จากสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงและใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน การหลีกเลี่ยงออกไปยังสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน เป็นอีกคำแนะนำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ว่าก็รวมถึงมาตรการ ‘work from home’ หรือการทำงานที่บ้านด้วย
ปัจจุบันการทำงานแบบ ‘work from home’ ‘work at home’ หรือ ‘remote’ ถูกหยิบมาใช้กับบริษัทเอกชนทั่วโลกได้สักระยะแล้ว บางองค์กรในไทยก็เริ่มนำวิธีการนี้มาใช้แล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้แพร่หลายมาก และการทำงานจากบ้านก็ดูจะเป็นของใหม่สำหรับบางคนด้วย
ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจใช้มาตรการทำงานที่บ้านแทนการเข้าออฟฟิศทุกวัน จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับออฟฟิศที่เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมงานหลายสิบชีวิต การพูดคุยประสานงานที่สะดวกรวดเร็ว แต่พอต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านประสิทธิภาพในการทำงานก็อาจจะลดลงตามไปด้วย
คำถามก็คือ แล้วเราจะปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไงได้บ้าง ในขณะที่การทำงานที่บ้านก็อาจจะมีปัจจัยหลายๆ อย่างเพิ่มเข้ามาแบบที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน
บทความจาก Huffington Post ชี้ให้เห็นข้อดีของการทำงานที่บ้านว่า อย่างน้อยที่สุดการอยู่ในสถานที่ปิดและควบคุมได้ ทำให้เราวางแผนวิธีการรับมือกับไวรัส Covid-19 ได้ดีกว่าการเดินทางออกไปทำงานที่ออฟฟิศ นอกจากจะดูแลสุขอนามัยของตัวเองแล้ว พื้นที่ภายในบ้านก็ยังเป็นอาณาเขตที่เราไม่ต้องคอยกังวลถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคเหมือนสถานที่สาธารณะด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะสร้างความกังวลมากขึ้นก็คือ แผนการทำงานของคุณพ่อบ้านแม่บ้านที่มีลูกเล็กๆ ปกติที่เคยวางตารางงานไว้ตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่พอต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านเวลาตอนเช้าที่เคยไปทำงานอาจจะกลายเป็นกิจกรรมทำอาหารเช้าเผื่อลูกๆ แทน
หรือเมื่อเด็กๆ เห็นพ่อแม่ของเขาอยู่บ้านก็อาจจะเข้ามาใกล้ชิดหรืออยากเล่นด้วยอีก แล้วเวลาอาหารกลางวันที่เคยตรงเวลาเที่ยงเป๊ะจะยังสามารถคงไว้ตามเดิมแบบที่เคยทำได้รึเปล่า เวลาอาบน้ำ เวลาเข้ายิม หรือออกกำลังกายล่ะจะยังเหมือนเดิมไหมนะ?
1. สร้าง ‘blue zone’ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
สำหรับคนมีคู่ การทำงานอยู่บ้านทั้งสองคนอาจจะต้องแบ่งพื้นที่การทำงานกันให้ลงตัวที่สุด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นห้องทำงานหรือห้องนอน แต่ต้องเป็นพื้นที่เงียบ เป็นส่วนตัว และมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดี บางทีเราอาจจะทำงานในห้องนอน ขณะที่คู่ของเราทำงานในห้องครัวแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่รักที่อยู่คอนโด หรืออพาร์ตเมนต์ที่มีพื้นที่จำกัด ประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะต้องตกลงกันตั้งแต่เนิ่นๆ
2. แบ่งการทำงานเป็นกะ
สำหรับคนที่มีครอบครัวแล้ว การแบ่งเวลาทำงานเป็นกะเหมือนที่ออฟฟิศ เช่น 9 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็นนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากมาก เขาแนะนำว่า ให้สามีภรรยาพูดคุยถึงเวลาที่แต่ละคนมีประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุดจะดีกว่า
เช่น ถ้าสามีทำงานตอนเช้าได้ดีที่สุด ภรรยาก็จะทำหน้าที่ดูแลงานบ้านและลูกๆ ในช่วงเวลานั้นไป ส่วนถ้าภรรยาชอบทำงานตอนกลางคืนมากกว่า ก็ให้สามีรับช่วงดูแลลูกๆ ต่อแทน แต่ถ้าทั้งคู่ชอบทำงานเวลาเดียวกัน ให้ใช้วิธีสลับวันเว้นวันกัน
ผู้เชี่ยวชาญเสริมด้วยว่า นอกจากการแบ่งงานกันทำจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดีขึ้นตามลำดับด้วย
“เมื่อมองกลับมาพวกเขาจะรู้สึกว่า เราทำงานกันเป็นทีมดีจังเลย”
3. ในเรื่องร้ายๆ ก็ยังมีเรื่องดีๆ ให้ได้คิดถึง
แม้สถานการณ์ไวรัสจะรุนแรงและน่าเป็นห่วงมาก แต่ในเรื่องร้ายๆ แบบนี้ก็ยังมีมุมน่ารักๆ ซ่อนอยู่เหมือนกัน การทำงานที่บ้านทุกวันอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลายๆ อย่างไปบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดนี่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ครอบครัวได้กินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตาทุกมื้อและทุกวัน
นอกจากนี้ เรายังได้เห็นโมเมนต์การทำงานของอีกคนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นมุมที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “ปล่อยให้ตัวเองได้ประทับใจช่วงเวลาที่ได้เห็นคู่ของคุณประสบความสำเร็จเถอะ”
4. เพื่อนที่ชื่อ ‘ความกังวล’
ช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวและรับมือกับวิกฤตในคราวเดียวกัน อาจสร้างความเครียดกังวลให้กับเราได้ ซึ่งถ้ายังรู้สึกกังวลก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ตัวเองหยุดคิด แต่จงปล่อยให้ตัวเราได้อยู่และใช้เวลากับมันสักพัก
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เรายังไม่จำเป็นต้องรีบจัดการกับความกังวลจากสถานการณ์ตึงเครียดนี้ หายใจเข้าลึกๆ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วพูดกับตัวเองว่า “ตอนนี้ฉันรู้สึกกังวล และนี่เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกแบบนั้น”
จากนั้นเราควรจะจำกัดการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤตไวรัส COVID-19 ให้พอเหมาะไม่มากจนเกินไป คิดเสียว่าการทำงานที่บ้านก็เหมือนเวลาเราอยู่ที่ออฟฟิศนั่นแหละ ถ้าคุณทำงานในออฟฟิศคุณสามารถดูและเสพข่าวตลอดทั้งวันได้ไหม? ก็คงจะทำไม่ได้ ติดตามกระแสข่าวบ้างเป็นครั้งคราวในแต่ละวันคิดซะว่า เจ้านายกำลังมองมาที่คุณอยู่ทุกๆ ครั้งที่จะก้มกดมือถือหรือเช็คข่าวจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
และอย่าลืมบอกกับตัวเองด้วยว่า เราจะไม่ป้อนความเครียดความกังวลอะไรเพิ่มเติมให้ชีวิตมากไปกว่านี้แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก