จะเป็นอย่างไร หากเรามีแฟน แต่ไม่ได้พบหน้าแฟนเป็นเดือน ไม่สามารถส่งข้อความหา ไม่สามารถวิดีโอคอล หรือไปเที่ยวด้วยกันได้ เพราะแฟนของเราถูกพรากอิสรภาพ และไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แม้ว่ายังไม่ถูกติดสินความผิด
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคู่รักนักกิจกรรม ที่หลายๆ ครั้ง ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ถูกฝากขังไม่เป็นไปตามกระบวนการ เพียงแค่พวกเขาออกมาเรียกร้อง และแสดงความคิดเห็น
The MATTER มาพูดคุยกับแฟนสาวของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า อย่างไผ่ จตุภัทร์, เปา ปวริศ, ยาใจ ทรงพล และไดโน่ นวพล ขณะที่พวกเขาอยู่ในเรือนจำ ถึงความรักของพวกเขาในฐานะนักกิจกรรม ที่ทั้งรัก และเคลื่อนไหวไปด้วยกัน รวมถึงสิ่งที่รัฐไม่อาจพรากไปจากพวกเขา แม้จะพรากอิสรภาพไปด้วย
ต๋ง แฟนของยาใจ ทรงพล สนธิรักษ์
ต๋ง และยาใจ ทะลุฟ้า ต่างก็เป็นคู่รักนักกิจกรรม นักปราศรัย ที่เรามักเห็นอยู่คู่กันในขบวนของทะลุฟ้ามาตลอด ตัวผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์ของต๋ง ใน iLaw ถึงความรักของเธอกับยาใจ ซึ่งเล่าว่า ทั้งคู่เริ่มจากการเป็นคนรู้จักในขบวนเคลื่อนไหว ก่อนเลื่อนสถานะมาเป็นคนรู้ใจ ในเวลาต่อมา ซึ่งเหมือนคู่รักคนอื่นๆ ที่ทุกคนต่างก็บอกว่า พอเป็นความรักของนักกิจกรรมแล้ว พวกเขาแทบไม่มีเวลาสวีท กระหนุงกระหนิง หรือไปเดทกันสองต่อสอง เพราะใช้ชีวิตรวมหมู่ในบ้านนักกิจกรรม รวมถึงทำงานเคลื่อนไหวตลอดกับเพื่อนๆ แต่ถึงอย่างนั้น ต๋งก็พูดถึงความสัมพันธ์ของเธอกับยาใจให้เราฟังว่า “เขาคือทุกอย่างจริงๆ หมายถึงว่าในรูปแบบแฟนเขาซัพพอร์ต และคอยโอบอุ้มความรู้สึกเรา”
ต๋งบอกกับเราว่า เธอไม่เคยมีแฟนเป็นนักกิจกรรมมาก่อน การต้องมีความสัมพันธ์ ไปพร้อมกับการทำงานร่วมกัน ทำให้จัดการ และบาล๊านซ์ยากมากๆ “มันจะมีมิติของความรู้สึกหลายๆ อย่างที่แบบ ‘เอ๊ะ! ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ๆ นะ? พอมันมีคำว่า ส่วนรวมมาเกี่ยวข้อง ก็เป็นอารมณ์ตอนแรกที่เราก็ไม่เข้าใจเขานะ แบบทำไมถึงไม่มีเวลาส่วนตัวอยู่ด้วยกัน ทำไมถึงแบบว่าไปไหนมาไหนด้วยกันไม่ได้ ต้องแบบว่าอยู่กับขบวนตลอด แต่พอเราเข้าใจมุมของเขามากขึ้น เข้าใจมุมมองภาพใหญ่ที่ต้องคิดถึงภาพรวมมากยิ่งขึ้น เราก็พยายามปรับว่า โอเคเราสามารถอยู่ด้วยกันได้นะ ในพื้นที่ที่อยู่รวมกันกับเพื่อนทั้งหมด เราสามารถ control ได้แล้ว”
ซึ่งเมื่อมีแฟนที่อุดมการณ์เดียวกันแล้วเคลื่อนไหวไปด้วยกันแล้ว ต๋งก็บอกกับเราว่า ความสัมพันธ์ของเธอและยาใจ เป็นรูปแบบการสนับสนุนกันมากๆ รวมถึงทั้งคู่เองเนื่องจากเป็นแนวหน้า ก็มีการพูดคุยถึงความเสี่ยงในการโดยคดีไว้บ้าง แต่เธอก็บอกเราว่า แต่พอมันเกิดขึ้นจริงๆ มันมากกว่าที่คิดไว้เยอะ “เคยมีคนถามเราว่า ‘ทำไมลุยขนาดนี้ อยู่แนวหน้าขนาดนี้ ทำไมถึงไม่เลือกแฟนที่เค้าใช้ชีวิตปกติ เพื่อที่จะถ่วงดุลในชีวิต?’ แต่สำหรับเราต้องการคนที่ support กันในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว จะเป็นด้านอุดมการณ์ เราต้องการคนที่เข้าใจ สนับสนุน แล้วก็เดินไปกับเราในเส้นทางเดียวกับเราได้”
“ตอนแรกมันเป็นการคุยเล่นๆ ว่า สมมติโดนจับไรจะเอาไงดีวะ? ก็จะมีการหยอกล้อกันว่า ‘เค้านี่แหละจะเป็นคนพาเธอออกมาเอง’ เรามาอยู่ตรงนี้ เราประเมินความเสี่ยงไว้อยู่แล้วว่า วันหนึ่งเราอาจจะโดนแหละ ประเมินความรู้สึกว่ามันจะประมาณไหน แต่พอวันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาจริงๆ มันเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้าง ‘ล้น’ ไปจากที่เราคิดไว้เยอะมากๆ เนื่องด้วยเวลาแฟนเราโดนจับไป มันจะมีความรู้สึกมากกว่าเวลาเพื่อนโดนจับ คือ เราโกรธในฐานะที่คนร่วมอุดมการณ์ ร่วมขบวนเราถูกจับไป แต่ว่ามันก็มีอีกมิติของความรู้สึก คือ ‘ความรู้สึกของคนรัก’ มันมีความโกรธแค้น มีความอะไรต่อกระบวนการยุติธรรมมาอีกมิติหนึ่งเลยอะ
“จริงๆ ก็เคยคุยกันไว้แหละค่ะว่าจะประมาณไหน แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็แย่กันทั้งคู่ พอถึงสถานการณ์จริงมันแย่กว่าที่ประเมินไว้มากๆ แต่ก็จะพูดกันไว้เสมอว่า “ถ้าสมมติว่าเราหรือเธอเข้าไป มันจะต้องไปต่อนะ มันจะต้องไม่มีการมาหยุด หรือว่าความรู้สึกที่มีต่อกันมันจะต้องไม่มาเป็นปัญหากับตรงนี้ เราต้องไปต่อเพื่อที่จะให้ขบวนมันไปต่อได้”
ต่างจากคนอื่นๆ ที่แฟนหนุ่มเป็นฝ่ายโดนจับ สำหรับต๋ง เธอเองเคยเป็นฝ่ายที่ต้องเข้าไปในเรือนจำ ขณะที่ยาใจเอง เป็นฝ่ายที่อยู่ข้างนอกเช่นกัน ซึ่งต๋งก็ได้เล่าในมุมประสบการณ์ของคนที่อยู่ข้างในให้เราฟังด้วย
“19 วันในนั้น มันคิดถึงเขามากๆ อันนี้ขอพูดนอกเหนือจากมุมที่เราโกรธแค้นกับกระบวนการยุติธรรม เราคิดถึงเขาซะจนแบบเราไม่รู้ว่าเราต้องทำอย่างไรอะ? มันมีทางสื่อสารทางเดียวคือสื่อสารผ่านทนาย ซึ่งก็มีเหตุการณ์ที่เขาต้องการที่จะมาหาเรา มาถึงข้างหน้าทัณฑสถานแล้ว แต่ว่าเข้าไม่ได้เพราะไม่มีใบแต่งทนาย และเรือนจำอ้างเรื่อง COVID-19 ก็เข้าไม่ได้ แล้วพอเราได้ออกมาแล้ว เราไปไล่ดูข้อความที่เขาส่งหาเราในระหว่างที่เราหายไป 19 วัน คือสภาพเขามันแย่มาก ในวันที่เขาไปถึงข้างหน้าทัณฑสถานแล้ว มันกั้นกันแค่นิดเดียว แต่ไม่สามารถคุยกันได้ มันเป็นความเจ็บปวดเหมือนกันนะ พอรอบนี้มันเป็นเราเองที่อยู่ข้างนอก แล้วมันไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ มันเป็นอะไรที่เจ็บปวดเหมือนกัน แต่ยังดีที่ว่ามีทนาย เราก็พยายามส่งข้อความ”
“แล้วนอกเหนือจากส่งข้อความติดต่อหากัน ก็จะมีการซัพพอร์ตกันในด้านของครอบครัวของแต่ละฝ่ายด้วย อย่างแม่เรา ตอนแรกที่เราโดนจับไป เขาก็ไม่เข้าใจ เขามีความเป็นห่วง ก็ได้ยาใจ ได้เพื่อนๆ ในขบวนฯ ร่วมกันดูแล ซัพพอร์ต เยียวยาความรู้สึกแม่ข้างนอก ในมิติของครอบครัว จนตอนนี้แม่ก็เข้าใจแล้ว ส่วนเราเอง ตอนนี้ที่ยาใจโดน เราก็ต้องไปคุย อัปเดตกับครอบครัวเขาเหมือนกัน ทำให้เราเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างเขา และครอบครัวที่มันไม่สามารถติดต่อกันได้เลย”
สิ่งนึงที่ยาใจทำตลอด ระหว่างที่เธออยู่ในเรือนจำ คือการส่งข้อความหาทุกวัน ซึ่งต๋งเองก็บอกกับเราว่า ตอนนี้ เธอเองก็แชทหาเขาเหมือนกัน “เรารู้สึกว่า โอเคถึงเราส่งไปคุณไม่เห็นหรอก แต่วันหนึ่งที่คุณออกมาอะ คุณจะได้รับรู้เรื่องราวในระหว่างเวลาที่เขาหายไป คือเวลาในนั้น มันเหมือนกับเราหายไปจากโลกนี้เลย เหมือนขาดการรับรู้ การติดต่อ การอัปเดต เราเหมือนอยู่อีกโลกไปเลยอะ ตอนนั้นเราติด 19 วัน เขาก็ส่งข้อความมาทุกวัน เราก็ไล่ดูว่า 19 วันนี้ คนๆ นี้เขารู้สึกอย่างไรบ้างกับเรา ตอนนี้เราเองก็ทำอย่างนั้น อัปเดต และต้องการทำให้เราเขารู้ว่า ช่วงเวลาที่หายไป เราจะทดแทนให้คุณเอง ด้วยการแบบส่งข้อความ หรือมีข่าวอัปเดตอะไรเราก็จะส่งเป็นรายวันให้เขา เพื่อที่จะเขาออกมาเขาจะได้ไล่อ่านตามทัน”
ต่างจากคนอื่นๆ ต๋งกับยาใจ กลายเป็นคู่รักที่สลับกันติดอยู่ข้างใน ซึ่งเรื่องนี้เธอบอกกับเราว่า มันเลือกไม่ได้ “เรามองว่ามันเป็นเรื่องกระบวนการมากกว่า แต่ของเรามันดันแจ็กพอตที่แบบเรากับเขาดันแบบอยู่ในตำแหน่งเดียวกันที่มันค่อนข้างจะเสี่ยงในการโดน ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย การโดนหมายจับ หรือการโดนพรากอิสรภาพ แต่ก็เราเลือกไม่ได้ เรารู้สึกว่านี่แหละมันคือสิ่งที่เราต้องทำ ส่วนเรื่องที่ผลกระทบหลังจากนั้นมันนอกเหนือจากสิ่งที่เราควบคุมได้แล้ว เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม มันเป็นเรื่องของคนอื่นที่ไม่ใช่เราแล้ว แต่ในเมื่อมันมีกรอบมีอะไรมาแบบนี้ เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ แล้วก็สนับสนุนกันแทน”
สิ่งที่ต๋ง และยาใจกำลังทำ และเคลื่อนไหว คือการเรียกร้องสังคม และการเมืองที่ดีขึ้น เราจึงถามเธอปิดท้ายว่า ถ้าการเมืองดี ความรักของเธอจะดีอย่างไรบ้าง ?
“ถ้าการเมืองดี เราจะไม่มีแฟนเป็นนักกิจกรรมด้วยกัน” เธอตอบ “ถ้าการเมืองดี เราจะได้ใช้ชีวิตกันแบบปกติ เราจะไม่ต้องมา มามัวกรองว่า “เอ๊ะ! ผู้ชายคนนี้เป็น ignorance หรือเปล่า? เป็นสลิ่มหรือเปล่า?” อย่างเมื่อก่อนเราเคยโดนนะ ก่อนที่จะเจอกับเขา เราโสดมาหนึ่งปีเลย ไม่ได้มีใคร แล้วเราก็คุยกับคนอื่นที่เขาไม่ได้สนใจด้านการเมืองขนาดนี้ แต่พอไปฟังทัศนคติเขา เขากลับบอกว่าเราหัวรุนแรง มันมีผลมากเลยนะกับพอการเมืองที่มันเป็นแบบนี้ แล้วเราต้องการที่จะเรียกร้องแบบนี้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งนั่นแหละ ที่จะเรียกว่าไม่ได้สนใจการเมืองก็ได้ เขาก็จะมองเราว่าหัวรุนแรง ไม่ใช่คนปกติแบบเขา
ซึ่งเราจะบอกว่า ‘เฮ้ยมันไม่ใช่นะ! ถ้าการเมืองดีอะ เราก็จะเป็นคนเหมือนพวกคุณนั่นแหละ ที่มี passion ในชีวิตแค่การทำตามความฝันหรือทำแบบอะไรอื่นๆ” แต่พอเรารับรู้ตรงนี้แล้วอะ เราจะนิ่งเฉยไม่ได้ไง เราก็เลยต้องยอมทิ้งแบบชีวิตปกติ เพื่อที่จะมาอยู่ตรงนี้ แล้วก็แบบได้เจอแฟนที่ได้ซัพออร์ตกันแบบนี้ มันก็ไปด้วยกัน เราก็เลยมองว่าเป็นข้อดีสำหรับเรา ว่าอย่างน้อยมีคนที่เข้าใจในทุกมิติทุกความคิดของเรา
แต่ไม่ใช่กับแค่เธอ และแฟน ที่ความรักจะดีขึ้นถ้าการเมืองดี ต๋องยังบอกว่าแน่นอนว่า ถ้าการเมืองดี ทั้งคนมีคู่ และคนโสด ต่างก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อความสัมพันธ์
“เอาง่ายๆ เลย ทุกวันนี้ รอบตัวเราคนโสดเยอะมาก เพราะว่าคำว่าการเมืองมันครอบรวมกับทุกอย่าง รวมไปถึงแบบค่าครองชีพ เมื่อก่อนเราเป็นนะ ถ้าอยากไปเดต เดตครั้งนึงมันใช้เงินเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง กินข้าว หรืออะไร ซึ่งมันไม่ค่อยที่จะสอดคล้องกับค่าครองชีพเท่าไร เราเลยรู้สึกว่าถ้าการเมืองดี คนเรามันน่าจะได้มีเวลา ไม่ต้องมาเครียดในเรื่องอื่นๆ น่าจะได้มีเวลาที่ไปใช้ ไปทำตามความฝัน ได้มีเวลาไปออกไปตามหาความหมายของชีวิต ได้มีเวลาออกไปเจอผู้คนใหม่ๆ เพื่อที่จะสานสัมพันธ์กันต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่แบบในรูปแบบแฟนหรือความรัก
แต่พอการเมืองมันเป็นแบบนี้มันบีบให้คนอยู่กับคำที่ว่า กูจะทำอย่างไรให้ชีวิตดีขึ้น หรือจะแบบจะอยู่ได้อย่างไรในประเทศที่มันมีรัฐสวัสดิในประเทศที่มัน ‘ห่วย’ แบบนี้ อันนี้เรามองว่าโคตรที่จะเกี่ยวเลย”
หนุงหนิง แฟนของไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
ในรอบปี หรือ 365 วันที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 ที่ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาต้องเข้าเรือนจำ โดยรอบนี้ ก็มากกว่า 2 เดือนแล้ว ที่ไผ่ และคนรักต้องจากกัน หนุงหนิง แฟนสาวของไผ่ เล่าให้เราฟังว่า เธอเป็นรุ่นน้องที่คณะของไผ่ คือ คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น และคบกับเขามาได้ประมาณ 2 ปีกว่าๆ แล้ว
หลังออกมาจากเรือนจำ หลังถูกคดี ม.112 เมื่อปี 2562 ไผ่ก็ยังคงเดินสายทำกิจกรรมกับชาวบ้านต่างๆ ซึ่งหนุงหนิงก็บอกว่า ความรักของเธอและเขาก็ไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัวเหมือนคู่อื่นๆ ที่ได้ไปเที่ยว กินข้าว หรือดูหนังสองคน จะเป็นโอกาสที่หายากมาก “ตอนแรกอะมันไม่ได้เป็นอย่างนี้ เพราะว่าตอนนั้นที่เริ่มคบกับพี่ไผ่ พี่ไผ่ยังไม่ได้มาทำงานขบวนเต็มตัวขนาดนี้ ก็อาจจะมีบ้างที่เป็นชีวิตปกติ เขามารับตอนเลิกเรียน ไปกินข้าวเย็นกัน แต่ว่าหลังๆ มาพอเริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวเต็มตัว มันก็อยู่เป็นชีวิตรวมหมู่ค่ะ พอเราอยู่กันหลายๆ คน เวลาจะกินข้าวเราก็ต้องกินพร้อม เพราะว่ามันจะได้ไม่เกิดการแบ่งแยก สมมติถ้าคู่เราไปกินกันสองคน อ้าวคนอื่นที่เขาไม่มีคู่อะไรอย่างเงี้ย เออ เขาก็จะไม่มีเพื่อนกินข้าวอะไรเงี้ย เราก็ต้องอยู่ด้วยกัน” ซึ่งเธอบอกว่า เรียกได้ว่าชีวิตรักของเธอ กับหนุ่มนักกิจกรรมนี้ ค่อนข้างเสียสละเพื่ออุดมการณ์เยอะเหมือนกัน
ทั้งเธอยังเล่าบรรยากาศของการเคลื่อนไหว ร่วมกับแฟนว่า “อย่างหนึ่งเลยก็คือ ‘เวลาทำงานก็คืองาน ไม่มีคำว่าแฟน’ ก็คือแบบฉะกันไป ฉะกันมา อันนี้คือเราก็ต้องรับให้ได้ อะไรเงี้ย แล้วแบบอีกอย่างหนึ่งก็คือเวลาทำงานคือเราจะไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกันอะ งานก็คืองาน ใครทำหน้าที่ของใครของมัน แล้วก็พอกลับมามีเวลาส่วนตัวแบบก่อนนอนไรอย่างเงี้ย เราก็ค่อยกลับมาเป็นโหมดแฟน”
ไผ่เอง เป็นเหมือนแนวหน้า และแกนนำของน้องๆ มาโดยตลอด หนุงหนิงก็บอกว่าไผ่ก็มีการพูดกับเธอ ถึงการเตรียมใจในความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลต่อความรัก
“พี่ไผ่อะบอกเอาไว้แล้วว่า ตั้งแต่แรกๆ ที่โดนคดีแรกเลย แกก็บอกว่า ‘เนี่ยแหละ เป็นแฟนเค้ามันก็ต้องใจกว้างนิดหนึ่ง’ จริงๆ พี่ไผ่ก็เริ่มที่จะบอกให้เราเตรียมใจไว้นานแล้ว แต่ว่าเราไม่ค่อยรู้ตัว แกก็จะบอกว่า ‘เป็นแฟนเค้ามันยากนะเธอ’ หรือ ‘รับได้ไหม นี่แหละชีวิตเค้าเป็นอย่างนี้’” หนุงหนิงเล่า
“ตอนแรกๆ อะที่เรายังคบกันไม่นานเนอะ เขาก็จะนำเสนอชีวิตตัวเองให้เรารู้ พาเราไปโน่นไปนี่ไปลงพื้นทำกิจกรรมจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ เราก็ไปบ้าง ไม่ไปบ้าง แต่หลังๆ มา พี่ไผ่ก็เริ่มมีคดีเยอะมากขึ้น อย่างรอบนี้ก็ติดคุก สำหรับเราก็ยากเหมือนกันค่ะ กว่าที่จะผ่านมันไปได้ คือมันไม่ได้ว่าเป็นแพลนหรอก แต่ว่าเขาก็เริ่มบอกให้เราเตรียมใจไว้”
สำหรับคดีแรก ในระลอกการเคลื่อนไหวใหม่นี้ ที่ไผ่ติดอยู่ในเรือนจำ คือม็อบ 13 ตุลาคม เธอเล่าว่า วันนั้นเธอและทีมเดินทางมาด้วยรถบัสหลายคันจากขอนแก่น เพื่อมาจัดม็อบ ขณะที่ตัวไผ่รออยู่กรุงเทพฯ มาถึงก็จอดรถหน้าแมคโดนัลด์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบงงๆ โดยไม่ได้เตรียมใจอะไร แต่ขณะที่ไผ่กำลังตั้งเวทีปราศรัย ก็เกิดการสลายการชุมนุม และไผ่ เป็นหนึ่งคนที่ถูกอุ้มไปจากเวทีตรงนั้น
หนุงหนิงเล่าว่าตกใจมาก ที่เห็นแฟนหนุ่มถูกอุ้มไป โดยที่ไม่สามารถช่วยได้ “เรารู้สึกแย่มากๆ เลย เพราะว่าเราช่วยอะไรเขาไม่ได้ คืออย่างที่บอกว่าเขาโดนลากไปต่อหน้าต่อตา เราอยู่ล่างเวที เราพยายามจะดึงขาตำรวจ พยายามจะทุบขา คนที่ปีนพยายามจะเอาตัวพี่ไผ่ลงมา แต่เราไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย แล้วเขาถูกอุ้มไปเร็วมาก อยู่ดีๆ พี่ไผ่ก็หายตัวไปแล้วในดง คฝ. วันนั้นเรากลับมาแบบเคว้ง และว่างเปล่า ซึ่งตอนนั้นพี่ไผ่ติดไปประมาณ 12-13 วันเองมั้งคะ แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันนานมาก นานแบบ ‘ไอ้เหี้ย!! นานแบบฉิบหาย’”
จากครั้งแรก ก็มีครั้งที่ 2 และ 3 ซึ่งเราก็พูดคุยกับเธอว่า ความสัมพันธ์ของเธอกับแฟนหนุ่ม เป็นยิ่งกว่า Long-distance relationship ไปแล้ว และในความสัมพันธ์แบบนี้เธอเห็นอะไรบ้าง ?
“เห็นอย่างหนึ่งในตัวเองเลยคือ เราเริ่มจัดการความรู้สึกได้” หนุงหนิงตอบ “แบบเวลาช่วงแรกๆ เราจะคิดถึงมาก ร้องไห้ทุกวันเลยก็ว่าได้ แบบเศร้าซึม ก็อย่างที่ทุกคนน่าจะรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรเวลาห่างกับแฟน แต่ว่าพอมารอบนี้ จริงๆ เราไม่ได้เตรียมใจไว้หรอกว่าวันนั้นพี่ไผ่จะติด เพราะว่ามันเป็นแค่คดีที่สาดสีหน้าทุ่ สน.ทุ่งสองห้อง แต่ก็พบว่าพี่ไผ่ไม่ได้ประกันตัว แล้วก็ร้องไห้ร้องไห้เพราะว่าเราโกรธรัฐ ร้องไห้แค่ไม่ถึงนาที แล้วก็หลังจากนั้นก็เริ่มทำตัวได้ปกติ ก็พยายามอยู่กับเพื่อนมากขึ้น คิดว่าจัดการความรู้สึกตัวเองได้เวลาคิดถึง”
“เวลาคิดถึงเราก็พยายามเขียนไดอารี มันก็จะเป็นการระบายความรู้สึกได้เป็นอย่างดี แล้วก็ไม่เศร้าไม่ซึมเหมือนเดิม”
แต่ถึงแม้ว่าตัวเธอจะจัดการกับความรู้สึกได้มากขึ้น แต่ก็ยังรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมที่แฟนหนุ่มเธอได้รับ “เอาจริงๆ ตอนแรกคือเราไม่ได้รู้ซึ้งถึงความอยุติธรรมขนาดนั้น จนพี่ไผ่โดนจับไปแล้วไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เราก็ยิ่งโกรธมากขึ้น บางทีเราก็โกรธจนร้องไห้ ไม่รู้ร้องไห้เพราะโกรธหรือเพราะคิดถึง มันปนๆ กันไป แล้วเราก็ใช้ความโกรธ ความคิดถึงแฟนที่รัฐพรากไปเก็บความโกรธนั้นมาเป็นแรงในการเคลื่อนไหว จริงๆ พี่ไผ่ก็ติดอยู่นาน มันก็มีท้อ มีเหนื่อย เพราะเวลาทำม็อบมันก็เหนื่อยนะ แต่เราก็ใช้สิ่งนี้แหละมาเป็นแรงผลักดันตัวเองในการที่จะทำม็อบต่อไปเรื่อยๆ”
มิ้น แฟนของเปา ปวริศ แย้มยิ่ง
‘นักปฏิวัติ’ นี่คือสิ่งที่มิ้น และเปา ทะลุฟ้า ชอบแทนตัวเองบ่อยๆ ขณะทำงานเคลื่อนไหว ทำให้เราตั้งชื่อให้คู่นี้เองว่า ‘คู่รักนักปฏิวัติ’ ซึ่งด้วยอุดมการณ์ และการเคลื่อนไหว ทำให้เธอ และแฟนหนุ่ม ได้เจอ และรู้จักกันในขบวนการประชาธิปไตย
“ถ้าพูดตรงๆ เนอะ เราเจอเขาในขบวนการประชาธิปไตย ก็เจอจากการที่ทำความรู้จัก หรือว่าร่วมสร้างขบวนการหนึ่งขึ้นมาด้วยกัน เราก็ตกหลุมรักหรือว่ารู้จักเขาในตอนนั้น แต่ว่าพอตกหลุมรักแล้ว มันก็ไม่ใช่ว่าเราจะตัดสินใจหรือปลงใจกันเลย เราก็ต่างออกไปทำงานของใครของมัน จนถึงพอเวลาวันหนึ่งเราโคจรมาเจอกัน แล้วก็พูดคุยกันอีกครั้ง เรารู้สึกว่ามันคลิ๊ก จึงร่วมที่จะทั้งรักแล้วก็ปฏิวัติไปด้วย”
มิ้นเล่าว่า แม้การเมืองจะแย่ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เธอได้พบกับเปา คนที่มองเห็นสังคมไทยที่มีแต่ความอยุติธรรม ทำให้มองเห็นผู้ชายคนหนึ่งที่มองเห็นชีวิตของประชาชน มากกว่าที่จะมุ่งหาการทำงานเพื่อความสุขของตัวเองหรือเพื่อครอบครัวของตัวเอง มองเห็นภาพรวม และคาดหวังที่จะมีรัฐสวัสดิการให้กับทุกคน
แน่นอนว่า ก็เหมือนคู่อื่นๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เธอบอกว่า ต้องแบ่งเวลาทางความรัก มาให้งานกิจกรรมทางการเมือง โดยเธอแบ่งสัดส่วนไว้ว่า ความรักของเธอ และแฟนหนุ่มคือ 30% แต่ว่าอีก 70% ให้กับขบวนการประชาธิปไตยไปหมดแล้ว
อาจจะมองได้ว่าความรักของนักกิจกรรม ก็เหมือนความรักในที่ทำงาน ซึ่งมิ้นก็บอกว่า เวลาอยู่ในวงประชุม หรือวงการทำงาน เรื่องรักจะไม่เกี่ยวข้องเลย เพราะการตัดสินใจควรจะเป็นแค่คนเดียว ไม่ใช่ว่าต้องหารรวมเป็นสองคน และถ้าเป็นเรื่องของการทำงาน เธอแบ่งแยกได้ว่านี่งานนะ ส่วนเวลาที่เหลือนิดหน่อยก็คือเรื่องรักไปเลย โดยเธอมองว่า จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ในการทำงานนั้น ก็เป็นเรื่องยากพอสมควร “แต่ว่าในเมื่อเรามีความรักแล้ว เราเลือกตัดสินใจที่จะรัก เราก็ควรที่จะทำงานไปพร้อมกับการรักใครคนหนึ่งไปพร้อมกันได้” เธอบอก พร้อมเสริมว่า ก็เป็นการทำงานที่ได้ให้กำลังใจกันและกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรักก็มีเรื่องขัดแย้งกันบ้างในบางครั้งบางคราว
“มันมีทั้งข้อดีและข้อเสียไปด้วย แต่ว่าเรารู้สึกว่าถ้าเราตั้งใจที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ เราต้องมองถึงความรักของคนสองคนให้น้อยลง แล้วก็เลือกที่จะมองขบวนการ การเคลื่อนไหว การต่อสู้ให้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ที่เรารักกัน เราก็พยายามทำแบบนี้อยู่ มันไม่ไดสำเร็จทั้งหมด แต่เราก็พยายามทำไปพร้อมๆ กันอยู่”
เธอเล่าว่า ทั้งเธอ และเปา มีพ่อแม่ มีครอบครัวที่เข้าอกเข้าใจแล้วก็ภูมิใจในการทำงานตรงนี้ของพวกเธอเสมอ ซึ่งรอบนี้ เป็นรอบที่ 2 ที่เปาต้องเข้าเรือนจำ โดยสำหรับความรักของนักปฏิวัติคู่นี้ ก็ได้คุยกันว่า “ยึดมั่นตลอดว่าไม่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะติดคุก เราก็ต้องทำงาน คนข้างนอกก็ต้องทำงานแบบยึดมั่นในหลักการของเราต่อไปว่าไม่ว่าจะสูญเสียใคร คือยืนยันให้รัฐเห็นว่า ต่อให้จะจับใครไปอะ กูก็ยังทำได้เหมือนเดิม เราก็ยังทำได้เหมือนเดิม”
แต่ถึงอย่างนั้น แม้จะยึดมั่น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เจ็บปวดเลยเธอบอก “ถ้าในสถานะแฟนเราก็รู้สึกเจ็บปวดที่เราถูกพรากคนรักไปจากเรา แทนที่เราจะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน และในขณะหนึ่งเราก็เจ็บปวดในกระบวนการยุติธรรมด้วย ที่มันไม่มีความยุติธรรมให้กับเรา และคนรักของเราเลย แต่ว่าเราเลือกมาทำงานปฏิวัติ สิ่งที่เราต้องเข้มแข็งกว่าคนรักคนทั่วไป คือมุ่งมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ต่อให้ไม่ใช่แค่แฟน แต่ถ้าเพื่อนถูกจับไป เราก็ต้องยึดว่า คนข้างนอกก็จะสู้ต่อ ไปพร้อมๆ คนข้างใน จนกว่าที่เราจะรอวันหนึ่งที่เราจะได้ออกมาต่อสู้ร่วมกัน”
“แต่บางครั้ง ในเวลาที่เราทำงานขบวน เราก็แอบไปร้องไห้เวลาที่เราคิดถึงเขามากๆ หรือเวลาที่อ่านข้อความจากพี่ทนาย เพราะว่าเราไม่เจอกันเลย ไม่แม้แต่จะได้เห็นหน้า บางครั้งเราก็ไปแอบร้องไห้ เพราะว่าเรากลัวน้องจะได้เห็นสิ่งที่เราเสียใจ เพราะว่ากลัวว่ามันจะเสียขวัญกำลังใจกันไปหมด แต่ในความจริงเวลาที่เราไปแอบร้องไห้ จริงๆ มันก็มีคนที่ห่วงใยเราอยู่ข้างหลัง เขาก็รู้นะว่าเราร้องไห้ ความจริงแล้วมันก็เสียขวัญ แต่เขาเป็นแบบมาปลอบ เพื่อนๆ เรามาปลอบใจเราด้วยซ้ำ พอเราเห็นแบบเนี่ยเราก็เลือกที่จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ”
“พูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่รัฐไทยหรือเผด็จการกระทำแบบนี้กับเราและก็คนรักเรา ไม่สามารถที่จะทำให้เราหมดกำลังใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อะ เพราะว่ามันทำให้เรามีแรงฮึดสู้ต่อมากด้วยซ้ำ มีแรงที่จะทำให้ขบวนการนี้ชนะด้วยซ้ำ”
เธอเล่าให้ฟังอีกว่า เธอเป็นคนชอบเขียน ดังนั้นเวลาเธอคิดถึงแฟนหนุ่มมากๆ เธอเลือกที่จะสื่อสารด้วยการเขียนหนังสือ หรือเขียนงานลงสู่สาธารณะ “เพราะว่าเราทำงานตรงนี้เราเขียนข้อมูลสู่สาธารณะมากกว่าที่จะเขียนถึงคนรักด้วยซ้ำ เราเลยรู้สึกว่าเราเข้มแข็งนะ แต่ว่ามันเป็นบางวันเท่านั้นที่เราจะเขียนถึงเขาเพราะว่ามันก็ยืนยันว่า เออ เราคิดถึงอยู่
เรารู้สึกว่าถ้าเราจะมัวแต่คิดถึงในตรงนั้น มันจะไม่มีแรงในการทำอะไรเลย เราก็เลยเออ! อย่างน้อยเราก็ได้ทำงานนะ ได้ทำให้เขาได้ภูมิใจ หรือว่าทำให้เราได้ภูมิใจในตัวเองแล้วก็ในตัวเขาเหมือนกัน เราไม่อยากบอกว่าเราเสียสละ แต่ว่าพอเรารู้จักกัน เราได้เห็นสังคมไทยที่มันบัดซบ สังคมไทยที่มันไม่ก้าวหน้าไปไหน เราก็คงจะเลือกที่จะตัดสินใจไปใช้ชีวิตสองคนก็ไม่ได้อะ ถึงแม้เราจะทำงานหนัก แล้วก็คนรักคนใดคนหนึ่งอาจจะถูกพรากอิสรภาพไป เราก็ยังสู้ต่อ”
ขณะที่เปาเองก็จะฝากข้อความผ่านทางทนายมาให้แฟนสาว “เรารู้สึกว่าบางครั้งข้อความที่ส่งมาถึงเรามันน้อยมาก แต่เรารู้สึกเขาก็คิดถึง บางครั้งเขาก็ส่งข้อความมาหาว่า ‘ขอโทษนะที่บางทีไม่ได้เขียนถึง เพราะว่าการคิดถึงเรามันก็ทำให้เขาเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย’ เราก็รู้สึกว่า เราเข้าใจ”
มิ้นคุยกับเรา ถึงความฝัน และความหวังหากเธอ และขบวนการเคลื่อนไหวสำเร็จ ประเทศมีประชาธิปไตย และสังคมที่ดีขึ้นว่า เธอไม่อยากมองความรักแค่ของเธอกับเปา แต่อยากเห็นความรักของเพื่อนๆ นักกิจกรรมคนอื่นๆ สร้างครอบครัวไปด้วยกัน อาจจะอยู่เป็นเพื่อนบ้านร่วมกัน อยากใช้ชีวิตแบบนั้น รวมไปถึงว่า ถ้าหากการเมืองดี จะไม่ใช่แค่ความรักของเธอและเพื่อนๆ นักกิจกรรมที่ดี เธอมองว่า คนในสังคมที่มีรัฐสวัสดิการ ก็จะมีทั้งเวลา และเงินให้คนได้ไปใช้กับความรักด้วย
“เราก็รู้สึกว่ามันจะดีขึ้นนะถ้าสมมติว่าคนเรามีรัฐสวัสดิการ แล้วก็คนหนุ่มสาวหลังจากทำงานเสร็จ ก็คงมีเงินที่พอจะไปเดต มีเวลาไปดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวกันเพื่อจะทำความรู้จักกันอะไรอย่างเงี้ย แต่พอสังคมไทยที่เป็นแบบนี้มันก็ยากเนอะที่เราจะได้ไปศึกษาเรียนรู้กัน บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าผู้ชายคนนั้นหรือผู้หญิงคนนั้นจะมาหลอกเราหรือเปล่า เพราะว่าสภาพเศรษฐกิจสังคมแบบนี้เราก็ไม่อยากเอาตัวเองไปเสี่ยงกับความรักด้วย
จริงๆ ถ้าการเมืองดี เราก็อาจจะมีคู่รักหรืออาจจะเป็นเมืองโรแมนติกส์ด้วยซ้ำ เพราะว่าเรามองเห็นทรัพยากรในประเทศไทยมีอะไรมากมหาศาลเลย มีคนที่มีความคิดที่พัฒนา แต่ติดตรงที่ว่าเราไม่มีรัฐสวัสดิการ ไม่มีทรัพยากรที่จะมาซัพพอร์ตตรงนี้ได้”
ป็อป แฟนของไดโน่ นวพล ต้นงาม
หากไม่มีการติดคุก หรือไดโน่ ได้รับการประกันตัวในวันนี้ ที่ศาลกำลังจะไต่สวน (3 พ.ย.2564) เขา และป็อปคงได้จัดงานแต่งงาน ที่วางแผน และตระเตรียมไว้ให้เกิดขึ้นในเดือนนี้ได้ แต่หากศาลไม่ให้ประกัน เขาก็คงจะโดนพรากอิสรภาพต่อไป และงานนั้นคงเป็นอันต้องเลื่อนไป
ก่อนหน้าที่ไดโน่จะต้องเข้าเรือนจำในรอบนี้เพียงไม่กี่วัน ผู้เขียนได้พูดคุยกับเขา และเขาเองก็มีโอกาสได้เล่าเรื่องความรักของเขา กับป็อปแฟนสาวให้ฟัง ซึ่งเขาบอกกับเราว่า เธอคือคนที่เขาแอบชอบตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ก่อนจะแยกย้ายโรงเรียนกันไป และมาพบเจอกันอีกครั้ง เมื่อเขามาเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้ป็อปเอง ก็ได้มาร่วมช่วยเคลื่อนไหว เป็นแนวหลังให้กับขบวนด้วย ซึ่งเธอก็บอกเช่นกันว่า เมื่อเป็นแฟนกับนักกิจกรรมแล้ว สิ่งที่ต่างจากความรักทั่วไป คือเรื่องของเวลา โดยเรื่องงานที่ทำอยู่มันก็ค่อยข้างสำคัญกว่าเวลาของตัวเอง
เธอเล่าอีกว่าก่อนหน้าที่ยังไม่เข้ามาทำขบวน ตัวเธออาจจะไม่ได้เข้าใจเรื่องความรัก และอุดมการณ์ที่ต้องไปพร้อมกัน แต่พอมาร่วมงานในขบวน ก็มีความเข้าใจไปเองว่ามันจะต้องไปในแนวทางไหน สังคมควรเป็นแบบไหน หรือเราควรจะทำอะไรในตอนนี้ ซึ่งหากทำงานในขบวนหรือการเคลื่อนไหว หน้างานตัวเธอ และไดโน่จะพยายามไม่ยุ่งกัน แต่จะเป็นการมองหากัน ห่วงใยกันในพาร์ทงานของตัวเองที่ทำมากกว่า ซึ่งตอนแรกไดโน่เองก็ไม่อยากให้ป็อปมาทำเท่าไหร่ เนื่องด้วยความเป็นห่วง
“ตอนแรกอย่างไดเขาไม่ได้อยากให้เข้ามาทำ แต่เราก็มารวมทำทีมเป็นเหมือนหมอพยาบาลข้างในก่อน แล้วสักพักหนึ่งเหมือนแบบทุกคนก็พยายามที่จะคิดคอนเทนต์มาอย่าง แล้วก็มีกิจกรรมที่เราคิดเอง มันก็เลยแบบได้ออกมาพูด แต่ว่าทีนี้เราก็พยายามอยู่เป็นแนวหลังๆ เหมือนกัน แต่ว่าก็มันจะมีวันที่ไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันนั้นก็โดนไปด้วยกัน หลังจากนั้นเขาก็เลยพยายามให้เราไปอยู่ห่างหน่อย เพราะว่าเขาก็กลัวเรามีปัญหาตามมา”
ป็อปเล่าว่าไดโน่เป็นคนที่ไม่ค่อยห่วงเรื่องการโดนคดี แต่จะเป็นเธอเองที่ค่อนข้างกังวลในหลายครั้ง และในวันนั้นก็ไม่ได้คาดการณ์ว่าจะไม่ได้ประกันตัวด้วย “จะเป็นป็อปเองที่ค่อนข้างกังวล บางทีที่เขาแบบไปรายงานตัวหรือบางวันที่แบบดูจะสุ่มเสี่ยงอะไร แต่ว่าตั้งแต่ช่วงคบกันแรกๆ ก็คือเตรียมใจมาเนิ่นๆ ทุกครั้งที่จะมีสถานการณ์อะไรแบบนี้ ก็อาจจะมีอัดคลิปวิดีโอตัวเขาเก็บไว้ดูบ้าง เหมือนเตรียมตัวยาวมาเรื่อยๆ จนแบบพักหลังๆ ก็คือเหมือนรู้ๆ ไปเอง จนแบบไม่ได้กังวลเหมือนเท่าตอนแรกๆ แต่พักหลัง พอมีเรื่องแต่งงานด้วยก็จะหนักกว่าที่คิดประมาณนึง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังรับได้อยู่”
“รู้สึกไม่ยุติธรรมแต่แรกแล้ว เพราะว่าโดนคดีมันก็ดูไม่น่าจะโดน และมันก็เป็นคดีย้อนหลัง เราก็ไม่ได้เตรียมใจ แล้วตัวไดเองก็ไม่ได้คิดว่าจะโดนด้วย วันนั้นเราก็ไปเลือกชุดแต่งงานกับแม่ที่รามคำแหงซึ่งมันก็ไกลมาก และเราแทบไม่ได้จับโทรศัพท์เลย เพราะว่าคิดว่ามันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ แล้วก็ไม่แฟร์มาเรื่อยๆ เพราะว่าตอนแรกก็จะได้ไต่สวนประกัน แล้วก็เรื่องโควิดในเรือนจำ ทำให้ต้องเลื่อน ซึ่งมันเป็นที่มันก็เป็นการจัดการของเขา แต่มันทำให้เราต้องโดนผลกระทบหนักไปด้วย ทั้งๆ ที่เขาจัดการเองไม่ได้” ซึ่งการไต่สวนประกันรอบนี้ ในวันนี้ (3 พ.ย.2564) ก็ถูกเลื่อนมาจากครั้งก่อน ที่ทางราชทัณฑ์อ้างเรื่องมีคนในเรือนจำติด COVID-19 จนไม่สามารถเบิกตัวมากได้
“เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ แล้วก็ไม่อยากให้เรื่องมันเงียบด้วย เออถ้ามันเงียบ มันก็เหมือนกับว่าจะปล่อยเขาไปเลย เหมือนเขาก็ยังสู้อยู่ข้างใน แต่ว่าเราก็ไม่อยากให้สถานการณ์ข้างนอกมันเงียบด้วย
เธอบอกว่า จริงๆ เธอกับไดโน่เอง ก็มีคาดการณ์ว่า แฟนหนุ่มอาจจะโดนจับก่อนแต่งงาน แต่ก็ไม่คิดว่าจะอยู่ในเรือนจำนานขนาดนี้ ทำให้ตอนนี้ เธอต้องเตรียมงานหลายๆ อย่างคนเดียวเลย “คนที่บ้านก็มีช่วยๆ อยู่บ้าง เพื่อนๆ เขาก็มาช่วย เพราะไดเขาบอกเพื่อนไว้ก่อนที่จะเข้าเรือนจำว่า ให้มาช่วยดูเรา ก็เลยค่อนข้างสะดวกหน่อยตรงที่บางอย่างมีคนที่พร้อมมาช่วย แต่ว่าก็มีเรื่องวันจัดงานที่กังวลกัน แต่ถ้าเวลาไปเยี่ยมต้น (อีกชื่อที่ป็อปเรียกไดโน่) ก็จะบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องวันที่ ยังพอเลื่อนได้บ้าง”
“เวลาเราคิดถึงเขา เราก็จะฟังเพลง กับดูวิดีโอ เพราะว่าชอบอัดสตอรี่ ก็จะมีอัดวิดีโอเขาค่อนข้างเยอะหน่อย เราก็เอามาเปิด ดูซ้ำ แล้วเขาชอบทำอะไรตลกๆ มันก็เลยไม่ได้ไปทางเศร้าเท่าไร ด้านเขาเองส่วนมากก็จะฝากทนายมาบอกว่าคิดถึง แล้วเขาก็ห่วงเรื่องเตรียมงานแต่งนี่แหละ”
สุดท้ายเราถามป็อปถึงสถานการณ์การเมือง ว่าถ้าการเมืองดี มันจะส่งผลให้ความรักของเธอ และไดโน่ดีขึ้นได้ยังๆ ซึ่งเธอก็บอกเราว่า ไดโน่โดนคดีเยอะมาก หากการเมืองดีจริง เขาก็คงไม่ต้องโดนคดีมากมายแบบนี้ ที่ส่งผล และเป็นอุปสรรคในชีวิตเขาทั้งคู่
“การเมืองมันถูกปลูกฝังไปถึงวัฒนธรรม ค่านิยมทุกๆ อย่าง จริงๆ บ้านป็อปก็อาจจะมีกำแพง อย่างคุณพ่อเนี่ยก็จะมีกำแพงกับไดโน่ เพราะว่าคุณพ่อไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับทางการเมืองเท่าไร เขายังมีความอีลีทบางอย่าง แกก็จะมองว่าทำไมจะต้องออกมาทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ หรือทำไมมีคดีเยอะจัง แต่ว่ามันเป็นด้วยความที่เขาไม่ได้ติดตามเรื่องม็อบ เขาก็จะมองว่าการที่มีคดี 20 กว่าคดี มันดูรุนแรงมาก เหมือนสังคมทั่วไปที่คนไม่รู้เรื่องอะไรเขาจะมองว่า ‘เฮ้ย! ทำไมมีตั้ง 20 คดี’ ‘ทำไมเขาเป็นคนหัวรุนแรงจัง’ อะไรอย่างนี้ ซึ่งถ้าการเมืองดี เราก็ไม่ต้องออกมาเรียกร้องอะไรแบบนี้ มันก็จะไม่มีคดีแค่ พรบ.ความสะอาด พรก.ฉุกเฉิน ที่เอามาเป็นคดี แบบเอามานับรวมกันได้”