18 กุมภาพันธ์ 2565 – วันที่ชื่อของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ กลับมาเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงอีกครั้งในสังคมไทย เขาคืออดีตตำรวจที่ต่อสู้อย่างหนักหน่วงในคดีค้ามนุษย์ และผลจากการต่อสู้นั้นบีบให้เขาต้องลี้ภัย
ปวีณเดินทางออกจากประเทศไทยมาตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และเฝ้ารอนาน 7 ปีกว่าจะได้สถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย จนถึงวันนี้ เขาคือชายวัย 65 ปี ที่ต้องทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อหาเลี้ยงชีพให้ตัวเอง
นี่คือราคาที่เขาต้องจ่าย เพื่อแลกกับการทำงานเพื่อความยุติธรรม อย่างที่ตำรวจทั่วไปควรจะเป็น
ในวาระที่ใกล้กับ ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อระลึกถึงผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศบ้านเกิด จากความขัดแย้งและการประหัตประหาร The MATTER ขอชวนมาอ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวราว 6,000 คำ ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้หาญกล้าที่ยืนหยัดสู้เพื่อความถูกต้อง
เนื่องจากบทสัมภาษณ์นี้ยาวมาก เราขอแบ่งออกเป็น 6 พาร์ท ได้แก่
- ความรู้สึกหลังเรื่องราวถูกเปิดโปง
- เริ่มต้นทำคดีค้ามนุษย์
- อันตรายคืบคลานเข้าถึงตัว
- แค่ (ถูกบังคับให้) ลาออกก็ยังไม่พอ สุดท้ายต้องลี้ภัย
- ชีวิตลี้ภัยของอดีตตำรวจ
- ความหวัง
1. ความรู้สึกหลังเรื่องราวถูกเปิดโปง
นับเป็นเวลาปีกว่าแล้วที่เรื่องราวของของปวีณถูกโรมนำมาอภิปราย คำถามแรกที่เราถามกับเขา จึงเป็นความรู้สึกที่ยังคงตกค้างมาอยู่จนทุกวันนี้
“ความรู้สึกของผมมันยิ่งใหญ่มาก มันเป็นเรื่องที่ไม่คิดเลยว่าจะมีวันนี้เกิดขึ้นมา ผมคิดว่า ชีวิตของผมคงจะเป็นบุคคลผู้หายสาบสูญ ไปจากสังคมไทยแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อคุณรังสิมันต์ โรมจากพรรคก้าวไกล ได้นำประเด็นนี้ไปอภิปรายในสภาอย่างละเอียด ทำให้พี่น้องประชาชนในประเทศ ได้รับทราบ รับรู้เรื่องราวต่างๆ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา (ในวันที่อภิปราย) ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์มาก”
ปวีณยังคงมองว่า แม้ตอนนี้จะผ่านมาเป็นปีแล้ว แต่ผู้คนจำนวนมากก็ยังให้ความสนใจในเรื่องของเขา โดยมีทั้งสื่อไทยและต่างประเทศติดต่อขอสัมภาษณ์มากมาย เช่น Sydney Morning Herald, SBS หรือ BBC รวมถึง สื่อออนไลน์หลายสำนักในไทยเอง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตัวเขาไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่
เราคาดว่า การต้องลี้ภัยไปต่างแดน คงทำให้เกิดความรู้สึกกังวล หวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องราวที่ถูกเผยแพร่นี้ อาจทำให้ปวีณรู้สึกปลอดภัยขึ้นมาบ้าง แต่เขาก็ยังยืนกรานว่า ความเป็นตำรวจในตัวเขาสอนให้รู้ว่าห้ามประมาทเด็ดขาด
“ผมจะต้องไม่ประมาท ผมว่าคดีสุดท้ายที่ผมทำ ศัตรูของผมเป็นผู้ที่ถืออาวุธ และมีอำนาจในทางกฎหมาย ทั้งศัตรูที่ผมเห็นและไม่เห็น จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากลัวมาก”
“ลำพังที่ไปจับผู้ร้ายในชีวิตของผม ซึ่งเป็นผู้ร้ายที่ก่ออาชญากรรมทั่วๆ ไปในสังคม พวกนี้ก็มีอาวุธ แต่ไม่มีอำนาจรัฐ ผมก็ต้องระวังตัวอยู่แล้ว แต่นี่ยิ่งไปเจอกับผู้มีอำนาจ และมีอาวุธที่กฎหมายมอบอำนาจให้ไว้ด้วย มันยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ดังนั้น ผมจะไม่คิดว่ามันจะปลอดภัยขึ้นไหม แต่ผมจะคงระมัดระวังตัวเองอยู่ตลอดเวลา”
ปวีณเล่าด้วยว่า ตัวเขาตั้งใจทำงานอย่างหนัก เพราะเขาไปฟังกับหู ไปเห็นกับตาว่ารัฐบาลในขณะนั้นประกาศอย่างแข็งขัน ณ ทำเนียบรัฐบาลว่าจะให้การปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เพราะตอนนั้นประเทศไทยก็อยู่ในภาวการณ์ที่ลำบาก สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะบอยคอตสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อาหารทะเล อาจสร้างความเสียหายให้ประเทศได้เป็นแสนล้านบาท
แต่ปรากฏว่า เรื่องราวกลับไม่เป็นไปตามนั้น
ผิดหวังไหม? “วิญญูชนทั่วไป คนที่มีความรับผิดชอบชั่วดี ไม่ต้องเป็นคนที่มีความรู้ทางกฎหมายก็ได้ ประชาชนธรรมดาทั่วไป ก็เห็นแล้วว่ามันต้องทำแบบนี้เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ ผมก็เข้าใจเหมือนคนอื่นๆ ไม่เคยคิดเลยว่าพอเราทำไปแล้วจะไม่เป็นไปตามที่เขาประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ นายกฯ ที่ออกมาประกาศปาวๆ รองนายกฯ หรือคนที่รับผิดชอบเป็นคนที่ตลบตะแลง ตอแหลทั้งนั้น”
คนเหล่านี้แหละ ที่ปวีณยืนกรานว่า ล้วนมีผลประโยชน์จากกระบวนการค้ามนุษย์ทั้งสิ้น
2. เริ่มต้นทำคดีค้ามนุษย์
ปวีณเคยกล่าวคำสัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่งว่า แรกเริ่มเดิมที ตนไม่ได้อยากทำคดีนี้ ซึ่งเมื่อเราถามเขาอีกครั้ง เขาก็เริ่มจากการเล่าที่มาของคดีให้ฟังว่า เรื่องมันเกิดจากการพบหลุมฝังศพ ที่แคมป์กักขังชาวโรฮิงญา ที่ตําบลปาดังเบซาร์ อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ติดชายแดนมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ขณะที่ปวีณนั้น เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ซึ่งดูแลพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน – จุดเริ่มต้นของคดี จึงไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตน
แต่ว่าก่อนหน้านั้น ก็เคยมีการตรวจพบรถกระบะบรรทุกชาวโรฮิงญา เพื่อจะไปส่งที่ปาดังเบซาร์ ซึ่งมีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตหลายคน เนื่องจากความแออัดของรถ ซึ่งการตรวจพบนี้เกิดขึ้นที่อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้พื้นที่การดูแลของปวีณ
“ปรากฏว่าฝ่ายสืบสวนเขาไปร่วมทำการสืบสวนของภาค แล้วเสนอชื่อผมให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ แต่ผู้บังคับบัญชาในตอนนั้นตัดชื่อผมออก อันนี้เป็นเรื่องที่นายตำรวจที่อยู่ในทีมเอามาเล่าให้ฟังทีหลัง ผมก็ดีใจว่าไม่ต้องทำคดีเรื่องแบบนี้ ดังนั้น จุดที่เกิดเหตุตั้งแต่แรก ที่มีการเชื่อมโยงต่อๆ ไป มาจากอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช สืบเรื่อยไปจนถึงปาดังเบซาร์ แล้วไปเจอหลุมฝังศพ เจอแคมป์ กลายเป็นคดีขึ้นมา ผมไม่ได้อยู่ในตอนแรก”
จุดพลิกผันที่ทำให้เขาต้องเข้าร่วมการสืบสวน มาจากการที่ พล.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ [ในขณะนั้น] ต่อสายตรงมาให้เขาไปรายงานตัว ซึ่งปวีณก็ปฏิเสธไม่ได้
“ใช้คำว่า ถ้า รอง ผบ.ตร.ไม่โทรศัพท์เรียกผมไป ผมก็ไม่ต้องไปยุ่งกับคดีหรอก แต่เมื่อเขาสั่งการมา ผมย่อมต้องปฏิบัติตาม ผมจะขัดคำสั่งไม่ได้ โดยจิตใจผมจริงๆ ไม่อยากจะไปอยู่แล้ว ผมค่อนข้างเบื่อ และกลัวว่าการทำงานอาจจะไม่เป็นอิสระ เพราะผมจะเป็นคนทำงานอย่างตรงไปตรงมา”
การทำงานอาจจะไม่เป็นอิสระ หมายความว่าอย่างไร? ปวีณตอบกลับมาว่า เพราะเขารู้ธรรมเนียมปฏิบัติดีว่าจะเจอกับอะไรบ้าง เช่น กรณีจับกุมผู้ต้องหาคนแรกที่เขาไปเจอมา จับตัวรองนายกเทศมนตรีของอำเภอปาดังเบซาร์ มาที่สถานีตำรวจที่นั่น
ตอนนั้นเขาอยู่ในเหตุการณ์ รองผู้บังคับการฯ จังหวัดสงขลา ยศพันตำรวจเอก เป็นคนนำตัวมา และสั่งสิบเวรว่า ผู้ต้องหาคนนี้ ซึ่งเป็นรองนายกเทศมนตรี ไม่ต้องขังในห้องขัง ให้ควบคุมไว้ข้างนอก ปวีณเลยถามว่า
“ถ้าไม่ให้ขังไว้ในห้องขังแล้วควบคุมไว้ข้างนอก ท่านรองผู้บังคับการจะเป็นคนคุมหรือไม่?”
“ไม่”
“แล้วผู้กำกับ พันตำรวจเอก ที่สถานีดูด้วยหรือเปล่า?”
รองผู้บังคับการฯ ก็ตอบอีกว่า “ไม่”
ปวีณจึงถามต่อว่า “แล้วรองผู้กำกับ หรือสารวัตร ดูแลหรือเปล่า?”
รองผู้บังคับการฯ ยังให้คำตอบเหมือนเดิม เขาเลยต้องถามว่า “แล้วใครดูแล?” รองผู้บังคับการฯ จึงตอบกลับมาว่า “สิบเวร”
“ผมเลยถามต่อว่า ‘ถ้าเกิดผู้ต้องหาหนีไป ใครจะรับผิดชอบ สิบเวรหรือเปล่า?’ เขาก็ตอบว่า ‘ก็สิบเวร’ ซึ่งผมก็ อ่าว อันนี้มันก็ไม่ถูกต้องสิ ผมเลยต้องบอกว่า ‘ถ้าคุณทำงานแบบนี้ ไม่เอาผู้ต้องหาเข้าห้องขัง ผมจะดำเนินคดีอาญากับพวกคุณในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฉะนั้น คุณต้องขังในห้องขังทั้งหมดเพราะเป็นผู้ต้องหาแล้ว ต้องควบคุม’ นี่คือส่วนใหญ่เขาจะมากันแนวนี้ แนวลูบหน้าปะจมูก เป็นแบบนี้มาตลอด”
นั่นทำให้ปวีณ ในฐานะรองผู้บัญชาการภาค 8 สั่งการว่า ผู้ต้องหาทุกคนตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ต้องถูกขังหมด ไม่มีกรณียกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น
3. อันตรายคืบคลานเข้าถึงตัว
เสียงโทรศัพท์จาก พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการในตอนนั้น คือคำตอบจากปวีณเรื่องสัญญาณอันตรายที่เริ่มปรากฏ
ปวีณเล่าว่า พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ โทรมาคุยเรื่องคดีกับตน ทั้งที่ปกติแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่สามารถพูดคุยกันได้ เพราะ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ เองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอบสวน แต่ที่ปวีณต้องคุย ก็เพราะ พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ อ้างว่า ตนเป็นนายตำรวจติดตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โทรมาเพื่อขอให้มอบสิทธิประกันตัวให้ พล.ท.มนัส คงแป้น ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ปวีณสืบสวนอยู่
“ตรงนี้ผมตกใจมาก เฮ้ย พล.ท.มนัส เป็นตัวการใหญ่นะ แล้วหลักฐานก็มัดแน่นมาก มีการโอนเงินเห็นชัดเจนมาก แล้วระดับรองนายกฯ กล้าให้นายตำรวจติดตาม โทรมาหาผมเพื่อให้ประกันตัว มันแปลว่าอะไร? แสดงว่าคุณต้องมีความสัมพันธ์ผูกพันกันแน่นอน”
ไม่เพียงเท่านั้น ปวีณยังโดนสายตรงโทรเตือนตลอดช่วงเวลาที่ทำคดี อย่างกรณีที่ พล.ต.สมศักดิ์ สรไชยเมธา เจ้ากรมจเรทหารบกโทรไปบอกว่า “ปวีณ หยุดทำงานได้แล้วนะ เพราะว่ามันอันตรายมาก รู้ไหมว่า พล.ท.มนัส เป็นลูกน้องของพี่ประยุทธ์ พี่ประวิตร พี่อนุพงษ์ อย่าทำต่อเลยมันอันตราย” – ปวีณกล่าวว่า เขาบันทึกเสียงสนทนาเอาไว้ด้วย เพราะสิ่งบอกเหตุต่างๆ ทำให้เขาเริ่มระมัดระวังยิ่งขึ้น
อีกทั้ง ยังมีเรื่องของเส้นสายที่ทำให้เกิดระบบช่วยเหลือกันเองในแวดวงตำรวจ ซึ่งยึดถือผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง เช่น กรณีที่เขาโทรไปขอเอกสารกับ พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช ผู้บังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 9 แต่ถูกปฏิเสธ ก่อนที่ พล.ต.ต.ดาวลอย จะให้ลูกน้องเขาอีก 2 คนโทรมาย้ำว่าให้ข้อมูลไม่ได้ ซึ่งปวีณบอกว่า ทั้ง 3 คนนี้ล้วนเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา
นอกจากนี้ ปวีณเล่าด้วยว่า ในแผนสอบสวนที่ตนออกแบบไว้นั้น ระบุว่า เมื่อมีการจับผู้ต้องหา ทุกครั้งต้องนำผู้ต้องหาไปตรวจค้นที่บ้าน ที่ทำงาน และสถานที่ที่เกี่ยวข้อง โดยห้ามตำรวจไปโดยลำบาก แต่จะต้องบูรณาการกำลังกัน ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร สรรพากร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อให้ทุกฝ่ายตรวจสอบซึ่งกันและกัน
เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับการที่ปวีณไม่ได้รับแจ้งข้อมูลว่า มีชุดสอบสวนที่ตรวจพบสลิปโอนเงินในคดีค้ามนุษย์ของ พล.ท.มนัส โดยชุดสอบสวนนี้เป็นของ พล.ต.ต.อาคม แต่หลักฐานสำคัญนี้กลับถูกสกัดไม่ให้ไปถึงมือเขา เพราะ พล.ต.ต.อาคม บอกว่า ถูก พล.ต.อ.จักรทิพย์ สั่งห้ามส่งหลักฐานชุดนี้มาให้ปวีณ แต่ให้เก็บเอาไว้ โดยปวีณกล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีพยานหลายคนที่เห็นเหตุการณ์ด้วย
“เห็นไหมว่า คดีนี้มันผิดปกติ ทีมของผมตั้งใจทำงานจริงๆ แต่ปัญหาและอุปสรรคไม่ได้เกิดขึ้นแค่หน้างานแล้ว แต่มันเป็นตำรวจด้วยกันเอง แล้วก็เครือข่ายโยงใยของกลุ่มผู้มีอำนาจที่มีส่วนได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการค้ามนุษย์”
ปวีณเล่าอีกว่า ระหว่างที่เขาทำงาน แคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในตอนนั้น คือ พล.ต.อ.เอก (อังสนานนท์) ที่เขามองว่าอาวุโสสูงและคู่ควรจะเป็น ผบ.ตร. แต่กลับมีคู่แข่งเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่อาวุโสต่ำที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่คุมอำนาจในขณะนั้น ก็ฟันธงให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้เป็น ผบ.ตร.แทน
การขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุดในวงการตำรวจนี้ ทำให้ปวีณมองว่า อดีตเพื่อนร่วมอาชีพของเขาหลายคน ต่างถอยหนีเมื่อรู้ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ขณะที่เขาก็โดนเตือนอย่างหนักหน่วงหลายครั้ง
จนเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ นั่งเป็นกรรมการ ในการประชุมนั้นได้สั่งย้ายปวีณจากกองบังคับการตํารวจภูธรภาค 8 ไปประจำที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้แทน
“นั่นแหละ ผมตกใจแล้ว เขามีเลศนัยต้องการที่จะเก็บผมแน่นอน”
“ทุกคนก็พูดกันหมดเลยว่าเขาล็อกเป้า เพื่อจะจัดการผม เพราะผมไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามที่เขาต้องการ ขัดขวางเขาตลอด เขาต้องการให้ช่วยมนัส ก็ไม่ช่วย หลายๆ อย่าง ผมไปออกหมายจับทหารเพิ่มเติมอีก เขายิ่งโกรธเข้าไปใหญ่ .. พอคำสั่งนี้ออกมาผมเริ่มรู้แล้วว่า ผมอยู่ในห้วงอันตรายของชีวิตแล้ว”
ปวีณบอกว่าเราทุกคนต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งเขาเองก็นึกถึงกรณีของ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา เมื่อครั้งเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่ง พล.ต.อ.สมเพียร เคยเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อขอร้องให้ย้ายตนเองออกจากพื้นที่นั้น เนื่องจากกลัวภัยอันตราย แต่ก็ไม่ได้ย้าย จนสุดท้ายโดนระเบิดและเสียชีวิต
เหตุการณ์นั้นทำให้ปวีณยิ่งกังวลใจ เพราะเขาก็รู้จักกับ พล.ต.อ.สมเพียร เป็นอย่างดี และรู้ว่า พล.ต.อ.สมเพียร เป็นคนที่เชี่ยวชาญการรับมือกับเหตุความไม่สงบขนาดนั้น แต่คนที่มีความเชี่ยวชาญขนาดนั้นก็ยังเอาชีวิตไม่รอด ดังนั้น ปวีณตัวคนเดียว ก็คงไม่เหลืออะไรแน่นอน
ยิ่งกว่านั้น พิรุธในเรื่องนี้ยังมีกรณีที่ว่า การพิจารณาคดีค้ามนุษย์ถูกย้ายจากศาลจังหวัดนาทวี (ตั้งอยู่ที่สงขลา) มาที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ และตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ รวมถึงย้ายอัยการขึ้นมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วย แต่มีปวีณคนเดียวที่ถูกย้ายไปสามจังหวัดแทน สวนทางกับคนอื่นๆ
“ลูกน้องทุกคนบอกว่า ยังไงก็ห้ามไปเด็ดขาด ถ้าไปก็คงจะเอาชีวิตไปทิ้งไว้ที่นั่น ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงดี ทั้งที่ผมไม่อยากจะลาออกเลย แต่ก็จำเป็น เลยไปยื่นหนังสือลาออก นั่นคือเรื่องที่ว่าผมรู้แล้วว่าควรจะหยุด ไม่ควรจะทำคดีค้ามนุษย์ต่อไปแล้ว เป็นจุดที่รู้แล้วว่าภัยที่จะมาถึงชีวิตตัวเอง มันมาถึงแล้ว”
4. แค่ (ถูกบังคับให้) ลาออกก็ยังไม่พอ สุดท้ายต้องลี้ภัย
5 พฤศจิกายน 2558 คือวันที่ปวีณลงนามในหนังสือลาออกของตัวเอง
หนังสือลาออกจะมีผลต่อไปในอนาคตอีก 30 วัน หรือก็คือจะมีผลในวันที่ 6 ธันวาคม 2558 ระหว่างนั้นก็ยังสามารถทบทวนถอนใบลาออกได้ และขณะเดียวกันก็ยังต้องทำงานต่อเช่นกัน
ในตอนที่ปวีณถูกสั่งย้ายนั้น เขาพยายามเรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรม แต่กระแสในหมู่ประชาชนกลับนิ่งเงียบ ไม่ได้เอะใจอะไร ทำให้เขารู้สึกว่า นี่เป็นเรื่องที่เกินกำลังตนเองอย่างมาก ขณะเดียวกัน เขาก็ยังต้องทำคดีนี้ต่อ และเร่งสรุปสำนวนให้ทัน เพื่อให้ พล.ต.อ.เอก ได้เซ็นรับรองสำนวน ก่อนที่จะต้องไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเพราะกลัวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะส่งคนใหม่ที่ไม่ยอมเซ็นสำนวนให้ปวีณมาแทน ซึ่งผลสุดท้าย ปวีณก็ทำสำนวนทันให้ พล.ต.อ.เอก เป็นคนเซ็น
เมื่อสำนวนไปถึงอัยการแล้ว อัยการก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน โดยปวีณและทีมงานก็ได้เข้าไปอธิบายรายละเอียดของคดีกับอัยการ ระหว่างนั้นก็มีโทรศัพท์จาก พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง [ในขณะนั้น] ติดต่อมาว่า เสียใจด้วยอย่างยิ่งที่ปวีณถูกกลั่นแกล้งโยกย้าย ตอนนี้ความทราบถึงพระองค์ท่านและท่านหญิงแล้ว พระองค์ท่านทรงมีเมตตาให้ความคุ้มครองแล้ว และอยากจะให้น้องมาร่วมงานในวังด้วย
“ความรู้สึกตอนนั้น ขณะที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ดีใจ นึกว่าจะมีคนมาช่วย และระดับสูงสุดเบื้องบนซึ่งเราไม่เคยเกี่ยวข้องด้วยเลยก็โทรมา”
ปวีณเล่าถึงคำกล่าวของ พล.ต.ท.ฐิติราช อีกว่า พล.ต.ท.ฐิติราช บอกว่าให้ติดต่อกับราชองครักษ์ 904 พล.ท.จักรภพ ภูริเดช [ยศเดิม] แล้วก็ให้เบอร์กับปวีณ เขาจึงโทรไปหา พล.ท.จักรภพ ซึ่งตอบกลับมาว่า พระองค์ท่านและท่านหญิงทรงมีพระบารมีโปรดเกล้าให้คุ้มครองเขาด้วย และทิ้งท้ายว่า พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ จะติดต่อมาหาปวีณอีกทาง
ในวันถัดมา ปวีณเดินทางไปศาลอาญาเพื่อเข้าฟังการพิจารณาคดี ระหว่างนั้น พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ ก็ติดต่อมา และเชิญให้เข้าวัง แต่ก่อนหน้านั้นต้องทำแบบฟอร์มกรอกประวัติก่อน โดยส่งแฟกซ์มาให้ที่ศาลอาญา – เอกสารแผ่นนี้เป็นแผ่นเดียวกับที่ รังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล เอาไปอ้างในสภา ซึ่งปวีณกล่าวว่า อาจจะสแกนตอนท้ายให้โรมไม่ชัด ทำให้เกิดกระแสว่าเป็นของปลอม แต่ว่าตอนหลังเขาก็สแกนให้อย่างชัดเจนเลย เอกสารนั้นยังปรากฏเบอร์แฟกซ์ที่ต้นทางมาจากวังสวนอัมพรอย่างชัดเจน
หลังจากนั้น ปวีณก็ได้เข้าไปในวัง และเจอกับ พ.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล [ยศเดิม] พร้อมด้วย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ และ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ซึ่งทั้งหมดบอกว่า ก่อนจะทำงานในวังต้องไปปรับพื้นฐานก่อน แต่ปวีณไม่อยากไป เพราะใจยังคงหวังจะได้ทำคดีค้ามนุษย์ต่อ
“คิดว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไปเจอ จะมีความเป็นธรรมและเห็นความสำคัญในเรื่องที่ผมทำ ก็คงต้องให้ผมไปทำ [คดีค้ามนุษย์] ก็เลยต่อรองว่าขอไปทำคดีต่อได้ไหม ถ้าอยากช่วยผมเพื่อให้ได้ความเป็นธรรม เขาก็โอเคให้เลือก แล้วก็ให้ผมไปถอนใบลาออก”
ทางเลือกที่ปวีณได้รับมานั้น คือ 1.ให้ไปทำงานในวัง 2.ให้เป็นรองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และทำคดีค้ามนุษย์ต่อ และทางเลือกที่ 3.ซึ่งถูกเสนอมาจาก พล.ต.อ.จุมพล คือให้ลาออกแล้วอยู่เงียบๆ เสีย
เมื่อปวีณหมายมั่นว่าจะเลือกทางที่ 2. เขาก็เดินทางไปพบกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เพื่อถอนใบลาออก ในวันที่ 12 พฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น ซึ่งตอนแรก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็ยินดีกับปวีณ แต่ปรากฏว่าช่วงดึกคืนนั้น พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม ผู้ช่วย ผบ.ตร. โทรมานัดหมายให้เขาไปพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ใจปวีณเริ่มหวั่นว่าจะเกิดเรื่องไม่ดี แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อ
วันที่ 13 พฤศจิกายน ปวีณเดินทางไปศาลอาญาในช่วงเช้า และพูดคุยกับผู้พิพากษาเรื่องทางเลือกที่ได้รับ และการตัดสินใจเลือกทำคดีต่อ แต่ผู้พิพากษาพูดกลับมาว่า ถ้าเป็นการไม่ต้องพระราชประสงค์อาจจะเกิดระคายเคือง จะมีโทษนะ
ยังไม่ทันหายตกใจ ปวีณก็ต้องเดินทางไปพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต่อในช่วงบ่าย ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวกับปวีณว่า “‘พี่กับผม เราไม่มีอะไรกันนะ พี่ต้องลาออกแล้วอยู่เงียบๆ นะ’ ผมก็ตกใจว่าไหนเมื่อวานให้เป็นรองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง วันนี้เปลี่ยนแล้วเหรอ ยังไม่ทันไรเขาก็ต่อสายไปหา พล.ต.อ.จุมพล ซึ่งพอเขารู้ว่าผมฟังอยู่ก็ตะคอกใส่ว่า ‘ลาออกไป แล้วอยู่เงียบๆ’ ผมก็ตกใจหนัก คิดว่า โอ้ หมดแล้ว”
“วันนั้น วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 เป็นวันสุดท้ายในชีวิตที่ผมแต่งเครื่องแบบตำรวจ”
ปวีณกล่าวต่อว่า เขาพยายามโทรหาคนที่เคยยื่นมือเสนอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครรับโทรศัพท์เลยสักคน ถึงได้รู้ตัวว่า ‘ชะตาขาดแล้ว’ จึงต้องรีบไปหาที่เก็บตัว สถานการณ์ไม่สู้ดีทำให้เขาคิดว่า ถ้ายังอยู่ในประเทศไทยจะต้องเจออันตรายแน่ ประกอบกับช่วงเวลานั้น สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง ก็เพิ่งเสียชีวิต ทั้งยังมีอีกหลายคนที่จากไป ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ปวีณจึงยิ่งกลัวว่าตัวเองจะถูกกำจัด
จากนั้น ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พล.ต.อ.จักรทิพย์แถลงข่าวว่าได้อนุมัติให้ปวีณลาออกแล้ว ซึ่งปวีณเล่าแย้งว่า จริงๆ เขาถอนใบลาออกไปแล้ว พล.ต.อ.จักรทิพย์ไม่สามารถให้เขาลาออกได้ และเขาก็ไม่ได้อยากลาออก แต่เมื่อผลเป็นแบบนี้ ในค่ำวันเดียวกันนั้น ปวีณก็ให้พรรคพวกติดต่อเตรียมการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งก็มีคนแนะนำมาว่า ให้ไปที่ออสเตรเลีย
“ผมบินจากเมืองไทยไปสิงคโปร์ พักที่ลิตเติ้ลอินเดีย เป็นโรงแรมเล็กๆ เพื่อประหยัดเงิน แล้วก็รอวีซ่าจากสถานทูตออสเตรเลีย มาถึงออสเตรเลียวันที่ 5 ธันวาคม 2558 ตอนนั้นมันฉุกละหุกมาก และเสียใจมาก นี่คือเหตุทั้งหมดและสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ผมต้องออกจากราชการ แล้วที่สุดก็ต้องลี้ภัย”
5. ชีวิตลี้ภัยของอดีตตำรวจ
การลี้ภัยไม่ใช่เรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันทั่วไป .. ยิ่งตำรวจลี้ภัย ยิ่งเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง
แม้แต่คนในครอบครัวของปวีณเอง ก็ไม่คิดว่าจะต้องมีการลี้ภัยเกิดขึ้น ซึ่งในช่วงแรกนั้น ก็มีข่าวออกว่า ปวีณไปต่างประเทศกับครอบครัว เพื่อเบี่ยงประเด็นเรื่องลี้ภัย
หากอยู่เมืองไทย ชีวิตปวีณคงจะง่ายกว่านี้มาก แต่พอมาแปลกที่แปลกทางชีวิตก็พลิกเป็นคนละเรื่อง
“ตัวผมเองพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยจะได้ งูๆ ปลาๆ ไม่รู้เรื่อง แล้วต้องไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ในวัยที่ผมอายุ 57 ปี ใกล้เกษียณแล้ว ผมไม่รู้จักใคร อยู่คนเดียวด้วย มันเหงามาก คุยก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเลย ต้องมีล่ามตลอดเพราะบางทีเราฟังไม่รู้เรื่อง เขาพูดกันเร็ว”
ถึงอย่างนั้น ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่ออสเตรเลีย ปวีณก็ไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่างเลย เขาเริ่มงานด้วยการเป็นอาสาสมัครที่โรงพยาบาล Maroondah Hospital อยู่ราว 2 ปี แล้วก็เปลี่ยนไปช่วยวัดไทยในออสเตรเลีย สร้างกุฏิพระอีกเกือบปี หลังจากนั้นพอวีซ่าผมอนุมัติแล้วจึงไปเรียนภาษา อีกประมาณครึ่งปีเขาก็ไปเรียนวิชาชีพด้านพืชกรรมสวน แล้วทำงานไปเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละงานที่หนักมาก ต้องทำทุกอย่าง ตัวเขาเคยไปทำงานที่ศูนย์ดูแลพืชพรรณ ต้องขึ้นเขา แต่พอ COVID-19 มาเขาก็ตกงาน
“ช่วงตกงาน ผมไปทำงาน Airbnb เป็นงานทำความสะอาด รายได้เท่าไหนก็เอา แล้วก็ไปทำงานโรงเบาะรถยนต์ ทำได้ 7 เดือน หลังจากนั้นก็มีการทำสารคดี (โดยสำนักข่าว Al Jazeera) ชีวิตลำบากมาก ต้องดิ้นรน สู้มาตลอด แล้วก็ปรับตัวเองจากที่ฟังไม่รู้เรื่องก็เริ่มได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เก่งมากหรอกนะ ให้ผมไปพูดยาวๆ บางทีศัพท์ผมก็ไม่รู้เรื่องแล้ว ผมนึกไม่ออก ถ้าเป็นวิชาการผมพูดไม่ได้ แต่ถ้าเป็นภาษาในชีวิตประจำวัน เราพูดได้”
“ตอนนี้ชีวิตดีขึ้น แต่ที่ผ่านมามันลำบากมาก ลำบากที่สุดแล้ว บางที ถ้ารู้ว่าลำบากขนาดนี้อาจจะไม่มาก็ได้นะ”
แต่จะทำได้เหรอ ในสถานการณ์นั้นจะยืนกรานอยู่ไทยต่อได้จริงๆ หรือ? คำถามที่เกิดขึ้นทันทีหลังได้ยินคำกล่าวของปวีณ เจ้าตัวยิ้มเล็กน้อยก่อนจะพูดต่อว่า “พูดถึงว่า ถ้ารู้ว่ามันลำบากขนาดนี้ ยอมเสี่ยงอยู่ที่โน่นดีกว่า”
“ผมแค่อยากจะพรรณนาให้ฟังว่ามันลำบากขนาดนั้นแหละ ต้องดิ้นรนต่อสู้ตลอด เหมือนเราต้องไปอาศัยคนอื่นเขา ทั้งที่เขาต้องทำงานดิ้นรนต่อสู้เหมือนกัน เรารำคาญตัวเองที่ไปเบียดเบียนเขา จนกระทั่งหลังๆ ไปหาหมอก็ไม่ค่อยใช้ล่ามแล้ว เราคุยกับหมอได้แล้ว”
ถึงอย่างนั้น งานที่ปวีณทำส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่ไม่ค่อยได้คุยกับคน ต้องอยู่กับเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ เลยไม่ได้มีโอกาสในการพูดภาษาอังกฤษเท่าไรนัก
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ตำรวจยศใหญ่ ต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นงานสารพัดรับจ้างเพื่อให้มีเงินพอใช้กับค่าครองชีพในออสเตรเลีย ปวีณเล่าด้วยว่า หลายคนอาจคิดว่าเขามีเงินฝังอยู่ใต้ดินจากการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะนั่นคือภาพจำของตำรวจไทย แต่เขาไม่ได้เป็นแบบนั้น แค่ตำรวจที่ทำตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น
“เราไม่ได้สำคัญตัวเองว่าเป็นตำรวจดีนักหนาหรอก ผมไม่บอกว่าตัวเองเป็นคนมือสะอาด ผมก็อยู่ในองค์กรที่มันมีเรื่องสกปรก แต่ก็ฝันจะเป็นตำรวจที่ดี ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งถามว่ายากไหม ยากมากเลย”
คำว่ายากที่ปวีณพูดถึง ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องการทำงานในคดีค้ามนุษย์ เพราะเขายังเคยต่อสู้ในการทำงานอีกหลายคดี เช่น เมื่อครั้งที่เขาเป็นรองผู้กำกับที่สถานีตำรวจภูธรภูเก็ต ต้องทำคดีร้านจิวเวลรี่โกงนักท่องเที่ยว ปลอมสลิปเงิน ปรากฏว่าผู้ต้องหามีญาติเป็นผู้พิพากษาและอัยการ มาวิ่งเต้นขอให้ปวีณช่วย ขณะเดียวกัน จเด็จ อินสว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้น [ปัจจุบันเป็น ส.ว.] ให้เลขาฯ ติดต่อมาถึงปวีณว่าให้ไปพบรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ ซึ่งพอเขาไปก็ได้เจอกับอัยการด้วย แล้วรัฐมนตรีกับอัยการก็พยายามหว่านล้อมให้ปวีณช่วยเหลือในคดีนี้
ปัญหาที่ปวีณเล่ามานี้ ยิ่งทำให้เห็นว่า การปฏิรูปแค่องค์กรตำรวจอย่างเดียว คงไม่เพียงพอ ซึ่งปวีณให้ความเห็นว่า ถ้าประเทศไทยเป็นปกติ เขาก็คงไม่นั่งอยู่ที่ออสเตรเลีย คุยกับเราอยู่อย่างนี้หรอก
“เพราะประเทศไทยผิดปกติทุกระบบเลย แม้กระทั่งการเป็นสื่อก็ไม่สามารถที่จะตรงไปตรงมาได้หรอกใช่ไหม คุณไม่มีอิสระที่จะพูดได้ทั้งหมด แล้วถามว่าประเทศไทยอิสระหรือเปล่า ทั้งๆ ที่พูดความจริง เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่องค์กรตำรวจหรอก มันเพี้ยนไปหมด ไล่ตั้งแต่ศาล อัยการ ตำรวจ ทหาร สรรพสามิตร ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผิดเพี้ยนไปหมด”
แต่อดีตตำรวจก็ย้ำกับตัวเองว่า เรื่องที่เขาและทีมช่วยกันทำนั้นยิ่งใหญ่มาก ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ เขาจึงสู้ไม่ถอย ซึ่งแม้ว่าเขาจะลี้ภัยมาแล้ว เขาก็ยังกลับมาสู้เรื่องนี้อีกครั้งด้วยการเผยแพร่ข้อมูลให้สังคมรับทราบ
ปวีณเปรียบการกระทำของตัวเองว่า เป็นการเอามีดปักไว้ที่หน้าผากของ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถอนอย่างไรก็ไม่ออก เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นความจริง
“สำนักข่าว Al Jazeera โทรไปถาม เขาก็ไม่ยอมตอบ รังสิมันต์ถามในสภา ก็ไม่มีใครตอบ เพราะเขาตอบไม่ได้ เขาไม่เคยให้เหตุผลว่าทำไมต้องย้ายผม ผมไม่ได้ทำผิดอะไรสักอย่าง ไม่มีผลประโยชน์ทุจริตอะไรเลย ทีนี้เมื่อผมทำมีดปักไว้ที่หน้าผากแล้ว ผมรอวันเวลาที่แผลจะอักเสบ”
“ผมเป็นคนสาบสูญไปนานถึง 6 ปี อยู่ๆ มันก็ปะทุขึ้นมา สิ่งที่ผมเฝ้าดูมันถึงเวลาแล้ว เหมือนดอกไม้ถ้ามันจะบาน จะห้ามมันบานก็ไม่ได้ พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นจากขอบฟ้า ก็ห้ามไม่ได้ มันถึงเวลาของมันแล้ว”
6. ความหวัง
“สิ่งที่ผมทำ มันทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างมาก สูญเสียไปเยอะ ผมเสียน้ำตาที่ออสเตรเลีย มากกว่าผมอยู่ที่เมืองไทยทั้งชีวิตเลย บางทีน้อยเนื้อต่ำใจ บางทีก็ท้อแท้ เราต้องปลุกขวัญกำลังใจให้เราเข้มแข็ง แต่บางทีก็เศร้าสร้อย ว้าเหว่ เดียวดาย แล้วก็หนาวมากเลย”
แต่ความหวังที่ทำให้ปวีณยังสู้ต่อได้ คือ ‘ครอบครัว’ – เขากล่าวขอบคุณครอบครัวที่คอยเป็นกำลังใจและสนับสนุนเขาอยู่เสมอ ไม่เคยเรียกร้องอะไรจากเขา อย่างลูกของเขาก็ไม่ได้เล่าเรื่องชีวิตของเขาให้เพื่อนฟัง จนตอนหลังที่คดีของปวีณถูกเปิดในที่สาธารณะ เพื่อนของลูกถึงเริ่มรู้เรื่องและเห็นใจ
แม้หลังจากนี้ ปวีณจะยังไม่แน่ใจว่าจะกลับไทยดีไหม เพราะชัยชนะของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่ติดต่อมาพูดคุยกับเขาและนำเรื่องราวของเขาไปสานต่อเจตนารมย์ ก็ทำให้เขามีความหวัง ขณะเดียวกัน สถานการณ์ก็ยังคงไม่แน่นอน ทำให้ปวีณไม่มั่นใจว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
“ในวันที่ผมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับพรรณิการ์ วานิช และรังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกลเป็นครั้งแรกหลังรังสิมันต์อภิปราย ผมบอกว่า ‘วันนี้เป็นวันที่ผมมีความสุขมากที่สุดวันหนึ่ง ที่ผมได้รับความเป็นธรรมกลับมากครึ่งหนึ่งแล้ว’ ” แล้วอีกครึ่งคืออะไรล่ะ? คือผมต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วดำเนินการกับคนที่กลั่นแกล้งรังแกผม เอาเข้าคุกให้หมด”
ตราบใดที่ผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในคดีค้ามนุษย์ยังลอยนวล ความวางใจสำหรับปวีณในการกลับไทยก็คงไม่เกิดขึ้น
“ต้องโทษคนรุ่นผมด้วยที่ปล่อยอนาคตของประเทศแบบนี้ มาให้คนรุ่นหลาน รุ่นคุณ จนกระทั่งต้องออกมาเรียกร้องกัน แล้วรุ่นผม เหล่า baby boomer ก็ยังดื้อรั้นมาก”
“เมื่อสมัยเรียน ผมก็ฝันอยากให้ประเทศเราเจริญ ก็มีความฝัน แต่เห็นไหม ถึงแม้ผมเป็นตำรวจแท้ๆ ยังตั้งตัวเองไม่ได้เลย ทำงานตรงไปตรงมาก็ไม่ได้มีเงินทองมากมาย แล้วก็มาติดลบทุกอย่างในออสเตรเลีย มาเริ่มต้นจาก 0 แล้วก็ต้องทำงานหนัก ทุกวันนี้ผมทำงานประมาณสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ”
แม้จะไม่อาจกลับไปทำอาชีพตำรวจได้ แต่ปวีณก็เล่าว่า ตอนนี้ ความหวังใหม่ของเขาคือการเขียนหนังสือ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการทำงานข้าราชการตำรวจของตัวเอง เพื่อจารึกเป็นประวัติศาสตร์ให้คนได้ศึกษากันต่อไป เป็นโอกาสที่ได้รับการหยิบยื่นมาจากสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งตอนนี้เขาเขียนตุนไปเยอะแล้ว ถึงสิ้นปีก็คงจะพิมพ์ไม่หมด แต่ก็เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้เขาลืมตาอ้าปากได้
“จะไปทำงานอาชีพอื่นคงไม่ไหวแล้ว แล้วก็คิดว่าน่าจะเป็นมรดกตกทอดให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ มันจะเขียนเป็นประวัติศาสตร์ ชีวิตของคนคนหนึ่งเอาไว้ศึกษาได้”
แต่ปวีณก็เล่าเสริมแบบติดตลกว่า ตอนนี้เขาหยุดเขียนมา 2 เดือนแล้ว เพราะสนใจเรื่องการเลือกตั้ง ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด และทุกครั้งที่เห็นพรรคก้าวไกลบอกว่าจะพาตนกลับไปปราศรัย ก็น้ำตาไหลตลอด เพราะที่ผ่านมาเคยได้รับแต่ก้อนอิฐก่นด่าจากการเป็นตำรวจ เพิ่งเคยมีคนปฏิบัติกับเขาอย่างคนสำคัญเช่นนี้
“ผมดีใจมากที่พรรคก้าวไกลชนะ แล้วก็ต้องขอบคุณมากที่ทำให้ผมมีความหวังไปด้วย”
ถึงอย่างนั้น เส้นทางสู่การเป็นนายกฯ ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกลก็ยังขรุขระ ด้วยสถานการณ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งเสียที [14 มิถุนายน] และคดีหุ้น ITV ที่ทำให้หลายคนวิเคราะห์ว่าพิธาอาจไม่ได้เป็นนายกฯ ซึ่งปวีณมองว่า เรื่องเหล่านี้ไร้สาระและสะท้อนความผิดปกติของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
อดีตตำรวจมองว่า นี่คืออาการของเหล่า ‘ไดโนเสาร์โบราณ’ ที่กำลังจะสิ้นฤทธิ์ อาจจะทำให้คนอื่นบาดเจ็บบ้าง แต่สุดท้ายมันก็มีวาระของตัวเอง
ท้ายสุดแล้ว หากกลับมาไทยได้ สิ่งแรกที่อยากทำคืออะไร? “คงไปเยี่ยมพ่อผม ครอบครัวผม ไปเจอคนที่ผมรักใคร่แต่ถามในรายละเอียดผมนึกไม่ออกหรอก เพราะยังไม่ถึงเวลา แต่ที่อยากเจอมากคือพ่อของผม อายุ 99 ปีแล้ว เมื่อกี้ก็ยังคุยโทรศัพท์กันเลย พ่อผมยังแข็งแรงดี แต่ก็วัยชราแล้ว อายุมาก ก็ขอให้ผมมี DNA ความแข็งแรงแบบนั้น”
บางคนอาจถามกลับว่า ‘จะลี้ภัยทำไม ทำไมไม่สู้’ หรือ ‘ถ้าไม่ผิดจะกลัวอะไร’ ปวีณตอบกลับข้อความนี้ว่า “คำว่าลี้ภัย ก็คือหนีภัย ถ้าเรามีพละกำลังพอที่จะต่อกรกับคนที่มากระทำกับเราได้ ก็สมควรทำ แต่ถ้าเขา [ฝ่ายตรงข้าม] มีพลังที่ยิ่งใหญ่มาก รบเราก็ตายเปล่า ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องไปหาสถานที่ที่เราจะหลบภัยได้ แล้วการต่อสู้นั้น ถึงเวลา เราก็สามารถเอามาย้อนคืนทีหลังได้”
“นี่คือมุมมองของผม ผมเข้าใจคนที่ลี้ภัยว่ามันไม่ง่าย มันลำบากมาก มันทุกข์ทรมานอย่างที่สุด ผมเห็นใจทุกคนที่ต้องจากบ้านจากเมือง แล้วมองกลับไปทางเมืองไทย ก็ ..เหมือนตอนนี้ ผมก็อยากรู้จากคุณ [ผู้ถาม] ว่าเมืองไทยเป็นยังไงบ้าง? ผมจากมาตั้ง 7 ปีครึ่งแล้ว ไม่รู้มันเป็นยังไงบ้าง เราคิดถึงนะ คิดถึงมากๆ แล้วก็เฝ้าคิดว่า ชาตินี้ ชีวิตนี้ เราจะได้กลับไปหรือเปล่าก็ไม่รู้”
“ผมอยากขอบคุณคนไทยที่ช่วยกันเปลี่ยนประเทศ จากประเทศที่มีความมืดมน กลายเป็นประเทศแห่งความหวัง ผมอยากขอบคุณคนไทยทุกคน และขอบคุณที่มีความปรารถนาดีกับผม ส่งความรัก ความห่วงใย กำลังใจ ให้กันมาทุกช่องทาง ผมอยากจะกล่าวขอบคุณไปด้วยความตื้นตันใจ มันสร้างกำลังใจให้ผมเป็นอย่างยิ่ง” ปวีณกล่าวปิดท้าย
อ่านบทสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ได้ที่:
“หวังจะกลับบ้านอยู่ทุกวัน” จอม เพชรประดับ นักข่าวที่ดันเพดาน ม.112 สู่ผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ
จากป่า-ต่างแดน การต่อสู้อัลตร้ามาราธอนของ จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ลี้ภัยไทยคนแรกของฝรั่งเศส
ใครจะรู้ว่าแค่แชร์บทความ จะต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย คุยกับ การ์ตูน-ชนกนันท์