สภาผู้แทนราษฎรไทย มีสัดส่วน ส.ส.ผู้หญิงอยู่เพียง 16 เปอร์เซ็นต์ หรือราวหนึ่งในหกของทั้งหมด
เดียร์—วทันยา บุนนาค หรือที่รู้จักกันในนาม ‘มาดามเดียร์’ คือหนึ่งในผู้แทนฯ ไม่กี่เปอร์เซ็นต์นั้น
อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอได้รับบทบาทในพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยผู้ชายอยู่บ่อยๆ เพราะก่อนหน้านี้ วทันยาเคยดำรงตำแหน่ง ‘ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยชาย’ มาก่อน
ตลอดวาระเกือบ 4 ปีที่เป็นผู้แทนราษฎร เส้นทางการเมืองของวทันยาไม่ราบเรียบ เธอมีแฮชแท็กของตัวเองบนโลกโซเชียลตั้งแต่ได้รับตำแหน่งแรกๆ เธอเคยแตกแถวโหวตสวนมติพรรค จนกระทั่งประกาศลาออกจากพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง ‘พลังประชารัฐ(พปชร.)’ และย้ายเข้าบ้านใหม่ที่ชื่อ ‘ประชาธิปัตย์(ปชป.)’
เป็นธรรมดาที่หลายคนจะมองว่า การเป็นผู้หญิงในวงการการเมืองไทย อาจพ่วงมาด้วยความท้าทายบางอย่างที่ไม่ง่ายนัก ถูกมองเป็นไม้ประดับรึเปล่า? คนโฟกัสแต่เรื่องรูปร่างหน้าตา? จะถูกเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพไหม? คือประเด็นที่เชื่อว่ามีคนอดสงสัยไม่ได้
The MATTER จึงนัดคุยกับวทันยา ณ ที่ทำการของบ้านหลังใหม่ บริเวณร้านกาแฟใกล้ๆ กับพระแม่ธรณีบีบมวยผม เพื่อชวนคุยและแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ ประสบการณ์
รวมไปถึงความท้าทาย ในฐานะ ‘นักการเมืองหญิง’ ในวงการการเมืองไทย
อยากให้เล่าเส้นทางว่า คุณเดียร์ก้าวสู่การเป็นนักการเมืองได้อย่างไร
ก่อนจะมาทำงานการเมือง เดียร์ทำงานอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนมาก่อน เคยเป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ข่าวสปริงนิวส์ และเคยทำหน้าที่ตัวแทนผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยชาย ส่วนที่จับพลัดจับผลูมาเป็นนักการเมืองก็มีหลายเหตุผล เหตุผลหลักๆ คือเดียร์คุ้นเคยกับทีมอาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (อดีตรองนายกรัฐมนตรีหลายรัฐบาลรวมถึงรัฐบาล คสช. ผู้เคยไปร่วมก่อตั้ง พปชร.) อยู่แล้ว ส่วนอีกเหตุผลมาจากประสบการณ์ในฐานะสื่อมวลชนที่ก่อตั้งขึ้นมาบน agenda ทางการเมือง
ตอนที่ตั้งสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ เกิดจากการที่เราเห็นความวุ่นวายทางการเมือง เห็นว่าสื่อ ณ วันนั้นมันเลือกข้าง และรู้สึกว่า เหตุผลของความขัดแย้งส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของสื่อที่มีส่วนผลักดันให้คนกลายเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง เลยอยากทำสื่อที่มันเป็นกลาง สื่อที่รายงานเฉพาะข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น โดยเจตนารมณ์ที่ทำสื่อ ก็มาพร้อมกับการเมือง และเราก็เติบโตมาพร้อมกับตรงนั้น
และส่วนตัวลึกๆ รู้สึกว่า ในเวลานั้น ประเทศไทยติดหล่มล็อกการเมืองอยู่แค่ 2 ขั้ว 2 ข้าง พอวันที่อาจารย์สมคิดเข้ามาคุยแล้วบอกว่า “ความตั้งใจของพรรค ณ วันนั้น คือการเข้ามาเพื่อลดความขัดแย้ง” ก็เลยเชื่อว่า มันอาจเป็นขั้วที่ 3 ที่เป็นอีกทางเลือก มันอาจเป็นมีเงื่อนใหม่ที่จะคล้ายเงื่อนเก่าออกไปได้ จึงอยากเข้าไปเป็นส่วนนึงที่ช่วยขับเคลื่อน และช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย
แล้วทำไมถึงลาออกจาก พปชร. ตอนปลายปี 2565
เพราะพรรคกลายเป็นขั้วความขัดแย้งทางการเมืองเสียเอง อย่างที่บอก เราไม่ได้อยากมาเพื่อเป็นความขัดแย้ง แต่อยากมาเพื่อแก้ความขัดแย้ง พรรคเลยไม่ตอบโจทย์ความตั้งใจ ประกอบกับเส้นชัยของเรากับสมาชิกท่านอื่นใน พปชร.แตกต่างกันเกินไป
ที่ผ่านมา เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก เห็นความท้าทาย เห็นตั้งแต่วันที่ไทยเคยเป็นผู้นำอาเซียน จนวันนี้เกือบจะรั้งท้าย มันก็กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากพัฒนา อยากผลักดันนโยบาย คือเดียร์ยังไม่อยู่ในวัยที่มองหาความมั่นคงในชีวิตไง แต่สมาชิกพลังประชารัฐ ด้วยวัยผู้ใหญ่ เขาเลยมองหาความมั่นคง ซึ่งปลายทางมันไม่เหมือนกับเรา
เหตุผลที่เลือกย้ายเข้า ปชป. คืออะไร
ปชป. คือพรรคที่ไม่มีเจ้าของ เมื่อไม่มีเจ้าของ ทุกคนก็จะมีอิสระและเสรีภาพ ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ แต่ก็ไม่ขนาดว่าไม่รับผิดชอบต่อพรรคและองค์กรนะ คือพรรคนี้มันมีกลไกให้ฟรีโหวตและมีกลไกให้สมาชิกถกเถียงกันก่อน ขณะที่พรรคอื่นจะไม่มีเลย ด้วยความที่นิสัยเราเป็นแบบนี้ โดยจริตและวัฒนธรรม คิดแล้วมันก็ต้องที่นี่ที่มันใกล้เคียงกับเรามากที่สุด
ตอนอยู่ พปชร. เวลาเราคิดหรืออยากจะทำอะไร มันไม่สามารถเคลื่อนงานได้อย่างเป็นอิสระ สิ่งที่เราพอทำได้ คือการไปโหวตในสภา หรือการทำอะไรบางอย่างที่มีกติกาและระบบคุ้มครองเราอยู่ แต่ถ้าจะผลักดันเรื่องอื่นที่ไม่มีระบบคุ้มครองมันยากมาก ในขณะที่ ปชป. พอพรรคมันมีความอิสระ ก็ทำให้ทุกคนมีอิสระในการทำงานของตัวเอง
และด้วยความที่ พปชร. ยึดโยงอยู่ที่ตัวบุคคล นั่นหมายความว่า หากวันหนึ่งผู้นำพรรคเปลี่ยนแปลง ก็จะนำมาซึ่งความแตกแยกและสูญสลายของพรรค เดียร์มองว่าการทำงานการเมืองมันเป็นเรื่องระยะยาว เพราะทุกอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วเร็ววัน บางเรื่องต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ดังนั้น ถ้าเดียร์ไปอยู่ในบ้านที่มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล มันก็อาจจะไม่ใช่เจตนาของการทำงานการเมืองที่มันเป็นงานระยะยาว
แต่ด้วยเจตนาแรกที่อยากแก้ปมความขัดแย้ง มันจะขัดกับบ้านหลังใหม่หรือเปล่า เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปชป. เองก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง
คือในอดีต ปชป. เคยเป็นคู่ขัดแย้ง แต่หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 ก็เกิดการสลับสถานะ วันนี้กลายเป็นว่า พปชร. หรือตัว พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) เองที่เป็นตัวแทนของคู่ความขัดแย้ง สถานะของ ปชป. จึงกลายมาเป็นเพียงแค่พรรคขนาดกลางที่ไม่ได้เป็นคู่ขั้วตัวแทนของความขัดแย้งแล้ว
พอพูดถึง ปชป. คนมักจะบอกกับเดียร์ว่า “เฮ้ย มันขาลงนะ” แต่เดียร์มองว่า ขาลงยังไง มันก็จะไม่ตาย จะบอกว่ามันคือแมลงสาบก็ได้ แต่ด้วยความเป็นแมลงสาบ ถ้าเรามั่นใจว่ามาด้วยความตั้งใจที่ดี มั่นใจในการทำงานและศักยภาพ ก็ไม่จำเป็นที่ต้องหวั่นไหวว่าพรรคกำลังอยู่ในขาลง ถ้าเกิดหวั่นไหว ก็แสดงว่าไม่ได้ให้คุณค่าในตัวเองเลย
สมมุติเลือกตั้งครั้งหน้าได้เป็น ส.ส. อีก และพรรคมีมติให้โหวต พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จะโหวตให้ไหม
ณ วันนี้ เดียร์มีความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีมันพ่วงด้วยปัญหาที่ท้าทาย เช่น ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ซึ่งเดียร์ว่าท่านอาจจะไม่เหมาะกับความท้าทายของโลกในอนาคตถัดๆ ไป ไม่ได้บอกว่าท่านไม่ดี หรือผิด แต่คนเราก็มีบริบทบางอย่างที่เหมาะสมกับแค่ในห้วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น
วันนี้ผู้นำของแต่ละประเทศอยู่ในช่วงอายุแค่สี่สิบกว่าๆ หมดแล้ว ถ้าวันหนึ่งเดียร์เป็นวัยสูงอายุ เราก็ต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับว่า เราอาจจะไม่ใช่สำหรับช่วงเวลานั้น และต้องถอยมาเพื่อให้คนที่เข้าใจและอยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสมมากกว่าได้ทำงาน
การเมืองมันก็เหมือนกฎหมาย อย่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลถ้าอันไหนมัน work เดียร์ก็โหวตให้โดยไม่ได้แคร์ว่าเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เช่นเดียวกันกับการโหวตแคนดิเดตนายกฯ เดียร์ในฐานะประชาชนก็อยากเห็นประเทศดีขึ้น และก็หวังว่า ปชป. จะเปิดโอกาสให้ได้อภิปรายและถกกันก่อน หวังลึกๆ ว่าจะมีโอกาสได้นำเสนอเหตุของผลตัวเองมากพอ และก็ต้องขอฟังเหตุผลของท่านอื่นด้วยว่าทำไมถึงจำเป็นต้องโหวต และถ้าเขามีเหตุผลที่ดีกว่าเรา วันนั้นเราก็อาจจะน้อมรับ
แต่เชื่อว่าด้วยนิสัยตัวเอง ถ้าเราฟังแล้วไม่ซื้อเหตุผลนั้นจริงๆ ก็คิดว่าอาจจะเลือกในจุดยืนของตัวเอง
มีข่าวว่า หนึ่งในเหตุผลที่เลือกเข้า ปชป. เพราะมีดีลให้อยู่บัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ จริงรึเปล่า
ถ้าบอกว่าไม่พูดเรื่องลำดับเลยก็คงตลก แต่สิ่งที่เดียร์คุยกับผู้ใหญ่คือ เราขอให้พิจารณาในลำดับที่หวังว่าจะได้มีโอกาสเป็น ส.ส. มันไม่ใช่แค่เรื่องของตำแหน่ง แต่เราก็คาดหวังว่า ผู้ใหญ่จะมองว่าเรามีคุณค่าต่อพรรคในตรงจุดไหนด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้คุยว่าจะต้องเป๊ะๆ อยู่ลำดับนั้นนี้ มีก็แต่ปรึกษาว่าฐานคะแนนแบบนี้ควรจะอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ จึงจะอยู่ในเซฟโซน
ตั้งแต่ทำงานมา ทั้งสื่อ ฟุตบอล และการเมือง ชอบตัวเองในบทบาทไหนมากที่สุด
ชอบทุกอย่าง เดียร์อินกับทุกบทบาทจริงๆ ทุกบทบาทเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมากๆ เพราะภายใต้สิ่งที่เราเคยผ่านและมีประสบการณ์จะทำให้เราเข้าใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และมีภูมิต้านทานในการรับฟังแบบเปิดกว้างมากขึ้น
เช่น ตอนทำบอลครั้งแรก เราก็ใหม่และมีปัญหาในช่วงแรกๆ จนโดนโจมตีถล่มทลายและเกือบจะยอมแพ้ แต่พอเราตั้งสติ และค่อยๆ ทำ มันก็กลายเป็นประสบการณ์ที่ค่อยๆ สอนตัวเรามาเรื่อยๆ เช่น ถ้าไม่ได้ทำบอลแล้วเจอกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนบอลและนักข่าวสายกีฬา เราอาจไม่มีภูมิต้านทานในการทำงานทางการเมืองซึ่งมันหนักหน่วงยิ่งกว่าเยอะก็ได้
ประเมินไหมว่า จะเป็นนักการเมืองไปถึงเมื่อไร
อาชีพสุดท้ายของเราจะไม่ใช่นักการเมือง เต็มที่ก็ 10-15 ปี โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ถ้าจะต้องทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จมันต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ได้อยากติดหล่มวงการการเมืองนานจนเกินไปนะ
เดียร์มองว่าการไปทำอาชีพอะไรสักอย่างคือการเดินทางที่เราได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ยังมีหมุดหมายอื่นในชีวิตที่อยากจะเดินทางเรียนรู้อีก
ทำงานการเมืองมา เคยโดนเลือกปฏิบัติเพราะ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ไหม
ตอนที่เข้ามาทำงานการเมืองครั้งแรก เคยโดนแฮชแท็ก #เดียร์เมียสื่อ หรือตอนที่สวมชุด พปชร. ครั้งแรก ก็มีคนเอาภาพไป sexual harassment แต่ถามว่ารู้สึกสะทกสะท้านไหม เดียร์ไม่ได้รู้สึกอะไรขนาดนั้น ที่เล่าเพราะเห็นว่ามันมีอยู่จริง มันเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้หวั่นไหวอะไรกับมัน
ส่วนการเลือกปฏิบัติจากเพื่อนในวงการการเมือง อะไรที่เป็น sexual harassment ตรงๆ เราอาจจะยังไม่ทันได้รู้สึกขนาดนั้น แต่ก็ตอบไม่ได้นะว่าการที่เราไม่เจอเป็นเพราะมันไม่มีอยู่จริงหรือเพราะอะไร แต่เราก็ไม่ได้วางตัวให้อยู่ในจุดที่จะเกิดเหตุการณ์ล่อแหลมแบบนั้น
ส่วนหนึ่ง มันขึ้นอยู่กับว่าเราวางตัวยังไงด้วย คือถ้าเกิดว่าไปคุยกับผู้ชายแล้วทำให้เขารู้ว่า คุณ smart คุณมีศักยภาพ และมีความคิด มันก็จะทำให้คู่สนทนาไม่ได้รู้สึกว่า ‘มึงเป็นผู้หญิง’
คือเรามีวิธีรับมือกับการโดนเลือกปฏิบัติ
ใช่ เดียร์ไม่ได้รู้สึกว่าผู้หญิงกับผู้ชายต่างกัน อาจเพราะเติบโตมาในครอบครัวที่มีแต่พี่น้องผู้ชาย และตลอดระยะเวลาการทำงานที่สถานีข่าวและทีมฟุตบอล มันก็มีแต่ผู้ชาย เราเป็นผู้หญิงคนเดียว เลยหล่อหลอมจนกลายเป็นคนที่ไม่ได้จะรู้สึกว่า นั่นผู้ชายนี่ผู้หญิง คือเราก้าวข้ามจุดนั้นไปแล้ว เพราะมองว่าเพศไหนมันก็เท่ากัน
อย่างตอนที่ไปแถลงข่าวฟุตบอลซีเกมส์ มีสื่อเวียดนามมาสัมภาษณ์ว่า รู้สึกยังไงที่เป็นผู้หญิงคนเดียวบนเวทีนั้น ณ ตอนนั้น ถ้าเขาไม่ถาม ก็ไม่ทันได้คิดด้วยซ้ำว่าเราเป็นผู้หญิงคนเดียว ตอนที่ทำงานก็ไม่เคยรู้สึกว่า เฮ้ยตายแล้ว มันมีแต่ผู้ชาย เราเป็นผู้หญิง ไม่เลย
เดียร์ไม่เห็นด้วยกับวิธีของ feminist เพราะทุกครั้งที่พูดว่า ‘ต้องสู้เพื่อความเป็นหญิง’ มันคือการยิ่งย้ำว่ามันต่างกัน คือถ้าเกิดว่าไม่ได้มองว่ามีเส้นแบ่งระหว่างชายและหญิง มองแค่เรื่องผลลัพธ์ หรือคุณค่าในตัวคนนั้นๆ เดียร์ว่ามันทลายข้อจำกัดไปเลย และก็เชื่อว่าผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จทุกคนคงมีเซนส์ไม่ต่างกัน คือเขาคงไม่ทันจะมาคิดว่าทำเพราะต้องการพิสูจน์ว่าเป็นผู้หญิง แต่ทำเพราะมองเป้าหมายงานเป็นหลัก และขับเคลื่อนไปโดยไม่ได้มีปัจจัยเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง
ที่ไม่โดนคุกคามหรือโดนอคติทางเพศ เพราะเรามีสถานะเป็น ‘มาดามเดียร์’ ที่ครอบครัวมีสื่ออยู่ในมือด้วยรึเปล่า?
ไม่ใช่เพราะเป็นมาดามเดียร์ แต่เป็นเพราะเราเลือกที่จะวางตัวว่าจะปฏิบัติอย่างไรมากกว่า
รู้สึกยังไงที่ถูกเรียกว่า ‘มาดาม’
แรกๆ ไม่ชอบ เพราะดูแก่ หลังๆ ก็ชินไปแล้ว แต่ก็เคยสงสัยว่าทำไมต้องเป็น ‘มาดาม’ เพราะเราเป็นเดียร์มาตลอดชีวิต เลยเคยถามนักข่าวไป เขาก็อธิบายว่า ในมุมการทำงานข่าว มันจะต้องมีชื่อเล่นบางอย่างให้เท่านั้นเอง เพราะที่ผ่านมาเวลาผู้หญิงมาทำฟุตบอล มันจะมีชื่อเล่น ‘มาดาม’ ให้ตลอด ส่วนผู้ชายจะใช้คำว่า ‘บิ๊ก’ เหมือนเป็นศัพท์ทางวงการสื่อไปแล้ว
สุดท้ายเราก็คิดไม่ออกว่าจะให้เขาเรียกเราว่าอะไร ก็เลยปล่อยให้เขาเขียนตามสะดวก เรียกยังไงก็ได้ เลยกลายเป็นฉายาที่คนเรียกติดๆ กันมา แต่ในชีวิตจริงก็ไม่ได้มีใครมาเรียกว่ามาดามหรอก เขาก็เรียกเดียร์ มันเป็นแค่ศัพท์ที่คนภายนอกใช้เรียกกันเฉยๆ
หลายครั้งที่เป็นข่าว พาดหัวข่าวมักจะพ่วงชื่อสามี (ฉาย บุนนาค) มาด้วย รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้
ไม่รู้สึกอะไร มันเป็นข้อเท็จจริง ไม่รู้จะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความจริงของตัวเองทำไม แล้วชื่อของฉายมันก็ไม่ได้มาตลอด ขึ้นอยู่กับว่าถูกวิจารณ์ในบริบทอะไรมากกว่า ซึ่งถ้ามันอยู่ในบริบทตัวเรา ก็จะไม่ได้มีชื่อของสามีพ่วงมาด้วยทุกครั้ง
เวลาที่ชื่อสามีถูกพ่วงมา แปลว่าเรากำลังจะถูกวิพากษ์วิจารณ์บนเหตุและผลใดๆ ก็ตามแต่เขาอยากจะนำเสนอ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรนะ อยากรู้มากกว่าว่าเขากำลังจะวิจารณ์อะไร จริงหรือไม่จริง คือเราก็เป็นภรรยาที่จดทะเบียนสมรสแล้ว มันก็เป็นข้อเท็จจริงอะ เป็นเรื่องจริงของครอบครัว เลยไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องไปอะไรกับมัน คือมากกว่าการที่จะมานั่งรู้สึกไม่พอใจว่าทำไมต้องเรียกแบบนี้ เดียร์ก้าวข้ามส่วนนั้นไปแล้ว และอยากรู้มากกว่าว่าในเนื้อหาเขาวิจารณ์อะไรเรา
การจะทำงานการเมือง หรืองานอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีความหนักแน่น เจออะไรแล้วต้องมานั่งหวั่นไหวไปกับมันตลอดเวลา เดียร์ว่าแม่งก็เศร้า ไม่ทำต้องอะไรกันพอดี อยู่เฉยๆ ดีกว่า
พูดตรงๆ ว่าในฐานะที่ผ่านการทำบอลมา ก็เคยโดนด่าว่าเป็นผู้หญิงจะมาคุมทีมผู้ชายได้ยังไง ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่สุดท้ายมันก็ขึ้นกับผลงานที่เราทำ และบางอย่างก็ต้องใช้เวลา ตอนนั้นเราใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองเป็นปี ถ้าเกิดเรามัวหวั่นไหวกับอะไรตั้งแต่วันแรก เราก็อาจจะเลิก ลาออก กลับไปเป็นสื่อ และคงไม่เรียนรู้อะไรเลย
กลับกัน คิดว่าผู้ชายต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยไหม
ก็เหมือนกัน เพราะการทำงานมันอยู่ที่บทบาทและหน้าที่ ไม่ได้อยู่ที่เพศ
ในทางการเมือง มองว่ามันยังมีข้อจำกัดหรืออคติทางเพศอยู่ไหม
เดียร์ไม่กล้าตอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ในจุดที่เราไม่ได้มีโอกาสประสบทางตรง เพราะเดียร์เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลักๆ ก็จะอยู่ใน กทม. ซึ่งเรื่องเพศภายใต้บริบทของคน กทม. ทำให้เราอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามีข้อจำกัดอะไรมากมายกับเรื่องนี้ แต่ในพื้นที่อื่นก็ไม่รู้จริงๆ ว่าบริบททางเพศยังมีผลกระทบมากน้อยขนาดไหน
แต่จากประสบการณ์ที่ทำงานกับ พปชร. มา พรรคก็มีความน่ารักอยู่ เราไม่เคยรู้สึกว่าโดนอคติทางเพศ ส่วน ปชป. ก็เป็นพรรคเดียวที่มีโควต้าและสัดส่วนเรื่องเพศ มีการกำหนดเลยว่าในทุกๆ 4 อันดับบัญชีรายชื่อ จะต้องมีผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน
จริงๆ เรื่องที่เป็นอคติมากกว่าสำหรับเดียร์ คือเรื่อง ‘วัย’ เพราะเวลาเราจะทำอะไร ผู้ใหญ่ก็จะมองว่าเราเป็นเด็กอยู่ แต่มันก็อาจจะนิยามยากอีก เพราะอาจเป็นเพราะเราเผอิญเติบโตมาในบริบทสังคมแวดล้อมที่ไม่ได้เหมือนคนอื่น คนอื่นเขาอาจจะเจอมาไม่เหมือนกัน และการที่เราไม่เจอก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี เพียงแต่เราทำงานกับผู้ชายจนเป็นเรื่องปกติ และมองข้ามเรื่องเพศไปแล้ว
กลายเป็นว่าปัญหาหลักคือเรื่องวัยมากกว่าเพศ?
ใช่
ปัญหาใหญ่ที่เจอคือเรื่อง generation มากกว่าเรื่องเพศสภาพ จะโดนบ่อยๆ ว่าแบบ เอ้ย เป็นเด็กนะ ซึ่งเรากลับรู้สึกว่า ผู้ใหญ่สิต้องมองได้แล้วว่าทุกวันนี้ ผู้นำมีแต่วัย 30-40 กันทั้งนั้น
บทบาทของคนที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงคือบทบาทของวัยกลางคน ไม่ใช่บทบาทของคนสูงวัย คือเดียร์ก็ไม่ได้คิดว่าความสามารถของคนจะอยู่ที่วัย แต่ในเชิงกลับกัน มันอาจจะมีผลและเหมาะกับแค่บางช่วงเท่านั้น
ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่ไม่ดีนะ ในบางช่วงบางจังหวะ เราก็ต้องการคนที่มีประสบการณ์แบบผู้ใหญ่เข้ามาจัดการ เลยเป็นเหตุผลว่า ตอน พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาในวันที่สังคมขัดแย้ง โกลาหลอลหม่าน ประสบการณ์ในวัยผู้ใหญ่ก็อาจจะเหมาะในห้วงเวลานั้น แต่ถ้าประเทศเริ่มกลับมาเดินได้ มีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง มีกลไกในการถ่วงดุลตรวจสอบซึ่งกันและกัน ในการที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ คนที่จะเหมาะกับการบริหารต่อไปก็ควรจะเป็นคนในวัยที่มี energy กับการจะเคลื่อนอะไรใหม่ๆ มากกว่าการมองหาความมั่นคง
ถ้าจะมีการกำหนดจำนวนโควต้าสำหรับผู้หญิงในการทำหน้าที่ทางการเมือง คิดว่าอย่างไร
เดียร์ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีนะ อย่างน้อยก็คือเป็นการปกป้องในเบื้องต้นว่า มันจะมีความหลากหลายเข้าไปเกี่ยวข้อง
เราเคยคุยกับพี่ ส.ส. บางท่าน เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนในรัฐสภาจะไม่มีห้องเลี้ยงดู-ห้องให้นมเด็ก อาจเพราะในความเป็นผู้ชายทำให้เขาไม่ได้นึกถึง ไม่ได้มีประสบการณ์ ซึ่งถ้ามันมีส่วนผสมของผู้หญิง มันก็จะมีความหลากหลาย และมีมุมมองของผู้หญิงเข้าไปเติมมากยิ่งขึ้น อันนี้คือตัวอย่างง่ายๆ นะ
ซึ่งหากมองไปในมุมของกฎหมายหรืออะไรบางอย่าง การมีแค่มุมมองของเพศชาย เขาก็อาจจะลืม หรืออาจจะข้ามเรื่องเล็กๆ บางอย่างไป ไม่ใช่เพราะเพิกเฉยหรืออยากจะสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ แต่เพราะไม่มีประสบการณ์ในแบบเพศหญิงก็ได้
เคยรับหน้าที่อะไรที่ ‘ผู้หญิงมากๆ’ บ้างไหม
ในสภาฯ มันจะมี ‘ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย’ เขาตั้งให้เดียร์เป็นโฆษก แต่ในความเป็นเรา คือเราไม่อินอะไรกับความเป็นสตรี และไม่ชอบด้วย เราจะรู้สึกว่า ทำไมต้องมีชมรมรัฐสภาสตรีไทย ถ้าอยากจะไปทำอาสา อยากจะไปทำสังคมสงเคราะห์ก็ไปเลยดิ ไม่เห็นต้องมีคำว่าสตรีเลย มันอาจจะไม่ได้มีแค่ผู้หญิงที่เขาอยากจะทำด้วยซ้ำ เพราะบางที ผู้ชายก็อาจจะมีใจสังคมสงเคราะห์พอๆ กับผู้หญิงก็ได้
คือเขาก็ไม่ได้บังคับผู้หญิงทุกคนให้เข้าชมรม แต่จะมีการตามสมาชิกรัฐสภาในส่วนที่เป็นผู้หญิงเข้าไป ตัวเดียร์เองเรายินดีไปทำแหละ แต่พอในเซนส์ของความเป็นสตรี มันก็จะมีความอึกอักอยู่ทุกครั้ง
ส่วนเรื่องรับหน้าที่อย่างเลขานุการ เหรัญญิก ก็คิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับเพศ อย่างเหรัญญิก ผู้ใหญ่น่าจะชอบให้คนทำเหรัญญิกเพราะเป็นผู้น้อยมากกว่าเพราะเพศ ถึงบอกไงว่า ปัญหาหลักคือเรื่องวัยมากกว่า อย่างเหรัญญิก พปชร. คนแรกคือพี่พรชัย (ตระกูลวรานนท์) ต่อมาเป็นอาจารย์แหม่ม (นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ได้ถูกพรรคใช้เพราะเห็นเป็นผู้หญิง แต่มันเกิดจากการที่เขาเสนอตัวเองว่าอยากรับบทบาท
เรื่องโฆษกเดียร์ว่าก็ไม่ได้อิงจากอคติทางเพศ มันอาจจะมีในบางมิติแหละ แต่ก็เข้าใจได้ว่า บางที่ผู้ใหญ่อยากจะตั้งโฆษกที่เป็นผู้หญิง เพราะมีเป้าหมายที่อยากจะให้มันนุ่มนวล ถ้าเป็นผู้ชายบางทีมันอาจจะกระโชกโฮกฮากมากกว่า แต่ไม่ได้เป็นไปเพราะดูถูกหรือ bias (อคติ) ในความเป็นผู้หญิง
เคยโดนจับผิดเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมบ้างหรือเปล่า
เคยโดน ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่ย้ายมาอาคารรัฐสภาใหม่ (เวลานั้นใช้สำนักงานทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราว) นักข่าวชอบมารอถ่าย แล้ว ส.ส. มีประตูเข้าออกทางเดียว ตอนนั้นเดียร์ก็จะเป็นประเด็นเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม การแต่งตัว ใส่กระป๋าแบรนด์ไหน ซึ่งพอย้ายมาที่รัฐสภาปัจจุบัน เดียร์ก็จะไม่เข้าประตูที่ผ่านนักข่าวเลย
ประโยคที่เจ็บปวดที่สุด ที่ ส.ส.ต่างเพศเคยพูดกับเรา มีบ้างไหม
ไม่มีอะ ไม่อยู่ในความทรงจำ ในสภามันก็เปิดกว้างขึ้นแล้ว เมื่อก่อนเวลาเข้ารัฐสภา จะมีกฎว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น ซึ่งก็มาแก้ในเวลาต่อมา
แต่เหตุที่แก้ก็ไม่ใช่เพื่อความเท่าเทียมนะ เพราะในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นช่วงที่มีการชุมนุม เลยมี ส.ส. ไปร้องเรียนว่าให้เปลี่ยนกฎการบังคับใส่กระโปรง ให้ผู้หญิงสามารถใส่กางเกงได้ เพราะจะได้หนีม็อบได้ ไม่งั้นถ้าใส่กระโปรงก็จะปีนกำแพงไม่ได้ ที่มามันเป็นแบบนี้
ถ้าได้กลับมาเป็น ส.ส.อีก นโยบายที่จะผลักดันคืออะไร
อยากผลักดันนโยบายเกี่ยวกับ creative economy พอเป็นนโยบายก็จะยากนิดนึง เพราะมันอาจจะต้องไปขับเคลื่อนในฐานะฝ่ายบริหารมากกว่าในบทบาทนิติบัญญัติ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ถ้าเข้าไปเป็น ส.ส. แล้วจะไม่ทำอะไรนะ ตอนนี้ก็กำลังศึกษาด้วยว่า สิ่งที่เราอยากทำในบทบาทของนิติบัญญัติ มันทำอะไรได้บ้าง เช่น ตรา พ.ร.บ.กองทุนฯ ขึ้นมาใหม่ได้ไหม หรือแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ อะไรได้ไหม เพื่อให้เม็ดเงินได้ถูกใช้ให้มียุทธศาสตร์มากขึ้น และมีประโยชน์มากขึ้น
ใครคือไอดอลในการใช้ชีวิต และไอดอลในทางการเมือง
ไอดอลในชีวิตการใช้ชีวิตคือคุณแม่ เดียร์ชอบผู้หญิงทำงาน และแม่เดียร์คือผู้หญิงที่เราชื่นชม เขาทั้งทำงานด้วย และเลี้ยงเราไปด้วย คนที่เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้เราคือคุณแม่
ส่วนในบทบาทนักการเมือง ไม่ได้ถึงกับมีไอดอลเป๊ะๆ แต่หนึ่งในนักการเมืองที่เดียร์ชื่นชอบ ก็คือ คุณชวน หลีกภัย (ประธานรัฐสภาและประธานที่ปรึกษา ปชป.) แต่ถ้าพูดถึงโดยทั่วไป เดียร์ก็จะชอบจาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ หญิงจากนิวซีแลนด์ เพราะเขาวางตัวแบบที่มันพิสูจน์ได้ว่าเท่าเทียมและทัดเทียม โดยเฉพาะตอนที่เขาคลอดลูกระหว่างอยู่ในตำแหน่ง
มันสะท้อนถึงการ balance ทั้งในบทบาทคุณแม่ และบทบาทผู้นำ เป็นหนึ่งคนที่น่าชื่นชม
(คำถามตาม) หากเปรียบเทียบประเทศไทยกับหนังสือได้ จะเปรียบกับเล่มไหน
หนังสือ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของวินทร์ เลียววาริณ มันจะมีท่อนนึงที่เขียนไว้ว่า ภาพฉากหลังของประเทศไทย ภาพรถยนต์ถูกเผา ภาพการประท้วงที่เราเคยเห็น มันวนกลับมาฉายซ้ำๆ ตอนที่เดียร์อ่านท่อนนี้ คือรู้สึกว่า แม่งใช่เลย เพราะภาพแรกของการเมืองจริงๆ ที่เราติดตา คือภาพเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่มันเป็นภาพแบบนั้น
มันกลายเปนว่า ตอนที่เราอ่านหนังสือนี้ ภาพนี้มันก็แล่นเข้ามาในหัวอยู่ซ้ำๆ เลยรู้สึกว่า การเมืองไทยมันวนกลับมาที่เดิม ไม่ไปไหนเลย อยู่ในปมขัดแย้ง และสุดท้ายก็มักจะวนลูปกลับมาที่ฉากเดิมซ้ำๆ เหมือนจะก้าวไปแล้วก็กลับมา จนถึงจุดที่ว่า เออ เราอยากเห็นสังคมไทยมันเคลื่อนไปข้างหน้า