“กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง”
นี่คือหนึ่งในข้อความแถลงการณ์การยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีของจุฬาฯ โดย องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่ง อบจ.มีมติ 27:0 หรือเป็นเอกฉันท์ในการยกเลิกกิจกรรมนี้
เรื่องราวนี้ ไม่ได้เป็นประเด็นแค่ในประชาคมจุฬาฯ เพราะหลังมีมติออกมา ก็มีคนแสดงความคิดเห็นมากมาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก มีการแสดงความคิดของศิษย์เก่ามากมาย อย่าง รมว.ดิจิทัลฯ ไปถึงนักเขียน และสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯ ที่ตอบโต้กันมา จนเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นมาจนถึงตอนนี้
The MATTER มาพูดคุยกับสองเสียงในมติการยกเลิกกิจกรรมนี้ อย่าง ตูลย์ – นันท์นภัส เอี้ยวสกุล อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก อบจ. และ กีกี้ – ธันยธรณ์ โรจน์มหามงคล ประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ อบจ. 2 นิสิตของจุฬาฯ ว่าที่มาที่ไปของการยกเลิกกิจกรรมนี้มาจากไหน พวกเขามองอย่างไรท่ามกลางการแสดงความเห็นที่หลากหลาย และมุมมองที่นิสิต มีต่อมหา’ลัย ที่ถูกยกเป็นเสาหลักของประเทศนี้ ว่าพวกเขาอยากออกแบบสถาบันศึกษานี้อย่างไร ?
จุดเริ่มต้นของการพูดคุยกันเรื่องการยกเลิกกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวนี้มากจากไหน
นันท์นภัส – เราพูดไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เราบอกว่าเราจะไม่สนับสนุนกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย และไม่ส่งเสริมความเท่าเทียม หรือไม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เราก็มองว่ากิจกรรมการอัญเชิญพระเกี้ยวมันก็เป็นกิจกรรมนึงที่ไม่ได้ส่งเสริมคุณค่าตรงนี้ เราเลยนำมติไปคุยในที่ประชุม ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้มันมีการพูดคุยกันมาอย่างยาวนานแล้ว ทั้งนิสิตที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย มีทั้งสภานิสิต ตั้งแต่ปี 2560 ที่เขานำเรื่องนี้ไปซักฟอก ไปคุยกับประธานจัดงานอย่างต่อเนื่อง มันก็เลยจำเป็นที่จะต้องเอาเรื่องนี้เข้ามาพูดคุยกัน เพราะในฐานะที่เป็นผู้นำนิสิต มันก็ควรจะสะท้อนเสียงของนิสิตที่ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมา และแสดงจุดยืนให้ชัดเจน
ธันยธรณ์ – มันมีการพูดคุยมาหลากหลาย และกระแสนิสิตปัจจุบัน ก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับเรา คือให้มีการยกเลิก เช่น เด็กนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ ที่เขาต้องเป็นคนไปแบกเสลี่ยงด้วยตัวเอง เขาก็มีโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วว่า กิจกรรมอันนี้ตายแล้ว อันนี้คือคำพูดเขาเลย ผมคิดว่านิสิตปัจจุบันส่วนใหญ่ กระแสเขาก็เห็นด้วย
ตอนนี้ทั้งสองคนอยู่ปี 3 แต่ตั้งแต่เข้ามาเรียนจุฬาฯ เมื่อปี 1 ก็เริ่มเห็นกระแสนี้แล้วใช่ไหม
ธันยธรณ์ – ตอนนั้นที่เข้ามาเป็นงานบอลครั้งที่ 74 พอจัดงานเสร็จเขาก็มีอภิปรายเกี่ยวกับขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวอย่างจริงจัง แล้วก็มีการเรียกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมาซักฟอกอย่างจริงจัง เป็นคลิปอยู่ในเฟซบุ๊กเลย เพราะฉะนั้นที่ผมพูดคือ มันมีกระแสต่อต้านมาโดยตลอด
กระแสช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการถกเถียงมาตั้งแต่ก่อนจะมีมติจาก อบจ.แล้ว เห็นชัดเลยไหมว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ซื้อกิจกรรมนี้แล้ว
นันท์นภัส – ชัดนะ เพราะว่างานบอล มันจะมีส่วนขึ้นสแตนด์ อันนี้เป็นปัญหามาหลายปีแล้ว คือไม่มีคนมาขึ้นสแตนด์เท่าที่ควร มันก็เลยต้องมีการถกเถียงว่าจะลดขนาดสแตนด์ หรือไปเกณฑ์เด็กมาขึ้นบ้าง ซึ่งมันก็จะมีปีนึง ที่ต้องไปเกณฑ์คนที่เดินพาเหรด แบกเสลี่ยงมา ซึ่งเขายังไม่ทันได้กินข้าวดีๆ เขาก็ต้องมาขึ้นสแตนด์ เพราะนิสิตเขาไม่ได้สนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมตรงนี้แล้ว เพราะว่ามันไม่ได้ตอบรับกับคุณค่าที่เขามองเห็นว่าสังคมควรสะท้อน
ธันยธรณ์ – ผมว่าคนที่พูดประเด็นนี้ได้ดี ถ้าเราไปอ่านโพสต์ จะมีโพสต์ของคนนึงที่เป็นนิสิตวิศวะ ซึ่งเขาต้องไปหาคน 50 คนไปแบก เขาพูดเลยนะว่ากิจกรรมนี้คนไม่ค่อนสนใจแล้ว เพราะว่าใครจะอยากไปเป็นแรงงาน และเขาไม่ได้รับความเคารพ ไม่ได้รับความสนใจ และสวัสดิการก็ไม่ได้มาก ผมว่ามันก็ค่อนข้างเห็นชัด ว่ากิจกรรมนี้อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะมีปัญหาเรื่องการหาคนทุกปี และถ้าการหาคนไม่ได้ ก็จะไปจบที่นิสิตหอใน ก็ไม่ถูกต้อง
นันท์นภัส – มีการเอาคะแนนหอพักมาเป็นข้อเสนอว่า ถ้าคุณมาเข้าร่วมคุณก็จะให้คะแนนตรงนี้ เพราะระบบหอพักของจุฬาฯ คือคุณต้องทำกิจกรรม ถึงจะมีคะแนนมายื่นอยู่หอต่อได้ นิสิตเลยมาทำเพราะว่าเรื่องคะแนน และก็ในโซเชียลมีเดีย ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง แฮชแท็กงานบอลปี 74 ก็มีคนรีทวิตไปกว่า 3 หมื่นรีเลยว่า ควรจะยกเลิกกิจกรรมนี้ได้แล้ว เพราะมันล้าหลังมาก ทำไมยังมีกิจกรรมนี้อยู่ไหนมหาลัยฉัน มันควรจะหมดไปได้แล้ว
ในสายตานักศึกษารุ่นเรา กิจกรรมนี้ มันชัดเจนว่าสัญลักษณ์ความไม่เท่าเทียม
ธันยธรณ์ – ใช่ แน่นอน ผมคิดว่างานฟุตบอลประเพณี หรือขบวน จุฬาฯ ตัดสินใจจะจัดขบวนแบบนี้ มันก็สะท้อนคุณค่าที่มหาวิทยาลัยจะส่งเสริม ซึ่งจริงๆ มันไม่ควรจะส่งเสริมคุณค่าแบบนี้ ที่เราเห็นชัดๆ ว่ามีความเหลื่อมล้ำ มีความไม่เท่าเทียม ผมคิดว่ามันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของมหา’ลัยที่เราควรจะเลิกได้แล้ว
นันท์นภัส – จริงๆ งานบอลมันก็มีภาพจำจากสังคมข้างนอกว่าเป็นงานที่สะท้อนสังคม จัดแล้วตอบรับคุณค่าสังคม จริงๆ เขาก็เคลมเองด้วย แต่จริงๆ คุณยังก้าวไม่ทันสังคมเลย คุณจะไปก้าวอะไรบ้าง
ตอนนั้นที่หาเสียงเลือกตั้งเป็น อบจ. มีการพูดถึงการยกเลิกนโยบายนี้อย่างไรบ้าง
นันท์นภัส – เราชูมาในคลิปหาเสียงเลย ก็มีคลิปไฮด์ปาร์ก แล้วก็มีเสลี่ยงที่เราตัดต่อขึ้นมาในคลิปว่า เราจะยกเลิกกิจกรรมที่มันไม่เท่าเทียมออกไป แล้วจริงๆ กิจกรรมอื่นๆ เราก็หาเสียงไว้เหมือนกัน อย่างกิจกรรมที่มีคะแนน ที่ต้องให้นิสิตที่เขาไม่ได้เต็มใจทำ ไปทำ เราก็อยากให้มันยกเลิกออกไป ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีอำนาจ 100% แต่อย่างน้อยเราแสดงจุดยืน และพยายามช่วยเหลือนิสิตที่เขาต้องไปเข้าร่วมกิจกรรมทั้งๆ ที่ไม่ได้เต็มใจไปทำ เราจะสนับสนุนเต็มที่ แล้วกิจกรรมรับน้องมันก็มีการเปลี่ยนแปลงเนอะ
ธันยธรณ์ – ก็เปลี่ยนแปลงมาออนไลน์ แต่อย่างที่สองเราพยายามจะให้มีมุมมองที่หลากหลายกับกิจกรรมรับน้อง ไม่ให้จำเจ ซ้ำซากแบบเดิมอีก เพราะกิจกรรมรับน้องเป็นของนิสิต ต้องเอานิสิตเป็นที่ตั้ง แล้วอย่างที่ผมบอกคือเรื่องการยกเลิก มันมีพัฒนาการทางความคิดในประชาคมนิสิตจุฬาฯ ในปัจจุบันมาเรื่อยๆ ไม่ใช่เราเสนอเป็นคนแรก เรามีการพัฒนาตลอดว่า เราควรจะทบทวนการจัดกิจกรรม
คิดว่ามติของ อบจ.ที่เป็นผลออกมาถึง 27:0 สะท้อนอะไรบ้างกับมติที่เอกฉันท์มากแบบนี้
นันท์นภัส – ในการประชุมครั้งแรก เราเอาเรื่องนี้มาในมติว่า ยังมีกิจกรรมนี้อยู่ เราเห็นด้วยไม่ หรือไม่เห็นด้วยยังไงบ้าง ทีนี้ก็มีการโหวต มติคือ 27-0 ที่มองว่าควรยกเลิก เราก็ร่างเป็นแถลงการณ์อีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 5 และมีการโหวตมติ 29-0 ว่าให้ออกแถลงการณ์นี้ออกไป ซึ่ง อบจ.มันจะเป็น 10 ตำแหน่งบริหารที่นิสิตทั้งมหา’ลัยจะโหวต และอีก 20 ตำแหน่งก็จะเป็นนายกฯ ของแต่ละคณะนั้นๆ ซึ่งนิสิตแต่ละคณะจะโหวตขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราก็เป็นตัวแทนที่สะท้อนเสียงนิสิตนักศึกษา เพราะเรามีทุกคณะ และนายก เขาไม่ใช่พรรคเรา เขาเป็นคนของเขาที่ทำกิจกรรมในแต่ละคณะขึ้นมาเอง
ดังนั้นตรงนี้มันสะท้อนว่า นิสิตที่โหวตเขาเหล่านี้เข้ามา และผู้นำองค์กรเหล่านี้เขามีความคิดเปลี่ยนไปแล้ว จากไม่กี่ปีมานี้เอง
ธันยธรณ์ – แล้วคณะในจุฬาฯ อาจจะมีคณะที่เป็นหัวอนุรักษ์นิยม ไม่ใช่ทุกคณะจะหัวก้าวหน้า หรืออยากเปลี่ยนแปลง แต่ขนาดที่เราคิดว่าหัวอนุรักษ์นิยมเขายังสนับสนุนเลย เพราะมันต้องมีการปรับเปลี่ยนตามกาลสมัยต่อไป
พอออกแถลงการณ์ไปแล้ว เห็นกระแสตอบรับที่มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ในฐานะ อบจ.มองอย่างไรบ้าง
นันท์นภัส – ตอนแรกคิดว่าเรื่องนี้คงจะดังแค่ในประชาคมจุฬาฯ คนนอกก็อาจจะสนใจว่ามีสิ่งนี้ แต่กลายเป็นว่าคนนอกทั้งหลายก็ให้ความสนใจ และก็ไปไกลกว่าที่เราคิดมากๆ แน่นอนเราก็คิดไว้แล้วว่าจะมีคนแสดงความเห็น และเรามองว่ามันเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีคนเห็นด้วยหรือเห็นต่าง คุณก็สามารถที่จะพูด พิมพ์ หรือแสดงความเห็นออกมาโดยที่ไม่มีใครไปจับคุณเข้าคุก หรือปิดปากคุณ เพราะเราเคารพความเป็นประชาธิปไตยตรงนี้
แต่ในขณะเดียวกัน สังคมในปัจจุบันข้างนอก มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะตอนนี้ยังมีการจับกุมคุมขังคนที่แสดงความเห็น
ซึ่งถ้าเราส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยตั้งแต่ในสถานศึกษา มันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมข้างนอกเราพัฒนาไปด้วย ถ้าสมมติคุณยังคงกิจกรรมที่ไม่เท่าเทียม และห้ามวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ และใช้อำนาจว่าคุณไม่เกี่ยว ไม่มีสิทธิมายุ่ง มันก็จะผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียม และบ่อนทำลายคุณค่าประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนต่อไปเรื่อยๆ
กระแสที่บอกว่า การยกเลิกกิจกรรมไม่คำนึงถึง พระเกี้ยวที่เป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจ ทำลายประเพณี ลดคุณค่าของจุฬาฯ น้องๆ ในฐานะนิสิตปัจจุบัน คิดอย่างไร
นันท์นภัส – พอเขามาบอกว่าอะไรคือความเป็นจุฬาฯ แล้วไปลดทอน เรารู้สึกว่ามันเป็นการปิดพื้นที่ในการถกเถียงมากๆ เพราะเรายังไม่ได้มาพูดกันเลยว่า อะไรคือความเป็นจุฬาฯ เป็นอัตลักษณ์ของจุฬาฯ คือพระเกี้ยวอย่างเดียวหรือเปล่า ? คุณได้ถามนิสิตปัจจุบันหรือยังว่า เขาอยากจะมีภาพจำว่าเขาจบมาจากมหาวิทยาลัยที่ยังแบกคนขึ้นเสลี่ยงอยู่หรือเปล่า ? จริงๆ น่าจะมาถามก่อน
จุฬาฯ เองมันมีหลายอย่าง ทั้งชุมชนรอบจุฬาฯ มีสกาล่าที่ตอนนี้ก็ตกเป็นของนายทุน และก็มีศาลเจ้าแม่ทับทิมที่กำลังจะโดนทุบ มีประวัติศาสตร์ของประชาชน ประชาธิปไตยของชุมชน ตรงนี้เราได้หยิบยกมาพูดถึงร่วมกันหรือเปล่า ถึงไปบอกว่าอะไรเป็นคุณค่า เป็นอัตลักษณ์ของเรา ก่อนอื่นเราต้องมาถกเถียงกันก่อนว่าอะไรคือจุฬาฯ อะไรคือคุณค่า หรือสังคมมองเรา เพราะว่าจุฬาฯ เค้าก็จะบอกว่าตัวเองเป็นเสาหลักของแผ่นดิน เสาหลักของประเทศ ซึ่งเราว่าอะไรแบบนี้ มันไม่ควรพูดเอง มันควรเป็นเรื่องที่คนอื่นต้องบอก ไม่ใช่เราบอกว่าฉันเป็นแบบนี้
เราก็มีการเปิดฟอร์ม แบบสอบถามขึ้นมา อันนึงสำหรับประชาคมจุฬาฯ นิสิต บุคลากร มาแสดงความเห็นกันได้ว่าอะไรที่คุณอยากนำเสนอความเป็นจุฬาฯ กับอีกอันนึงก็เป็นฟอร์มที่ประชาชนข้างนอกมาแสดงความเห็นได้ว่าคิดยังไงกับจุฬาฯ จุฬาฯ เองก็จะได้รู้ด้วยว่าสังคมข้างนอกเขาคิดยังไงกับคุณ ไม่ใช่คุณไปเคลมตัวเองเป็นเสาหลัก หรืออะไรต่อไปเรื่อยๆ
ธันยธรณ์ – ผมคิดว่าความเป็นจุฬาฯ มันต้องยึดโยงกับทุกคน ทั้งนิสิต บุคลากร ยึดโยงให้ครอบคลุม ถ้าเราแค่บอกว่า ไม่เอาเสลี่ยง คือจุฬาลงกรณ์มันสะท้อนได้แค่นี้เองหรือ ทั้งๆ ที่ทุกอย่างมันมีหลายองค์ประกอบ แล้วเราไม่ได้ผูกขาดที่มันต้องเป็นแบบนู้นแบบนี้ เราฟังความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อให้ขบวนมันออกมาสะท้อนกับความเป็นจุฬาฯ อย่างแท้จริงมากกว่า
มองยังไงกับล่าสุดที่สมาคมศิษย์เก่าออกแถลง และบอกจะให้คงกิจกรรมนี้ไว้
ธันยธรณ์ – ผมสรุปง่ายๆ เค้าอยากให้มีต่อเค้าก็ต้องทำเอง เพราะปัจจุบันคนที่มีหน้าที่ไปแบกเสลี่ยงคือนิสิตปัจจุบัน แล้วในเมื่อนิสิตปัจจุบันเขาสะท้อนผ่านการเลือกตั้งว่าไม่อยากให้มี อบจ.เราได้รับเลือกตั้งมา เราก็ต้องสะท้อนเสียงตรงนี้ ว่าเขาไม่อยากให้มีแล้ว ส่วนศิษย์เก่าจะเกณฑ์สมาชิกสมาคมศิษย์เก่ามาถือเสลี่ยง อันนี้ผมก็ไปห้ามไม่ได้ แต่อีกประเด็นก็คือ พอ อบจ.ออกแถลงการณ์ เขาบอกว่าถามนิสิตทุกคนหรือยัง และที่สมาคมศิษย์เก่าออกแถลงการณ์ ก็ไม่เห็นมีใครไปถามสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าเลย เขาก็ออกแถลงการณ์มาแบบนี้ ผมว่ามันก็ต้องแฟร์กันทุกฝ่าย
นันท์นภัส – ถึงเค้าจะมีอำนาจในการจัดงานบอล หรือตัดสินใจว่างานบอลจะเป็นยังไงก็ตาม แต่เราว่าก็สะท้อนเลยแหละว่า มันไม่สะท้อนสังคม แต่สะท้อนความคิดของผู้มีอำนาจ และผู้จัดงานว่าจริงๆ เขามองสังคม คิดยังไง เค้าเห็นตัวเอง หรืองานที่เขาจัดเป็นยังไง สะท้อนชัดเจนเลยว่าเขาไม่เห็นหัวประชาคมจุฬาฯ ไม่เห็นหัวสังคมอะไรเลย เขาคิดว่านี่คือคอนเนคชั่น และภาพแสดงของฉัน และเขาอยากจะเก็บภาพนี้ไว้ แล้วก็อยากให้สังคมเชื่อว่าเขาเป็นแบบนี้นะ แต่เราว่าเขาทำไม่ได้หรอก ในกระแสสังคมที่มันเปลี่ยนไปขนาดนี้แล้ว มันเป็นความพยายามที่ absurd เนอะ
ธันยธรณ์ – ใช่ ผมว่า นิสิตเขาก็สะท้อนเสียงมาแล้ว แต่ถ้าคุณยังจะดึงดันจัด ก็บ่งบอกอะไรถึงภาพลักษณ์องค์กร
อยากบอกอะไรศิษย์เก่า เช่น รัฐมนตรี หรือนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจกรรมขนาดนี้
ธันยธรณ์ – ผมว่าประเพณีมันต้องเปลี่ยนได้ตามกาลสมัย โลก และความคิดคนมันก็ต้องพัฒนาการต่อไป อะไรที่ปัจจุบันเราคิดใหม่ และทบทวนแล้วว่ามันไม่สอดคล้องกับกาลสมัยมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนความทรงจำก็เป็นเรื่องของความทรงจำ แต่เราต้องมองไปยังอนาคต และถ้าหากทุกวันนี้ มหา’ลัยโลกเขาไปถึงไหน เขาจะรับรางวัลโนเบลกัน แต่นี่ยังพูดถึงประเพณี ผมคิดว่ามันควรที่จะต้องไปข้างหน้า
นันท์นภัส – อยากฝากว่าขอบคุณที่ให้ความสนใจมากมายขนาดนี้ แล้วอยากจะสนับสนุนให้เขาเอาความสนใจตรงนี้ ไปสนใจปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน คนจนเมือง ปัญหาต่างๆ แม้กระทั่ง สังคมข้างนอกที่ตอนนี้ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มีนิสิตนักศึกษาโดนจับเข้าคุก โดนแจ้งมาตรา 112 เพียงแค่เขาอยากพูด อยากแสดงออก หรือคิดในสิ่งที่เขาเห็นต่าง
แล้วสถานการณ์ในสถานศึกษาหลายๆ ที่มีการปิดกั้น หรือไม่ให้นิสิตได้แสดงความเห็นว่าเขาคิด หรือเห็นอย่างไร มันกลายเป็นว่ามหา’ลัย แทนที่จะเป็นสถานที่พัฒนาบุคลากรให้มีความคิดความอ่าน เขากลับไปปิดกั้นซะเอง ไม่ว่าจะที่ มธ.ที่ปิดกั้นการจัดงาน 6 ตุลา หรือว่า มช.คณะวิจิตรศิลป์ ก็ล็อครั้ว ไม่ให้เข้าไปจัดงานแสดง หรือ ม.บูรพาก็มีนิสิตที่โดนแจ้ง 112 อยู่ หรือหลายๆ ที่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็มีสถานการณ์เรานี้ เราควรไปโฟกัสตรงนี้ไหม ให้สถานศึกษาพัฒนาบุคลากรที่จะเติบโตขึ้นไปในสังคมยังไงดี แทนที่จะมาสนใจอะไรที่มันจะตายไปแล้ว
หลายคนที่เดือดร้อนกับการยกเลิกกิจกรรมนี้ หรือไม่เห็นด้วย ไม่ใช่สิทธิเก่า หรือสิทธิปัจจุบันของจุฬาฯ เลย
ธันยธรณ์ – เรื่องนี้เราเปิดกว้างนะ เรายินดีรับฟังความเห็นของทุกคน ประชาชนทั่วไปเราก็เปิดรับฟังความเห็น ถ้าเราบอกว่าจุฬาฯ รับเงินภาษีประชาชนมา เราก็ยินดีที่ให้แสดงความเห็น มันก็พูดตลกๆ ได้ว่าคุณเป็นศิษย์เก่า ม.อื่นๆ แต่ในแง่หลักการเรายินดีรับฟังความเห็นของประชาชนทุกคน
ถ้าอนาคต มีคนอยากนำกิจกรรมนี้กลับมา จะเป็นไปได้ไหม
ธันยธรณ์ – เราไม่เคยปิดกั้นนะ เรายินดีรับฟังความเห็นของทุกคน มีคนบอกว่าเรายกเลิกพระเกี้ยว ไม่ใช่นะ เราจะไปยกเลิกได้ยังไง เป็นไปไม่ได้ ผมว่าเราต้องจับประเด็นดีๆ นิดนึง สมมติว่าคุณอยากให้มีการอัญเชิญพระเกี้ยวต่อไป ก็ง่ายมากๆ เลยคือมาลงเลือกตั้ง อบจ. และชนะการเลือกตั้ง แล้วก็จัดเป็นฝ่ายเลยก็ได้ แล้วไปหาคนมา แต่ก็อย่าไปบังคับเขาแล้วกัน มันง่ายแค่นี้ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของมัน
การที่เรายกเลิกกิจกรรมนี้ ส่วนนึงเพราะมองว่าไม่ตอบโจทย์แล้ว คิดว่าคุณค่าของงานบอล ต้องเป็นกิจกรรมแบบไหนที่มีคุณค่าที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
นันท์นภัส – ตรงนี้งานบอลเราก็มีในฟอร์ม ที่เปิดให้ได้มีการแสดงความเห็นเลย เพราะอย่างที่เราบอกว่าตอนนี้มันยังไม่มีพื้นที่ในการแสดงความเห็นอย่างปลอดภัยเลย ตรงนี้ถ้าเรามาหารือร่วมกันได้มันก็จะเป็นอะไรที่สะท้อนเสียงทุกคนจริงๆ ส่วนมันจะเป็นยังไงต่อไป มันก็ต้องดูว่ามันจะตอบรับกับคุณค่าไหนในสังคม และอะไรในสังคมที่ขาดหายไปในตอนนี้ อบจ.ก็มองว่าคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม หรือความหลากหลาย มันหายไปในสังคม ดังนั้นถ้าจัดกิจกรรมขึ้นมา มันต้องตอตรงนี้แน่นอน ส่วนจะเป็นรูปแบบไหน ก็มาออกแบบร่วมกันได้
ธันยธรณ์ – สำหรับผม อย่างแรกต้องเลิกเอานักเตะทีมชาติมา เพราะผมก็เป็นคนนึงที่ดูบอล และผมอ่านข่าวสมัยก่อนการที่เขาเอานักบอลมาเตะที่งานฟุตบอลประเพณี มันทำให้เทรนนิ่งของนักบอลดร็อปไป เพราะบางคนไปเตะต่างประเทศก็ต้องถ่อบินกลับมาเตะแมทช์เดียว มันส่งผลเสียต่อวงการฟุตบอล และองค์กรที่ไปบังคับ
อันที่สองต้องส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย โลกสมัยใหม่เขาส่งเสริมคุณค่าแบบนี้ เราบอกว่ามหา’ลัย ควรจะเป็นตัวอย่าง เราก็ควรจะปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมให้มันสอดคล้อง และต้องครอบคลุม ต้องไม่ยกย่องใครเพราะใครมีหน้าตาดี beauty privilege ถ้าถามว่ากิจกรรมแบบไหนมันก็ต้องมีพวกนี้
เห็นในแบบสอบถามที่ถามความเห็นเรื่องการยกเลิกกิจกรรมนี้ มีการถามว่า ‘อะไรคือความเป็นจุฬาฯ ที่แท้จริง’ ในมุมมองของทั้งสองมองว่าอะไรคือความเป็นจุฬาฯ
ธันยธรณ์ – ถ้าถามผม อบจ.อาจจะไม่ได้มีสิทธิไปนิยาม เพราะต้องให้ประชาคมจุฬาฯ นิสิต หรือบุคลากรปัจจุบันช่วยกันสะท้อนกันว่าอะไรคือความเป็นจุฬาฯ และระดมความเห็นกัน เพราะว่า 30 คน (จำนวนสมาชิก อบจ.) ถึงจะเป็นตัวแทน แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเท่านั้น เราต้องฟังความคิดเห็นคนอื่นอีกมาก แต่หลักๆ ผมคิดว่าจุฬาฯ ควรต้องครอบคลุมว่ามีเซคชั่นไหนในมหา’ลัยบ้าง ไม่ใช่แค่เซคชั่นของคนหน้าตาดี มีนักกิจกรรม มันมีคนอื่นๆ ในประชาคมจุฬาฯ อีกมากมาย
นันท์นภัส – จริงๆ เราต้องเห็นก่อนว่าใครคือจุฬาฯ บ้าง และใครคือคนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับจุฬาฯ เพราะจุฬาฯ ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรออกไปในสังคม และไม่ว่าเขาจะขยับอะไรก็มีผลกระทบต่อสังคม ตรงนี้เราคิดว่าการจะมานิยามว่าจุฬาฯ คืออะไรฯ ต้องทำร่วมกันทั้งคนในประชาคม และคนที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ แต่เราคิดว่า เรายังไม่มีพื้นที่ในการพูดคุย เปิดรับ มาฟังร่วมกันเลย ไม่ใช่มาผูกขาดคำนิยาม ผูกขาดประวัติศาสตร์ ว่ารากเง้าฉันมาแบบนี้ และปิดรับไม่ฟังใคร ถ้าใครมาวิจารณ์ โต้แย้ง ก็ฟ้องร้อง จุฬาฯ ที่เขาเข้าใจว่าตัวเองเป็นเสาหลักก็ควรที่จะเปิดกว้างและรับฟังต่อ
ธันยธรณ์ – ผมว่าทุกอย่างเปลี่ยนได้ตามกาลสมัย อย่างโลโก้จุฬาฯ มันก็เปลี่ยน เดิมทีมีแฉกมากกว่านี้ เดี๋ยวนี้มันเป็นขีดๆ เขาบอกว่ามันโมเดิร์นขึ้น คือทุกอย่างมันก็เปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนเล็กเปลี่ยนน้อย ไม่ได้แช่แข็ง และอีกอย่างกิจกรรมเสลี่ยงมันเพิ่งมีมา 30-40 ปีนี้เองที่ใช้คนแบก แต่ก่อนมีภาพว่าใช้รถก็มี คือผมว่ามันมีพัฒนาการ และเราเสนอให้มันมีพัฒนาการตลอดไป
แปลว่าที่ผ่านมา เราเห็นการผูกขาดนิยามของจุฬาฯ ค่อนข้างชัดเจน
นันท์นภัส – ใช่ ปีนี้เราได้จัดกิจกรรมตุลารำลึก ซึ่งกิจกรรมนี้เคยถูกจัดในปี 2522 แต่ก็โดนกิจการนิสิตปิดตึก ไม่ให้เข้า จริงๆ ประวัติศาสตร์จุฬาฯ มันมีประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่มีการพยายามจะต่อสู้ คัดง้างกันมาตลอด แต่มันไม่ถูกให้ความสำคัญ เพราะไม่ใช่เรื่องเล่าหลัก ส่วนเรื่องเล่าหลักก็เป็นอะไรที่ยึดโยงกับเจ้า หรือสถาบัน มันก็มีคำพูดของผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเมื่อปีที่แล้วเขาพูดว่า ‘เราต้องแสดงให้เห็นว่านิสิตจุฬาฯ มีความผูกพันกับสถาบันกษัตริย์’ เราก็สงสัยว่าเขาเคลมแบบนี้ได้ยังไง ทำไมเราไม่เปิดพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และในเชิงทั้งในสิ่งที่มันเป็นอยู่
มีงานบอลปีนึง ที่นักศึกษาเขาเข้าไปแล้วชูป้าย ‘free Somyot’ แล้วก็ถูกพาลงมา มันก็มีความพยายามแบบนี้มาตลอด แต่มันก็ไม่เคยถูกเล่าลงไป หรือนำมานำเสนอ อย่างงานตุลารำลึกที่จัดขึ้นมันก็เป็นความพยายามในการเล่าประวัติศาสตร์ที่มันถูกเมินไป ถูกกลบฝังไป เหมือนประเทศเราเขาก็มีการเอาหมุดคณะราษฎร ทุบตรงนู้นตรงนี้ทิ้ง เพราะเขาจะพยายามจะลบ และผูกขาดประวัติศาสตร์ เราก็เป็นส่วนเล็กๆ ที่พยายามจะเอาส่วนตรงนี้ขึ้นมา จัดงานนี้ขึ้นมาใหม่ และเล่าว่ามันมีความเป็นประชาธิปไตย หรือความเท่าเทียมยังไง มันมีพัฒนาการมาตลอด ไม่ได้หายไป
จุฬาฯ มักถูกเรียกว่าเป็นเสาหลัก ภาพมหา’ลัยที่เป็นเสาหลักของประเทศ ในความคิดเรา คือแบบไหน
นันท์นภัส – อย่างที่บอกไปเรื่องแบบนี้มันต้องให้คนอื่นพูด ไม่ใช่เราพูดเอง ณ ตอนนี้พอเราได้ยินจากคนอื่นพูดมา คนอื่นเขาพูดในเชิงประชดประชันมากกว่าว่าเป็นเสาหลัก แต่คุณทำอะไรอยู่ ทั้งๆ ที่เรายังไม่แน่ใจเลยว่าจริงๆ เราเป็นเสาหลักหรือเปล่า เพราะว่ามหา’ลัยในไทย ก็มีทั้ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร มหา’ลัยอื่นๆ ก็มีนิสิตเป็นแสน มีทั้งมหา’ลัยภูมิภาค ภาคใต้ อีสาน หรือเหนือ มันก็มีพัฒนาการของนิสิตนักศึกษา หรือความเป็นสถาบันในแต่ละที่ ตรงนี้เรามองว่าถ้าจะชูที่ใดในแต่ละที่มาผ่านคุณภาพ หรือหลักเกณฑ์บางหลักเกณฑ์ ตรงนี้เราไม่แน่ใจว่ามันมีความจำเป็นขนาดนั้นหรือเปล่า
ธันยธรณ์ – ผมคิดว่าโดยภาพรวม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องไม่คิดว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์นะ คำว่าเสาหลักหมายความว่าจุฬาฯมีบทบาทในการพัฒนาประเทศใช่ไหม
แต่จริงๆ เราก็ต้องคำนึงถึงมหา’ลัยอื่นๆ ด้วย ที่เขาก็มีบทบาทเหมือนกัน รวมกันแล้วอาจจะมากกว่าจุฬาฯ ด้วยซ้ำ ผมว่าวาทกรรมแบบนี้ในมุมนึงมันอาจจะเป็นการสร้างแบรนด์ดิ้ง ซึ่งจริงๆ อย่างที่พี่ตูลย์บอก มันต้องเป็นการชมเชยจากคนอื่น ไม่ใช่เรามาเสนอตัวว่าเราเป็นเสาหลัก และการกระทำก็ไม่ได้สอดคล้อง
สุดท้ายนี้ ในแถลงการณ์ของ อบจ. ลงท้ายว่า ‘ให้คนเท่ากัน’ มองว่าทำไมมหา’ลัย ที่เป็นสถานศึกษา ควรเน้นคุณค่าเรื่องคนเท่ากัน
ธันยธรณ์ – คุณค่าเรื่องคนเท่ากันเป็นเรื่องสำคัญในสังคมเสรีประชาธิปไตย แล้วผมคิดว่าเทรนด์ในโลกสมัยใหม่มันก็เป็นไปทางนี้ทั้งหมด มีแต่ประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่มีเผด็จการมากขึ้น อาจจะยกเว้นประเทศไทย มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางการศึกษา จำเป็นต้องบ่มเพาะ และเคารพอุดมการณ์แบบนี้ในโลกสมัยใหม่ และไม่ควรสะท้อนว่ามีคนสูงกว่าอีกคน หรืออีกคนมีคุณค่ามากกว่าอีกคนออกไป มันจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับสังคม เวลาเราพูดว่ามหาวิทยาลัยสะท้อนสังคม วิชาการ แต่คนก็มาชี้ว่าตัวอย่างแบบนี้มันสะท้อนอะไร มันคือจิตใต้สำนึก อุดมการณ์เบื้องหลังที่มันยังมีการถือลำดับศักดินา ซึ่งผมว่ามันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
นันท์นภัส – ให้คนไม่เท่ากันมันก็ไม่ได้นะ เพราะในขณะที่คุณเถียงกันสองคน คนนึงบอกไม่เห็นด้วย และเขาโดนตัดคะแนน หรือจับไปขัง กับอีกคนบอกไม่เห็นด้วยเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้โดนอะไรเลย แถมยังลอยหน้าลอยตา ไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองต้องทำ เรามองว่าถ้าคนไม่เท่ากันแบบนี้ บทสนทนามันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย พื้นที่ถกเถียง พื้นที่พูดคุยหรือหาคุณค่า มันไม่มีเลย เพราะมันมักจะมีคน หรือกลุ่มนึงที่ผูกขาดหรือยึดตรงนี้เป็นของพวกตัวเอง แต่สังคมอื่นๆ ถูกปิดปากไว้