แร็กนาร็อกถูกนำมาเป็นพื้นหลังให้วัฒนธรรมป๊อปมากมาย ไม่ว่าจะหนังจักรวาลมาร์เวลหรือวิดีโอเกมเลี้ยงลูกที่ฮาร์ดคอร์ที่สุด
ในแต่ละเรื่องมีการบิดปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องราวในเหตุการณ์นั้นๆ แต่ใจกลางของมันแร็กนาร็อกคือเรื่องราวของการจบสิ้นของโลก ของเทพเจ้า และของมนุษย์ในปกรณัมนอร์ส ซึ่งถูกเล่าอยู่ในงานบทกวี Poetic Edda บทกวีที่เหลือรอดมาจากหนังสือรวบรวมเรื่องเล่าปกรณัมนอร์สชื่อ Codex Regius
โดยเรื่องราวของแร็กนาร็อกนั้นถูกเล่าเป็นชิ้นเล็กๆ ผ่านนิมิตของโอดิน โดยเหตุการณ์คร่าวๆ ของมันนั้นเริ่มจากฤดูหนาวอันยาวนานสามฤดูในมิดการ์ด (โลกมนุษย์) นำไปสู่ความโกลาหลและการต่อสู้ครั้งใหญ่ในมิดการ์ด การสั่นไหวของต้นไม้โลก การต่อสู้ระหว่างยักษ์น้ำแข็งและยักษ์ไฟ ทั้งหมดนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างเทพเจ้า และความตายของ ธอร์ โลกิ โอดิน เฟรยา เทียร์ ฯลฯ ก่อนจะจบลงที่โลกทั้งใบไหม้เป็นหน้ากลอง จมลงใต้น้ำ รอเวลาโลกใหม่จะกำเนิดขึ้นอีกครั้ง
แม้ตามเอกสารที่ค้นพบ แร็กนาร็อกจะทำหน้าที่เป็นเพียงคำทำนาย เหตุการณ์ดังกล่าวคือการเล่าเรื่องถึงความสิ้นสุดของสรรพสิ่งที่เรารู้จัก ซึ่งไม่ใช่อะไรที่สามารถมองเป็นแง่บวกได้มากขนาดนั้น แต่ความเชื่อแบบเดียวกันมีอยู่ในหลากหลายศาสนา หลายนิกาย ในหลายๆ กรณีหลายแนวคิดมากกว่าแค่แร็กนาร็อก คำถามที่น่าสนใจคืออะไรกันทำให้มนุษย์เชื่อ และสนใจในวันสิ้นโลก?
ความหมายของวันสิ้นโลก
ตีคู่มากับเรื่องเล่าคือการตีความที่หลากหลาย และโดยเฉพาะกับปกรณัมที่ไม่ชัดเจนเท่าของนอร์ส การตีความที่เกี่ยวข้องกับแร็กนาร็อกก็ยิ่งหลากหลาย
โดยในหนังสือ The Viking Spirit: An Introduction to Norse Mythology and Religion โดยผู้เชี่ยวชาญปกรณัมนอร์ส แดเนียล แม็คคอย (Daniel McCoy) เขายกการตีความสองแบบของแร็กนาร็อกให้เราฟังว่าในการตีความใหม่แร็กนาร็อกแสดงถึงความสิ้นสุดของความเชื่อเก่าที่นำไปสู่ความเชื่อใหม่ที่ผุดผ่องมากขึ้น หลักคิดดั้งเดิมในสายตาเขาเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความสิ้นสุดของสรรพสิ่ง และการอนุมานที่ได้จากทั้งสองการตีความนั้นต่างกันมาก
โดยเขาอธิบายว่าหลักคิดใหม่นั้นได้รับอิทธิพลจากการเข้ามาของคริสต์ศาสนา ที่วาดภาพความตายของเทพเป็นความเชื่อนอร์ส เพื่อให้คริสต์ศาสนามาแทนที่ โดยเข้าให้เหตุผลว่าหลักฐานของการตีความนี้มาจากผู้ตีความในยุดหลังเป็นส่วนมาก ในณะเดียวกันการสิ้นสุดของทุกสรรพสิ่งตลอดไปนั้นแม้จะเป็นบทสรุปที่โหดร้ายยิ่งกว่า มันก็มีหน้าที่ในแง่บวกของมัน
“คุณลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นไวกิ้ง คุณอยู่ในโลกที่วันหนึ่งจะถูกทำลาย เทพเจ้าตายไปกับมันด้วย ไม่มีอะไรเหลือรอด ไม่แม้แต่ควาทรงจำ โลกแห่งนี้หน้าตาเป็นอย่างไร’ เขาเขียนในบล็อกของเขา ตั้งคำถามว่านี่ควรจะเป็นโลกที่หดหู่และไร้ความหมายหรือไม่ ก่อนจะเสนออีกความหมาย
“นอกจากมันจะเป็นคำทำนายเกี่ยวกับอนาคตที่เล่าถึงธรรมชาติของโลก แร็กนาร็อกยังทำหน้าที่เป็นแบบอย่างการกระทำให้แก่มนุษย์อีกด้วย สำหรับไวกิ้งมันไม่ก่อให้เกิดความสิ้นหวัง แต่เป็นแรงบันดาลใจและการชุบชูใจ เช่นเดียวกันกับที่พระเจ้าจะตาย มนุษย์ก็ด้วย เช่นเดียวกันกับที่พระเจ้าจะมุ่งไปสู่จุดจบของพวกเขาด้วยเกียรติและความกล้า มนุษย์เองก็ทำได้ เช่นนั้นแล้วในมุมมองนี้ ความตายอันหลีกหนีไม่ได้ไม่ควรทำให้เราสิ้นกำลัง แต่ควรทำให้เรามุ่งหน้าใช้ชีวิตอย่างสง่างามและเป็นประโยชน์มากกว่า” แดเนียลพูดต่อ
ความเชื่อวันสิ้นโลกทำให้เราสบายใจได้?
แต่ว่าวิทยาศาสตร์มีความเห็นยังไง? แน่ล่ะว่าหากพูดในเชิงการตีความงานวรรณกรรมการมาถึงของวันสิ้นโลกสามารถถูกตีความออกไปได้หลากหลายแบบ แต่จากทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับมนุษย์ การคาดเดาได้ถึงการจบสิ้นของสรรพสิ่งจะสามารถมีความหมายอะไรได้ นอกจากความวิตกกังวล ความโกลาหล และความกลัว?
คำตอบอาจซับซ้อนกว่านั้น
สำหรับใครที่จำได้ เมื่อ 10 ปีที่แล้วใน 2012 น่าจะเป็นปีที่เรามีกระแสของความกลัววันสิ้นโลกโผล่มาเป็นวงกว้างที่สุด จากการตีความการสิ้นสุดของปฏิทินชาวมายาในวันที่ 21 ธันวาคม 2012 ที่ถูกตีข่าวออกไปทั่วโลกจนถึงขณะว่ามีภาพยนตร์ภัยพิบัติเป็นของตัวเอง ฉะนั้นการลองย้อนเวลากลับไปมองห้วงเวลานั้นๆ อาจให้คำตอบเราเกี่ยวกับความรู้สึกของเราต่อความกลัวที่ใกล้มาถึง
ชมวล ลิสเสก (Shmuel Lissek) นักวิจัยด้านประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมินเนโซตาผู้ศึกษาเรื่องความกลัวโดยเฉพาะพูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าในขณะที่การตอบแรกของร่างกายต่อการแตกตื่นมักเป็นความกลัว ชมวลเชื่อว่าคนที่เชื่อในวันสิ้นโลกนั้นมีมุมมองอื่นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอีกแบบไปพร้อมๆ กันด้วย นั่นคือความรู้สึกอิสระ และการมาถึงของวันสิ้นโลกแม้จะแปลได้ถึงการดับสูญ ในขณะเดียวกันมันก็หมายถึงการปลดเปลื้องออกซึ่งความรับผิดชอบไปพร้อมๆ กันด้วย ราวกับโลกบอกว่าความวิตก ความไม่แน่นอน และประสบการณ์ร้ายๆ ของเราที่เจอนั้นมีจุดจบที่แน่นอนอยู่
ฟังตอนแรกอาจดูไม่น่าเชื่อ แต่กี่ครั้งกันแล้วที่เราพูดว่า ‘โลกแตกได้ยัง?’ เมื่อเราเจอกับเหตุการณ์ไม่พอใจในชีวิต?
เดี๋ยวนี้ไม่มีตำนานโลกแตกแล้วเหรอ?
ตั้งแต่ความกลัวโลกแตกใน 2011-2012 อย่างหนักหนา ลองนึกไปว่า 10 ปีหลังจากนั้นความกลัวในรูปแบบเดียวกันนั้นแทบไม่เกิดขึ้น พวกเราหมดมุกวันโลกแตกกันแล้วจริงๆ เหรอ?
เรื่องที่ตลกร้ายที่สุดคือคำตอบว่าเราไม่ต้องการตำนานอีกต่อไป เพราะหน้าตาของโลกในปัจจุบันคล้ายวันสิ้นโลกมากกว่าที่เคย
ภาวะโลกร้อนที่ทำเอาระบบนิเวศและอากาศทั่วโลกแปรปรวน ทรัพยากรทางธรรมชาติที่หดหาย น้ำแข็งขั้วโลกละลาย รัฐบาลทั่วโลกที่ดูมุ่งหน้าสร้างรัฐแบบที่เราเห็นในนิยายดิสโทเปีย เทคโนโลยีที่ดูฉลาดและน่ากลัวเกินมนุษย์ โรคระบาดที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก และภาวะสงครามและความรุนแรงที่เราในฐานะปัจเจกไม่อาจปรามมันได้ ราวกับว่าความตายและวันสุดท้ายของโลกจะมีใบหน้าแจ่มชัดกว่าที่เราคิด และหน้าตาของมันใกล้เคียงกับโลกปัจจุบันของเราเหลือเกิน
และนี่คือความแตกต่างระหว่างตำนานและความจริง เพราะแม้ในแง่มุมหนึ่งการนับถอยหลังเวลาที่โลกมีอาจทำให้เราบางคนกล้าได้กล้าเสียกับชีวิตมากขึ้น ในขณะเดียวกันหากยกสถิติเกี่ยวกับสุขภาพจิตโดยองค์กร WHO ในปีที่ผ่านมาพบว่าในคนวัย 15-29 ปีทั่วโลก การฆ่าตัวตายนั้นพุ่งขึ้นสูงเป็นอันดับ 4 และสภาวะทางสุขจิตและการใช้สารเสพติดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 10 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความเป็นจริงของคนหมู่มาก วันสิ้นโลกนั้นน่ากลัวกว่าการเพิ่มกำลังใจ
เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ความจริงที่จับต้องได้นั้นน่ากลัวกว่าตำนานแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก