ประเทศไทยอยู่กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมานานหลายทศวรรษ เราต่างประสบกับความสูญเสียมากมายหลายครั้ง เหล่านักศึกษาและนักเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกจนบางครั้งก็ถูกหลงลืมไปจากพื้นที่ข่าว
แม้ว่าหลายคนจะรู้ปลายทางของการต่อสู้ แต่พวกเขาเหล่านี้ก็พร้อมเสี่ยงเพื่อความหวัง ว่าสักวันจะได้สัมผัสกับ ‘ประชาธิปไตย’ สักครั้งในชีวิต หรืออย่างน้อยที่สุดลูกหลานของเขาจะสามารถเติบโตและอาศัยในสังคมที่ดีกว่านี้ได้
………
บ่ายแก่ๆ ของวันอังคารปลายเดือนพฤษภาคมที่อากาศยังคงร้อนจัด ทนายด่าง-กฤษฎางค์ นุตจรัส ปรากฏตัวข้างรถเก๋งสีดำสวมใส่เชิ้ตสีขาวแขนยาว พร้อมเน็กไทสีดำ เขามอบรอยยิ้มและคำทักทายที่อบอุ่นให้กับเรา
The MATTER เริ่มบทสนทนาที่มีกาแฟดำร้อนๆ เป็นส่วนประกอบกับ ทนายด่าง-กฤษฎางค์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอาชีพเป็นทนายความ การยืนหยัดเคียงข้างเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตและประชาธิปไตยในประเทศ พร้อมกับตีแผ่ปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมของกระบวนการยุติธรรมกับภาพฝันที่เขาอยากจะเห็นสักครั้งของ ‘กรมราชทัณฑ์ไทย’
อยากให้ทนายด่างเล่าถึงจุดเริ่มต้นอาชีพเป็นทนายความ และอะไรที่ทำให้ตัดสินใจมาทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ที่มาเป็นทนายความเพราะว่าชอบเรื่องกฎหมายมาตั้งแต่เรียนมัธยม เราอยากเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะว่าคุณพ่อก็จบธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับลุงป้าน้าอา และมีความคิดว่างานทนายความเป็นอาชีพอิสระ เพราะที่บ้านส่วนใหญ่รับข้าราชการทั้งฝ่ายปกครองและทหาร ซึ่งเราก็เห็นสภาพชีวิตแล้ว มันเป็นชีวิตที่ไม่ค่อยมีสิทธิตัดสินใจเอง ก็เลยคิดว่าถ้าเราเป็นทนายความจะมีอิสระ เราสามารถทำในสิ่งที่เราอยากทำได้
แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงมาทำงานร่วมกับศูนย์ทนายฯ ความจริงแล้วก่อนหน้านั้นตอนเรียนมัธยมผมก็ไปเดินขบวน 14 ตุลาฯ (2516) และผมเคยอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ (2519) ก็ได้แรงบันดาลใจว่า “ประเทศไทยมันไม่เป็นธรรม”
ผมไม่ได้ทำเป็นหลัก จนกระทั่งการรัฐประหารของประยุทธ์ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี) พอดีรู้จักกับน้องที่เขาทำตรงนี้ ‘คุณเยาวลักษณ์ อนุพันธ์’ ที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ทนายฯ เขาชวนไปทำ ช่วงนั้นลูกสาวเรียนธรรมศาสตร์อยู่ปี 4 และทำกิจกรรมเคลื่อนไหว มีน้องๆ มาปรึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เพราะเขาโดนจับผมเลยไปช่วยในฐานะส่วนตัว แต่พอเจอคุณเยาวลักษณ์ เขาเลยชวนไปทำ ให้ไปเป็นทนายความในเครือข่าย
พอหลังประยุทธ์ มันมีการเคลื่อนไหวของนักศึกษามาตลอด ก็จะมีทนายเครือข่ายเข้าไปช่วยเยอะแต่ยังไม่พอ มีทนายหนุ่มๆ สาวๆ บ้าง คนแก่บ้างมาช่วยกันทำ จนมีศูนย์ทนายฯ ในทุกวันนี้
การว่าความให้ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ยากกว่าคดีทางการเมืองอื่นๆ ไหม?
ถ้าพูดจริงๆ คดี ม.112 เป็นคดีอาญา มันคือการทะเลาะกันในสังคม ที่มีทั้งกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา เช่น เราไปยืมตังเขา หรือบุกรุกที่ดิน เป็นเรื่องของเอกชนพิพาทกัน หรือเอกชนพิพาทรัฐ
แต่ถ้าเป็นทางอาญามันจะมีลักษณะแบบ ลักขโมย วิ่ง ชิง ปล้น เช่น ฆ่ากันตาย, ข่มขืน, พรากผู้เยาว์ อันนี้เป็นโทษที่รัฐกับประชาชนเป็นผู้เสียหายร่วมกัน ซึ่งความผิดในคดี ม. 112 เป็นกฎหมายอาญาธรรมดาอันหนึ่ง ที่ว่าความตามกฎหมายอาญาทั่วไป ต้องมีการพิจารณาว่าใครเป็นผู้เสียหาย ต้องมีองค์ประกอบของความผิด เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
เพราะฉะนั้น ม. 112 เป็นกฎหมายหนึ่งที่ธรรมดา แต่เนื่องจากมันอยู่ในหมวดของความมั่นคงจะมีทั้งความผิดต่อรัฐ เช่น กบฏ อย่างคุณประยุทธ์ที่ลากรถถังออกมาล้มล้างการปกครอง ในความเห็นของผมไม่ว่าแพ้หรือชนะก็เป็นกบฏทั้งนั้น
ส่วน ม. 112 เป็นองค์ประกอบของความผิดอาญาธรรมดา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ต่อคนพิเศษ 4 คน ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ มีโทษจำคุก 3 – 15 ปี แปลว่าจำคุกต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้ และสูงสุดคือ 15 ปี
ต่อมาก็ไปว่าความว่าเขาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายจริงหรือไม่ ถ้าในระบบที่มีความเป็นธรรมก็ไม่ยาก แต่ในระบบที่มันมีอคติ มีอำนาจ ที่เหนือกว่าศาล เหนือกว่าตำรวจ หรือมากกว่าอัยการก็จะยาก ที่มันยากเพราะว่ามี ‘แรงกดดันทางการเมือง’ มาก เพราะทุกคนเขาก็จะพูดว่าขึ้นศาลก็มีรูปพระมหากษัตริย์ ดังนั้นใครไปหมิ่นประมาท ศาลก็จะตัดสินในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นก็จะมีคนถามว่า แล้วเราจะได้รับความเป็นธรรมเหรอ เพราะไปพาดพิงสถาบันฯ ไปดูหมิ่น มันเลยเกิดความยาก
ความยากมันจะปรากฎอยู่หลายอย่าง เช่น สมมติมีคนไปแจ้งความว่าคุณผิด ม. 112 มีตำรวจที่ไหนจะกล้าไม่รับเรื่องไหม? คิดไหมว่าตำรวจจะสั่งไม่ฟ้อง? ไม่มีทาง ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง
นี่คือความยาก มันคืออารมณ์และความรู้สึก ที่สำคัญคือคนที่ทำคดี เขามีอำนาจอื่นไหม เขากลัว หรือเขานับถือ ซึ่งนับถือไม่ได้แปลว่าผิดแต่การนับถือเท่ากับทำให้วิธีการมันอ่อนไหวซึ่งมันทำให้เกิดการสันนิฐานไว้ก่อนว่าเขาผิด มันจะขาดความเป็นธรรม
ส่วนอัยการผมบอกเลยคดี ม. 112 ไม่เคยไม่สั่งฟ้อง สถิติคือ 0 แต่สถิตินี้อาจจะมีไว้เพื่อถูกลบก็ได้นะ
สิ่งที่เป็นปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 คืออะไร
ความจริงแล้วกฎหมาย 112 เป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐไทย เดิมที ม.112 ก่อนปี 2519 จะมีโทษไม่เกิน 7 ปี แปลว่าไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่หลังการรัฐประหารในปี 2519 หลังจากเขาฆ่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เขาคิดว่าจะพวกคอมมิวนิสต์พวกนี้ควรจะตายและก็ตั้งข้อหา ม.112 กับนักศึกษาเหมือนกัน วันที่ 21 ตุลาคม ที่มีการรัฐประหารแบบประยุทธ์ ได้มีการออกกฎหมายในคำสั่งให้เพิ่มโทษจากไม่เกิน 7 ปี เป็นตั้งแต่ 3 – 15 ปี เป็นโทษที่แก้ไขโดยคณะรัฐประหาร
ส่วนตัวแล้วคุณมองว่าควรแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่?
ต้องบอกตรงๆ ว่า ‘ควรแก้’ และถ้าถามว่าแก้ได้ไหม ถ้าไม่เหมาะสมก็ต้องแก้ได้ เพราะคุณเคยแก้มาแล้วนี่ เพราะยิ่งย้อนกลับไปสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันมีกฎหมายอาญาซึ่งโทษต่ำกว่านี้โดยใช้ถ้อยคำที่กว้างมากขึ้น และโทษไม่ถึง 7 ปี
ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะแก้ไข แก้ไขโทษให้มันสมเหตุผล เพราะว่าบางคนดูหมิ่นคนธรรมดาในสังคมโดนโทษน้อย แต่ถ้าปัจจุบันดูหมิ่นในหลวงต้องโทษ 3-15 ปี ผมว่ามันไม่สมเหตุสมผลทางอาญา แต่ถ้าถามว่าในฐานะประมุขควรจะให้โทษสูงไหม ก็สมควร แต่มันต้องมีสัดส่วนของโทษเช่นกัน
กฎหมายที่เราเรียนมาในหลักนิติปรัชญา ไม่ใช่การใช้กฎหมายข่มขู่เพื่อให้คนกลัว เพราะจริงๆ คนไม่กลัว และหลักกฎหมายจริงๆ มันแก้ปัญหาไม่ได้ เราต้องไปแก้ที่ปัญหาสังคม เช่น ‘ยาบ้า’ คือตัวอย่างที่ดีเลย เพราะสมัยก่อนยาบ้าเป็นแค่ยาเสพติดอันดับที่ 5 เท่ากับกัญชา พอแก้ไขโทษให้ใครมียาบ้า 50 เม็ดในครอบครองต้องจำคุกโทษตลอดชีวิต และประหารชีวิต ก็ไม่เห็นว่ายาบ้าจะน้อยลงเลย
เมื่อก่อนคนที่ติดคุกด้วยคดีทางการเมืองมีอยู่ไม่กี่คนแต่ตอนนี้มันมีจำนวนขึ้นมา มันแปลว่าอะไร? แปลว่าแกล้งจับกันมากขึ้น หรือเพราะคนดูหมิ่นในหลวงมากขึ้น? ดังนั้นเราจะแก้ปัญหาแบบไหน ด้วยการจับคนเข้าคุก หรือจะปรับปรุงให้สถาบันไม่เกี่ยวกับการเมือง นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงควรแก้แต่จะแก้ยังไงคิดไม่ออกเหมือนกัน เพราะว่าจะแก้ก็ยากแล้ว
สิทธิของนักโทษทางการเมืองคดีมาตรา 112 ต่างจากนักโทษทางการเมืองอื่นๆ ไหม?
ต่าง ..ตรงที่สิทธิในการต่อสู้คดี และสิทธิของการปล่อยตัวชั่วคราว สมมติคุณถูกลงโทษจำคุก โอกาสของนักโทษคดี ม. 112 ในการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีจะยาก สมมติเขาเห็นว่าเป็นแกนนำ หรือมีความคิดเห็นที่รุนแรงเขาก็ไม่ให้
ผมถามว่าอย่าง ‘ทนายอานนท์’ (อานนท์ นำภา) ทำไมถึงไม่ให้ประกันตัว? แล้วถ้ากลัวจะหนี เขาจะหนีไปไหน คุณก็เอาตำรวจไปตามเขา หรือติดกไล EM ให้เขารายงานตัวทุก 15 วันก็ได้ คือมันมีวิธีเยอะแยะ ขณะที่ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองอื่น ยกตัวอย่างเช่น กกปส. ติดคุก สิทธิในการประกันตัวที่เขาได้รับเป็นเรื่องปกติเลยนะ
ยิ่งถ้าไปเทียบกับนักโทษธรรมดายิ่งต่างกัน คนยากคนจนไม่มีปากไม่มีเสียงหรอก เห็นกี่ครั้งก็สงสาร ตายอยู่ในราชทัณฑ์ตั้งมากมาย แต่ถ้าคุณมีเงิน มีอำนาจคุณไม่โดนอะไรพวกนี้หรอก
ทำไมการยื่นประกันตัวผู้ต้องคดีมาตรา 112 ถึงเป็นเรื่องยาก?
เพราะความเห็นที่แตกต่างกัน มีการยึดถือกันว่าคนพวกนี้จะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนถึงความเชื่อและความศรัทธา จึงเลือกขังไว้ดีกว่าให้คนกลัว ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัญหาของศาล เพราะอำนาจในการคุมขังหรือปล่อยตัวเป็นของศาล
คุณมองว่าปัญหาของราชทัณฑ์คืออะไร?
งบประมาณ – เงินนี่เห็นได้ชัดๆ เลย คนที่เข้าไปเป็นผู้คุม เป็นพัสดี หรือเจ้าหน้าที่ เขามีความรักความเมตตาต่อคน ไม่มีใครเข้าไปฆ่านักโทษ แต่ด้วยความที่งบประมาณมันมีจำกัด เงินเดือนน้อย เขาต้องเข้าเวรเฝ้ายามตลอดมันก็เกิดเป็นความเครียดขึ้นมา
ในขณะที่ผลประโยชน์มันเยอะ นักโทษทั่วประเทศมีเป็นแสน ค่าอาหารวันละ 30 บาท อย่างนักโทษที่พอจะมีเงินหน่อย เวลาเข้าไปยังให้ญาติส่งของไปให้ แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปไม่มีเงิน เขาก็จะถือว่าโอเค มีไรก็กิน หาทางรับใช้ ซักผ้า รับนวด หาเงินมาซื้อบุหรี่สูบบ้าง
แต่คนประเภทนี้ติดคุกออกมาก็โดนทำโทษอีก เพราะไม่มีอะไรทำให้เขากลัว เพราะเขาไม่ได้รับการอบรมที่ดี นอกจากนี้เรื่องงบประมาณเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งตำรวจและกรมราชทัณฑ์ได้งบประมาณน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร มันเกิดเป็นความกดดันด้านงบประมาณที่บีบให้เขาต้องอยู่ในสภาพแบบนั้น
อาหารการกินหรือยาที่รักษานักโทษ จะเห็นเลยว่าไม่มียา ถ้าปวดหัวก็จะได้พาราถูกๆ หรือแอสไพริน หมอที่ไหนจะอยากไปอยู่ มีหมอประจำอยู่ 3 – 4 คน นอกนั้นเป็นแพทย์ที่มาจากที่อื่นเวียนๆ มา ส่วนมาตรฐานทางการแพทย์ที่ไม่ดีก็เป็นเพราะระบบ
นอกจากปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาของกรมราชทัณฑ์มีเรื่องอื่นอีกไหม?
อำนาจทางการเมือง – บางครั้งคนที่มีอำนาจทางการเมืองสามารถควบคุมกรมราชทัณฑ์ได้จริงๆ คุณจะสั่งว่าให้ไปติดคุกที่ไหนก็ได้ ลดโทษก็ได้ เพราะว่าในกฎหมายถ้าศาลตัดสินไปแล้วอำนาจในการลดโทษ ปล่อยตัวชั่วคราวมันเป็นอำนาจจากคณะกรรมการที่เสนอ โดยราชทัณฑ์เป็นกรรมการส่วนใหญ่ มีบุคคลภายนอกบ้างที่มาพิจารณาเรื่องลดโทษ แต่เขาก็จะเชื่อราชทัณฑ์
อำนาจทางการเมืองมันมี 1000% ถ้าเราไม่โกหกตัวเอง เพราะฉะนั้นราชทัณฑ์เป็นปลายสายของกระบวนการยุติธรรม ถ้าคุณควบคุมตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ได้ โดยไม่มีการตรวจสอบ คุณก็จะเป็นใหญ่มากที่สุดในแผ่นดินนี้
และสิ่งที่สูงสุดที่สุดกว่าทุกข้อยิ่งกว่างบประมาณ และอำนาจทางการเมือง คือ ปรัชญาราชทัณฑ์ – ที่ว่าจะไปดูแลรักษาให้คนกลับมาเป็นคนดี ปัจจุบันมันแทบจะไม่เหลือแล้ว ผมว่ามันจะต้องปฏิรูประบบสังคม คนอื่นอาจจะมองเป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่อื่นที่เขาทำแบบนี้เพื่อให้ลูกหลานเราก้าวหน้า
ผมเคยคุยกับนักการทูตเกาหลีใต้ แล้วเขาก็ถามผมว่าทำไมกรุงเทพฯ เจริญพอๆ กับโซล ทั้งที่เรามีทุกอย่างที่พร้อมแต่ทำไมประเทศถึงเป็นแบบนี้ ผมเลยบอกไปว่า เรามีโครงสร้างไม่เหมือนกับคุณเพราะของประเทศคุณมันเปลี่ยนไปแล้ว ประเทศเขาเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเขายอมรับว่าสมัยก่อนประเทศเขาประสบกับความสูญเสียในกวางโจว (ประเทศจีน) เช่นกัน
ตั้งแต่ประเทศมีการปฏิรูปทางความคิด ให้การศึกษาประชาชน เด็กรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้ไม่อยู่กับระบบนั้นแล้วประเทศก็เจริญ การเมืองก็นิ่ง 4 ปีเลือกตั้งที ทุกคนยอมรับสิทธิ์
ผมเลยคิดว่าถ้าเราสามารถปฏิวัติระบบยุติธรรม ระบบตำรวจ หรือระบบการศึกษา มันจะดีขึ้น เพราะเรามีของพร้อมอยู่แล้ว ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง คำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงว่านักการเมืองจะต้องดี แต่หมายถึงว่า 4 ปี มีเลือกตั้งครั้งนึง ไม่มีอำนาจมืดมาลากรถถัง แล้วประชาชนสามารถมีเสียงได้
เดินทางมาถึงคำถามสุดท้ายแล้ว อยากรู้ว่าภาพฝันของ ‘ราชทัณฑ์ไทย’ ในมุมของทนายด่างเป็นแบบไหน?
อยากได้แบบสวีเดน คือในประเทศที่ดีที่ถึงแม้จะมีคุกดีๆ แต่คนเขาก็ไม่อยากไปอยู่กันหรอก เพราะในประเทศดีๆ เราทำงานเสร็จเดินกลับบ้าน ไปเที่ยวเล่น ออกกำลังกาย ใครจะอยากไปติดคุก
แต่ถ้าไปติดคุกเขาก็จะได้รับการอบรมสั่งสอนจนเขารู้สึกว่าเขาไม่อยากทำอีก เพราะเขาจะไม่ได้ออกมาเดินริมน้ำเพราะต้องอยู่ในห้องขัง ถูกสังคมกล่าวร้าย มันคนละเรื่องกับที่ว่าคุกดีจะทำให้คนอยากติดคุก นี่มันความคิดของคนล้าหลัง เป็นคำพูดของคนที่ชีวิตนี้ไม่เคยถอดรองเท้าเดินก็จะไม่มีทางรู้หรอกว่าไม่มีใครอยากติดคุก
เพราะฉะนั้นยูโทเปีย (Utopia) ในมุมของผมคือ อยากให้ปรัชญาบนการบริหารงานในคุก ปรับปรุงคนให้เป็นคนดี และคนทุกระดับที่ปฏิบัติการเชื่อแบบนั้น เช่นเดียวกับศาล ผมอยากให้ศาลทุกคนมีความเป็นกลาง ไม่มีอคติ
มันต้องเปลี่ยนแปลงระบบวิธีคิด ระบบการศึกษา ระบบสังคม ซึ่งจริงๆ มันใหญ่ ผมถึงบอกว่าปฏิรูประบบความยุติธรรมอย่างเดียวมันไม่พอ เพราะคุณไม่สามารถที่จะตัดสูทให้คนใส่แล้วเท่ได้ ถ้าคนคนนั้นยังเอาสูทใส่ไปในกางเกงด้วยความไม่รู้เพราะคิดว่าเท่
เพราะฉะนั้นยูโทเปียนี้ ในช่วงอายุผม ‘มันคงยังไม่เกิด’