หนังไทย … เมื่อได้ยินคำนี้ ภาพแรกที่ผุดเข้ามาในหัวของคุณคืออะไร?
เนื้อหาซ้ำซากจำเจ ไม่แปลกใหม่ มีแต่แนวตลกโปกฮา หรือเป็นภาพของการถูกกีดกันจากกองเซ็นเซอร์ และถูกผูกขาดโดยนายทุนโรงหนัง?
ท่ามกลางกระแสที่วงการภาพยนตร์ไทยกำลังเผชิญจากหนังสองเรื่อง ได้แก่ ‘หุ่นพยนต์’ ที่ต้องต่อสู้กับการเซ็นเซอร์เนื้อหา นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคลุมเครือและล้าหลังของคณะกรรมการ และ ‘ขุนพันธ์ 3’ ที่ถูกลดรอบฉายในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ทั้งที่เพิ่งเข้าฉายได้ไม่ถึงสัปดาห์ ทำให้ประเด็นเรื่องปัญหาที่คนทำหนังไทยต้องเผชิญกลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง
ทั้งสองประเด็นนี้ ไม่ได้มีผลแค่กับแวดวงคนทำหนัง แต่ยังส่งผลกระทบอย่างแยบยลสู่กลุ่มผู้บริโภคอย่างเราด้วย เพราะเมื่อหนังขาดความหลากหลายในแง่เนื้อหาและพื้นที่ฉายแล้ว สิทธิในการดูหนังของคนดูก็ถูกลิดรอนตามไปด้วยเช่นกัน
กองเซ็นเซอร์ เพื่อพิทักษ์ศีลธรรมอันดี (?)
‘หุ่นพยนต์’ ภาพยนตร์สยองขวัญถูกเลื่อนฉายอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่จะเข้าฉายในวันที่ 9 มีนาคม โดยทางค่าย Five Star Production ระบุว่า เพื่อให้ทีมสร้างปรับแก้เนื้อหาให้เหมาะสมกับเรต ฉ 20- หากไม่ปรับให้ตรงตามเรต ก็จะถูกห้ามฉาย
เมื่อต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาตามที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (หรือที่ผู้คนเรียกกันติดปากว่า ‘กองเซ็นเซอร์’) บอกแล้ว ประเด็นนี้ก็กลายเป็นที่วิพากย์วิจารณ์ขึ้นมาทันที หลายคนมองว่า นี่เป็นการจำกัดกรอบให้หนังไทยต้องผลิตเนื้อหาที่ไม่ออกนอกลู่นอกทางไปหรือเปล่า
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากที่ ไมค์-ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ผู้กำกับเรื่องหุ่นพยนต์ ผู้เคยฝากชื่อไว้กับผลงานมากมาย อาทิ เอ๋อเหรอ หลวงพี่แจ๊ส 4G และพี่นาคทั้ง 3 ภาค ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า หนังเรื่องนี้ของเขาได้ส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาในรอบแรก โดยได้รับความเห็นออกมาว่า ‘ห้ามฉาย’ เพราะสร้างความเสื่อมเสียให้ศาสนาและก่อให้เกิดความแตกแยกและสามัคคี
และพอปรับปรุงเนื้อหาใหม่และส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกรอบ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับการจัดเรตติ้ง 20+ บอกออกมา
“รอบ 2 โดน เรตติ้ง 20+ จะบ้าตาย ยุคไหนสมัยไหนกันแล้ว โลกเปลี่ยนไปแค่ไหน เรื่องจริงในสังคมเป็นอย่างไร นั่งมึนงง หนังเรา ไปทำลายศาสนาตรงไหน” ภณธฤต เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก
แล้วฉากที่กองเซ็นเซอร์อยากให้ปรับเปลี่ยนมีอะไรบ้าง? มีรายงานว่า ภาพยนตร์หุ่นพยนต์ถูกตั้งข้อสังเกตจากคณะกรรมการในหลายฉาก และนำไปสู่ข้อถกเถียงกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็น
- ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์
- ตัดฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลืองและมีคำหยาบคายให้น้อยลง
- ตัดฉากคลุกอาหาร เหมือนรังแกให้เด็กชื่อ ‘เต๊ะ’ ทาน
- ตัดฉากเณรกอดผู้หญิงในการต่อสู้
- ตัดฉากท่องศีล (ข้อ 2) ในขณะที่ฆ่าคนที่ขโมยของ
- มีข้อสังเกตว่าพระหรือเณรในเมืองไทยต้องโกนคิ้วแต่ทั้งเรื่องไม่มีพระเณรที่โกนคิ้วเลย
ประเด็นนี้ทำให้สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยออกแถลงการณ์ว่า การสั่งให้ปรับเนื้อหาตามเรต มิฉะนั้นจะหุ่นพยนต์ถูกห้ามฉายนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้สร้างภาพยนตร์ คนทำงานแล้ว ยังส่งผลกับผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปที่ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชมภาพยนตร์ ด้วยคำสั่งที่มาจากดุลยพินิจของคนเพียงไม่กี่คน เพราะแม้จะมีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์แล้ว แต่คณะกรรมการก็ยังสามารถสั่งตัดทอนเนื้อหาภาพยนตร์และสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ได้โดยยึดดุลยพินิจของคณะกรรมการเป็นหลัก
หุ่นพยนต์ไม่ใช่เรื่องแรก และคงไม่ใช่เรื่องสุดท้ายที่เผชิญชะตากรรมนี้ ที่ผ่านมาก็เคยมีภาพยนตร์ที่หลายเรื่องที่ถูกตัดฉากเพื่อให้ผ่านกองเซ็นเซอร์อยู่เช่นกัน อย่างกรณีของแสงศตวรรษ (2550) ที่ต้องตัดฉากที่ถูกคณะกรรมการพิจารณาว่าไม่เหมาะสมออกไป เช่น ฉาก ‘พระเล่นกีตาร์’ และ ‘หมอมีอารมณ์ทางเพศ’ ออกไป ซึ่งอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ก็ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาในครั้งนั้น และหลายฝ่ายก็ร่วมมือร่วมใจกันจนผลักดันให้มีพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่าด้วยการจัดระบบเรตติ้งเพื่อช่วยคัดกรองภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในโรงหนังให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะตามช่วงวัยต่างๆ ของผู้ชม
แต่แม้ว่าจะมีกฎหมายดังกล่าวออกมาแล้ว การมอบเรตห้ามฉายก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี เนื่องจากมาตรา 29 ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระบุว่า หากภาพยนตร์เรื่องใด “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม อันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และเกียรติภูมิของประเทศไทย” ก็จะถูกห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย
เป็นเหตุให้คนทำหนังต้องดิ้นรนกันไป เพื่อให้หนังได้เข้าฉาย อย่างเรื่องไทบ้านเดอะซีรีส์ (2561) ที่ถูกตัดฉากพระร้องไห้กับศพแฟนเก่า ด้วยเหตุผลว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควร ทั้งที่เมื่อนำซีนดังกล่าวมาเผยแพร่ให้คนดูในโลกออนไลน์แล้ว กลับได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากว่า นำเสนอได้สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ของพระอย่างแท้จริง
เมื่อคนทำหนัง ถูกผูกขาดจากผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์
อีกหนึ่งกระแสที่มาแรงไม่แพ้กันคือ ‘ขุนพันธ์ 3’ หนังไทยไฟแรงที่กระแสตอบรับกำลังไปได้สวย แต่กลับถูกลดรอบฉายในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ตั้งแต่ยังไม่พ้นสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ทั้งที่เพิ่งเข้าโรงฉายไปได้เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นเริ่มมาจากการที่ ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ดังกล่าวโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เปรียบเทียบรอบฉายภาพยนตร์ของตนเองกับอีกเรื่องอย่าง ‘ทิดน้อย’ ซึ่งเข้าฉายไปตั้งแต่ปลายมกราคม แต่ก็ยังไม่ถูกลดโรงฉาย
ไม่เพียงเท่านั้น เมเจอร์ยังจัดโปรโมชั่นให้ราคาตั๋วของทิดน้อยเหลือเพียง 39 บาท เพื่อกระตุ้นยอดขาดเพิ่มอีกด้วย
แล้วทำไมทิดน้อย ถึงได้รอบจากเมเจอร์ มากกว่าล่ะ? ต้องอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกนิดว่า ขุนพันธ์ 3 เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างและลงทุนโดยสหมงคลฟิล์ม ขณะที่ ทิดน้อย ถูกสร้างโดยค่าย เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ (M39) ซึ่งอยู่ในเครือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ดังนั้น โดยทฤษฎีแล้วเมเจอร์จึงเป็นเจ้าของหนัง และเจ้าของโรงฉายเองด้วย
“รู้สึกเป็นเกียรติไหมครับ รู้สึกชนะหรือเปล่า ภูมิใจใช่ไหม เล่าให้ญาติหรือคนที่รักฟังแล้วรู้สึกดีจริงไหม เกมส์นี้มันห่วยและเสร่อมากในฐานะคนทำหนัง ผมเสียใจและอายแทนพวกคุณจริงๆ” ข้อความจากก้องเกียรติ
ก้องเกียรติให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการออนไลน์ว่า ตนพร้อมยอมรับหากหนังไม่ดี ไม่มีคนดูเลย แต่ขอให้เวลาภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้ได้ไหม เพราะตอนนี้เหมือนยังสู้ไม่ครบยกเลย กลับถูกหักแขนหักขา แล้วก็ปล่อยให้สู้ต่อไปแบบนั้น
เขายังกล่าวอีกว่า สิ่งที่โพสต์ออกไปไม่ได้อยากจะทะเลาะกับโรงภาพยนตร์ เพราะมันก็เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า โรงก็ต้องการหาหนังมาฉาย คนทำหนังก็อยากทำหนังฉายโรง
“สู้ไม่ได้หรอกครับ ผมรู้อยู่แล้วว่าผมแพ้ตั้งแต่ผมโพสต์ เรายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หนังไทยสู้ไม่ได้หรอกครับ ปัญหานี้ต้องให้สมาคมหรือผู้ใหญ่ที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้เขาคุยกัน ผมออกมาพูดในฐานะคนทำงานเท่านั้น แค่น้อยใจแทนทีมงานที่รวมสร้างหนังเรื่องนี้กันมา”
ประเด็นนี้ ทำให้สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เผยแพร่จดหมายแสดงจุดยืนเรื่องการจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทยที่ไม่เป็นธรรม เพื่อเรียกร้องให้หนังไทยทุกเรื่องมีพื้นที่ฉาย โดยระบุว่า การที่ภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์ 3 ถูกลดรอบฉาย เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นเรื่อยมาและเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่คนทำงานในวงการภาพยนตร์ไทย ตัดโอกาสของภาพยนตร์ไทย
“การสร้างภาพยนตร์ ไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะมีโรงและรอบฉายที่เหมาะสมสำหรับการสร้างรายได้ให้กับภาพยนตร์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้สร้างจำนวนมากไม่กล้าลงทุนในภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหลากหลาย จนทำให้ผู้ชมจำนวนมากเสื่อมศรัทธากับภาพยนตร์ไทย เพราะมีเนื้อหาที่ซ้ำซาก ไร้การพัฒนา แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ มีคุณภาพ กลับได้รับการจัดโรงและรอบที่น้อยจนหมดโอกาสในการสร้างผู้ชมและรายได้”
นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาต่อรองหรือจัดสรรรอบฉายของภาพยนตร์ไทยให้เกิดความเป็นธรรม และขอให้สื่อนำเสนอประเด็นนี้ต่อไปด้วย
ขณะที่ ขิม แอดมินเพจ Man on Film ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหาเรื่องหนังถูกลดรอบฉาย เริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลัง COVID-19 ที่โรงภาพยนตร์ต้องการดึงให้คนกลับไปดูหนังที่โรงมากขึ้น
เธอย้ำว่า ไม่ว่าหนังเรื่องไหนก็ไม่ควรถูกลดรอบฉาย ซึ่งประเด็นนี้กำลังน่าเป็นห่วง เพราะหลายคนเริ่มถกเถียงกันว่า หนังเรื่องขุนพันธ์ 3 เป็นหนังที่ดีตรงกันข้ามกับทิดน้อย ทั้งที่ความจริงไม่ว่าจะดีหรือไม่ รอบฉายของหนังทุกเรื่องควรเท่าเทียมกัน และให้คนดูได้เป็นผู้ตัดสินคุณภาพของหนังเรื่องนั้นด้วยตัวเอง
“ถ้าคุณไปดูกฎหมายของประเทศอื่น จะมีกฎหมายลักษณะนี้ที่กำหนดไปเลยว่า หนังใหม่ควรเข้าฉายกี่สัปดาห์ แล้วก็จะนำมาสู่คำถามที่ว่า ‘อ่าว แล้วถ้ามีหนังโง่ๆ มาเต็มโรงเลยล่ะ จะทำยังไง?’ คุณก็ไม่ต้องดูไง ไปดูเรื่องอื่น ถ้าเกิดว่าโรงหนังแฟร์มากพอ คุณจะมีตัวเลือกมากมายให้ดูในโรง แล้วอะไรที่ไม่เวิร์คจริงๆ หนังที่ไม่อยากดูจริงๆ มันก็จะไม่มีคนดูไปเอง ให้ความสามารถของหนังถูกตัดสินด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่เพราะว่าโรงหนังมองว่า ไม่ต้องดูหรอก เดี๋ยวโรงเลือกให้ หนังมันยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองเลย แต่ถูกตัดสิทธิ์ไปแล้ว”
เจ้าของเพจหนังยังยกตัวอย่างกรณีของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์จนมีกฎหมายที่กำหนดโควตาไว้ว่า หนังเกาหลีใต้ ต้องได้ฉายในโรงเป็นเวลาอย่างน้อย 146 วันต่อปี ทำให้หนังเกาหลีใต้ทุกเรื่องมีพื้นที่ฉายในโรง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เหล่าคนทำหนังมีเงินเลี้ยงตัวได้ เพราะมั่นใจว่า ไม่ว่าจะทำภาพยนตร์รูปแบบไหนออกมาก็มีพื้นที่ในโรง และเมื่อคนทำหนังมีเงินเลี้ยงตัวก็จะผลิตผลงานอื่นๆ ที่เริ่มท้าทายมากขึ้น เพราะไม่ได้ต้องทำหนังเพื่อเลี้ยงปากท้องอีกแล้ว
ขิมยังเล่าว่า มีอยู่ปีหนึ่งที่รัฐบาลเกาหลีพยายามจะยกเลิกนโยบายดังกล่าว ทำให้ ปาร์ค ชาน-วุค ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง Oldboy (2546) ออกมาท้วงว่า เขาเองก็เป็นผลผลิตจากนโยบายดังกล่าว ซึ่งนโยบายแบบนี้แหละที่ทำให้คนอย่างเขาอยู่รอด เติบโต และไปมีชื่อเสียงต่างประเทศ เอารายได้กลับเข้ามาในประเทศได้
ขณะเดียวกัน ฝั่งคนดูเอง หากโรงหนังมีพื้นที่ฉายให้เพียงไม่กี่เรื่อง ก็จะทำให้คนได้ดูหนังที่มีความหลากหลายน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนคติและรสนิยมของผู้คนไปด้วย อาจทำให้คนไม่เปิดใจในการดูหนังแนวใหม่ๆ เช่น เรื่อง Faces of Anne (2565) ที่เธอรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายและใหม่มากสำหรับคนไทย แต่ก็มีหลายคนที่มองว่าไม่อยากเสี่ยงดู เพราะไม่คุ้นเคย
“เหมือนคุณกินข้าวคลุกกะปิมา 10 ปีแล้วบอกว่า ฉันจะกินอย่างนี้ต่อไป เพราะฉันไม่รู้ว่าผัดกะเพราคืออะไรและฉันไม่พร้อมลอง การเสพหนังคือการเลือกหาหนทางใหม่ๆ ให้ตัวเอง แล้วเรารู้สึกว่า เราเป็นผู้บริโภค เรามีสิทธิเลือกสิ ทำไมการที่อาหารไม่หลากหลาย เรื่องอื่นไม่หลากหลาย คุณถึงรู้สึกไม่โอเค แต่ทำไมพอเป็นหนัง คุณถึงคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก ก็ฉันชอบของฉันแบบนี้”
อยากเห็นหนังไทยไปหนังโลก รัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก่อน
จากปัญหาเรื่องกองเซ็นเซอร์ การผูกขาดจากผู้ประกอบการโรงหนัง สู่ปัญหาเรื่องสวัสดิการของคนทำหนัง สะท้อนถึงวิธีคิดที่คับแคบเยี่ยง ‘เผด็จการ’ และการขาดแคลน ‘ความใส่ใจ’ จากภาครัฐ ที่ไม่ได้มองเห็นศักยภาพที่แท้จริงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
“เราคิดว่ารัฐไทย มีวิธีคิดเรื่องภาพยนตร์อีกแบบหนึ่ง ในความหมายว่า เขาไม่ได้เทคมันจริงจังขนาดนั้น คิดว่าเป็นสิ่งที่อะไรก็ไม่รู้ ก็ได้ ง่ายๆ คุณไม่เห็นศักยภาพที่แท้จริงของมันด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ได้เชื่อว่ามันมีพลัง มีอิทธิพล และทำเงินจริงๆ หรือจะสร้างเป็น soft power ได้จริงๆ ไม่เหมือนรถถัง หรือปืน ทั้งที่จริงๆ มันทำได้มากกว่านั้นด้วยซ้ำ”
ขิมกล่าวว่า ภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ออกกำหนดนโยบายที่จะช่วยให้คนทำหนังได้มีพื้นที่หายใจ และสมาคมภาพยนตร์แห่งชาติก็ต้องมีปากมีเสียงมากขึ้น เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของคนทำหนังโดยรวมเลย แล้วก็ส่งผลต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภคด้วยเหมือนกัน
เธอยังมองอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ไม่อาจเรียกว่าอุตสาหกรรมหนังไทยได้ด้วยซ้ำ แต่เรียกได้แค่วงการ เพราะอุตสาหกรรมต้องให้ภาพของการที่คนในแวดวง อยู่ได้ เลี้ยงตัวเองด้วยการทำหนังได้
“แต่ตอนนี้เราไม่พบสิ่งนั้นเลย คุณทำงาน ทำหนังเพื่อหาเลี้ยงชีพไม่ได้ เป็นช่างไฟอย่างเดียว พวกกะเดียวในหนังเรื่องเดียวเพื่อหาเลี้ยงชีพไม่ได้ มันเลยเป็นได้แค่วงการที่คนอื่น เขาเข้ามาเหยียบขาข้างนึงในวงการนี้ เพื่อทำหนังไป แล้วอีกข้างนึงก็ไปทำอย่างอื่น เพื่อหาจ็อบเสริม เพื่อให้อยู่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความหลากหลาย”
ยิ่งกว่านั้น เธอยังอธิบายถึงปรากฎการณ์ที่เด็กเรียนฟิล์มมักจะตั้งคำถามว่า ‘เอ๊ะ จบมาแล้วไปทำอะไรต่อ?’ ไม่ได้รู้สึกว่าจบฟิล์มมาแล้วต้องไปทำฟิล์ม วิธีคิดแบบนี้หายไปจากวงการทำหนังไทย เป็นผลให้คนทำหนังไทยต้องไปทำโฆษณา ไปทำอย่างอื่นเพื่อเลี้ยงปากท้อง ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง แล้วก็จะไม่ได้ผลิตผลงานอะไรที่ดีเด่นออกมา
เมื่อถามว่า ในฐานะผู้ติดตามวงการภาพยนตร์ อยากเห็นวงการหนังไทยเป็นแบบไหน ขิมก็ตอบกลับมาว่า เธออยากเห็นความหลากหลายในวงการหนังไทยมากกว่านี้ และเรื่องนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างนึง
“เพราะว่าเมื่อคุณไม่มีความหลากหลาย มันจะไม่มีการผลิบาน ผลิดอกออกผลใดๆ ในแง่ศิลปะทั้งนั้น ซึ่งมันจะโยงไปสู่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่มากๆ นั่นคือ ปัญหาเผด็จการ มันอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สายตาเห็นได้ชัดหรอก แต่ว่าพอคุณโตในประเทศที่เผด็จการมันแข็งแรงมากๆ คุณจะไม่มีความหลากหลายโดยอัตโนมัติ”
ขิมกล่าวทิ้งท้ายว่า ผลของการขาดความหลากหลาย ข้อแรกคือ จะทำให้ผู้คนไม่อาจทำหนังที่เสียดสีรัฐได้ ข้อสอง ผู้คนจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารัฐเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนหรือเปล่า และเมื่อเอื้อกับนายทุนก็จะเกิดปัญหาที่เล่ามาข้างต้นขึ้น นั่นคือโรงหนังผูกขาด
“มันไม่ใช่สิ่งที่ตาคุณเห็นโดยอัตโนมัติ มันเป็นสิ่งที่ถึงที่สุดแล้วมันอยู่ในตัวคุณ แล้วรู้ตัวอีกทีมันก็กลืนกินเราไปแล้ว เราอยู่กับมันไปแล้ว ดังนั้นมันเลยเป็นเรื่องของความหลากหลายและความเป็นประชาธิปไตยด้วย”
อ้างอิงจาก