กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ที่เมื่อมีการชุมนุม ก็จะมีการจับกุม หรือดำเนินคดีกับตัวแกนนำ หรือผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะคดีตั้งแต่ พรบ.ความสะอาด, พรก.ฉุกเฉิน ไปถึง ม.112
ซึ่งที่ผ่านมา กระบวนการทางกฎหมาย ในการยื่นขอประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมือง หรือประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ต่างก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก ในบางคดีมากถึงหลักล้านเลยทีเดียว โดย ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ กองทุนที่เกิดขึ้นเพื่อระดมทุนเงินประกันช่วยเหลือคดีการเมืองก็ได้เกิดขึ้น และหลายครั้งเราก็ได้เห็นพลังของประชาชน ในการร่วมระดมโอนเงิน ซึ่งบางครั้งยอดก็มากถึงหลักล้าน ในแค่วันเดียว
ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงหลัง สถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดง เกิดการจับกุมของเจ้าหน้าที่เกือบทุกวัน หลายครั้งเป็นเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี และหลายครั้งมียอดจับกุมมากถึง 70 รายต่อวัน ทำให้กองทุนต้องมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงนายประกันเองที่ต้องทำงานเยอะขึ้นในการประกันคดีทางการเมืองที่มากขึ้น
The MATTER พูดคุยกับ ไอดา อรุณวงศ์ หนึ่งในผู้ดูแลกองทุนราษฎรประสงค์ ถึงที่มาของกองทุน กระบวนการต่างๆ ในการประกันตัว วางเงินให้กับศาล และคดีทางการเมือง ที่มีความสูญเสียที่เงินก็ไม่สามารถนับได้ว่า ในฐานะการเป็นนายประกันมายาวนาน เธอเห็นอะไรบ้างในกระบวนการยุติธรรม และหากประเทศเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแสดงออก และสิทธิการประกันตัวของประชาชนอย่างไร
จุดเริ่มต้นของการทำกองทุนราษฎรประสงค์มาจากไหน ช่วงแรกที่เริ่มทำกองทุนเป็นอย่างไรบ้าง
ในแง่ของชื่อ ‘ราษฏรประสงค์’ หรือสปิริตของมัน มีตั้งแต่สลายการชุมนุมปี 2553 ตอนนั้นอานนท์ นำภา ที่เพิ่งเรียนจบกฎหมายไม่นาน ก็มาตั้งสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ในปี 2554 เพื่อให้ความช่วยเหลือคดีทางการเมืองกับประชาชน ซึ่งก็เป็นสำนักกฎหมายที่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคของประชาชน เพราะฉะนั้นเราก็เลยใช้ชื่อคอนเซ็ปต์ของความเป็นราษฎรประสงค์จากจุดนั้น แต่ไอเดียการระดมเงินเพื่อการประกันตัว เรามาเริ่มเมื่อหลังรัฐประหาร 2557
กองทุนประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ที่เริ่มหลังรัฐประหารปี 2557 เริ่มมาจากการประกันตัวคนที่ถูกจับกุมเพราะออกมาต่อต้านรัฐประหาร แรกๆ เลยผู้ต้องหาก็มักจะเป็นอานนท์ นำภา, นิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ เป็นหลัก ต่อมาก็เริ่มมีขบวนนักศึกษา ซึ่งยุคนั้นทุกคดีต้องขึ้นศาลทหาร แล้วระเบียบของศาลทหาร ไม่สามารถประกันด้วยตำแหน่ง หรืออะไรหรืออย่างอื่นได้เลย ต้องเป็นเงินสดเท่านั้น
ในตอนนั้นอานนท์เริ่มจากการระดมทุนผ่านเพจส่วนตัวของเขา แล้วปรากฏว่ามีคนโอนให้เยอะมากในคืนเดียว เยอะเกินกว่าจำนวนที่ต้องใช้ เลยทำให้เราเห็นว่า มันเป็นช่องทางนึงในการแสดงออกถึงการต่อต้านเหมือนกัน เพราะหลังการรัฐประหารปี 2557 เมื่อคสช.ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ คนไม่ค่อยกล้าออกมาทำอะไรมาก แต่พอมีช่องทางของการโอนเงิน คนก็โอนเยอะมาก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนที่ไม่ได้ร่ำรวย เพราะยอดมาเป็นหลักสิบ หลักร้อย
หลังจากนั้นเราก็ใช้วิธีนี้ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้มีเงินกองอยู่ก้นบัญชีเยอะ เราเน้นระดมเป็นครั้งๆ ไป พอมีคนถูกจับ ก็เอาเงินไปวางศาลทหารทีนึง แต่ว่าพอระดมได้ทีนึงก็จะมีเงินเหลือติดก้นถุงนิดหน่อยให้ต่อยอดไป เป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้ง คดีในศาลทหารถูกย้ายมาศาลพลเรือน และการเคลื่อนไหวต่อต้านลดลง ก็ไม่ค่อยต้องระดมทุนบ่อยมากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว จนกระทั่งมาเกิดการเคลื่อนไหวที่จุดประกายจากคนรุ่นใหม่ และเริ่มมีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมหนักขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ราวตุลาคมจนถึงปลายปี 2563 เราเลยรู้สึกว่าต้องทำให้กองทุนเงินประกันตัวเป็นกิจจะลักษณะขึ้น เลยตั้งชื่อเป็นกองทุนราษฎรประสงค์พร้อมกับเปิดเพจกองทุนราษฎรประสงค์อย่างเป็นทางการในเดือนมกรา ปี 2564 โดยที่เงินในกองทุนก็เป็นเงินสมทบที่เหลือมาตั้งแต่ช่วงก่อน รวมถึงเงินที่เคยไปประกันไว้ในศาลทหาร ซึ่งพอคดีย้ายมาศาลพลเรือน และศาลยกฟ้อง ได้เงินคืน เราก็เอามาถมในกองทุนราษฎรประสงค์
กระบวนการการวางเงินประกันตัว สิ่งที่กองทุน และนายประกันทำมีอะไรบ้างในแต่ละคดี
ตอนแรกที่เริ่มต้นเราทำงานกับทนายอานนท์คนเดียวเป็นหลัก วางประกันคดีการเมืองตามที่อานนท์เกี่ยวข้องรับรู้และนำมาปรึกษา เราทำงานเหมือนเพื่อนมาช่วยกัน ไม่ได้เป็นองค์กร และไม่ได้ประสานกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยตรงมากนักเพราะตอนนั้นศูนย์ทนายฯก็เพิ่งเริ่ม พอมีคดีอานนท์ก็ปรึกษามา แล้วเราก็ไปประกันให้ แต่ตอนนี้คดีจะผ่านศูนย์ทนายสิทธิฯ มาก่อน เขาก็จะมีระบบของเขา สมมติมีผู้ต้องหาถูกจับ เขาก็จะเป็นคนตัดสินใจก่อนว่า จะประกันยังไง ประกันด้วยอะไร เพราะสมัยนี้เลือกว่าประกันด้วยตำแหน่ง หรือด้วยเงินก็ได้ ศูนย์ทนายก็จะเป็นคนตัดสินใจ
ถ้าเขาต้องการใช้เงิน เขาก็จะแจ้งเรามาว่าวันนี้มีคดีนี้ ใช้วงเงินเท่านี้ ปกติก่อนหน้านี้เราก็ต้องไปเป็นนายประกันเอง เพราะเราต้องรับผิดชอบเงินทั้งในฐานะที่มันเป็นเงินของประชาชนและในฐานะที่เราต้องรับผิดชอบกับบัญชีที่เปิดในชื่อเรา เช่น ถ้าศาลเรียก 1 แสน เราก็เอาเงินไปวาง พอคดีจบ ไม่ว่าจะลงโทษ หรือยกฟ้อง ศาลก็จะคืนเงินให้เรา มีกรณีเดียวที่จะไม่ได้เงินคืน คือผู้ต้องหาหลบหนี พอได้เงินกลับคืน เราก็เอาเงินหมุนเวียนในกองทุน มาไว้ประกันคดีอื่นๆ ต่อไป เราต้องแน่ใจได้ว่าเงินทุกบาทจะกลับคืนมาโดยไม่ตกหล่นขาดหายไปไหน
เป็นอย่างนี้มาตลอด จนกระทั่งคดีมันเยอะมากขึ้น และเราไม่สามารถวิ่งได้ทัน เพราะนายประกันมี 2 คน คือไอดา และชลิตา ซึ่งต่างคนต่างมีการงานอาชีพของตัวเอง เราก็วิ่งไม่ทัน ขณะเดียวกันศูนย์ทนายฯ ก็เติบโตขึ้น มีทนายประจำมากขึ้น เขาก็ให้ทนายยื่นประกันแทนเราได้ เพราะทนายต้องไปศาลอยู่แล้ว ก็ยื่นประกันให้ด้วย ก็แบ่งเบาภาระไปได้ช่วงนึง แต่พอเกิดเรื่องดินแดง ทางศูนย์ทนายฯก็ขอให้เรากลับมาช่วยเป็นนายประกันต่อเหมือนเดิม เพราะเขารับไม่ไหว หรือหานายประกันมาประจำ ทำให้เราก็จำเป็นต้องหาคนเพิ่ม ซึ่งก็ไม่ง่าย เพราะเราทำงานกันแบบไม่มีการเบิกค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าตอบแทน จึงไม่อยากรบกวนใคร และเขาก็จะต้องเสียเวลาในหน้าที่การงานของเขามหาศาลกับการมาแกร่วเป็นนายประกัน
และที่สำคัญคือมันเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อเงิน เพราะใครจะเป็นคนไปยื่นประกัน คนนั้นก็ต้องรับผิดชอบเงินก้อนนั้น ฉะนั้นก็ต้องเป็นคนที่เราไว้วางใจ เพราะศาลจะคืนกลับเข้าบัญชีคนๆ นั้น และเขาต้องโอนกลับมาให้กองทุน แต่เราก็จะพยายามหาทางแก้ปัญหานี้ให้ได้ต่อไป
กว่าจะได้เงินประกันกลับมาในคดีนึง ใช้เวลานานไหม
นานค่ะ แต่ก็จะมีกรณีถ้าตำรวจจับ แล้วเอาไปฝากขังที่ศาล อันนี้เรียกว่าฝากขังชั้นพนักงานสอบสวน ถ้าผ่านไปจนครบกำหนดฝากขังแล้วอัยการยังไม่สั่งฟ้อง อันนี้เรามีสิทธิไปเอาคืนได้ก่อน ก็จะไม่นานมาก กินเวลา 1-2 เดือน แล้วเราก็ไปเอาเงินคืนได้ แต่ถ้าหากเราไปเอาเงินมาแล้ว อัยการเปลี่ยนใจจะฟ้องขึ้นมา เราก็จะไปวางใหม่ และถ้าไปวางในชั้นศาลแล้ว ก็จะใช้เวลาคดีละ 2 ปีเป็นอย่างน้อยสำหรับศาลพลเรือน แต่ตอนศาลทหารนี่ 4-5 ปีเลย
ช่วงตั้งแต่แกนนำถูกจับถี่ขึ้น คนก็รู้จักกองทุนเยอะขึ้น มีการระดมเงินมากขึ้น ในฐานะผู้ดูแลกองทุน เห็นอะไรบ้างจากการที่กองทุนเป็นที่รู้จักของประชาชน
เราเห็นพลังของคนที่โอน และเรายังยืนยันว่ายอดที่โอนเข้ามาเป็นยอดย่อยๆ เป็นส่วนใหญ่ทั้งนั้น คือในหลักสิบ กับหลักร้อยเป็นหลัก สมมติว่าใน 10 ยอดที่โอนเข้ามา จะมีหลักพันซัก 2 ยอดที่แซมมา ถ้าดู statement มันจะวิ่งต่อนาทีเลย และในนาทีเดียวกัน ยอดมันไหลเข้ามามากกว่า 1 ยอด เหตุการณ์นี้มันจะเกิดตอนที่คนจำนวนเยอะๆ โดนจับ และเราต้องใช้เงินจำนวนมาก ภายใน 1 คืน หรือ 1 วัน จะมาแบบนี้เยอะมาก และจะเป็นเงินที่เหลือเป็นก้นถุงไว้
แต่ถ้าไม่ใช่ในภาวะที่ฉุกเฉิน ก็จะมียอดเงินโอนทุกวัน ไม่มีวันไหนที่ยอดรายรับเป็นศูนย์ ขั้นต่ำก็หลักพัน จากการโอนเข้ามาคนละนิด คนละหน่อย เหมือนคนเขาก็ยังนึกถึง หรือบางทีเราตามดูไม่ทัน เราก็เห็นยอดแปลกๆ เช่น ยอด 111 บาทโอนเข้ามาเยอะแยะ เราก็ไม่เข้าใจว่ามาจากไหน ซึ่งก็ปรากฎมารู้ทีหลังว่า เป็นการรณรงค์กันในทวิตเตอร์ แล้วบอกให้โอนจำนวนนี้ คือมันเกิดกระแสที่คนมาขานรับ และช่วยกัน เป็นเหมือนวิธีแสดงออก เพราะบางคนอาจจะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ อีกอย่างนึงคือทุกคนก็ไม่อยากให้คนที่ออกมาต่อสู้ร่วมกันต้องมาติดคุกแค่เพราะไม่ได้ประกัน
หน้าที่ของเราก็คือว่า ทำให้เขายังวางใจว่าเรายังทำหน้าที่ของเรา มันยังโปร่งใส และทุกบาท ทุกสตางค์ มันจะถูกนำไปใช้ตามที่เขาต้องการ ตามวัตถุประสงค์
ช่วงการชุมนุมที่บริเวณดินแดง เห็นการจับกุมของ จนท. ที่เยอะขึ้น โดยหลายครั้งก็ไม่ได้แจ้งขั้นตอนกับผู้ต้องหา มีการจับเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ขั้นตอนการจับกุมส่งผลต่อการประกันอย่างไร และช่วงนี้กองทุนทำงานมากขึ้นยังไง
ในการจับกุม ขั้นตอนที่เหนื่อยที่สุดคงเป็นทนายความ เพราะว่าทนายจะต้องไปอยู่ด้วยในชั้นสอบปากคำ แล้วส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก็ต้องไปศาลเยาวชน ซึ่งมีปัญหาที่ว่าเราไปประกันเองไม่ได้ ต้องให้ผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นทนายต้องไปหน้างานตลอด และประสานญาติ ผู้ปกครอง มาประกัน เราเป็นคนจ่ายเงินให้ก็จริง แต่เราไม่ใช่คนทำสัญญาประกัน
ในแง่ความเหน็ดเหนื่อยทางกายภาพ ทนายก็จะเหนื่อยมากหน่อย แต่ว่าในส่วนกองทุนเราก็จะเหนื่อยในแง่การจัดการมากขึ้น ทั้งการทำบัญชีไล่เก็บเอกสารข้อมูล การเขียนรายงานผู้บริจาค และเราต้องสแตนบายด์ พอเขาจับกลางวัน หรือกลางคืน บางทีทนายโทรมาตี 5 ก็ต้องจ่ายเช้ามืด ทุกวันก็จะมีชีวิตแบบสแตนบายด์โทรศัพท์ตลอดเวลา แทบไม่มีสมาธิทำงาน และต้องพร้อมโอน อย่างระหว่างที่คุยกัน (การสัมภาษณ์) อยู่นี้ เราเองก็ต้องรอ เพราะเมื่อกี้ทนายบอกมีรออยู่ที่ศาลเยาวชนคนนึง ถ้าศาลสั่งก็จะต้องโอน เราก็จะต้องมอนิเตอร์ตลอดเวลา
เห็นว่านอกจากเงินประกันแล้ว กองทุนยังมีการช่วยเหลือเงินค่าเดินทางในการไปศาล หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ กับผู้ต้องหาด้วย
อันนี้เป็นบัญชีที่เกิดจากตอนที่แกนนำหลายคนถูกจับและไม่ให้ประกันหลายเดือนในรอบที่แล้ว ก็มีการระดมเงินผ่านเพจของอานนท์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายซื้อของในเรือนจำ แล้วพอพวกเขาได้ออกมา เงินมันเหลืออยู่ อานนท์ก็โอนมาให้กองทุนดูแล โดยบอกว่าขอให้เป็นค่าใช่จ่ายของจำเลย ทีนี้เพื่อไม่ให้ตีกับเงินประกัน เราเลยแยกเป็นอีกบัญชี แล้วก็ให้ อ.ชลิตาดูแล และเราก็ยังสำแดงทุกอย่างในเพจตามเดิม เพียงแต่ว่าบัญชีนั้นเราไม่เปิดรับเพิ่ม มีเท่าไหน ใช้เท่านั้น เพราะเรายังไม่พร้อมที่จะจัดการทุกเรื่อง เราเลยจัดการเท่าที่มี เพื่อให้ง่ายว่าไม่มีรายรับเข้า มีแต่ออกอย่างเดียว
ช่วงหลังเขากวาดจับมาก ผู้ต้องหาบางคนเป็นชาวบ้าน คนทั่วไปที่ลำบากยากจน แค่มาศาลก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับเขา เราก็เลยใช้เงินส่วนนี้ สำหรับช่วยเขา
ในช่วงที่ผ่านมา เห็นการชี้แจงในเพจ มีเงินค่าประกันตัวค่อนข้างสูง เรตเงินประกันในคดีต่างๆ เป็นอย่างไร
ถ้าตามกฎหมายมีเรตอ้างอิงอยู่ ว่าอัตราโทษเท่านี้ วงเงินเท่าไหร่ แต่นอกเหนือจากเกณฑ์ตามกฎหมายแล้ว ยังมีเกณฑ์ของแต่ละศาลที่ไม่เท่ากันอยู่ ภายใต้เกณฑ์ตามกฎหมาย แต่ละศาลก็จะไปแตกเกณฑ์ของตัวเองอีก แล้วเมื่อมีเกณฑ์ของศาลเองแล้ว ก็ยังมีดุลพินิจของผู้พิพากษาอีกว่าจะสั่งที่เท่าไหร่ จะสั่งเอาเงินไหม หรือไม่เอา ให้สาบานตัวได้ เราก็จะคาดหมายได้คร่าวๆ แต่เราก็จะแน่นอนไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับศาล
สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังกรณีดินแดงคือ ตำรวจและอัยการมีแนวโน้มจะทำให้คดีดูรุนแรงขึ้น เช่น ถ้าเมื่อก่อนทุกครั้งที่มีการชุมนุม จะโดนฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินเป็นหลัก ซึ่งก็จะถูกวางประกัน 2 หมื่นบาท แล้วก็จะมีหลายศาล เช่น ศาลแขวงพระนครเหนือที่เขาจะไม่เรียกเงินประกัน แต่ให้สาบานตัว มันเป็นเรื่องดุลพินิจจริงๆ ว่าแต่ละศาลจะมองว่ามันก้ำกึ่ง เพราะประเด็นแรก ความผิด พรก.ฉุกเฉิน ในภาวะที่คนมาชุมนุมกันทางการเมือง มันก้ำกึ่งว่ากฎหมายที่เล็กกว่าอย่าง พรก.ฉุกเฉิน มันขัดสิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และอย่างที่สองคือ เวลาตำรวจบรรยายฟ้อง เขาก็จะใช้คำเช่นว่า ‘ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค’ ซึ่งก็จะค่อนข้างเลื่อนลอย เพราะเวลาชุมนุมทุกคนก็ใส่แมสก์ พยายามเว้นระยะห่าง และก็ไม่เคยเกิดคลัสเตอร์ในที่ชุมนุม เรื่องพวกนี้เป็นดุลพินิจศาล
ตอนหลัง ตำรวจก็ใช้วิธีฟ้องว่า มีการต่อสู้ขัดขวาง และทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งบางกรณีก็อาจจะมีเหตุแบบนั้นจริงก็ได้ แต่บางกรณีก็ไม่ได้เกิดเสมอไป อย่างเขาจับมา 30 คน เขาบอกว่าต่อสู้เจ้าพนักงานหมดเลย เวลาเขาเพิ่มโทษขึ้นมา ก็จะหมายถึงว่าเงินประกันแพงขึ้น อย่างกรณีเมื่อวาน (คดีจากการจับกุมกลุ่มประชาชนที่เรียกกันว่า “ราษฎรอีสาน” หรือ “ราษฎรโขง ชี มูล”ในวันที่ 13 ตุลาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งถูกสั่งฟ้อง 17 คน รวมเป็นเงินประกันทั้งสิ้น 595,000 บาท) ต้องย้ายมาศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลใหญ่กว่า โดยแนวโน้มจากประสบการณ์ส่วนตัว ศาลอาญาจะแพงตลอด เขาจะไม่คอยพิจารณาบริบทอื่นๆ เหมือนเขาจะมีมุมมองเหมือนเป็นครูใหญ่ ว่าต้องลงโทษ ก็เลยค่อนข้างแพงตลอด
หรืออย่างกรณีดินแดง เพราะเป็นการชุมนุมที่ไร้รูปแบบ ไม่มีการจัดตั้ง ก็จะมาได้หลายรูปแบบในการต่อสู้ของวัยรุ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีผลกับอัตราเงินค่าประกันทั้งหมดเลย
ช่วงก่อนดินแดง เราจะแพงเพราะ ม.112 เราก็ไม่รู้หรอกว่ารัฐบาลเขารู้ตัวหรือคิดได้ไหม แต่เราน่ะคิดว่า ตอนที่คนเขาต่อสู้ด้วยการแสดงความคิดเห็นด้วยการพูด คุณก็ลงโทษเขาด้วย ม.112 หรือ ม.116 จนการพูดมันเป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นมันจึงแพงเพราะ ม.112 ประกันทีละ 2 แสนต่อคน แต่พอตอนนี้คุณก็จะเจอแบบดินแดงที่ไม่มีการพูดเลย เพราะพูดแล้วติดคุกไง การสู้แบบดินแดงก็เลยไม่คุยแล้ว ในเมื่อตอนพูดรัฐไม่ให้เราพูด คุณก็ต้องเจอการแสดงออกแบบไม่พูด มันก็แพงในอีกแบบนึง แพงจากการที่เขาไม่ได้พูด มันเป็นผลสะท้อนกัน คุณไปปิดปาก มือไม้มันก็เลยต้องขยับกวัดไกว ต้องออกท่าทางเหมือนส่งภาษาใบ้ ดังนั้นมันแพงทั้งสองทาง ซึ่งเราไม่รู้ว่ารัฐมองว่ามันแพงสำหรับเขาไหม แต่เราว่าสถานการณ์มันก็ไม่ได้ดูดีสำหรับเขานักหรอก ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่เขาต้องรับมือกับการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ตอนนี้เขาต้องรับมือกับการต่อสู้ในรูปแบบที่ดินแดง เขาก็ต้องเลือกเอา
กรณี ม.112 และ 116 ที่ราคาประกันแพง เพราะอัตราโทษด้วยใช่ไหม
อัตราโทษก็ด้วย แต่ก็แล้วแต่ศาล และดุลยพินิจ คือคดีเดียวกันนี้ สมัยศาลทหารคือ 5 แสนตลอด น้อยสุดคือ 4 แสน พอศาลพลเรือนก็จะขึ้นอยู่ว่าศาลไหน ศาลสมุทรปราการก็จะ 1.5 แสน ศาลอาญายืนพื้น 2 แสน เราเคยดูอัตราของศาลอาญาจริงๆกำหนดไว้ที่ 9 หมื่น แต่เราเคยได้จ่ายในเรตนี้แค่ครั้งเดียว เพราะปกติคือ 2 แสนตลอด หรืออย่างศาลอาญาตลิ่งชัน ตั้ง 3 แสน แพงที่สุดในศาลพลเรือน และเราก็ไม่รู้เลยว่าหลักของแต่ละที่คืออะไร เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องเผื่อเงินตลอดเลย
เคยมีกรณีที่เงินประกันไม่เพียงพอไหม
ถ้าตอนเป็นกองทุนราษฎรประสงค์ยังไม่มี แต่ตอนสมัยศาลทหารเคยมีบ่อยๆ เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้ระดมเป็นกิจลักษณะ ตอนนั้นเราก็สำรองไปบ้าง ออกเองบ้าง หยิบยืมกันบ้าง ถมๆ ไปก่อน
ที่ผ่านมากองทุนก็เคยโดนโจมตีเรื่องเงินด้วย จัดการประเด็นนี้ยังไง และทำยังไงให้คนมั่นใจว่ากองทุนโปร่งใส
เราใช้วิธีแจกแจงทุกอย่างบนหน้าเพจหมด คิดว่าเป็นวิธีเดียวเลย เพราะว่าการกล่าวหา ใส่ร้าย ครหา เราจะไปไล่ตามแก้มันไม่มีประโยชน์ เพราะมันเป็นเจตนาของเขาอยู่แล้วที่จะดิสเครดิตเรา เราทำได้อย่างเดียวคือเอาทุกอย่างโชว์ให้เห็นในสาธารณะ
ทุกวันนี้ที่ทำละเอียดทุกเม็ด เพราะเราไม่มีเวลาที่จะไปไล่ดีเบตแก้ตัว เราก็สำแดงทุกอย่าง พอเราไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเลย ไม่มีการเบิกค่าตอบแทน หรือค่าเดินทางอะไรทั้งสิ้น มันก็ทำให้ทุกอย่างอยู่ในฟอร์มของใบเสร็จราชการหมด ใบเสร็จที่ออกจากศาล หรือโรงพัก เราก็มั่นใจว่าถ้าจะมีการไปยื่นสรรพากร เราก็ให้ตรวจได้เลย เราไม่กังวล เพียงแต่ว่ามันก็เป็นภาระในแง่คนทำ เพราะเป็นบัญชีบุคคล ในระยะยาวเราก็กำลังคิดแพลนจดทะเบียน เพื่อให้มันเป็นองค์กร ให้มันมีคนมาดูแลได้มากขึ้น แล้วก็ออกจากตัวบุคคล เผื่อวันไหนเราเป็นอะไรขึ้นมา ก็ให้เงินมันยังอยู่กับประชาชน มันไม่ใช่เงินส่วนตัวของเรา
ที่เราคุยกันเป็นเรื่องของเงิน แต่ในฐานะที่ดูกองทุน ดูคดี มันมีสิ่งที่ตีเป็นเงินไม่ได้ ค่าเสียโอกาสอื่นๆ ที่เราเห็นจากการต่อสู้นี้ยังไงบ้าง
มหาศาลมาก และเป็นเรื่องที่เราเครียดที่สุด อันดับแรกคือเวลาในชีวิตของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เราในฐานะนายประกันก็ไม่อยากบ่น แต่ว่าตัวผู้ต้องหา หรือครอบครัว เวลาถูกคดีการเมือง คุณไม่มีศักดิ์ศรีอะไรเลย เขาจะทรีตคุณเหมือนเป็นอาชญากรร้ายแรงมาก ไม่ว่าจะวิธีการจับกุม หรือสิทธิต่างๆ บางคนที่เป็นชาวบ้าน คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เขาจะกลัวมาก เพราะมีความรู้สึกว่ามันเป็นข้อหาที่เป็นนามธรรมมากๆ แต่น่ากลัวมากๆ ในความรู้สึกเขา ไม่รู้จะต่อสู้ยังไง เพราะว่าอย่างข้อหาขโมย เราก็สู้ว่าเราไม่ได้ทำ ไม่ได้ขโมย แต่อันนี้คุณคิด หรือไม่คิด คุณเชื่อแบบนี้ไหม คุณทำเพราะแรงจูงใจอะไร มันเป็นการต่อสู้ในสิ่งที่นามธรรมมากๆ ความเครียด ความกังวลก็จะสูงมาก รวมถึงคนยากจน จะลำบากจริงๆ เวลาถูกจับ
อย่างกรณีคดีทุบรถช่วยเพนกวิน และไมค์ โดยคอมมอนเซนส์ง่ายๆ รถตำรวจ เข้ามาในสถานีตำรวจ ใครจะบ้าเข้าไปชิงตัวผู้ต้องหาในรถตำรวจและในสถานีตำรวจ แต่เขาทำไปเพราะว่าคนในรถร้องขอความช่วยเหลือ หายใจไม่ออก และสิ่งที่เขาทำคือการทุบกระจก เพื่อให้อากาศเข้า เขาไม่ได้จะไปหาเรื่องตีตำรวจ หรือทุบรถตำรวจด้วยเจตนาร้าย แต่เวลาตำรวจบรรยาย เขาจะทำให้มันดูป่าเถื่อนรุนแรงตลอด เพื่อจะให้ศาลมองว่าสมควรแล้วที่จะจับมา ที่จะตัองขัง ขนาดเราอ่านเอง เรายังตกใจ และวิธีคิดของพวกเขาจะสะท้อนอยู่ในวิธีบรรยายว่าประเภทว่าเป็นการกระทำโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย หรือเหิมเกริม คำว่า ‘ไม่ยำเกรง’หรือเหิมเกริมพวกนี้มันเป็นชุดคำที่กระตุ้นอีโก้ของคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจหรือคือผู้ถืออำนาจ ให้อยากแสดงการกำราบ
แล้วคนที่ถูกจับ ทุกคนก็เป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีเงิน บางคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ไม่ได้เกี่ยวเลย ถูกรวบมา ถูกเอาไปขัง ไม่ให้ประกัน และทุกคนเป็นหัวหน้าครอบครัว พวกเขาไม่ใช่คนที่มีเงินสำรองอยู่ในบ้าน ไม่ได้ทำงานมีเงินเดือน พอหายไป 1 วัน รายได้ก็หายไป 1 วัน แล้วปากท้องของครอบครัวที่เหลือจะทำยังไง ทุกคนก็ลำบาก ครอบครัวก็ลำบาก ไหนจะการเยี่ยม การเดินทางมา ซื้อของเยี่ยมเรือนจำก็ไม่ใช่ราคาถูก ไหนจะเรื่องเวลา เพราะกระบวนการแต่ละครั้งยาวนาน คนมาศาลไม่ค่อยได้กลับก่อนตะวันตกดิน หรือไปเรือนจำก็ยื่นเรื่องรอเป็นชั่วโมง คือทั้งหมดนี้มันดึงพลัง ดึงความหวังในชีวิตออกไปหมด มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับเราไม่มีค่าอะไรเลย
อย่างคนนึงในคดีนี้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เขาอายุเยอะแล้ว คนในครอบครัวก็จะเป็นห่วง เพราะเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง คนนี้ต้องมียา มันมีรายละเอียดชีวิตของแต่ละคน ที่เราไปพูดกับเรือนจำไม่ได้ เขาก็จะตีเป็นเรื่องหยุมหยิม แต่เรานึกถึงชีวิตของแต่ละคน ที่มีศักดิ์ศรี มีเรื่องราวของตัวเราเอง เราจะต้องกลายเป็นมนุษย์ที่ไม่มีความเฉพาะตัว ต้องเป็นมนุษย์แบนๆ ที่เป็น “ผู้ต้องหา” หมดเลย ชีวิตเหลือระนาบเดียว ถูกทรีตเป็นอาชญากรล่วงหน้า พอไปอยู่ในเรือนจำก็ติดโควิดอีก
มีอยู่คนนึง เราเคยเจอเขาก่อนเข้าเรือนจำ เขายังดูแข็งแรงมาก ดูหนุ่มกว่าอายุมาก พอเรามาเห็นเอกสารทีหลังว่าเขาอายุ 60 ปี เราก็ยังคิดว่าทำไมดูหนุ่มจัง แต่พอเข้าไปเรือนจำ และติดโควิด เขาออกมาแล้วต้องนอนติดเตียง เจาะคอ ทุกวันนี้ต้องมาหัดเดินใหม่ คนอายุ 60 แล้ว จะฟื้นเขากลับมายังไง จากที่เขาเคยเป็นคนที่แข็งแรง เหมือน 50 ปีในอายุ 60 ปี ตอนนี้เขากลายเป็นคน 70 ปีในอายุ 60 ปี และเขาก็ไม่มีทางกลับไปที่อายุร่างกาย 50 ปีนั้นได้แล้ว
เรื่องแบบนี้มันน่าโมโหตรงที่เราไม่สามารถขอให้ฝ่ายรัฐรับผิดชอบอะไรได้เลย กับสิ่งที่เขาทำกับเรา มันเป็นอำนาจตุลาการที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ หรือทำให้รับผิดได้เลย ถ้าเราไปมีปัญหากับข้าราชการอื่นๆ เรายังพอมีเรื่องการรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แต่ว่าเราทำอะไรไม่ได้เลยกับสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันตลก โดยชื่อของมันเอง ‘กระบวนการยุติธรรม’ มันควรจะแฟร์กับเรา มันควรจะ “แฟร์ๆ” กัน แต่การที่เราไม่สามารถเรียกร้องให้เขาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราได้มันก็คือ “ไม่แฟร์”
หรืออย่างกรณี ฟ้า พรหมศร โดนคดี ม.112 และศาลธัญบุรีไม่ให้ประกัน กว่าจะได้ประกัน ขอแล้วขออีกจนศาลอุทธรณ์ให้ประกันในวันเสาร์ พอจะเอาตัวเขาออกมา ศาลธัญบุรีบอกว่าไม่ได้ ต้องรอมาติด EM ในวันธรรมดา มันประหลาดไหมที่เรื่องใหญ่กว่าคือเรื่องการอนุญาตให้ประกันตัว สามารถทำได้ในวันเสาร์ แต่เรื่องเล็กกว่าคือการติด EM กลับต้องรอมาทำในวันเวลาราชการ ตอนนั้นแม่ของฟ้าถึงกับเส้นเลือดในสมองแตกเข้าโรงพยาบาลเลย เพราะความเครียดหลายเดือนจากการที่ลูกติดคุก ไม่ได้รับการประกันซักที พอจะได้ ก็ยังมีอุปสรรคอีก มันคือสภาพที่นับไปเถอะว่ากี่ครอบครัว ที่ต้องผ่านอะไรมากน้อยแบบนี้มา ไม่ว่าแม่เพนกวิ้น แม่ไมค์ แม่แอมมี่ แม่อานนท์ ทุกๆ บ้าน ทุกครอบครัวมีบาดแผล ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการใช้สิทธิทางการเมืองเท่านั้น ทำไมมันต้องทำกันขนาดนี้
อย่างที่เล่าว่าช่วงแรกๆ จะเป็นการประกันตัวแกนนำ แต่หลังๆ มันเรียกได้ว่าเป็นเยาวชน เป็นคนทั่วไปที่ไม่ใช่แกนนำ เยอะไปหมดเลย
เป็นคนไร้ชื่อ ไร้หน้าเลย มาเยอะมากโดยที่เราเองก็ไม่ได้เจอหน้าครบทุกคนแล้ว บางทีเราจะได้คุยกับพ่อแม่เขาบ้าง ซึ่งทุกคนก็จะเครียด แล้วบางกรณีไม่ได้หยุดแค่การประกัน อย่างเด็กดินแดง เราคุยกับผู้ปกครองเขาก็จะเครียดมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ บางคนเราก็ส่งหนังสือ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นั้นแหละ’ ของภรทิพย์ มั่นคง ไปให้ เราคุยกับเขาแทบตายเพื่อให้เขาพ้นความเครียดยังไง เขาก็ยังไม่พ้น เพราะกับบางคน ตำรวจก็ยังไปวนเวียนตามบ้าน ไปขอค้นนู่นนี้ มันมีกระบวนการทางจิตวิทยาที่ทำให้การประกันตัวออกมาแล้ว ก็ไม่จบ มันเป็นอะไรที่เค้าถูกจับตา ถูกกวนตลอดเวลา คุณมีสิทธิไหมที่จะบอกว่า มันจบแล้ว เราประกันตัวออกมาแล้ว เราพูดอะไรกับเขาไม่ได้เลย เจ้าหน้าที่ก็ยังเข้าไปอยู่ดี ความเสียหายทางจิตใจแบบนี้ เยอะมาก ไม่นับเรื่อง การที่ต้องนั่งทำใจทุกวันว่าลูกของฉันกำลังจะต้องติดคุกไหมในวันพิพากษา เครียดจนเหมือนกับทั้งลูกและตัวเขาเองติดคุกล่วงหน้าไปแล้ว
ในยุคศาลทหาร เคยมีกลุ่มอาสาสมัครเรียกว่ากลุ่มเพื่อนรับฟัง เขาก็จะมาช่วยคุย เป็นเพื่อนกับผู้ต้องหาบางคน เช่นผู้ต้องหาจิตเวช ที่โดนคดี ม.112 เราจะเห็นความเครียดของครอบครัวของพวกเขา ก็จะมีคนที่พยายามช่วยเยียวยากัน เป็นเพื่อนไปตลอดทุกกระบวนการ ซึ่งทนายความก็จะไม่ได้มาคุยอะไรแบบนี้ เพราะต้องทำคดีก็ยุ่งมากแล้ว แต่ตอนนี้มันมหาศาลมาก เยอะไปหมดเลย เราไม่สามารถเป็นเพื่อนคุย เพื่อนไปศาล เพื่อนรายงานตัวเหมือนที่เคยทำเมื่อก่อนได้แล้ว ตอนนี้คือเหลือแค่เอาทุกคนรอดมาจากเรือนจำให้ได้ เหลือแค่นี้แล้ว
มันดาร์กจริงๆ นะ บางทีเราก็เครียดนะเวลาคุยกับพ่อแม่ที่ลูกต้องติดคุก เราพูดไปเราก็รู้ว่าถ้าเป็นเราเอง เราก็ทำใจยาก เพราะขนาดเราเองไปศาลทุกวัน กลับบ้านเรายังหดหู่ทุกที กระบวนการ สิ่งที่เกิดขึ้นในศาล มันไม่เคยให้ความมั่นใจว่า เรากำลังต่อสู้แบบแฟร์ๆ อย่างล่าสุดไปศาล ในการไต่สวนประกันอานนท์ ต้องไต่สวนคอนเฟอร์เรนซ์ถ่ายทอดวิดีโอมาจากเรือนจำ เรือนจำก็บอกว่าไฟดับซะดื้อๆ แล้วก็ไม่พยายามทำอะไร อ้างว่าแดนที่อานนท์อยู่ไฟดับ พอบอกเขาว่าให้เอาอานนท์มาแดนที่ไฟไม่ดับสิ แดนที่คุณคุยกับศาลอยู่เนี่ย เขาก็บอกว่าไม่ได้ อานนท์ต้องอยู่แดนนั้นเท่านั้น เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไม ทำไมมาไม่ได้ เพราะมันมีเหตุจำเป็นว่านี่เป็นเรื่องอิสรภาพ และต้องมาไต่สวน แต่เรือนจำไม่สนใจ ศาลก็ไม่สนใจที่จะเอาตัวมาไต่สวนให้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเหลือแค่การต่อรองว่า ไต่สวนไม่ได้ก็ขังต่อไปก่อนเถอะน่า เดี๋ยวตำรวจก็สรุปสำนวนแล้ว แล้วก็มาต่อรองว่าขังต่อกี่วัน 3 หรือ 5 วันได้ไหมเพื่อไต่สวนต่อ ศาลก็บอกว่าไม่ได้ เพราะศาลอื่นเคยสั่งไว้ว่าต้องกี่วัน ถ้าสั่งไม่เหมือนกันมันจะน่าเกลียด ทั้งหมดนี้เรารู้สึกว่าเกี่ยวอะไรกับกฎหมาย เหมือนเราเข้าไปตลาดที่พ่อค้าบนแผงกับเอเยนต์พ่อค้าคนกลางคุยต่อรองราคากัน ทั้งๆ ที่นี่มันคือเรื่องสิทธิและอิสรภาพของของคนๆ นึง และคุณขังเขาอยู่
เวลาเราไปศาลทีไรก็จะเห็นสถานการณ์ทำนองที่ศาลจะออกตัวว่าศาลเข้าใจเรื่องสิทธิต่างๆ ตำรวจก็พูดเหมือนกันเลย แล้วก็บอกว่าแต่ตรงนี้ตัดสินใจไม่ได้หรอก มันต้องเป็นเรื่องของนโยบาย มันเป็นเรื่องผู้บริหาร เราก็ไม่เข้าใจว่าถ้าเป็นแบบนี้เราจะมีกระบวนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมทำไม
เวลาเราได้ยินอะไรทำนองว่า ‘เข้าใจว่าการประกันตัวเป็นสิทธิสากล ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่ว่า…’ เราก็จะลุกขึ้นเดินออกเลยนะ พอได้ยินแบบนี้ ภาษาที่อาจจะดราม่าหน่อยคือมันปวดหัวใจ
ดังนั้นเราเลยมานึกถึงว่าเราเองยังทำใจลำบากเลยเวลาไปศาล แล้วเราจะมีสิทธิอะไรไปคุยให้ครอบครัวเขาทำใจที่ลูกเขาต้องเข้าเรือนจำ
เหมือนว่าถึงแม้ว่ากองทุนจะมีเงิน มีคนพร้อมแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินในการประกัน
ใช่ มันไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน เราก็รู้สึกว่าการใข้เงิน มันไม่ใช่แค่เอาเงินไปวางให้เขาอย่างเดียว แต่ในเมื่อมันเป็นเงินที่ระดมจากประชาชน เราก็ต้องทำให้เขาเห็นได้ว่า ประชาชนมีฉันทามติ เขาแสดงเจตจำนงมา แต่ปรากฎว่าเขาก็แสดงอำนาจกลับมาเหมือนกัน ว่าไม่ให้ ยังไงก็ไม่ให้ซะอย่าง ใครจะทำไม
สุดท้ายแล้ว มีภาพหรือคิดถึงวันที่กองทุนนี้จะไม่จำเป็นแล้วไหม วันที่คนจะไม่ต้องโดนคดีการเมือง ที่ต้องเอาเงินไปประกันแบบนี้
ภาวนามากเลย อยากให้มันมีวันนั้นมากเลย จริงๆ ช่วงหลังปี 2554 เคยมีสิ่งที่เรียกว่ากองทุนยุติธรรมที่รองรับได้มากกว่านี้ ช่วงที่กระทรวงยุติธรรมมันทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ ประชาชนจะไม่เหนื่อยมากแบบนี้ แต่นับตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา เรายังรู้สึกว่าประเทศเรายังไม่เข้าที่เลย ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว แต่เราไม่เคยรู้สึกว่ามันนับได้เลย สำหรับโลกของเรา เรายังไม่พ้นยุครัฐประหาร มันยังยาวนานมาถึงปัจจุบัน
ภาพของกองทุนมันต้องไปพร้อมกับภาพใหญ่ ถ้าเมื่อไหร่เราเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ มีรัฐบาลที่มาจากประชาชนจริงๆ ปัญหานี้มันจะน้อยลง เพราะเขาก็ต้องตอบกับประชาชน เขาเป็นคนดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่เขาต้องแคร์ประชาชน ต้องทำให้แน่ใจว่าประชาชนจะเลือกเขาครั้งต่อไป ต้องดูแลประชาชนดีกว่านี้ ถึงตอนนั้นสิทธิการประกันตัว หรือสิทธิทางกฎหมาย เงินประกันมันต้องเป็นสวัสดิการ ต้องเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถจัดให้ได้ ต่อให้คดีทางการเมือง แต่ตอนนี้มันยังไม่ถึงจุดนั้น มันก็เป็นการลุ้นไปพร้อมๆ กับการลุ้นให้เราออกจากหลุมดำนี้
และเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย ที่คนไม่ต้องออกมาบนถนน เราก็จะมีคดีแบบนี้น้อยลง และเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิการแสดงออกของคน รัฐบาลก็จะยอมรับสิทธิในการประกันตัว จริงๆ มันควรถึงขั้นที่คดีทางการเมืองไม่ควรต้องมาจ่ายเงินด้วยซ้ำ ถ้ามันพัฒนาไปถึงตรงนั้น กองทุนแบบนี้ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป
ที่เราคิดถึงการจดทะเบียนองค์กร เราคิดถึงเผื่อว่าวันนั้นจะมาถึง ถ้าวันนั้นมาถึง หมายความว่าเราจะมีเงินเยอะมาก หลายล้านบาทที่เราจะได้กลับคืนมาหมดเลยจากทุกๆ ศาลที่เคยเอาจากเราไป เพราะเราคิดว่า ถ้าเราตั้งมูลนิธิเสร็จ มันก็จะสามารถแปรเอาไปเป็นสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ต่อไป
โดยยังอยู่ที่ฐานเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน หรือว่าอาจจะไม่ได้จำกัดแค่คดีการเมืองอีกต่อไป อาจจะแปรจากภารกิจทางการเมือง ไปเป็นภารกิจทางมนุษยธรรมกว้างๆ มากขึ้นก็ได้ ถ้าเราไปถึงขั้นนั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของกองทุนราษฎรประสงค์ได้ตามเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/willofthepeoplefund/