หลังเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ การเปิดตู้หยิบ ‘เสื้อสีม่วง’ ขึ้นมาสวมใส่สำหรับใครหลายคนอาจมีความหมายที่แตกต่างไปจากเดิม
ดูเหมือนอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 จะหยุดแรงใจในการทำกิจกรรมไม่ได้ เพราะทันทีที่ถึงสนามหญ้าหน้าลานพระบรมรูป 2 รัชกาล เราพบกับผู้คนขวักไขว่ที่แต่งกายด้วยธีมสีม่วง บางคนม่วงที่เสื้อ กระโปรง เดรส เนคไทด์ โบว์ แม้แต่ละคนจะแต่งกายแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน คือ ความตั้งใจที่อยากจะแสดงพลังและถวายกำลังใจแก่กรมสมเด็จพระเทพฯ
ภาพกิจกรรมเสื้อสีม่วงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่จุฬาฯ เราพบว่าตั้งแต่เกิดปมขบวนเสด็จฯ มีกิจกรรมถวายกำลังใจและถวายความจงรักภักดีลักษณะเดียวกันอีกอย่างน้อย 32 แห่งทั่วประเทศ ฉะนั้น คงจะไม่ผิดเสียทีเดียวหากมองว่านี่คืออีกหนึ่งปรากฎการณ์ในสังคมไทย
ปรากฏการณ์นี้บอกอะไรกับสังคมเรา สะท้อนการกลับมาของ ‘อนุรักษนิยม’ หรือไม่? The MATTER ชวนหาคำตอบไปกับประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมเสื้อสีม่วงถวายกำลังใจ พร้อมด้วย สว.สุวรรณี สิริเวชพันธุ์ หนึ่งในผู้ต้นคิดกิจกรรมถวายพระพรในนามของวุฒิสภา และกนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปรากฏการณ์เสื้อสีม่วง
15 กุมภาพันธ์ – หลังวาเลนไทน์เพียงหนึ่งวัน – กลุ่ม ‘จุฬาฯ รักพระเทพฯ‘ จัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดีและถวายกำลังใจต่อกรมสมเด็จพระเทพฯ โดยที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คน จากการสังเกตและสอบถามพบว่าส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าวัยกลางคนขึ้นไป แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนรุ่นใหม่อายุขึ้นต้นด้วย ‘2’ ในขบวน ทั้งนี้ กิจกรรมวันนั้นจัดขึ้นเพื่อแสดงพลังปกป้องและถวายความจงรักภักดี โดยที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ “การกระทำของผู้ที่ลบหลู่พระเกียรติยศด้วยการพยายามขับรถแทรกเข้าไปในขบวนเสด็จฯ”
กำหนดการกิจกรรมวันนั้นมีไม่มาก มีคนนำกล่าวถวายความจงรักภักดี อ่านบทกลอนสดุดี และร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
ทำไมถึงออกมา? เราสนทนากับศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ รหัสนิสิต 34 และถามเหตุผลที่เดินทางออกจากบ้านมาร่วมกิจกรรม เธอบอกกับเราว่า “พี่มาแสดงความจงรักภักดีและถวายกำลังใจให้กรมสมเด็จพระเทพฯ ที่ท่านได้รับการปฏิบัติที่ไม่สุภาพ” เราถามต่อว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด ทางออกของสิ่งนี้ในคืออะไร เธอตอบว่าคนย่อมเห็นต่างกันได้ และเด็กรุ่นใหม่ไม่ผิดที่ไม่เข้าใจ แต่ก็อยากให้ลองเสิร์ชตามดูพระราชกรณียกิจในอดีตด้วยเหมือนกัน
“เด็กรุ่นใหม่จะได้รู้ว่าก่อนที่เขาจะมีวันนี้ได้ มันมีอะไรมาก่อน เขาจะได้เข้าใจว่าทำไมคนยุคพี่ถึงรักและเคารพ เราไม่ได้ว่าเด็กผิดนะ เพียงแต่ว่าน่าจะใช้สติและหาข้อมูลให้ถูกต้องก่อน เราก็จะอยู่ด้วยกันได้แม้จะคิดต่าง” คือข้อความที่ศิษย์เก่าจุฬาฯ บอกกับเรา
ไม่ได้มีแค่จุฬาฯ ที่จัดกิจกรรมแสดงใส่สีม่วงเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อกรมสมเด็จพระเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 14-21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นด้วย เช่น
- สมาชิกวุฒิสภา
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
- กระทรวงแรงงาน
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- องค์กรทหารผ่านศึก
- จุฬาราชมนตรีพร้อมด้วยชาวมุสลิม
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย
- โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.)
- โรงเรียนเทพศิรินทร์
- จังหวัดอุทัยธานี
- จังหวัดเชียงใหม่
- จังหวัดพังงา
- จังหวัดสงขลา
- จังหวัดลำปาง
- จังหวัดสระบุรี
- จังหวัดนครราชศรีมา
- จังหวัดร้อยเอ็ด
- จังหวัดภูเก็ต
- จังหวัดนนทบุรี
- จังหวัดยะลา
- จังหวัดจันทบุรี
- จังหวัดปทุมธานี
- จังหวัดสุรินทร์
- จังหวัดนครปฐม
- จังหวัดน่าน
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- จังหวัดเพชรบูรณ์
- จังหวัดมหาสารคาม
- จังหวัดกำแพงเพชร
นอกจากนี้ นักการเมืองจากหลายพรรคก็ออกมาแสดงจุดยืนด้วยการแต่งกายด้วยชุดสีม่วงเช่นกัน อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงปรากฎการณ์เสื้อสีม่วงด้วยว่า กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงงานหนักและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ส่วนในระดับประชาชนทั่วไป สำนักข่าวประชาไทรวบรวมไว้ว่า มีบุคคลมีชื่อเสียงอย่างน้อย 42 คนที่ออกมาโพสต์ภาพหรือข้อความเพื่อถวายกำลังใจแก่กรมสมเด็จพระเทพฯ
สว.ผู้ริเริ่มกิจกรรมถวายพระพรมองปรากฏการณ์เสื้อสีม่วงอย่างไร
13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมตัวกันแต่งกายด้วยสีม่วงและถวายกำลังใจแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ ที่อาคารรัฐสภา กิจกรรมนี้ถูกริเริ่มกันในกลุ่ม สว.สุภาพสตรี ซึ่ง สว.สุวรรณี สิริเวชพันธุ์ บอกกับเราว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จทำให้ทุกคนเห็นตรงกันว่า “ไม่ไหวแล้ว มากไป”
ครั้งแรกที่สุวรรณีอ่านเจอข่าวขบวนเสด็จฯ เธอนึกว่าเป็นข่าวปลอมและแทบไม่เชื่อสายตา แต่เมื่อเช็คดูแล้วก็รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมแม้จะไม่ได้เกิดกับพระบรมวงศานุวงศ์ และด้วยความที่เป็น สว. ก็ต้องรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงได้มีการพูดคุยกับเพื่อน สว.หญิงที่ตอนแรกตั้งใจจะนัดกันใส่ชุดสีม่วงเฉยๆ แต่ด้วยความเป็นองค์กรหากน้อยไปก็กลัวจะเหมือนไม่เคารพสถาบัน จึงปรึกษาหารือกับสมาชิก สว. และนำเรียนต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอทำกิจกรรมถวายความจงรักภักดี
“อาจเพราะเราเป็น สว. บางคนบอกเราเป็นผู้สูงวัย รุ่นเราเป็นรุ่นที่ได้เห็นพระราชกรณียกิจตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จนถึงรัชกาลที่ 10 และเราได้เห็นกรมสมเด็จพระเทพฯ เคียงข้างมาตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ ฉะนั้น ทุกคนมีความเห็นตรงกันหลังพูดคุยว่าคงต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง” สุวรรณี กล่าว
นอกจากเป็นการแสดงพลังเพื่อปกป้องพิทักษ์สถาบันกษัตริย์แล้ว อีกเหตุผลที่ชวนกันจัดกิจกรรม สุวรรณีเล่าว่า “ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้าน คือ ถวายกำลังใจให้ท่าน”
นี่คือที่มาที่ไปของการถวายกำลังใจโดยวุฒิสภา โดยสุวรรณีมองว่าเป็นการแสดงออกที่มีอารยะ สันติ และไม่ใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกันยังสามารถสื่อสารให้กลุ่มคนที่ทั้งเห็นเหมือนและเห็นต่างทราบว่า “ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบัน”
แล้ววุฒิสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติจะขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างไร สุวรรณีชี้ว่า สว. ได้สะท้อนข้อคิดเห็นต่อรัฐบาลแล้ว สมาชิกหลายคนตั้งกระทู้ถามและปรึกษาหารือต่อรัฐบาลในส่วนนี้ ซึ่งเธอมองว่า กระทู้ถามหรือข้อหารือจาก สว. น่าจะมีส่วนให้เกิดการดำเนินการอะไรบางอย่างโดยฝ่ายบริหารได้
ขณะที่ กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ของวุฒิสภา ได้ส่งรายงานว่าด้วยเรื่องการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้แก่เยาวชนในเรื่องต่างๆ จนผ่านที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว และเตรียมเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ซึ่งจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอีกเช่นกัน
ท่ามกลางเหตุขบวนเสด็จฯ สู่ปรากฏการณ์เสื้อสีม่วง มีหลายฝ่ายกังวลว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งสิ่งที่จำเป็นสำหรับการหยุดความรุนแรงในทัศนะของสุวรรณี คือ เวทีในการพูดคุย ด้วยเชื่อว่าการพูดคุยจะสามารถจบปัญหาได้ โดยที่ทุกฝ่ายจะต้องเปิดใจและรับฟังข้อมูลจากกันและกันอย่างมีสติ ขณะเดียวกันต้องเสพสื่อให้รอบด้านเพื่อกรองข้อเท็จจริงด้วย ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายทำเช่นนี้ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงจะเบาบางลง
“อยากฝากความห่วงใยถึงทั้งสองฝ่าย เพราะความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่จะทำให้ปัญหาที่อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ กลายเป็นปัญหาขึ้นมา” สุวรรณี ระบุ
จริงๆ สุวรรณีฝากความห่วงใยมาถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วยว่า อยากให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มี อยากให้ลองเข้าไปค้นหาข้อมูลออนไลน์ดูพระราชกรณียกิจของสถาบันกษัตริย์และลองพิจารณาอย่างถ่องแท้ ซึ่งเป็นความห่วงใยเรื่องการ ‘หาข้อมูล’ อันเป็นลักษณะเดียวกันกับศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่เล่าไปข้างต้น
ก่อนจบบทสนทนา เราชวนสุวรรณีคุยว่าปรากฏการณ์เสื้อสีม่วงสะท้อนอะไรได้บ้าง สว.ตอบกลับทันทีว่า
“สะท้อนว่าสถาบันกษัตริย์ของเรายังคงหยั่งรากลึกและมีความมั่นคงอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคน เวลาที่ไม่มีอะไรก็อาจจะไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเหตุการณ์ที่มากระทบกระเทือนความรู้สึกที่อยู่ลึกๆ ของประชาชน ประชาชนคนไทยทุกคนก็พร้อมที่จะออกมาปกป้อง”
“และปรากฏการณ์ใส่เสื้อสีม่วง หรือริบบิ้นสีม่วง เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ ก็เลยอาจจะทำให้คนรู้สึกว่าถ้าสามารถทำได้ ก็ขอให้เขาได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกให้ทุกคนรู้ว่า คนไทยยังรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์” สุวรรรณีทิ้งท้าย
แล้วในมุมมองนักวิชาการ ปรากฏการณ์เสื้อม่วงบอกอะไรกับเรา?
เพื่อเข้าใจปรากฏการณ์เสื้อม่วงได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากสนทนากับมวลชนที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมแล้ว การคุยกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษนิยมก็เป็นเรื่องจำเป็น
การรวมตัวกันของกลุ่มคนรักกรมสมเด็จพระเทพฯ อาจทำให้ใครหลายคนมองว่าเป็นการกลับมาเข้มแข็งของฝ่ายอนุรักษนิยมหลังจากที่อ่อนกำลังลงไปในช่วงก่อนหน้า แต่ กนกรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ระบุว่า ปรากฏการณ์เสื้อม่วงสะท้อนว่าฝ่ายอนุรักษนิยมอ่อนแอลงต่างหาก เนื่องจากฝ่ายประชาธิปไตยรุกคืบเข้าไปในฐานมวลชนอนุรักษนิยมจนทำให้พื้นที่ทางการเมืองเหลือน้อยกว่าเดิม ขณะเดียวกันความชอบธรรมของสถาบันหลักที่เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของฝั่งอนุรักษนิยมก็ถูกกัดเซาะลงด้วยปัญหาภายในของฝั่งอนุรักษนิยมเอง
“การเกิดขึ้นของการชุมนุมคนเสื้อม่วงสะท้อนว่า พวกเขาต้องการออกมาแสดงตัวตนว่ายังอยู่นะ คุณทำแบบนี้ไม่ได้ จะมาคุกคามพลังที่เขาเชื่อว่าเป็นพลังที่ชอบธรรมไม่ได้ ขณะที่ถามว่าเขารู้ไหมว่าเหลือแค่นี้ เขาก็รู้ และภาพที่ออกมาก็แสดงให้เห็นว่าเขาพยายามที่สุดที่จะรวมพลังกัน โดยใช้สัญลักษณ์ของพลังที่เขาเชื่อว่าชอบธรรมและสามารถระดมมวลชนที่สนับสนุนฝั่งอนุรักษนิยมได้ เลยเกิดการลุกขึ้นมามากลายเป็นกลุ่มเสื้อสีม่วง” กนกรัตน์ อธิบาย
นอกจากนี้ กนกรัตน์ชี้ว่า ปรากฏการณ์เสื้อสีม่วงเป็นเพียงปฏิกิริยาเล็กๆ ต่อเหตุการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การชุมนุมที่ผ่านการจัดระเบียบจัดตั้ง และช่วงนี้ก็ไม่ใช่ช่วงการเมืองมวลชนเพราะแกนนำของทั้ง 2 ฝ่ายกำลังต่อสู้กันในรัฐสภา
ไม่ใช่ม็อบเยาวชนประชาธิปไตยหรือที่อ่อนแอลง เราถามด้วยความที่รู้สึกว่ามวลชนของฝ่ายเยาวชนต่างหากที่คนน้อยลงในระยะหลัง ขณะที่มวลชนเสื้อสีม่วงดูเหมือนจะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกนกรัตน์ตอบกลับว่า การแสดงออกทางการเมืองไม่ได้มีเพียงแบบเดียว คนฝั่งประชาธิปไตยอาจเรียนรู้แล้วว่าการชุมนุมจะไม่มีประสิทธิภาพในระยะนี้ เพราะต้นทุนสูง ถูกคุกคาม และเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เท่ากับการเข้าคูหาเลือกตั้งที่พิสูจน์แล้วว่าฝ่ายประชาธิปไตยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ตั้งแต่เกิดม็อบเมื่อปี 2563 สถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกมาพูดถึงและถกเถียงบ่อยครั้งขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นผู้คนจากหลากหลายกลุ่มรวมตัวกันแสดงพลังทั่วประเทศเหมือนกับการเคลื่อนไหวสวมเสื้อสีม่วงในขณะนี้ นั่นทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมอนุรักษนิยมถึงเพิ่งออกมาตอนนี้?
กนกรัตน์วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุโดยบังเอิญ (accidental) ที่คาดว่า ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ก็คงไม่รู้เช่นกันว่าเป็นรถของกรมสมเด็จพระเทพฯ โดยถือเป็นครั้งแรกที่เกิดกับกรมสมเด็จพระเทพฯ ต่างจากกิจกรรมอื่นๆ ในอดีตที่เน้นสื่อสารถึงตัวบุคคลในสถาบันที่อาจมีคะแนนนิยมน้อย เหตุการณ์นี้จึงเหมือนจี้จุดจนนำไปสู่การเปิดพื้นที่ต่อสู้แนวรบแนวใหม่ และทำให้คนที่ปกติไม่ได้ร่วมรบ หรือไม่ได้สุดขั้ว แต่เคารพรักกรมสมเด็จพระเทพฯ ออกมาร่วมด้วย
เหตุผลที่เพิ่งออกมาแสดงพลังข้อถัดมา คือ มันเป็นความอัดอั้นตันใจมาเนิ่นนานแล้ว ตั้งแต่การที่อนุรักษนิยมอ่อนแอจนต้องจับมือกับเพื่อไทย ก้าวไกลชนะถล่มทลาย ตลอดจนการบังคับใช้ ม.112 ก็ดูจะไม่สามารถหยุดการกระทำของนักกิจกรรมได้ทั้งหมด ก็เลยออกมาแสดงพลังให้ฝ่ายอื่นเห็นว่า ฝั่งเราก็มีมวลชนคนดีอยู่เช่นกัน
กนกรัตน์ประเมินด้วยว่า กระแสนี้อาจจะจุดไม่ติดและไม่ขยายต่อ เพราะฝั่งอนุรักษนิยมและกษัตริย์นิยมเองก็รู้ถึงขีดจำกัดตนเองและคงไม่หาทางออกด้วยการเลือกสมาชิกที่มีความนิยม ขณะที่ฝั่งประชาธิปไตยเองก็ไม่ค่อยแสดงตัวเป็นพันธมิตรแนวร่วมทะลุวัง แม้แต่พรรคก้าวไกลก็ไม่พร้อมจ่าย สะท้อนว่าฝั่งนี้ก็เรียนรู้ว่าไม่พร้อมเปิดแผลใหม่เช่นกัน
นอกจากนี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่พลังของมวลชนเสื้อสีม่วงไม่เยอะถล่มทลายไว้ 4 แง่มุม ได้แก่
- กลุ่มอนุรักษนิยมขัดแย้งกันเองภายใน ทะเลาะกันเองจนทำให้กลุ่มแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ จนทำให้กลุ่มสถาบันกษัตริย์นิยมเล็กลงเรื่อยๆ หากอธิบายให้เห็นภาพยิ่งขึ้น คือ กลุ่มอนุรักษนิยมที่สนับสนุนกษัตริย์มี 2 รูปแบบ แบบหนึ่งคือ die-hard royalist ที่รักและศรัทธาในกษัตริย์สุดขั้วหัวใจ แบบสองคือ strategic alliance หรือพันธมิตรที่เชื่อว่านี่คือเครื่องมือล้มทักษิณจนในอดีตมวลชนสถาบันกษัตริย์ขยายตัวใหญ่มาก แต่พอหลังการจับมือข้ามขั้วของรัฐบาลเพื่อไทยในปัจจุบัน มวลชนสาย strategic ก็ค่อยๆ หายไป เหลือเพียง die-hard royalist ที่ก็ลดลงเหมือนกัน เพราะสายที่เชื่อเชิงการเมืองว่าสถาบันคือเสาหลักในการรวมศูนย์จิตใจจำนวนน้อยลงมาก เหลือแต่กลุ่มที่เชื่อทางจิตใจที่มองเป็นสมมติเทพผู้แตะต้องไม่ได้ เป็นต้น
- มวลชนเกิดการย้ายข้าง มวลชนอนุรักษนิยมในอดีตคือมวลชนที่ไม่เอาทักษิณ คนกลุ่มนี้บางส่วนย้ายมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลแล้ว เนื่องจากแคมเปญที่ชูช่วงเสื้อเหลืองมีลักษณะใกล้เคียงกับแคมเปญหาเสียงของก้าวไกล เช่น ต่อต้านการโกง ปฏิรูปการเมือง เป็นต้น
- รัฐไม่ได้จัดตั้งมวลชน การเคลื่อนไหวจำเป็นจะต้องมีองค์กรการเคลื่อนไหว ซึ่งหากจะเกิดขึ้นได้ในฝั่งอนุรักษนิยม มันจะต้องได้รับการยินยอมจากชนชั้นนำฝั่งอนุรักษนิยมเสียก่อน ซึ่งรัฐไทยเคยจัดตั้งมวลชนมาหลายรอบ แต่ต้นทุนในการจัดตั้งและผลเสียในการทำลายความชอบธรรมก็สูงเช่นกัน ดังนั้น หากรัฐไทยไม่ยินยอม การเกิดขึ้นของมวลชนอนุรักษนิยมก็ไม่ง่าย
- ไม่มีมวลชนกลุ่มใหม่มาเติม
อย่างไรก็ดี ถึงแม้กนกรัตน์จะมองว่าปรากฏการณ์นี้อาจจะยังไม่มีพลังมากนัก แต่นักวิชาการคนนี้ก็ระบุว่า ไม่สามารถดูแคลนได้เช่นกัน เพราะการเคลื่อนที่ของมวลชนฝั่งอนุรักษนิยมมีหน้าที่เพื่อสร้างความชอบธรรมและสรรเสริญสถานะของชนชั้นนำฝั่งอนุรักษนิยม, อนุญาตให้รัฐใช้ความรุนแรง, โจมตีฝ่ายค้าน, กดดันให้รัฐบาลจัดการฝั่งประชาธิปไตย, ขมขู่มวลชนฝั่งประชาธิปไตย หากการชุมนุมเสื้อสีม่วงยังเกิดต่อเนื่องก็อาจน่าจับตาว่ารัฐกำลังพิจารณาอยู่ว่ามวลชนอนุรักษนิยมกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ดังที่ยกตัวอย่าง หรือมีประโยชน์กับรัฐหรือไม่
“เราดูแคลนไม่ได้เพราะมันคือจุดเริ่มต้น แม้รัฐไม่ใช่คนสั่งโดยตรงในการเคลื่อนไหวครั้งแรก แต่ก็ดูแคลนไม่ได้ ต้องคอยจับตาและประเมินตลอดเวลาว่า เขาเริ่มกลายเป็นกลไกที่มีประโยชน์สำหรับรัฐฝั่งอนุรักษ์นิยมมากน้อยแค่ไหน” กนกรัตน์ ระบุ
ทั้งนี้ กนกรัตน์ยังเชื่อว่า ความขัดแย้งนี้อาจไม่นำไปสู่ความรุนแรงแบบ 6 ตุลาฯ หรือการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี ’53 ทันที
“เรายังไปไม่ถึงระดับนั้น อาจจะยังไม่ต้องกังวลมาก” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าว โดยอธิบายว่า 6 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มีรัฐเป็นผู้จัดตั้ง ภายใต้สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขของสงครามเย็น หรือก็คือ รัฐไทยมองฝ่ายซ้ายเป็นภัยคุกคามที่อาจทำให้อนุรักษนิยมพ่ายแพ้ ขณะที่กษัตริย์กัมพูชาและลาว – ประเทศเพื่อนบ้าน – ก็เพิ่งถูกล้มล้าง รัฐไทยจึงพยายามจัดตั้งมวลชน เช่น ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล และให้ใบอนุญาตฆ่าโดยรัฐ การสังหารหมู่จึงเกิดขึ้น
ขณะที่การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ก็มีเหตุแวดล้อมที่มวลชนคนเสื้อแดงมีจำนวนมหาศาล ทุ่มเทกับการประท้วง มีการจัดระเบียบขบวนที่ดี ชุมนุมยังไงก็ไม่เลิก ขณะที่เครื่องมือทางกฎหมายหรือการเลือกตั้งก็ไม่ได้ผล เพราะเลือกตั้งยังไงเพื่อไทยก็ชนะ รัฐจึงมองเป็นภัยคุกคามและเกิดการใช้ความรุนแรง
กนกรัตน์อธิบายว่า ไม่ว่าอย่างไร ทุกสังคมในโลกนี้ต้องมีคนที่เป็นอนุรักษนิยมสุดขั้ว (ultraconservative) อยู่แล้ว โดยเฉพาะสังคมไทยที่ทุกสถาบันในสังคมควบคุมและนำโดยอนุรักษนิยม ตั้งแต่ระดับครอบครัว ศาสนา โรงเรียน ระบบราชการ ยันเศรษฐกิจ และการเมือง ประกอบกับคนที่มีอำนาจและร่ำรวยมักมีแนวโน้มเป็นอนุรักษนิยมมากกว่าด้วยอยู่แล้ว ทำให้คนกลุ่มนี้จะไม่มีวันหายไป ตราบใดที่สังคมไทยยังดำรงอยู่แบบเดิม
“อนุรักษ์นิยมคือ default mode (ค่าเริ่มต้น) ของสังคมไทย ตั้งแต่โรงเรียน ครอบครัว ที่ทำงานที่แรก หรือบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ก็เป็นอนุรักษนิยม คำถามคือคนมันจะไม่เป็นอนุรักษนิยมได้อย่างไรมากกว่า” กนกรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความแตกต่างทางการเมืองคือเรื่อง “โคตรปกติ” ในสายตาของกนกรัตน์ เธอเชื่อว่ามันเป็นเพียงความแตกต่างทางความเชื่อว่าอะไรคือสังคมที่ดี แต่มันจะเป็นปัญหาทันทีหากพัฒนากลายเป็นความขัดแย้ง โดยเฉพาะในสังคมที่ประชาธิปไตยยังไม่ลงตัวแบบบ้านเราที่ทุกคนยังเชื่อว่ามีความถูกต้องหนึ่งเดียว มีสังคมที่ดีแบบเดียว และต่างกลัวกันและกันจนยอมอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ พาลให้รู้สึกว่าทางออกคือการจัดการอีกฝ่ายเมื่อมีอำนาจ
ทางออกของความขัดแย้งสำหรับกนกรัตน์ คือ ต้องยอมรับในระบอบประชาธิปไตย ต้องทำให้การแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองไม่มีการแทรกแซงโดยใช้อำนาจพิเศษใดๆ ซึ่งจะเป็นการลงหลักปักฐานประชาธิปไตยที่แข่งกันด้วยนโยบาย อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้มากยิ่งขึ้น