ก่อนจะถึงวันครบรอบ 45 ปี ของ การสังหารหมู่ 6 ตุลาฯ ที่เทียบได้กับ Tlatelolco massacre ในเม็กซิโกซิตี ปี ค.ศ.1968 หรือ February 28 incident ในไต้หวันปี ค.ศ.1947[1]นั้น ไม่กี่วันในปีเดียวกัน เพิ่งจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ วิมล ศิริไพบูลย์ ที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เมื่อ 23 กันยายน ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2564
ไม่เพียงวิมลจะมีชื่อเสียงโด่งดังในนามปากกา ‘ทมยันตี’ จากการเขียนนวนิยายมากมาย บางเรื่องก็ลอกเลียนแบบนวนิยายฝรั่งหรือไปซ้ำกับภาพยนตร์ต่างประเทศมา แต่นางยังเป็นที่รู้จักในฐานะบุคคลสำคัญในการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังประชาชนนักศึกษากรรมกรชาวนาที่ออกมาต่อต้านแผนการัฐประหารและการกลับมาของอำนาจเผด็จการ จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 สังหารหมู่ประชาชนนักศึกษาอย่างโหดร้ายที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นับย้อนไปในช่วงเวลาหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 นั้น บรรยากาศทางการเมืองภาคประชาชนเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นและความหวังเพื่อเอกราช ความเสมอภาค สิทธิ และประชาธิปไตย ประชาชนได้ปลดแอกจากระบอบเผด็จการและพยายามแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ของชาวนากรรมาชีพ เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ สนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรชาวนาและคนยากจน เกิดขบวนการสิทธิสตรี ขบวนการเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กรรมกรหญิง หญิงค้าบริการทางเพศ ออกมาประท้วงต่อสู้การกดขี่ทางเพศ การกดขี่ของชนชั้นนายทุน คัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าปรมาณู ตั้งโรงงานปิโตรเคมีที่ทำลายสภาพแวดล้อม และเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์ ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาในช่วงสงครามเย็น ที่คอยช่วยเหลือค้ำจุนอำนาจเผด็จการมายาวนาน ทั้งสฤษดิ์ ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจร และประภาส จารุเสถียร นอกจากนี้ขบวนการประชาชนยังคัดค้านการตั้งฐานทัพอเมริกันในไทยและให้รื้อสถานีเรดาร์อเมริกาในค่ายทหารไทย เพราะเป็นการละเมิดอธิปไตยประเทศและรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บันทึก 6 ตุลา https://doct6.com/ )
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันกลุ่มขวาจัด คลั่งเจ้า ที่สนับสนุนเผด็จการก็เติบโตขึ้นเช่นกัน กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย กลุ่มวิหคสายฟ้า นวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ชมรมแม่บ้าน และบางกลุ่มก็ได้รับเงินสนับสนุนจากอเมริกาหลายล้านบาทไทย มุ่งจะกวาดล้างปราบปรามขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวขณะนั้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2517 มีนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หลายคนเข้าร่วมขบวนการนี้ ใช้สื่อมวลชนโฆษณาชวนเชื่อทุกช่องทางโจมตีว่าเป็นการสมุนของคอมมิวนิสต์ที่เป็นปิศาจร้าย บ่อนทำลายชาติ ศาสนา และกษัตริย์ สร้างความวุ่นวาย ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย
วิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา ‘ทมยันตี’ อันโด่งดังดัง ได้เขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ด้วยรูปแบบเขียนจดหมายสื่อสารกับผู้อ่านโดยตรง นางใช้ชื่อว่า จดหมายลับสุดยอด แล้วนำมารวมเล่มครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2519 และครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน กระหน่ำเผยแพร่เพื่อปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์ฝ่ายขวาจัด
จดหมายลับสุดยอด ของทมยันตี ชื่อนี้เป็นเพียงการตลาดดึงดูดความสนใจ[2] ไม่ได้มีคุณค่าสาระหรือวาทศิลป์อะไร นอกเสียจากต้องการด้อยค่าเย้ยหยันขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนแรงงานนักศึกษาทั้งไทยและลาว ว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ ออกโรงชื่นชมปกป้องกลุ่มนวพล และปลุกระดมไทยเฉย ที่เธอเรียกว่า ‘Silent majority’ ออกมาต่อสู้กับคอมมิวนิสต์และมาร์กซิสต์ นางเลียนแบบหนังสือ วสิษฐ เดชกุญชร ความผิดพลาดของนายหมาก ด้วยการเรียก คาร์ล มารกซ์ (Karl Marx) ว่า ‘ปู่หมาก’ พยายามวิพากษ์วิจารณ์บุคคลและแนวคิดทฤษฎี Karl Marx ที่ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรนอกจากทำลายความน่าเชื่อถือและล้อเลียนเท่านั้น รวมทั้ง เหมา เจ๋อ ตง ที่นางเรียกว่า ‘ปู่เหมา’ อีกเช่นกัน
ในแต่ละบทละตอนของผลงานนางคอยโจมตีเย้ยหยันด้อยค่า
กลุ่มแรงงานที่สไตร์ก นักศึกษาอาจารย์มหาลัยที่ต่อต้านหน่วยงาน
ความมั่นคงในไทยและลาวว่า เป็นพวกที่ถูกหลอก เป็นภัยและศัตรูของประเทศชาติตนเอง
“…เมืองไทยเวลานี้ใครจะประชุมพลด่าใครเล่นก็ได้ เราได้รับสิทธิและเสรีภาพอันกว้างขวางถึงขนาดนี้แล้ว จะเอายังไงกันอีก”[3]
และเมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบยิงผู้นำเคลื่อนไหวนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงป้ายรถเมล์ริมถนนในปี พ.ศ.2517 และก็มีการลอบยิง ลอบฆ่านักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวผู้นำชาวนาเรื่อยมาในปีต่อมา นางก็ได้เขียนใส่ร้ายป้ายสีว่าผู้ถูกยิงตายที่ป้ายรถเมล์หน้ามหาลัยนั้น เป็นเพราะ “ผู้ตายเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยาเสพติด และยักยอกเงินค่ายาเสพติดไว้ ไม่ส่งให้ผู้ดำเนินงานในชั้นสูงกว่า”[4]
ร้ายไปกว่านั้น นางยังจัดรายการผ่านสถานีวิทยุยานเกราะที่เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ของพวกขวาจัดอย่างนวพล กระทิงแดง ที่สนับสนุนระบอบทหาร คอยโจมตีป้ายสีบิดเบือนขบวนการนักศึกษาผู้นำประชาชนเคลื่อนไหว ด้อยค่าขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย และยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนออกมาต่อต้านขบวนการนักศึกษาประชาชน ซึ่งครั้งหนึ่งสถานีวิทยุยานเกราะเคยออกอากาศเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่าประชาชนสัก 30,000 คนเพื่อคนจำนวน 43 ล้านคน
และในตอนเช้าของวันที่ 6 ตุลาแห่งการสังหารหมู่ วิมล ศิริไพบูลย์ นางก็ได้ไปร่วมชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าพร้อมกับลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มขวาจัดเช่น ชมรมแม่บ้านด้วย[5] ก่อนจะมีการเคลื่อนขบวนมายังท้องสนามหลวงตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมปราบปรามสังหารนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมกันอย่างสงบในธรรมศาสตร์ ก่อนจะสลายตัวก่อนรัฐประหารเพียงเล็กน้อยในตอนเย็น
‘ชมรมแม่บ้าน’ ก็เป็นอีกกลุ่มขวาจัดอีกกลุ่มที่เป็นคอยปล่อยโฆษณาชวนเชื่อของทหารและ กอ.รมน. ลดทอนความเป็นมนุษย์ของขบวนการเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนนักศึกษา ซึ่งวิมลเองก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในชมรมนี้ ที่สมาชิกมักเรียกชื่อนางว่า ‘คุณทม’
ชมรมแม่บ้านก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2519 โดยการรวมตัวของพวกขวาจัดต่าง ๆ เช่นกลุ่มแม่บ้านทหารบก แม่บ้านทหาอากาศ แม่บ้านทหารเรือ และพวกที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มแม่บ้านทั่วไป กลุ่มแม่ชีราชบุรี กลุ่มอาจารย์วิทยาลัยครู โรงเรียนประถม มัธยม นักปฏิบัติธรรม มีวิธีการหาสมาชิกอย่างง่าย ๆ คือเพียงแจ้งผ่านแม่บ้านด้วยกันที่รู้จักกัน โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ จนรวบรวมได้ 20,000 คน แต่ละสัปดาห์จะมีการประชุม อบรม แจกเอกสารหมุนเวียนที่ชื่อ ‘แม่บ้านถึงแม่บ้าน’ และมักจัดกิจกรรมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจทหารตำรวจอาสาสมัคร กลุ่มที่เป็นพันธมิตรฝ่ายขวาด้วยกัน มี ‘เพลงมาร์ชแม่บ้าน’ และเพลงประจำชมรมชื่อ ‘ชมรมแม่บ้าน’ แต่งเนื้อร้องทำนองโดย ล้วน ควันธรรม มอบกรรมสิทธิ์กับชมรม ซึ่ง ‘เพลงชมรมแม่บ้าน’ ก็มีเนื้อหาแสดงความหิวกระหายสงครามว่า
มือไกวดาบแกว่งแข็งแกร่งเยี่ยงชายฉกรรจ์
จะเข้าห้ำหั่นศัตรูผู้รุกรานไทย
พวกเราแม่บ้านทำงานด้วยความภูมิใจ
ชาติเรียกตัวเมื่อไรพร้อมกันทันที
อยู่บ้านงานการมากมาย
ชั้นเชิงเยี่ยงชายรักศักดิ์ศรี
รักเกียรติภูมิของไทยธานี
ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ไทยนี้ ขอบูชา
ชมรมฯ ยังกำหนดภารกิจให้บรรดาแม่ๆ คอยอบรมสั่งสอนควบคุมจับตาลูกๆ นักเรียนนิสิตนักศึกษาไม่ให้เข้าร่วมกับขบวนการเพื่อประชาธิปไตย และสอดส่องกลุ่มองค์กรต่าง ๆ หากเห็นว่าเป็นภัยต่อชาติ ให้แจ้งหัวหน้ากลุ่มแม่บ้านและเจ้าหน้าที่รัฐทันที
ชมรมจัดบรรยายโฆษณาชวนเชื่อและอัดเทปนำไปออกอากาศที่สถานีวิทยุยานเกราะอยู่เสมอ เช่น หัวข้อ ‘การดำเนินงานของคอมมิวนิสต์ในกลุ่มกรรมกร’ ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2519 ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2519 และแน่นอน วิมลเองก็เป็นวิทยากรให้กับชมรมนี้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2519 เธอพูดหัวข้อ “เรดาร์กับความมั่นคงของชาติ” นางสนับสนุนอย่างมากที่จะต้องคงมีสถานีเรดาร์ไว้ พร้อมกับสร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในฐานะความชั่วร้ายบ่อนทำลายชาติ (ฟังเสียงได้ที่ soundcloud.com หรือ youtube.com)
ชมรมยังเดินขบวนเรียกร้องให้ประชาชนที่มองว่าเป็น ‘พลังเงียบ’ ออกมาต่อต้านคอมมิวนิสต์รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา แจกเอกสารใบปลิวปลุกระดมมวลชนเช่น เพลง ‘เราสู้’ (อ่านที่มาและนัยยะของเพลงนี้ได้ที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519) บทความ ‘ลูกจ๋าอย่าหลงผิด’ ‘ภัยมืด’ ‘ลัทธิหมาบ้าเลือด’[6]
หนังสือพิมพ์ฝั่งขวาจัดบางเล่มก็ออกมาให้พื้นที่สนับสนุน
ชมรมแม่บ้านอย่างมากเช่น นสพ.สยามมิศร์ และ นสพ. รายวัน
ผู้แทนชมรมแม่บ้านให้สัมภาษณ์กับนสพ.สยามมิศร์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2519 ว่าศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ใช้กฎหมู่บีบบังคับรัฐบาล ขับไล่ฐานทัพอเมริกา ส่อไปในทางมิหวังดีต่อประเทศชาติ สร้างความวุ่นวาย เธอประกาศกร้าวว่า “จะระดมชมรมสตรี 23 ชมรม ผนึกกำลังรวบรวมผู้ที่ไม่เห็นด้วยเดินขบวนเข้าปะทะ ซึ่งชมรมสามารถเกณฑ์กำลังได้ภายใน 24 ชั่วโมง คาดว่าจะมีกำลังไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน เป็นได้เห็นดีกันแน่ค่ะ” [7]
หนังสือพิมพ์รายวัน ฉบับวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2519 ได้กล่าวสนับสนุนชมรมแม่บ้านว่า และกล่าวว่า “ปัจจุบัน (2519) ผู้หญิงมีสถานภาพทางสังคมเศรษฐกิจดีแล้วทัดเทียมผู้ชาย สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวเหมือนผู้ชาย ไม่ต้องออกมาร้องแรกแหกกระเชอให้ได้มาซึ่งสิทธิจนเสียกิริยาหญิง ภาพพจน์ของเพศหญิงที่ต้องนิ่มนวลอ่อนโยนหมดสิ้นลง และโจมตีกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรีว่าเป็นพวกซ้ายจัดแล้วอ้างว่าต้องการปลดปล่อยผู้หญิงจากการถูกผู้ชายกดขี่ ยั่วยุให้ผู้หญิงมองผู้ชายเป็นศัตรู เรียกร้องด้วยวิธีรุนแรงวุ่นวาย ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ลดเกียรติและภาพพจน์ของหญิงไทย ผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นนักศึกษา ยังโสด ไม่รู้หน้าที่ที่แท้จริงของผู้หญิงที่มีต่อครอบครัว และเป็นพวกมีปัญหาครอบครัว มีปมด้อย หลงเชื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ง่าย และตามแฟชั่น” [8]
ต่อมา ชมรมแม่บ้านร่วมมือกับ กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย กลุ่มวิหคสายฟ้า โหมประโคมทางวิทยุและสื่อต่าง ๆ ชักชวนให้ประชาชนออกมาประท้วง และตั้งเวทีไฮด์ปาร์คที่สนามไชย ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2519 คัดค้านการถอนสถานีเรดาร์ที่ค่ายรามสูร และโจมตีศูนย์นิสิตนักศึกษา[9] และในวันที่ 5 ตุลา ตั้งแต่ 8.00 น. ชมรมฯ ก็ร่วมมือกับนวพล กระทิงแดง ค้างคาวไทย ไทยอาสาสู้ศึก ประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลว่า รัฐบาลพลเรือนคึกฤทธิ์ ปราโมช และเสนีย์ ปราโมช ฝักใฝ่ขบวนการเคลื่อนไหวนักศึกษา โอนเอนยินยอมเสียงของศูนย์นิสิตนักศึกษามากเกินไปจนทำให้ประเทศไม่มั่นคง การประท้วงครั้งนี้ได้รับการช่วยเหลือดูแลจากกองบัญชาการทหารสูงสุด และนัดหมายให้รวมตัวชุมนุมกันอีกในเช้าวันที่ 6 ตุลา ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อสิ้นสุดการชุมนุมของวันที่ 5 ก็เคลื่อนตัวไปประท้วงต่อที่ท้องสนามหลวงจนถึงดึก[10] ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะเกิดการปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วบุกไล่ฆ่าประชาชนนักศึกษาในนั้นอย่างอำมหิต ถูกเผาทั้งเป็น หลายคนถูกทารุณทรมานจนตาย ก่อนจะนำร่างไปแขวนคอ ลากไปกับพื้นสนามบอล ทรัพย์สินถูกปล้น
ชมรมแม่บ้านไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพียงปกป้องแก้ต่างแทนอเมริกาในช่วงสงครามเย็นที่ช่วยเหลืออำนาจเผด็จการและฝ่ายขวา สร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในฐานะลัทธิอุบาทว์ภัยร้าย ปีศาจ มากกว่าจะทำความเข้าใจคอมมิวนิสต์ในฐานะอุดมการณ์และระบอบการเมืองหนึ่ง แต่ยังคอยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่า เป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ เป็นพวกเนรคุณแผ่นดิน เป็นคอมมิวนิสต์ถูกซาตานหล่อหลอมความคิด เป็นพวกล้มเจ้า ล้มล้างวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมที่เคยมีแต่ดั้งเดิม ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปรามสังหารหมู่ในครั้งนี้
หากเราจะประณามรัฐ (ซึ่งมันต้องเป็นเช่นนั้น) ว่า “รัฐฆาตรกร”
ชมรมองค์กรเหล่านี้แหละก็คือผู้สมรู้ร่วมคิด
สำหรับวิมล ศิริไพบูลย์ (ขณะนั้นใช้นามสกุลสามีเก่า เจียมเจริญ) หรือ ‘ทมยันตี’ นางมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นลึกซึ้งกับฝ่ายทหาร หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมไร้ความเป็นมนุษย์และรัฐประหารในครั้งนั้น นางก็ได้ตำแหน่งทางการเมือง อย่างสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ก็ไปมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับชายอื่นจนถูกสามีฟ้องหย่า ต้องแบ่งสินสมรส ถูกเรียกค่าเสียหาย และถูกให้ออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา นางตัดพ้อว่า “ทำไมความยุติธรรมไม่มีในโลก”
แน่ล่ะ ถ้าความยุติธรรมมีจริง นางจะไม่ลอยนวล รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่จะไม่ลอยหน้าลอยตาได้รับการยกย่องนับหน้าถือตา ใช้ชีวิตอยู่เหนือกองเลือดกองศพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ แล้วมีชีวิตอยู่จนแก่ตาย อย่างที่นางตายเมื่ออายุ 85 ปี ไม่ออกมายอมรับสำนึกการกระทำของตนเองและพวกเป็นสิ่งเลวร้ายต่ำทรามขนาดไหน ขณะที่ตลอด 45 ปีที่ผ่านมาของ 6 ตุลา ครอบครัวผู้สูญเสียไม่ได้รับการเยียวยา ไม่มีการสอบสวนเอาผู้กระทำความผิดใด ๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]ธงชัย วินิจจะกูล. 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2563, น. 8.
[2] วิมล ศิริไพบูลย์. จดหมายลับสุดยอดทมยันตี. กรุงเทพ : หนอน, 2519, น. 11-12.
[3] วิมล ศิริไพบูลย์. จดหมายลับสุดยอดทมยันตี. กรุงเทพ : หนอน, 2519, น. 120.
[4] วิมล ศิริไพบูลย์. จดหมายลับสุดยอดทมยันตี. กรุงเทพ : หนอน, 2519, น. 83.
[5] ศานตา. ชมรมแม่บ้าน บันทึกเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ของชาติไทย 14 ตุลาคม พศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519. กรุงเทพ : ศิวพรการพิมพ์, 2551, น. 226.
[6] ศานตา. ชมรมแม่บ้าน บันทึกเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ของชาติไทย 14 ตุลาคม พศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519. กรุงเทพ : ศิวพรการพิมพ์, 2551, น. 127-132.
[7] ศานตา. ชมรมแม่บ้าน บันทึกเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ของชาติไทย 14 ตุลาคม พศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519. กรุงเทพ : ศิวพรการพิมพ์, 2551, น. 200.
[8] ศานตา. ชมรมแม่บ้าน บันทึกเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ของชาติไทย 14 ตุลาคม พศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519. กรุงเทพ : ศิวพรการพิมพ์, 2551, น. 202.
[9] ศานตา. ชมรมแม่บ้าน บันทึกเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ของชาติไทย 14 ตุลาคม พศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519. กรุงเทพ : ศิวพรการพิมพ์, 2551, น. 203.
[10] ศานตา. ชมรมแม่บ้าน บันทึกเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ของชาติไทย 14 ตุลาคม พศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519. กรุงเทพ : ศิวพรการพิมพ์, 2551, น. 223-224.