เรื่องน่ากลัวที่สุดของกัญชา ไม่ใช่สาร THC หรือ CBD หรือการออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะคึกคักตื่นตัวหรือผ่อนคลายหลับลึก
แต่คือการ ‘ใช้’ มันแบบคนที่ถูก ‘กด’ มานาน—จนเมื่อมีโอกาสได้ใช้ ก็ระเบิดระบายการใช้ไม่บันยะบันยัง ใช้กันจนคล้ายเป็นแฟชั่น โดยไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วใช้มันไปทำไม
หลายปีก่อน มัลคอล์ม แกลดเวล (Malcolm Gladwell) เคยเขียนบทความลงใน The New Yorker แสดงความห่วงกังวลเรื่องการใช้กัญชาเสรีในสหรัฐอเมริกา (ดูได้ที่ newyorker.com) เขาบอกว่า การใช้กัญชานั้นอาจไม่ได้ ‘ปลอดภัย’ มากเท่ากับที่เราเคย ‘คิด’ (หรือจินตนาการ) ก็ได้
เขาย้อนกลับไปอ้างถึงรายงานของ National Academy of Medicine (ของอเมริกา) ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทางยาจำนวน 60 คนมาวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชา และมีรายงานออกมาในปี ค.ศ.2017 ความหนาถึง 468 หน้า ได้ผลสรุปออกมาว่า โดยรวมแล้ว เรายังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าการใช้กัญชาให้ผลดีหรือไม่
กัญชานั้นให้ผลดีทางการแพทย์ในหลายเรื่อง เช่น การใช้กัญชาในผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัดมีผลดีในการลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ลดความเจ็บปวดได้ แต่การใช้ในคนที่ไม่ป่วยต่างหากที่ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพ ปริมาณการใช้ หรือผลข้างเคียงในกรณีที่มีการใช้เป็นประจำมากเท่าที่ควร ดังนั้น แม้เป็นเหล่าผู้เชี่ยวชาญก็ยังต้องตอบว่า ‘ไม่รู้’ ว่าผลของการใช้กัญชาในวงกว้างนั้นจะเป็นอย่างไรกันแน่ คือไม่สามารถจะไปสนับสนุนหรือคัดค้านการใช้กัญชากันแบบสุดลิ่มทิ่มประตูได้นั่นเอง
แอนนี ลอว์รีย์ (Annie Lowrey) นักเขียนอีกคนหนึ่งของ The Atlantic เคยแสดงความกังวลไว้ในอีกบทความหนึ่ง (ดูได้ที่ theatlantic.com) ว่า เมื่อการใช้กัญชาในอเมริกาถูกกฎหมายแล้ว พบว่ามีคนอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ใช้กัญชากันแบบ ‘เกือบตลอดเวลา’ (near-constant use) โดยเฉพาะเมื่อเกิดร้านขายกัญชาแบบบูตีก คือเป็นร้านค้าปลีกที่สร้างสรรค์กัญชาออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นลูกอม เป็นกัมมี่ (แบบกัมมี่แบร์) และรูปแบบอื่นๆ อีกมากที่ดูเก๋ไก๋น่าใช้ โดยมีการโฆษณาอย่างเช่น “Shop. It’s legal” หรือ “ซื้อเลย ถูกกฎหมายแล้ว” หรือ “Hello Marijuana, Goodbye Hangover” ที่สื่อว่ากัญชาช่วยลดอาการแฮงก์โอเวอร์ได้
เธอบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญอย่าง มาร์ก ไคลแมน (Mark Kleiman) ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านนโยบายสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และเชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุข ก็บอกว่าการใช้กัญชานั้นมีศักยภาพที่จะก่อปัญหาสาธารณสุขอย่างมาก เขาบอกว่า เมื่อ 25 ปีก่อน ผู้ที่รายงานว่าตัวเองใช้กัญชานั้น มีอยู่ 9% ที่บอกว่าใช้กัญชาเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขแบบเดียวกันนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 40% ทำให้เขาคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการที่ผู้ใช้กัญชามากถึง 40% ใช้กัญชาเป็นประจำทุกวันนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ไม่ได้ใช้ ‘ในทางการแพทย์’ มากเท่าใช้เพื่อ ‘สันทนาการ’ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ใช้เพื่อให้ ‘เมา’ (ไม่ว่าจะเมามากหรือเมาน้อย) และเรายังจำเป็นต้องศึกษาอีกมาก เพื่อให้รู้ว่าการใช้กัญชาเพื่อเหตุผลอื่นนอกเหนือไปจากเหตุผลทางการแพทย์ จะมีผลอย่างไรบ้าง
ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Tell Your Children: The Truth About Marijuana, Mental Illness, and Violence อย่าง อเล็กซ์ เบเรนสัน (Alex Berenson) เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาอาจจะอคติกับกัญชาก็ได้ แต่เขาเชื่อว่า คนส่วนใหญ่สูบกัญชาด้วยเหตุผลเดียวกับการดื่มเหล้านั่นแหละ นั่นคือต้องการจะเมา ไม่ใช่เพราะจะใช้เพื่อผลทางการแพทย์ใดๆ
เบเรนสันไปไกลว่าใครเพื่อน ด้วยลองหาความสัมพันธ์ระหว่างกัญชากับความรุนแรงถึงระดับเกิดฆาตกรรม เขาบอกว่า รัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกาเริ่มอนุญาตให้การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการถูกกฎหมายในปี ค.ศ.2014 แล้วในระหว่างปี ค.ศ.2013–2017 อัตราการเกิดคดีฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายก็พุ่งสูงขึ้น 40% ถือเป็นสองเท่าของอัตราการเกิดฆาตกรรมในระดับประเทศ และเป็นสี่เท่าของการทำร้ายร่างกายในระดับประเทศ
แน่นอน กระทั่งเบเรนสันเองก็ไม่อาจกล่าวอ้างได้หรอกว่าสองเรื่องนี้เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน หรือแม้แต่จะบอกว่ามันมีสหสัมพันธ์ระหว่างกันก็ยังยากจะบ่งชี้ได้ เนื่องจากช่วงเวลาเดียวกันยังมีปรากฏการณ์อื่นๆ ทางสังคมเกิดขึ้นอีกมาก เช่นความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ที่สำคัญก็คือ มีผู้โต้แย้งเบเรนสันว่า ถ้าหากกัญชาทำให้เกิดคดีฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายเพิ่มมากขึ้นจริงดังว่า ป่านนี้เมืองอย่างอัมสเตอร์ดัมคงลุกเป็นไฟแล้ว แต่ถ้าดูอัตราการเกิดฆาตกรรม จะเห็นได้เลยว่าเนเธอร์แลนด์มีอัตราการเกิดฆาตกรรมน้อยกว่าสหรัฐอมริกามาก คือมีเพียง 1 ใน 5 เท่า—เท่านั้นเอง
ในบรรดาข้อโต้แย้งทั้งหลาย มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือข้อโต้แย้งของ ยาสมิน เฮิร์ด (Yasmin Hurd) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของสถาบันการเสพติดแห่งโรงเรียนแพทย์เมาต์ไซนาย (Addiction Institute at Mount Sinai School of Medicine) เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์หนึ่งในไม่กี่คนที่เชี่ยวชาญเรื่องกัญชาอย่างมาก เธอบอกว่า ไม่มีหลักฐานอะไรมาสนับสนุนเลยว่า การอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายไปเพิ่มอัตราการฆาตกรรม
แต่กระนั้น เธอก็บอกด้วยว่า การใช้กัญชานั้นเกี่ยวข้องแน่ๆ กับโรคทางจิตอย่างโรคจิตเภท (หรือ schizophrenia) มีการศึกษาจำนวนมากที่ค้นพบมานานแล้วว่าการใช้สาร THC ความเข้มข้นสูงบ่อยๆ นั้นเกี่ยวข้องกับอาการ psychosis และโรคจิตเภท แต่กระนั้น ผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท ก็ไม่ใช่ฆาตกรที่จะลุกขึ้นมาสังหารใครได้ง่ายๆ ดังนั้น การพยายามจะนำเอาอาการผิดปกติทางจิตไปใช้อธิบายอัตราการเกิดฆาตกรรมอย่างที่เบเรนสันทำ จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง เธอยังบอกด้วยว่า การใช้กัญชาเป็นทางเลือกในการระงับปวดที่ดีกว่าฝิ่น เพราะกัญชาไม่มีฤทธิ์เสพติดเหมือนฝิ่น ในทางการแพทย์ การใช้กัญชายังไปมีผลลดการใช้ฝิ่นลงด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอีกประโยชน์หนึ่งของกัญชา
จะเห็นได้ว่า มุมมองต่อการใช้กัญชาในระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เพิ่งอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่างสหรัฐอเมริกานั้นมีหลากหลาย เราจึงสามารถ ‘เรียนรู้’ การใช้งานกัญชาได้โดยไม่จำเป็นต้องมานั่ง ‘ลองผิดลองถูก’ ตั้งแต่ต้นทั้งหมดด้วยชีวิต สุขภาพ และความปลอดภัยของผู้คน แต่สามารถนำเอานโยบาย การศึกษา และวิธีปฏิบัติต่างๆ มาสร้าง ‘การกำกับดูแล’ หรือ regulation ในแง่มุมต่างๆ ให้เหมาะสมได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นพวก ‘บ้าคลั่งควบคุม’ (control freak) เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
เราต้องยอมรับให้ได้เสียก่อนว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ใช้เพื่อสันทนาการ ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้คนจึงใช้กัญชาเหมือนการดื่มเหล้า นั่นคือต้องการผลลัพธ์เป็นความ ‘เมา’ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็น ‘สิทธิ’ ที่จะใช้หรือไม่ใช้กัญชาก็ได้—ตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราย้อนกลับมาดูการดื่มเหล้าหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุราในไทย เราจะพบความลักลั่นย้อนแย้งหลายเรื่อง เช่นตัวกฎหมายเองไปเอื้อให้ปัญหาการผูกขาดร้ายแรงขึ้น มีการบังคับใช้กฎหมายผ่านแว่นศีลธรรมที่มองสุราว่าเป็นปีศาจร้ายแบบล้นเกิน โดยไม่เคยมองเห็นมิติทางวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจฐานรากในสุรา รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย แต่แน่นอน เรารู้ด้วยเหมือนกันว่า หากมีการเสพหรือดื่มสุรามากเกินไปโดยไร้ความรับผิดชอบ สุราก็ย่อมสร้างปัญหาบางอย่างขึ้นมา
กัญชาก็เป็นเช่นเดียวกัน หากเราจะใช้งานกัญชาเพื่อสันทนาการแบบเดียวกับการดื่มเหล้า เราจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลหรือ regulation ต่างๆ ผ่านกฎหมาย หรือไม่ก็ต้องสร้าง ‘ความรู้เชิงกัญชา’ (จะเรียกว่า marijuanna literacy แบบเดียวกับ financial literacy) ขึ้นมาในหมู่ผู้คนให้ได้ นั่นคือหากจะเสพหรือขาย ต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย ทั้งเรื่องของปริมาณที่ใช้ การแจ้งข้อมูลให้เกิดการ ‘รับรู้’ แบบ consent ทั้งสองฝ่าย (เช่นในกรณีขายอาหารผสมกัญชา) วิธีใช้งานกัญชาที่เหมาะสม และอื่นๆ
แต่เหนืออื่นใดก็คือ ผู้ที่ใช้กัญชาจำเป็นต้องย้อนกลับมาถามตัวเองให้ได้เสียก่อน—ว่าจะใช้กัญชาในแต่ละคราวไปเพื่ออะไร เพื่อการแพทย์ เพื่อให้เจริญอาหาร เพื่อสันทนาการหรือความเมา หรือเพื่อเอาไว้โฆษณาหาเม็ดเงินจากผู้บริโภค
เมื่อตระหนักรู้แล้ว ก็จะต้องถามตัวเองต่อไปด้วยว่าเราจะใช้กัญชาอย่างไรในปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมต่อเป้าหมายในการใช้นั้น
กัญชาไม่ใช่ปีศาจร้าย แต่ก็ไม่ใช่นักบุญที่มีแต่สิ่งดีงามเท่านั้น อุตส่าห์ปลดล็อกกัญชากันออกมาได้แล้ว อย่า ‘เหวี่ยง’ การใช้งานกัญชา จนทำให้กัญชาถูกมองว่าเป็นปีศาจร้ายเหมือนที่สุราโดนกระทำอีกเลย
กัญชาไม่ได้ดีหรือร้ายในตัวของมันเอง แต่เป็นการใช้งานทางจิตของเราต่างหาก ที่ป้ายดีร้ายลงไปบนใบไม้เขียวๆ นั่นตามต้นทุนชีวิตของเราเอง
Illustration by Kodchakorn Thammachart