ไม่ใช่แค่รายการคืนความสุขทุกหัวค่ำวันศุกร์ หากแต่การสื่อสารของนายกฯ ลุงตู่ ของพวกเรายังเป็นไปอย่างเข้มข้นตลอดสามปีผ่านมาการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ หยอกล้อนักข่าว แซวชาวบ้าน หรือแม้แต่การแต่งเพลง ซึ่งสะท้อนได้ดีถึงตัวตนและมุมมองทางการเมืองของหัวหน้า คสช.
อันที่จริง มันก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยเนอะว่า ประโยคต่างๆ ที่ผู้นำทางการเมืองสื่อสารออกมานั้น มันสามารถตีความในแง่มุมไหนกันไ้ด้บ้าง The MATTER จึงหยิบงานวิจัยบางส่วนที่เข้าไปศึกษา-ถอดรหัส ‘รูปแบบ’ และ ‘ความหมาย’ ที่ซ่อนอยู่ภายในการสื่อสารของนายกฯ ลุงตู่มาให้ดูกัน เผื่อเก็บสะสมเป็นหนึ่งในแง่มุมที่เกิดขึ้นในบันทึกการเมืองร่วมสมัยของพวกเรา
บทบาทหน้าที่และความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปรากฏในข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์รายวัน
– วิทยานิพนธ์ วารสารศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2559
ด้วยตำแหน่งสุดสำคัญในระดับนายกรัฐมนตรี จึงส่งผลให้นายกฯ ลุงตู่ ของพวกเราได้ถูกเมนชั่นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์กันแทบทุกวัน งานวิจัยชิ้นนี้เข้าไปสำรวจว่า ในข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับต่างๆ นั้นมันสะท้อนภาพความเป็นผู้นำในรูปแบบไหนของลุงตู่ออกมากันบ้าง
การศึกษาครั้งนี้สำรวจเฉพาะพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ ‘ไทยรัฐ’ และ ‘มติชน’ ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาม 2557 ถึง 29 มกราคม 2559 จำนวนทั้งหมด 358 ฉบับ รวมถึงสัมภาษณ์ขอความเห็นจากสื่อมวลชนในวงการหนังสือพิมพ์
ทั้งนี้พบว่า บนหนังสือพิมพ์มติชนนั้น ปรากฏภาพความเป็นผู้นำแบบอัตตาธิปไตย (Authoritarian) มากที่สุดคือ 78.27% ของประเภทผู้นำทั้งหมด โดยนำเสนอคุณลักษณะแบบรู้ข้อเท็จจริงเพียงผู้เดียว / สั่งการตามอารมณ์มากที่สุดคิดเป็น 50% สอดคล้องกับไทยรัฐ ที่ปรากฏความเป็นผู้แบบอัตตาธิปไตยมากที่สุดเช่นกัน โดยคิดเป็น 86% ของประเภทผู้นำทั้งหมด ขณะที่คุณลักษณะแบบรู้ข้อเท็จจริงเพียงผู้เดียว / สั่งการตามอารมณ์ พบได้ 43.39%
“จากการที่นายกรัฐมนตรีมีลีลาการตอบคำถามแบบตอบทุกคำถาม ตอบโต้ทุกประเด็น ให้สัมภาษณ์ทุกเรื่อง ทั้งยังมีรายการคืนความสุขให้คนในชาติซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกคืนวันศุกร์ ทำให้มีวัตถุดิบในการเขียนข่าวจำนวนมาก ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้เองที่สะท้อนประเภทผู้นำและคุณลักษณะของผู้นำผ่านหัวข่าวและความนำข่าวหน้า 1” ผู้วิจัยระบุในส่วนของการอภิปรายผล
เข้าถึงงานวิจัยได้ที่ : http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5707010194_4318_3784.pdf
วาทะวิพากษ์ คสช . : ศึกษาผ่านคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.-1 ส.ค. 2557
– สารนิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสื่อสารเพื่อกิจการภาครัฐและภาคเอกชน คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ขึ้นชื่อว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศ วาทะต่างๆ ที่สื่อสารไปยังประชาชน ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะในแง่ที่ทำให้เราเห็นถึงภาพรวมของประเทศในปัจจุบันและอนาคตได้ ตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศก็เน้นหนักในเรื่องการสื่อสารมาตลอด มีการจัดเวลาให้นายกฯ ได้แถลงต่อสาธารณชนอยู่ทุกวันศุกร์
งานวิจัยนี้สำรวจว่า วาทะต่างๆ ที่นายกฯ พูดในทุกคืนวันศุกร์มีเนื้อหาลักษณะอย่างไร จุดแข็ง จุดอ่อน มีตรงไหน และมีความน่าสนใจอะไรที่ซ่อนอยู่บ้าง ผ่าน 10 ตัวบทที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. ถึง 1 ส.ค. 2557
ในภาพรวมค้นพบว่า ‘วาทศิลป์’ ของลุงตู่ได้เน้นการแสดงออกซึ่งความปรารถนาดีต่อผู้ฝัง โดยแสดงออกว่าเป็นรัฐบาลที่ห่วงใยประชาชน หวังดีต่อประเทศและสถาบันหลักของชาติ มีความซื่อสัตย์ มุ่งมั่นแก้ปัญหา เป็นผู้รักษาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
ที่น่าสนใจมากๆ คือการค้นพบว่า วาทะของนายกฯ ได้โน้มน้าวใจผู้ฟังด้วยหลายวิธี โดยเฉพาะสร้างให้ผู้ฟังเกิดความหวาดกลัว (พูดให้ชัดคือ สื่อสารว่าถ้าไม่ร่วมมือกับ คสช. บ้านเมืองจะต้องกลับไปเผชิญหน้ากับความไม่สงบเรียบร้อย) อีกทั้งยังใช้ความรู้สึกชาตินิยมไปเป็นเครื่องมือหลอมรวมประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว
ส่วนจุดเด่นของวาทะนายกฯ อยู่ตรงที่บุคลิกตรงไปตรงมาและมีความเด็ดขาด พยายามสื่อสารให้ประชาชนรู้สึกความสามารถพึ่งพิงได้ ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยวิเคราะห์ว่า จุดด้อยอยู่ที่บุคลิกการพูด สีหน้าเคร่งขรึมทำให้เกิดความตึงเครียด ยืนตัวตรงเหมือนถูกออกคำสั่งมากกว่าสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ รวมถึงขาดความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูล
ติดต่อขอเข้าถึงงานวิจัยได้ที่ : http://www.nida.ac.th/th/index.php/nida-library
วาทกรรมความรักชาติผ่านบทเพลงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
– บทความ ตีพิมพ์ในวารสารวิถีสังคมมนุษย์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม – มิถุนายน 2559
“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประโยคนี้เราก็ต่างได้ฟังกันผ่านบทเพลงคืนความสุข ซึ่งว่ากันว่านายกฯ ลุงตู่ เป็นคนแต่งเนื้องร้องด้วยตัวเอง
งานศึกษาชิ้นนี้สำรวจว่า บทเพลงของ คสช. ที่ถูกแต่งขึ้นมานั้นมีวาทกรรมความรักชาติในรูปแบบไหนกันบ้าง หนึ่งในเรื่องที่ผู้วิจัยค้นพบจากเพลง ‘คืนความสุข’ คือ มันถูกประกอบด้วยวาทกรรม ‘ผู้สร้างชาติและพัฒนาชาติ’ ในฐานะผู้คืนความสุขให้กับสังคมไทย
เช่นเดียวกับเพลง ‘เธอคือประเทศไทย’ ซึ่งเป็นอีกผลงานที่นายกฯ ลุงตู่ เป็นผู้ประพันธ์ ทางผู้วิจัยก็พบว่าประกอบด้วยวาทกรรม ‘ผู้สร้างชาติและพัฒนาชาติ’ เพื่อตอกย้ำให้เกิดภาพลักษณ์ของรัฐบาลและคสช. ว่าเป็นผู้ทำประโยชน์ให้กับประชาชน และจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายประเทศไทยอีกต่อไป
“กล่าวคือ เพื่อตอกย้ำทำให้เกิดภาพลักษณ์ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นผู้สร้างชาติและผู้ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน โดยกล่าวในบทเพลงว่าจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายประเทศไทยอีกต่อไป”
“การอ้างถึงเรื่องความรักชาติย่อมมีส่วนช่วยปลุกเร้าความเป็นพวกพ้อง ภาษาที่ใช้สื่อสารย่อมก่อให้เกิดพลังในการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลง การสื่อสารเรื่องความรักชาติให้มีพลังมากพอที่จะกระตุ้นจิตสำนึกหรือจูงใจให้ประชาชนปฏิบัติ จึงเป็นวาทกรรมชุดหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน” ผู้ศึกษาระบุ
เข้าถึงงานวิจัยได้ที่ : https://www.tci-thaijo.org/index.php/wh/article/view/89303
นวัตกรรมการสื่อสารแนวคิดค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
– วิทยานิพนธ์ วารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะวารสารฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไหนๆ ใครท่องได้บ้างว่าค่านิยม 12 ประการตามแนวทางของนายกฯ ลุงตู่ มีอะไรกันบ้าง? ตอบได้ตอบไม่ได้เป็นต้องบอกนะ ทดไว้ในใจแล้วกัน
ด้วยความที่ลุงตู่อยากให้พวกเรามีค่านิยมที่ดีๆ เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ทางภาครัฐจึงมีความพยายามนำเสนอค่านิยมทั้ง 12 ข้อออกไปสู่สังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ก็ศึกษาหลายเรื่อ เช่น อะไรคือเป้าหมายในการสื่อสาร ใช้เครื่องมืออะไร และสื่อที่ใช้มีความ ‘ใหม่’ ในแง่มุมไหนบ้าง
สิ่งที่งานวิจัยนี้ค้นพบมีเรื่องน่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ รัฐบาลลุงตู่มีรูปแบบการสื่อสารค่านิยม 12 ประการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผ่านหน่วยงานรัฐมากมาย ใช้สื่อหลสยประเภททั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้สติ๊กเกอร์ไลน์ อีกทั้งหน่วยงานที่รับไปทำโปรเจ็กต์การสื่อสาร ยังต้องปรับข้อความค่านิยมเพื่อความเหมาะสม
“เนื่องจากข้อความค่านิยมที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศมีความยาวมาก ยากต่อการจดจำ หน่วยงานต่างๆ จึงต้องปรับข้อความให้สั้นลง ทำให้เนื้อหาค่านิยมที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ มีหลายฉบับ” ผู้วิจัยระบุ
แม้ว่าการสื่อสารค่านิยม 12 ประการจะใช้รูปแบบที่ใหม่ แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำไทยพยายามนำเสนอ ‘ค่านิยมอันพึงประสงค์’ ไปยังประชาชน เพราะในอดีตก็เคยปรากฏขึ้นให้เห็นแล้วหลายครั้ง เช่น รัฐนิยมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม – ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ – ค่านิยมที่พึงประสงค์ 9 ประการของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ หากมองในแง่ความเป็นผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เมื่อการตรวจสอบถ่วงดุลเป็นไปได้ยาก และมีอำนาจการปกครองประเทศมีมากกว่าปกติแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้การสื่อสารมีความเข้มข้นมากขึ้นแค่ไหน? มันก็เป็นคำถามที่น่าสนใจเช่นกัน
เข้าถึงงานวิจัยได้ที่ : http://beyond.library.tu.ac.th/cdm/ref/collection/thesis/id/21679
การศึกษาวิเคราะห์วาทกรรมสร้างความปรองดองตามหลักวาจาสุภาษิตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
– วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ความน่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้คือการหยิบเอากรอบของ ‘วาจาสุภาษิต’ มาใช้ในการศึกษาการสื่อสารเพื่อสร้างความปรองดองของรัฐบาลลุงตู่ โดยศึกษาผ่านทั้งเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก รวมถึงสำรวจคำกล่าวของนายกฯ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน 2559
งานวิจัยนี้พบว่า รายการคืนความสุขให้คนในชาติ เป็นพื้นที่ที่นายกฯ ลุงตู่ นำเสนอนโยบายเพื่อสร้างความปรองดองอยู่บ่อยๆ คีย์เวิร์ดที่ถูกสื่อสารออกมาคือ รัฐบาลต้องการให้ประเทศชาติมีการพัฒนา ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสันติสุขปรองดองและเป็นที่ยอมรับจากประชาคมโลก
ข้อความที่ถูกนำเสนอในรายการ ยังเข้าลักษณะ 5 ข้อ คือ เน้นการแบ่งปันมากกว่าแบ่งแยก – นำเสนอทิศทางอนาคตประเทศ – เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม – จริงใจในการแก้ปัญหา – วางรากฐานประชาธิปไตย
“ผลการวิจัยพบว่า วาทกรรมมีความหมายที่มิใช่แต่เพียงคำพูด หรือการใช้วาจา แต่เกี่ยวข้องกับการแสดงอำนาจ ความรู้ และข้อเท็จจริงที่ส่งผ่านถึงผู้ฟังจนทำให้ความรู้ อำนาจนั้นเกิดขึ้นจริง” งานวิจัย ระบุ
เข้าถึงงานวิจัยได้ที่ : https://www.tci-thaijo.org/index.php/journal-peace/article/view/80005/pdf_19
ความคิดเห็นของประชาชนต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองและภาพลักษณ์อารมณ์ขันของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
– วิทยานิพนธ์ ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตีพิมพ์ลงใน JC Journal ฉบับเดือนมกราคม – มิถุนายน 2559
“ลุงตู่เป็นคนตลก”
คำพูดนี้เราก็ได้ยินกันมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารบ้านเมืองตั้งแต่ช่วงแรกๆ เนอะ ด้วยลีลาท่าทางการแถลงข่าว หยิกแกมหยอก วาทะโด่งดังล้อเล่นกับนักข่าวอยู่เสมอก็เลยกลายเป็นที่มาของภาพลักษณ์นี้
มีงานวิจัยนี้ศึกษา ‘รูปแบบ’ ของอารมณ์ขันสไตล์นายกฯ ลุงตู่ โดยพบว่ามีมากมาย ดังต่อไปนี้ ตลกกับภาษา (“ผมไม่ใช่ดารา ผมเป็นทหาร”) ตลกเสียดสี (“ประเทศไทยจะแยกขยะไปทำไม แยกไปก็เอาไปกองรวมกัน”) ตลกกับกลไกชีวิต (ขับสามล้อ-บิ๊กไบค์ทัวร์ทำเนียบ) ตลกกับอารมณ์ความรู้สึก (“เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดียม”) ตลกกับสามัญสำนึก (“ถ้านายกฯไม่พูดจะทำอะไรดี หรือจะให้เล่นลิเกให้คนดู”)
นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อ ‘อารมณ์ขัน’ ของลุงตู่ด้วยเหมือนกัน โดยสำรวจผ่านคนกรุงเทพมหานครจำนวน 400 คน ซึ่งพบว่า ภาพลักษณ์ทางการเมือง กับ ภาพลักษณ์อารมณ์ขันของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความสัมพันธ์กัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มันมีแนวโน้มว่า ถ้าประชาชนมีความคิดเห็น ‘ในเชิงบวก’ ต่อภาพลักษณ์เรื่องอารมณ์ขันของนายกฯ ความคิดเห็นต่อเรื่องภาพลักษณ์ทางการเมืองก็จะเป็นในเชิงบวกเท่ากัน
The MATTER เคยสัมภาษณ์ อ.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ขันกับการเมือง อ.จันจิรา บอกกับเราเอาไว้ว่า
“ผู้นำบางประเภทใช้อารมณ์ขันแล้วพอเราฟัง มันขัดหูเรา อย่างเช่น สมัยมีกรณีข่มขืนชาวอังกฤษที่เกาะเต่า นายกฯพูดว่า ถ้าคุณไม่สวยจริง แล้วใส่บิกินนี่ไม่มีใครข่มขืนหรอก หรือการที่ทรัมป์ล้อนักข่าวพิการโดยการทำท่าล้อเลียน คือคนทั้งโลกฟังแล้วตกใจ คนฟังแล้วก็ไม่ชอบ เพราะฉะนั้น ผู้นำใช้อารมณ์ขันได้ แต่ใช้แล้วเป็นยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง”
เข้าถึงงานวิจัยได้ที่ : https://www.academia.edu/28289907/