“ปัญหาของประเทศไทย คือ อำนาจของ ส.ว. สูงมาก ถึงขั้นมาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ที่มา [ของ ส.ว.] กลับมาจากคนไม่กี่คน…” ไอติม—พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกลกล่าว
เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว 99% เราก็คงเริ่มเห็นหน้าตาของรัฐบาลชุดต่อไปกันมากขึ้น แต่อีกหนึ่งข้อกังวลของใครหลายๆ คนต่อจากนี้ก็คงหนีไม่พ้นประเด็น อำนาจของ ส.ว.
แล้วจู่ๆ เสียงของส.ว.เข้ามามีบทบาทในการเลือกนายกฯ ได้อย่างไร ส.ว.มีอำนาจอะไรบ้าง? ในประเด็นนี้ The MATTER จึงขอสรุปเอาไว้ให้ทุกคนได้อ่านกัน
1. ส.ว.ชุดนี้มาได้อย่างไร?
ที่มาของ ส.ว.ชุดนี้ เป็นผลพวงมาจาก รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ระบุไว้ว่าในวาระเริ่มแรกของ ส.ว.ชุดนี้ ให้มีจำนวน 250 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งตามที่ คสช. ถวายคำแนะนำ
โดย จำนวน 250 คน จะมาจาก 3 ทาง คือ
– ให้ กกต. สรรหารายชื่อ 200 คน แล้วเสนอให้ คสช.เลือก 50 คน
– คณะกรรมการรรหา ส.ว. สรรหารายชื่อไม่เกิน 400 คน แล้วเสนอให้ คสช.เลือก 194 คน
– เป็นโดยตำแหน่ง (โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งเดิม) 6 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เมื่อ ส.ว.ชุดแรกดำรงตำแหน่งครบ 5 ปีแล้ว ส.ว. ชุดต่อมาจะมีจำนวนเหลือ 200 คน ซึ่งมากจากการเลือกกันเอง โดยระหว่างที่ยังไม่ได้ ส.ว.ชุดใหม่ ส.ว.ชุดเดิมก็จะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
2. ทำไม ส.ว.ถึงมีอำนาจเลือกนายกฯ ?
อำนาจนี้ของ ส.ว.เป็นอีกหนึ่งผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่ระบุให้ ส.ว.ในวาระแรก มีอำนาจร่วมกันกับ ส.ส.ลงมติเลือกนายกฯ
ในวาระแรกสมาชิกรัฐสภามีจำนวน 750 คน (ส.ส. 500 คน + ส.ว. 250) ดังนั้น นายกฯ ต้องได้เสียง ตั้งแต่ 376 เสียงขึ้นไป กล่าวคือเสียงจาก ส.ส.อย่างเดียว 376 หรือ จะเป็น ส.ส.+ ส.ว. 376 เสียงก็ได้
อีกทั้ง การให้ ส.ว. 250 เสียง สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ ก็ยังมาจาก ‘คำถามพ่วง’ ที่เคยถามไว้ตอนลงประชามติรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 ที่ถามว่าเห็นด้วยกับการให้ ส.ว. 250 เสียง โหวตนายกฯ หรือไม่ ซึ่งในคำถามระบุไว้ว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
3. ส.ว.มีอำนาจอื่นๆ อะไรอีกบ้าง?
ส.ว. ไม่ได้มีอำนาจแค่โหวตนายกฯ เท่านั้น แต่ยังมีอำนาจโหวตการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน
ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุว่า หากมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คน หรือ 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดย iLaw ให้ความเห็นเกี่ยวกับอำนาจนี้ของ ส.ว. ไว้ว่าเป็นอำนาจที่สำคัญมาก เพราะกลไกต่างๆ ที่เป็นฐานอำนาจให้กับ คสช. จะไม่สามารถถูกแก้ไขหรือยกเลิกได้เลยหากไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ก่อน
รวมไปถึง ส.ว. ยังมีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ โดย ส.ว.จะร่วมอภิปรายและลงมติพร้อมกับ ส.ส. เลยตั้งแต่ต้น
อำนาจของ ส.ว. ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ยังมีอำนาจอื่นๆ อีก เช่น
– ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
– ให้คำแนะนำในการเลือก กกต. , ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ปปช. , คณะกรรมการตรวจเงิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
– ให้ความเห็นต่อการจัดทำ ‘มาตรฐานทางจริยธรรม’ เพื่อบังคับใช้ในองค์กรอิสระ
– ให้ความเห็นชอบผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
– พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
– เปิดอภิปรายทั่วไปในปัญหาใหญ่ของประเทศ
– ให้ความเห็นชอบการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญ
– พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่อจาก ส.ส. โดยสามารถยับยั้งหรือแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ได้
– พิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ แต่ไม่มีอำนาจแก้ไข
– เข้าชื่อ 75 คน ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
– พิจารณา พ.ร.ก.ที่ ครม. ออก
– พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศร่วมกับ ส.ส.
– ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี
– เข้าชื่อมากกว่า 84 คน เปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้ ครม.ชี้แจงปัญหา ฯลฯ
4. ข้อถกเถียงเรื่องการมี ส.ว.
ประเด็นข้อถกเถียงเรื่องอำนาจของ ส.ว.ที่ไม่ได้ยึดโดยงกับประชาชน และอำนาจที่บางคนก็ตั้งคำถามว่ามากเกินไปหรือไม่ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งในการโหวตนายกฯ
ประเด็นนี้ ไอติม—พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกลกล่าว ก็เคยระบุว่าไว้เช่นกันว่า “ปัญหาของประเทศไทย คือ อำนาจของ ส.ว. สูงมาก ถึงขั้นมาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ที่มากลับมาจากคนไม่กี่คน และไม่ค่อยมีความโปร่งใสเรื่องเกณฑ์การวัด และมีผลประโยชน์ทับซ้อน ความไม่สมดุล ตรงนี้เป็นปัญหา”
พริษฐ์ มองว่าการกำหนดทิศทางของประเทศ ต้องมาจากหลักการ ‘หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน’ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักการนี้ เพราะเราต้องใช้เสียงประชาชนหลายเสียงกว่าจะได้ ส.ส.มา 1 คน แต่ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 1 คน กลับมีเสียงมากกว่าประชาชนหลายคน
โดย พริษฐ์ชี้ให้เห็นว่า ถ้าอยากเคารพหลักการ 1 สิทธิ 1 เสียง อำนาจของ ส.ว.ก็ต้องแปรผันไปตามความยึดโยงของประชาชน ถ้าอยากให้ ส.ว.มีอำนาจสูง ส.ว.ก็ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนมาก แต่ถ้าอยากให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ส.ว.ก็ควรจะต้องมีอำนาจน้อยตามไปด้วย เช่น ส.ว.ในอังกฤษ มาจากการแต่งตั้ง อำนาจสูงสุดที่ ส.ว.อังกฤษทำได้ก็คือการขอระงับกฎหมายไว้ 1 ปี
ความเห็นของพริษฐ์ก็สอดคล้องกับที่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ไว้ว่า ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน อีกทั้งยังมาจากการแต่งตั้งจาก คสช. คือปัญหาใหญ่ที่สุด
อย่างไรก็ดี ปริญญายังกล่าวถึงระบบรัฐสภาไว้ว่า ประชาชนเป็นผู้เลือกนายกฯ ผ่านการเลือกส.ส. ให้เข้าไปโหวตนายกอีกที ดังนั้น ส.ว.ต้องอยู่เฉยๆ แล้วดูว่าเสียงข้างมากของประชาชนไปทางไหน แล้ว ส.ว.ค่อยโหวตตาม
“ข้อสำคัญที่สุดคือ ข้อนี้ [ส.ว.ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก] เพราะมันคือการกลับสู่ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอีกครั้งหนึ่ง เราเห็นต่างกันได้ เราจะเลือกพรรคต่างกันได้…ท่านอาจจะเจตนาดีต่อบ้านเมืองแต่ต้องบอกท่าน เรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชน ท่านก็เพียงแค่โหวตตามที่ประชาชนเขามีฉันทามติ ในเมื่อเมื่อสี่ปีก่อนท่านโหวตตาม คสช.ได้ ทำไมจะโหวตตามประชาชนไม่ได้ล่ะ” ปริญญา กล่าวเสริม
นอกจากนี้ พริษฐ์ ยังเสนอว่า การจะแก้ปัญหาความไม่สมดุลของอำนาจ ส.ว. มี 3 แนวทาง
แนวทางแรก คือ ในเมื่ออยากให้ ส.ว. มีอำนาจมากก็ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็จะเป็นปัญหาว่า จะออกแบบระบบเลือกตั้งอย่างไรให้ได้คนที่แตกต่างจาก ส.ส. ถ้าหากเลือกตั้งสองครั้งแล้วได้ผลออกมาเหมือนกันก็คงไม่มีความจำเป็นต้องมี ส.ว. ให้ซ้ำซ้อนกับ ส.ส.
แนวทางที่สอง คือ การลดอำนาจของ ส.ว. ให้เหลือน้อยลง ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังมีคำถามถึงความโปร่งใสในแง่ที่มาอยู่
แนวทางที่สาม คือ การตั้งคำถามว่า ส.ว.มีความจำเป็นหรือไม่ เพราะในประวัติศาสตร์ประเทศไทยก็มีช่วงที่ใช้ระบบ ‘สภาเดี่ยว’ [มีแต่ ส.ส.] เท่านั้น รวมไปถึงในกระแสโลก ก็มีหลายประเทศที่เปลี่ยนจากการใช้ระบบ ‘สภาคู่’ [ส.ส.+ ส.ว.] มาเป็นระบบสภาเดี่ยวแทน
อีกทั้ง พริษฐ์ ยังกล่าวถึงข้อดีของการใช้ระบบสภาเดี่ยวที่ไม่มี ส.ว. คือสามารถลดงบประมาณลง เนื่องจากทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายของการมี ส.ว. อยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี
ข้อดีต่อมาคือ ระยะเวลาในการออกกฎหมายแต่ละฉบับจะสั้นลง สามารถออกกฎหมายเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลกได้คล่องตัวมากขึ้น
ส่วนในประเด็นว่า ถ้าไม่มี ส.ว.แล้ว จะไม่มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอาชีพหรือเปล่า พริษฐ์มองว่า ก็สามารถเพิ่มบทบาทของตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพให้เป็นกรรรมาธิการร่างกฎหมาย หรือหากกลัวว่า ส.ว.ต้องทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น ซึ่งก็มีทางเลือก คือ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ให้แต่ละจังหวัดจัดการตนเองได้เช่นกัน
“บางคนอาจจะกลัวว่า ถ้าไม่มี ส.ว. แล้วใครจะทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหาร ขอตั้งประเด็นว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่า การไม่มี ส.ว. ถ่วงดุลอำนาจบริหาร คือ การมี ส.ว. มาให้ท้ายฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ” พริษฐ์ ปิดท้าย
อ้างอิงจาก