“อยากเจอรักแท้เหมือนกับที่คนภาคใต้รักพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)” – เป็นคำพูดหยอกเย้ากึ่งแซว ผลการเลือกตั้งระดับชาติในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้ตอนบนของไทย จากความเชื่อที่ว่า เลือก ส.ส.ใต้กี่ครั้ง ไม่ว่าพรรคไหนลงแข่งก็จะแพ้ให้กับพรรคเก่าแก่สีฟ้านี้อยู่ดี
ถึงขนาดเคยมีวลีอมตะ “เอาเสาไฟฟ้ามาลงคนก็ยังเลือก!” ในยุคสมัยหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่รู้ว่า คนใต้รักอมตะ ปชป. ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่มาพร้อมกับกำเนิดของพรรคการเมืองนี้ (ก่อตั้งปี 2489) แต่เป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ แถมยังผูกติดกับบารมีและชื่อเสียงของนักการเมืองคนหนึ่ง – ชวน หลีกภัย
รายการนอกBangkok ชวนอาจารย์บูฆอรี ยีหมะ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มาเล่าที่มาที่ไปว่า บารมีของนายหัวชวน ทำให้ ปชป.กลายเป็น ‘พรรคคนใต้’ ไปได้อย่างไร และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตัวบุคคลเสื่อมความนิยมลง พรรคการเมืองนี้จะไปต่ออย่างไรดี ชวนติดตาม
จุดเริ่มต้นการ ‘ผูกขาด’ ภาคใต้
ภาคใต้ 14 จังหวัด หากจะวิเคราะห์พฤติกรรมการเลือกตั้งต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ภาคใต้ตอนบน 11 จังหวัด และ 2.สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่จะมีพฤติกรรมการเลือกตั้งที่แตกต่างออกไป ในกรณีนี้เราจะพูดถึงภาคใต้ตอนบนเป็นหลัก
ความนิยมของ ปชป.ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 11 จังหวัด เริ่มขึ้นในการเลือกตั้งปี 2535/2 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่เป็นจุดเริ่มต้นการ ‘ผูกขาด’ อย่างชัดเจน เพราะก่อนหน้านั้น ปชป.ก็ไม่ได้ผูกขาดในภาคใต้เสียทีเดียว บางยุคสมัยพรรคอื่นได้รับความนิยมมากกว่า ปชป.ด้วยซ้ำ เช่นในการเลือกตั้งปี 2522 พรรคที่ได้ ส.ส.ในภาคใต้อันดับหนึ่งคือพรรคกิจสังคม แต่ปัญหาคือพรรคกิจสังคมไม่สามารถขยายความนิยมได้ ในขณะที่ ปชป.ในการเลือกตั้งปี 2526 กลับได้ ส.ส.ในภาคใต้เป็นอันดับหนึ่งแทน
เหตุผลที่ ปชป.แซงพรรคกิจสังคมในภาคใต้ เนื่องจากขณะนั้นทั้ง 2 พรรคก็เข้าร่วมรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ถึงจะมี ส.ส.น้อยกว่า ปชป.กลับได้เก้าอี้รัฐมนตรีถึง 2 ที่นั่ง ต่างกับพรรคกิจสังคมที่ได้แค่ 1 ที่นั่ง แถมยังเป็นกระทรวงที่ไม่มีความสำคัญในการขยายฐานทางการเมือง
หลังเลือกตั้งปี 2526 ทั้ง 2 พรรคก็เข้าร่วมกับรัฐบาล พล.อ.เปรมอีกครั้ง ปรากฏว่า ปชป.ที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่งในภาคใต้ ก็ได้เก้าอี้รัฐมนตรีถึง 4 คน โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีกลไกของรัฐที่ช่วยให้ขยายความนิยมได้โดยง่าย
คือ ปชป.มีชั้นเชิงทางการเมืองที่ดีกว่า รู้ว่าจะขยายความนิยมในพื้นที่ภาคใต้อย่างไร และการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีก็เป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญ
‘นายกฯ คนใต้’ มรดกจากเปรมถึงชวน
การร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ปชป.ได้รับความนิยมในภาคใต้ เพราะ พล.อ.เปรมเป็น ‘นายกฯ คนใต้’ ที่หลายคนชื่นชมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่แค่คนในภาคใต้แต่ยังรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ กระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษในเวลาต่อมา การร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรม ทำให้ ปชป.ได้รับอานิสงส์ไปด้วย
ปัจจัยต่อมา คือการที่คุณชวน หลีกภัย มาเป็นหัวหน้า ปชป.ที่มาจากภาคใต้คนแรก ก็ทำให้ความรู้สึกของคนภาคใต้ว่า เราเคยมีนายกฯ คนใต้มาแล้ว จึงน่าจะสนับสนุนให้คุณชวนเป็นนายกฯ คนใต้อีกคน ประกาศกับ ปชป.ใช้สโลแกนหาเสียงที่เชื่อมโยงกับความเป็นคนใต้คือ “พรรคของเรา พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” ก็ยิ่งทำให้เกิดความผูกพันว่า มันเป็นพรรคของคนใต้นะ นอกจากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารหลายคนก็เป็นคนใต้ จนคุณชวนได้ขึ้นเป็นนายกฯ จริงๆ (ชวนเป็นนายกฯ 2 สมัย ระหว่างปี 2535-2538 และระหว่างปี 2540-2544)
นับแต่นั้นมา คนภาคใต้ก็รู้สึกนิยม ปชป.มาโดยตลอด แม้ในช่วงที่พรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งในหลายภูมิภาคจากนโยบายที่ได้รับความนิยม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ แต่ในภาคใต้กลับไม่ค่อยจะได้ผล ในการเลือกตั้งปี 2544 และปี 2548 พื้นที่ภาคใต้ ปชป.ก็ยังชนะแลนด์สไลด์อยู่ดี อย่างการเลือกตั้งปี 2548 มีผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักไทยคนเดียวที่ชนะการเลือกตั้ง คือคุณกฤษ ศรีฟ้า ซึ่งก็ชนะเพราะตัวบุคคลด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ เมื่อปี 2547
แม้ว่าช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ราคายางพุ่งกระฉูด มีรถป้ายแดงวิ่งกันฝุ่นตลบ แต่เคยมีนักข่าวไปถามชาวบ้านว่า “ลุงเป็นไง ราคายางดีขึ้น สุดยอดเลยไหม รัฐบาลชุดนี้ รอบหน้าจะเลือกพรรคไทยรักไทยไหม” ปรากฏว่าลุงตอบว่า เลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะเลือก ปชป. เพราะสงสารคุณชวน
คุณชวนเปรียบเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณของคนใต้ ในฤดูเลือกตั้ง ถ้าผู้สมัคร ส.ส.ของ ปชป.คนไหนมีคะแนนแย่หรือเป็นรองคู่แข่ง ก็ต้องรีบให้คุณชวนไปช่วยหาเสียง ไปปรากฏตัวบนเวที เวลาปราศรัยก็มีเรื่องเล่าว่า คุณชวนจะไปปราศรัยด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ เหมือนจะร้องไห้ คะแนนที่เคยตกเป็นรองก็กลับมาแซงทันที กลายเป็นชนะเลือกตั้งไป
ป้ายหาเสียงคุณชวนในหลายจุด คนก็กลัวว่าจะโดดแดดโดนฝนก็เอาร่มไปกางแบบถาวรให้เลย นี่คือความนิยมที่มีต่อตัวคุณชวน
สู่ยุคตกต่ำ
ในการเลือกตั้งปี 2562 ไม่มีใครคาดคิดเหมือนกันที่ ปชป.พ่ายแพ้ยับเยินในภาคใต้ จากที่เคยครองความนิยมมาตลอด มาเหลือ ส.ส.ภาคใต้แค่ 22 คนเท่านั้น เรียกว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ (นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2531 ที่ได้ ส.ส.ภาคใต้ 16 คน)
เหตุผลสำคัญมาจากการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ได้เป็นนายกฯ ต่อ ทั้งจากการตั้งชื่อพรรคที่เชื่อมโยงกับสารพัดนโยบายที่มีคำว่า ‘ประชารัฐ’ และคนก็กลัวว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อ นโยบายต่างๆ เหล่านี้จะถูกยกเลิกไป
อีกเหตุผลคือการที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป.ขณะนั้นออกคลิปประกาศว่าจะไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป้นนายกฯ อีกครั้ง ทำให้กระแสความนิยมตีกลับ จากที่เคยเลือก ปชป.ก็หันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐแทน ทั้งที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐหลายคนในภาคใต้ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร เป็นผู้สมัครแบบดาวเคราะห์ไม่ใช่ดาวฤกษ์ แต่ก็ได้รับเลือกจาก ‘คนใต้ที่เชียร์ลุงตู่’
อีกสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนใต้เริ่มตั้งคำถามว่า ปชป.ครองความนิยมในภาคใต้มายาวนาน เป็นรัฐบาลมาก็หลายสมัย แต่ทำไมพื้นที่ภาคใต้เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ เราถึงไม่เจริญเท่าเขา ถนนหนทางก็ไม่ค่อยดี ทั้งที่มีทรัพยากรมากมาย มีทะเลสวยงาม
ผลการเลือกตั้งในปี 2562 ทำให้หลายพรรคมองว่า ภาคใต้ไม่ใช่ ‘ของตาย’ สำหรับ ปชป.อีกต่อไป นอกจากพรรคพลังประชารัฐ ก็มีพรรคภูมิใจไทยที่ทุ่มสุดตัวในฝั่งอันดามันที่เป็นเมืองท่องเที่ยว
นกกรงหัวจุก vs นกกุลา
มีคำเปรียบเปรยหนึ่งที่ชอบใช้ในการเมืองภาคใต้ คือนกกรงหัวจุกและนกกุลา
ในอดีตที่ผ่านมา การที่ ปชป.ผูกขาดความนิยมในภาคใต้ นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2535/2 ก็มีพรรคอื่นส่งผู้สมัครลงแข่งเหมือนกัน แต่ว่าลงแข่งแบบไม่จริงจัง จนถูกมองว่าเป็นไม้ประดับ หรือค่อยมาลงหลังจากประกาศให้มีการเลือกตั้งแล้ว ที่มีเวลาแค่เดือนกว่าๆ แต่ช่วงก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ทำกิจกรรมการเมืองเท่าไร จึงมีคำเรียกผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ ว่า เหมือน ‘นกกุลา’ ยามหน้านาข้าวสุกก็มากินข้าว ไม่เหมือนกับผู้สมัครจาก ปชป.ที่เปรียบเสมือน ‘นกกรงหัวจุก’ อยู่กับพวกเราตลอดเวลา คอยให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำจุน นกกรงหัวจุกเป็นนกที่คนในภาคใต้นิยมเลี้ยง ทั้งเพื่อฟังเสียงทุกเข้าเย็นและเพื่อเอาไปแข่งขัน
ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 หลายพรรคก็เป็นแบบนกกุลาจริง เพราะไม่กล้าแข่ง มองว่าภาคใต้เป็นของตายของ ปชป. แม้แต่ในช่วงที่พรรคไทยรักไทยเฟื่องฟูสุดขีดในภาคอื่นๆ กระทั่งจัดเวทีปราศรัยใหญ่ ตัวแกนนำพรรคเหล่านั้นก็ไม่ค่อยมา ไปทุ่มกับพื้นที่ภาคอื่นซะมากกว่า
หลังจาก ปชป.ค่อยๆ เสียเก้าอี้ ส.ส.ในภาคใต้ให้กับพรรคอื่นไป ก็มีคำถามว่า อนาคตจะสูญพันธุ์ไปเลยหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าจะไม่สูญพันธุ์ เพราะ ปชป.เป็นพรรคที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และก็คงนำบทเรียนความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2562 มาใช้ แต่จะกลายเป็นพรรคขนาดกลาง
แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือทุกพรรครู้แล้วว่า จากนี้ไป 11 จังหวัดภาคใต้ตอนบนจะไม่ใช่ ‘ของตาย’ สำหรับ ปชป.อีกต่อไป