“สิ่งที่โรงพยาบาลตำรวจตรวจพบว่าการรักษาพยาบาลจากราชทัณฑ์ และส่งมาโดยรถโรงพยาบาลทำผิดพลาด โดยใส่ท่อช่วยหายใจผิดตำแหน่ง ซึ่งปกติท่อช่วยหายใจจะต้องใส่ในหลอดลม แต่พบว่าใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดอาหาร” ทนายด่าง-กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของบุ้งทะลุวัง
จากกรณีการเสียชีวิตของ ‘บุ้ง เนติพร’ หรือ ‘บุ้งทะลุวัง’ ติวเตอร์และนักกิจกรรมวัย 26 ปี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา นำไปสู่ข้อถกเถียงและข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับระบบการรักษาพยาบาล และมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ไทย
ซึ่งก่อนหน้าการเสียชีวิตบุ้งเริ่มอดอาหารประท้วงหลังจากศาลไม่ให้ประกันตัวตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ในขณะที่บุ้งถูกดำเนินคดี ม. 112 รวม 2 คดี โดยยังไม่มีคำตัดสินถึงที่สุด นอกจากการคุมขังโดยไม่ให้ประกันตัวแล้ว สาเหตุการเสียชีวิตยังถูกตั้งข้อสงสัย และตั้งคำถามถึงการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ ที่ ณ เวลานี้ยังไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต รวมถึงภาพวงจรปิดขณะที่บุ้งอยู่ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่จะสามารถบ่งชี้สาเหตุการเสียชีวิตของเธอได้
จนกระทั่งวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา กมลศักดิ์ ลีวามะ ประธานคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ออกมาแถลงภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณากรณีการเสียชีวิตของบุ้งโดยทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์กล่าวว่าจะยอมให้ภาพวงจรปิดวันเสียชีวิตของบุ้ง แต่ผู้ปกครองต้องมอบอำนาจให้ทนายความ พร้อมมอบรายงานขั้นตอนการเสียชีวิตอย่างละเอียดให้ กมธ.กฎหมายฯ ต่อไป
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ ทนายด่าง-กฤษฎางค์ ทนายความที่ทำคดีให้กับประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นผู้ดูแลคดีของบุ้ง เกี่ยวกับบทเรียนจากการเสียชีวิตของบุ้ง และระบบการรักษาพยาบาลในกรมราชทัณฑ์ไทย
จากกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง สังคมสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง?
ถ้าเรานำประเด็นการตั้งใจฆ่า หรือความเกลียดชังในการเป็นนักโทษ ม.112 ออกไป บุ้งอดอาหารมานานพอสมควร ซึ่งส่งผลให้ร่างกายมีอาการ Refeeding syndrome (ภาวะผิดปกติของสมดุลอิเล็กโทรไลต์และสารน้ำในผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการหรือผู้ที่อดอาหารเป็นระยะเวลานาน แล้วกลับมาได้รับสารอาหารทดแทนในปริมาณเพิ่มขึ้น) ถ้าจะรักษาพยาบาลต้องรักษาต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะเขาอดอาหารมา 3 เดือนถ้าให้เขาไปกินข้าวสวยหรือข้าวต้มทันทีหลังอดอาอาหาร เขาอาจจะตายเลยก็ได้
อีกอย่างคือการรักษาทั่วไป การเอาใจใส่ก็ค่อนข้างน้อย ซึ่งเราไม่ได้เรียกร้องให้มาดูแลลูกความเรานะ แต่จริงๆ หมอสามารถสั่งยาได้ เช่น รู้ว่าเขาขาดวิตามิน ก็ต้องสั่งวิตามิน เขาขาดแคลเซียมก็ต้องให้แคลเซียม เพราะระยะหลังบุ้งกลับมายอมรับอาหารเพราะพ่อแม่พี่น้องเขาขอร้อง เราสามารถให้สิ่งเหล่านี้กับเขาทางสายเลือดก็ได้ถ้าเขาไม่กิน ซึ่งยังขาดการรักษาในลักษณะนี้
ที่สำคัญคือในห้องคนไข้อาการหนักมันขาดการดูแลทำให้เรารู้เลยว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีหมอ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านอาการฉุกเฉินแบบนี้ เลยเป็นเหตุที่ทำให้เขาตาย
การที่ผมขอภาพจากวงจรปิด เขาไม่ให้อ้างเหตุผลตามข่าวที่นำเสนอไป แต่ผมได้ข้อมูลมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ทั้งภาพวงจรปิดตอนไปโรงพยาบาล และตอนที่ร่างถึงมือหมอมันมีการบันทึกไว้ทั้งหมด มันชี้ให้เห็นว่าเขาไม่มีลมหายใจแล้ว ไม่มีสัญญาณชีพแล้ว ซึ่งจะถือว่าตายหรือไม่ยังไม่พูดตอนนั้น เพราะเมื่อมาถึงหมอก็ต้องรักษาต่อ และที่สำคัญคือคุณเสียบท่อหายใจผิด แทนที่จะใส่ที่หลอดลม ไปใส่หลอดอาหาร เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาทำไปก็ไม่มีประโยชน์
‘ดิจิตอลฟุตพริ้นท์’ กลายเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ดูภาพวงจรปิดบุ้งไม่ได้
ผมยังไม่ได้เห็นเทปวงจรปิดนะ เขาบอกจะให้ทนายความและพ่อแม่ไปดู ซึ่งถ้าไปดูจริงๆ จะให้ดูหรือเปล่า หรือจะให้ดูทั้งหมดหรือเปล่าก็ไม่รู้
เรื่องนี้มันสำคัญ หลังจากที่น้องเสียชีวิต ราชทัณฑ์แถลงข่าวทันทีว่าดูแลเขาอย่างดี แต่พอบุ้งหมดสติได้มีการปั๊มหัวใจช่วย ทำการเอ็กซเรย์ปอด ทำซีทีสแกนจนถึงเวลา 9.00 น. และเดินทางไปถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ตอน 9.30 น. เขาบอกว่าตอนนั้นมีผู้ช่วย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาเหมือนกัน 4 คนเข้าไปช่วยหามน้อง โดยใช้วิธีขนย้ายน้องไปห้องฉุกเฉินโดยใช้ผ้าปูที่นอนหิ้วน้องไป
มันมีสิ่งที่ทำให้เกิดคำถามว่า มาตรฐานการรักษามันถูกต้องไหม ซึ่งในภาพวงจรปิดจะบอกเราว่ามีหมอไหม มีการปั๊มหัวใจ และใช้เครื่องช่วยจริงไหม เพราะตอนถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เรามีข้อเท็จจริงที่เห็นจากภาพ ตอนรถไปจอดที่โรงพยาบาลมีหมอเดินทางไปด้วย 1 คนแต่หมอนั่งข้างหน้ารถ แทนที่จะอยู่กับเตียงน้อง และใช้เวลา 5 – 6 นาที กว่าจะเห็นตัวน้องออกมาจากรถ และเห็นว่าท้องน้องบวมมาก
เพราะฉะนั้นวงจรปิดจึงเป็นข้อต่อสำคัญถึงสาเหตุการเสียชีวิต ผมไม่ตัดเรื่องตั้งใจฆ่านะแต่ผมจะให้น้ำหนักมันน้อย เพราะผมเชื่อว่ามันเป็นความประมาท
ส่วนเรื่องเทปวงจรปิดเขาให้แต่หลังจากนั้นเขาบอกให้ไม่ได้เพราะอย่างแรกสิทธิส่วนบุคคลซึ่งผมก็ยังไม่เห็นภาพ เขาบอกว่ามันปรากฎภาพผู้ป่วยคนอื่น คนในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ ซึ่งอันนี้จริงๆ ก็เบลอหน้าได้
ต่อมาคือความมั่นคงเพราะมันเป็นเรือนจำ ผมก็แย้งว่าวันนั้นหลังจากที่ไปขอและเขาไม่ให้ แต่เขาพานักข่าวเข้าไปดู ไปเยี่ยมชม แต่ห้ามเอากล้องเข้าไปแค่นั้นเอง แล้วแบบนี้มันมั่นคงยังไง?
สุดท้ายมันมีภาพของผู้ป่วยหรือบุ้ง ที่น้องอาจจะเสียหาย ซึ่งผมก็บอกว่าไม่ใช่ เพราะพ่อแม่และผมก็ยืนยันว่าจะดู ขนาดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เขายังให้ผมเข้าไปผ่าศพด้วยเลย คุณพูดว่าไม่มีซะยังจะดีกว่าว่ากล้องเสียเพราะมันก็เสียได้หนิ แต่เหตุผลแบบนี้มันฟังไม่ขึ้น และต้องมีอะไรปิดบังอยู่แน่ๆ
คุณคิดว่าระบบการรักษาพยาบาลของราชทัณฑ์จะเปลี่ยนได้ไหม และยังพอมีความหวังบ้างหรือเปล่า?
ก่อนหน้าบุ้ง มีคนตายจากการที่ไม่ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานเยอะ แต่เพราะเขาไม่ใช่คนดัง และก็ไม่มีสถิติด้วยเพราะเขา (ราชทัณฑ์) ไม่เปิดเผย แต่ผมก็รู้มาจากคนที่อยู่ข้างใน แต่ที่มีคนตายโดยชัดเจนก็มีหลายกรณีจากการไม่ได้รับการดูแลรักษา ขนาดคนดังๆ ยังโดนขนาดนี้ แล้วถ้ายิ่งคุณเป็นตาสีตาสาไปติดคุก คุณกลายเป็นเหมือนเศษมนุษย์เลย
ส่วนความหวังของผมและพ่อแม่ในเรื่องของบุ้งคือ อยากรู้ว่าเขาตายยังไง พ่อแม่ไม่ได้คิดจะไปฟ้องหรือฆ่าฟันใคร ขอแค่รู้ว่าไม่ได้มีเจตนาฆ่า แค่ประมาท หรือถ้าเจตนาเอายาพิษมาให้กินก็คงเอาเรื่อง ซึ่งมันต้องไต่สวน
พ่อแม่เขาอยากให้มีการปฏิรูประบบสาธารณสุขในนั้น คือให้นักโทษได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดี ไม่ใช่แบบที่ลูกของเขามาเล่าให้ฟังว่าลำบาก
แต่ความจริงก็คือปรับปรุงโรงพยาบาลให้ดี เพราะข้อเท็จจริงตรงนี้มันทำได้ด้วยงบประมาณที่มีอยู่มันทำได้แน่นอน ผมมองว่าโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่กล่อมเกลาให้คนที่กระทำความผิดดีขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะเขาได้รับการรักษา ได้เป็นผู้ช่วย ได้เจอหมอเจอพยาบาล เขามีสกิลในการช่วยเหลือสามารถออกมาหางานทำต่อข้างนอกได้
พอเขาได้รับการรักษาที่ดีจิตใจเขาก็จะอ่อนโยนขึ้น ไม่ใช่โดนผู้คุมเตะต่อยเห็นเขาเป็นเศษมนุษย์ ผมว่ามันทำได้ แต่อยู่ที่ว่าเขาจะทำไหม