จำความรู้สึกของช่วงเวลาที่เราเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้หรือเปล่า?
คงจะง่ายกว่านี้ถ้าชีวิตของเราแต่ละคนมีทางเดินที่แน่ชัดเถรตรง คงง่ายกว่าถ้าเราสามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเดินไปทางไหน หรือรู้ว่าทางที่เราเลือกเดินจะพาไปไหนต่อ แต่ในความเป็นจริงทุกทางเลี้ยวที่เราเลือกเดินหรือไม่เลือก เส้นทางที่เลือกหรือไม่เลือกเรา ต่างให้ความรู้สึกเหมือนกับการขับรถบนถนนแคบอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีไฟส่องทาง ไม่มีที่กั้น ถ้าขับเร็วเกินไปหรือช้าเกินไปก็กลัวจะหลุดโค้งนั้นๆ ไปอย่างกลับมาไม่ได้ นั่นคือความรู้สึกของการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ไม่ใช่เส้นชัย แต่เหมือนการเสี่ยงดวงกับหุบเหว ซึ่งเราต้องเดิมพันด้วยทุกอย่าง
อาจจะดราม่าไปหน่อยสำหรับใครหลายคน ก็แน่ละ ถ้าผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มามากครั้งพอ เพราะเราในฐานะมนุษย์ผู้ชาญฉลาดย่อมเรียนรู้จากประสบการณ์ และสามารถจับทางอะไรได้บ้าง แต่สำหรับเราหลายๆ คน การจะเริ่มก้าวเดินเข้าสู่บทใหม่ของชีวิตนั้นทั้งตื่นเต้นและน่ากลัว เราอาจจะเป็นเด็กที่ต้องย้ายโรงเรียนครั้งแรก ต้องเลือกลาออกจากโรงเรียนเดิม ก่อนจะยื่นสมัครไปยังโรงเรียนใหม่ที่ไม่รู้จะเข้าได้หรือไม่ อาจเป็นเด็กมัธยมปลายที่กังวลกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับชีวิตที่เราต้องเข้ามหาวิทยาลัย หรือถ้าดึงเข้ามาให้ใกล้กับเรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้ ก็คงเป็นบัณฑิตจบใหม่ที่กำลังหวั่นใจกับการกดส่งเรซูเม่ (Resume) ของเราเพื่อสมัครงานในบริษัทสักหนึ่งแห่ง
การทำเรซูเม่แต่ละครั้ง ในแง่หนึ่งคือการมองย้อนไปยังชีวิตของตัวเองอีกหนแล้วถามว่า “ประสบการณ์อะไรบ้างในชีวิตที่เราภูมิใจพอจะบอกให้โลกรู้?” หากคุณไม่รู้สึกแบบนั้นเราก็ขอดีใจด้วย เพราะสำหรับหลายๆ คนนั่นคือคำถามที่อาจนำไปสู่การคำนึงถึงคุณค่าของตัวเองแบบไม่รู้จบเลยก็ได้ และต่อให้เราจะก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้นได้แล้วก็ตาม แต่การต้องเปิดเผยบางอย่างเกี่ยวกับอดีตของเราเอง ก็มักเป็นประสบการณ์ที่นำมาซึ่งความรู้สึกไม่มั่นคง (Vulnerability) ให้แก่เราได้ เพราะแต่ละคนมีภูมิต้านทานต่อความรู้สึกนี้ต่างกัน
ลองสมมติว่าเรากำลังจะส่งอีเมลเพื่อสมัครงานกับบริษัทสักแห่งหนึ่ง เราต่างรู้ว่าเรซูเม่ของเราที่ส่งไปนั้นกำลังจะตกอยู่ในมือของคนที่ไม่รู้จักเราเลยสักนิด สิ่งเดียวที่เขาจะรู้เกี่ยวกับเราได้คือ เราทำงานอะไรหรือที่ไหนมาบ้าง ตัวหนังสือบนแผ่นกระดาษใบนั้นคือสิ่งที่เราเป็น เขามองดูว่ามหาวิทยาลัยที่เราจบมายังไง? เขามองโรงเรียนที่เราจบมายังไง? เขามองคนอายุเท่าเราที่มีประสบการณ์เท่านี้ยังไง? ความกังวลเล็กๆ น้อยๆ ก่อตัวสูงเสมอเมื่อพูดถึงอนาคต โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นอนาคตที่ตกอยู่ในมือของคนแปลกหน้าที่เราสื่อสารได้อย่างจำกัด
ตัวอย่างความกลัวต่างๆ ที่ยกมาก่อนหน้าเป็นรูปแบบความกลัวที่อยู่ในเหตุในผล แต่เมื่อความวิตกกังวลเล็กๆ น้อยๆ ก่อตัวสูงขึ้น ผลที่ตามมาคือความกลัวอีกรูปแบบที่เราเรียกว่า ความกลัวไม่สมเหตุสมผล (Irrational Fears) เป็นความกลัวที่มีสัดส่วนมากเกินเลยไปจากสถานการณ์ตรงหน้า อาจจะเป็นการวาดอนาคตไกลเกินไป หรือการคำนวณความหนักหนาของผลกระทบสูงเกินไป เช่น การคิดไปไกลว่าเราจะทำอะไรพลาดไปในเรซูเม่ แล้วกลายเป็นหนึ่งในสเตตัสเฟซบุ๊กของฝ่ายบุคคล (Human Resources-HR) สักคนที่มีคนมาถากถาง
จะว่าไปพอยกตัวอย่างแล้ว ‘ความกลัวไม่สมเหตุสมผล’ นี้ก็น่าเศร้าที่มันไม่ได้ไร้เหตุผลขนาดนั้น เพราะเหตุดังกล่าวเกิดบ่อยกว่าที่ควร
เมื่อพูดถึงการทำอะไรสักอย่าง ‘พลาด’ ไปในเรซูเม่ สิ่งที่เราแต่ละคนถามกันเสมอมาคือ เรามีวิธีการที่ถูกต้องในการทำเรซูเม่หรือเปล่า? เพราะในการจะพลาดหรือผิดในเรื่องอะไรสักอย่างได้ มันจำเป็นต้องมีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องเอาไว้เป็นแกนกลางในการทำใช่หรือไม่?
วิธีที่เราส่วนมากใช้เพื่อค้นหาวิธีทำเรซูเม่คือ การหาจากกูเกิล เมื่อมองไปยัง 5 อันดับแรกจากราวๆ 1.92 พันล้านลิงก์เว็บไซต์ นั่นคือ indeed.com, myperfectresume.com, novoresume.com, zety.com, และ resumegenius.com เราพบว่าแม้การทำเรซูเม่จะมีรูปแบบคล้ายกัน แต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่ลงรอยกัน เช่น เมื่อพูดถึงความสามารถหรือ Skill บางคำแนะนำว่าบอกให้ต้องระบุไว้ในเรซูเม่ บ้างก็ว่าไม่จำเป็น บางคำแนะนำบอกว่าต้องแยก Soft Skill และ Hard Skill อีกต่างหาก ไหนจะหมวดการศึกษาที่บอกว่าต้องใส่ทั้งหมด รวมไปถึงงานที่เคยทำในห้องเรียนและเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน บ้างก็บอกว่าเอาแค่ปริญญาใบล่าสุดก็พอ ไหนจะงานอดิเรก หรือโซเชียลมีเดียที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในช่องทางการติดต่อหรือเปล่า ฯลฯ
ทั้งหมดนั่นเป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่าง เมื่อเรามองเข้าไปยังกลุ่มหางานในโซเชียลมีเดียต่างๆ เรามักเห็นข้อขัดแย้งกับ 5 เว็บไซต์ข้างต้นเสียด้วย เช่น ตัวอย่างที่เว็บเหล่านั้นแนะนำ คือการเลือกใส่ ‘หลอดพลัง’ ของความสามารถต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ เสียงมองว่าไม่เวิร์กต่อการวัดค่าความสามารถคน ในประเด็นสถานศึกษา บ้างก็บอกว่าถ้าเรียนไม่จบที่นั้นๆ ก็ไม่ควรระบุไป แต่บ้างก็ว่าให้ระบุไป หรือบางคนก็มองว่างานที่ทำในวิชาเรียน หรือกิจกรรมที่ทำในมหาวิทยาลัยไม่ใช่สิ่งที่ต้องใส่ แต่บางเสียงก็บอกว่าควรที่จะใส่ หากมันเกี่ยวข้องกับงานที่จะต้องทำ ฯลฯ
เสียงมากมายรอบตัวไม่ตรงกันสักที่นี้ ก็พาเราตั้งคำถามเหมือนกันว่า การที่เราทำ ‘พลาด’ อะไรสักอย่างไปในการเขียนเรซูเม่ มันพลาดไปจากการวัดโดยมาตรฐานใครบ้าง?
หนึ่งสิ่งสำคัญที่เราแต่ละคนล้วนคำนึงถึงต่อการส่งใบสมัครงาน คือการเข้าใจว่านอกจากเราที่เป็นมนุษย์แล้ว HR ก็เช่นกัน และในทุกการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน ความเป็นมนุษย์เหล่านั้นเองที่ส่งผลต่อขั้นตอนการตัดสินใจเลือกรับคนเข้าทำงานเสมอ
มีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เช่น Decision-Making Models in Human Resources Management: A Qualitative Research Study โดยเครก เซาเทิร์น (Craig Southern) ผู้วิจัยจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ทเซนทรัล เป็นงานวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจ และถกเถียงถึงความจำเป็นที่ต้องมีระบบและโครงสร้างการตัดสินใจ สำหรับการรับสมัครพนักงานที่แข็งแรงชัดเจน แม้ว่าใจความสำคัญของงานวิจัยจะอยู่ที่อื่น แต่สิ่งที่มันยืนยันกับเราได้นั้นคือ การมีปัจจัยมากมายในความเป็นมนุษย์ที่อาจสร้างไบแอสให้เราทุกคนได้ รวมถึง HR ด้วย
ดังนั้นความกังวลและความไม่มั่นคงในความรู้สึกของเรา จากความกลัวว่าจะทำผิดพลาดในสิ่งที่ไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนนัก ทั้งยังถูกตัดสินผ่านไบแอส ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนล้วนมีไม่ต่างไปจากเรา ทำให้เห็นว่าสุดท้ายแล้ว เราทุกคนต่างก็เดินอยู่บนเส้นของความเป็นมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งผู้สมัครงาน และผู้ที่เป็นคนตรวจใบสมัครนั้นๆ เราพูดถึงความบกพร่องของความเป็นมนุษย์ไปมาก แต่การเป็นมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่ได้นี้เองก็อาจเป็นคำตอบของเรา
แน่นอนว่าหน้าที่ของเรซูเม่ คือการบอกว่าประสบการณ์ของเรามีอะไรบ้าง แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราอาจเรียกได้เช่นกันว่ามันเป็นการแสดงออกส่วนหนึ่งของตัวตนเราให้บริษัทเห็น ทั้งคำที่เราเลือกใช้ ภาพถ่ายที่เราเลือก ฟอนต์ตัวอักษร ประสบการณ์ที่เรานำเสนอ ความสามารถที่เราให้ความสำคัญที่สุด ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นต่างบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคนคนนั้น โดยปลายทางของเรซูเม่จะใช่การเผยบางส่วนของตัวตนมนุษย์ที่กว้างขวางไร้ขอบเขต ผ่านช่องทางที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดหรือไม่? หากลองมองในมุมนี้ว่า เรซูเม่คือส่วนหนึ่งของตัวตนเรา
สิ่งที่ต้องถามต่อไปคือ เราควรทำยังไงกับตัวตนของผู้อื่น เมื่อเขายอมหยิบยื่นและเปิดเผยมันให้เราเห็น?
อ้างอิงจาก