ปีนี้ผ่านมาแล้ว 274 วัน แต่ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ต้องอยู่ในเรือนจำไปแล้วถึง 99 วัน
โดยรอบแรกนั้น ไผ่ อยู่ในเรือนจำทั้งหมด 46 วัน ก่อนจะได้รับประกันตัว ในขณะที่รอบนี้ เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม จากการมอบตัวในวันนั้นด้วยกรณีสาดสีหน้า สน. ทุ่งสองห้อง,พรรคพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-หล่อเทียนพรรษา นับมาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 53 วันแล้ว และยังผ่านประสบการณ์ติด COVID-19 ในเรือนจำด้วย
หากเรารู้จักไผ่ จตุภัทร์ เราคงเห็นว่าชีวิตนักสู้ของเขา เข้าๆ ออกๆ กับเรือนจำเป็นประจำ แต่การลิดรอนเสรีภาพของเขา ก็ไม่อาจหยุดการต่อสู้ได้ และปีนี้ เขายังได้สร้าง และเป็นผู้นำให้น้องๆ ‘ทะลุฟ้า’ ในการเคลื่อนไหวต่อไป แม้ตัวเขาจะถูกจองจำ
เมื่อมีผู้ถูกคุมขัง โดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวอีกครั้ง The MATTER จึงต้องนำซีรีส์ ‘‘Never Forgotten ไม่ลืมเพื่อนเรา’ กลับมาอีก โดยครั้งนี้ เราได้พูดคุยกับ ไดโน่ มิ้น และเปา จากกลุ่มทะลุฟ้า น้องๆ จากภาคอีสาน ที่มีไผ่เป็นพี่ชาย และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย มาพูดคุยถึงการต่อสู้ของไผ่ เบื้องหลังการสอนน้อง สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากพี่ชายนักเคลื่อนไหว และความฝันของไผ่ ในวัย 30 ที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำกัน
ติดตามซีรีส์ ‘Never Forgotten ไม่ลืมเพื่อนเรา’ ที่จะนำมาเล่าอีกครั้ง ได้ที่ The MATTER ซีรีส์ที่จะให้เพื่อนๆ ครอบครัว และคนรอบตัว มาเล่า และพูดถึงผู้ต้องขังทางการเมือง ที่ยังอยู่ในเรือนจำในมุมต่างๆ เพื่อที่คนข้างนอกจะได้ไม่ลืมว่า ยังมีคนถูกคุมขังโดยที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
รุ่นพี่ในคณะ และพี่ชายผู้พาไปลงพื้นที่ เรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตย
ไผ่ ดาวดิน เป็นชื่อที่รู้จักของไผ่ จตุภัทร์ โดยเขาเองก็เป็นหนึ่งคนที่เรียกร้อง ออกมาชุมนุมทางการเมือง ต่อต้านรัฐประหารมาตั้งแต่สมัยมหา’ลัย ซึ่งน้องๆ ทะลุฟ้าเองก็บอกเราว่า เขารู้จัก หรือได้ยินชื่อเสียงของไผ่ มาตั้งแต่สมัยนั้น
ไดโน่ ทะลุฟ้า คนที่ได้กลายมาเป็นแกนนำรุ่น 2 หรือหลายๆ คนเรียกว่าผู้สืบทอดของไผ่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเขา และนักกิจกรรมรุ่นพี่คนนี้ว่า “ตอนนั้นผมเข้าไปปีหนึ่ง ที่นิติ ม.ขอนแก่น แล้วพี่ไผ่ปี 6 วิชาแรกในมหา’ลัย คือกฎหมายมหาชน เจอแกใส่เสื้อเขียนข้างหลังเป็นสเปรย์พ่นว่า ‘ไม่เอามหา’ลัยนอกระบบ’ เราก็คิดว่าใครวะ แปลกมาก แต่งตัวแบบนี้ได้ไง ใส่แว่นดำ เสื้อนักศึกษาปล่อยชาย รองเท้าคอนเวิร์ส กางเกงยีนส์ ทั้งๆ ที่เราใส่ชุดนักศึกษาเต็มระเบียบเลย เราก็ตั้งคำถามว่าคนนี้ใคร”
“เราก็ได้ยินว่า คณะนี้มีคนนึงที่เคยชู 3 นิ้วใส่ประยุทธ์ ชื่อไผ่ แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร ต่อมาเราก็ไปเข้าชมรมมวย แล้วเราก็เจอพี่ไผ่ที่เข้ามาเล่นในชมรม เลยได้รู้จักกัน ก็เลยรู้ว่าคนนี้คือไผ่ ดาวดิน พอได้คุยกัน พี่ไผ่ถามเราคำแรกว่า ‘ทำไมมึงรักในหลวง ?’ ตอนนั้นเราสตั๊นท์ไปเลย มีคำถามแบบนี้ด้วยหรอ เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่แล้วเรื่องนี้ เราก็ตอบพี่ไผ่ไปว่า ‘พ่อผมมีคนเดียว’ หลังจากนั้นเราก็ได้พูดคุยกับพี่ไผ่มากขึ้นเรื่องระบบกษัตริย์ หรือการเมือง”
ไดโน่เล่าว่า เขารู้จักไผ่เพียงไม่นาน ก่อนที่ไผ่จะติดคุกรอบแรก “รู้จักกันได้ 2 เดือน พี่ไผ่ติดคุกเพราะแชร์ข่าวจาก BBC เราเลยงง เราเห็นพี่เขาใช้ชีวิตกับเรา เตะบอล เวลาเล่นเกมก็บ้า เหมือนวัยรุ่นคนนึงที่ชอบเล่น ชอบเรียนรู้ ทำไมต้องเอาพี่กูไป แล้วทำไมเอาพี่กูไปคนเดียว ทำไมคนแชร์อีก 2,000 กว่าคนถึงไม่โดน ทำไมพี่กูโดน
ตอนไปเจอพี่ไผ่ที่เรือนจำ เราร้องไห้เลย ว่าทำไมต้องทำกับพี่กูขนาดนี้ เมื่อวานเรายังเจอกันอยู่เลย ทำไมพี่กูต้องอยู่ในห้องขัง
เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเรียนกฎหมาย แต่เราไม่สามารถที่จะใช้ข้อกฎหมายไหน ที่จะทำให้พี่เราเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ เราพยายามที่จะเถียงกับตำรวจว่าข้อกฎหมายไหน ทำไมประกันไม่ได้ แต่รัฐ หรือตุลาการก็ไม่รับฟังอะไรเลย”
ในช่วง 2 ปีกว่าที่ไผ่อยู่ในเรือนจำ ไดโน่เล่าว่า เขาพยายามเรียนรู้อยู่ข้างนอก จากตัวเองที่ยังมองภาพสังคมเกมการเมืองไม่ออก ก็ไปเรียนรู้กับดาวดินบ้าง ไปลงพื้นที่กับพี่ๆ เครือข่ายดาวดินบ้าง “เราก็ยังเก็บประสบการณ์เพื่อรอวันที่พี่ไผ่ได้อิสรภาพ และออกมาต่อสู้ด้วยกัน เพราะเรายังเชื่อมั่นว่า คน หรือกลุ่มก้อนที่อยู่ด้วยกัน จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วยกัน”
ต่างจากไดโน่ เปา ทะลุฟ้าเล่าให้เราฟังว่า ได้ยินชื่อพี่ไผ่มานาน แต่มารู้จักจริงๆ หลังพี่ไผ่ออกจากเรือนจำ (ปี 2562) เปา ซึ่งเคยไปเรียนที่ ม.ขอนแก่นหนึ่งปี ได้รู้จักไผ่ เพราะไดโน่อีกที และหลังจากนั้น ก็ได้เคลื่อนไหวกันมาตลอด
“ผมเรียนรัฐศาสตร์ ก็ได้มาศึกษาการเมือง ก็ชอบที่พี่ไผ่ออกมาเรียกร้อง เราคิดว่าเขาจริงใจ และลงมือทำจริงๆ โดยผมมารู้จักแกตอนแกออกมาจากคุกแล้ว เพราะพี่ไผ่รู้จักกับไดโน่ตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ไดโน่ก็เลยพามารู้จักกัน ตอนเขาออกมา เขาก็มาทัก ชวนไปนู่นไปนี่ ผมก็ไปหมดเลย”
เปาเล่าว่าพี่ไผ่ได้ชวนไปลงพื้นที่ โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวะมวล หรือเหมืองโปแตช ในหลายจังหวัดของพื้นที่อีสาน ได้ไปให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องผลกระทบ การทำ EIA ต่างๆ “เราไปอยู่กับชาวบ้าน เหมืองมันอยู่ตรงใจกลางหมู่บ้าน เขาชอบไปตั้งจุดนั้น เพราะพอมีคนอยู่ใกล้ๆ โรงงานมันก็เหมือนมีคนมาดูแล ขโมยน้อยลง แต่ชาวบ้านกลับได้รับผลกระทบเต็มๆ พี่ไผ่ก็เป็นคนบุกเบิกที่ไปทำเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่มีคนทำ” ซึ่งเปายังได้เล่าว่า ได้มีโอกาสพาชาวบ้านมาประท้วงรัฐบาลประเด็นเหล่านี้ ที่กรุงเทพฯ ด้วย ทำให้เขาจากที่ไม่รู้อะไร ก็ได้เรียนรู้จากการเคลื่อนไหวไปกับพี่ไผ่
เปายังบอกเราอีกว่า พี่ไผ่ยังได้ตั้ง ‘กลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน’ ขึ้นมาด้วย “พี่ไผ่อยากให้นักกิจกรรมมีเงินใช้ มีข้าวกิน มีขนมกิน เลยตั้งองค์กรขึ้นมา เพื่อหล่อเลี้ยง activist แต่สุดท้ายก็ไม่มีกินเหมือนเดิม เพราะเอาเงินมาทำม็อบ” เปาเล่าพร้อมขำ
ไม่เพียงแค่การรู้จักกันผ่าน ม.ขอนแก่น มิ้น ทะลุฟ้า มีสตอรี่ที่เธอไปเคลื่อนไหว เรียกร้องให้กับไผ่ ตั้งแต่ที่ยังไม่รู้จักกันเลยด้วย มิ้นบอกกับเราว่า “ตอนแรกไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่เราสนใจการเมืองมาตั้งแต่มัธยม เรารู้จักพี่ไผ่จากข่าวที่เขาโดนจับจากการแชร์ข่าว BBC ช่วงนั้นที่เขาโดนจับ เราอยู่ ม.5 เรียนที่ขอนแก่น เราก็ไปชูป้ายประท้วงกับพี่ๆ ดาวดิน ก็ได้ทำความรู้จักกับพี่ๆ ศูนย์ทนาย และพี่ๆ ดาวดิน ตอนที่เราประท้วง โดยที่พี่ไผ่ก็ยังไม่ได้รู้จักกับเราหรอก”
“พอเราได้เข้ามหาลัย ปี 1 ตอนที่เขาออกจากคุก ก็ได้บังเอิญไปเจอกันในงานศึกษาเรื่องพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ที่พื้นที่บ่อแก้ว ที่คณะนิติ มข. เราก็เลยได้รู้จัก หลังจากนั้นก็เลยได้รู้จักพี่ๆ แก๊ง UNME (กลุ่มเคลื่อนไหวก่อนที่จะกลายมาเป็นกลุ่มทะลุฟ้า) และก็รู้จักพี่ไผ่ ช่วงแรกที่รู้จักกับพี่ไผ่ เราก็เคลื่อนไหวเกี่ยวกับพี่ที่บ่อแก้ว มันก็จะมีเครือข่ายจากสารคาม ขอนแก่น ก็เลยได้รู้จักกับเขามากขึ้น” มิ้นเล่า
ซึ่งจุดเริ่มต้นจากการสนใจการเมือง ปากท้อง ประเด็นสังคม ก็ทำให้ทั้ง 3 คน ได้มาเคลื่อนไหวกับไผ่ ตั้งแต่จากอีสาน จนถึงทุกวันนี้
ความเป็นไผ่ ผู้ลงมือ จริงจังกับงานในฐานะ ‘นักปฏิบัติ’
พี่ไผ่คือคนตั้งใจทำงาน เป็นคนลุย ทำอะไรทำจริง นี่คือสิ่งที่น้องๆ ทะลุฟ้าทั้ง 3 คน พูดกับเราถึงพี่ไผ่ ทำให้เราเห็นชัดว่า ไผ่ คือ ‘นักปฏิบัติ’
“ตอนเรียน มข. ผมก็ได้ไปอยู่ดาวดิน ก็พอรู้จากคนอื่นที่เล่าว่า แกเป็นคนพุ่ง ทำอะไรตรงๆ ทำอะไรทำจริง ตอนนั้นเราก็อยากรู้ว่า มีคนแบบนี้ด้วยหรอ พอเขาออกมา เราก็ได้รู้ว่ามันมีจริงๆ เวลาเจอปัญหาอะไรเขาเข้าไปแก้เลย ลงมือทำเลย พออยู่กับพี่ไผ่ก็ได้เรียนรู้จากการทำมากกว่า เวลาประชุมงานก็ประชุมแปปเดียว แค่ชั่วโมงเดียว พี่ไผ่เป็นคนไม่ชอบประชุมยาวๆ เน้นลงมือ” เปาเล่าถึงความเป็นไผ่
มิ้นเสริมว่า การปฏิบัติของไผ่ คือการลงมือทำ แบบแทบจะไม่หยุดพักเลยด้วย “ในมุมของเราเขากล้าที่จะพูด ติดคุกคดีอะไร มันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขาเป็นคนกล้า พอได้มาทำงาน เรียนรู้กับเขาจริงๆ เวลาพัก พักจากการทำม็อบ มันจะไม่ใช่พักเฉยๆ แต่จะมีไปแจกใบปลิว ทำนู่นทำนี่ มันจะเป็นพักสไตล์แบบวันว่างๆ พักแบบที่ไม่ได้เรียกว่าพัก พักแรง แต่สมองยังใช้อยู่ และเขาก็ไม่ใช่แค่สั่ง แต่ยังลงมือทำด้วย ให้เห็น เราก็ทำตาม เรียนรู้จนถึงทุกวันนี้”
“พี่ไผ่ยังเป็นคนที่มองจากข้างล่าง ขึ้นข้างบน ในเรื่องประเด็นชาวบ้าน เขาเป็นคนเข้าใจกฎหมาย ถ้าในที่ที่เขาพาลงพื้นที่ เขาก็พูดเรื่องหลักการ ปรัชญา ที่ดินทำกิน พื้นที่ต่างๆ เป็นของประชาชน กฎหมายมาทีหลัง เขาจะมีหลักการแน่นมากๆ ไม่ใช่แค่โครงสร้างใหญ่ๆ แต่ฐานรากแกก็แน่น”
“ถ้ามองในมุมคนธรรมดา แกก็เป็นคนทั่วไปนะ ที่มีความสนุก เฮฮา ปาร์ตี้ เวลาไม่ได้ทำงาน ไปเที่ยวก็สนุกสุดๆ เป็นคนคุยได้ทุกเรื่อง ไม่ได้เกรงใจว่าเป็นพี่ เป็นน้อง แกเข้าใจว่าคนเท่ากันจริงๆ อะไรที่ต่อให้เขาเป็นนักสู้ แต่ในสิ่งที่เขาผิดพลาด เราก็กล้าที่จะมีหลักการณ์ไปวิพากษ์เขา บางทีเขาก็ยอมรับ ผิดครับ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นพี่แล้วจะไม่ฟังน้อง”
ในมุมการทำงาน ไดโน่ยังบอกเหมือนมิ้นด้วยว่า “พี่ไผ่เป็นพี่ชายที่ไม่เคยพักเลย หาทำทุกอย่าง” ทั้งยังเป็นคนดุ และจริงจังมาก “พี่ไผ่เขาไม่ได้ชอบคนเก่ง แต่เขาชอบคนสู้ คือความเก่ง มันสามารถที่จะแต่งเติม ปรุงแต่งให้ได้ แต่การที่จะมีใจต่อสู้ รับใช้สังคม หรือคนอื่น มันยากที่จะหาคนแบบนี้ได้ คนที่จะยอม หรือเอาตัวเองเข้าแลกกับสิ่งบางอย่าง ที่เรารู้ว่าสู้เพื่อคนอีกหลายคน”
พี่ไผ่อาจจะดูดุ อาจจะเหมือนห้าวๆ แต่เราดุเพราะความจริงใจ เพราะความรู้สึก ที่เราถูกกดขี่มาจริงๆ และอุดมการณ์อีกอันของพี่ไผ่คือการมองเห็นคนอื่นๆ มากกว่าตัวเอง พี่ไผ่เป็นคนรักน้องมาก แกดุแบบดุจัด ดุแต่สอน ดุในสิ่งที่ถูกต้อง ดุในสิ่งที่เราแก้ไขปัญหาไม่ได้ เช่น ถ้าไม่มีคนไฮด์ปาร์กบนเวที เขาก็จะดุว่าทำไมไม่ติดต่อคน ทำไมไม่ซ้อม”
เราจึงถามไดโน่ต่อว่า ความดุนี้ ทำให้น้องๆ กลัวพี่ไผ่หรือเปล่า “บางคนก็กลัว บางคนก็ไม่กลัว แต่หลังๆ ไม่ค่อยกลัวแล้ว เพราะเราคนเท่ากัน คุณดุมา เราก็ดุได้ ดุในเชิงหลักการ ในการทำงาน ไม่ได้ผิดใจกัน” เขาบอก
ไผ่ ในฐานะชายวัย 30 ปี ที่ก็มีความฝัน และอยากมีชีวิตของตัวเอง
แม้จะมีประสบการณ์เข้าเรือนจำมาหลายครั้ง แต่ในวัย 30 ปีของไผ่ เขายังต้องใช้เวลาในเรือนจำอีกครั้ง โดยที่คดียังไม่ถูกตัดสิน และไม่ได้สิทธิประกันตัว
เปาเล่าให้ฟังว่า หลังการเคลื่อนไหวของทะลุฟ้า ก็มีหลายครั้งที่พวกเขาถูกจับในเรือนจำที่ สน.เช่นกัน ซึ่งก็ได้ประสบการณ์บอกเล่าจากไผ่ ที่ทำให้เตรียมตัวได้ “พี่เล่าให้ฟังว่าข้างในเป็นยังไง มันแย่ยังไง ห้องน้ำในคุกจะเป็นนอนรวม 50 คน ก็จะเป็นห้องน้ำอันเดียวตั้งอยู่ แล้วก็โล่งๆ แกก็เล่าก่อน พอเราไปเจอจริงๆ เราก็รับมือได้”
ด้านไดโน่เล่าว่า ในเรือนจำ ไผ่จะเป็นเหมือนพ่อบ้าน “แกเป็นพ่อบ้าน ผมก็อุ่นใจ แกเองก็เข้าเรือนจำบ่อย คุ้นเคยกับอะไรหลายๆ อย่าง มีวิธีการจัดการตัวเองได้ แต่แกก็มีความเครียด เราก็ได้แต่เป็นที่พูดคุย แต่ผมเป็นคนอยากคุยต่อหน้ามากกว่าฝากข้อความไป มันเสียใจมากกับการที่เราได้แต่เขียน แล้วส่งเข้าไป แล้วข้อความที่เขียนไป ราชทัณฑ์ก็อ่านตลอด ผมว่ามันสำคัญที่บางคำพูดต้องออกจากปากเราเอง”
อยู่ในคุก เหมือนได้หยุดพัก แต่ไผ่ไม่หยุดคิดถึงกระบวนการต่อสู้ มิ้นเองยังบอกกับเราว่า เวลาไผ่ได้ออกมาจากเรือนจำจะออกมาพร้อมไอเดียเคลื่อนไหว หรือแผนใหม่ๆ เสมอ
“ปกตินักเคลื่อนไหว ไม่ได้มีแค่แกนนำคนเดียว แต่เรารู้สึกว่าการที่พี่ไผ่เข้าๆ ออก มันเป็นเพราะรัฐมันมองเห็นว่า ถ้าไม่มี จะจัดม็อบได้ไหม รัฐมองว่าเป็นแกนนำ ก็จับก่อน เพื่อที่มันจะได้ไม่เคลื่อนแต่ แต่ตอนนี้พอเค้าจับ กระบวนการเคลื่อนไหวก็ยังเคลื่อนต่อ
เรารู้สึกว่ายังมีหวังว่าพี่ไผ่จะได้ออกมา การเข้าออกเรือนจำกลายเป็นเรื่องปกติของเขา การออกมาแต่ละครั้งไม่มีเลยที่จะพัก เขาลุย เข้าคุกแต่ละครั้ง เขาจะมีกระบวนการคิด หรือแผนของเขา ไตร่ตรองในคุก และออกมามีโมเดลมาเสนอให้เสมอ เขาออกมางานเราหนักกว่าเดิม เราก็ประท้วงหยอกๆ กันว่า ‘จับพี่กูๆๆๆ’” มิ้นเล่าพร้อมขำทิ้งท้ายกับเรา เช่นเดียวกับเปาที่ก็บอกเราว่า ถึงถูกจับติดคุก แต่พอออกมาไผ่ก็สู้ต่อ ทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องต่ออยู่ดีด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไผ่จะไม่มีความฝัน หรือไม่อยากมีชีวิตของตัวเอง น้องๆ ทะลุฟ้าเองก็อยากให้ไผ่ในฐานะพี่ชายได้มีชีวิตในวัย 30 อย่างที่ควรจะเป็นเช่นกัน
“ผมสงสารพี่ไผ่” เปาบอก
“คนรุ่นๆ เดียวกับพี่ไผ่มีงานทำ มีอนาคตกันแล้ว พี่ไผ่ก็เป็นคนนึงที่เก่งมากๆ แกก็รู้สึกแย่เหมือนกันว่าทำไมตัวเองต้องมาเป็นแบบนี้ แต่แย่อยู่ได้วันสองวัน ก็สู้ต่อ เขาก็อยากมีชีวิตที่ปกติเหมือนคนอื่นเหมือนกัน เขาเลยต้องทำ เพราะมันไม่มีใครทำ เขาอยากเป็นทนายความ อยากแก้ปัญหาชาวบ้าน แกเองโตอยู่ชัยภูมิ พ่อก็เป็นทนาย แกก็เห็นปัญหาต่างๆ มาแต่เด็ก เลยทำให้แกสู้”
ไดโน่บอกกับเราว่า เขามองว่าไผ่เคลื่อนไหวอย่างที่ไม่เคยได้พัก และไผ่ติดคุกกี่ครั้งเค้าก็ยังสู้ และการที่ไม่หยุดพักของไผ่ ก็ทำให้เขาเองหยุดไม่ได้เช่นกัน น้องชายของไผ่คนนี้ ยังบอกความตั้งใจของเขากับเราอีกว่า ในมุมหนึ่งเขาก็หวังว่าพี่ชายคนนี้ จะได้ใช้ชีวิตปกติบ้าง
“จริงๆ เราเคยคุยกันไว้ว่า ผมอยากขับเคลื่อนในนามทะลุฟ้า แล้วให้คุณพัก เพราะคุณสู้มานาน ก็อยากให้ชีวิตคุณที่อายุ 30 ทำไมยังต้องมาเรียกร้อง ทำไมยังไม่สร้างครอบครัว ยังเรียนปริญญาโทไม่จบ ทำไมไม่มีชีวิตปกติเหมือนคนอื่น เราก็อยากให้แกพัก เป็นที่ปรึกษาให้เรา มันก็เจ็บปวดกับการยังมีกฎหมายข้อนี้ (ม.112) เพราะพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐธรรมนูญชุดนี้ ไม่เคยรับฟังเสียงประชาชนเลย ทั้งยังมี พรก.ฉุกเฉิน พรบ.ต่างๆ กฎหมายเล็กๆ เยอะนอกเหนือกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เอามาจำกัดสิทธิเพื่อนเรา พี่เรา”
“แกเคยบ่นๆ ว่าเพื่อนกูเป็นอะไรต่ออะไรกันแล้ว เช่น เป็น ส.ส., ทนาย แต่ทำไมกูยังต้องมาเรียกร้องเสรีภาพของตัวเอง เรียกร้องสิทธิอยู่เลย แกก็บ่นแบบนี้มาโดยตลอด ผมก็อยากช่วยแก”
“แกมีความฝันในการเรียนจบ ป.โท แกก็อยากกลับบ้าน ไปใช้ชีวิตแบบอยู่บ้าน กินกาแฟตอนเช้า เล่นพิณของแก อยากมีบั้นปลายชีวิตไปใช้เวลากับครอบครัว แต่เราก็ยังกลับไปใช้ไม่ได้ เพราะรัฐบาลยังไม่ฟังเสียงประชาชน ยังจำกัดสิทธิของเรา ชาวบ้านยังเข้าไม่ถึงที่ดินตัวเอง ไม่สามารถปกป้องที่ดินตัวเองได้เลย มันต้องพัฒนา เติบโตไปด้วยกัน”
จากไผ่ ดาวดิน สู่การสร้างน้องๆ ทะลุฟ้า
การเดินทะลุฟ้า คือการเคลื่อนไหวด้วยการเดินเท้า จากนครราชสีมา มาถึงกรุงเทพฯ ด้วยระยะทาง 247.5 กิโลเมตร โดยมีไผ่ เป็นแกนนำ และยังนำน้องๆ กลุ่ม UNME of Anarchy จากอีสาน เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ก่อนที่ต่อมากลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ สำหรับน้องๆ พี่ไผ่จึงเป็นเหมือนต้นแบบ และคนวางรากฐานให้กับกลุ่ม
‘ไผ่ 1 คน เท่ากับน้องๆ 5 คน’ นี่คือสิ่งที่เปาเปรียบเทียบการทำงานให้เราฟัง
“ก่อนหน้านี้ มีพี่ไผ่คนนึง ต้องมีคนอื่นอีก 5 คน ถึงจะเท่าแกได้คนเดียว ปีที่แล้ว ทำม็อบ แกก็พาไปทำหลายจังหวัด ไปช่วยน้องๆ นักศึกษาที่ ม.อื่น แกก็วางตำแหน่งพวก UNME คนละ 1 ตำแหน่ง แกเองทำม็อบ หรือค่ายด้วยคนเดียว หรือ 2 คน แกก็ทำได้ เป็นคนที่พลังเยอะมาก แต่ UNME ตัวหลักๆ มีซัก 5 คน เขาก็จะพยายามให้ 5 คนนี้ ทำงานที่เขาทำได้ เขาทำคนเดียวนะ แต่ UNME ใช้ 5 คน เราก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ”
“ตอนนี้ไม่มีพี่ไผ่ ก็ไปได้ประมาณนึง แต่ก็รู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่าง ขาดคนนำ แต่เราก็เรียนรู้ และพยายามทำให้ได้ ตอนนั้นวางแผนว่าจะมากรุงเทพฯ แค่เดือนเดียว พอพี่ไผ่ติดคุกก็ยาวเลย น้องๆ ก็ไม่ยอมกลับ รอจนกว่าพี่ไผ่จะออกมา มันก็เป็นสิ่งที่เราสู้ต่อเพื่อพาเขาออกมา แต่คิดว่าถ้าพี่ไผ่ได้ออกมา เราก็น่าจะได้อยู่ต่อ น่าจะได้สู้กันยาวๆ” เปาเล่า
พูดถึงทะลุฟ้า เรายังมักเห็นการเคลื่อนไหวที่กวน ขำขันกับการล้อเรียนรัฐ มิ้นบอกว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากความเป็นไผ่ด้วย “ความกวนจากพี่ไผ่ ในมุม UNME มันมีความเป็นแก๊งค์ พอคนมันเยอะ ก็ทำให้รัฐกลัว ในความกวนของพี่ไผ่ด้วย พอมันซึมซับ มันแพร่กระจาย และเป็นกลุ่มก้อน เป็นแก๊งค์ มันก็มีพลังมากขึ้น ต่อให้พี่ไผ่ไม่อยู่ แต่ความกวนก็ยังอยู่”
พอไม่มีไผ่ แผนหลายๆ อย่างก็เปลี่ยน แต่การเรียกร้องใน 3 ข้อเรียกร้องก็ยังไปต่อ โดยมิ้นเล่าว่าพี่ไผ่ คือคนที่บอกให้ขบวนสู้ต่อไป เธอย้อนเล่าไปถึงเหตุการณ์ปีที่แล้วให้ฟังว่า “ในช่วงปีที่แล้ว ที่เพื่อนเราโดนจับ 13 ตุลา มันเคว้งกัน เรากลายเป็นไม่ได้มุ่งที่เป้าหมาย ข้อเรียกร้องเป็นหลัก เพราะไปมุ่งที่ปล่อยเพื่อนเรา มันก็ลากยาวมาถึงต้นปี พอมาถึงช่วงคลื่นลูกใหม่ที่เรากลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เราเหมือนคุยกันแล้วว่า เราจะไม่พูดเรื่องปล่อยเพื่อนเรา เพราะมันทำให้ประเด็นถูกกลบ ข้อเรียกร้องถูกกลืนไป เพราะมันเป็นสิ่งที่รัฐต้องการให้เป็นแบบนั้น
มาทุกวันนี้ที่ทะลุฟ้าเคลื่อนไหวอยู่ เราก็ไม่ได้ลืมเพื่อนเราที่อยู่ในคุก เราก็ยืดในข้อเรียกร้องหลัก พ่วงปล่อยเพื่อนเราไปด้วย ว่ายังคิดถึงเขาอยู่ แต่คนที่ยังอยู่ก็สู้ต่อ คนข้างในก็ต้องเข้าใจ ไม่ต้องน้อยใจ นี่คือสิ่งที่พี่ไผ่บอกเลย”
มิ้นยังเล่า และย้ำสิ่งที่เธอบอกกับเราไปแล้วอีกว่า แม้จะมีความเหนื่อย ความท้อ แต่ไผ่ ไม่เคยหยุดพักจริงๆ “ตอนออกมาล่าสุด ก็มีมุมที่เหนื่อย แต่กลับไปพัก กลับขอนแก่น แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้กลับเฉยๆ กลับไปยืนทะลุฟ้าอีก คือพักอะไรก่อน ยืนทุกวัน เป็นเดือน อยู่ตรงนั้นก็คือพักไม่จริง ยังทำอยู่ การพักของเราแต่ละครั้งมันมีค่าใช้จ่าย มันรู้สึกว่าทำไมเราจัดม็อบทุกวัน เราทำม็อบเรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรซักอย่าง เราไม่ได้ใช้เงินประชาชนไปเฉยๆ แต่เรายังเคลื่อนไหว ยังทำอยู่
แต่พอไม่ได้จัดม็อบ พี่ไผ่ก็จะมีกระบวนการเรียนรู้ ทั้งถก ความรู้ หรืออย่างเขาไม่อยู่ เราก็มีดูหนัง เอามาพูดคุย ถกเถียงกัน กระบวนการที่เขาสร้างมันไม่ได้สูญเปล่า เรายังไปต่อได้จากสิ่งที่เขาสร้าง”
แกนนำรุ่น 2 หรือตัวแทนของไผ่ คือชื่อที่หลายคนเรียกไดโน่ในตอนนี้ เขามองว่าจากไผ่ที่ดูแลเขา ตอนนี้ก็เป็นเขา ที่ดูแลน้องๆ ซึ่งไผ่ก็ทำให้ไดโน่อยากสู้ให้ได้เหมือนที่ไผ่ทำด้วย
“ตัวผม ก่อนรู้จักพี่ไผ่ ผมไม่กล้าไฮด์ปาร์กเลย ไม่กล้าพูด ไม่กล้าจับไมค์ ตัวสั่นเลยถ้าจับไมค์ ผมบอกพี่ไผ่เสมอ ‘พี่ ผมไม่ไหวหวะ ทำไม่ได้หวะ ไม่มั่นใจ’ แต่สุดท้ายเราก็ได้มาเป็นแกนนำปราศรัย ทำให้น้องได้รู้ว่าต้องพูดแนวนี้ ทำแบบนี้ เป็นคนที่ดูแลน้องแทนพี่ไผ่ เพราะใครหลายคนอาจจะมองว่าผมเป็นตัวแทนพี่ไผ่ มันก็กดดันในระดับนึง แต่ว่าผมว่ามันไม่มีใครเป็นตัวแทนใคร แต่มันเป็นการต่อสู้ที่เรามีภาพฝัน ภาพความคิด ต่อการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบเดียวกัน เราเลยได้ออกมาทำสิ่งที่เหมือนไผ่ แนวๆ ไผ่ เพราะเราอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง”
“แกเป็นคนที่น่ารัก ไปไหนมีคนรู้จัก แบบไม่ได้รู้จักว่าเขาคือไผ่ ดาวดินนะ แต่ว่าเขาเข้าถึงคนง่าย ไม่ได้ถือตัว อยู่กับแกแล้วสบายใจด้วยในการใช้ชีวิต แล้วเราก็รู้สึกว่าเขาเป็นพี่นิติศาสตร์คนนึง ที่เราเห็นแกเสียสละในการต่อสู้ ติดคุก ก็ยังออกมาสู้ โดยที่กำลังแกไม่เคยหมด เราอยากทำให้ได้แบบแกได้ แต่ก็ต้องใช้หลายคนที่จะสู้ให้ได้แบบแก”
ไดโน่ยังมองว่า ไผ่สร้างน้องๆ มา และที่ทะลุฟ้าเคลื่อนไหวทุกวันนี้ ก็พัฒนาจากไผ่ที่เป็นเสาหลักด้วย
“มันเสียใจมากเลยนะกับการที่พี่เราคนนึงที่ใช้ชีวิตอยู่กับเรา มีชีวิตเหมือนครอบครัวเดียวกันในทะลุฟ้า แต่ต้องจากครอบครัวทะลุฟ้า เหมือนคนๆ นึงที่เป็นเสาหลักในตอนแรก ที่ทำให้น้องยืนได้ ทำให้น้องพัฒนาตัวเอง จากคนที่ต่อสู้แบบเสรีชน มาเป็นองค์กร แกสร้างน้องมาให้เป็นแบบนั้น ผมเลยมองว่าแกสร้างพวกเรามา ก็อยากให้แกได้พักบ้าง”
ทั้งในก่อนที่เราจะคุยกับน้องๆ มิ้นได้อ่านข้อความจากไผ่ให้น้องๆ ทะลุฟ้าฟังด้วยความดีใจ โดยข้อความนี้ถูกฝากจากทนาย ที่ไปเยี่ยมไผ่ในเรือนจำเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ว่า
‘สบายใจที่เห็นว่าไผ่ติดคุกแล้ว ทะลุฟ้ายังสามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้ จากที่ครั้งก่อนไผ่ติดคุก แล้วความเคลื่อนไหวมันแผ่วๆ ครั้งนี้ทะลุฟ้าเคลื่อนไหวต่อไปได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ’
เมื่อได้คุยกับมิ้น เราจึงถามเธอว่า จากสิ่งที่ไผ่สร้างทะลุฟ้า ตอนนี้แม้ไผ่จะไม่อยู่เคลื่อนไหวด้วย แต่ถ้าเขาได้ออกมา อยากให้เขาเห็นทะลุฟ้าอย่างไรบ้าง
“ในแต่ละครั้งที่เราเคลื่อนไหว เราก็ส่งข่าวเรื่อยๆ ให้พี่ทนาย เขาก็เอาออกมา พี่ไผ่รับรู้ตลอดว่าเรามีความเคลื่อนไหวยังไง เขาดีใจเสมอที่เราไปต่อได้ ซึ่งถ้าเขาออกมาครั้งนี้ เขาจะภูมิใจมากกว่าครั้งก่อน เขาไม่ต้องมาตามแก้ปัญหาเหมือนครั้งก่อนแล้ว แต่เราสร้างขึ้นมาวันนี้ได้ จากสิ่งที่เขาสร้างไว้ให้ แล้วเราทำต่อ เราก็อยากให้เขาเห็นว่าน้องเติบโตแล้วจริงๆ