อยากหางานทำ ก็ต้องอัพเดตเรซูเม่ อยากจะหางานใหม่ ก็ต้องอัพเดตเรซูเม่ อยากเปลี่ยนสายงาน อยากย้ายไปพื้นที่ใหม่ให้เราได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น ก็ต้องอัพเดตเรซูเม่เช่นกัน เพราะเรซูเม่เป็นด่านแรกที่สร้างความประทับใจได้ แม้ยังไม่เจอหน้ากัน รวมทั้งเป็นเหมือนตู้โชว์ผลงาน ที่เรามักจะรวบรวม เอาของดี ของเด็ด งานที่ภูมิใจ งานที่ได้โชว์สกิล มาตั้งตระหง่านไว้เพื่อเรียกให้องค์กรต่างๆ เข้ามามุงดู
การรังสรรค์เรซูเม่ให้แจ่มไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรามีผลงาน มั่นใจในผลงาน และมีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว แต่ถ้าเราเพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ นอกจากรั้วมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานที่ไหนเลย หรือใครที่อยากย้ายสายงาน แต่ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านสายงานนั้นๆ มาก่อน รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง จะสมัครงานแต่ละครั้งก็พาให้ความมั่นใจลดน้อยลง เพราะไม่รู้จะใส่อะไรลงไปในส่วนของผลงานหรือประสบการณ์ดี
นอกจากข้อมูลส่วนตัวพอประมาณ ช่องทางการติดต่อ ประวัติการศึกษา ที่เป็นพื้นฐานให้ผู้อ่านได้รู้จักเราคร่าวๆ แล้ว การนำเสนอทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ เป็นไม้เด็ดที่จะช่วยเรียกคะแนนให้เราได้ แม้เราอาจจะเป็นเด็กจบใหม่หรือยังไม่มีประสบการณ์ในสายงานนั้นๆ ก็ตาม
มาดูกันว่าถ้าหากเราไม่มีประสบการณ์ แล้วจะใส่อะไรลงไปในเรซูเม่ดีนะ?
Soft Skills
เมื่อเราไม่เคยลงมือทำงานจริงมาก่อน หากจะบอกว่าเรามีทักษะเฉพาะทางอย่าง Hard Skill อยู่เต็มเปี่ยม อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะแม้ว่าเราจะมีทักษะนั้นอยู่จริงๆ แต่องค์กรก็มักจะมองหาความสามารถที่ควบคู่กับประสบการณ์ไปด้วย Soft Skills จึงกลายมาเป็นไม้เด็ดที่จะช่วยดึงความสามารถในตัวเราออกมาให้องค์กรได้เห็นนั่นเอง
Soft Skills เป็นทักษะเกี่ยวกับอุปนิสัย อารมณ์ และการเข้าสังคม ที่แม้จะทำงานมานาน ประสบการณ์โชกโชน ก็ยังจำเป็นต้องมีทักษะนี้ด้วย เช่น การสื่อสาร การจัดการทีม ความยืดหยุ่น ความเข้าอกเข้าใจ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นต้น เพราะในโลกของการทำงาน ความสามารถเพียงอย่างเดียว อาจจะยังไม่พอ เราจำต้องอาศัยทักษะอื่นๆ ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างราบรื่น
และที่สำคัญ ทักษะเหล่านี้ช่วยบอกถึงตัวตนของเราได้ด้วย หากเราเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เราอาจจะมีทักษะความฉลาดทางอารมณ์ มีความยืดหยุ่น ทำงานเป็นทีม ปรับตัวเข้าหาผู้อื่นได้เก่ง แม้ว่าเราจะไม่ได้เก่งในเรื่องการจัดการทีมก็ตาม สิ่งนี้อาจช่วยบวกคะแนนให้เราในสิ่งที่องค์กรกำลังมองหาก็ได้
21st Century Skills
ตราบใดที่โลกนี้ยังก้าวไปข้างหน้าทุกวัน มันย่อมพาให้ทุกสิ่งที่กำลังดำเนินไปนั้น ก้าวตามมันไปด้วย เทคโนโลยี วัฒนธรรม องค์ความรู้ และสิ่งใหม่ๆ รอบตัวที่ผุดขึ้นมาความก้าวหน้าของโลก เป็นอีกสิ่งที่เราควรก้าวตามให้ทัน อาจไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง ทันทุกเทรนด์ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีทักษะที่ทำให้เราอยู่บนโลกปัจจุบันและอนาคตต่อไปได้แบบ ‘ทันโลก’
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยให้เราอยู่ในโลกของการทำงานได้แบบ ‘ทันโลก’ สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ ได้ดี อย่าง Media literacy, Information literacy, Technology literacy หรือ Collaboration เป็นต้น แม้ว่ามันจะมีความคล้ายคลึงกับ Soft Skills อยู่บ้าง แต่ Soft Skills นั้นจะเน้นเรื่องการเข้าสังคม ลักษณะนิสัย แต่ 21st Century Skills คือการก้าวให้ทันเทคโนโลยี ความเป็นไปของโลกใบนี้ คอยอัพเดตการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ต้องนั่งทำงานรูปแบบเดิมในโลกเก่าอีกต่อไป
นอกจากทักษะที่ช่วยให้เราเป็นคนทันโลกแล้ว สิ่งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเรายังคงเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาอยู่เสมอ และจะไม่หยุดเรียนรู้ตราบใดที่โลกนี้ยังคงก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ แบบนี้
Coursework ที่เกี่ยวข้อง
แม้เราอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์มาโดยตรง แต่เราก็สามารถเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ที่มีให้กับตัวเองได้ด้วยหลักสูตรออนไลน์ หลักสูตรอบรมจากสถาบันต่างๆ หรือเวิร์กช็อปที่เคยเข้าร่วม กิจกรรมเหล่านี้หากมีใบรับรอง (certificate) ก็สามารถนำมาประกอบเป็นหนึ่งในผลงานของเราได้ อาจจะต้องเลือกเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือกิจกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ มาเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ
ในส่วนนี้อาจไม่ได้ทำให้ดูมีประสบการณ์ขึ้นมาในทันที แต่อาจจะสะดุดตาผู้สัมภาษณ์ แล้วหลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะนำเสนอว่า เราได้เรียนรู้อะไรจากหลักสูตรนั้นบ้าง ทั้งวิธีการเรียนรู้ องค์ความรู้ที่ได้ และเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงอยากเข้าร่วมหลักสูตรนั้น จะช่วยให้เราได้นำเสนอตัวเองในด้านการพัฒนาตนเอง ความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้อยู่เสมออีกด้วย
ใส่เท่าที่มี พรีเซนต์ให้เลิศ
คิดจนปวดหัว ก็ไม่รู้จะถมที่ว่างอย่างไรให้ดูดี เราอาจจะกังวลกับช่องว่างตรงนั้นมากเกินไป ในเมื่อมันไม่มีอะไรเพิ่มเติม เราก็ไม่จำเป็นต้องขุดคุ้ย เอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง ของที่ไม่จำเป็น หรือสร้างผลงานปลอมๆ ขึ้นมาเพื่อให้ดูเป็นคนโปรไฟล์แน่น ผลงานเพียบก็ได้ เพราะหากเรามีผลงานที่เต็มหน้ากระดาษ แต่เราไม่ได้อะไรจากมันสักชิ้น เราก็ไม่อาจพรีเซนต์ตัวเองได้
ในการสัมภาษณ์ การพูดคุย ถือเป็นอีกด่านที่สร้างความประทับใจให้องค์กรตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน วัดกึ๋นการตอบคำถาม วัดความสามารถ การปรับตัว การเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี หลายครั้งที่คนโปรไฟล์แน่นมักจะตกม้าตายในขั้นตอนการพูดคุย เพราะไม่สามารถนำเสนอตัวเอง ไม่สามารถดึงความสามารถที่มีออกมาให้องค์กรได้เห็น ในทางกลับกัน เราสามารถใช้จุดแข็งของเราในส่วนนี้ มาเป็นไม้ตายในการดึงดูดองค์กรให้พิจารณาเราด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก