จำนวนผู้ป่วยท่ีเพิ่มขึ้นในระดับ 20,000 รายติดต่อกันร่วมอาทิตย์ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า สถานการณ์ตอนนี้เรามาถึงจุดพีคการระบาดหรือยัง?
ไม่ว่าจะเป็นคำถามเพื่อหวังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะถึงเวลาลดแล้ว หรือเพื่อเตรียมตัวรับแรงกระแทกต่อก็ดี แต่คำถามดังกล่าวก็น่าสนใจยิ่งนักในช่วงการระบาดระดับนี้
The MATTER พูดคุยกับ นพ.บวรศม ลีระพันธ์ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมพัฒนาโมเดลการระบาด ‘แบบจำลองสถานการณ์เพื่อพิจารณาแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกที่สาม ภายหลังการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ เดือนกรกฎาคม 2564’ ถึงสถานการณ์ในตอนนี้หลังมีมาตรการล็อคดาวน์เกือบครบหนึ่งเดือน เราอยู่ในจุดที่วางใจได้หรือยัง และหลังจากนี้มาตรการควรเป็นอย่างไรต่อ
หลังผ่านล็อคดาวน์มาเกือบหนึ่งเดือน (12 ก.ค.) สถานการณ์ในตอนนี้ นับว่าเป็นจุดพีคของการระบาดระลอกนี้หรือยัง
หลายคนพยายามยกคำถามนี้ขึ้นมาในช่วงหลัง แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่าพีคแบบไหน อันแรก พีคแบบอินเดียไหม? คือติดเชื้อกันมากเสียจนหาคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อแทบไม่ได้แล้ว และติดเชื้อจนมาตรการรัฐทำอะไรไม่ได้แล้ว ถ้าในกรณีนั้น ในการระบาดระดับประเทศ เมืองไทยไม่น่าจะถึง
แต่มันถึงพีคในบางพื้นที่หรือเปล่า เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล ก็เป็นเรื่องน่าคิด แต่ก็ไม่มีใครรู้อยู่ดี เพราะข้อมูลที่จะตอบคำถามนี้มีน้อยมาก จำนวนการตรวจมันน้อยมาก เราก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆ มีคนติดเชื้อเท่าไหร่กันแน่ในประเทศ
แต่ถ้าดูจากรายงานที่เป็นทางการ ตอนนี้ผู้ติดเชื้อสะสม 700,000 กว่าคนแล้ว ถ้าดูจากประชากรไทยบวกประชากรแฝงประมาณ 70 ล้านคน มันคือ 1 ใน 100 เท่านั้นเอง ดังนั้น มันก็อาจจะยังไม่ถึงพีค และเราโอกาสติดเชื้อเพิ่มเติมได้อีกมาก ใช่ไหมครับ?
เรียกว่าสถานการณ์ร้ายแรงใกล้เคียง หรืออยู่ในระดับเดียวกับอินเดียหรือเปล่า
คือตัวเลขมันเทียบตรงๆ ไม่ได้ ด้วยเหตุผลหนึ่งก็คือ พฤติกรรม บริบทการใช้ชีวิต และสภาพพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทีนี้พอเราเทียบเคียงตัวเลขคร่าวๆ ระดับประเทศ มันถึงแปลผลได้ยาก อย่างอินเดีบ ประชากรเขาอาจจะอยู่หนาแน่นกว่าเรา และมีอีกสารพัดอย่างที่แตกต่างจากเรา จึงน่าจะแปลผลตรงๆ ได้ยาก ผมจะระมัดระวังไม่ไปเทียบเคียงอนุมานเอาอย่างนั้น
ตอนนี้สถานการณ์เรายังไม่ถึงขั้นควบคุมไม่ได้ เรายังใช้มาตรการภาครัฐทำให้ตัวเลขลงมาได้ ซึ่งผมก็อธิบายใต้โมเดลแล้วว่าจะมี 3 วิธี
วิธีแรกคือ ลดความถี่ในการสัมผัส คืออยู่บ้านให้มากขึ้น นานถึงจะออกมาทีหนึ่ง แต่ปัญหาตอนนี้คือ ไม่แน่ใจว่าเราทำมากพอหรือเปล่า การมีม็อบหรือรถติดอยู่ก็อาจจะเป็นตัวแสดงหนึ่งที่ดีว่าเราอาจยังลดความถี่ไม่มากพอหรือไม่ แต่ถ้าการแพร่เชื้อเริ่มเข้ามาในครัวเรือนแล้ว มาตรการล็อคดาวน์ก็อาจจะไม่ช่วยลดตัวเลข
วิธีที่สองคือ การลดโอกาสสัมผัสเชื้อ คืออยู่ในที่อากาศระบายดี ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ถึงจะเจอกันบ้างด้วยสาเหตุจำเป็น วิธีนี้ก็อาจลดการการเชื้อแพร่เชื้อได้ แต่พอไวรัสมันไปอยู่ในบ้าน มันก็ตรวจสอบไม่ได้แล้ว
วิธีที่สามคือ การลดเวลาแพร่เชื้อ คือต้องจับคนที่ติดเชื้อให้ทันก่อนที่จะไปแพร่เชื้อในชุมชน ถ้าตรวจ-วินิจฉัย-แยกโรคได้เร็วก็ลดการแพร่เชื้อได้เหมือนกัน โดยเฉพาะตอนนี้มี ATK (Antigen Test Kit) ช่วยตรวจได้เพิ่มขึ้นนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเรายังคิดว่ามีผู้ติดเชื้อหลุดอยู่ในชุมชนมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ทุกคนเชื่อตรงกันแล้วว่าตัวเลขที่รายงาน มันไม่ครบ ดังนั้น ถ้าดึงกลับมาไม่ครบ ยังไงก็ไม่หมดพีค
ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่า การระบาดของเราน่าจะเริ่มลดลงเพราะมีภูมิคุ้มกันหมู่ระดับประเทศเหมือนกับอินเดีย ผมคิดว่าของไทยตอนนี้ เราคงยังไม่ได้ติดเชื้อมากจนถึงขนาดมีภูมิคุ้มกันหมู่ระดับประเทศแน่นอน แต่บางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ อาจจะถกเถียงกันได้ เช่น บางชุมชนอาจจะเริ่มติดเชื้อมากจนไม่เหลือใครให้ติดเชื้อเพิ่มเติมแล้วเกิดเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ (ไม่ได้เกิดจากวัคซีน)
แต่ผมคิดว่าในระดับทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลถึงจะมีผู้ติดเชื้อมากก็ยังไม่มากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะเชื้อเดลต้าแพร่เชื้อได้เร็วมาก ผู้ติดเชื้อหนึ่งคนอาจจะแพร่เชื้อได้ 8-10 คน ดังนั้นต่อให้ 7 ใน 10 คนติดเชื้อแล้วหายมีภูมิคุ้มกัน ก็ยังมีอีก 3 ใน 10 คนนั้น ที่ยังติดเชื้อแล้วแพร่ต่อได้ ทำให้ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้การระบาดยังไม่ลดลง จนกว่าผู้ติดเชื้อแต่ละคนจะมีโอกาสแพร่ได้น้อยกว่า 1 คน ถึงจะเลิกระบาด ดังนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อยังต้องลงด้วยมาตรการ แค่ผมรู้สึกว่ามาตรการตอนนี้ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร และกังวลว่าตัวเลขจะเป็นขาขึ้นครับ
ถ้าเราประเมินแยกเฉพาะสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจารย์มองว่าน่าห่วงแค่ไหน
น่าห่วงมาก (ลากเสียง ก ไก่) ไม่มีอะไรน่ากังวลเท่าตอนนี้แล้ว ผมเข้าใจที่คนถามว่ามันจะพีคหรือยัง เพราะหวังจะได้มีความหวังขึ้นหน่อย แต่ว่าตอนนี้ ข้อมูลที่มียังไม่พอทำให้เชื่อมั่นว่ามันจะลงมา พูดได้แค่นี้ครับ
ถ้าดูตัวเลขของการรายงานเฉพาะกรุงเทพฯ มันเหมือนจะเริ่มทรงๆ แต่มันกลับไปที่คำถามเดิมว่า เป็นเพราะเราตรวจน้อยลงหรือตรวจไม่มากพอหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่ากรุงเทพฯ ยังตรวจไม่พอเมื่อเทียบกับความเสี่ยง
สำหรับผม ตัวเลขที่น่ากังวลมากคือจำนวน RT-PCR (Polymerase chain reaction) ที่ลดลงช่วง 2-3 สัปดาห์หลัง บวกกับช่วงที่มีความสับสนเรื่องผู้ตรวจ ATK แล้วเป็นบวก จะต้องคอนเฟิร์มเคสไหม ทำให้สุดท้าย มันกลายเป็นว่าเรากลับไปลดการตรวจที่น้อยอยู่แล้วให้น้อยลงอีก ซึ่งอันนี้ เป็นทั้งประเทศ รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย
อีกประเด็นสำคัญคือ ถ้าเมื่อไหร่แนวโน้มของความชุกโรคในประชากรมันสูงมากขึ้น มันยังเป็นสัญญาณว่าตัวเลขยังไม่ลงครับ
ซึ่งตัวเลขที่ผมคิดว่า น่าสนใจมากที่สุดคือ ตัวเลขคนไข้ที่มาผ่าตัดที่โรงพยาบาลโดยที่ไม่มีประวัติความเสี่ยงเรื่อง COVID-19 ตอนนี้เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.5%-1% เป็น 2-3% เข้าไปแล้ว ขณะที่ในบางที่มากกว่านั้นด้วย ซึ่งมันเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และสะท้อนว่าความชุกของโรคยังเยอะมาก
และถ้าดูเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯ ปริมณฑลกับต่างจังหวัด กรุงเทพฯ ก็ยังมี positive rate สูงกว่า สอดคล้องกับความเข้าใจว่ามันเป็นพื้นที่ระบาดหนัก ดังนั้น ยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลง
อาจารย์มองฉากทัศน์ (Scenario) ต่อจากนี้ เป็นอย่างไรบ้าง มีกี่ภาพ
ผมคิดว่าภาพแรกทุกคนต้องเห็นตรงกันก่อนคือ เห็นสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริงๆ คือ ในตอนนี้ ผมยังไม่เห็นความแตกต่างจากมาตรการที่เกิดขึ้น คุณเห็นไหม ถ้าเห็นแบบที่ผมเห็นก็แปลว่าล็อคดาวน์ครบ 1 เดือน มันไม่ได้ลดการแพร่เชื้อในชุมชนมากเท่าที่ควร
และถ้าเป็นตามโมเดลที่ผมและทีมทำกัน ถ้าเลิกล็อคดาวน์หลังเดือนนี้ (ส.ค.) ตัวเลขจะกระโดดเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน เพราะอย่างที่บอกว่าตอนนี้ มันยังไม่ถึงจุดพีค
ผมตอบอย่างนี้ ฉากทัศน์ต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ มันเกิดเพราะเราทำอะไรที่แตกต่างจากเดิมหรือเปล่า ทั้งในเรื่องนโยบายสาธารณะ ความร่วมมือของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันคงไม่มีเหตุผลที่สถานการณ์จะเปลี่ยนไป
และผมคิดว่าถ้าจะล็อคดาวน์เข้มข้นขึ้น มันแปลว่าอะไรต้องพูดให้ชัด ถึงขนาดอู่ฮั่นโมเดลเลยหรือเปล่า แล้วมันจะไปติดกับดักเรื่องการติดเชื้อในครัวเรือนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ดังนั้น ผมสรุปว่าล็อคดาวน์ต่อไป มันช่วยอยู่แล้ว ถ้ามีการตรวจที่ครอบคลุมกว้างขวางเหมือนกับที่ประเทศจีนทำ แต่เรามันไม่ใกล้เคียงเลยครับ
แต่ถ้าเราตรวจและแยกโรคเร็วขึ้น สุดท้ายเราอาจมีปัญหาเรื่อง จุดแยกโรคอีก ตอนนี้เราหวังพึ่งศูนย์พักคอย, Community Isolation รวมถึง Home Isolation เป็นหลัก แต่ผมคิดว่าเราก็ยังทำน้อยไปอยู่ดี
ดังนั้น ถ้าไม่คิดมากก็มีแค่ 2 ฉากทัศน์คือ ถ้าไม่ทำอะไรเพิ่มเติม ผมคิดว่าสุดท้ายน่าจะคุมไม่ได้ ส่วนอีกฉากทัศน์ก็ได้แต่หวังว่าจะมีนโยบายเชิงรุกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ล็อคดาวน์เฉยๆ
ถ้าสมมุติเรากระจายวัคซีนได้มากและทั่วถึงขึ้น จะช่วยได้บ้างไหม
ถ้ามีวัคซีนพอต้องฉีดให้กับคนที่ยังไม่ได้รับเชื้อ แต่มีความเสี่ยง เช่น เคยอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ติดโรค แต่ปัญหาคือรัฐบาลมีวัคซีนให้ไม่พอ ตอนนี้ผมเลยคิดว่าเลิกคิดเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีนไปได้แล้ว
คืออธิบายก่อนว่าตามตำราภูมิคุ้มกันหมู่คือ ไม่ต้องฉีดวัคซีนให้ทุกคนหรือไม่ต้องติดเชื้อทุกคนเพื่อให้ประชากรสัก 60-70% มีภูมิคุ้มกัน และทำให้การระบาดลดลง คล้ายที่เกิดขึ้นในอินเดีย แต่ตัวเลข 60-70% นี้เราคำนวณจากข้อมูลเดิมที่ผู้ติดเชื้อหนึ่งคนแพร่เชื้อได้ 2-3 คน
แต่สถานการณ์ตอนนี้ ผู้ติดเชื้อเดลตาอาจจะแพร่ไปได้ถึง 8-10 คน ดังนั้น ต่อให้เราฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากร เชื้อก็อาจจะยังแพร่ต่อได้อีก 2-3 คน พูดอีกอย่างสั้นง่ายๆ คือ ด้วยสถานการณ์ของไวรัสเดลตา ทางเดียวที่จะทำภูมิคุ้มกันหมู่ได้คือประชากร 100% ต้องฉีดวัคซีนเกือบทุกคน หรือติดเชื้อเกือบทุกคนแล้วหาย ซึ่งเรายังห่างจากทั้งสองสถานการณ์นั้นมาก รวมถึงถ้าเลือกได้เราไม่อยากให้ทุกคนติดเชื้อ เพราะนอกจากสูญเสียเยอะแล้ว มันยังมีโรคหลังป่วยอีก เช่น โรค Long covid เพราะฉะนั้นถ้าเลี่ยงได้ เราไม่อยากให้ใครติดเชื้อ
งั้นวิธีเดียวที่ทำได้คือ ต้องควบคุมโรคให้ได้แล้วจัดการเรื่องวัคซีนให้ทั่วถึง และอย่าไปคาดหวังว่าฉีดวัคซีนเสร็จมันจะจัดการได้ทันที เพราะมันต้องใช้เวลาสร้างภูมิอีกอย่างน้อย 2 อาทิตย์หลังได้รับเข็ม 2
และอันที่จริง ถ้าดูตัวเลขคนที่รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มันแค่ 6-7% เอง แทบไม่มีผลอะไรในแบบจำลองการระบาดระดับประเทศเลย
ในกรณีที่เรายกเลิกล็อคดาวน์และเปิดเมืองแบบที่สหราชอาณาจักร สถานการณ์ของเราจะเป็นอย่างไร
เละแน่ๆ คือ เราจะทำได้แบบเขาก็ต่อเมื่อเราฉีดวัคซีนมากพอ ดังนั้น ตอนนี้ถ้าคลายล็อค ยังไงคนจะตายเยอะขึ้นมาทันที
ผมคิดว่าศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) เขาไม่ได้สนใจเรื่องระบาดอย่างเดียว แต่แคร์เรื่องเศรษฐกิจเยอะมาก มาตรการที่ดูเหมือนแทงกั๊ก ไม่ยอมล็อคดาวน์ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือตอนนี้ก็ทำแบบไม่เต็มที่แบบนี้ ก็คงเป็นเพราะกังวลผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะทุกคนได้รับผลกระทบเยอะมากแล้วตั้งแต่ปีที่แล้วที่เราดันไปทำล็อกดาวน์นานเกินทั้งที่ช่วงหลังมีเคสน้อยมาก
ผมเลยไม่แน่ใจว่า วิธีการคุมโรคแบบแทงกั๊ก มันจะมีประโยชน์อะไร กลับเห็นโอกาสพัฒนาโรคเยอะกว่าเดิมด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการตรวจที่น้อยมากนี่ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร ตรวจ ATK เพิ่มขึ้น แต่กลายเป็นว่าไปลด PCR ก็ตลกร้าย มันไม่มีประเทศไหนในโลกนะที่ตรวจประมาณ 50,000 คนแล้ว ติดเชื้อ 20,000 คน คิดดูที่ไหนในโลกมัน Positive 40% น่ากังวลมาก
ดังนั้น ถ้าสถานการณ์ไม่เหมือนกัน เราก็ไม่ควรจะเลียนแบบมาตรการด้วยเหตุผลทั้งปวง อย่างออสเตรเลียเขายังกลับมาล็อกดาวน์เลย แล้วประเทศเราทำอะไรอยู่ มันยังมีงานให้ทำอีกเยอะเลย
ถ้าภาครัฐตัดสินใจขยายระยะเวลาล็อคดาวน์ต่อไป ควรมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมบ้าง
ผมคิดว่าเป็นโอกาสทำสองเรื่อง ข้อแรกแน่นอนต้องตรวจเพิ่มขึ้น
ข้อสอง ถ้าเราต้องทำแบบอู่ฮั่นโมเดลจริงๆ ต้องมีมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจสังคมที่มากกว่าตอนนี้ ทำให้คนอยู่บ้านได้จริงๆ ซึ่งผมยังไม่เห็นแนวโน้มที่เขาจะทำ หรือว่าไม่มีความพร้อมที่จะทำผมก็ไม่แน่ใจ
แต่ถ้าจะทำก็ต้องทำจริงจังๆ ผมว่ารัฐต้องลงทุนแล้ว มันดูเหมือนใช้ต้นทุนมากมาย แต่คิดว่าน่าจะประหยัดกว่าปล่อยให้เกิดการติดเชื้อ แล้วมาจัดการแก้ไขปัญหาตามทีหลัง
สรุปว่า มาตรการด้านสาธารณสุขต้องเข้มข้นกว่านี้ แต่ต้องมาคู่กับเรื่องของการตรวจและแยกโรคให้มากขึ้น ไม่ใช่ล็อคดาวน์อย่างเดียว ต้องเป็น Protocol ที่ทุกคนอยากจะทำ มีแรงจูงใจ เช่น ทางการเงิน/ทางอื่นที่สนับสนุน และมีบทลงโทษที่ชัดเจนด้วย
ผมคิดว่าโมเดลล็อคเข้มข้นระยะสั้น มันจะได้ผลดีมากกว่าลากกึ่งกลางๆ ไปยาวๆ ไปถึงสิ้นปี
แต่แนวโน้มตอนนี้น่าจะเป็นอย่างหลังใช่ไหม
ต้องไปถาม ศบค. นะครับ (ฮา)
ในบทความอาจารย์เขียนว่า ความน่ากังวลเรื่องหนึ่งคือการติดเชื้อในครัวเรือน ตอนนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ สถานการณ์น่ากังวลระดับไหน
พูดได้แค่ว่าตอนนี้ผมไม่เห็นทีมกรมควบคุมโรคคุยเรื่องไทม์ไลน์สอบสวนโรคมาพักใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่ติดเชื้อแทบไม่รู้เลยติดจากไหน ก็น่ากังวลประมาณนั้นแหละครับ
ส่วนสิ่งที่เราเรียกว่าคลัสเตอร์จากแคมป์ก่อสร้างหรือคนงานจากโรงงาน ซึ่งเขาอยู่แบบคับแคบเว้นระยะห่างทางสังคมไม่ได้ที่เราเคยกังวลเมื่อประมาณปลายเดือนเมษา-พฤษภา ตอนนี้มันเป็นส่วนน้อยไปแล้ว ผมเข้าใจว่าน้อยกว่า 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
ดังนั้น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่น่าจะเกิดจากคนใกล้ชิดนี่แหละ แล้วก็ไม่อยากใช้คำเหมือนคุณหมอทวีศิลป์ (นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.)ว่า ‘การ์ดตก’ แต่ผมว่าตรงนี้ เป็นโอกาสพัฒนามาตรการติดเชื้อภายในครัวเรือนมากกว่า ซึ่งพูดให้กลับกันนะครับ ล็อคดาวน์มันไม่ช่วยการแพร่เชื้อภายในครัวเรือน และอาจจะพูดได้ว่า ล็อคดาวน์มันเพิ่มการติดเชื้อในครัวเรือนด้วยซ้ำ เพราะคนมันอยู่บ้านนานขึ้น
จริงๆ ที่อู่ฮั่นปีที่แล้วเนี่ย กว่าที่นั่นจะเรียบร้อยใช้เวลา 2 เกือบ 3 เดือน ทั้งๆ ที่เขาล็อกดาวน์รุนแรงมากกว่าเราเยอะเลย แถมเป็นเชื้อเก่าด้วย เหตุผลคือ ช่วงหลังๆ ที่ยังเจอเคสอยู่มาจากการติดเชื้อภายในบ้านนี่แหละ แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปช่วยโรงพยาบาลสนามก็นำเชื้อกลับมาติดคนที่บ้านอีก เรียกว่าเป็นผลข้างเคียงของการล็อคดาวน์ครับ
ไม่ต่างอะไรกับเรือนจำ ที่เสมือนการล็อคดาวน์ระดับสุดยอดตลอดเวลา สุดท้ายกลับติดเชื้อกันตั้งเยอะตั้งแยะ เพราะถ้าเราจัดการการติดเชื้อภายในบ้านไม่ได้ คุกก็เหมือนบ้านหลังใหญ่
บวกกับความรู้ใหม่ในปีนี้ ที่เราเพิ่งรู้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่าเชื้อ COVID-19 น่าจะแพร่ผ่านละอองฝอยในอากาศ (Aerosal) ทำให้เราอาจจะต้องเน้นเรื่องการระบายอากาศ และการใส่หน้ากากภายในบ้าน ดังนั้น การติดเชื้อภายในบ้านเป็นกุญแจหลักที่คนอาจจะใส่ใจน้อยไปนิดหนึ่ง
อาจารย์จะบอกว่าตอนนี้เราต้องมองไปอีกสเตปหนึ่งใช่ไหมคือ การอยู่ร่วมกับไวรัส
ใช่ ในวงวิชาการต่างประเทศยังเถียงกันเป็น 2 ข้างอยู่คือ ค่ายที่ เราจะต้องอยู่กับมันแล้วและจะต้องเตรียมการระยะยาว ซึ่งผมคิดว่าเราต้องเน้นแง่บริหารความเสี่ยงหรือคิดเผื่อให้มากขึ้น
อย่างกรณีที่เขียนในบทความคือ เราต้องสร้าง ICU เฉพาะสำหรับผู้ป่วย COVID-19 เพราะตอนนี้เราดึง ICU มาให้คนไข้ตรงนี้หมด มันจะเดือดร้อนคนไข้กลุ่มอื่นด้วย ดังนั้น ถ้าจะอยู่กับมันระยะยาวต้องสร้าง ICU สำหรับคนไข้ COVID-19 โดยเฉพาะ
แต่ตอนนี้เรายังอยู่โหมดดับไฟไหม้บ้านอยู่เนอะ ไม่มีใครคิดวางแผนระยะยาวเท่าไหร่
แต่ในอีกค่ายหนึ่งกลับมีคนคิดว่า เราต้องกำจัดโควิดไปให้ได้ ต้องคุมให้อยู่ ไม่งั้นเศรษฐกิจแทบจะพังมากกว่าควบคุมโรคแบบครึ่งๆ กลางๆ ถ้าเป็นอย่างงั้นมาตรการมันต้องเข้มข้นมากขึ้นในระยะสั้นด้วยซ้ำ ซึ่งค่ายนี้เชื่อว่าหากไม่เข้มข้นเลย อาจต้องมีมาตรการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ทีนี้สำหรับเมืองไทย เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เขาทำงานสำเร็จ จะเห็นว่าเรายังขาดตกบกพร่องไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะการตรวจ
ในบทความอาจารย์เสนอแผนระยะยาวไว้ ขยายความหน่อยได้ไหม
ครับ อย่างตัว ‘สัญญาณเตือนภัยขั้นต้น (Early Warning Signs)’ คือ ถ้าเราเชื่อจริงๆ ว่าไวรัสมันไม่จบง่ายๆ และ อาจจะมีครั้งหน้าอีก เราจะทำอย่างไร ไม่ให้เสียหายหนักเหมือนครั้งนี้ ผมพูดง่ายๆ ว่า ผู้บริหารที่ไม่ค่อยได้เรื่องต้องรอให้มันเกิดเรื่องชัดเจนก่อนถึงยอมรับว่ามันเป็นปัญหา อันนี้พูดโดยหลักการนะ ไม่ได้ด่าใคร/ว่าใครโดยเฉพาะนะครับ
ผู้บริหารที่เก่งขึ้นมาหน่อยก็จะมองเชิงรุกมากขึ้น ว่าอะไรที่มันเป็นสัญญาณที่ต้องระมัดระวัง ส่วนผู้บริหารที่เก่งจริงๆ เขามองข้ามช็อตไปถึงปลายทางตั้งแต่คนอื่นยังมองไม่เห็นเป็นปัญหาเลย
เพราะฉะนั้นเราควรพัฒนา สัญญาณเตือนภัยขั้นต้นเพื่อให้ผู้บริหารและทุกคนในสังคมเห็นตรงกันได้ง่ายขึ้น เช่น ทุกคนเห็นตรงว่าตอนนี้เราแย่แน่ๆ ห้อง ICU เริ่มล้น แต่คราวหน้าทำอย่างไรให้เราไม่ต้องรอให้แย่ก่อนค่อยปรับมาตรการ ก็ต้องมีสัญญาณอื่นๆ คอยเตือนเรา เช่น ติดตามดูจำนวนผู้ป่วยที่ไม่มีความเสี่ยงติด COVID-19 แต่มานัดผ่าตัดแล้วตรวจเจอเชื้อ Positive เริ่มเยอะขึ้น หรือระบบระบบสอบสวนโรคเริ่มตามไม่ทัน เราก็ควรต้องรีบปรับมาตรการได้แล้ว ไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยล้นเกินระบบการรักษาพยาบาล ถ้าเราเริ่มปรับมาตรการตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าน่าจะดีกว่า
อาจารย์มองว่า หลังจากเดลต้าเนี่ยเรามีโอกาสจะเจอสายพันธุ์กลายพันธุ์ตัวอื่นที่น่าห่วงขนาดนี้อีกไหม
ตอบง่ายมาก ไม่รู้ครับ ถ้ามันระบาดหนักๆ เดี๋ยวมันก็ได้สายพันธุ์ไทยแลนด์ตามขึ้นมา สายพันธุ์อื่นก็มาจากประเทศที่คุมการระบาดไม่ค่อยได้ ซึ่งหวังว่าจะไม่มี แต่ไม่มีใครรู้หรอก
แต่ว่ามันมีอันหนึ่งแน่ๆ คือถ้าเราอยู่กับมันนานๆ เราก็จะเริ่มเหนื่อย (fatigue) กับมันและเริ่มจะไม่ค่อยร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ซึ่งมีคนเขียนบทความเรื่องนี้ในต่างประเทศเยอะ เรียกว่า ‘fatigue of adherence’
ดังนั้น ถ้าเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์จะรู้ว่า มันผิดธรรมชาติที่เอะอะบอกให้การ์ดไม่ตกตลอดเวลา ธรรมชาติมนุษย์เราให้ความร่วมมือได้ในระยะสั้น ฉุกเฉินช่วยเหลือกัน แต่ถ้าลากยาวมันก็ไม่ไหวเหมือนกัน ซึ่งเป็นที่มาที่ของความกล้าๆ กลัวๆ ล็อคดาวน์รอบนี้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันต้องเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ และต้องจัดการโรคให้ดีที่สุดในระยะสั้นๆ ดีกว่าปล่อยให้มันไม่แน่นอนต่อไปในระยะยาว
แล้วถ้าจัดการได้ในระยะสั้น มันก็จะลดความเสี่ยงเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคตอีกนะครับ อันนี้พูดถึงประเทศไทยนะ
อีกเรื่องคือ ผมเคยให้สัมภาษณ์ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกๆ ว่า เราต้องเข้าใจว่ามันเป็นการระบาดทั่วโลก ถ้าเราจบแล้วเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมาร์ ยังไม่จบ การระบาดไม่จบแน่ๆ และตอนนี้เป็นความเสี่ยงใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก
เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่า เราบริหารจัดการในประเทศของเราแล้วจบ มันเป็นสถานการณ์ระดับโลก ถ้าเราไม่บริหารความเสี่ยงในระยะยาวมันจะยิ่งแย่ไปใหญ่
อันนี้ก็เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องรับมือกับปัญหาที่มันยาก ซับซ้อน มีความไม่แน่นอน ซึ่งตอนนี้ผมไม่แน่ในว่าเขาคิดอะไรอยู่ หรือยุทธศาสตร์เขาคืออะไร มันถึงมีอะไรที่มันแปลกๆ อธิบายไม่ได้มาให้เราพูดถึง เช่น การตรวจน้อยลง หรือล็อคดาวน์แบบครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้
สรุปได้ไหมว่าตอนนี้ เราเบาใจได้หรือเตรียมรับแรงกระแทกต่อไป
คือแบบจำลองสถานการณ์เนี่ย ผมชอบเปรียบเทียบว่ามันไม่ใช่พยากรณ์อากาศ เพราะพยากรณ์อากาศเนี่ยมันเป็นโมเดลเหมือนกัน แต่ว่าปัจจัยนำเข้าเราแก้มันไม่ได้เลย ฝน ฟ้า ความชื้น ความกดอากาศ โน่นนั่นนี่ถูกไหมครับ งั้นเวลาที่กรมอุตุฯ เดาไม่แม่นเราก็บ่นว่า เห้ย ทำไมมันคำนวณไม่แม่นเลย
แต่แบบจำลองระบาดวิทยาเนี่ย ถ้าถามผมในฐานะคนร่วมออกแบบเนี่ย ทำไมมันไม่แม่น เพราะว่ามีการปรับปรุงมาตรการควบคุมโรคตลอดเวลา และถ้ามันดีกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มันจะดีใจมากเลยนะครับ
ดังนั้น หัวกราฟมันตกได้ แต่ตอนนี้มันจะไม่ตกโดยธรรมชาติแน่นอน มันจะตกก็ต่อเมื่อมาตรการควบคุมโรคมันดีกว่าที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ แล้วมันเหมาะกับปัญหา คือเหมาะกับเชื้อเดลตา เหมาะกับธรรมชาติที่อาจจะเป็นละอองฝอยในอากาศ เหมาะกับธรรมชาติที่มันติดเชื้อในครัวเรือน
ก็ได้แต่หวังว่าเราจะปรับตัวทันครับ
เข้าไปดูแบบจำลองสถานการณ์เพื่อพิจารณาแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกที่สาม ภายหลังการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ เดือนกรกฎาคม 2564 ได้ที่:
Photograph From Facebook Borwornsom Leerapan
Illustrator By Waragorn Keeranan