เวลคั่มทูวันเข้าพรรษา ด้วยความที่บ้านเราเป็นเมืองพุทธและการเป็นชาวพุทธที่ดี ในวันสำคัญทางศาสนาเช่นนี้เราจึงควรนุ่งขาวห่มขาวและเจริญกายใจให้บริสุทธิ์ด้วยการทำตามแนวนโยบายรัฐที่ให้เรา ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’
ภาครัฐที่แสนเป็นห่วงเป็นใยเราก็ได้ช่วยสร้างอุปสรรคด้วยการออกกฏหมายห้ามซื้อขายสุราและปิดผับบาร์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ให้ประชาชนชาวพุทธและชาวอื่นๆ ได้ไปวัด ทำบุญ เวียนเทียนตามวิสัยทำให้ประเทศไทยเจริญสถิตสถาพรเป็นอารยะไม่แพ้ชาติในในโลกต่อไป
งดเหล้าเข้าพรรษากับความซับซ้อนของศาสนา
หลายคนคงแอบอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย ว่าเฮ้ย นานๆ ทีจะมีวันหยุดที่ทั้งเราและเพื่อนๆ จะหยุดตรงกัน ตอนเช้าอาจจะไปตักบาตรทำบุญแล้ว หรือบางคนอาจจะไปประกอบกรรมดีต่างๆ ไปปลูกป่าบ้าง บริจาคเลือดหรืออวัยวะบ้าง หรือบางคนอาจจะโดดลงแม่น้ำไปช่วยลูกหมาที่กำลังจะจมน้ำบ้าง ไหนๆ พอภาคค่ำก็อยากจะไปผ่อนคลาย ออกจากโลกโลกุตระไปสู่โลกโลกียะ ดื่มกินไปตามประสา แถมบางคนก็บอกว่า ไอเป็นชาวคริสเตียน ไอก็เป็นคนดี ไอแค่อยากดื่มกิน แฮงค์เอาท์กับเพื่อนบ้าง ไอทำผิดอาราย
ตรงนี้ประชากรชาวไทยเลยเริ่มมีความขัดแย้งเล็กน้อย เพราะส่วนหนึ่งคงเพราะว่าการออกกฏเรื่องการงดขายเหล้าหรือให้เลี่ยงการดื่มเหล้าในวันสำคัญทางศาสนามันไปเกี่ยวกับประเด็นเรื่องศาสนาและศีลธรรมของประชาชนในประเทศที่มันมีความหลากหลายมากๆ เช่น ประชากรทั้งหมดไม่ใช่คนพุทธ หรือคนพุทธเองก็อาจจะไม่ได้เคร่งกับวันสำคัญทางพุทธศาสนามากขนาดที่จะต้องถือศีล เข้าวัด นุ่งขาวห่มขาว ไปจนถึงความซับซ้อนในแง่ของศีลธรรม ว่าการกินเหล้าเบียร์มันก็มีมิติของมัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น คือคนที่ดื่มเหล้าก็ไม่ได้แปลว่าเป็นคนเลวเสมอไป มันก็มีทั้งคนที่ดื่มไปทำดีไป ไม่ขับรถไปซัดชาวบ้าน ไปจนถึงคนที่ดื่มจนไม่ได้สติแถมทำตัวห่วยแตก สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
แถมเจ้าเหล้าเบียร์หรือแอลกอฮอล์ทั้งหลายมันก็มีมุมมองที่หลากหลายมากๆ เช่นในพุทธศาสนาเองในศีล 5 ข้อสุดท้ายก็บอกว่าให้งดสุราเมรัย พระพุทธองค์กล่าวในสัพพลหุสสูตรที่กล่าวถึงผลของการผิดศีล 5 ว่า ‘วิบากแห่งการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นบ้าให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์’ คำสอนทางศาสนาพุทธจึงมักกล่าวว่าการผิดศีลข้อสุดท้ายคือที่มาของการผิดศีลที่เหลือ และแนวทางสำคัญของพุทธศาสนาตามชื่อคือการเป็น ‘พุทธะ’ คือการเป็นผู้ตื่นรู้ แน่ล่ะการดื่มสุราที่ทำให้สติสัมปชัญญะของเราเลือนรางไปย่อมเป็นสิ่งที่ควรงดเว้นตามแนวทางของพุทธศาสนา
จริงๆ มุมมองทางศาสนาส่วนใหญ่ ก็ค่อนข้างมองเหล้าเบียร์ไปในทำนองเดียวกัน คือหากดื่มมากจนไร้สติก็ย่อมนำพามาด้วยความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น แต่ในมิติทางศาสนาหลายๆ ทางก็มีมุมมองที่ซับซ้อนต่อแอลกอฮอล์ พูดง่ายๆ ในร่มเงาของศาสนาหรือในพื้นที่ของศีลธรรมกลับมีเหล้าเบียร์ปรากฏอยู่ได้ เช่น ในพิธีกรรมศีลมหาสนิทมีการดื่มเหล้าองุ่นเพื่อเป็นการรับเอาพระคริสต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งทางจิตวิญญาณ เบียร์ดังระดับโลกจำนวนมากก็ผลิตในเขตอารามและต้มหมักกันด้วยน้ำมือของพระและแม่ชีโปรแตสแตนท์ เช่นกลุ่ม Trappist beer ส่วนในศาสนาโบราณอย่างกรีกและโรมันก็มีเทพเจ้าประจำการหมักบ่มไปจนถึงมีการใช้เหล้าและไวน์ในฐานะส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและเครื่องสังเวยสูงค่าให้กับทวยเทพ ในศาสนาชินโตในญี่ปุ่นเองก็มีการใช้และดื่มสาเกในพิธีกรรมเพื่อให้นักบวชสามารถสื่อสารกับทวยเทพได้ ศาลเจ้าบางแห่งจึงเป็นที่เลื่องลือเรื่องการบ่มสาเก
สังฆเบียร์ (Trappist beer)
แม้ว่าในคริสต์ศาสนาจะมีพิธีกรรมที่ใช้ไวน์ในการประกอบพิธี แต่โดยรวมๆ แล้วก็มีการเตือนหรือห้ามปรามการดื่มเหล้าจนเมามายขาดสติเหมือนกัน ในพระคัมภีร์ปรากฏการหมักและดื่มเหล้าคือคุณพ่อโนอาห์ของเรา หลังจากที่น้ำท่วมโลกแล้วมีการกล่าวถึงว่า โนอาห์ก็ได้ทำไร่และปลูกองุ่นจนหมักเป็นไวน์ มีตอนหนึ่งที่พูดถึงโนอาห์ที่ดื่มเหล้าจนเมาหลับเละเทะไป ในพระคัมภีร์เรียกเหล้าองุ่นนี้ว่า ‘ไวน์ของโนอาห์’ และอธิบายว่าเป็น ‘ความรื่นรมย์และการปลดเปลื้องสำหรับมนุษย์ที่เหน็ดเหนื่อยจากการเพาะปลูก’ โดยในเรื่องราวของพระเยซูก็มีไวน์เข้ามาเกี่ยวข้องหลายครั้ง เช่น การแสดงปาฏิหาริย์ของพระเยซูที่เปลี่ยนน้ำเปล่าให้เป็นไวน์ หรือในกรณี The Last Supper ที่พระเยซูทรงมอบขนมปังและไวน์ให้กับสานุศิษย์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระองค์ ซึ่งในการตีความพระคัมภีร์ก็มีข้อถกเถียงว่าคำว่าไวน์มันอาจจะหมายถึงไวน์ที่มีแอลกอฮอล์จริงๆ หรือน้ำองุ่นเฉยๆ กันแน่
ในคริสต์ศาสนาเองก็มีหลายนิกาย หลายสายเนอะ บางสายเช่น Mormon ที่เคร่งๆ ก็บอกว่าเหล้าเบียร์เนี่ยงดไปเลย ส่วนบางสายที่ประนีประนอมหน่อยเช่นโปรแตสแตนก็ประนีประนอมถึงขนาดให้ผลิตเบียร์กันในเขตอารามได้เลย ซึ่งผลิตอย่างเดียวไม่พอ สาธุคุณและคุณแม่ชีทั้งหลายเล่นผลิตกันจนได้คุณภาพ ส่งขายไปไกลทั่วโลก กลายเป็นภาคีเฉพาะ เช่นกลุ่ม Trappist อันเป็นกลุ่มอารามผลิตเบียร์ชื่อดัง
กลุ่ม Trappist ปัจจุบันหมายถึงกลุ่มอาราม 11 แห่ง ประกอบด้วย อาราม 6 แห่งในเบลเยียม 2 แห่งในเนเธอร์แลนด์ และอารามจากออสเตรีย อิตาลีและสหรัฐฯ อีกอย่างละแห่ง ซึ่งกลุ่มผลิตเบียร์ Trappist แท้จะมีแค่อาราม 11 แห่งนี้เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและขายเบียร์ในนาม Authentic Trappist Product ได้ ที่มาของคำว่า Trappist คือมีที่มาจากกลุ่มอารามที่เรียกว่า La Trappe ในฝรั่งเศส จริงๆ ในยุคกลาง พวกอารามหรือกลุ่มทางศาสนาต่างๆ มีการผลิตเบียร์เพื่อป้อนให้กับชุมชน
กลุ่มอาราม Trappist มีกฏในการผลิตเบียร์ของตัวเอง 3 ข้อ ข้อแรกคือเบียร์ทั้งหมดต้องหมักและกลั่นภายในรั้วของอารามและต้องทำโดยมือของพระหรือต้องอยู่ในการควบคุมของพระ ข้อสอง การผลิตเบียร์เป็นเพียงกิจการรองจากกิจกรรมทางศาสนาหลักของอารามเท่านั้น ข้อสาม คือการผลิตเบียร์ในอารามต้องไม่เน้นผลกำไรเป็นที่ตั้ง เป็นเพียงการหารายได้เพื่อทำนุบำรุงคุณภาพชีวิตและทรัพย์สินของอารามเป็นหลัก นอกจากนี้เม็ดเงินทั้งหลายยังต้องนำไปสู่การคืนให้กับสังคมด้วย
ฟังแล้วแบบนี้ การบริโภคเบียร์จากอารามฟังดูจะได้บุญไม่น้อย น่าสาธุและส่งเสริม เป็นการทำความดีทางอ้อมทางหนึ่งเหมือนกันนะ
อ้อ เบียร์ของกลุ่ม Trappist หลายยี่ห้อ มีขายตามซูเปอร์มาเก็ต ให้เราท่านได้ลิ้ม ‘รสพระทำ’ ได้ตามอัธยาศัย
To Drink or Not to Drink
พอเราพูดถึงการห้าม ในนิยามของศีลธรรม มันก็จะนำไปสู่ตรรกะบางอย่าง เช่นถ้าออกมาสงสัยว่าไอ้การห้ามขายเหล้ามันนำไปสู่อะไรจริงๆ หรือ? หรืออดเหล้าแค่วันสองวันจะเป็นจะตายหรือไง แง่หนึ่ง ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ดื่มเหล้าได้หรือไม่ได้ แต่แนวนโยบายของรัฐมันเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในนั้น ปัญหาบางครั้งอาจจะอยู่ที่วิธีคิดของรัฐที่มีต่อประชาชน ว่ารัฐ มองประชาชนอย่างไร บางครั้งการมองประชาชนว่าเป็นเสมือนเด็กๆ ต้องมีกฏและการห้ามมาคอยควบคุม มากกว่าจะเคารพการควบคุมตนเองก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อย และในทางปฎิบัติ กฏการห้ามก็ถูกแหกอยู่เหมือนเดิม
เพราะประเทศไม่ใช่โรงเรียน และประชาชนไม่ใช่เด็กนักเรียน
การควบคุมตนเองและการรู้จักคิด เคารพตนเองและผู้อื่น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการห้าม
เชื่อว่าใครที่อยากดื่ม ในที่สุดวันนี้ก็หาทางดื่มจนได้
ส่วนคนที่ไม่ดื่ม ต่อให้เหล้ามาจ่อที่ปาก ยังไงเขาก็ไม่ดื่มเหมือนกัน