ฉีดน้ำแรงดันสูง น้ำผสมสารเคมี แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง
เป็นอีกครั้งที่ #ม็อบ18กรกฎาคม มีการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐ และอุปกรณ์นานาชนิด ในการปราบปราม สลายการชุมนุม แต่ถึงอย่างนั้น เราขอยืนยันอีกครั้งว่าอุปกรณ์ และวิธีการเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องปกติที่ควรเกิดขึ้น กับการแสดงออก และใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะการชุมนุมอย่างสันติ
ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวหลายคน ที่เข้าไปรายงานสถานการณ์ทั้งในแนวหน้า และในขบวนของผู้ชุมนุม ต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวว่า พวกเขารู้สึกถึงปฏิบัติการณ์ที่รุนแรงขึ้นของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความรุนแรง และความเข้มข้นของแก๊สน้ำตา ที่ส่งผลต่อร่างกายหลายๆ อย่าง รวมถึงการที่มีสื่อถูกยิงโดนกระสุนยางอีกครั้ง ทำให้ประเด็นความปลอดภัย และเสรีภาพของสื่อถูกพูดถึงอีกครั้ง
เกิดอะไรขึ้นใน #ม็อบ18กรกฎาคม สื่อมวลชนเห็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างไร ?
ใน #ม็อบ18กรกฎาคม เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ลงพื้นที่รายงานข่าว โดยจากการนัดชุมนุม และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้ มีการนัดรวมตัวที่จุดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการแบ่ง ตั้งแถวของขบวนเริ่มจากแถวของการ์ด กลุ่มคนที่เดินเท้า รถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ต่อกันไป เพื่อเดินหน้าไปสู่ทำเนียบรัฐบาล พร้อม 3 ข้อเรียกร้องอย่าง 1) นายกฯ และองคาพยพต้องลาออก 2) ปรับลดงบสถาบันกษัตริย์ และกองทัพ เพื่อมาสู้ COVID-19 และ 3) เปลี่ยนวัคซีนเจ้าสัว เป็น mRNA โดยมีพร๊อพสำคัญที่แจกให้คนในขบวนอย่างตุ๊กตาหุ่นศพ ที่เป็นตัวแทนของผู้สูญเสียจาก COVID-19 ไปยังทำเนียบรัฐบาล
“คนตายทุกคนไม่ใช่ตัวเลข พวกเขามีใบหน้า เป็นที่รักของใคร เราจะพาเสียงที่ดังไม่ถึงของพวกเขา ไปยังทำเนียบ” แกนนำประกาศผ่านรถเครื่องเสียง
ผู้ชุมนุมออกเดินโดยตั้งใจจะใช้ถนนเส้นราชดำเนิน แต่ก็มีการสกัดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในช่วงแรกการ์ดได้พยายามจะผ่านเส้นทาง มีการตัดรั้วลวดหนาม ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็เริ่มออกคำสั่งปฏิบัติการ
เมธิชัย เตียวนะ ช่างภาพของ The101.world ซึ่งเป็นหนึ่งคนที่อยู่ในแนวหน้าเล่าว่า “ในช่วงแรกตรงบริเวณแยกผ่านฟ้าเจ้าหน้าที่สั่งฉีดน้ำ ก่อนจะยกระดับเป็นน้ำผสมแก๊ส และสุดท้ายเป็นกระสุนยาง ในจังหวะที่ยกระดับเป็นกระสุนยาง ณ ตอนนั้นเรามองว่ายังมองไม่เห็นความจำเป็น เพราะจากที่เห็นตอนนั้นมากสุด คือผู้ชุมนุมบางส่วนตอบโต้จนท.ที่ฉีดน้ำแรงดันใส่ด้วยการปาขวดน้ำเข้าไปในแนวเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการควบคุมสถานการณ์ระดับนี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้กระสุนยางเลย”
สื่อคนอื่นๆ ก็บอกกับเราเช่นเดียวกันว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เริ่มอย่างรวดเร็ว และรุนแรง เมื่อผู้ชุมนุมถึงแนวหรือสื่อมวลชนเข้าถึงจุด ก็มีการใช้เครื่องมือแล้ว โดยธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าวของ The Standard มองสถานการณ์ว่า “วันที่ 18 กรกฎาคม การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่มีลักษณะเตรียมพร้อมที่จะใช้ยุทธวิถีด้วยการใช้เครื่องมือ หรือกำลังต่อผู้ชุมนุมมากกว่ามาตรการเจรจา โดยมีการปฏิบัติการสลายการชุมนุมด้วยรถน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยางต่อเนื่อง รวดเร็วกว่าทุกครั้ง ขณะที่มีการประกาศให้สื่อมวลชนหลบออกจากแนว ไปอยู่ด้านข้าง แต่ก็ยังมีวิถีการปฏิบัติยุทธวิธีที่ทำให้สื่อมวลชนซึ่งปฏิบัติหน้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ กระสุนยาง แรงฉีดจากน้ำ และแก๊สน้ำตา ยังไม่นับรวมการพยายามสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่เพื่อดูความจริง หรือการห้ามถ่ายคลิปหรือภาพนิ่ง เป็นต้น”
ซึ่งการบอกเล่าของธนกรนั้น สอดคล้องกับกมลทิพย์ นักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ที่เธอบอกกับเราเลยว่า เจ้าหน้าที่เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมน้อยลง
“ประกาศที่ได้ยินส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเตือนผู้ชุมนุมจะทำผิดกฏหมาย และประกาศการใช้มาตราการต่างๆ มากกว่าการที่จะแสดงท่าทีในการยอมรับฟังข้อเรียกร้อง การใช้มาตราการต่างๆเข้มข้นขึ้น ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีก็สามารถเห็นได้ชัดว่าผ่านการตกผลึกมารับมืออย่างดีเยี่ยม เรียกว่าหากมีจัดอันดับประเทศที่รับมือกับการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงยอดเยี่ยม ไทยอาจจะเข้าชิงรายชื่อในลำดับต้นๆแล้วก็เป็นได้”
อย่างที่สื่อทุกคนเล่า กระสุนยางของเจ้าหน้าที่เริ่มใช้ตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้า บนถนนราชดำเนิน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการได้ยิน และเห็นการยิงกระสุนยาง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะประกาศใช้กับมวลชน ซึ่งจุดปะทะแรกนี้เอง ก็มีทั้งสื่อมวลชน และประชาชนที่ถูกยิง วรัทยา ปัทมวิทูร นักข่าว The Reporter ซึ่งทำการไลฟ์สดเหตุการณ์อยู่บริเวณนั้น ได้เห็นเหตุการณ์ โดยเธอบอกกับเราว่า “ที่สะเทือนจิตใจมากๆ คือ เห็นคนใกล้ๆ ที่ยืนอยู่หลังที่กำบังด้วยกัน ตอนเจ้าหน้าที่ประกาศว่าจะเริ่มใช้กระสุนยาง แล้วเขาถูกกระสุนยางยิงเข้าใบหน้า จนเลือดออกบริเวณใกล้ๆ ดวงตา ซึ่งอันนี้คิดว่ารุนแรงมาก เพราะไม่ควรจะเล็งกระสุนเข้าที่ใบหน้า”
ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพจาก Voice TV ก็ย้ำกับเราเช่นกันว่า แม้ว่าทุกครั้งรัฐจะใช้ความรุนแรง แต่ครั้งนี้เขาเห็นว่าการยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่นั้น ผิดกับหลักสากล โดยสำหรับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายของ OHCHR ได้มีการกล่าวอย่างชัดเจนว่า กระสุนยางนั้น ควรเล็งไปที่ ‘ท้องส่วนล่าง หรือขา ของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และเฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสาธารณชน’ รวมถึงมีการระบุว่า การใช้กระสุนยางไม่ควรเล็งไปที่ ‘หัว หน้า หรือคอ’ แต่ในชั่วโมงแรกของการปฏบัติการณ์ เรากลับพบผู้ที่ถูกยิงเข้าที่ใต้ตา ดั้งจมูก และที่ลำคอด้านหลัง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ประชาชน และสื่อมวลชนถูกยิงด้วยกระสุนยาง “จากการลงพื้นที่ทำข่าวมาหลายหน การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่แต่ละครั้ง มีปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติที่ต่างจากการอธิบายขั้นตอนทางทฤษฎีอยู่หลายหนตามที่ปรากฏผ่านการรายงานของสื่อในหลายเคส การรุกไล่สื่อมวลชนของเจ้าหน้าที่ และมีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากวิถีการยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ มีประชาชนถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงลักษณะการรุมตี เป็นต้น” ธนกรเล่า
ปฏิบัติการที่รุนแรงขึ้น พร้อมๆ กับแก๊สน้ำตาที่รู้สึกได้ว่ารุนแรง และเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา
แก๊สน้ำตาที่ยิงมาไม่หยุด ตั้งแต่ช่วง 4 โมง จนถึงช่วง 2 ทุ่มกว่า ไม่อาจนับได้ว่าแก๊สเหล่านั้นถูกยิงออกมาทั้งหมดกี่ลูก แต่ตลอดช่วงเวลานั้นก็สามารถแปรเปลี่ยนถนนพิษณุโลกจากก่อนถึงทำเนียบ ไปถึงแยกนางเลิ้งให้ฟุ้งไปด้วยควัน และแก๊สพิษนี้ ซึ่งเช่นเดียวกับการฉีดน้ำ และกระสุนยาง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้แก๊สน้ำตา ทำให้เหล่าผู้สื่อข่าว และประชาชนแนวหน้า ต่างมีอุปกรณ์อย่างหน้ากากป้องกันเตรียมพร้อม
ถึงอย่างนั้น แม้พวกเราจะมีอุปกรณ์ครบเซ็ท แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า แก๊สน้ำตาในครั้งนี้ เข้มข้น และรุนแรงกว่าที่ผ่านมา กมลทิพย์บอกว่าเธอรู้สึกได้เลยว่ามันรุนแรงกว่าเดิม “จากประสบการณ์ที่ลงพื้นที่มาแทบทุกครั้ง แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงจะแถลงว่าเป็นรุ่นเดิม ผู้ได้รับผลกระทบและสื่อมวลชนอาจจะคิดไปเอง แต่จากที่เห็นในระยะประชิดด้วยตาของตัวเอง พบว่าเป็นคนละรุ่นกับครั้งก่อน และไม่ได้คิดไปเองแน่นอน”
ด้านธนกรได้เล่าถึงอาการที่เขา และทีมเจอหลังสัมผัสกับแก๊สน้ำตาครั้งนี้ว่า “จากการสัมผัสกับแก๊สน้ำตามาหลายหน ในการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวในเหตุสลายการชุมนุม มีข้อสังเกตและสัมผัสได้ว่า หนนี้ดูเหมือนประสิทธิภาพของแก๊สน้ำตาเหมือนจะแรงขึ้น เพราะตนเองนั้นอยู่ในจุดที่ห่างจากการยิงพอสมควร แต่ทิศทางลมที่พาควันแก๊สลอยมา ก็ทำให้มีอาการแสบร้อน แสบลงคอ และแสบหน้าอก ถึงขนาดหายใจไม่ออกชั่วขณะ มีลักษณะอาการทุรนอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะได้รับการปฐมพยาบาลจากประชาชน”
ทั้งยังชี้อีกว่า แก๊สน้ำตาครั้งนี้ทำให้ผิวหนังแสบร้อนง่ายขึ้น “แม้แก๊สไม่มีกลิ่นฉุนจากควัน แต่สัมผัสแล้วรับรู้ว่ารุนแรงขึ้น เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งได้สอบถามหลายคนก็มีอาการคล้ายคลึงกัน”
ในฐานะนักข่าวใหม่ แต่จากประสบการณ์การลงพื้นที่ของวรัทยาเอง เธอก็บอกว่าครั้งนี้คือครั้งที่แก๊สน้ำตารุนแรงที่สุดแล้ว จากการเจอแก๊สน้ำตาทั้งหมด 3 ครั้ง
“ถ้าสังเกตช่วงมาถึงทำเนียบ แม้ผู้ชุมนุมจะยังไม่ประชิดแนวเจ้าหน้าที่มาก เจ้าหน้าที่ก็จะใช้แก๊สต่อเนื่อง แล้วเห็นวิถียิง คือยิงไกลด้วย บางลูกมาตกเกือบถึงแยกนางเลิ้งเลย เราที่เป็นสื่อ พยายามจะเข้าไปรายงานเหตุการณ์ให้ใกล้แนวมากที่สุด แต่ในม็อบ 18 กรกฎา ก็ต้องเดินเข้าๆ ออกๆ จากจุดใกล้แนวถอยมาแยกนางเลิ้ง ออกมาตั้งหลักล้างหน้าหลายครั้งมากๆ พอกลับเข้าไปก็มีแก๊สชุดใหม่มาอีก วนอยู่แบบนั้น และสุดท้ายก็อยู่ได้แค่แถวแยกนางเลิ้งเพราะมันเข้าไปไม่ไหวจริงๆ ขนาดมีอุปกรณ์ป้องกัน
จนหลังยุติการชุมนุมไปแล้ว มีมวลชนบางส่วนยังอยู่และมีแนวเจ้าหน้าที่ที่กระชับมาทาง ถ.นครสวรรค์ เราอยู่ห่างๆ ก็ยังได้กลิ่นแก๊สน้ำตาอยู่เลย” โดยวรัทยาบอกว่า เธอไม่เห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สต่อเนื่องหรือไม่ แต่จนถึงช่วงค่ำ กลิ่นเหล่านั้นยังคงอยู่
เมธิชัย ก็เป็นอีกคน ที่แม้จะถ่ายภาพอยู่แนวปะทะ แต่เขาก็ต้องวิ่งเข้าๆ ออกๆ มาล้างหน้า แม้จะสวมอุปกรณ์ป้องกันครบเซ็ท ซึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตนอกจากความรุนแรงแล้ว ยังมีเรื่องความจำนวนของแก๊สด้วย
“จำได้ว่าเป็นช่วงแรกๆ ที่นางเลิ้งตอนนั้นเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตามาหลายลูกมาก เราคิดว่ามากกว่าเรื่องความแรงของตัวแก๊สน้ำตา คือครั้งนี้เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สถี่มากๆ”
นอกจากการยิงแก๊สที่ทั้งแรง และถี่แล้วนั้น การชุมนุมในครั้งนี้ มวลชนซึ่งอยู่แถวหลัง มีจำนวนมากที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ป้องกัน แต่กลับได้รับความรุนแรงจากแก๊สน้ำตา ซึ่งทั้งจังหวะของลม และความถี่ รวมไปถึงการแจ้งเตือนของรัฐ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบทางร่างกายจากแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ที่ถึงขั้นเป็นลม และสำลักแก๊สจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลจากการชุมนุมในวันนั้นด้วย รวมไปถึงยังมีวิธีการยิงแก๊ส และฉีดน้ำซ้ำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยิงทำให้ควัน จากแก๊สฟุ้งขยายวงกว้างไปทั่วบริเวณท้องถนน ผสมกับการยิงกระสุนยาง
บทบาทของสื่อ ต่อการรายงานแนวหน้าปะทะ และเสรีภาพของสื่อที่ไม่ควรถูกลิดรอน
The Reporter เป็นสื่อออนไลน์ที่เน้นการนำเสนอผ่านการไลฟ์สด ซึ่งแน่นอนว่า หากเกิดแนวปะทะ ผู้สื่อข่าวก็ต้องเข้าไปรายงาน และถ่ายทอดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น วรัทยาเล่าถึงความสำคัญในการที่สื่อมีส่วนถ่ายทอดเหตุการณ์ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 18 กรกฎานี้ว่า
“จากที่เราเห็นหน้างาน ผู้ชุมนุมจะกั้นแนวให้ผู้เข้าร่วมไม่มาอยู่แนวหน้า แนวหน้าจะมีแต่การ์ด เพราะความปลอดภัยสำคัญสุด อันนี้มองว่าเป็นการจัดการที่ดี ซึ่งสำหรับเรา ด้านคนเข้าร่วมชุมนุมค่อนข้างเยอะมาก ทั้งคนเดิน มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์อีก พอเกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้น คนข้างหลังแทบไม่รู้ว่าข้างหน้ามีไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วเขามาด้วยใจพร้อมสู้ พอขบวนไม่เดินหน้า คนข้างหลังก็เริ่มวุ่นวายนิดๆ ว่าอะไรยังไง
พอมันเป็นแบบนี้ สื่อจึงสำคัญมาก ที่จะช่วยรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ทุกคนเข้าใจตรงกันในสถานการณ์ที่มีความชุลมุน สิ่งสำคัญคือต้องฟังให้ชัด ตีความให้แตก ตำรวจพูดว่าอะไรบ้าง แกนนำพูดว่าอะไรบ้าง ทิศทางการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายเป็นยังไง เหตุการณ์ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง คิดว่าการที่เราไปอยู่จุดแนวหน้า แล้วสื่อสารสิ่งเหล่านี้ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน มันจะช่วยลดความวุ่นวายได้ส่วนหนึ่ง และทำให้มีความปลอดภัยต่อทุกฝ่ายมากขึ้น”
ขณะที่ในมุมของช่างภาพ ซึ่งต้องเข้าไปเก็บ และถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นหน้างาน ปฏิภัทร ก็บอกเราว่า งานของเขาคือประจักษ์พยานต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
“สื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปรายงานบันทึกภาพเพื่อนำเสนอสิ่งที่เกินขึ้นเผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้วตามปกติ ในบทบาทหนึ่งสื่อทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนในขั้นตอนการทำงานจุดที่จะได้ภาพที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ที่สุดคือบริเวณแนวปะทะ
ในช่วงเหตการณ์วันที่ 18 ที่ผ่านมามีบางจังหวะที่มีการฉีดน้ำใส่สื่อที่อยู่บริเวณแนวปะทะซึ่งส่งผลให้อุปกรณ์การทำงานของบางคนได้รับความเสียหาย ไม่แน่ใจว่าเกิดจากผิดพลาดของเจ้าหน้าที่หรือเป็นความตั้งใจ แต่สื่อควรอยู่ในจุดที่สามารถทำหน้าที่รายงานความจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้าต่อสาธารณะทั้งในมุมของผู้ชุมนุมและสิ่งที่รัฐทำต่อประชาชน”
เคสวันที่ 18 มีสื่อถูกยิงและมีหลายเคสที่ถูกยิงบริเวณท่อนบนของลำตัว ไม่เพียงเฉพาะสื่อแต่การใช้กระสุนยางยิงในระดังสูงท่อนบนของลำตัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นทั้งกับสื่อและประชาชน เข้าใจว่าในการปฏิบัติการณ์หลายครั้งมีความพยายามที่จะกั้นสื่อออกนอกพื้นที่แนวปะทะส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อเข้าไปกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเราคิดว่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากให้ภาพปฏิบัติการณ์ที่มีความรุนแรงถูกนำเสนอออกไป แต่สื่อควรมีเสรีภาพในการทำหน้าที่ถ่ายทอดนำเสนอความจริงออกมาให้ได้มากที่สุดและเป็นประจักษ์พยานต่อสิ่งที่เกิดขึ้น”
เช่นเดียวกับเมธิชัย ซึ่งเป็นช่างภาพเช่นกัน ก็บอกว่าเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าไปแนวปะทะได้ “งานภาพข่าวมันหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการที่เราต้องไปอยู่ตรงแนวปะทะเราต้องอยู่ตรงนั้นตลอดเพื่อบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และต้องทำให้ภาพของเราเล่าเรื่องให้ได้ งานภาพข่าวจึงต้องอาศัยจังหวะในการเข้าไปถ่าย เราไม่ได้เข้าไปครั้งเดียวแล้วได้ภาพเลย แต่การเข้าไปทุกครั้งคือความเสี่ยง ยิ่งมีนักข่าวโดนยิงด้วยกระสุนยางเรายิ่งทำงานยากขึ้น ตามหลักแล้วในสถานการณ์แบบนี้รัฐควรคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งมันก็หมายถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย
ตามหลักสากลแล้วมันต้องเป็นการยิงเพื่อลดความรุนแรง และที่สำคัญคือต้องเป็นการยิงที่หวังผลชัดเจน หลายครั้งที่ผ่านมาเราเห็นว่ามันไม่ได้เป็นไปตามนั้นเลย เมื่อวานมีนักข่าวโดนยิงที่แขน มีผู้ชุมนุมถูกยิงเข้าที่ใต้ตาซึ่งอีกนิดเดียวคือดวงตาแล้ว และเราเองที่ยืนอยู่ในจุดที่คิดว่าปลอดภัยพร้อมกับพี่ๆ นักข่าวอีก 2-3 คน ก็ยังมีกระสุนยางยิงมาใกล้ๆ กับจุดที่เรายืนอยู่เลย ยังไม่ได้นับการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่สื่อจนกล้องพังกันไปหลายตัวอีกด้วย”
ไม่เพียงแค่การเข้าไปแนวปะทะ และเสี่ยงอันตรายจากปฏิบัติการของรัฐ แต่ยังมีหลายครั้งในการชุมนุม ที่สื่อโดนกันออกจากพื้นที่ปะทะ ทำให้มีความกังวลว่าอาจมีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยที่ไม่มีพยาน หรือการตรวจสอบ กมลทิพย์ และวรัทยา ได้พูดถึงประเด็นนี้กับเราว่า
“การกันสื่อออกไปไม่ให้ทำหน้าที่ คือการริดรอนสิทธิของสื่อ เหมือนบอกว่าไม่ปิดกั้น จะทำข่าวก็ได้แต่ต้องอยู่ตรงนี้ เหมือนอนุญาตให้เก็บมะพร้าวแต่ห้ามใช้อุปกรณ์และต้องยืนที่พื้นเท่านั้นนะ ยืดมือไปได้อย่างเดียว ซึ่งความเสี่ยงหรืออันตรายที่เกิดขึ้นแม้ส่วนใหญ่มาจากอาวุธ หรือการกระทำจากฝ่ายรัฐที่สามารถควบคุมได้ แต่สื่อเองก็รับทราบและยอมรับความเสี่ยงนั้นในการทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็ควรให้สื่อได้ทำหน้าที่ของพวกเขา หากยังกล้าเรียกว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอยู่”
“ในสากล สื่อมวลชนเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับความขัดแย้ง มีบทบาทในการบอกเล่าสถานการณ์ตามความจริง ใครจะผิดจะถูกยังไง สื่อมีหน้าที่รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ให้ประชาชนรับรู้ ที่เหลือเป็นเรื่องของคนเสพข่าวว่าจะคิดอย่างไร แต่การที่สื่อถูกทำร้ายไปด้วยแม้จะแสดงตนว่าเป็นสื่ออย่างชัดเจน จะสร้างความแคลงใจให้กับประชาชนว่ารัฐกำลังพยายามปกปิด บิดเบือน หรือ ริดรอนเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอยู่หรือไม่” กมลทิพย์เล่า
ด้านวรัทยาก็เสริมว่า “เราอยากให้เจ้าหน้าที่ ให้เสรีภาพในการทำงานของสื่อ มีหลายครั้งที่สื่อถูกกันออกจากแนวปะทะ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่เราคิดว่าเจ้าหน้าที่ควรจะให้เสรีภาพเรา ให้พื้นที่ทำงาน เราเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ต้องใช้พื้นที่ปฏิบัติงาน แต่อยากให้เข้าใจในการทำงานของสื่อด้วยเหมือนกัน อย่างน้อยกำหนดจุดที่จะปลอดภัยที่สุดก็ได้ แต่ไม่อยากให้กีดกัน ไม่ให้เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเลย เพราะถ้าสื่อไม่เห็น ประชาชนก็ไม่ได้รับรู้ นั่นอาจจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพของประชาชนด้วย
ยังคงยืนยันในคำที่ว่า ‘เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน’ อย่างที่บอกไปแล้วว่า ประชาชนจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือผ่านการรายงานของสื่อ ดังนั้น การที่สื่อไปอยู่แนวหน้า แต่กลับโดนกระสุนยาง นั่นคือไม่มีความปลอดภัยในพื้นที่ทำงาน แล้วเราจะมีปลอกแขน มีสัญลักษณ์สื่อกันไว้ทำไม และเจ้าหน้าที่ประกาศด้วยว่า จะดำเนินการเฉพาะกับผู้ชุมนุมที่ก่อความวุ่นวาย นั่นคือสื่อไม่ควรโดนด้วยมากๆ อยากให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ในการควบคุมเท่าที่จำเป็นจริงๆ และคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกฝ่าย”
ธนกรยังกล่าวถึงการยิงกระสุนยางของรัฐ ที่มีจะมีการแถลงขอโทษว่า ไม่ควรปล่อยผ่าน แต่ควรมีการตรวจสอบ เพื่อยืนยันความปลอดภัยของสื่อในอนาคต “รัฐออกมาแถลงขอโทษแล้วมีเนื้อหาเหมือนการยอมรับว่ามีการทำ ‘พลาด’ ไปในการที่วิถีกระสุนมาถูกสื่อ อย่างไรก็ตามเสรีภาพของสื่อ ย่อมหมายถึงเสรีภาพ และความปลอดภัยของประชาชนเช่นกัน รัฐไม่อาจอ้างเหตุความพลาด มาเป็นข้ออ้าง ต่อการปฏิบัติการได้ เพราะผลลัพธ์คือมีผู้บาดเจ็บจากการปฏิบัติการที่ต่อเนื่อง และต้องสืบหาความจริงเพื่อดำเนินการทั้งทางกฎหมายและเป็นการป้องปรามการใช้อำนาจในอนาคต”
“รัฐต้องมองสื่อในฐานะผู้สังเกตการณ์ และรายงานความจริงต่อสาธารณะชน หากรัฐมั่นใจต่อการปฏิบัติการที่เป็นไปตามกฎหมายและกติกาสากล ยิ่งต้องให้เราทำหน้าที่”
คือสิ่งที่ธนกรยืนยันกับเราในฐานะสื่อมวลชน
“สื่อควรได้ทำหน้าที่อย่างเสรี และมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับความจริงขณะเดียวกันในฝั่งของผู้ชุมนุมสื่อก็ควรได้รับการปฏิบัติด้วยการเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน บทบาทสื่อจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการคุ้มครองสิทธิ และจับตาอำนาจรัฐที่เหนือกว่าประชาชน ป้องกันไม่ให้ออกนอกลู่ทาง และช่วยให้ความขัดแย้งสับสนคลี่คลายไปพร้อมกันด้วย ขณะที่การทำหน้าที่ของสื่อในแนวปะทะเอง ก็ต้องพึงพิจารณาความปลอดภัยของตัวเอง ไปพร้อมกับการรายงานสถานการณ์เช่นกัน”
จุดยื่นในแง่สื่อคือ เสรีภาพ และพื้นที่ปลอดภัยในการทำหน้าที่ รัฐที่โปร่งใส ย่อมไม่เกรงกลัวสื่อ หากมั่นใจต่อการทำหน้าที่ตนเองอย่างตรงไปตรงมา”
แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อเรามองว่า เสรีภาพสื่อ เท่ากับเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นแล้ว เมธิชัยก็บอกกับเราว่า “สุดท้ายแล้วเราคิดว่าความรุนแรงมันไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะต่อสื่อ หรือผู้ชุมนุมที่เขาใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ”