การชุมนุมประท้วงเริ่มกลายเป็นข่าวคราวชัดเจนสายตาและแว่วยินหนาหู กระแสความสนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้พลันเบ่งบานแพร่หลาย ผมจึงมิแคล้วได้รับชักชวนให้บอกเล่าประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วงในอดีตของเมืองไทย
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมเล็งเห็นบทความว่าด้วยการชุมนุมประท้วงชิ้นหนึ่งอันน่าสนุกได้แก่ผลงาน ‘การชุมนุมประท้วงของนักเรียน คนรุ่นใหม่สมัยคุณปู่ หลังการปฏิวัติ 2475’ ของปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช ลงพิมพ์ใน The MOMENTUM มุ่งเน้นนำเสนอการชุมนุมประท้วงหรือจะเรียกผ่านฝีปากคนยุคนั้นว่า ‘สไตรค์’ ในกลุ่มนักเรียนตามสถานศึกษาต่างๆ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 หมาดๆ ปกรณ์เกียรติเรียบเรียงข้อมูลจากหลักฐานเอกสารเก่าๆ ไว้น่าชื่นชมทีเดียว นับเป็นงานเขียนเปี่ยมคุณูปการไม่น้อย ครั้นเมื่อผมต้องมาเขียนถึงการประท้วงหรือ ‘สไตรค์’ เสียเองบ้าง ทีแรกใคร่ครวญนานหลายครู่ว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวอะไรดี ที่สุดจึงตกลงใจทดลองจาระไนถึงการชุมนุมประท้วงในท่วงทำนองที่กำลังจะโลดแล่นอีกหลายบรรทัดถัดไป
แท้จริง การที่กลุ่มคนมารวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือประท้วงต่อต้านสิ่งต่างๆ เคยปรากฏในสังคมไทยมาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงหรือ ‘สไตรค์’ ของกลุ่มชาวจีนซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2453 เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลเรียกเก็บเงินค่าผูกปี้จากชาวจีนคนละ 6 บาท จึงพากันสร้างความวุ่นวายตามย่านชุมชนจีนในกรุงเทพฯ ทั้งสัมพันธวงศ์ จักรวรรดิ สามแยก บางรัก ชาวจีนที่เข้าร่วมถูกจับกุม 386 คน ทางการสั่งปล่อยตัว 315 คน อีก 71 คนถูกลงโทษให้เนรเทศเพราะได้ก่อเหตุรุนแรงไม่ว่าจะเป็นต่อสู้และทำร้ายเจ้าพนักงาน ทุบตีพวกชาวจีนลากรถและทำลายรถลาก ขว้างปาทำลายข้าวของตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงยุยงให้คนปิดร้านขายของและร่วมประท้วง
พรรณี บัวเล็ก เสนอว่า พวกชาวจีนลากรถเป็นกลุ่มที่ตื่นตัวทางเมืองน้อยและมิค่อยเข้าต่อสู้ร่วมกับชาวจีนกลุ่มอื่นๆ ชาวจีนกลุ่มนี้เริ่มสไตรค์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2459 เนื่องจากเจ้าของรถเรียกค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากเดิมกลางวัน 31 สตางค์ เป็นราคา 40 สตางค์ และเดิมกลางคืน 31 สตางค์ เป็นราคา 35 สตางค์ อย่างไรก็ดี ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกกุลีลากรถกลับกลายเป็นชาวจีนกลุ่มสำคัญผู้ก่อการประท้วงในพระนคร วันที่ 4-5 สิงหาคม พ.ศ. 2475 จีนลากรถจำนวน 6,000 คนได้สไตรค์หยุดลากรถอย่างพร้อมเพรียง และมาชุมนุมเพื่อหาแนวร่วมจีนลากรถด้วยกันตามเชิงสะพานผ่านฟ้า เชิงสะพานนางเลิ้ง เชิงสะพานเทเวศร์ เป็นต้น (ปี พ.ศ. 2474 เคยมีพวกจีนลากรถชวนกันหักรถลากจำนวน 3,000 คันในวันเดียว)
การชุมนุมประท้วงของพวกกุลีจีนลากรถได้รับน้ำเสียงเห็นอกเห็นใจจากสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง มองว่าแม้การสไตรค์จะเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งของโลก และในบางประเทศเกิดเหตุเลือดตกยางออก แต่การสไตรค์ของชาวจีนลากรถคราวนี้กลับเป็นไปอย่างสงบดีเช่นเดียวกับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน เพราะชาวจีนลากรถเองก็เลื่อมใสคณะราษฎร
นายพันโทอองรี รูซ์ (Lieutenant-colonel Henri Roux) ผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศสประจำสยามในปี พ.ศ. 2475 ได้เขียนรายงานความเคลื่อนไหวภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า ชาวจีนตามหน่วยงานต่างๆ และชาวจีนลากรถขู่จะหยุดงานประท้วงช่วงต้นเดือนสิงหาคม ขณะเดียวกันก็รายงานถึงการประท้วงหรือสไตรค์ของนักเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนเซนต์คาเบรียลจำนวน 2,000 คนเมื่อวันที่ 9 กันยายนปีเดียวกัน นายพันโทรูซ์มองว่านี่หาใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นการลอกเลียนแบบที่ย่อส่วนมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติวันที่ 24 มิถุนายน สอดคล้องกับงานของปกรณ์เกียรติที่เผยให้เห็นความตื่นตัวของนักเรียนที่ประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ทั้งกลุ่มนักเรียนไทยจากหลายโรงเรียนรวมถึงนักเรียนหญิงโรงเรียนสตรีวิทยา และกลุ่มนักเรียนจีนช่วงปลายปี พ.ศ. 2476 ที่หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ลงข่าวพาดหัวว่า ‘นักเรียนจีนราว 400 คนก่อการสไตรค์’
นับแต่กลางปี พ.ศ. 2475 ใช่เพียงแค่ชาวจีนเท่านั้นที่ตื่นตัวกับการชุมนุมประท้วง กลุ่มกรรมกรชาวไทยก็เริ่ม ‘สไตรค์’ เนืองๆ เช่นกัน กลุ่มหนึ่งที่แสดงบทบาทเข้มข้นได้แก่กรรมกรรถราง พวกเขาเคลื่อนไหวจะก่อตั้งสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม (ส.ร.ส.) และมีเสียงสนับสนุนจากแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ข้อเขียน ‘กรรมกรสามารถจะรักษาผลประโยชน์ของตนได้อย่างไร’ ของนายแกล้วการเมือง ในหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ประจำวันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ก็ส่งเสริมการก่อตั้งสมาคมนี้ อ้างเหตุผลทำนอง “กรรมกรนับว่าเปนชนชั้นสำคัญของบ้านเมืองสมัยนี้ เพราะบ้านเมืองที่เจริญแล้วโดยมากย่อมต้องมีอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยปราศจากกรรมกร เพราะฉะนั้นกรรมกรทุกคนจึงไม่ควรตีราคาของตนให้ต่ำ กรรมกรควรพูมใจว่าตนเปนคนสำคัญของประเทศ ควรได้รับสิทธิและควรปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกตามหลักของประเทศที่เจริญแล้ว”
อีกทั้ง “…กรรมกรต้องรวมกำลังกันตั้งขึ้นเปนสมาคม และใช้วิธีนัดกันหยุดงานเปนอาวุธต่อสู้กับนายจ้าง” รวมถึง “นอกจากสั่งนัดหยุดงานเพื่อตอบโต้นายจ้างที่อยุตติธรรมแล้ว สมาคมกรรมกรยังสามารถทำประโยชน์ให้นายจ้างและประเทศได้ด้วย นายจ้างมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงวิธีการในโรงงานของตนอย่างไร จะทำความตกลงกับลูกจ้างเรียงตัวไปนั้นย่อมทำไม่ได้ เพราะมีลูกจ้างมากด้วยกัน แต่ถ้ามีสมาคมกรรมกรอยู่แล้ว นายจ้างก็สามารถจะเจรจากับสมาคมได้”
แม้นายแกล้วการเมืองจะเห็นพ้องกับการมีสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามและการมีสิทธิ์นัดหยุดงานประท้วงนายจ้างได้ แต่พอปลายเดือนตุลาคมมีข่าวลือการจะ ‘สไตรค์’ ของกรรมกรบริษัทรถรางขึ้นมาจริงๆ ซึ่งจะยกระดับขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองด้วย นายแกล้วการเมืองกลับไม่สนับสนุนพร้อมอ้างว่าการนัดหยุดงานอาจขัดต่อหลักกฎหมาย ต้องรับโทษดังข้อเขียนของเขาในหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ประจำวันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2475
ล่วงเข้ากลางเดือนพฤศจิกายน ข่าวที่กรรมกรรถรางจะ ‘สไตรค์’ ยิ่งชัดเจนขึ้น เห็นได้จากหนังสือพิมพ์ ชาติไทย ประจำวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน และประจำวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475
เท่าที่อ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์มา ข้อสังเกตหนึ่งพึงขบคิดคือการชุมนุมประท้วงในอดีตก่อนปีพุทธศักราช 2500 มักยึดโยงกับคำว่า ‘สไตรค์’ จะพบเห็นตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ ‘สไตรค์’ เดิมมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ‘strike’ เป็นคำใช้เรียกการนัดหยุดงานของกรรมกร พอเอ่ยคำนี้ให้ประหวัดนึกถึงภาพของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทว่าบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ได้นำมาใช้กับกลุ่มคนอื่นๆ ด้วยในความหมายต่างๆ นานา แต่ก็สื่อนัยยะของการไม่จำยอม และปัญหาความไม่ราบรื่นเรียบร้อย เป็นต้นว่าเรื่องการทะเลาะถกเถียงกันระหว่างผัวเมีย เมียประท้วงผัวก็ยังใช้คำนี้มาหยอกเอินและล้อเลียน
อีกตัวอย่างที่หนังสือพิมพ์เสนอข่าวโดยเรียกว่าเป็นการ ‘สไตรค์’ เช่นกัน นั่นคือกรณีนักเรียนนางพยาบาลที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 29 คนประท้วงกฎเกณฑ์ข้อบังคับด้วยการหลีกหนีภาระงานกดดันไปเที่ยวเมืองลำพูน ปรากฏเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ลงข่าวพาดหัว ‘ปาฏิหาริย์ไปเมื่อตี ๓ วันนั้นมีคนตาย ๓ คน ปีนหน้าต่างจากโรงพยาบาล จับรถยนตร์ไปยังเมืองลำพูน’ มีความตอนหนึ่งว่า
“โดยเหตุที่นักเรียนนางพยาบาลเหล่านี้มีความน้อยเนื้อต่ำใจในบางประการ มีเรื่องอาหารการกิน, กฎข้อบังคับ, ซึ่งเพิ่มเวลาให้ทำงานจาก ๖ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง และการเพิ่มงานให้ทำในวันเสาร์ ซึ่งเปนวันแสนสุขในการที่จะได้ออกไปเที่ยว จึงนักเรียนนางพยาบาลเหล่านี้ได้ทำการสไตรค์นัดแนะกันที่จะทำปาฏิหารย์ ‘ล่องหน’ ซึ่งความคาดหมายในผลประโยชน์จะมีเพียงใดนั้นไม่ทราบชัดนัก แต่ตามทางสันนิษฐานก็เพื่อจะให้โรงพยาบาลจัดการลดหย่อนผ่อนตามในสิ่งที่พวกเธอต้องประสงค์ ซึ่งเปนความประสงค์ที่รุนแรงที่สุดถึงกับต้องอัปเปหิตัวเองออกจากโรงพยาบาลเสียชั่วคราว”
การประท้วงนี้ส่งผลให้เกิดความชุลมุนในโรงพยาบาลจนมีผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต 3 ราย ดังนั้น “นักเรียนนางพยาบาล ๒ คน ซึ่งดูเหมือนจะเปนหัวหน้าในการสไตร้คในครั้งนี้ได้ถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเมื่อวันที่ ๒๒ โดยรถด่วนแล้ว”
ช่วงทศวรรษ 2490 พบการสอดแทรกคำว่า ‘สไตรค์’ ไว้ในงานเขียนประเภทวรรณกรรมหลากหลายเรื่อง นอกเหนือไปจากจำพวกวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตทั้งหลายแล้ว แทบมิน่าเชื่อว่ากระทั่งในวรรณกรรมนำเสนอเรื่องเพศโจ่งแจ้งเยี่ยง ‘หนังสือปกขาว’ ก็ยังเจอะเจอคำนี้ ขอยกตัวอย่างผลงานของชอบสนุกเรื่อง สงครามพิงโอ่ง ที่ตอนหนึ่งตัวละครฝ่ายชายและฝ่ายหญิงกำลังอาบน้ำในอ่างพร้อมประกอบกิจกรรมทางเพศ บังเอิญน้ำประปาไม่ไหล ตัวละครฝ่ายชายหงุดหงิดมากจนบ่น “น่ากลัวจะถูกสไตรค์เรื่องน้ำประปาเสียแล้ว” สะท้อนนัยยะว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพและธนบุรี โดยเฉพาะชาวต่างจังหวัดและกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ทำให้น้ำประปาในเมืองหลวงไม่พอใช้ เกิดเหตุน้ำไม่ไหลบ่อยๆ ฉะนั้น ตัวละครทั้งสองจึงต้องอาบน้ำจากโอ่งแทน
ปัจจุบัน การเรียกขานการชุมนุมประท้วงว่า ‘สไตรค์’ อาจจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นชิน และมิติความหมายของการประท้วง การชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องต่างๆ ก็อาจไปไกลมากกว่าขอบเขตของคำว่า ‘สไตรค์’ เสียแล้ว พูดง่ายๆ ว่าการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาทุกวันนี้ เราแทบจะไม่เห็นการนำเสนอว่านักเรียนนักศึกษาสไตรค์เฉกเช่นที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ช่วงทศวรรษ 2470 แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ถึงพลังของคำนี้ที่เสมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ไม่ยอมจำนนและการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในวันวาน
เอกสารอ้างอิง
ชอบสนุก. สงครามพิงโอ่ง. ม.ป.ท., ม.ป.ป.
ชาติไทย (18 ตุลาคม 2475)
ชาติไทย ( 25 ตุลาคม 2475)
ชาติไทย ( 17 พฤศจิกายน 2475)
ชาติไทย ( 19 พฤศจิกายน 2475)
ไทยใหม่ (24 ตุลาคม 2478)
ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช. “การชุมนุมประท้วงของนักเรียน คนรุ่นใหม่สมัยคุณปู่ หลังการปฏิวัติ 2475.”
The MOMENTUM. (MAR 11, 2020)
พรรณี บัวเล็ก. กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2542
พิมพ์พลอย ปากเพรียว. การปฏิวัติสยาม 2475 ในทัศนะของพันโทอองรี รูซ์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร
มหาบัณฑิต สาขาวิชาฝรั่งเศสศึกษา ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553