หลังนี้ คำว่า Gateway Drug ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะจากฝ่ายที่ต่อต้านการใช้กัญชาทุกรูปแบบ เพื่ออธิบายว่าการปลดล็อกกัญชาจะเสี่ยงทำให้สังคมหันไปสู่ยาเสพติดประเภทอื่นที่รุนแรงกว่า
ในเรื่องกัญชาเอง เป็นเรื่องจริงว่าสถานะสุญญากาศของกัญชาตอนนี้น่ากังวล เพราะกัญชาไม่ใช่พืชสวรรค์ มันมีทั้งคุณ-โทษ โดยเฉพาะผลเสียต่อเยาวชนที่งานวิจัยชี้ตรงกันว่า หนักหนาและรุนแรงกว่าผู้ใหญ่มาก
แต่เมื่อมีการพูดถึงคำว่า Gateway Drug ขึ้นมาในบางซุ่มเสียงของสังคม ก็น่าสนใจว่า ตัวแนวคิดของมันมาจากไหน ได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน และงานวิจัยที่สนับสนุนเป็นอย่างไร ยิ่งเมื่อสังคมไทยกำลังถกเถียงเรื่องกัญชาเสรีอย่างหนัก เราควรตั้งหลักกันให้ถูก ยืนบนชุดความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อใช้คบไฟความรู้ปัดเป่าหมอกมืดให้หมดไป
อะไรคือ Gateway Drug
คำว่า Gateway Drug เป็นคำที่เริ่มต้นจากงานวิจัยในปี 1975 ที่นำโดย เดนนิส แคนเดล ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์การแพทย์และนักระบาดวิทยา ซึ่งได้ข้อสรุปว่าการใช้ยาเสพติดอย่างอ่อน (Soft Drug) ในวัยรุ่น อาทิ กัญชา, แอลกอฮอล์และบุหรี่ มีแนวโน้มทำให้พวกเขาหันมาใช้ยาเสพติดชนิดอื่นที่รุนแรงขึ้น (Hard Drug) ในอนาคต
งานวิจัยดังกล่าวทดลองกับกลุ่มเด็กมัธยมปลายและพบว่า กลุ่มที่เคยลองสูบบุหรี่และดื่มเหล้า 27% มีโอกาสพัฒนาสู่การใช้กัญชาในระยะเวลา 5-6 เดือน ขณะที่ 26% ของนักเรียนที่ทดลองใช้กัญชามีโอกาสนำไปสู่การใช้ยาเสพติดที่รุนแรงอื่น เช่น LSD, ยาบ้า หรือเฮโรอีน
ฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้คือ เมื่อสารจากยาเสพติดเข้าสู่สมองมีแนวโน้มว่าจะทำให้ร่างกายต้องการเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนสู่ความต้องการมากขึ้น รวมถึงความอยากทดลองยาเสพติดตัวที่รุนแรงขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของแคนเดลถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกซัน นำไปใช้เพื่อสนับสนุนการทำสงครามกับยาเสพติดอย่างเต็มรูป ซึ่งทำให้ข้ออ้างในการยกระดับความรุนแรงของกฎหมาย เพิ่มงบประมาณเพื่อปราบปรามยาเสพติด และแน่นอน การกดดันให้ประเทศต่างๆ ทำตามแนวทางของอเมริกา
ตรงนี้ต้องขอเล่านิดหนึ่ง ในเวลาต่อมาแคนเดลได้ออกมาเปิดเผยว่าในการทำงานวิจัยดังกล่าว เธอได้รับทุนจากสถาบันวิจัยปัญหายาเสพติดเแห่งชาติสหรัฐฯ ให้ผลิตงานเพื่อพิสูจน์ว่ากัญชานำไปสู่สารเสพติดชนิดอื่นจริงไหม ซึ่งเธอเล่าว่าจริงๆ ต้องการสื่อถึงยาเสพติดที่ถูกกฎหมายมากกว่ากัญชา (ตอนนั้นสหรัฐฯ ยังถือว่ากัญชาผิดกฎหมาย) แต่เพราะผู้ให้ทุนซึ่งปักธงไว้ตั้งแต่แรกแล้ว จึงทำให้ข้อสรุปในงานวิจัยเธอถูกเมินเฉย
“คุณเข้าใจใช่ไหมว่าถ้าคุณได้รับทุนให้ทำเรื่องกัญชา คุณก็ไม่สามารถตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ ได้อีก” เธอกล่าว “พวกเขา (วัยรุ่น) ไม่ได้เริ่มจากกัญชา แต่พวกเขาเริ่มจากยาเสพติดที่ถูกกฎหมายในกลุ่มผู้ใหญ่อย่างเบียร์, ไวน์, บุหรี่ และแอลกอฮอล์ต่างหาก”
มรดกของสงครามกับยาเสพติดที่ใกล้ตัวที่สุดคือ จำนวนผู้ที่อยู่ในเรือนจำของไทย ร้อยละ 80 มาจากคดียาเสพติด
ข้อแย้งถึง Gateway Drug
“กัญชาจัดว่าเป็น Gateway Drug คือเป็นประตูที่เปิดสู่สารเสพติดอื่นๆ การใช้กัญชาในวัยรุ่น จะนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ ง่ายขึ้น เช่น เฮโรอีน แอลกอฮอล์”
หนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปดังกล่าวคือ ดร.คาร์ล ฮาร์ท ศาสตราจารย์ด้านจิตประสาทประจำมหาวิทยาลัยโคลอมเบียได้อธิบายว่า ข้อสรุปว่ากัญชาเป็นยาเสพติดที่นำไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นผิดฝาผิดตัวและตีขลุมเกินไป
“ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดรุนแรงหลายรายอาจใช้หรือเคยใช้กัญชา แต่ผู้ใช้กัญชาจำนวนมากไม่ได้ใช้ยาเสพติดประเภทอื่น” แปลได้ว่า ถ้ากัญชามึโอกาสนำไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นที่รุนแรงขึ้นจริง ควรมีจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดประเภทที่รุนแรงใกล้เคียงกับผู้ใช้กัญชา แต่ตัวเลขจาก WHO ระบุว่าทั่วโลกมีผู้ใช้กัญชาประมาณ 2.5% ขณะที่มีผู้ใช้สารเสพติดประเภทฝิ่นและโคเคนราว 0.2% หรือห่างกันมากกว่า 14 เท่าตัว
ขณะที่ จากการเก็บข้อมูลของทางการสหรัฐฯ ใน 35 รัฐระหว่างปี 2014-2017 เพื่อพิสูจน์ว่าการปลดล็อกกัญชาส่งผลต่ออัตราการตายจากยาเสพติดชนิดรุนแรงขึ้นหรือเปล่า โดยใน 35 รัฐนั้นมี 4 รัฐที่ปลดล็อกกัญชาก่อนทำการเก็บข้อมูล ได้แก่ โคโลราโด, อลาสกา, วอชิงตัน และโอเรกอน
ผลการเก็บข้อมูลพบว่า ทุกรัฐมีการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตจากฝิ่น (รวมถึงเฮโรอีน) ที่เพิ่มขึ้น แต่ใน 4 รัฐดังกล่าว มีเพียงอลาสกาเท่านั้นที่มีจำนวนผู้โอเวอร์โดสเหนือค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่โคโลราโด, วอชิงตัน และโอเรกอนมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ใช้โคเคนใน 4 รัฐดังกล่าวกลับให้ผลลัพธ์ที่ซับซ้อนกว่านั้น บางรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่บางรัฐก็มีจำนวนผู้ใช้ลดลง เช่นเดียวกับจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นในทุกรัฐที่เก็บข้อมูล
หรือแปลได้ว่าการปลดล็อกกัญชาเสรีอย่างเดียว ไม่อาจสรุปได้ว่าส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้หรือเสียชีวิตจากยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น แต่มีปัจจัยร่วมมากกว่านั้น
โฟกัสที่ผู้ติดมากกว่าผู้ใช้
อันที่จริงแนวคิด Gateway Drug เป็นการทำให้ปัญหายาเสพติดอย่างราบเรียบกลวงเปล่ามากเกินไป และมีปัญหาใหญ่ที่ต่อเนื่องกัน 3 ประการ
ประการแรกคือ ยังไม่มีข้อสรุปเรื่อง Gateway Drug โดยเฉพาะในประเด็นกัญชา ที่วงวิชาการยังเถียงกันอยู่ว่ามันนำไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นที่รุนแรงขึ้นจริงไหม
ประการที่สอง มันให้น้ำหนักกับยาเสพติดโดยไม่ดูปัจจัยอื่น ‘ผู้ใช้ยาเสพติดไม่เท่ากับผู้ติดยาเสพติด’ คือข้อเห็นพ้องร่วมกันของวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันแล้วว่า และเราควรโฟกัสกับผู้ติดยาเสพติดมากกว่า ซึ่งปัจจุบันก็มีการเสนอแนวคิด ‘การรับผิดร่วม (Common Liaility Model)’ ที่พยายามอธิบายว่า ทำไมผู้ใช้ถึงกลายเป็นผู้ติดยาเสพติดได้ และพบว่ามันมีปัจจัยแวดล้อม อาทิ สภาพสังคม, สภาพเศรษฐกิจ, โอกาสในการเข้าถึงยาเสพติด รวมถึงปัญหาส่วนตัว
เช่นเดียวกับในวงพูดคุยเครือข่ายต่อต้านภาวะสุญญากาศกัญชา ซึ่งกลุ่มแพทย์ได้ให้ความเห็นคล้ายกันนี้ว่า การติดและใช้ยาเสพติดเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะสภาพสังคมของประเทศนั้นๆ และทฤษฎี Gateway Drug จึงจริงแค่ในบางสภาพสังคม และไม่สามารถนำมาอธิบายทุกสังคมได้
ประการที่สอง บทเรียนจากสงครามยาเสพติด อย่างที่กล่าวไปว่าแนวคิด Gateway Drug เป็นส่วนหนึ่งที่ให้ท้ายรัฐบาลสหรัฐฯ ในการประกาศสงครามกับยาเสพติด ซึ่งตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถึงรัฐบาลประยุทธ์ หรือระหว่างปี 2546-2564 ระยะเวลา 18 ปีที่ไทยประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง เรามีคดียาเสพติดมากกว่า 3 ล้านคดี ยึดของกลางได้กว่า 1.8 ล้านกิโลกรัม และจับกุมมีผู้ต้องหามากกว่า 3.2 ล้านราย แต่สุดท้ายก็ยังมียาเสพติดอยู่
อย่างที่ยกไปข้างต้นว่า ปัจจุบันร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังในเรือนจำคือคดียาเสพติด ซึ่งตามมาด้วยภาพของครอบครัวที่ล่มสลาย, เรือนจำแออัด, อาชญากรรมบนท้องถนน, การคอร์รัปชั่น และยาเสพติดที่มีราคาแพงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็น่าดึงดูดให้เสี่ยงนำมาขายเพื่อหนีจากความจน
ปัญหายาเสพติดซับซ้อนและดำมืดกว่าที่แนวคิด Gateway Drug จะอธิบายได้ทั้งหมด ดังนั้น ไม่ถูกต้องนักที่เราจะหยิบยกแนวคิดนี้มาต่อต้านยาเสพติดทุกประเภท เพราะมันไม่สร้างความเข้าใจที่ดี และสุดท้ายอาจนำไปสู่การปฏิเสธและผลักผู้ใช้ยาเสพติดตกสู่มุมมืดของสังคมอีกครั้ง
อ้างอิง:
https://www.medicalnewstoday.com/articles/is-alcohol-a-gateway-drug
https://americanaddictioncenters.org/the-addiction-cycle/gateway-drugs
https://www.nytimes.com/2017/12/07/well/live/a-comeback-for-the-gateway-drug-theory.html
https://www.science.org/doi/10.1126/science.1188374
https://www.npr.org/2015/04/18/400658693/setting-the-record-straight-on-the-phrase-gateway-drug
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-50494610