#ม็อบ18กรกฎา เป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ปฏิบัติการณ์สลายการชุมนุม โดยมีการใช้ทั้งแก๊สน้ำตา สารเคมี และ ‘กระสุนยาง’
ซึ่งมีทั้งประชาชน และสื่อมวลชนที่ถูกยิงกระสุนยางใส่ในหลายจุด ทั้งมีการรายงานว่า มีการยิงกระสุนยางก่อนการแจ้งเตือนด้วย นำมาสู่คำถามว่าการใช้กระสุนยางนั้น เป็นไปตามหลักสากลไหม ? และในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ มีรายงานว่ามีคนถูกยิงที่จุดไหนกันบ้าง
หลักสากลในการใช้กระสุนยาง
iLaw ได้เผยแพร่ หลักสากล และวิธีกำหนดการใช้กระสุนยาง ซึ่งระบุไว้ใน แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ว่า ได้มีการกล่าวอย่างชัดเจนว่า กระสุนยางนั้น ควรเล็งไปที่ ‘ท้องส่วนล่าง หรือขา ของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และเฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสาธารณชน’
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า การใช้กระสุนยางไม่ควรเล็งไปที่ ‘หัว หน้า หรือคอ’ ด้วย โดยการเล็งไปที่ส่วนเหล่านั้น อาจส่งผลให้กระโหลกศีรษะแตก สมองบาดเจ็บ เกิดอันตรายต่อดวงตา รวมไปถึงอาจก่อให้เกิดอาการตาบอดถาวร หรืออาจเสียชีวิตได้ ทั้งยังการูดถึงการยิงที่ลำตัวผู้ชุมนุมอีกว่า อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ และอาจทะลุลำตัวผู้โดนยิง โดยเฉพาะเมื่อยิงในระยะใกล้ ขนาดของลำกล้องและความเร็วของวิถีการยิง รวมไปถึงส่วนประกอบอื่น ล้วนส่งผลต่อการก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บและความรุนแรงของการบาดเจ็บนั้นทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ในแนวปฏิบัติของหลักสากลนั้น ยังมีการระบุว่า ไม่ควรนะกระสุนโลหะหุ้มยาง และกระสุนโลกหะ เช่นที่ยิงจากปืนสั้นมาใช้ เพราะเป็นอันตราย, ไม่ควรยิงทีละหลายๆ นัด ในคราวเดียวกันนั้น เพราะไม่มีความแม่นยำ การยิงเช่นนั้นยังขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน รวมถึงควรมีการนำกระสุนไปทดสอบ และได้รับการอนุมัติให้ใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความแม่นยำเพียงพอที่จะใช้ยิงไปในบริเวณที่ปลอดภัยต่อเป้าหมายที่มีขนาดเท่ามนุษย์ ในระยะที่กำหนด และโดยไม่ใช้รุนแรงเกินควร ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บด้วย
ใครโดนกระสุนยาง โดนตำแหน่งบ้าง ?
จากการใช้กระสุนยางในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่นั้น มีรายงานว่ามีสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 ราย ที่ถูกยิงด้วยกระสุน ได้แก่ ช่างภาพจาก PLUS SEVEN ถูกกระสุนยางเข้าที่สะโพก, ช่างภาพจาก มติชนทีวี ที่ได้รับบาดเจ็บโดนกระสุนยางที่บริเวณแขนด้านซ้าย เช่นเดียวกับช่างภาพของ The MATTER ที่ถูกยิงจากกระสุนยางที่บริเวณท่อนแขนซ้ายเช่นกัน โดยมีการอ้างว่า การยิงกระสุนยางบริเวณถนนราชดำเนินนอกนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีคำสั่งแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่ รวมถึงสื่อมวลชนนั้นยังล้วนแต่ใส่ปลอกแขนระบุตัวตนว่าเป็นสื่อมวลชนด้วย
ขณะที่ด้านของประชาชนเอง มีการรายงานจากแพทย์อาสาว่า มีประชาชนถูกยิงในเคสหนักๆ ได้แก่ บริเวณที่ใต้ตา และบริเวณดั้งระหว่างตา รวมถึงมีประชาชนที่แชร์รูปรอยถูกยิงกระสุนยางที่ด้านหลังคอด้วย ทั้งการ์ดของการชุมนุมเอง ยังระบุเพิ่มเติมว่า มีเคสอื่นๆ ทั้งที่ แขน กลางหลัง รวมถึงส่วนหัว ซึ่งเคสนี้ไม่ได้รับอันตรายมาก เพราะสวมหมวกนิรภัยในขณะนั้น
จากเคสต่างๆ ที่ถูกความรุนแรงจากกระสุนยาง นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ปฏิบัติการณ์การสลายการชุมนุมโดยกระสุนยางของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ทั้งการแจ้งเตือนก่อนการใช้ และเกณฑ์ในการยิง ทั้งในการเล็งเป้าหมาย และการจุดที่เล็งบนร่างกาย ซึ่งมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากถูกยิงในช่วงลำตัวท่อนบน ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
เพราะกระสุนยาง อาจทำให้ผู้ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส พิการ รวมถึงเสียชีวิตได้ ประเด็นการใช้ปฏิบัติการณ์นี้ของเจ้าหน้าที่ จึงควรมีการชี้แจง และถูกตรวจสอบ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือผิดจากหลักการสากลด้วย
เข้าใจวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และอันตรายจากกระสุนยางได้ที่
กระสุนยางทำจากอะไร ร้ายแรงแค่ไหน? เข้าใจความอันตรายและวิธีปฐมพยาบาลจากการถูกยิง
อ้างอิงจาก