ในบรรยากาศขมุกขมัวครึ้มฟ้าครึ้มฝนที่ประชาธิปไตยไทยยังเพิ่งตั้งไข่ พรรคการเมืองนาม ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2489 และน้อยคนนักที่จะเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะดำรงอยู่เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
ตลอด 77 ขวบปี พรรคประชาธิปัตย์ผ่านมาแล้วทั่งช่วงรุ่งเรืองและตกต่ำ เคยยืนข้างประชาธิปไตยปฏิเสธอำนาจเผด็จการ พอกับที่เคยแอบอิงเป็นกาฝากใต้ร่มเงาของคณะรัฐประหาร ซึ่งสาเหตุหนึ่งของจุดยืนที่กลับไปกลับมาเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวหน้าพรรคย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อย
พรรคประชาธิปัตย์มีกระบวนการคัดเลือกหัวหน้าพรรคที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย โดยภายหลังสิ้นสุดวาระหรือลาออกของหัวหน้าพรรคคนเก่า จะมีการจัดการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมีสิทธิลงสมัครชิงตำแหน่ง และจะมีการโหวตร่วมกันในที่ประชุม ใครได้คะแนนรับรองมากที่สุดจะได้ตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปครอง
เมื่อการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 เพิ่งผ่านพ้นไป The MATTER ชวนย้อนดูความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยตลอด 77 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่เคยส่งตัวแทนเป็นนายกฯ หลายสมัย การถดถอยทางอุดมการณ์จนถูกเหยียดยามว่าแอบอิงเผด็จการเพื่อเอาตัวรอดไม่ต่างจาก ‘แมลงสาบ’ จนถึงยุคที่ได้ที่นั่งในสภาน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ และดราม่าการเลือกหัวหน้าพรรคในครั้งล่าสุด
ควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 1 (พ.ศ.2489 – 2511)
ควง อภัยวงศ์ อดีตนายกฯ คนที่ 4 ของประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2489 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก ถึงแม้ในยุคนั้น ประชาธิปัตย์จะได้รับการสนับสนุนการกลุ่มกษัตริย์นิยมที่มีส่วนผลักดันให้ควงเป็นนายกฯ แต่ความจองหองต้องการอำนาจของกองทัพก็รุงแรงไม่แพ้กัน ตลอดการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคระหว่าง พ.ศ.2489 – 2511 ควงพบเจอการรัฐประหารมากถึง 5 ครั้ง และหนึ่งในนั้นคือการยึดอำนาจจากตัวเขาเอง โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เรื่อยมา การเมืองไทยก็เข้าสู่ช่วงเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ ก่อนส่งไม้ต่อให้ 3 เกลอ ถนอม – ประภาส – ณรงค์ เรียกว่าเป็นยุคที่ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และประชาธิปัตย์ไม่สามารถแทรกตัวไปมีบทบาทการเมืองได้
มรว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 2 (พ.ศ.2511 – 2522)
ถึงแม้ มรว.เสนีย์ ปราโมช จะเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระหว่าง พ.ศ.2511 – 2522 แต่ก่อนหน้านั้น เขาเคยมีบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะคนสำคัญของขบวนการเสรีไทยที่ทำให้ไทยไม่ต้องตกอยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม ซึ่งบทบาทนั้นเองที่ทำให้เขาได้รับตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกในปี พ.ศ.2488-2489
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เขาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตรงกับช่วงที่นักศึกษาและประชาชนเริ่มต่อต้านอำนาจ 3 ทรราชย์ (ถนอม – ประภาส – ณรงค์) จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่เปิดทางให้ยุค ‘ประชาธิปไตยผลิบาน’ โดยหลังเหตุการณ์นั้น มรว.เสนีย์ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ อีก 2 ครั้ง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ที่มีการล้อปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำให้ตัวเขาถูก พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐประหาร และพาประเทศไทยย้อนกลับสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีการเลือกตั้ง แต่นายกฯ ต้องเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่ร่ำไป
พ.อ.ถนัด คอมันต์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 3 (พ.ศ.2522 – 2525)
ถ้าไม่ใช่คอการเมือง น่าจะไม่คุ้นเคยกับชื่อของ พ.อ.ถนัด คอมันต์ เท่าไหร่นัก แต่ชายคนนี้ผู้มีคุณูปการต่อวงการต่างประเทศไทยอย่างสูง โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เอกอัครราชทูตไทยประจำองค์การสหประชาชาติ, เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ที่นำไปสู่การก่อตั้งอาเซียน (ASEAN) ในสมัยเป็น รมต.ต่างประเทศยุคจอมพลสฤษดิ์ นอกจากนี้ ยังเป็นและอธิการบดีคนแรกของ ม.สงขลานครินทร์อีกด้วย
ภายใต้การนำของถนัด พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพของรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ และได้รับเลือกให้เป็นรองนายกฯ ในสมัย พล.อ.เปรม ครองอำนาจ
เคยมีเรื่องเล่าว่า ถนัด กับ พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนถัดไป ไม่เผาผีกันชนิดที่ว่า ถ้ามีคนถามเรื่องพิชัย ถนัดมักตอบว่า “ไม่รู้จัก คนๆ นี้”
พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 4 (พ.ศ.2525 – 2534)
อดีตประธานรัฐสภา และผู้นำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ระหว่าง พ.ศ. 2525 – 2534 อย่างไรก็ตาม พูดได้ว่าในช่วงที่พิชัยเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ใช่ยุคที่ประชาธิปัตย์รุ่งเรืองเท่าไหร่นัก โดยพิชัยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกคนหนึ่งที่เคยเป็นทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศหลายสมัย และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ในสมัย พล.อ.เปรม และ ชวน หลีกภัย
ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 5 (พ.ศ.2534 – 2546)
ชวน หลีกภัย คือนายกฯ คนแรกจากพรรคประชาธิปัตย์นับจาก มรว.เสนีย์ในปี พ.ศ.2519 โดยเขาได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬโดยนำพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคชาติไทยของ บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่ง ‘ฉลามเขียว’ คอลัมนิสต์ของไทยรัฐเขียนถึงสาเหตุที่ชวนพาประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งไว้อย่างน่าสนใจว่า
“..เป็นผู้เดินทางสายกลาง ไม่ก้าวร้าวรุนแรง ในสถานการณ์ที่ต้องการความสามัคคีในชาติ นายชวนมีความเหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด..”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังคดีฉาวโครงการเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธานได้แจกโฉลดที่ดินเปล่าให้แก่บุคคลจำนวน 486 ราย โดยในจำนวนนั้นมีการแจกให้ตระกูลเศรษฐีในภูเก็ต 10 ตระกูล รวมถึงแจกให้ผู้ช่วยเลขาฯ รมต.เกษตรและสหรกรณ์ ทำให้หลังจากนั้นมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่ลงคะแนนเสียงไว้วางใจให้พรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ชวนตัดสินใจยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่
ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องกู้ยืมเงินจาก IMF จำนวน 17,000 ล้านดอลลาร์ พล.อ.ชลวิตร ยงใจยุทธ ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ทำให้สภาเลือกชวนเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 (9 พ.ย. พ.ศ. 2540 – 17 พ.ย. พ.ศ. 2543)
บัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 6 (พ.ศ.2546 – 2548)
การขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ บัญญัติ บรรทัดฐาน ในช่วงสั้นๆ ระหว่างปี พ.ศ.2546 – 2548 เป็นช่วงเดียวกับกระแสชุมนุมขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 23 อย่างไรก็ตาม ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์แพ้ในการเลือกตั้งปี 2548 ให้กับพรรคไทยรักไทย บัญญัติก็ก้าวลงจากตำแหน่งเปิดทางให้คนรุ่นใหม่นาม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 7 (พ.ศ.2548 – 2562)
นับเป็นอีกยุคหนึ่งที่ประชาธิปัตย์รุ่งเรืองถึงขีดสุดภายใต้สงครามสีเสื้อ เหลือง – แดง โดยไม่นานหลัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2549 และพรรคประชาธิปัตย์ได้ตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนั้น ทำให้นำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และต่อมานำไปสู่อีกเหตุการณ์ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน และถอดถอนนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงสวัสดิ์ จากตำแหน่ง
ภายหลังเหตุการณ์ยุบพรรคพลังประชาชน เกิดกรณี ‘งูเห่า’ ของพรรคภูมิใจไทยและวลีตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ส่งให้ อภิสิทธิ์ ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 27 ของประเทศ เป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมต่อต้านความไม่ชอบธรรมครั้งใหญ่ของกลุ่ม นปช. นำไปสู่เหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ ซึ่งรายงานจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมช่วงนี้ 94 ราย และมีอย่างน้อย 18 รายเสียชีวิตด้วย “กระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่/ทหาร” แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครต้องรับโทษจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ภายหลังอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พาพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในช่วง พ.ศ.2556 ได้มีความพยายามดัน ‘กฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย’ หรือกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ถูกลงโทษการเมืองตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นชนวนเหตุให้หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ออกมาต่อต้านอย่างสุดแรง โดยเฉพาะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่กระโจนลงถนนจัดตั้งมวลชลเพื่อต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าวในนาม ‘กปปส.’
ถึงแม้จะมีการถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวในเวลาต่อมา มวลชนกลุ่ม กปปส.ก็ยังเคลื่อนไหวต่อภายใต้ข้อเรียกร้องให้ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ซึ่งในเวลาต่อมายิ่งลักษณ์ได้ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2557 อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ประกาศบอยคอตการเลือกตั้งอีกครั้ง ขณะที่ทางด้านมวลชน กปปส.ก็ขัดขวางการเลือกตั้งในหลายจุด ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และทำให้เกิดการรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557
แม้อภิสิทธิ์เป็นคนหนึ่งที่รณรงค์ให้โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และประกาศว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 และก็ทำจริงตามที่พูด แต่ในที่สุด พรรคพลังประชารัฐก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 (พ.ศ.2562 – 2566)
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หลังการเลือกตั้งปี 2562 นับเป็นช่วงเวลาที่พรรคถดถอยมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยภายหลังการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จุรินทร์ได้นำทัพประชาธิปัตย์เข้าสนามเลือกตั้งปี 2566 และได้ที่นั่งในสภาเพียง 21 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง ทำให้กลายเป็นสัดส่วนที่นั่งในสภาที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา
ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค. จุรินทร์ได้แจ้งผ่านไลน์กลุ่มของพรรคว่าตัวเองขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 (พ.ศ.2566 – ???)
ถ้าจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งไหนที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เฉือดเฉือน การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้น่าจะเป็นลำดับต้นๆ
ภายหลังจุรินทร์ลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคได้จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคถึง 3 ครั้งกว่าจะได้ข้อตกลงให้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาฯ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากการประชุมสองครั้งแรกในวันที่ 9 ก.ค. และ 6 ส.ค. เกิดการเล่นเกมการเมืองภายในพรรคทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และต้องปิดประชุม
มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไร้หัวหน้าพรรคเป็นเวลานานเพราะกฎข้อบังคับพรรคที่ให้นับคะแนนในสัดส่วน สส. 70% และคนที่ไม่ใช่ สส. 30% ซึ่งทำให้ปีกของเฉลิมชัยซึ่งคุมเสียง สส.ส่วนใหญ่มีอำนาจเหนือปีกอื่นในพรรค
ในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ชวนได้เสนอชื่ออภิสิทธิ์ให้เป็นหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฐกถาถึงวิกฤตจุดยืนทางการเมืองของพรรค เขาได้ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความสบายใจการทำงานของคณะผู้บริหารชุดใหม่
ทางด้าน วทันยา บุนนาค ซึ่งประกาศลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกคนหนึ่งก็ไม่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมพรรค โดยภายหลังได้มีไลน์หลุดออกมาว่ามีการล็อบบี้ภายในพรรคไม่โหวตรับรองงดเว้นคุณสมบัติให้วทันยาสามารถชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้ จนในที่สุดเฉลิมชัยก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่
อย่างไรก็ดี ภายหลังมีการประกาศชื่อหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ผู้สนับสนุนและสมาชิกพรรคดั้งเดิม อาทิ สาทิตย์ วงหนองเตย, สาธิต ปิตุเตชะต่างถอยออกมาจากพรรค รวมถึง อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ที่ออกมาโพสต์ลาออกในเฟซบุ๊กพร้อมข้อความว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา (คำสัตย์เป็นวาจาไม่ตาย)” เพื่อเสียดสีถึงคำกล่าวของเฉลิมชัยว่าจะเลิกเล่นการเมือง หากการเลือกตั้งปี 2566 พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งในสภาน้อยกว่าเดิม
อนาคตของพรรคที่เก่าแก่ที่สุดจะเป็นอย่างไรต่อไป จะรุ่งเรืองหรือร่วงโรย จะกลับลำเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับอริเก่าอย่างเพื่อไทยหรือไม่ คำตอบอยู่ในการตัดสินใจของผู้บริหารพรรคชุดใหม่.. แต่จะเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิด ประชาชนจะบอกให้ชัดเจนเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า (ถ้าไม่บอยคอตอีกนะ)
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon