สิ่งท้าทายคนที่อาศัยในแถบประเทศเขตร้อนอันดับต้นๆ ก็ไม่ใช่ภัยไหนไกลตัว มันคือเหล่า “ยุง” คู่ปรับตลอดการที่มนุษย์พยายามหาวิธีอยู่ร่วมกับมัน พอๆกับจำกัดประชากรยุงที่ดูเหมือนจะไม่มีทางสูญพันธุ์เป็นเวลาร้อยๆ ปี มันจึงเป็นแมลงที่สามารถปรับตัวเพื่อการอยู่รอดได้ทนทรหดมากที่สุดเท่าที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มา
หากยุงดูดเลือดเฉยๆแล้วจากไป เราก็คงไม่ต้องมากกลุ้มใจจนถึงทุกวันนี้ เพราะ ยุงเป็นพาหะโรคมาลาเรีย (Malaria) ที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในประเทศเขตร้อน คุกคามสุขภาพและชีวิตประชากรหลายหมื่นคนต่อปี
โรคมาลาเรียนี้เกิดจากติดเชื้อโปรโตซัวกลุ่มหนึ่ง ชื่อ พลาสโมเดียม (Plasmodium) โดยเชื้อมาลาเรียที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ ชนิดฟัลซิปารัม (P. falciparum) และไวแวกซ์ (P. Vivax) จากยุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นพาหะนำโรค
ในอดีตประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ความก้าวหน้าวิทยาการทางแพทย์ จากความทุ่มเทของคณะแพทย์และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ติดตามการระบาดของมาลาเรียมาอย่างยาวนาน ทำให้เราสามารถจำกัดวงระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของเชื้อมาลาเรียที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
แต่เชื้อมาลาเรียไม่เคยหยุดเพื่อรอคอยใครเช่นกัน อาจถึงขั้นที่เหล่านักวิทยาศาสตร์วิตกกังวลมากที่สุด เมื่อเชื้อมาลาเรีย ‘กลายพันธุ์’ เป็นสายพันธุ์ดื้อยา และอาวุธสุดท้ายที่เรามี กลับไม่สามารถทำอะไรมันได้เลย
ศ.ดร. มัลลิกา อิ่มวงศ์ กล่าว หัวหน้าภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุ์ศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อกรกับโรคมาลาเรียมาอย่างยาวนาน และเป็นผู้ที่ศึกษาการแพร่กระจายของสายพันธุ์ดื้อยา ฟัลซิปารัม (P. falciparum) คนแรกๆของโลก โดยผสานความร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลกทั้ง Worldwide Antimalarial Resistance Network (WWARN) และ หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดลอ็อกซ์ฟอร์ด (Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit – MORU) เพราะ ไม่ควรมีใครเผชิญหน้ากับวิกฤตมาลาเรียโดยลำพัง
มาลาเรียเป็นโรคจากปรสิตอันตรายถึงชีวิตมากที่สุด มีคนติดเชื้อ 2 ล้านคนต่อปีและอีก 4 แสนคนเสียชีวิต แต่ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น อาจมีจำนวนตกสำรวจไปอีกมาก มันจึงเป็นโรคที่มีความสำคัญในหลายภูมิภาคของโลกไม่ใช่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น
แม้ปัจจุบันอัตราการแพร่ระบาดจะลดลง แต่ในช่วง 10ปีที่ผ่านมา ภาวการณ์ดื้อยาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะ บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และชายแดนไทย-พม่า โดยมีรายงานเชื้อดื้อยาหลายชนิด จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการประเมินผลการดื้อยาของเชื้อฟัลซิปารัมมาลาเรีย ไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่และภูมิภาคอื่นๆ
ภารกิจท้าทายที่หยุดไม่ได้
“ยุงไม่จำเป็นต้องมีพาสสปอร์ต มันสามารถบินไปได้ทุกที่” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว “เรายิ่งต้องกังวล หากยุงเป็นพาหะนำเชื้อดื้อยาไปแพร่ระบาดที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะพม่า อินเดีย และอาจไปสู่แอฟริกา ที่มีเชื้อมาลาเรียหลายสายพันธุ์ ภารกิจของเราจึงเป็นระดับโลก แต่เรามีทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญมากที่สุดคอยรับมือ”
ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดจากเมืองไพลิน ประเทศกัมพูชา ไปสู่ประเทศเวียดนาม แสดงว่าเชื้อสามารถแพร่ระบาดได้สูง แต่ต้องควบคุมไม่ให้ระบาดสู่พม่าและอินเดีย ที่เปรียบเสมือน “ฮับ”ของสายการบินเกือบทั่วโลก ผู้ป่วยสามารถนำเชื้อมาเลเรียข้ามไปสู่ทวีปแอฟริกาได้ คนที่ติดเชื้อมาลาเรียส่วนใหญ่ในแอฟริกาเกินกว่า 50% ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลติดเชื้อมาลาเรียทั้งหมด คุณลองจินตนาการดู ว่ามันจะยุ่งแค่ไหน! ที่แน่ๆ “ยุ่งกว่ายุงตีกันแน่นอน”
ทุกๆวันของห้องปฏิบัติการของหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด จะรับตัวอย่างเลือดที่มีเชื้อมาลาเรียจากทั่วทุกมุมโลก จากที่ก่อนหน้านี้การตรวจสอบตามคลินิกเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก เชื่องช้า และใช้งบประมาณในการติดตามผู้ป่วยสูงมาก
แต่จากความก้าวหน้าของสถาบัน ได้เปลี่ยนมาใช้เทคนิคชั้นสูงขึ้น คือการตรวจผลจากห้องปฏิบัติการด้านชีวโมเลกุล หรือการตรวจดีเอ็นเอ ที่สามารถตรวจและติดตามการดื้อยาได้จากพื้นที่ต่างๆที่เกิดการระบาดของมาเลเรียในสเกลที่ใหญ่ระดับโลก ไม่เพียงในแถบลุ่มแม่น้ำโขง แต่ไปไกลถึงประเทศชาด (Republic of Chad) ที่อยู่ ณ จุดกึ่งกลางของทวีปแอฟริกา แม้ในระดับสากลเองยังมีข้อมูลของประเทศนี้น้อยมากจนเกือบตกสำรวจ แต่หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด สามารถเข้าถึงได้ผ่านข้อมูลที่เล็กจิ๋วระดับดีเอ็นเอ
“การตรวจด้วยดีเอ็นเอ ง่ายกว่ามาก เพียงใช้เลือดผู้ป่วยหยดใส่กระดาษกรอง มีอายุการเก็บยาวนานกว่า 20 ปี ก็ยังสามารถนำมาตรวจหายีนของเชื้อว่ามีการดื้อยาชนิดใดบ้าง” ศ.ดร. มัลลิกา อิ่มวงศ์ กล่าว
ที่ผ่านมามีเชื้อมาลาเรียดื้อยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลการตรวจจึงเป็นการระบุว่าเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยาชนิดใด ยาชนิดไหนเหมาะสมจะให้กับผู้ป่วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะส่งให้กับทางกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก WHO เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดนโยบายในการใช้ยาระดับสากลที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ งานวิจัยของสถาบันจึงมองภาพใหญ่ และสร้างผลกระทบในระดับวงกว้าง ที่ต้องเริ่มพร้อมๆกันหลายส่วนในการจัดการแนวโน้มภาวะเชื้อดื้อยา
คิดค้นยาส่วนผสมใหม่ ‘ปิดทางหนี’ มาลาเรียดื้อยา
มาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยา เริ่มทวีความรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยยังมีหลายข้อสันนิฐานว่า เหตุใดเชื้อมาลาเรียถึงกลายพันธุ์ได้รวดเร็ว อาจเป็นเพราะการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลาย จนปรสิตมีการพัฒนากลไกป้องกันตัวเองในระดับพันธุกรรม คณะเวชศาสตร์เขตร้อนทำงานกับโรคมาลาเรียมาตลอด จึงมีโจทย์สำคัญไม่แพ้กัน คือการพัฒนายาที่ใช้รักษามาเลเรียประเภทดื้อยา เนื่องจากยาที่ใช้กันอยู่เริ่มไม่ได้ผลเสียแล้ว เชื้อเริ่มดื้อต่อยากลุ่ม “อาร์ติมิซินิน” (artemisinin) โดยปกติเมื่อรับยาเพียง 2 วัน เชื้อก็ถูกกำจัดออกจากเลือด แต่เชื้อกลับมีแนวโน้มดื้อยาทั้ง“อาร์ติมิซินิน” (artemisinin) และยากลุ่มควิโนลีน (quinoline) ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ การเปลี่ยนส่วนผสมของยาขึ้นมาใหม่ ซึ่งหากทำสำเร็จ เชื้อดื้อยาเองก็สามารถมีโอกาสรักษาได้ ไม่ใช่เราจะไร้ทางสู้เสียเลย
“มันเหมือนเรากำลังเล่นซ่อนแอบ โดยเราเป็นผู้หาที่ต้องตามเชื้อในแต่ละห้อง ปิดประตูหน้าต่างที่เป็นทางออกทั้งหมด และต้องหาทุกๆห้องไปพร้อมๆกัน” Dr. Mehul Dhorda จากหน่วยงาน Worldwide Antimalarial Resistance Network (WWARN) ทำงานกับหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด มายาวนานกว่า 10 ปี อธิบายความเป็นไปได้ในการออกแบบยาที่สามารถกำจัดมาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยา ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากและท้าทาย
“ตอนนี้เรามียาในการกำจัดเชื้อมาลาเรียอยู่ 4 ชนิด ที่นำมาผสมกับอาร์ติมิซินิน ซึ่งเจ้าเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ ฟัลซิปารัม (P. falciparum) ดื้อยาอาร์ติมิซินินและยาไพเพอราควิน (Piperaquine) แต่เราสามารถใช้อนุพันธุ์ยาอาร์ติมิซินินร่วมกับ ยาเมโฟลควิน (mefloquine) ซึ่งเชื้อดื้อยาอาจมีทางรักษาได้ แต่ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกันที่เชื้อมาลาเรียอาจกลายพันธุ์จนกระทั้งดื้อยาทั้ง 2 ชนิดอีก ซึ่งในธรรมชาติแล้วปรสิตจะพยายามเอาตัวรอดเพื่อดำรงชีวิต ฉะนั้นหากเรากดดันมันมากเกินไป เชื้อจะหาทางต่อต้านยาชนิดนั้นๆ ยาจึงต้องมีส่วนผสมที่พอเหมาะ แม่นยำ และมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด”
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของงานวิจัยพัฒนายาต้านเชื้อมาลาเรียโดยมีส่วนผสมของยา 3 ชนิดคือ อาร์ติมิซินิน ไพเพอราควิน และเมโฟลควิน เข้าด้วยกัน ซึ่งทีมวิจัยกำลังคร่ำเคร่งในการวิเคราะห์ทางคลินิกอย่างละเอียด เพื่อให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย แม้ตอนนี้จะอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ทีมวิจัยสามารถจับสูตรยาที่เหมาะสม โดยหวังว่า พื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขงที่ภาวะดื้อยาสูงมาก มักมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจ่ายยาบ่อยครั้ง เช่น 3 ถึง 4 เดือน จะต้องหมุนสูตรยา 1 ครั้ง แต่ยาที่กำลังพัฒนานี้ อาจไม่จำเป็นต้องหมุนสูตรยาอีกต่อไป ทำให้ในเชิงปฏิบัติแล้ว แพทย์สามารถทำความเข้าใจอย่างรวดเร็ว ได้ผลมากกว่าในการระงับการระบาดของเชื้อดื้อยา และตัวยาเองสามารถบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ที่ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หากวิจัยสำเร็จ
ไม่มีใครต้องเผชิญหน้ากับภัยโดยลำพัง
การให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียในระดับโลกต้องใช้ทรัพยากรสูง อาศัยการร่วมมือของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันด้วยความเข้าใจ มูลนิธิเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil Foundation) ภายใต้ เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก เพื่อกำจัดโรคมาลาเรียทั้งในเขตทวีปแอฟริกาและเอเชีย มาตั้งแต่ปี 2000 แนวทางการสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ จะเน้นไปที่ 3 ด้าน ได้แก่ การแจกจ่ายมุ้งนอนกันยุงและช่วยเหลือเรื่องการรักษาในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อมาลาเรียสูงสุด เช่น แองโกลา และ ไนจีเรีย การสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และพัฒนาบุคลากรในประเทศกำลังพัฒนา ด้วยการสนับสนุนงานวิจัยและฝึกอบรมผู้นำด้านสุขภาพ และ การจัดการกับประเด็นท้าทายต่างๆ เพื่อกำจัดโรคมาลาเรีย ทางมูลนิธิเอ็กซอนโมบิล จึงได้สนับสนุนเครือข่าย Worldwide Antimalarial Resistance Network (WWARN) มาโดยตลอด
“มูลนิธิเอ็กซอนโมบิลของเราทำงานร่วมกับสถาบันต่างๆ เกี่ยวกับโรคมาเลเรียมานานกว่า 17 ปี เริ่มตั้งแต่การป้องกัน เบื้องต้นโดยการแจกอุปกรณ์มุ้งกันยุงในประเทศแถบแอฟริกาก่อน เพราะเรามีหน่วยผลิตน้ำมันที่นั้น และเป็นพื้นที่มีผู้ป่วยมาเลเรียจำนวนมาก แต่เราเป็นเพียงหนึ่งในผู้สนับสนุนเท่านั้น แต่โครงการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในระดับโลก ขณะเดียวกันเป็นการยกระดับคุณภาพสาธารณสุขของประเทศเราเช่นกัน ในอีก 7 ปีข้างหน้า เราจะมีความพร้อมในการประกาศเป็นประเทศปลอดมาลาเรียที่ไม่น่าเกินความสามารถ นับเป็นความยินดีที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศไทยที่มีผลงานโดดเด่น พร้อมทั้งเป็นศูนย์วิจัยที่มีความสามารถในการทำงานระดับโลกเช่นนี้”
นายมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
การสนับสนุนของมูลนิธิเอ็กซอนโมบิล ถือเป็นการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย รวมถึงลดผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดจากการรักษาโรคมาลาเรียแบบเหมารวม โดยเฉพาะการใช้ยาจำพวกอาร์ทีมิซินินเป็นหลัก หากไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม ภาวะดื้อยาของเชื้อมาลาเรียอาจทำให้ความพยายามในการต่อสู้กับโรคมาลาเรียทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ได้
แน่นอน เชื้อกลายพันธุ์กำลังเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ในฐานะประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก แต่เฝ้าระวังการถูกยุงก้นปล่องกัด และหากได้รับยาปฏิชีวนะจากแพทย์ ควรรับประทานให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อมีส่วนร่วมการป้องกันเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน
เรากำลังเผชิญยุคสมัยที่ท้าทายจากธรรมชาติ แต่อุ่นใจได้เลย ที่ประเทศเรามีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่อุทิศตัวเพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงในอาณาจักรสิ่งมีชีวิต ตราบใดที่ทุกสายพันธุ์ต้องการจะไปต่อ เราก็ต้องพร้อมไปต่อร่วมกับมัน
ขอบคุณ
- ศ.ดร. มัลลิกา อิ่มวงศ์ หัวหน้าภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุ์ศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
- Mehul Dhorda จากหน่วยงาน Worldwide Antimalarial Resistance Network (WWARN)
- รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประตาป สิงหศิวานนท์คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
- คุณมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil Foundation) ภายใต้ เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น