ก่อน COVID-19 หลายคนคุ้นเคยกันดีกับการ ‘ทำงานเต็มเวลา’ นั่นคือต้องไป ‘นั่งโต๊ะ’ ตอนเก้าโมงเช้า แล้ว ‘ลุกจากโต๊ะ’ เวลาห้าโมงเย็น ไม่ว่าจะทำงานมากน้อยแค่ไหนก็ตามที
บางหน่วยงาน บางบริษัท ซึ่งรวมไปถึงแนวคิดแบบ ‘ราชการ’ ด้วย การมาทำงานวันเสาร์อาทิตย์ หรือทำงานดึกๆ ดื่นๆ อาจถูกมองว่ามีความเสี่ยงจะทำอะไรทุจริตด้วยซ้ำไป เพราะมันอาจหมายถึงการอยาก ‘ฟัน’ ค่าโอที (ในกรณีที่มีโอทีให้) หรือเกิดข้อสงสัยว่าเอาเวลางานไปทำอะไรหรือ ถึงต้องมาทำงานกัน ‘นอกเวลางาน’ หรือกระทั่งลอบทำอะไรลับๆ ล่อๆ หรือเปล่า ถึงต้องมาทำงานกันวันหยุด
ทั้งที่คุณอาจแค่ขยันและรักงานเท่านั้นเอง
แต่วิธีคิดเกี่ยวกับการทำงานที่แข็งทื่อตายตัวเหมือนไดโนเสาร์ถูกภูเขาไฟลวกจนกลายเป็นหินดังที่ว่ามา ถูกกระทำให้สิ้นสลายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อทุกคนจำเป็นต้อง work from home หรือทำงานที่บ้าน ในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19
แต่เมื่อ COVID-19 มีทีท่าจะเริ่มหายไป (ไม่ว่าจะหายไปจริงๆ หรือเราพยายาม ‘ไม่รับรู้’ มันกันแบบแตกตื่นอีกแล้วก็ตาม) แรงงานนับร้อยล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่ทำงานออฟฟิศที่เคยไปนั่งทำงานอยู่ในครัว ห้องนั่งเล่น หรือบางคนก็ไปเช่าโรงแรมเป็นที่ทำงาน—ก็คล้าย ‘ถูกผลัก’ ให้กลับเข้าไปอยู่ในออฟฟิศอีกครั้ง ดังที่เราเห็นได้จากคำประกาศของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ว่าต้องการให้คนกลับเข้ามาทำงานแบบ ‘เต็มเวลา’ อีกหน เพราะการได้พบหน้าค่าตากันเวลาทำงาน คือเรื่องสำคัญที่จะทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้
นั่นทำให้หลายคนเริ่มคิดว่า สถานการณ์จะเข้าสู่ ‘ภาวะปกติ’ คือคนจะเข้ามานั่งทำงานกันแบบเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น (หรือเวลาอะไรก็แล้วแต่) กันอีกหน
ทว่ามีรายงาน (ดูได้ที่ theatlantic.com) ว่า ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มคนทำงานที่ถือว่าเป็น ‘คนงานความรู้’ (knowledge workers) คือกลุ่มวิชาชีพที่ใช้ความรู้เป็นแกนหลักในการทำงาน มีคนกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลาเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
ส่วนในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน อย่างในอังกฤษ คนทำงานกลุ่มเดียวกันกลับเข้าไปทำงานเต็มเวลาแค่ 26% ในออสเตรเลียมีเพียง 28% ในเยอรมนีแค่ 32% ในฝรั่งเศส 35% ประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วที่คนกลับเข้าไปทำงานมากหน่อย ก็คือประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งหลายคนคงคาดเดาได้ไม่ยาก เพราะเป็นประเทศที่คน ‘บ้างาน’ กันอยู่แล้ว) แต่กระนั้นก็มากเกิน 50% ไปไม่มากนัก
มีการสำรวจโดย Future Forum (ดูได้ที่ futureforum.com) ว่าสำหรับคนทำงานกลุ่มที่เป็น knowledge workers พวกเขาไม่ต้องการถูกบังคับให้ต้องไป ‘นั่งโต๊ะ’ ตามเวลาอีกต่อไป เพราะการแค่ไปนั่งโต๊ะ (หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า show up) คือแค่ไป ‘แสดงตัว’ ว่าทำงานนั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำงานจริงๆ เสมอไป ดังนั้น สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการจึงคือสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตการทำงานสมัยก่อน นั่นคือ ‘ความยืดหยุ่น’ หรือ flexibility ต่างหาก
รายงานของ Future Forum บอกว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว คนทำงานเชิงความรู้ที่ต้องเข้าไปทำงานในออฟฟิศ มีน้อยกว่า 1 ใน 3 (คือน้อยกว่า 30%) เท่านั้น และคนราว 68% บอกว่าต้องการทำงานแบบผสมผสาน คืออยู่ที่บ้านก็ได้ ที่ทำงานก็ได้ ซึ่งเรียกว่าเป็น hybrid work
แต่พอมาถึงต้นปีนี้จนถึงกลางปี คนทำงานจำนวนมากพบว่าตัวเองถูกเรียกตัวให้กลับเข้าออฟฟิศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบที่สมัครใจหรือไม่ก็ตาม จำนวนของคนที่ทำงานแบบผสมผสานจึงลดลงจากกว่า 50% มาเหลือเพียง 45% และคนทำงานที่ต้องทำงานในออฟฟิศสัปดาห์ละห้าวันเพิ่มขึ้นเป็น 34% ซึ่งในรายงานนี้บอกว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ.2020
การที่คนเราจะอยาก ‘ทำงานที่บ้าน’ มากกว่าที่ออฟฟิศ ไม่ใช่แค่เรื่องอิสระเสรีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังกินความไปถึง ‘ความสามารถ’ ที่จะทำอย่างนั้นได้ด้วย ซึ่งก็หมายรวมไปถึงฐานะทางการเงิน หรือขนาดของบ้านช่องที่ทำให้สามารถ ‘ทำงานที่บ้าน’ ได้
มีผลสำรวจของ WFH Research Project (ดูได้ที่ wfhresearch.com) ที่ลงลึกไปถึงความต้องการและบ้านช่องห้องหับของผู้คน พบว่าคนที่อยู่ในยุโรปใต้ มีแนวโน้มจะอยากทำงานที่บ้านน้อยกว่าคนในยุโรปเหนือ เพราะในยุโรปใต้นั้น อพาร์ตเมนต์มีแนวโน้มที่จะมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งนั่นก็อาจเป็นอีกคำอธิบายหนึ่งด้วยเหมือนกัน ว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงกลับไปทำงานในออฟฟิศมากกว่าคนในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดที่อยู่อาศัยค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกัน
แต่นอกจากนี้ ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมก็มีส่วนอย่างมากด้วย อายุของคนคนนั้น รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในครอบครัว (ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปลูกฝังทางวัฒนธรรม) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนเลือกอยากทำงานที่บ้านหรือไปทำงานที่ออฟฟิศดีกว่า แต่โดยรวม WFH Research Project พบว่า หลัง COVID-19 คนอยากทำงานจากบ้านโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2.3 วัน และถ้านายจ้างบอกให้มาทำงาน มีคนที่มาทำงานตามที่ถูกสั่งราว 82% แต่ในจำนวนนี้ มีอยู่ 43% ที่บอกว่าต่อให้ไม่ได้เข้ามาตามที่นายจ้างต้องการ ก็ไม่ถูกลงโทษใดๆ แนวโน้มของการทำงานแบบยืดหยุ่นจึงเป็นแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างชัดเจน
WFH Research Project บอกว่า ถ้าสามารถทำงานแบบยืดหยุ่นได้ คนจำนวนมากยอมแลกรายได้ราว 5% (คือลดเงินเดือนลง 5%) กับการสามารถเลือกแบ่งเวลาระหว่างบ้านกับที่ทำงานให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองได้กันเลยทีเดียว
ที่จริงแล้ว แนวคิดเรื่องความยืดหยุ่นหรือ flexibility นี้ ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องสถานที่ว่าจะเป็นบ้านหรือที่ทำงาน (หรือที่อื่นๆ) อย่างที่เรียกกันว่า flex place เท่านั้น ทว่ายังหมายรวมไปถึงความยืดหยุ่นเรื่องเวลา หรือที่เรียกว่า flex time ด้วย เพราะช่วงเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น ช่วยให้คนแต่ละคนสามารถลุกขึ้นทำงานตามเวลาที่เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งในแง่ของสภาพร่างกาย (ในทางชีววิทยา มนุษย์เรามีทั้งประเภทที่ชอบนอนดึกตื่นสาย และนอนเร็วตื่นเช้าโดยธรรมชาติ) รวมไปถึงภารกิจทางบ้าน และพื้นเพทางสังคมวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมา ดังนั้น การยืดหยุ่นทั้งในเรื่องเวลาและสถานที่ จึงทำให้คนสามารถ ‘คิดใหม่’ (rethink) เกี่ยวกับตัวเองและสภาพการทำงานของตัวเองได้ โดยพบ (จากการสำรวจของ Future Forum) ว่ามีคนมากถึง 79% ที่อยากได้ความยืดหยุ่นทางสถานที่ และมีมากถึง 94% ที่อยากได้ความยืดหยุ่นทางเวลา
ในโลกแบบเก่า เราอาจให้ความสำคัญกับ ‘เจ้านาย’ มากกว่า ‘ลูกน้อง’ นั่นคือใครเป็นหัวขององค์กรจะได้รับความ ‘ใส่ใจ’ จากโครงสร้างองค์กรมากกว่า รวมทั้งมีอำนาจในการตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้องค์กรได้มากกว่าด้วย แต่ในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต กลุ่มคนในหน่วยงานที่จะต้อง ‘ถูกให้ความสำคัญ’ มากขึ้น ก็คือกลุ่มคนที่เป็น ‘คนทำงาน’ หรือ workers นี่แหละครับ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่มีทักษะและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่คือคนยุคใหม่ที่เติบโตมาในโลกยุคดิจิทัล และมีความรู้ความเข้าใจในโลกที่ตัวเองอยู่มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าที่เริ่มล้าหลังไปแล้ว (แต่ดันมีที่ทางสูงส่งในทางการงานมากกว่า) ดังนั้น คนกลุ่มที่เป็น ‘คนทำงาน’ จึงจะมีอำนาจต่อรองกับองค์กรหรือหน่วยงานมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้ เรามักพูดกันว่า ‘คนรุ่นใหม่’ มีลักษณะที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำงานได้ไม่นาน ไม่อดทน อยู่ได้แป๊บๆ ก็ลาออกไปแล้ว แต่คำถามก็คือ เป็นไปได้หรือเปล่าที่โดยเปรียบเทียบแล้ว—คนเหล่านั้นอาจไม่ได้ ‘รุ่นใหม่’ มากกว่าความ ‘รุ่นเก่า’ ของการจัดการองค์กรของตัวเราเองหรอก
ว่ากันว่าเศรษฐกิจกำลังจะดิ่งลงเหว ในสภาวะแบบนี้ การมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถอยู่ในองค์กรคือเรื่องสำคัญที่สุด
คำถามก็คือ—กฎระเบียบและโครงสร้างองค์กรของคุณกำลังขัดขวางการดำรงอยู่ของผู้คนเหล่านี้หรือเปล่า?
Illustration by Kodchakorn Thammachart