีก มันก็ยิ่งทำให้หดหู่มากขึ้น รู้สึกว่าเกียรติภูมิและความภาคภูมิใจของชาติไทยมันแย่ ไม่มีอะไรมาชโลมใจให้ชาติไทยกลับมารวมเป็นหนึ่งได้อีก
แล้วถ้ากีฬาแพ้ มันจะทำให้ชาติกระจัดกระจายด้วยหรือไม่
มันก็แล้วแต่เงื่อนไขด้วย สิ่งที่จะทำให้เราเป็นกลุ่มมากขึ้น มันขึ้นอยู่กับว่าเราเผชิญกับความเป็นอื่นอย่างไร เหมือนที่ยกตัวอย่างข้างต้น เมื่อเราเผชิญกับภัยคุกคามภายนอก เราก็จะปลุกความเป็นชาติมากขึ้น การแข่งขันกีฬาก็เหมือนกัน
เวลาที่เราเผชิญหน้ากับความเป็นอื่นหรือชาติอื่น กีฬามันก็ทำให้คนในชาติมีความรู้สึกร่วมกัน สามัคคีกัน อย่างทีมวอลเลย์บอลของเราแข่งกับทีมเพื่อนบ้านในเอเชีย เจอคำครหาว่าทางนู้นเล่นไม่แฟร์ กรรมการตัดสินไม่ดี มันก็ทำให้คนไทยไม่ว่าจะฝักฝ่ายไหน รวมกันได้ในแง่อารมณ์ความรู้สึก
แต่ว่ามันก็ไม่ตลอดไป สมมุติพอเกมจบ มันอาจจะมีการถอดบทเรียนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ และถ้าความล้มเหลวมันเกิดจากปัจจัยภายในเสียเองหรือความเป็นไทยเสียเอง มันก็จะส่งผลให้คนไม่ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ชาติไทยได้
ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นนักฟุตบอลบางคนเปลี่ยนสัญชาติ อาทิ จากบราซิลมาเล่นให้ทีมชาติจีน ปรากฎการณ์แบบนี้สะท้อนอะไรบ้าง
โดยปกติ ฟุตบอลจะถูกอธิบายว่าช่วยเสริมความเข้มแข็งของคนในชาติ ความเป็นชาตินิยม แต่มันมีงานของนักวิชาการจำนวนนึงที่พยายามจะอธิบายว่า จริงๆ ทัวร์นาเมนต์ระดับโลก มันมีส่วนช่วยลดทอนอคติเชิงชาติพันธุ์ ทำให้คนก้าวข้ามจินตนาการเรื่องชาติที่มันแข็งตัวได้ เพราะเราจะเห็นคนที่เดิมเป็นชาติอื่นมาเล่นให้กับทีมชาติของเรา หรือเห็นนักฟุตบอลต่างประเทศ มาเล่นให้สโมสรในประเทศเรา แล้วเป็นกำลังหลักสำคัญที่ทำให้ทีมของเราประสบความสำเร็จ
สิ่งเหล่านี้ มันมีส่วนทำให้คนที่ดูกีฬา รู้สึกว่าชาติต่างๆ ล้วนมีความสามารถเหมือนกัน ช่วยให้คนก้าวข้ามอคติเชิงชาติพันธุ์ การเหยียดเชื้อชาติไปได้ ทำให้รู้สึกว่าคนที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับชาติเรามันไม่จำเป็นต้องเกิดมาเป็นคนเชื้อชาติเราเท่านั้น
สโมสรฟุตบอลไทยทุกวันนี้ก็มีนักเตะต่างชาติเข้ามาเล่น และจะมีภาพที่แฟนบอลชูธงชาติของนักเตะชาตินั้นๆ หรือชลบุรี เอฟซีที่ใช้นักเตะญี่ปุ่นเยอะมาก ก็มีนักบอลญี่ปุ่นที่เล่นให้กับชลบุรีแล้วเกิดเป็นความผูกพันธ์กันระหว่างนักเตะกับสโมสร จนช่วงนึงที่ญี่ปุ่นมีปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ แฟนบอลชลบุรีก็ทำกิจกรรมกันเพื่อสนับสนุนระดมความช่วยเหลือส่งไปที่ญี่ปุ่น
สิ่งเหล่านี้มันคือ อัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) ที่ก้าวข้ามพรมแดนของรัฐชาติ โดยที่สโมสรฟุตบอลหรือกีฬามีส่วนช่วยทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ได้ ซึ่งมันอาจจะทำให้พวกเราอยู่ด้วยกันได้ดีขึ้นก็ได้
ในสายตาอาจารย์ โครงสร้างสังคม ระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมอำนาจนิยม หรือความเป็นไทยต่างๆ มีผลต่อความถดถอยฟุตบอลไทยหรือเปล่า
จริงๆ วงการฟุตบอลหรือกีฬาอื่นทั่วโลก มันเป็นพื้นที่ของอำนาจนิยมอยู่แล้ว เราคิดว่าทุกที่แม้แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานแล้ว ในวงการกีฬาก็ยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยอำนาจ เพราะมันมีกติกา มีคำสั่งที่ต้องปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นโดยตัวของมันเอง วงการกีฬาเป็นพื้นที่ที่อำนาจทำงานเข้มข้นมากอยู่แล้ว
ถ้าถามว่ามันส่งผลต่อผลงานของทีมชาติไทยไหม เราคิดว่ามันคงมีเรื่องอื่นด้วย ไม่ใช่เรื่องของอำนาจนิยมหรือระบบอุปถัมภ์อย่างเดียว
กำลังนึกถึงเส้นทางของเด็กคนหนึ่งที่จะฝันจะติดทีมชาติ อาจารย์มองว่าสภาพสังคมทุกวันนี้มันเอื้อต่อความฝันเขาหรือเปล่า
เราขอโยนกลับมาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานฟุตบอลไทยคือ ฟุตบอลระดับสโมสรจะเติบโตมั่นคงได้ มันต้องเป็นสังคมที่มีชนชั้นกลางจำนวนมาก เป็นสังคมที่คนมีความสามารถเป็นแฟนบอลได้ มีความสามารถในการบริโภคมากพอที่จะดูฟุตบอลในฐานะเอนเตอร์เทนเมนท์
ถ้าสังคมเราเดินไปในทางนั้น และโครงสร้างพื้นฐานของฟุตบอลแข็งแรง มันจะแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้หลายเรื่อง ทั้งในเรื่องที่เด็กคนนึงจะเติบโตบนถนนสายฟุตบอลอาชีพ เขาจะมีโอกาสเข้าถึงระบบที่มันพัฒนาศักยภาพของเขาได้ง่ายขึ้น และด้วยต้นทุนที่มันถูกลง ไม่ต้องเสี่ยงเดิมพันกับอนาคตหรือกับชีวิตมากนัก เส้นทางมันไม่ได้เป็นคอขวด มันเป็นถนนที่กว้าง เราก็จะมีบุคลากรทางฟุตบอลได้เยอะขึ้น
สำหรับเรา ถ้าฟุตบอลพัฒนาไปจนถึงจุดนั้น ต่อให้ฟุตบอลไทยยังมีระบบเส้นสายพรรคพวกอยู่ ถึงวันนั้นมันก็จะมีทางให้คนเลือกได้เยอะ มีทรัพยากรทั้งนักบอล สต๊าฟโค้ช มากพอที่จะทำให้ประกอบไปด้วยคนที่มีฝีมือได้ ในขณะเดียวกัน เด็กที่อยากเข้าสู่วงการฟุตบอลก็จะมีทางเลือกให้เดินเยอะขึ้น
ถ้าการผูกขาดลดลง อำนาจต่อรองของคนที่ผูกขาดก็จะน้อยลงไปด้วย แล้วแทนที่คุณจะวิ่งหาอะไรบางอย่างเพื่อที่จะเข้าไปอยู่ในระบบที่พัฒนานักกีฬาแห่งเดียว คุณมีทางเลือกอื่นมากกว่านั้น
หลังๆ มานี้ เราเห็นนักการเมืองเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลเยอะขึ้นมาก ทำไมนักการเมืองไทยถึงชอบโดดลงไปเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล
ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา น่าจะมีทีมฟุตบอลในไทยลีกเกิน 50% ที่เจ้าของเป็นนักการเมืองหรือตระกูลการเมือง แต่เอาจริงเกือบทุกวงการกีฬาล้วนมีนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งนั้น นอกจากคำถามว่าคนเหล่านี้ได้อะไรจากการเข้าไปในพื้นที่ทางกีฬา วงการกีฬาเองก็ต้องการคนเหล่านี้เช่นกัน พวกเขาถึงเข้าไปได้
ในวงการกีฬา โครงสร้างและระเบียบอำนาจมันอาจจะยังลงหลักได้ไม่ดีพอ มันยังต้องการอำนาจและทรัพยากรจากอำนาจที่ไม่เป็นทางการของนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง มาช่วยสร้างความมั่นคงหรือจัดการบางอย่างในวงการกีฬาอยู่
ในกรณีของฟุตบอล ฟุตบอลมันเริ่มต้นจากว่า อบจ. ต้องส่งเสริมภารกิจด้านกีฬา แล้วมันก็พัฒนามาเรื่อยๆ ดังนั้น กีฬาจึงสัมพันธ์และพึ่งพาหลายอย่างจากรัฐ ทั้งงบประมาณ สนามแข่งขัน บุคลากร และโค้ชทั้งหลายก็มาจากโรงเรียนกีฬาที่รัฐผลิต ไม่ใช่มาจากเอกชน ทั้งหลายเหล่านี้มันเลยต้องการอำนาจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงเพื่อที่จะขับเคลื่อนวงการกีฬา
แล้วทำไมคนการเมืองถึงสนใจที่จะกระโดดเข้ามาในพื้นที่ฟุตบอล เพราะฟุตบอลมันมอบหลายสิ่งที่มีคุณค่าให้กับนักการเมือง เช่น สายสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชน, โอกาสในการบริหารเครือข่ายทางการเมืองที่มี, โอกาสในการสร้างเครือข่ายทางการเมืองใหม่, ภาพลักษณ์, ผลงาน ทั้งหมดนี้ เป็นอะไรที่มีคุณค่าต่อนักการเมือง เพราะฉะนั้นเลยไม่แปลกที่จะมีคนยินดีเข้ามาสนับสนุนฟุตบอล
ในมุมมองอาจารย์ สโมสรฟุตบอลที่มีประสิทธิภาพหรือก้าวหน้าควรมีรูปแบบเป็นอย่างไร
ตอบแล้วมันดูไม่ใช่แฟนบอลเลยนะ (หัวเราะ) เราอยากเห็นฟุตบอลเป็นพื้นที่ทางการเมือง เป็นพื้นที่ที่เอาไว้รวมศูนย์ความผูกพันธ์ ภักดี ของคนในพื้นที่ เราอยากเห็นสโมสรฟุตบอลแนบชิดกับชุมชน เหมือนของบุรีรัมย์ เอฟซี อะไรๆ ก็ให้ทำที่สนามฟุตบอล ฉีดวัคซีนก็สนามฟุตบอล ต้อนรับนายกฯ ก็สนามฟุตบอล ปีใหม่ สงกรานต์ ขายของก็สนามฟุตบอล ทุกอย่างทำที่สนามฟุตบอลหมดเลย มันก็จะทำให้สโมสรฟุตบอลแนบชิดกับพื้นที่และอยู่ในชีวิตของผู้คน แล้วมันก็เอื้ออาทรต่อผู้คนด้วย
อย่างเคสของชลบุรี เอฟซี เวลาชลบุรีจัดกิจกรรมสาธารณะทั้งหลาย โดยเฉพาะที่นำโดยอบจ. สโมสรฟุตบอลก็จะไปร่วมด้วย มีน้ำท่วมก็ไปช่วยแจกของ หรืองานวันเด็ก วันสงกรานต์ มันทำให้สโมสรฟุตบอลกับประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราอยากเห็นแบบนี้ ยิ่งในยุคที่ผู้คนปฏิสัมพันธ์กันในทางกายภาพน้อยลง การมีสโมสรฟุตบอลเป็นศูนย์รวมความผูกพันธ์ของท้องถิ่นมันก็น่าจะมีประโยชน์
เรายังเชื่อว่าสภาพจังหวัดนิยม ท้องถิ่นนิยม หรือการที่คนในพื้นที่มีอัตลักษณ์ร่วมกันในระดับที่มันย่อยกว่าชาติ มันจะกลายเป็นพลังต่อรองทางการเมืองสำหรับพื้นที่ต่างๆ ได้ด้วย สมมติสำนึกในระดับพื้นที่มันเข้มข้น คนในพื้นที่จินตนาการได้ว่าตัวเองไม่ใช่เป็นคนไทยอย่างเดียว แต่เป็นคนชลบุรี เป็นคนสุพรรณฯ มันอาจนำไปสู่การรวมตัวเรียกร้องให้มีการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนรวมเสียใหม่ เช่น เรียกร้องเรื่องการจัดสรรงบประมาณ อำนาจในการบริหารพื้นที่ตัวเอง
เราอยากให้สโมสรฟุตบอลเป็นพื้นที่ทางการเมืองในแง่นี้ เป็นศูนย์รวมในการกระตุ้นอัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) และนำไปสู่การเรียกร้องผลประโยชน์ในนามของท้องถิ่น ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นมีอำนาจต่อรองกับรัฐสภาหรือรัฐบาลส่วนกลาง
ถามว่าทำไมทุกวันนี้พลังประชารัฐ เกรงอกเกรงใจภูมิใจไทย เราคิดว่าส่วนนึงน่าจะเป็นผลจากความเข้มแข็งของบุรีรัมย์ เอฟซีด้วย ที่ทำให้เห็นว่าภูมิใจไทยมีฐานเสียงที่เข้มแข็งขนาดไหน
คล้ายๆกับที่เกิดการเรียกร้องปกครองตัวเองในบาร์เซโลนา
ใช่ๆ
ในความคิดอาจารย์ สโมสรฟุตบอลควรกลายเป็นโมเดลธุรกิจอย่างเดียว หรือคนในชุมชนควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับบอร์ดบริหาร
ตอนที่ยุโรปเขาจะตั้ง ‘ซุปเปอร์ลีก (Super League)’ มันเห็นร่องรอยของแนวคิดนี้นะ อย่างบางสโมสร ไม่สามารถตกลงเข้าร่วมซุปเปอร์ลีกได้ เพราะมีสัดส่วนแฟนบอลอยู่ในบอร์ดและพวกเขาไม่ยอม สุดท้ายนักลงทุนก็ต้องยอมไม่เข้าร่วมซุปเปอร์ลีก มันก็มีมีหลายประเทศที่โมเดลในการบริหารสโมสรฟุตบอลเป็นแบบนั้น
ถ้าถามว่าของไทยเป็นแบบไหนดี เราว่ามันไม่สามารถกำหนดเส้นทางการพัฒนาที่เป็นเส้นตรงสำเร็จรูปสำหรับทุกๆ ที่ได้ ถามว่าโมเดลที่ให้แฟนบอลเข้ามามีส่วนร่วมแบบนั้นมันดีมั้ย มันดีแหละ มันทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของสโมสรแห่งนี้ ทำให้สโมสรฟุตบอลมันเป็นศูนย์รวมความผูกพันภักดีได้ชัดเจนขึ้น
แต่ถ้าเอากติกานั้นมาใช้กับสโมสรฟุตบอลไทยในตอนนี้ เราคิดว่ามันน่าจะพัง เพราะความสามารถในทางเศรษฐกิจ สภาพสังคมของไทยยังไม่สามารถที่จะไปถึงระดับนั้นได้
เรามองว่าถึงเจ้าของสโมสรไทยยังเป็นนักธุรกิจหรือนักการเมือง มันก็ยังพอมีกลไกที่จะทำให้ผู้บริหารสนใจความต้องการของแฟนบอลอยู่บ้าง อย่างเช่นในแง่ของนักการเมือง ถึงจะดีจะชั่วอย่างไร นักการเมืองก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะฉะนั้นสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในมือนักการเมือง ก็ต้องแคร์เสียงแฟนบอล และพยายามทำให้แฟนบอลมีพื้นที่ในสโมสร
สำหรับรายการที่กำลังแข่งขันตอนนี้อย่างบอลยูโร 2020 งานกีฬาระดับโลกแบบนี้ มันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ในทางเศรษฐกิจมันทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระดับมหาศาล และยังเป็นโอกาสสำคัญให้ภาคธุรกิจในประเทศนั้น แสดงศักยภาพให้ปรากฎต่อสายตาโลก ได้เชื่อมต่อกับโลก ได้ดีลกับบริษัทข้ามชาติ เป็นโอกาสในทางเศษฐกิจให้กับภาคเอกชนในรัฐนั้น
ในทางการเมือง มันเป็นพื้นที่ให้รัฐได้แสดงแสนยานุภาพของรัฐ หรือแม้แต่สร้างความภาคภูมิใจต่อความเป็นชาติให้นานาชาติรับรับรู้ นึกถึงตอนจีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ตั้งแต่พิธีเปิด การบริหารจัดการ การแข่งขัน ตลอดทั้งอีเว้นท์เหมือนเป็นเวทีให้จีนขิงชาวโลกว่า อารยธรรมจีนยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ยุคโบราณ และเมื่อโลกมาแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยี จีนก็มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและไปกับโลกได้ ในแง่นี้การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา มันช่วยสร้างการยอมรับจากนานาชาติให้กับชาติเราได้ ถ้าหากคุณทำได้ดีนะ
แล้วการถ่ายทอดสดบอลยูโร 2020 ให้คนไทยดูผ่านฟรีทีวี เรียกว่านี่คือการคืนความสุขหรือเปล่า
เรารู้สึกว่าปรากฎการณ์ที่รัฐไทยพยายามยื่นมือมาหักคอภาคเอกชน แล้วจัดให้คนไทยได้ดูการแข่งขันระดับมหกรรมกีฬา ไม่ว่าบอลโลก บอลยูโรพวกนี้ มันสะท้อนว่ารัฐไทยเห็นแต่หัวชนชั้นกลาง เพราะขณะที่ผู้คนจำนวนมากกำลังดิ้นรนกับโรคระบาดทั้งในแง่เศรษฐกิจและสุขภาพ จนไม่มีพลังพอจะสนใจการถ่ายทอดฟุตบอลยูโรได้ มีเพียงคนชนชั้นกลางที่มั่นคงในระดับนึง ที่สามารถใช้ฟุตบอลเป็นยาชโลมจิตใจผ่านความเครียดไปได้
ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันแย่นะ แต่กำลังบอกว่ารัฐไทยกำลังมัวเอาใจชนชั้นกลาง มากกว่าที่จะไปหาวัคซีนดีๆ มาฉีดให้คนทั้งประเทศมากกว่า
แล้วที่โหดร้ายมากคือเวลาที่เราดูถ่ายทอดฟุตบอลยูโร และเห็นคนยุโรปถอดแมสนั่งดูบอลร้องเพลงด้วยกัน ถามจริงคนไทยไม่หดหู่หรอ (หัวเราะ) เห้ย! เราอยู่ในโลกใบเดียวกันหรือเปล่า คนที่นั่นออกจากบ้านไปใช้ชีวิตได้แล้ว ไทยเรายังโดนหมอพร้อมเลื่อนวัคซีนอยู่เลย
พูดได้ไหมว่าการประมูลลิขสิทธิ์บอลยูโรรอบนี้ ไม่ค่อยโปร่งใสเท่าไหร่
มันไม่มีคนไปแข่งมากกว่า เพราะว่าน่าจะไม่ค่อยได้กำไร เขาน่าจะมองว่าคนคงไม่ค่อยที่จะขวนขวายจ่ายเงินในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ภาคเอกชนเองก็คงจะไม่คึกคักที่จะซื้อสปอนเซอร์หรือจัดกิจกรรมอะไร หรืออีกทางหนึ่งก็เป็นเรื่องการเจรจาทางการเมือง
อาจารย์มองว่าเป็นไปได้ไหมที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาใหญ่ เช่น โอลิมปิค หรือว่าฟุตบอลโลก
เราว่าอย่าจัดเลย เพราะมันใช้เงินลงทุนเยอะมาก แล้วก้มีภาระในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีก แล้วถ้าพลังการบริโภคของคนในประเทศไม่ได้มากพอสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางกีฬามากขนาดนั้น มันจะกลายเป็นภาระมากกว่า เพราะมีทั้งงบประมาณก่อสร้างและค่าบำรุงรักษาที่ต่อเนื่องอีก
ถ้าวันหนึ่ง กำลังบริโภคภายในประเทศหรือทิศทางการพัฒนาประเทศมันสัมพันธ์กับงานแบบนั้น ค่อยขอโอกาสในการเป็นเจ้าภาพ แต่ถ้ายังหวังเป็นครัวโลก แหล่งท่องเที่ยวของโลกก็ไม่ต้องพยายามไปจัดงานทางกีฬา
Illustrator By Kodchakorn Thammachart