แม้ตอนนี้สถานการณ์ COVID-19 จะค่อยๆ คลี่คลาย โรงเรียนกลับมาเปิด โรงหนังกลับมาให้บริการ ร้านค้ากลับมาคึกคักอีกครั้ง เหมือนกำลังย้อนสู่ช่วงเวลาที่เรายังไม่รู้จักคำว่า COVID-19 แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปและดูเหมือนจะไม่ย้อนกลับมาเป็นเหมือนเดิม คือเรื่อง ‘รูปแบบการทำงาน’ ที่หลายคนอาจพบว่า “ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ยังทำงานได้นี่นา…”
ช่วงนี้เราน่าจะเห็นหลายบริษัทเริ่มมีนโยบายให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา ครบทั้ง 5 วัน ซึ่งบางงานก็เข้าใจได้เพราะจำเป็นต้องอยู่หน้างานจริงๆ อย่างร้านอาหาร โรงงาน บริการต่างๆ และการเข้าออฟฟิศก็มีข้อดีที่ทำให้เราได้สานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ประชุมทีก็ไม่ต้องลุ้นว่าเน็ตจะหลุดไหม อยากติดต่ออะไรก็สะดวกกว่าส่งข้อความ แต่งานที่เราสามารถ ‘ทำที่ไหนก็ได้’ ล่ะ เรายังต้องเข้าออฟฟิศไปทำงานเหล่านี้อยู่หรือเปล่า ?
เมื่อการทำงานที่ไหนก็ได้ เริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ
ถ้ามองจากมุมพนักงาน เชื่อว่าการให้กลับไปทำงานในออฟฟิศตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์อีกครั้ง อาจจะกลายเป็นเรื่องที่หลายคนไม่เต็มใจสักเท่าไร เห็นได้จากข้อมูลใน mediacenter.adp.com ที่พบว่าพนักงานกว่า 64% คิดว่าจะเริ่มมองหางานใหม่ ถ้าต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวันแบบเดิม ส่วนข้อมูลจาก wfhresearch.com ที่สำรวจพนักงานในสหรัฐอเมริกาพบว่า บริษัทที่มีนโยบายให้มาทำงานที่ออฟฟิศ 5 วัน/สัปดาห์ มีพนักงานยอมทำตามนโยบายนี้แค่ 49% ส่วนบริษัทที่มีนโยบายเข้าออฟฟิศ 1-2 วัน/สัปดาห์ มีพนักงานที่ให้ความร่วมมือ 84% ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 และยังไม่มีนโยบาย work from home ต่อให้มีคนมาออฟฟิศถึง 80% ก็ยังถือว่าคนหายไปเยอะจนน่าตกใจแล้ว ตัวเลขดังกล่าวเลยสะท้อนให้เห็นมุมมองของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป และหลายคนก็ไม่ได้เต็มใจที่จะกลับไปออฟฟิศ แถมยังมีอำนาจต่อรองกันมากขึ้น
“ปัญหาตอนนี้คือคุณกำหนดบางอย่างที่มันไม่เหมาะกับความเป็นจริงและมันไม่เวิร์ค และเมื่อพนักงานลองแล้วไม่ได้ผล พวกเขาก็จะล้มเลิกไป” นิโคลัส บลูม (Nicholas Bloom) นักเศรษฐศาสตร์หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังงานวิจัย WFH Research กล่าว “ถ้าพนักงานปฏิเสธที่จะเข้าออฟฟิศ แสดงว่าระบบมันไม่เวิร์ค”
เพราะไม่เข้าออฟฟิศก็ยังทำงานได้และมีเวลาใช้ชีวิต
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้หลายคนไม่อยากเข้าออฟฟิศคงจะเป็นเรื่องการเดินทาง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่รอรถเมล์นาน รถไฟฟ้าก็ราคาแพง หรือจะใช้รถส่วนตัวก็ต้องทำใจกับปัญหารถติดจนค่าน้ำมันพุ่ง บางคนใช้เวลาเดินทางไปกลับนานกว่า 1 ชั่วโมงด้วยซ้ำ แต่พอทำงานจากที่บ้าน เราอาจจะใช้ 1 ชั่วโมงที่ว่านี้ไปออกกำลังกาย พาหมาไปเดินเล่น ทำอะไรที่ตัวเองชอบ เรียกง่ายๆ ว่ามีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้น แถมยังบริหารจัดการเวลาทำงานได้ยืดหยุ่นกว่านั่งจ้องจอที่อออฟฟิศอีกด้วย ส่วนเรื่องการแต่งตัวก็ไม่ต้องกังวลกับการรีดชุด หาเสื้อผ้าที่เหมาะกับการทำงาน แต่สามารถแต่งตัวสบายๆ อยู่บ้านได้
แม้ว่าการทำงานที่บ้านหรือร้านกาแฟ อาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่ากาแฟ แต่สำหรับบางคนอาจจะมองว่าคุ้มค่ามากกว่า ถ้าแลกมาด้วยเวลาที่เพิ่มขึ้น สุขภาพจิตที่ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายที่ลดลงเมื่อไม่ต้องเดินทางไปออฟฟิศ เลยไม่น่าแปลกใจที่มีงานวิจัยหรือการสำรวจออกมาว่า การทำงานที่บ้านหรือทำงานแบบไฮบริดช่วยให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้น
อย่างการสำรวจของ PwC’s Future of Work and Skills ที่รวบรวมมุมมองของผู้นำทางธุรกิจและ HR กว่า 4,000 คนจาก 26 ประเทศ พบว่า 57% มองว่าพนักงานในองค์กรของพวกเขาทำงานได้ดีขึ้นเมื่อทำงานทางไกลหรือทำงานแบบไฮบริดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แถมช่วงหลังๆ เรายังมีเทคโนโลยีที่พัฒนามาตอบโจทย์การทำงานทางไกลให้เราติดต่อกันได้สะดวกสบายมากขึ้นอีกด้วย
แต่ไม่ใช่แค่พนักงานเท่านั้นที่มองต่างไปจากเดิม เพราะหลายๆ บริษัทก็เริ่มปรับตัวตามไปด้วยอย่างข้อมูลของ wfhresearch.com บอกว่าบริษัทในสหรัฐฯ มีแผนจะให้พนักงาน work from home เพิ่มขึ้นจาก เฉลี่ย 1.58 วันต่อสัปดาห์ในเดือนมกราคม 2021 มาเป็น 2.37 วันต่อสัปดาห์ในเดือนมิถุนายน 2022 ทั้งที่สถานการณ์ COVID-19 เริ่มดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า
นอกจากนี้เราจะเห็นหลายบริษัทชื่อคุ้นอย่าง Airbnb, Cisco, Twitter, Apple ที่มีรูปแบบการทำงานทางไกลหรือแบบไฮบริด อย่าง Apple เองก็เคยจะปรับนโยบายจากการทำงานที่ออฟฟิศ 2 วันต่อสัปดาห์มาเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ เมื่อช่วงต้นปี แต่แล้วก็ต้องเบรกแผนนี้เอาไว้ก่อน เพราะพนักงานหลายคนไม่เห็นด้วยและบางคนก็ตัดสินใจลาออกอีกต่างหาก
แต่ไม่ได้หมายความว่าออฟฟิศไม่จำเป็น
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรเข้าออฟฟิศอีกต่อไป เพราะจริงๆ แล้วการเข้าออฟฟิศยังคงจำเป็นและมีข้อดีอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ภายในออฟฟิศ การสื่อสารที่ไม่ติดขัดหรือผิดพลาดเวลาพิมพ์ เพียงแต่การเข้าออฟฟิศอาจจำเป็นใน ‘บางสถานการณ์‘ โดยนิโคลัส บลูม กล่าวว่าองค์กรควรมองไปไกลกว่าคำถาม ‘ทำไมเราถึงอยากให้คนเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ’ แต่ต้องมองด้วยว่า รูปแบบการเข้าออฟฟิศตอบโจทย์เป้าหมายของเราหรือเปล่า เช่น ถ้าอยากให้ทีมที่ทำงานด้วยกันได้มาเจอกัน แต่ทั้งสองทีมกำหนดวันที่มาออฟฟิศกันคนละวัน แบบนี้ก็อาจจะไม่ไปไม่ถึงเป้าหมายได้ และเราไม่ควรให้พนักงานเข้าออฟฟิศมาเพื่อทำงานเดิมที่เขาสามารถทำได้ (หรือทำได้ดีกว่า) เมื่ออยู่ข้างนอก หรือให้พนักงานหาวิธีทำงานที่บ้าน ทั้งที่งานๆ นั้นควรจะเข้ามาทำที่ออฟฟิศมากกว่า
ดังนั้น COVID-19 เลยไม่ได้ทำให้เราปรับรูปแบบการทำงานแค่ ‘ชั่วคราว‘ เท่านั้น แต่ทำให้เรากลับมาทบทวนเรื่องสถานที่ทำงานกันอีกครั้งว่าจริงๆ แล้วควรเป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นได้หรือเปล่า และแม้จะไม่มีกฎตายตัวว่าควรเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละกี่วัน แต่ที่เชื่อว่าหลังจากนี้ การบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศเต็มเวลาทั้ง 5 วัน เพื่อมาทำงานที่เคย ‘ทำที่ไหนก็ได้‘ อาจไม่ใช่สิ่งที่หลายคนยอมรับว่าเป็นเรื่อง ‘ปกติ’อีกต่อไป
อ้างอิงจาก
weforum 01 , 02