อินเดียอนุมัติให้ใช้วัคซีน COVID-19 ชนิด DNA ที่มีชื่อว่า ZyCov-D ในกรณีฉุกเฉิน โดยมันนับเป็นวัคซีน COVID-19 ชนิด DNA ตัวแรกที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในมนุษย์จากรัฐบาล
จากข้อมูลของผู้พัฒนาวัคซีน Cadilla Healthcare กล่าวว่า วัคซีนตัวนี้จะต้องฉีดทั้งหมด 3 โดส และจากการทดลองเฟส 3 หรือ Clinical Trial ในอาสาสมัครจำนวน 28,000 รายในอินเดีย พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 66% ทั้งนี้ ในการทดลองดังกล่าวยังมีอาสาสมัครจำนวน 1,000 ราย ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี และทางผู้พัฒนาพบว่าปลอดภัย
ประเด็นสำคัญอีกประการคือ การทดสอบเฟส 3 ได้ทำการทดลองระหว่างที่จำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียกำลังพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดจากไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลตา ทางผู้พัฒนาจึงมั่นใจว่า “มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์”
วัคซีนชนิด DNA และ RNA ทำงานคล้ายกันคือ ภายในวัคซีนมีสารดัดแปลงพันธุกรรมที่เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างโปรตีนหนามสำหรับต่อกรกับไวรัส COVID-19 ไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ข้อดีของวิธีนี้คือราคาถูก, ปลอดภัย และเสถียร โดยจากการทดลองของทีมพัฒนา วัคซีน ZyCov-D สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 3 เดือน
ทีมผู้ผลิตวางแผนจะผลิตวัคซีน ZyCov-D ให้ได้อย่างน้อย 120 ล้านโดส/ ปี และจะถูกนำมาใช้คู่กับวัคซีน Covishield, Covaxin และ Sputnik V ซึ่งใช้อยู่ในขณะนี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data ชี้ว่า อินเดียฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อยหนึ่งเข็มไปแล้ว 33.6% และฉีดครบโดสแล้ว 9.3%
วัคซีนชนิด DNA มักเป็นวิธีที่ใช้สำหรับทำวัคซีนฉีดในสัตว์ อาทิ วัคซีนโรคผิวหนังสำหรับสุนัข หรือวัคซีนสำหรับม้า แต่ขณะนี้ในสหรัฐฯ กำลังมีการทดลองวัคซีนชนิด DNA ในคนกว่า 160 ตัว ซึ่งส่วนมากเป็นวัคซีนสำหรับโรคมะเร็ง
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-57774294