เมื่อสายน้ำท่วมในหน้าแล้ง แต่ระบบนิเวศกลับเหือดแห้งในหน้าฝน ชุมชนลุ่มน้ำโขงและนักวิชาการไทยจุดประกายแนวคิดอนุรักษ์ที่ขบถท้าทายมุมมองเก่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์มนุษย์กับสิ่งรอบข้าง ..จะเป็นไปได้ไหม หากเรารับรองให้แม่น้ำ ปลา และสรรพสิ่งสามารถทวง ‘สิทธิที่จะมีชีวิต’
“จตุโลกอาจองค์หลวง ทั้งควงบนบรมเจ้าฟ้าเตชะกล้ากว่าผีทั้งหลาย จึงยังยายพระพรและดวงคุ้ม” เสียงแหบพร่าของพราหมณ์สูงวัยเอื้อนบทสวดโบราณดังก้อง “จงลงมากุ้มฝูงปลาให้หายกังวลและเดือดฮ้อน!”
ความมืดคืบคลานเข้ามาทักทายลานกิจกรรมริมแม่น้ำโขง ไทบ้านพากันนั่งบนเสื่อ ยกมือกระพุ่มไว้ที่หน้าอกในท่าสวดมนตร์ ด้านหน้าพวกเขาคือลูกพันธุ์ปลาหลายพันชีวิตในถุงพลาสติกใส เตรียมพร้อมที่ปล่อยสู่กระแสน้ำแม่น้ำโขง
ฤดูฝนเดือนตุลาคมปี 2565 ทีมงานไทบ้านราว 40 ชีวิตรวมตัวกันที่ อ.สังคม จ.หนองคาย อำเภอชนบทที่ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำโขง อันเรียงตัวเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทย-ลาว พวกเขามารวมตัวกันปล่อยพันธุ์ปลาลงเขตอนุรักษ์แห่งใหม่เพื่อฟื้นคืนชีวิตให้กับแม่น้ำที่กำลังจะตาย
แต่ก่อนอื่นใดจะต้อง ‘ทำขวัญ’ ให้กับปลาเสียก่อน
พื้นที่ อ.สังคมก็ไม่ต่างจากชุมชนลุ่มน้ำโขงในอีกหลายพื้นที่ซึ่งเงาคุกคามของเขื่อนพลังงานไฟฟ้าคืบคลานคร่อมทับ ชุมชนพากันปัดเป่าความกังวลที่เกาะกุมจิตใจด้วยการขอพรและการคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แนวคิดการอนุรักษ์แบบนี้ที่ตั้งอยู่บนมุมมองว่าธรรมชาติมีวิญญาณและเทพารักษ์ปกปักรักษาอยู่อาจไม่ใช่เรื่องโบราณ ทว่าประสานเสียงกับเทรนด์การอนุรักษ์ทันสมัย ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกกำลังพูดคุยกันว่า
จะเกิดอะไรขึ้น หากแม่น้ำจะมีสถานะทางกฎหมายและสิทธิเหมือนกับมนุษย์คนหนึ่ง
เมื่อแม่น้ำเสียขวัญ
ชาติพันธุ์ไทคือกลุ่มคนที่พูดภาษาไทและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่กระจายตัวอาศัยอยู่ทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ชาวไทมีความเชื่อเรื่องผีว่า สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติมีจิตวิญญาณปกปักรักษาอยู่ (Animism) มุมมองโลกแบบนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ ‘ไทบ้าน’ คำเรียกติดปากที่ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมักจะเรียกตัวเองเพื่อขับเน้นอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นของตนเองเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในเมือง
ตั้งแต่โบราณ ชาวไทเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมี ‘ขวัญ’ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือแม้แต่สิ่งไม่มีชีวิตที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน เช่น บ้านเรือน นาข้าวและวัวควายที่เป็นแรงงานเกษตร
ถึงแม้ ‘ขวัญ’ จะมองไม่เห็นด้วยตา จับต้องไม่ได้ด้วยมือ แต่เป็นเสมือนจิตวิญญาณที่ช่วยปกปักรักษาสิ่งที่ขวัญสถิตอยู่
เมื่อใครคนหนึ่งเสียชีวิต ร่างกายอาจจะย่อยสลาย แต่ว่าขวัญในตัวจะเดินทางกลับไปอยู่กับ ‘แถน’ เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าที่คนอีสานเคารพนับถือ เห็นได้ประเพณีบุญบั้งไฟประจำปี ซึ่งชาวอีสานพากันทำบั้งไฟและจุดบูชาพญาแถนเพื่อขอให้ฟ้าฝนดีในฤดูเพาะปลูก
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นักคิดที่มีอิทธิพลและได้รับการยกย่องเป็น ‘บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย’ เขียนบทวิเคราะห์เมื่อปี 2461 ว่า “คนแต่ก่อนเชื่อว่าสิ่งซึ่งมีวิญญาณย่อมมีขวัญ มิใช่แต่มนุษย์เท่านั้น”
สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของนักวิชาการคนอื่นๆ ที่ชี้ว่าขวัญเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากความเชื่อเรื่องวิญญาณที่มีรากเหง้าจากจีน ซึ่งคาดว่าชาวไทรุ่นแรกอพยพมา
“ปลาก็คงมีขวัญเหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ” ก้านก่อง จันลอง สาว อ.สังคมวัย 43 ที่ช่วยจัดพิธีกรรรมเอิ้นขวัญ (เอิ้นแปลว่า “เรียก” ในภาษาอีสาน) ครั้งนี้อธิบาย
ก้านก่องรู้จักพืช ปลา และแมลงที่พบได้ในแม่น้ำโขงแถวบ้านดีมาก บ้านเธออยู่ห่างจากแม่น้ำโขงไม่กี่นาที จึงขึ้นลงโขงอย่างคุ้นเคยเหมือนกับสวนหน้าบ้านตั้งแต่เล็ก
ถึงแม้ว่าขวัญจะมีความหมายลึกซึ้งในวัฒนธรรมไท แต่ปกติแล้ว ก้านก่องและคนอื่นๆ จะไม่ค่อยนึกถึงมัน เว้นแต่เกิดสถานการณ์ “เสียขวัญ” – คำอุทานติดปากคนไทเวลาเกิดเรื่องร้ายขึ้น เมื่อใครป่วยหรือประสบเคราะห์ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าขวัญแสนล้ำค่าได้หลบหนีหายไปจากตัว
อาการเสียขวัญเกิดขึ้นไม่เว้นกับปลาแม่น้ำโขง นับตั้งแต่เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกที่คร่อมแม่น้ำโขงตอนล่างเริ่มปั่นกระแสไฟฟ้าเมื่อปี 2562 จังหวะของสายน้ำโขงก็ไม่เป็นไปตามฤดูกาลเช่นเคย แม่น้ำสีน้ำตาลขุ่นด้วยตะกอนกลับกลายเป็นสีฟ้าใสเพราะตะกอนที่โดยธรรมชาติ จะพัดพาตามกระแสน้ำกลับถูกกักด้วยเขื่อนไซยะบุรีราว 280 กิโลเมตรเหนือน้ำจาก อ.สังคม
แม่น้ำโขงใน อ.สังคมได้รับสมญานามว่าแกรนด์แคนยอนหนองคาย นักท่องเที่ยวต่างแวะเวียนกันมาเที่ยว ‘พันโขดแสนไคร้’ เมื่อระดับน้ำลดลง โขดหินกลางลำน้ำโขงจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นพร้อมกับ ‘ต้นไคร้’ พืชสำคัญในระบบนิเวศที่เติบโตกลางน้ำและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ทว่าตั้งแต่เขื่อนเริ่มกักตะกอนแร่ธาตุและปริมาณน้ำจนระดับน้ำขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของบานประตู ต้นไคร้อันอุดมสมบูรณ์ก็พากันทยอยหายไป
ก้านก่องลงแม่น้ำโขงไปตรวจดูปรากฏการณ์ผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นตอนปี 2562 เธอถ่ายรูปกุ้งหอยปูปลาที่แห้งตายกลางลำน้ำและโพสต์สเตตัสบนเฟสบุ๊ก ฤดูฝนปีนั้น แม่น้ำโขงที่สมบูรณ์กลายเป็นสุสานของสิ่งมีชีวิต “ปลาก็คงเสียขวัญจากปีนั้น เราเลยต้องทำพิธีเอิ้นขวัญปลามาคืนโขง”
แม่น้ำเปลี่ยนแปลง พิธีกรรมแปรเปลี่ยน
ตามวัฒนธรรมชาวไทแล้ว การทำขวัญพืชหรือสัตว์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น การทำขวัญนาข้าวและขวัญควายขวัญช้างที่เป็นสัตว์แรงงานทำเกษตร อย่างไรก็ตาม ปี 2562 ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่มีการทำขวัญให้ปลาในแม่น้ำโขง
จำนวนสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงสร้างความกังวลให้กับชาวบ้าน และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่พิธีกรรมทางประเพณีเริ่มเปลี่ยนแปลง สมัยก่อน ชาวประมงริมโขงมีวัฒนธรรมทำบุญให้กับปลาขนาดใหญ่บางชนิด เช่น การบวงสรวงปลาบึก ทว่าวันนี้ ประเพณีนี้และพันธุ์ปลาอันเป็นสัญลักษณ์แห่งแม่น้ำโขงได้หายไป
29 ตุลาคม 2562 วันเดียวกับที่เขื่อนไซยะบุรีเริ่มต้นส่งกระแสไฟฟ้าขายให้ทางการไทย ชุมชนแม่น้ำโขงในไทยได้จัดกิจกรรมเอิ้นขวัญให้กับปลาโขงเพื่อปกป้องขวัญพวกมันจากเขื่อนตัวใหม่
พิธีนี้กลายเป็นธรรมเนียมใหม่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เรียบ ทองลก พราหมณ์วัย 73 ปีเป็นคนนำประกอบพิธีเอิ้นขวัญที่ อ.สังคม ชายชราเอื้อนบทอัญเชิญขวัญให้กับฝูงปลา ไม่มีใครเคยสู่ขวัญให้ปลามาก่อน เรียบจึงประดิษฐ์บทสวดใหม่ขึ้นเอง นำคำว่า “ฝูงปลา” มาแทนที่ “ฝูงคน”
พราหมณ์ชราหัวเราะตอนเล่าถึงประสบการณ์ “ก็เพิ่งเคยเอิ้นขวัญให้กับปลาครั้งแรกคราวนี้”
ก้าวใหม่วาทกรรมสิ่งแวดล้อม
แม่น้ำโขงเป็นบ้านของปลาน้ำจืดมากกว่า 1,200 สายพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นบ้านหลังใหญ่อันดับสองของโลกรองลงมาแต่เพียงแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ แต่ว่าช่วงไม่กี่ปีนี้ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตกำลังลดฮวบลง ชุมชนพากันกังวลถึงรอยแผลจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ฝากไว้กับแม่น้ำ
ความกังวลนี้ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของวาทกรรมสิ่งแวดล้อมในระดับสากล นักคิดและนักออกนโยบายเริ่มตั้งคำถามขบถต่อมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเดิมว่า สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในระบบกฎหมายเหมือนมนุษย์หรือไม่ เดวิด อาร์ บอย ทนายสิ่งแวดล้อมชาวแคนาดาและผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเขียนหนังสือเรื่อง สิทธิธรรมชาติ จุดประกายเทรนด์ความคิดใหม่ในวงการ เขาชี้ว่าแนวทางการพัฒนาในโลกยุคปัจจุบันนี้ถูกกำหนดโดยความคิดแบบตะวันตกซึ่งอาจเป็นที่มาของปัญหาสิ่งแวดล้อม
อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีกชื่อดังที่ปูรากฐานความคิดของโลกตะวันตกเคยเสนอแนวคิดว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ ‘ด้อยกว่ามนุษย์’ และสมควรเป็นทรัพยากรให้มนุษย์ใช้
แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้วมาโดยตลอด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คืองานประชุมสิ่งแวดล้อมปี 2535 ที่กรุงริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมสมัย การประชุมนี้มุ่งกำหนดแผนบริหารจัดการสัตว์และธรรมชาติในฐานะทรัพยากรที่มนุษย์ใช้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นตรงกัน ทว่าแนวความคิดตรงข้ามกลับเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2540 หลายคนตั้งคำถามว่าถ้าหากสัตว์สัมผัสได้ถึงความรู้สึกทรมานไม่ต่างกับมนุษย์ สัตว์จะ ‘มีสิทธิที่จะไม่ถูกทำร้าย’ หรือไม่
การถกเถียงนี้เริ่มเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้นวันนี้ที่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วทุกมุมของโลกจากอิทธิพลของมนุษย์ นักวิชาการพากันเรียกยุคสมัยนี้ว่า ‘แอนโทรโพซีน’ (anthropocene)
แทนที่มนุษย์จะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา แนวคิดที่ยกให้สัตว์เป็นศูนย์กลางนั้นไม่ได้หยุดอยู่แต่ในตำรา แต่เริ่มมีคนนำไปปฏิบัติใช้ ช่วงปี 2513 ข่าวสิ่งแวดล้อมที่ดังทั่วสหรัฐฯ เป็นเรื่องเกี่ยวกับปลาสายพันธุ์หนึ่งที่ชื่อว่า สเนล ดาทเธอร์ (snail darter) ในแม่น้ำเทนเนสซี เจ้าปลาพันธุ์นี้กลายเป็นตัวชูโรงในภารกิจระงับการสร้างเขื่อน โดยนักสิ่งแวดล้อมอ้างว่าปลาสเนล ดาทเธอร์มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้สูญพันธุ์และศาลก็รับฟังเหตุผลนี้
วันนี้ ชุมชนแม่น้ำโขงพยายามดิ้นรนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำ การหันมาใส่ใจสิทธิของสัตว์โดยเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมอาจเป็นความหวังใหม่ให้แก่ปลาและสิ่งมีชีวิต
ปกป้องแม่น้ำ
เสียงพราหมณ์นำสวดแผ่วลง เย็นวันนั้นริมโขง ชาวบ้านพากันทำพิธี ‘บายศรี’ ผูกสายสิญจน์สีขาวรอบข้อมือให้แก่กันแล้วกันเพื่อเป็นการให้พร คนละไม้ คนละมือ พวกเขานำลูกพันธุ์ปลาลงไปปล่อยในเขตอนุรักษ์แห่งใหม่ริมฝั่งน้ำใกล้วัด คนในชุมชนมีข้อตกลงกันอย่างไม่เป็นทางการและรู้กันกลายๆ ว่าจะเว้นไม่หาปลาบริเวณนี้
พิธีเอิ้นขวัญไม่เพียงแค่เปิดพื้นที่ให้ชุมชนริมโขงแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกห่วงใยต่อสายน้ำ แต่ยังเปิดพื้นที่ให้พวกเขามารวมตัวกันอนุรักษ์แม่น้ำ
ปี 2564 ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อ ‘เดินเท้าเว้าแทนปลา’ เรียกร้องให้รัฐบาลหาทางบรรเทาผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ที่มีต่อแม่น้ำโขง หุ่นรูปปลาหลากหลายสายพันธุ์พากันแหวกว่ายกลางท้องถนนกลางกรุงฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะพร้อมเดินทางไปลงถนนที่กรุงเทพฯ ชัยวัฒน์ พาระคุณ หนึ่งในผู้นำจัดกิจกรรมเอิ้นขวัญวัยห้าสิบเศษอธิบายว่า “เราต้องจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมแบบนี้ในชุมชน” เขากับเพื่อนๆ พัฒนาบ้านหลังเก่าของคนในเครือข่ายให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงประจำชุมชน ลานที่ตั้งศูนย์ริมโขงกลายเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิง
หลังจากจบพิธีเอิ้นขวัญ พวกเขาจัดคอนเสิร์ตดึงดูดให้วัยรุ่นเข้ามาร่วมกิจกรรม วงดนตรีบรรเลงเพลงหมอลำอีสาน บอกเล่าความผูกพันของผู้คนกับแม่น้ำโขง ไม่ต่างไปจากบทสวดศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์
ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น เอ็นจีโอด้านแม่น้ำกำลังทำเก็บข้อมูลว่า ผู้หญิงแม่น้ำโขงแสดงออกอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ เขามองว่าการทำกิจกรรมแนวนี้สำคัญมาก “เราเรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแม่น้ำกับผู้คนได้จากวิธีที่ผู้คนแสดงออกอารมณ์ความรู้สึก ..และเราสามารถใช้ความรู้นี้ออกแบบการจัดการแม่น้ำที่ดีกว่านี้ได้”
ถึงแม้ชุมชนจะคัดค้านการสร้างเขื่อนมายาวนาน แต่เขื่อนไซยะบุรีก็สร้างขึ้นคร่อมโขง พร้อมกับข่าวคราวของเขื่อนอีกหลายแห่ง ภารกิจอนุรักษ์แม่น้ำของชุมชนจึงมุ่งบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูระบบนิเวศ สำหรับก้านก่อง งานเอิ้นขวัญไม่ใช่เพียงทำขวัญให้ปลา แต่ยังคงทำขวัญให้ผู้คนด้วยเช่นกัน
ขยายขอบเขตสิทธิ
ในเวลาเดียวกัน นักวิชาการในไทยกำลังถกเถียงกันถึงการรับรอง ‘สิทธิทางกฎหมาย’ ให้กับแม่น้ำโขง สายน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 300 ล้านชีวิต ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิให้กับแม่น้ำ นำไปสู่แนวทางอนุรักษ์ธรรมชาติที่จริงจังยิ่งขึ้น
เรื่องราวชุมชนพากันฟ้องบริษัทและรัฐบาลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาเป็นเหมือนหนังม้วนเดิมที่ฉายซ้ำ ชุมชนออกมาปกป้องสิทธิของผู้คและเริ่มขยายไปปกป้องสิทธิสัตว์ ทว่าแนวคิดเรื่องสิทธิที่ขยายขอบเขตออกไปกว้างขึ้นสู่ธรรมชาติ – ถ้าหากต้นไม้และแม่น้ำสามารถฟ้องผู้ที่ก่อมลพิษได้ด้วยตัวเอง – เป็นกระแสความคิดใหม่ที่เริ่มพูดถึงกันในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น
‘สิทธิของธรรมชาติ’ เป็นแนวคิดที่นักวิชาการเสนอครั้งแรกเมื่อห้าสิบปีก่อน จากนั้นในปี 2554 แม่น้ำบิลกาบ้ามบา (Vilcabamba) ในเอกวาดอร์เป็นแม่น้ำสายแรกในโลกที่ได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมายในกระบวนการชั้นศาล โดยสองสามีภรรยาคู่หนึ่งอ้างถึงสิทธิของแม่น้ำที่จะไม่ถูกเอาตะกอนมาทิ้งให้ปนเปื้อนเพื่อหยุดไม่ให้หน่วยงานท้องถิ่นตัดถนน ปี 2560 แม่น้ำฟางกานุย (Whanganui) ในนิวซีแลนด์ได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมาย ตามด้วยแม่น้ำคงคาในบังกลาเทศ
ความเชื่อท้องถิ่นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในก้าวใหม่ทางการอนุรักษ์ครั้งนี้ สำหรับชาวชนพื้นเมืองเมารีในนิวซีแลนด์แล้ว แม่น้ำเป็นมากกว่าทรัพยากรธรรมชาติ แต่มีชีวิตในตัวของตนเอง
“กฎหมายสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ตั้งอยู่บนความคิดว่ารัฐต้องบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อไม่ให้ทรัพยากรหมดไป” จตุภูมิ ภูมิบุญชู อาจารย์กฎหมายจากมหาวิทยาลัยนเรศวรอธิบาย “แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐเจออุปสรรคหลายอย่างและทำไม่ได้ คำถามคือว่าแล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง เรากระจายบทบาทในการอนุรักษ์ให้กับคนในพื้นที่ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ได้ไหม”
งานวิจัยของจตุภูมิมุ่งศึกษาองค์ประกอบที่ทำให้การรับรองสิทธิแม่น้ำในประเทศต่างๆ ทำสำเร็จได้ ในกรณีนิวซีแลนด์ ความเชื่อดั้งเดิมของชาวเมารีเป็นตัวแปรสำคัญ เมื่อรัฐบาลประกาศให้แม่น้ำฟางกานุยมีสิทธิทางกฎหมาย ชาวเมารีที่เชื่อว่าแม่น้ำเปรียบเสมือนบุคคลคนหนึ่งอยู่แล้ว จึงพร้อมนำทฤษฎีนี้ไปปฏิบัติ
รัฐบาลนิวซีแลนด์และชาวเมารีตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อเป็นตัวแทนที่จะพูดแทนแม่น้ำ ข้อตกลงนี้ช่วยหยุดความขัดแย้งกว่าหลายร้อยปีระหว่างชนพื้นเมืองกับรัฐบาลกลางเรื่องบริหารจัดการแม่น้ำ
แต่การจะรับรองสิทธิให้แม่น้ำโขงไม่ใช่เรื่องง่าย จนถึงวันนี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ระบุถึงสิทธิของแม่น้ำหรือสิทธิของธรรมชาติ แถมแนวคิดนี้ยังเป็นเรื่องนามธรรมมาก
ในสายตาของ กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มองว่า ‘สิทธิ’ เป็นคำศัพท์ทางกฎหมายที่ไกลตัวกับคนน้ำโขง เพราะว่าเป็นแนวคิดที่เกิดในโลกตะวันตกแล้วนำมาพูดถึงในเอเชีย
ในฐานะนักสังคมวิทยาที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นในลุ่มน้ำโขง กนกวรรณสังเกตว่าแนวคิดเรื่องสิทธิแม่น้ำมักจะถูกต่อต้านจากคนลุ่มน้ำโขงหลายคน “ทำไมเราถึงคุยกันเรื่องสิทธิแม่น้ำ ทุกวันนี้ คนยังไม่มีจะกินเลย เราต้องคุยเรื่องสิทธิของคนก่อน!”
แต่กนกวรรณเชื่อว่าสิทธิของธรรมชาติและสิทธิของผู้คนนั้นพัฒนาควบคู่ไปด้วยกันได้ เพราะว่าชุมชนลุ่มน้ำโขงนั้นมีองค์ความรู้และวัฒนธรรมที่แทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตทุกๆ วันที่อยู่กับแม่น้ำอยู่แล้ว “ถ้าการบริหารจัดการน้ำระดับชาติเคารพแนวทางบริหารจัดการแม่น้ำของชุมชน นั้นก็หมายถึงว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำที่เคารพแม่น้ำแล้ว”
บทสนทนาว่าด้วยสิทธิแม่น้ำไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ไทย แต่เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในหลายประเทศลุ่มน้ำโขง ในปี 2565 นักวิชาการลุ่มน้ำโขงพากันเริ่มต้นศึกษาและพูดคุยถึงสิทธิแม่น้ำกับชาวบ้าน เช่น ชุมชนประมงริมโขงที่จังหวัดสตรึงเตร็ง ประเทศกัมพูชา นักวิจัยถามชุมชนว่าสำหรับพวกเขาแล้ว แม่น้ำโขงหมายถึงอะไร
“ชาวบ้านยังรู้สึกไม่ค่อยชินเรื่องสิทธิธรรมชาติเพราะเป็นแนวคิดที่นามธรรมมาก” ตรี ทุออน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาลัยภูมินทร์พนมเปญ กล่าวในวงเสวนาข้อเสนอแนะทางนโยบายแม่น้ำโขงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา “แต่ว่าชุมชนมีความผูกพันลึกซึ้งกับแม่น้ำ เห็นได้จากความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเนียะตา กระฮอมก่อ”
‘เนียะตา’ หรือคุณตาคอแดง เป็นผีที่คนกัมพูชานับถือกันทั่ว ชุมชนประมงในจังหวัดสตรึงเตร็งที่กำลังถูกคุกคามจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำบนแม่น้ำเซซาน ปี 2553 ชุมชนจึงทำพิธีขอพรที่ศาลเจ้าริมแม่น้ำให้เนียะตาคุ้มครองจากคนสร้างเขื่อน
วงเสวนาข้อเสนอแนะทางนโยบายจบลงด้วยข้อเสนอว่าการรับรองสิทธิให้แม่น้ำนั้นควรเริ่มต้นจากแม่น้ำในประเทศ ก่อนจะยกระดับขยับขยายไปสู่แม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่านหกประเทศอย่างแม่น้ำโขง นอกจากนี้ ยังถึงเวลาแล้วที่ความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่จะถูกใช้เพื่อส่งเสริมและขับเน้นองค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับแม่น้ำ เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องขวัญในประเทศไทยหรือว่าเนียะตาในกัมพูชา
ทุกวันที่ 14 มีนาคมในแต่ละปี ชุมชนริมโขงจะร่วมฉลอง ‘วันแห่งปฏิบัติการเพื่อแม่น้ำสากล’ กิจกรรมประจำปีเพื่อระลึกถึงความสำคัญในการอนุรักษ์แม่น้ำ
ในปีนี้ ชุมชนริมโขงไม่พลาดจัดงานเอิ้นขวัญให้แก่ปลาอีกครั้ง
งานเอิ้นขวัญเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและการปรับตัว ในวันที่สายน้ำและสิ่งแวดล้อมกำลังแปรเปลี่ยนด้วยโครงการพัฒนา
เรื่องโดย ณิชา เวชพานิช
บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน
- บทความนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขจากต้นฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ HaRDstories