บ้านเรือนแออัด เบียดเสียดในพื้นที่ชุมชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนต้องเว้นระยะห่างจากกัน .. แล้วการควบคุมโรคจะสำเร็จผลได้อย่างไร?
นี่คือโจทย์ใหญ่สำหรับกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย และเขตพื้นที่ปริมณฑลโดยรอบ เมื่อภาพประชาชนนอนรอการรักษาจนตายอยู่ที่บ้าน ปรากฎให้เห็นตามหน้าสื่ออยู่ทุกวัน
เพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์ ทีมแพทย์ชนบทยกขบวนบุกกรุงเข้ามาในพื้นที่สีแดงเข้ม ลงตรวจหาเชื้อในชุมชนแออัด อันเป็นซอกหลืบของมหานครแห่งนี้ ปฏิบัติการครั้งนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขในเมืองกรุง และความเหลื่อมล้ำที่ปกคลุมทั่วทั้งเมือง
The MATTER ตามไปดูการตรวจเชื้อในชุมชนแออัด ซึ่งเป็นจุดที่มีการแพร่ระบาดสูง พร้อมพูดคุยกับผู้คนในชุมชน และแพทย์ผู้ปฏิบัติงานอยู่ด่านหน้า เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มักถูกขนานนามว่าเป็น ‘เมืองฟ้าอมร’
1.
แพทย์กว่า 400 คน จาก 38 ทีม ยกขบวนจากต่างจังหวัด มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย เพื่อตรวจหาผู้ป่วยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทีมแพทย์ชนบทเดินทางมาตรวจหาผู้ป่วย COVID-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนหน้านี้ พวกเขาเคยมาปฏิบัติการนี้กันแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 14-16 และ วันที่ 21-23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายว่า ภาพผู้ป่วยนอนรอการตรวจ การรักษา ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แออัดในรอบการระบาดครั้งล่าสุดของกรุงเทพฯ นี้ จะทุเลาลงเสียที
ในการบุกกรุงครั้งที่ 3 นี้ ทีมแพทย์ชนบทจะลงจุดตรวจเชิงรุก ในช่วงวันที่ 4-10 สิงหาคม เน้นการตรวจเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่แออัด ซึ่งก่อนลงพื้นที่ตรวจในครั้งนี้ โดยจะใช้การตรวจแบบ Rapid Test หรือ Antigen test Kit (ATK) เพื่อหาผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวก หรือก็คือผู้ติดเชื้อ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า จะมีการระดมทีมลงปฏิบัติการในชุมชนวันละ 30 จุด โดยสามารถตรวจและดูแลตามภารกิจที่วางไว้ได้จุดละ 1,000 รายต่อวัน รวมเป็นวันละ 30,000 ราย ในระยะเวลา 7 วัน จึงคาดการณ์ได้ว่า จะคัดกรองโรคได้ประมาณ 210,000 ราย
“และจะมีทีมของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ที่จะนำทีมใหญ่มาคัดกรองแบบ walk-in วันละ 5,000 ราย ในจุดต่างๆ เปลี่ยนจุดไปทุกวัน รวม 7 วัน ก็จะคัดกรองได้อีก 35,000 ราย”
ดังนั้นแล้ว นพ.สุภัทรจึงคาดการณ์ไว้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้จะสามารถคัดกรองผู้คนในเมืองกรุงได้ 250,000 ราย หากผลบวกอยู่ที่ประมาณ 10-15% ก็จะพบผู้ป่วย COVID-19 ที่จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา จำนวน 25,000-32,500 ราย ซึ่งน่าจะสามารถตัดตอนการระบาดไปได้พอสมควร และสามารถช่วยลดภาระเตียงล้นของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ลงได้
“ถ้าพบว่าผลตรวจเชื้อเป็นบวก ก็จะให้เข้าตรวจด้วย RT-PCR อีกครั้ง แล้วก็จะแจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการอ่อนๆ ก็จะให้ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งช่วยทุเลาอาการของโรค COVID-19 ได้ แต่ถ้าไม่ติดเชื้อเราก็จะให้กลับบ้านได้ หรือบางพื้นที่ ตรวจแล้วไม่ติดเชื้อ ก็ให้ฉีดวัคซีนไปเลย เพื่อปิดจ็อบไม่ให้มาเกิดการระบาดได้ในภายหลัง และลดโอกาสที่เขาจะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล” นพ.สุภัทรกล่าว
2.
เมืองฟ้าอมรที่ใครต่อใครชอบพูดกันนั้น ไม่ได้มีแต่คอนโดหรูๆ หรือบ้านเดี่ยวที่ล้อมรอบด้วยพื้นที่สวน ตามตรอกซอกซอยยังมีชุมชนแออัดที่ผู้คนอาศัยอยู่หลักพัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่พักอาศัย หรือแคมป์แรงงานก่อสร้าง ซึ่งพวกเขามักเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมไปอยู่เสมอ
ยิ่งกว่านั้น แม้การระบาดจะลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี 2563 และพื้นที่แห่งนี้จะอยู่ในจุดที่ระบาดหนักมานานนับเดือน แต่นี่ก็เป็นครั้งแรกของชายคนดังกล่าว ที่จะได้ตรวจหาเชื้อ นับเป็นความผิดปกติที่ไม่สมควรจะคุ้นชิน
“ก่อนหน้านี้ชุมชนเขาติดเชื้อกันไปเยอะแล้ว ระบาดมานานแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขามาตรวจในชุมชน” เสียงจากชายสูงวัยคนหนึ่ง ที่กำลังนั่งรอผลตรวจอยู่นอกเต็นท์ตรวจเชิงรุก
จุดตรวจของแพทย์ชนบททีมนี้ ตั้งอยู่ที่ลานกีฬาขนาดเล็ก ในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งของ อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อหนักที่สุดในจังหวัด
“ตรงนี้เหมาะสุดแล้วแหละ เพราะตรงอื่นมันไม่มีที่ให้ตรวจแล้ว นอกจากนี้ก็เป็นตึกที่คนอาศัยกัน”
ในช่วงเวลาที่โรคระบาดรุกล้ำเข้ามาในชุมชนแห่งนี้ ชายคนดังกล่าวอาศัยการรักษาตัวเองตามประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากตลอดเวลา และพยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
“ผมก็กินสมุนไพรที่มี ปลูกไว้หลังบ้าน มันทำให้เราไม่เหนื่อย”
แม้จะไม่แน่ชัดว่าสมุนไพรที่ลุงรับประทานเป็นประจำนั้นดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดจากวิธีการดูแลตัวเองของเขาก็คือ ประชาชนไม่เคยประมาท ไม่เคยการ์ดตก ทั้งยังหวงแหนชีวิตมากเกินกว่าจะต้องถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ที่ทำให้สถานการณ์ COVID-19 ไม่สงบเสียทีด้วย
เช่นเดียวกับ หญิงวัย 70 กว่า ที่กำลังรอเจ้าหน้าที่เรียกชื่อตนเอง เพื่อรับผลตรวจ COVID-19 เธอนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ทีมแพทย์จัดเตรียมไว้ให้ เว้นห่างจากคนอื่นๆ และสวมหน้ากากอนามัยสองชั้น
“ใครๆ เขาก็กลัวตัวเองจะติดเชื้อกันทั้งนั้นแหละ ยายก็กลัวเหมือนกัน ตอนนี้ที่ชุมชนก็ยังมีคนติดเชื้อเยอะ แต่ไม่เคยมีคนมาตรวจเลย”
เธอเสริมว่า ถ้าจุดตรวจไม่ได้อยู่ใกล้บ้านขนาดนี้ เธอก็คงไม่มาตรวจเหมือนกัน เพราะเดินทางลำบาก กว่าจะออกไปถึงจุดตรวจ ก็ไม่รู้จะไปรับเชื้อเพิ่มมาหรือเปล่า ดังนั้น การที่ทีมแพทย์ชนบทเข้ามาตรวจให้ถึงที่จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก
ระหว่างนั้นเอง ชายสูงวัยอาศัยไม้เท้าช่วยค้ำยันเดินเข้ามาคนเดียวในพื้นที่จุดตรวจ พร้อมกับที่เจ้าหน้าที่วิ่งเตรียมเก้าอี้แยกไว้ให้ต่างหาก เพื่อไม่ให้เขาต้องลำบาก เดินไปอีกไกล นพ.สุภัทร เดินไปหาผู้สูงวัยคนนั้น พร้อมด้วยอุปกรณ์ตรวจแบบ rapid test และตรวจหา COVID-19 ให้ชายชราคนดังกล่าว
ภาพที่ปรากฏนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากจุดตรวจอยู่ใกล้ เข้าถึงได้ง่าย ประชาชนก็อยากตรวจเชื้อกันทั้งนั้น แต่ที่ผ่านมา หากไม่มีเงินแล้ว คนไทยก็ไม่เคยเข้าถึงการตรวจได้อย่างง่ายดายเลย
3.
“ดูลักษณะอาคารเป็นแฟลตพัก ถ้ามีผู้ติดเชื้อ 1 คน แล้วไม่ได้กักตัวดีๆ ก็จะติดกันไปทั้งแฟลต” คำกล่าวจาก นพ.สุภัทรถึงสภาพการติดเชื้อในชุมชนย่านสามพราน
ทีมแพทย์ชนบทลงพื้นที่ตรวจในชุมชนแออัด พร้อมด้วยเป้าหมายว่า จะต้องตรวจให้ได้วันละ 1,000 ราย แบ่งครึ่งรอบเช้า-บ่าย ซึ่งคุณหมอเองก็มองว่า การตรวจให้ได้จำนวนเท่านี้ในแต่ละวัน ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะชุมชนส่วนใหญ่มีประชากร 2,000-3,000 คน
“แต่อีกทางคือ จะให้เราตรวจมากกว่านี้ก็ไม่ไหว 1,000 รายต่อวันก็เร็วแล้ว เพราะทีมก็ประมาณ 10 คนเอง โอเคแหละ วันนี้ที่มามี รพ.สต. แล้วก็ อสม. มาช่วยจัดคิว ช่วยเราได้เยอะเลย”
สำหรับขั้นตอนการตรวจเชื้อในชุมชนแห่งนี้ จะเริ่มจากการซักประวัติ แล้วตรวจเชื้อด้วย ATK หากผลเป็นบวกก็จะต้องแหย่จมูกซ้ำใส่หลอด VTM (viral transport media) เพื่อนำส่งให้โรงพยาบาลอื่นตรวจเชื้อด้วยกระบวน RT-PCR
“ตอนนี้เรานำส่งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพราะในกรุงเทพฯ ไม่มีที่ส่งแล้ว แออัดไปหมด ผลก็ออกช้า”
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชนแห่งนี้อาจเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว เพราะเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการระบาดเยอะ แต่จากที่ทีมแพทย์ชนบทตรวจไปตอนเช้า 400 ราย เจอผู้ติดเชื้อ 16 ราย คิดเป็น 3-4% ซึ่งถือว่าน้อยจากปกติเจอที่กรุงเทพฯ ประมาณ 15-20%
คุณหมอยังคาดการณ์ว่า สถานการณ์ในชุมชนตอนนี้ ผู้คนติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันกันไปเองแล้ว บางคนอาจติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย รู้อีกทีก็หายแล้ว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนไปบ้างแล้ว จึงเริ่มเกิดภูมิคุ้มกันในชุมชนขึ้นมาบ้าง
“คิดว่าอีก 2 อาทิตย์ หรือไม่เกิน 1 เดือน ที่นี่ก็คงสงบแล้ว เพราะว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่เรียบร้อย เราเชื่ออย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องสุ่มเจาะภูมิคุ้มกัน ดูว่ามีภูมิจริงไหม แต่เชื่อว่ามีแน่ เพราะประสบการณ์เราก็คือ เรามีการระบาดใหญ่แล้ว เดี๋ยวสักพักก็สงบถ้ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น”
ก่อนจะมาที่ชุมชนในสามพรานนี้ ทีมแพทย์ชนบทของ นพ.สุภัทร ลงตรวจในชุมชนมักกะสัน กรุงเทพฯ มาแล้ว ซึ่งสถานการณ์ในชุมชนนี้ นับว่าดีขึ้นกว่าการตรวจครั้งก่อน ด้วยยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงจาก 20% เหลือ 10% ของประชากร
“ผู้นำชุมชนบอกว่า ตายไปแล้ว 5 คนในชุมชนมักกะสัน เสียชีวิตที่บ้าน 3 คน ไม่สามารถจะหาเตียงที่โรงพยาบาลได้เลย แล้วยังมีคนที่กักตัวที่บ้านแบบไม่สามารถกักได้จริงอีก เพราะบ้านหลังเล็ก สุดท้ายก็ติดหมดทั้งบ้าน ติดเพื่อนบ้าน ติดไปเรื่อย”
การเข้าสู่ขาลงของการระบาดในทั้งสองชุมชนนี้ ยังตรงข้ามกับอีกหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่เผชิญกับการระบาดหนักหน่วง ซ้ำโรงพยาบาลต่างๆ ยังรับคนไข้ไม่ไหว หลายคนต้อง home isolation ในสภาพบ้านที่แยกจากผู้อื่นไม่ได้กลายเป็นว่า ผู้คนในบ้านต้องติดเชื้อกันไปเรื่อยๆ จนเสียชีวิต
“หลายบ้านในชุมชนแออัดเขาไม่สามารถแยกคนในครอบครัวได้ เพราะบ้านหลังเล็กๆ อยู่กัน 7-8 คน ไม่มีพื้นที่เลย ดังนั้น ติดหมดทั้งบ้านแน่ๆ”
ทางแก้ที่ นพ.สุภัทรเสนอก็คือ การเพิ่มจำนวนศูนย์พักคอยให้มีครบทุกแขวง ใครป่วยก็มานอนรวมกันได้ 14 วัน ถ้าหายก็กลับบ้านได้ แต่ถ้าไม่หาย อาการแย่ลง ก็ต้องประสานให้โรงพยาบาลมาช่วยดูแล
คุณหมอยังเสริมว่า จากประสบการณ์การระบาดใน อ.จะนะ จ.สงขลา โรงเรียนคือสถานที่ที่ดีที่สุด เพราะมีห้องน้ำเพียงพอ มีห้องเรียนให้แยกพื้นที่ ทั้งยังมีระบบส่งน้ำ ส่งอาหาร ส่งยา มีพยาบาลเดินขึ้นไปเยี่ยมวันละหน
“แต่โรงเรียนในกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยเปิดตัวเองมาสู่กระบวนการช่วยดูแลชาวบ้าน เพราะยังกังวล อันนี้ต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะไม่อย่างนั้นการแพร่ระบาดก็จะติดหมดทั้งชุมชน พอติดมากๆ มันก็จะเพิ่มอัตราความต้องการเตียงในโรงพยาบาล เพิ่มอัตราเสียชีวิตที่บ้าน เพิ่มไปหมด ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น”
4.
ไม่ใช่แค่ผู้คนในชุมชนแออัดเท่านั้นที่เข้าไม่ถึงการตรวจ COVID-19 แต่การได้ตรวจเชื้อยังคงเป็นเรื่องยากในประเทศไทยอยู่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้บทเรียนกันไปแล้ว
“ผมเชื่อว่าวันนี้คนในกรุงเทพฯ อาจจะอยากตรวจกันเป็นล้านคน ถ้าเรามีศักยภาพในการตรวจ ถ้าล้านคน มันก็จะกรองออกมาซัก 100,000 หรือ 10% จากที่จะต้องมานั่งไล่ตรวจ RT-PCR” นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับตรวจ RT-PCR จากทีมแพทย์ชนบท
“วันนี้เราตรวจประมาณ 3,000 ราย แล้วทีมแพทย์ชนบทก็ประสานงานมา รวมทั้งที่เราไปตรวจด้วย เราก็อยู่ในทีมนี้ด้วย ก็คาดว่าอาจจะต้องมีแล็ปส่งตรวจประมาณ 2,000-3,000 รวมเป็นประมาณ 5,000 ก็คิดว่าเรารองรับได้”
ตัวเลขตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการตรวจของกรุงเทพฯ ที่ไม่สอดรับกับความต้องการของประชาชน ซึ่งคุณหมอกล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชฯ ก็ใหญ่เทียบเท่ากับโรงพยาบาลใหญ่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่แบบนี้อยู่ 10 กว่าแห่ง
“ก่อนหน้านี้ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจหรือเปล่าว่า ไม่ต้องการให้ตรวจเยอะ เพราะถ้าตรวจเยอะก็ต้องรับคนไข้เข้าสู่กระบวนการรักษามากขึ้น เนื่องจากเตียงไม่พอ ซึ่งตอนนี้ศักยภาพในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ก็ไม่พอต่อความต้องการของผู้ป่วย ขนาดผู้ป่วยที่มีผลยืนยันแล้วก็ยังเข้าไม่ได้ นับประสาอะไรกับคนที่ยังไม่มีผลยืนยัน ยิ่งเป็นข้ออ้างจะไม่รับได้อยู่ดี เพราะต้องมีผล RT-PCR ถึงจะสามารถเข้าโรงพยาบาลได้”
ปัญหานี้ทำให้ นพ.เกรียงศักดิ์มองว่า การตรวจด้วย ATK เพื่อคัดกรองคนไข้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งในตอนนี้กรมควบคุมโรคยังไม่นับรวมผู้ที่มีผลบวกจากการตรวจแบบ ATK เข้าไปในระบบ หรือก็คือ ยังไม่ถือเป็นผู้ป่วยยืนยัน เพราะต้องรอผลการตรวจแบบ RT-PCR ก่อน แต่คุณหมอก็มองว่า ถ้าใช้ชุดตรวจ ATK ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เราสามารถยืนยันผู้ป่วยได้เร็วขึ้น
โดยต้องใช้ชุดตรวจ ATK ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแล็บของโรงพยาบาลมหาราชฯ เองก็พบว่า กรณีของคนที่ตรวจด้วย ATK แล้วมีผลเป็นบวก แต่เมื่อไปตรวจแบบ RT-PCR แล้วพบว่ายังไม่ติดเชื้อนั้น มีไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ
“ที่ผมอยากบอกก็คือ กระบวนการจัดซื้อชุดตรวจผ่านองค์การเภสัชกรรมไม่ตอบสนองเลย บริษัทที่เราต่อรองไว้ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ ราคาลดลงมาจากราคาซื้อขายปกติถึง 3 เท่า แล้วก็สามารถส่งของได้ไม่เกินวันที่ 10 สิงหาคมนี้ แต่ก็องค์การเภสัชกรรมกลับยืดเยื้อ เอาแต่ต่อรองราคา และคาดว่าจะส่งได้ประมาณสิ้นเดือน”
“กฎหมายเองก็เปิดช่องไว้ให้ได้อยู่แล้วว่าเราสามารถเจาะจงยี่ห้อได้เลย ภายใต้วิกฤตแบบนี้ เพราะนี่คือความเป็นความตาย เป็นเรื่องเร่งด่วนสูงสุดอยู่แล้ว การเอาชุดตรวจมาให้คนไข้ได้ตรวจโดยเร็ว เพื่อให้รักษาคนไข้ได้เร็ว เพราะถ้ารู้ผลไม่เกิน 24 ชม.ก็คอนเฟิร์มแล้ว คนไข้ก็ได้ยาแล้ว ถ้าต้องรอไปอีก 20 วัน คนไข้อาจจะเสียชีวิตไปแล้วก็ได้”
ยิ่งกว่านั้น นพ.เกรียงศักดิ์ยังเล่าอีกว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศกฎระเบียบออกมาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 ว่าสามารถใช้ ATK เป็นการคอนเฟิร์มเคสได้ในช่วงเวลาและสถานที่ที่มีการระบาดหนัก หรือว่าง่ายๆ ก็คือ ใช้ได้ในประเทศที่มีการระบาดหนักในช่วงเวลาหนึ่ง และ WHO ก็ได้รับรองชุดตรวจแบบ ATK ไปแล้ว 2 บริษัท ทั้งยังซื้อแจกประเทศที่ยากจนไปแล้วทั่วโลก
“เพราะงั้นต้องไม่ใช่แค่เลือกแต่ของถูกๆ มา แล้วยังต้องนำเข้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย เพราะในระยะต่อไป แค่นี้คงไม่พอ ผมเชื่อว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจัดซื้ออีกไม่น้อยกว่า 50-100 ล้านเทส เหมือนต่างประเทศที่แต่ละคนที่ต้องตรวจกันทุกอาทิตย์ด้วยซ้ำ แต่ในช่วงเวลานี้มันรอไม่ได้จริงๆ เห็นใช่ไหมว่า บางคนเสียชีวิตไปแล้วถึงจะได้ตรวจ ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด คนไข้เหล่านี้จะได้ทำด้วยตัวเอง แล้วเอารายงานผลไปขอทำ RT-PCR ได้เร็วขึ้น”
ณ ตอนนี้ ราคาชุดตรวจในท้องตลาด อยู่ที่ 350-450 บาท ซึ่งคุณหมอเล่าว่า ในโรงพยาบาลจะซื้อได้ในราคา 200 บาทปลายๆ ถูกกว่าราคาตามตลาด แต่ถ้าองค์การเภสัชกรรมจัดซื้อมาราคาจะอยู่ที่ 120 บาท เพราะถือว่ารัฐจัดซื้อให้ กระทรวงพาณิชย์ก็จะถือราคานี้เป็นฐานราคากลาง และประชาชนจะได้เข้าถึงชุดตรวจได้มากขึ้น
5.
การระบาดในครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของระบบสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ
แม้ความเจริญแทบทุกด้านจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง แต่ นพ.สุภัทรก็กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานในการดูแลประชาชนเรื่องสุขภาพของกรุงเทพฯ ยังต้องการการระดมทุน การพัฒนาอย่างจริงจัง การเพิ่มบุคลากรอีกชุดใหญ่ ซึ่งการระบาดครั้งนี้ชัดเจนมากว่า ระบบสุขภาพของกรุงเทพฯ ยังตามไม่ทันความเร็วในการระบาดและความรุนแรงของโรค
คุณหมอชวนตั้งคำถามว่า ต่างจังหวัดทุกตำบลยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้ ทำไมแขวงจะมีศูนย์บริการสาธารณสุขไม่ได้ ทุกอำเภอในต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลชุมชน ฉะนั้น ทุกเขตในกรุงเทพฯ ก็ต้องมีโรงพยาบาลเอง
“ความเป็นเมืองหลวงศิวิไลซ์ ต้องการการดูแลผู้คน ผู้คนในชุมชนแออัดเขาต้องการสิ่งเหล่านี้นะ เขาไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลเอกชน เขาไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยได้ เพราะเข้าถึงยาก เขาไม่สามารถเข้าถึงคลินิกเอกชนได้บางครั้ง เพราะรายได้น้อย บางคนอยู่ที่ 300-320 บาท หรือน้อยกว่านั้นก็มี”
นพ.สุภัทรกล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งไม่ใช่แค่การรักษาโรคตอนป่วยอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษาพื้นฐาน การฟื้นฟูสุขภาพ การเยี่ยมบ้าน การปรับสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และการควบคุมโรค
ในเรื่องของการควบคุมโรคนี้ กรุงเทพฯ พึ่งพิงการควบคุมจากศูนย์บริการสาธารณสุข แต่ศูนย์เดียวก็ไม่สามารถดูแลประชาชนจำนวนมาก นี่จึงเป็นเครื่องสะท้อนว่า ประเทศไทยต้องปรับระบบสาธารณสุข และต้องการการลงทุนขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพในกรุงเทพฯ
“หนึ่งปีที่ผ่านมา เราประมาท เราช้าไป ลักษณะการระบาดในตอนนี้ ก็น้องๆ อินเดียแล้ว คือมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก วันละ 200 ราย ผู้ติดเชื้อ 20,000 รายต่อวัน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ 20,000 รายแน่ เพราะนี่เป็นตัวเลขของ RT-PCR ยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ตรวจอีกมาก”
นพ.สุภัทรย้ำว่า ถ้ามีผู้ป่วยแล้วไม่ถูกรับมาดูแลเร็วเขาก็จะป่วยหนัก รพ.ก็จะล้น แล้วไม่มีทางดูแลผู้คนได้เลย อัตราการตายจะสูงขึ้นอีก แล้วเขาก็คาดหวังว่าจะมีการตรวจเร็ว จ่ายยาเร็วเกิดขึ้น แต่ระบบตรวจเร็ว จ่ายยาเร็ว ควรจะเป็นระบบปกติในอนาคตอันใกล้ของทุกพื้นที่ที่มีการระบาด
“รัฐบาลมีภารกิจสำคัญในการดูระบบทั้งหมด จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องให้แพทย์ชนบทบุกกรุง เราก็ไม่อยากมาบุกนะ เราอยากให้ระบบปกติเดิน แล้วก็ไม่รู้ว่า ถ้าเรากลับไปแล้วระบบในกรุงเทพฯ ใครจะดูต่อ ใครจะปรับ พละกำลังตรงนี้ต้องการพลังของรัฐบาลมาช่วย ลำพังโรงพยาบาลที่อยู่ในกรุงเทพฯ เขาก็ไม่ไหวแล้ว เวลาหายใจ เวลากินข้าว ก็แทบไม่มีแล้ว”
นอกจากนี้ นพ.สุภัทรยังย้ำด้วยว่า การแก้ไขปัญหาการระบาดที่เกิดขึ้นนี้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน การคิดอย่างเป็นระบบ และการชี้นำสังคมของรัฐบาล ที่ต้องทำให้คนเห็นอนาคต เห็นความหวัง เห็นทิศทางที่จะเดินไปด้วยกัน
“แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเห็น เราเห็นแค่ว่า วัคซีนขาดแคลน ยาฟาวิพิราเวียร์ก็ขาดแคลน โรงพยาบาลก็เตียงเต็ม ทุกอย่างงงไปหมด เปิดประเทศ 120 วัน ก็ไม่รู้จะเป็นได้หรือเปล่า คงไปไม่ถึงแน่ๆ เพราะเราเห็นแต่ปัญหา การชี้นำความหวังให้ผู้คน ระบบของประเทศ และทุกภาคส่วนเดินไปสู่ทิศเดียวกันยังเดินไปไม่ถึงตรงนั้น”
เช่นเดียวกับ นพ.เกรียงศักดิ์ ที่มองว่า การระบาดในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเร่งแก้ไข เพราะหากกรุงเทพเผชิญกับการระบาดหนักแล้วไม่เร่งรวบคุมให้ไว พื้นที่อื่นๆ ก็จะต้องเจอกับการระบาดอย่างหนักตามไปด้วยเช่นกัน
นพ.เกรียงศักดิ์ย้ำว่า ภาครัฐโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดการระบาด ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี เมื่อตรวจแล้วต้องหาสถานที่กักโดยด่วน ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องวางให้สมบูรณ์แบบ แค่พอใช้ได้ก็เอาได้แล้ว ดีกว่าจะเอาให้สมบูรณ์ สวยหรู แต่คนไข้เสียชีวิตไปแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
คุณหมอยังยกตัวอย่างสถานการณ์ในโคราชว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยในพื้นที่ต่ำกว่า 10 ราย แต่ตอนนี้เจอผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่วันละประมาณ 500 ราย ซึ่งมีประมาณ 300-400 รายมาจากกรุงเทพฯ และสถานการณ์ก็เป็นเช่นนี้มาเกือบเดือนแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงเลย
“เราก็เลยคิดว่า ต้องบุกเข้ากรุงเพื่อดับไฟแต่ต้นทาง โดยคาดหวังว่าจะให้เจ้าของบ้าน ช่วยเราดับไฟด้วย ปลายทางเราดับกันได้เองอยู่แล้ว เพราะระบบปลายทางด้านการสาธารณสุขของกระทรวงฯ ค่อนข้างเข้มแข็ง ขณะที่การรักษาพยาบาลของกรุงเทพฯ เข้มแข็ง แต่ในการสาธารณสุขยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ ซึ่งเราได้คำตอบเมื่อตอน COVID-19 เนี่ยแหละว่าเป็นอย่างไร”