ค่ายอาสามันแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้ช่วยเขาจริง และยังไปใช้ทรัพยากรเขาอีก หรือค่ายอาสายังเป็นการโรแมนติกไซส์ให้วิถีชุมชนเลวร้านขึ้นอีก..
หลังจากกรณีที่พิมรี่พายเข้าไปช่วยบริจาคสิ่งของให้ผู้อยู่อาศัยบนดอย สังคมเริ่มพูดคุยกันถึงเรื่องการพัฒนาพื้นที่ห่างไกลและความต้องการของคนในพื้นที่มากขึ้น จนนำไปสู่ข้อถกเถียงว่า ค่ายอาสาพัฒนาชนบทยังจำเป็นอยู่หรือไม่ การออกค่ายดังกล่าวใครได้รับประโยชน์กันแน่ คนค่ายหรือคนในชุมชน ตลอดจนมันเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุหรือไม่
เราชวนขบคิดผ่านงานเสวนา ‘ค่ายอาสายังเป็นคำตอบของการพัฒนาอยู่หรือไม่?’ ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เชิญวิทยากรมาร่วมกันแสดงความเห็น 3 ท่านคือ ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล, สุริชาติ จงจิตต์ ผู้อำนวยการกองกิจการอาสาสมัครและพัฒนาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รวมถึงชวนฟังประเด็นที่น่าสนใจจากกิจกรรมประชาพิจารณ์ ซึ่งผู้จัดได้ชวนประชาชนและนิสิต นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าว
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ – ค่ายอาสาคือการเปิดหูตา
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ซึ่งมีเชื้อสายของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เล่าให้ฟังว่าจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือการพูดคุยกับในพรรคก้าวไกลเอง หลายคนยังไม่เข้าใจว่าวิถีชนบทเป็นอย่างไรและต้องการอะไร ดังนั้น การได้มีโอกาสออกไปค่ายชนบทก็เป็นคำตอบหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาได้เปิดหูเปิดตาและเรียนรู้จากคนในชนบท และคนชนบทก็ได้เรียนรู้จากนักศึกษาเช่นกัน
และเขายังมองว่าหลายพื้นที่ในชนบทยังจำเป็นต้องพัฒา ซึ่งก็ต้องอาศัยหลายฝ่ายในสังคมให้ความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่แค่ภาครัฐแต่คือทุกกลุ่มในสังคม รวมถึงกลุ่มนักศึกษาเอง
แต่ก่อนออกค่ายนักศึกษาเองก็ควรตระหนักถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่จะต้องพบ เมื่อเราออกค่ายเพื่อเฝ้ามองวิถีของคนในชุมชน คนในชุมชนก็จะเฝ้ามองเราเช่นกัน ดังนั้น ควรระมัดระวังและตระหนักถึงความแตกต่างตรงนี้ให้ดี เพราะแทนที่จะช่วยสร้างประโยชน์ในชุมชน อาจกลับกลายเป็นทำให้ชุมชนมีความรู้สึกแง่ลบต่อนักศึกษาได้
สุริชาติ จงจิตต์ – รัฐฉากหลบให้ประชาสังคมเป็นพระเอก
สุริชาติ จงจิตต์ ผอ.กองกิจการอาสาสมัครและพัฒนาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ยืนยันว่าค่ายอาสาและภาคประชาสังคมทั้งหมด ยังเป็นคำตอบของการพัฒนาชุมชนและชนบท และภาครัฐเองก้มีแนวโน้มจะลดบทบาทของตัวเองลง เพื่อสนับสนุนภาคประชาสังคมอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ
เขาชี้ว่าในปัจจุบันภาครัฐมีแนวโน้มที่จะลดบทบาทของตัวเองลงจากแต่เดิมที่เป็นภาครัฐส่วนกลางที่ทำหน้าที่หลักในการพัฒนา ตอนนี้ก็เริ่มสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทมากขึ้น ก่อนจะเป็นภาคประชาสังคมที่รับไม้ต่อไป
เหตุผลหนึ่งก็เพราะภาครัฐเริ่มตระหนักดีว่า ตัวเองมีความอุ้ยอ้ายเชื่องช้า โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคประชาสังคมทำงานได้คล่องตัวกว่าและรู้ดีว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไรมากกว่า ดังนั้น ภาครัฐจะค่อยๆ เฟดตัวเองออกจากบทพระเอก และหันมาเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันมากขึ้น
ซึ่งในขณะนี้ กฎหมายหลายฉบับก็มีการระบุให้ภาครัฐให้การสนับสนุนภาคประชาสังคมมากขึ้น อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดกิจการสังคม หรือ พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการเด็กและเยาวชนเองก็เขียนไว้ในมาตรา 41 ว่าสามารถให้กลุ่มนักศึกษามาขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในการจัดกิจกรรมได้
และเร็วๆ นี้จะมี ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เข้าสู่สภา (ขณะนี้เปิดรับฟังความคิดเห็น) ซึ่งระบุว่าให้มีการตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางขององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อทำให้องค์กรมีความเข้มแข็ง รวมถึงให้มีการตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมและกองทุนส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่องค์กรภาคประชาสังคม
อย่างไรก็ดี ผอ.กองกิจการอาสาฯ ชี้ว่า ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ควรหันมาตั้งคำถามกับนิยามของชนบทเสียใหม่ เพราะชนบทบางทีอาจไม่ได้วัดกันด้วยระยะทาง แต่มันคือวิถีชีวิตของคนในชุมชนทุกแห่ง และค่ายสามารถเข้าไปเรียนรู้และพัฒนาได้ อาทิ พื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว
ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ – ทบทวนและทำความเข้าใจกันเสียใหม่
ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่านับจากกรณีพิมรี่พายและการโรแมนติกไซส์ชนบทผ่านสื่อมากมาย ทำให้สังคมบางส่วนตั้งคำถามถึงการพัฒนาชนบท รวมถึงการทำค่ายอาสาพัฒนาชนบทของนักศึกษา
เธอชี้ว่ากลุ่มที่มองว่าค่ายอาสาไม่จำเป็นอีกต่อไปมาจากแนวคิด Post Development ที่ตั้งคำถามกับกรอบแนวคิดการพัฒนาในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี แฮร์รี เอส ทรูแมน ของสหรัฐฯ ที่นำคำว่าพัฒนา (Development) มาใช้ เพื่อเป็นข้ออ้างในการเข้าไปและดูดกลืนทรัพยากรของประเทศอื่นที่ถูกตีตราว่าด้อยพัฒนาหรือพัฒนาน้อยกว่า
และเมื่อเวลาผ่านไป การเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ชนบทยังกลายเป็นการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ว่าคนในชนบทไร้อำนาจและต้องได้รับการพัฒนา ขณะที่อีกด้านหนี่ง มันก็เชิดชูภาพลักษณ์ของผู้เข้าไปพัฒนาให้ดูดี ทำให้เกิดความรู้สึกเหนือกว่า เกิดเป็นอาการ ‘สำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม’ ของผู้เข้าไปพัฒนา
ดร.วรอง ชี้ว่าเราต้องมองคนในชนบทว่าเป็น ตัวละครทางการเมือง (Politically Active Agent) ตัวหนึ่งเช่นกัน พวกเขาไม่ได้โง่หรือบริสุทธิ์ดั่งผ้าขาวสะอาด ไม่ใช่ทุกคนที่ไร้ความฝัน หรืออยากเห็นรถไฟฟ้า และที่สำคัญ พวกเขาควรมีสิทธิกำหนดชะตาชีวิตและความเป็นไปในชุมชนของตัวเอง
แต่อีกด้านหนึ่ง เธอก็ยกบทสัมภาษณ์ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ที่ลงในเว็บไซต์ประชาไทซึ่งชี้ว่าในแง่หนึ่งการลงพื้นที่ชนบท ก็เป็นผลบวกต่อการจัดสรรทรัพยากร เป็น Safety Valve ที่คลายความตึงเครียดให้กับสังคมที่เหลื่อมล้ำ เป็นการช่วยเหลือกันและกันภายในสังคมเอง
และในอีกมุม ดร.อรอนงก็เห็นด้วยว่าค่ายอาสาพัฒนาชนบทมีส่วนทำให้ผู้ออกค่ายสร้างความเหนียวแน่นภายในคนค่าย และทำให้คนค่ายได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชีวิตของตัวเอง
ดร.วรอง สรุปว่าค่ายอาสาพัฒนาชนบทยังมีได้ เพียงแค่ต้องทบทวนและทำความเข้าใจนิยามของชนบทเสียใหม่ เบื้องต้นอาจนำคำว่า ‘พัฒนา’ ออกจากชื่อ และเปลี่ยนเป็นคำใหม่ที่สะท้อนบทบาทของผู้เข้าไปในพื้นที่มากขึ้น เช่น ‘ค่ายไกลกะลา’
และค่ายอาสาควรที่จะให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และการต่อยอดมากขึ้น โดยอาจหันมาลงค่ายในพื้นที่ชุมชนใกล้มหาวิทยาลัย เพราะจะสามารถติดตามโครงการของค่ายได้ง่ายขึ้น ดร.วรองทิ้งท้าย
ประพิจารณ์ฟังเสียงจากนักศึกษาและประชาชน
ในช่วงท้ายของการสัมมนาผู้จัดได้เปิดให้ผู้สนใจทั้งประชาชนและนิสิต นักศึกษาเข้ามาแสดงความเห็นต่อหัวข้อการสัมมนา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผู้เขียนสามประการ
หนึ่ง ต้องทำการบ้านให้ดี กล่าวคือการลงพื้นที่ของคนค่ายควรมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับคนในพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อการเข้าไปแต่ละครั้งจะได้ตอบโจทย์ความจำเป็นของคนในพื้นที่จริงๆ มิฉะนั้น ก็จะเป็นการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่คนในพื้นที่ไม่ต้องการ
สอง คำนึงถึงความยั่งยืนให้มากขึ้น การลงค่ายในหลายพื้นที่ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของการพัฒนา อาจเพราะด้วยระยะทางและข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ดังนั้น ผู้จัดค่ายควรกลับมาทบทวนแนวทางของการทำค่ายเสียใหม่ จำเป็นไหมต้องลงในพื้นที่ห่างไกล สามารถเป็นชุมชนที่ใกล้กว่านั้นได้ไหม ถ้าทำให้คนค่ายสามารถติดตามผลการดำเนินการได้และต่อยอดได้ไกลขึ้น
สาม ไปให้ไกลกว่าเดิม คนทำค่ายควรไปให้ไกลกว่าการสร้างสิ่งปลูกสร้าง อาทิ ลงพื้นที่เพื่อศึกษาชุมชน ก่อนนำปัญหาที่พบเห็นจากการลงพื้นที่มาประชาสัมพันธ์ให้สังคมรู้เป็นวงกว้าง ตลอดจนใช้พื้นที่หน้าเพจของตัวเองเป็นกระบอกเสียงในประเด็นที่จะช่วยเหลือเขาได้ เช่น ประชาสัมพันธ์ ร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายยังเห็นตรงกันว่า การทำค่ายอาสาพัฒนาชนบทยังมีข้อดีและเป็นวิธีหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ห่างไกล แต่คนค่ายต้องหันกลับมาทบทวนวิธีการทำงานของตัวเองกันให้มากขึ้น และขยายความเข้าใจของการทำค่ายออกไปให้กว้างกว่าเดิม เพื่อทำให้กิจกรรมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ
ตามฟังงานวงเสวนานี้ ได้ที่:
https://www.facebook.com/faipatsd/
เข้าไปแสดงความเห็นให้แก่ผู้จัดได้ที่:
https://docs.google.com/forms/d/1ScGZuFtPWmpxSaePS0bQDubFbBv0hczjLl9Kezv0ipA/viewform
แสดงความคิดเห็นใน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ…. ได้ที่:
https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=121
Illustration By Kodchakorn Thammachart