อยู่ๆ ผู้มีอำนาจจากภาครัฐ อย่างท่านปลัดกระทรวงการคลัง ก็ออกมานำเสนอโมเดลสุดปราดเปรื่องให้ ‘ความเป็นไทย’ วิวัฒนาการย้อนกลับไปเป็น ‘เห็บ’ (อันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่น่าจะจัดอยู่ในไฟลั่มเดียวกันกับคนทั้งประเทศนี้ได้) แล้วจะห้ามไม่ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเสียให้ขรมได้ยังไงไหว?
ยิ่งเมื่อครั้งหนึ่งเมื่อราว 25-26 ปีที่แล้ว ในยุครัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ คนไทยเราเคยวาดฝันเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็น ‘เสือตัวที่ 5’ ของเอเชีย (ส่วนเสือตัวที่ 11 นั่นของคุณพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์) อยู่ๆ มาถูกดาวน์เกรดอย่างนี้ เป็นใครเขาก็เซ็งกันทั้งนั้นแหละครับ เชื่อผมเหอะ
สี่เสือแห่งเอเชีย ที่ในครั้งหนึ่งเราอยากจะปรับเปลี่ยนสปีชี่ส์ ไปขอร่วมวงศ์ไพบูลย์กับเขานั้น ประกอบด้วย ฮ่องกง, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2503-2533 เป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วและต่อเนื่อง แถมยังมีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมอย่างรุนแรงในระดับ 9 ริกเตอร์ จึงไม่แปลกอะไรที่เราอยากจะเป็นอย่างเขาบ้าง
เพียงแต่ครั้งนั้นเราอยากเป็น ‘เสือ’ เหมือนอย่างเขา แต่ครั้งนี้ท่านปลัดกระทรวงการคลัง เสนอให้เราเป็น ‘เห็บ’ เกาะเขาไปแบบไปไหนไปนั่นก็เท่านั้นแหละ
ดังนั้นเจ้า ‘เสือตัวที่ 5’ ที่ว่านี่ก็เป็นคำเปรียบเปรยทางเศรษฐกิจเหมือนกันกับ ‘เห็บสยาม’ นั่นเองนะครับ และไม่ว่าจะเทียบพิกัดในมุมไหน เป็นเสือยังไงก็น่าครั่นคร้ามกว่ากันอยู่เห็นๆ แต่ถ้าไม่นับเฉพาะโมเดลทางเศรษฐกิจ หรือการเงินแล้ว เสือก็ไม่ใช่สัตว์ตัวแรกที่คนไทยเรายกมาเปรียบเทียบกับความเป็นไทย เพราะก่อนหน้านั้นเราเปรียบเทียบตนเองกับอย่างอื่น และเจ้าสัตว์ตัวที่ว่านี้ก็คือ ‘ช้าง’
หลายคนคงจะทราบว่า ธงสยามประเทศไทยก่อนที่จะเรียกว่า ‘ธงไตรรงค์’ เพราะมีสามสี (‘รงค์’ แปลว่า ‘สี’) นั้นเป็นธงรูป ‘ช้าง’ ในพื้นสีแดงมาก่อน ส่วนช้างนั้นจะเป็นสีอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะเป็นสีขาว เพราะหมายถึงช้างมงคลคือ ‘ช้างเผือก’ แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า ก่อนที่จะกลายมาเป็น ‘ธงชาติ’ นั้น ธงรูปช้างดังกล่าวทำหน้าที่อะไรมาแต่เดิมเอ่ย?
ถูกต้องแล้วครับสำหรับใครที่ตอบว่า เป็นธงที่ใช้ทำหน้าที่ทางการค้า (แน่นอนก็ข้อเขียนชิ้นนี้พูดถึงเห็บสยาม กับเสือตัวที่ 5 ในฐานะคำเปรียบเปรยทางเศรษฐกิจ ถ้าธงช้าง ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ แล้วจะพูดถึงเจ้าช้างเซลล์สีผิวพิการนี่ไปทำไมกัน?) ถึงจะไม่ใช่ขนาดว่าถูกใช้เป็นคำเปรียบเปรยกับโมเดลเศรษฐกิจของชาติเหมือนในยุคหลังก็เหอะ
บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า แต่ดั้งเดิมคนไทยไม่เคยมีธรรมเนียมการใช้ธงชาติ ไม่ว่าจะเป็นการชักหรือประดับธงตามสถานที่ราชการก็ตาม มีแต่การชักธงบนเรือ ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานชี้ชัดลงไปอย่างแน่นอนได้ว่าเริ่มขึ้นสมัยไหนอีกอยู่ดี รู้แต่มีในสมัยอยุธยาแน่
(และนั่นก็หมายความด้วยว่า ธรรมเนียมการยืนตรงเคารพธงชาติทุก 8 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น รวมไปถึงการทรมานทรกรรมนักเรียนอนุบาล, ประถม ไปจนกระทั่งถึงมัธยมทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ในช่วงรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงระหว่างช่วง พ.ศ. 2478-2482 เท่านั้น)
แต่ธงที่ถูกชักขึ้นบนเรือตั้งแต่สมัยอยุธยานั้นยังไม่มีรูปช้างไปปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่ในนั้น เพราะเป็นธงสีแดงล้วน (เอ่อ! ไม่เกี่ยวกับเรือด่วนเจ้าพระยาในปัจจุบันนี้นะครับ) โดยใช้เป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศ ธรรมเนียมแบบนี้ยังถูกใช้มาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี และเมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นเรือหลวง หรือเรือราษฎร์ ขอให้เป็นเรือคนไทยเป็นใช้ได้
และธรรมเนียมดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงมันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 นั่นเลย ใน ‘พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก 118’ ซึ่งเป็นเอกสารยุครัชกาลที่ 5 ระบุเอาไว้ว่า รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีเครื่องหมายบางอย่างบนธง เพื่อให้รู้ว่าลำไหนเรือหลวง ลำไหนเรือราษฎร์ จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้มีตรารูป ‘จักร’ อันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ไว้บนพื้นแดงของธงเรือหลวงเท่านั้น ส่วนเรือราษฎร์ก็สีแดงนอร์มคอร์มันไปเหมือนเดิมนั่นแหละ
พอมาถึงในแผ่นดินของรัชกาลที่ 2 จึงทรงเพิ่มเติมรูปช้างเผือกไว้ในกลางวงจักรบนผืนธงแดง สำหรับเรือหลวง เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ทรงมีช้างเผือกถึง 3 เชือก นัยว่าแสดงถึงบุญญาธิการของพระองค์ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา น้องช้างตัวขาวๆ อวบๆ จึงได้มีที่ทางเป็นของตนเองบนพื้นธงสีแดงของสยามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่เอกสารอีกชิ้นคือ ‘อธิบายเรื่องธงไทย’ ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กลับอธิบายความเอาไว้แตกต่างออกไปว่า เรื่องตราสัญลักษณ์บนธงแดงทั้งรูปจักร และรูปช้าง ไม่ได้มีเหตุมาจากเพียงแต่เรื่องเรือหลวงเรือราษฎร์ แต่เกิดจากการที่เจ้าเมืองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ได้ฝากนายเรือมากราบทูลรัชกาลที่ 2 ว่า เรือเดินทะเลของพวกชวาและมลายู ที่เข้าไปทำการค้าในสิงคโปร์ก็ใช้ธงแดง เหมือนกับของสยาม (ในเอกสารชิ้นนี้ระบุว่า สมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ว่าจะเรือหลวง หรือเรือราษฎร์ ก็ยังเป็นธงแดงเรียบๆ แสนจะนอร์มคอร์ไม่ต่างจากสมัยอยุธยา) จึงขอให้สยามเปลี่ยนรูปแบบธงเสีย
ส่วนสาเหตุที่เจ้าเมืองสิงคโปร์จำเพาะเจาะจงมาที่สยามนั้นเป็นเพราะว่า รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯให้สร้างเรือกำปั่นหลวงขึ้น 2 ลำ สำหรับค้าของหลวง เช่น เครื่องศาสตราวุธต่างๆ แล้วสัญจรไปมาระหว่างสิงคโปร์ ของอังกฤษ และมาเก๊า ของโปรตุเกส เรียกได้ว่าเป็นลูกค้าชั้นดีสำหรับเจ้าเมืองสิงคโปร์แน่ จึงอยากให้ทำสัญลักษณ์ไว้บนธงจะได้สังเกตเห็นได้ง่าย และเตรียมการรับรองได้สะดวกยิ่งขึ้น รัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าให้ทำรูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรสีขาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึง ‘พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก’ แถมไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แต่มีถึง 3 เชือกเลยนะครับ
ดังนั้นไม่ว่าเอกสารไหนจะกล่าวถูก เอกสารไหนจะให้ข้อมูลผิดก็ช่างเถอะ เพราะยังไง ‘ช้างเผือก’ ก็เพิ่งจะมีโอกาสมาโลดแล่นอยู่บนพื้นธงสีแดงๆ เอาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 เหมือนกันทั้งสองเอกสารอยู่นั่นเอง
ตามคติในศาสนาพุทธ ‘ช้างเผือก’ เป็นหนึ่งในสมบัติพิเศษ คือ ‘แก้วทั้ง 7 ประการ’ ที่มีเฉพาะผู้ที่เป็น พระจักรพรรดิราช หรือราชาเหนือราชาทั้งปวงเท่านั้นนะครับ ถึงมีถือครองไว้ได้ ดังนั้นเมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงถือครองอยู่ แถมยังทรงครองอยู่ตั้ง 3 เชือก ไม่ใช่แค่เชือกเดียวเสียอีก จะนำมาแสดงกันบนผืนธงก็ไม่เห็นจะแปลก และถึงแม้ว่าตามชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่า ช้างพวกนี้จะพิการด้วยเซลล์สีผิวบกพร่องก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร
รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้ทำให้ทั้งเรือหลวงและเรือราษฎร์ของสยาม ต่างก็ใช้ธงช้างเหมือนกัน เพราะธงแดงนั้นยังเต็มไปด้วยปัญหาเดิมๆ คือไปซ้ำกับเรือของชาติอื่น แต่ทรงให้เอารูปจักรออกด้วยเหตุว่าเป็นของสูง (แน่นอนว่าเมื่อเป็นของสูง ก็ย่อมไม่เหมาะที่จะไปประดับอยู่กับเรือราษฎร์ ส่วนเรือหลวงนั้นไม่มีปัญหา :P) และแม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์จะเริ่มมีการประดับธง ในพระบรมมหาราชวัง และลามไปถึงวังอื่นๆ รวมถึงบ้านของเจ้านายแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการประดับธงช้างที่ไหนนอกจากบนเรือ
และก็เป็นธงช้างเปล่าๆ บนพื้นแดงแบบนี้แหละครับ ที่กลายมาเป็น ‘ธงชาติ’ ผืนแรกของสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2434 ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธงชาติต่อมาเป็นระยะ จนมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่าง ธงไตรรงค์ ในปัจจุบัน
รูป ‘ช้าง’ ในธงไทย จึงเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความเป็นไทย’ ในตลาดโลกมาก่อน ที่จะถูกจับมาใช้เป็น ‘ธงชาติ’ ซึ่งก็คือสัญลักษณ์ของ ‘รัฐชาติ’ สม้ยใหม่มันเสียอย่างนั้น
และถ้าจะลำดับเรื่องราวให้ร้อยเรียงกันไปตามเข็มของนาฬิกา แรกเริ่มเดิมทีชาวไทยในยุคกรุงเทพฯ เราใช้ ‘ช้าง’ อันเป็นสัญลักษณ์บุญญาธิการของพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของการติดต่อค้าขาย ก่อนที่ต่อมาช้างตัวนี้จะค่อยๆ อยากจะเปลี่ยนสปีชี่ย์ตัวเองให้กลายเป็น ‘เสือ’ ก็เมื่อเศรษฐกิจบ้านเขาเจริญเอาพรวดๆ ก่อนที่จะมีพุทธิไอเดียเรื่อง ‘เห็บ’ ขึ้นมาให้ครวญครางกัน ด้วยถ้าใช้โมเดลนี้จริงก็คงไม่รู้จะเอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน